ธงชาติศรีลังกา
ธงชาติศรีลังกา เป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 1 ส่วน ยาว 2 ส่วน พื้นสีทอง ภายในประกอบด้วยแถบสีเขียวและสีแสดแนวตั้งที่ด้านคันธง ส่วนด้านปลายธงเป็นกรอบสี่เหลี่ยมสีแดงเลือดหมู ภายในมีรูปราชสีห์ยืน เท้าหน้าข้างหนึ่งถือดาบ ที่มุมสี่เหลี่ยมแต่ละมุมนั้นมีใบโพธิ์มุมละ 1 ใบ ธงนี้เรียกชื่ออีกอย่างว่า "ธงราชสีห์" ("Lion Flag") ธงนี้ใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2494 เมื่อประเทศศรีลังกายังใช้ชื่อว่ารัฐอธิราชซีลอน (Dominion of Ceylon) ภายใต้ความปกครองของสหราชอาณาจักรต่อมาจึงได้มีการแก้ไขให้เป็นธงแบบปัจจุบันเมื่อประเทศศรีลังกาได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2515
Lion Flag (ธงราชสีห์) | |
การใช้ | ธงพลเรือน ธงราชการ และ ธงเรือพลเรือน |
---|---|
สัดส่วนธง | 1:2 |
ประกาศใช้ | 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 |
ลักษณะ | ธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตอนต้นธงเป็นแถบแนวตั้งสีเขียวและสีแสด ตอนปลายเป็นรูปราชสีห์สีทองยืนถือดาบในกรอบสี่เหลี่ยมสีแดงเลือดหมู ที่มุมทั้งสี่ของสี่เหลี่ยมนั้นมีใบโพธิ์ รูปทั้งหมดนี้อยู่ในพื้นธงสีทอง |
การใช้ | ธงนาวี |
สัดส่วนธง | 1:2 |
ประกาศใช้ | พ.ศ. 2515 |
ลักษณะ | ธงพื้นขาว มีภาพธงชาติที่มุมธงบนด้านคันธง |
ประวัติ
แก้เมื่อพระเจ้าวิชยะ กษัตริย์พระองค์แรกแห่งเกาะลังกาเสด็จมายังดินแดนแห่งนี้จากฝั่งอินเดียในปี พ.ศ. 57 พระองค์ได้ทรงนำเอาธงรูปราชสีห์มาใช้เป็นเครื่องหมายประจำพระองค์ สัญลักษณ์รูปราชสีห์จึงเริ่มมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ศรีลังกานับแต่นั้นมา กษํตริย์ที่สืบทอดราชบัลลังก์ต่อมาจากพระเจ้าวิชยะต่างรับสืบทอดสัญลักณ์ราชสีห์ และสัญลักษณ์ดังกล่าวนี้ภายหลังได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งอิสรภาพและความหวัง ตามตำนานในระยะต่อมากล่าวว่าเมื่อพระเจ้าทุฏฐคามณีทรงทำสงครามได้ชัยชนะจากพระเจ้าเอฬาระทมิฬซึ่งครอบครองส่วนหนึ่งของเกาะลังกาไว้นั้น พระองค์ทรงใช้ธงรูปราชสีห์ยืนถือดาบด้วยเท้าขวาหน้าและสัญลักษณ์รูปพระอาทิตย์และพระจันทร์
ธงรูปราชสีห์ได้ใช้มาจนถึงปี พ.ศ. 2358 จึงสิ้นสุดลงด้วยการที่พระเจ้าศรีวิกรมะราชสิงหะ กษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งอาณาจักรแคนดี ลงพระนามในอนุสัญญาแคนดีเมื่อวันที่ 2 มีนาคมของปีนั้น โดยประกาศให้พระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ทรงมีฐานะเป็นกษัตริย์แห่งซีลอน ธงราชสีห์นั้นจึงถูกแทนที่ด้วยธงยูเนี่ยนแจ็คของสหราชอาณาจักรในฐานะธงชาติซีลอน ส่วนรัฐบาลบริติชซีลอนนั้นใช้ธงอีกอย่างหนึ่งเป็นสัญลักษณ์ต่างหาก สำหรับธงราชสีห์เดิมนั้น ฝ่ายอังกฤษได้นำไปไว้ที่สหราชอาณาจักรและถูกเก็บรักษาไว้ที่รอแยลฮอลปิตอลเชลซี (Royal Hospital Chelsea) ในเมืองเชลซี กาลเวลาที่ผ่านไปหลายปีทำให้ชาวลังกาหลงลืมรูปแบบดั้งเดิมของธงนี้ไป
