ธงชาติกรีซ
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
ธงชาติกรีซ (กรีก: Σημαία της Ελλάδος, โดยทั่วไปนิยมเรียกว่า Γαλανόλευκη หรือ Κυανόλευκη แปลว่า "ธงน้ำเงิน-ขาว") เป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นธงเป็นแถบริ้วสีน้ำเงินสลับขาวรวมทั้งหมด 9 แถบ ที่มุมธงบนด้านคันธงเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีน้ำเงิน กว้างยาวเป็น 5 ใน 9 ส่วนของความกว้างธง ภายในมีรูปกางเขนสีขาวมีปลายจดขอบสีน้ำเงิน กางเขนดังกล่าวนี้หมายถึงศาสนาคริสต์นิกายกรีกออร์โธดอกซ์ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ ส่วนแถบสีน้ำเงินสลับขาว 9 แถบนั้น โดยทั่วไปชาวกรีกหมายถึงพยางค์ 9 พยางค์ในประโยคภาษากรีกที่ว่า "Ελευθερία ή Θάνατος" (อ่านว่า "เอ-เลฟ-เท-ริ-อา-อิ-ทา-นา-ทอส" ("E-lef-the-ri-a i Tha-na-tos") แปลว่า เสรีภาพหรือความตาย) โดยแถบสีน้ำเงิน 5 แถบหมายถึง 5 พยางค์แรก ส่วนแถบสีขาว 4 แถบ หมายถึง 4 พยางค์สุดท้ายของประโยคดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่า แถบทั้ง 9 แถบนี้หมายถึงเทพธิดามิวเซส (Muses) ผู้เป็นเทพแห่งศิลปวิทยาการต่างๆ ทั้ง 9 องค์ ในตำนานกรีกโบราณ[2] สำหรับสัดส่วนธงอย่างเป็นทางการนั้นกว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน[3]
ชื่ออื่น ๆ | Σημαία της Ελλάδος (ธงชาติกรีซ), Γαλανόλευκη, Κυανόλευκη (ธงน้ำเงิน - ขาว) |
---|---|
การใช้ | ธงชาติ ensign |
สัดส่วนธง | 2:3 |
ประกาศใช้ | 22 ธันวาคม ค.ศ. 1978 (ธงนาวี ตั้งแต่ ค.ศ. 1822-1978, ธงชาติ ตั้งแต่ ค.ศ. 1969-1970 และตั้งแต่ ค.ศ. 1978 เป็นต้นมา) |
ลักษณะ | ธงพื้นแถบแนวนอนสีน้ำเงินสลับขาว 9 แถบ มีรูปกางเขนสีขาวในช่องสี่เหลี่ยมสีน้ำเงินที่มุมธงบนด้านคันธง |
ธงสำหรับงานพิธีการ | |
การใช้ | ธงพลเรือน และ ธงราชการ |
สัดส่วนธง | 2:3 |
ประกาศใช้ | พ.ศ. 2365 |
ลักษณะ | ธงพื้นสีน้ำเงิน ภายในมีกากบาทสีขาว[1] |
อนึ่ง สีน้ำเงินและสีขาวที่ใช้ในธงนี้มีการตีความความหมายต่างๆ อยู่มาก บ้างก็ว่าหมายถึงสีของท้องฟ้าและน้ำทะเลในประเทศนี้ บ้างก็ว่าเป็นสีของเครื่องแต่งกายชาวกรีกตามธรรมเนียมโบราณ ทั้งนี้ ระดับของสีน้ำเงินในธงชาตินี้มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้วหลายครั้ง โดยแบบสีที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเริ่มใช้มาตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1960
รูปแบบธงดังที่ปรากฏในปัจจุบันนี้ เป็นแบบธงที่ได้รับการรับรองจากที่ประชุมรัฐสภาแห่งชาติของกรีซครั้งแรก ณ เมืองเอปิเดารุส (The First National Assembly at Epidaurus) เมื่อวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1822[1]
ประวัติ