หลังจากนั้น ด้วยความเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชที่เข้มแข็งขึ้นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 อี.ดับเบิลยู. เปเรรา (E. W. Perera) ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในขบวนการเรียกร้องเอกราชของศรีลังกา จึงได้ค้นพบธงราชสีห์ของเดิมซึ่งถูกเก็บไว้ที่อังกฤษอีกครั้ง ด้วยความช่วยเหลือของ ดี.อาร. วิเชนวาร์เดเน ภาพของธงดังกล่าวจึงได้ถูกนำมาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ "ดินามินา" ("Dinamina") ฉบับพิเศษ เพื่อระลึกถึงการครบรอบ 100 ปีแห่งการเสียเอกราชของศรีลังกา เนื่องจากตกเป็นอาณานิคม และเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอื่น ๆ ธงราชสีห์ได้กลายเป็นจุดดึดดูดความสนใจของสาธารณชน ซึ่งได้เห็นธงนี้เป็นครั้งแรกหลังการล่มสลายของอาณาจักรแคนดี
ธงราชสีห์ได้รับการยอมรับเป็นธงชาติในฐานะธงชาติของรัฐอธิราชซีลอน เมื่อ พ.ศ. 2491 อย่างไรก็ตามต่อมาได้มีกานเปลี่ยนแปลงลักษณะของธงอีกในปี พ.ศ. 2496 และ พ.ศ. 2515 โดยในการเปลี่ยนแปลงครั้งหลังสุดเมื่อ พ.ศ. 2515 นั้น ได้มีการเปลี่ยนเอารูปปลายหอกที่อยู่ตรงมุมธงทั้งสี่มุมเป็นรูปใบโพธิ์แทน[1] ตามคำแนะนำของนิสสันกา วิเชเยรัตเน (Nissanka Wijeyeratne) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการวัฒนธรรมและประธานคณะกรรมการพิจารณาแบบธงชาติและเครื่องหมายประจำชาติในเวลานั้น รูปใบโพธิ์ทั้งสี่ที่เพิ่มเข้ามานั้นมีความหมายถึงคุณธรรม 4 ข้อ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา[2] [3]
-
ธงบริติชซีลอน
(พ.ศ. 2358 - 2491) -
ธงชาติประเทศซีลอนในเครือจักรภพ
(Dominion of Ceylon)
(พ.ศ. 2491 - 2496) -
ธงชาติประเทศซีลอนในเครือจักรภพ
(Dominion of Ceylon)
(พ.ศ. 2496 - 2515) -
ธงชาติสาธารณรัฐ
สังคมนิยมประชาธิปไตย
ศรีลังกา
(พ.ศ. 2515 - ปัจจุบัน)
ความหมาย
แก้สัญลักษณ์แต่ละอย่างในธงชาติศรีลังกามีดังนี้
สัญลักษณ์ | ความหมาย |
---|---|
ราชสีห์ | ชาวสิงหลและกำลังของชาติ |
ใบโพธิ์ | พระพุทธศาสนาและอิทธิพลแห่งพุทธศาสนาที่มีต่อชาติ, คุณธรรม 4 ข้อ ตามหลักพรหมวิหารธรรม ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา |
ดาบ | อำนาจอธิปไตย |
ขนแผงคอราชสีห์ | ไตรสิกขา 3 ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา |
เคราราชสีห์ | วาจาอันบริสุทธิ์ |
ด้ามดาบ | ธาตุทั้ง 4 ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ |
จมูกราชสีห์ | ความเฉลียวฉลาด |
สองเท้าหน้าของราชสีห์ | ความบริสุทธิ์ในการควบคุมความเจริญ |
แถบแนวตั้งสีแสด | ชาวทมิฬ |
แถบแนวตั้งสีเขียว | ชาวแขกมัวร์และความศรัทธาในศาสนาอิสลาม |
ขอบธงพื้นสีเหลืองทอง | ประชาชนเชื้อชาติอื่น ๆ ที่อยู่ในประเทศศรีลังกา |
พื้นสีแดงเลือดหมู | ศาสนาอื่น ๆ และชนชาติส่วนน้อย |
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ Volker Preuß. "Flagge des Sri Lanka (Ceylon)" (ภาษาเยอรมัน). สืบค้นเมื่อ 2003-09-07.
- ↑ Amara Samara in Sinhala เก็บถาวร 2016-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Rivira, Retrieved on 4th January 2009.
- ↑ Salute the Flag เก็บถาวร 2011-07-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. The Bottom Line, Retrieved on 4 February 2009.