แก้ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ธงของกรีกสมัยโบราณและยุคจักรวรรดิไบแซนไทน์
แก้ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
สมัยจักรวรรดิออตโตมาน
แก้ในช่วงแห่งการปกครองของจักรวรรดิออตโตมานนั้น ชาวกรีกได้ใช้ธงของตนอย่างไม่เป็นทางการขึ้นหลายแบบ ซึ่งปกติมักใช้รูปนกอินทรีสองหัวของไบแซนไทน์ รูปกางเขน รูปนักบุญต่างๆ ในศาสนาคริสต์และคำขวัญต่างๆ อย่างหลากหลาย กองทหารม้าซีปาฮี (sipahi) ของชาวกรีกที่นับถือศาสนาคริสต์ซึ่งถูกจ้างโดยสุลต่านแห่งออตโตมานได้รับอนุญาตให้มีธงของตนเอง (ซึ่งเป็นแบบธงชาวคริสต์อย่างชัดเจน) ใช้ได้ในเขตเอปิรุส (Epirus) และเพโลปอนนีส (Peloponnese) ลักษณะเป็นธงรูปกางเขนสีฟ้าบนพื้นสีขาว ตรงกลางเป็นภาพนักบุญจอร์จปราบมังกร ปรากฏการใช้ระหว่าง ค.ศ. 1431 จนถึง ค.ศ. 1639 เมื่ออภิสิทธิ์ในการใช้ธงได้ถูกจำกัดไว้เป็นอย่างมากจากสุลต่านออตโตมาน ธงที่มีลักษณะคล้ายกับธงดังกล่าวได้ถูกใช้โดยผู้นำชาวกรีกระดับท้องถิ่นคนอื่นๆ เช่นกัน ส่วนธงที่อาจนับได้ว่าใกล้เคียงกับความเป็น "ธงชาติ" ของชาวกรีกมากที่สุดในยุคนี้ ได้แก่ธงซึ่งถูกเรียกชื่อว่า "ธงกรีก-ออตโตมาน" (กรีก: Γραικοθωμανική παντιέρα) อันเป็นธงเรือสินค้าที่พ่อค้าชาวกรีกออร์โธดอกซ์ในความปกครองของออตโตมานได้รับอนุญาตให้ชักขึ้นในเรือของตนได้ ธงนี้ประกอบด้วยแถบสีแดงของจักรวรรดิออตโตมานและแถบกลางสีน้ำเงินของพวกกรีกออร์โธดอกซ์ ต่อมาหลังการทำสนธิสัญญากือชุก เคย์นาร์กา (Treaty of Küçük Kaynarca) เรือสินค้าของชาวกรีกสามารถชักธงชาติรัสเซีย ขึ้นในเรือได้ด้วยอีกธงหนึ่ง
ระหว่างการลุกฮือต่อต้านจักรวรรดิออตโตมานในปี ค.ศ. 1769 ธงกางเขนฟ้าพื้นขาวในประวัติศาสตร์ได้ถูกรื้อฟื้นกลับมาใช้อีกครั้งโดยผู้นำสำคัญทางทหาร และจะถูกนำมาใช้โดยผู้นำทางทหารชาวกรีกทั้งหมดในการปฏิวัติปี ค.ศ. 1821 ธงดังกล่าวได้กล่าวเป็นธงปฏิวัติที่ได้รับความนิยมจากมหาชนมากที่สุด นอกจากนี้ยังมีการถกเถียงอีกว่าสมควรจะใช้ธงนี้เป็นธงชาติด้วย ธงแบบสลับสีคือพื้นธงสีฟ้ามีกางเขนสีขาวก็ได้มีการอุบัติขึ้นในฐานะธงของชาวกรีกอีกธงหนึ่งในระหว่างการลุกฮือดังกล่าวด้วยเช่นกัน แบบธงอย่างหลังนี้เป็นธงอีกแบบหนึ่งที่ชาวกรีกเคยใช้มาก่อนในลักษณะของสัญลักษณ์ประจำท้องถิ่น กองทหารอาสาสมัครชาวกรีกในกองทัพใหญ่ของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งเข้าร่วมการสงครามที่อียิปต์ในปี ค.ศ. 1798 เลือกใช้ธงกางเขนขาวบนพื้นสีฟ้า แทรกรูปธงสามสีของฝรั่งเศสไว้ที่สี่เหลี่ยมมุมธงบนด้านคันธง เป็นเครื่องของตนเอง[5] ผู้นำทางทหารคนหนึ่ง คือ ยิอานนิส สตาทาซ (Giannis Stathas) ใช้ธงกางเขนขาวบนพื้นฟ้า ชักขึ้นบนเสากระโดงเรือของตนนับตั้งแต่ ค.ศ. 1800 ลักษณะแบบแรกของธงของเขาพ้องกันโดยบังเอิญและถูกใช้โดยวิหารของประกาศกบนเกาะสเกียทอส (Skiathos) ในปี ค.ศ. 1807 บรรดาผู้นำทางทหารที่โดดเด่นจำนวนมาก (เช่น ทีโอดอรอส คอลอคอทรอนิส และอันเดรียส มีอาอูลิส) ได่ร่วมกลุ่มปรึกษาหารือเกี่ยวการลุกฮือต่อต้านออตโตมาน พวกเขาได้สาบานต่อธงนี้ร่วมกันโดยมีมุขนายก (bishop) ในท้องถิ่นเป็นผู้ทำพิธีให้[6]
-
ธงพลเรือนและธงเรือพลเรือนของราชรัฐซามอส (ค.ศ. 1835–1912)
-
ธงของสาธารณรัฐเซปตินซูลา (ค.ศ. 1800–1807) อันเป็นดินแดนปกครองตนเองแห่งแรกของรัฐกรีกสมัยใหม่
-
ธงราชการของรัฐครีต (Cretan State)
-
ธงพลเรือนของรัฐครีต[7]
ยุคสงครามประกาศเอกราช
แก้ในช่วงก่อนหน้าและตอนต้นของสงครามประกาศเอกราชกรีซ (ค.ศ. 1821–1829) ได้ปรากฏการออกแบบ การเสนอ และการใช้ธงต่างโดยปัญญาชนชาวกรีกจำนวนมากที่ในยุโรป, บรรดาผู้นำท้องถิ่น และสภาท้องถิ่นต่างๆ ของกรีซ นอกจากการใช้ธงที่มีรูปกางเขนแล้ว ธงอื่นๆ จำนวนมากมักใช้รูปนักบุญในคริสต์ศาสนา, รูปนกฟินิกซ์, (สัญลักษณ์การกำเนิดใหม่ของชาติกรีซ), คำขวัญต่าง เช่น เสรีภาพหรือความตาย ("Ελευθερία ή Θάνατος") หรือรูปสัญลักษณ์ที่คล้ายกับขวานมัดหวาย (fasces) ของสมาคมฟิลิกี เอเทเรอา (Philiki Etaireia) ซึ่งเป็นสมาคมลับที่อยู่เบื้องหลังในการลุกขึ้นสู้ต่อต้านจักรวรรดิออตโตมานครั้งนี้
-
แบบธงของกรีซที่เสนอโดย รีกาส เฟราอีออส, ค.ศ. 1797
-
ธงของกลุ่มกองพันธงศักดิ์สิทธิ์ หรือ Ιερός Λόχος (ด้านหน้า)
-
ธงของอเล็กซานเดอร์ อิบซิลันติส (ด้านหน้า)
-
ธงของรัฐบาลท้องถิ่นซึ่งเรียกตนเองว่า "อาเรโอปากัสแห่งกรีซภาคพื้นทวีปฝ่ายตะวันออก" (Areopagus of Eastern Continental Greece)
-
ธงของสมาคมลับ "ฟิลิกี เอเทเรอา"
-
ธงของชาวมานิโอต (Maniots)
-
ธงของเดเมทริออส อิบซิลันติส (Demetrios Ypsilantis)
-
ธงของอันทิมอส กาซิส
-
ธงของหมู่เกาะสเพ็ตเซส (Spetses)
-
ธงของคาบสมุทรชาลกีดิกี (Chalkidiki)
-
ธงของอทานาซิออส ดิอากอส
ธงชาติกรีซสมัยใหม่
แก้ด้วยเหตุที่ชาติราชาธิปไตยในยุโรปซึ่งเป็นพันธมิตรกันภายใต้ชื่อ "ระบบคองเกรสแห่งยุโรป" หวาดระแวงต่อขบวนการที่เคลื่อนไหวเพื่อการปฏิวัติแห่งชาติหรือการปฏิวัติสังคมต่างๆ ดังเช่นการตั้ง "เอทาอิเรอา" ("Etaireia) หรือการประชุมสภาแห่งชาติครั้งแรกของกรีซที่เมืองเอปิเดารุส ซึ่งจัดให้มีขึ้นในเดือนมกราคม ค.ศ. 1822 ได้นำไปสู่การเข้าแทรกแซงสภาดังกล่าว และทำให้กรีซกลายเป็นรัฐชาติกำเนิดใหม่ที่มีลักษณะ "เป็นแบบแผนตามธรรมเนียมนิยม" กล่าวคือเป็นรัฐที่ถูกจัดระเบียบใหม่ (โดยมหาอำนาจยุโรป)[6] ซึ่งมิเพียงแต่มีการล้มเลิกสภาท้องถิ่นและรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางเท่านั้น แต่ยังมีการตัดสินใจยกเลิกธงของการปฏิวัติทั้งหมดและกำหนดแบบธงร่วมให้ใช้ทั่วไปเพียงธงเดียว แต่เหตุผลที่ทำให้แบบธงกางเขนขาวบนพื้นสีฟ้าถูกเลือกให้ใช้เป็นธงชาติ แทนที่จะเป็นธงการเขนฟ้าบนพื้นขาวซึ่งได้รับควานิยมมากกว่านั้น ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด[6]
ในวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1822 รัฐบาลเฉพาะกาลได้ออกคำสั่งที่ 540 กำหนดแบบของธงที่แน่นอนขึ้น โดยให้ใช้ธงกางเขนขาวบนพื้นสีฟ้าเป็นธงสำหรับใช้บนแผ่นดิน ธงเก้าริ้วสีฟ้าสลับขาวมีกางเขนขาวบนพื้นฟ้าที่มุมบนด้านคันธงเป็นธงนาวี และธงสีฟ้ามีรูปกางเขนสีฟ้าในสี่เหลี่ยมสีขาวที่มุมธงบนด้านคันธงเป็นธงเรือราษฎร์สำหรับกองเรือพาณิชยนาวี (ธงเรือสินค้าพลเรือน)[6][3] ต่อมาในวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1828 โดยคำสั่งของข้าหลวงอิอวนนิส คาปอดิเทรียส (Ioannis Kapodistrias) ธงเรือสินค้าแบบดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไป และใช้ธงรูปริ้วสีและกางเขนเป็นธงเรือประจำประเทศแทน ทั้งในเรือสินค้าและในเรือของกองทัพ[6] แบบธงดังกล่าวเป็นที่นิยมอย่างยิ่งในหมู่ชาวกรีกแทบจะทันทีทันใด และในทางปฏิบัติแล้ว ชาวกรีกมักจะใช้ธงนี้คู่กับธงชาติซึ่งเป็นรูปกางเขนขาวบนพื้นฟ้าอยู่เสมอ
-
ธงสำหรับใช้บนแผ่นดิน, ค.ศ. 1821 - 1822
-
ธงเรือราษฎร์ (กองเรือพาณิชยนาวี), ค.ศ. 1822 - 1828
-
ธงราชนาวี, ค.ศ. 1822-1828
-
ธงสำหรับใช้บนแผ่นดิน, ค.ศ. 1822-1969 และ ค.ศ. 1975-1978
-
ธงชาติสำหรับใช้ในเรือเดินทะเลและในต่างประเทศ หลัง ค.ศ. 1978 ได้กลายเป็นธงชาติของกรีซเพียงแบบเดียว
พัฒนาการของธงชาติกรีซสมัยใหม่
แก้หลังการสถาปนาราชอาณาจักรกรีซในปี ค.ศ. 1832 พระเจ้าออตโตแห่งราชวงศ์วิตเตลสบาค กษัตริย์พระองค์ใหม่ ได้ทรงเพิ่มตราประจำพระองค์ไว้ที่กลางรูปกางเขนขาวในธงของกองทัพทั้งฝ่ายทหารบกและฝ่ายทหารเรือ ตราดังกล่าวเป็นตราอาร์มลวดลายตารางแบบตราอาร์มของรัฐบาเยิร์นประดับมงกุฎ ซึ่งบ่งบอกถึงปฐมวงศ์แห่งกษัตริย์พระองค์นั้น[3] ต่อมาเพื่อพระเจ้าออตโตได้ทรงสละราชสมบัติในปี ค.ศ. 1862 ตราอาร์มดังกล่าวได้ถูกเอาออกจากธง คงเหลือแต่เพียงรูปมงกุฎกษัตริย์เพียงอย่างเดียวเมื่อกษัตริย์พระองค์ใหม่ คือ พระเจ้าจอร์จที่ 1 แห่งกรีซ ซึ่งเป็นเจ้าชายเดนมาร์ก ได้เสด็จมายังกรีซเพื่อรับราชสมบัติแทนพระเจ้าแผ่นดินองค์เดิม
- ราชวงศ์วิตเตลสบาค (รัชสมัยพระเจ้าโอซอนแห่งกรีซ)
-
ธงราชการ และ ธงทหาร ค.ศ. 1833–1858
-
ธงราชนาวี (ธงเรือหลวง) ค.ศ. 1833–1858
-
ธงราชการ และ ธงทหาร ค.ศ. 1858–1862
-
ธงราชนาวี (ธงเรือหลวง) ค.ศ. 1858–1862
ธงแบบสำหรับใช้ในแผ่นดินในรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กลางธงมีรูปนักบุญจอร์จ ได้รับการยอมรับเมื่อวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1864 ในฐานะของธงศึกประจำกองทัพบก[6] แบบธงที่มีการจัดเรียงลักษณะที่คลึงกันเช่นนี้ได้ถูกนำไปใช้ในธงของพระราชวงศ์ ซึ่งใช้รูปตราอาร์มของราชวงศ์ราชวงศ์ชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-ซอนเดอร์บวร์ก-กลึคสบวร์ก แบบสี่เหลี่ยมจัตุรัสมาประดับที่กลางธงชาติ ลักษณะรูปทรงที่แน่นอนและกฎเกณฑ์การใช้ธงดังกล่าวได้ถูกกำหนดไว้ตามพระบรมราชโองการลงวันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 1867[6] ต่อมาจึงได้มีพระบรมราชโองการฉบับใหม่ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1914 กำหนดให้ธงแบบสำหรับใช้ในแผ่นดินซึ่งมีรูปมงกุฎกษัตริย์ประกอบอยู่ด้วยใช้เป็นธงราชการสำหรับกระทรวงทบวงกรม สถานทูต และ หน่วยงานราชการพลเรือน ส่วนธงสำหรับเรือเดินทะเลนั้น ได้อนุญาตให้ใช้สำหรับพลเมืองทั่วไป[6]
-
ธงราชการแบบหลวงของแห่งราชอาณาจักรกรีซ ค.ศ. 1935–1970
-
ธงราชการ และ ธงทหาร ค.ศ. 1863 - 1924 และ ค.ศ. 1935 - 1970
-
ธงฉานแห่งราชนาวีเฮลเลนนิค ค.ศ. 1863 - 1924 และ ค.ศ. 1935 - 1970
-
ธงราชนาวี (ธงเรือหลวง) ค.ศ. 1863 - 1924 และ ค.ศ. 1935 - 1970
-
ธงชาติกรีซยุคเผด็จการทหาร ค.ศ. 1970–1975
ในวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1924 ได้มีการนำรูปมงกุฎออกจากธงทุกชนิด อันเป็นผลสืบเนื่องจากการสถาปนาสาธารณรัฐเฮลเลนนิคที่ 2 [6] ต่อมาจึงได้มีการกำหนดสัดส่วนของธงที่แน่นอนในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1930 โดยมีความกว้างเป็น 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน กิ่งของกางเขนแต่ละด้านมีความกว้างเป็น "หนึ่งในห้าส่วนของความกว้างธง" แบบธงสำหรับในแผ่นดินนั้นถูกใช้โดยกระทรวงต่างๆ และสถานทูต ส่วนธงสำหรับเรือเดินทะเลนั้นถูกใช้โดยกองทัพเรือ เรือสินค้าเอกชน กิจการกงสุล และประชาชนโดยทั่วไป การฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตยโดยนายกรัฐมนตรีจอร์จีออส คอนดีลิส ในวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1935 ได้ทำให้มีการฟื้นฟูการใช้รูปมงกุฎในธงชาติขึ้นใหม่[6] รูปดังกล่าวก็ได้ถูกลบล้างออกไปอีกครั้งโดยรัฐบาลเผด็จการทหารในปี ค.ศ. 1967 ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการปฏิวัติซ้อนที่ล้มเหลวและการเสด็จลี้ภัยทางการเมืองของพระเจ้าคอนสแตนตินที่ 2 ในวันที่ 13 ธันวาคมของปีนั้น ธงสำหรับเรือเดินทะเลได้ถูกกำหนดให้เป็นธงชาติกรีซเพียงธงเดียวในปี ค.ศ. 1969 โดยใช้โทนสีฟ้าเข้มมาก (กล่าวอีกนัยหนึ่งคือสีน้ำเงิน) และได้มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนธงจาก 2:3 เป็น 7:12 ในวันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ. 1970[6]
หลังการฟื้นฟูประชาธิปไตยในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1974 ธงแบบสำหรับใช้ในแผ่นดินได้ถูกฟื้นฟูให้ใช้เป็นระยะสั้นๆ ตามกฎหมายเลขที่ 48/1975 คำสั่งประธานาธิบดีที่ 515/1975 จนถึงปี ค.ศ. 1978[6]
ธงชาติกรีซในปัจจุบัน
แก้ในปี ค.ศ. 1978 แบบธงชาติกรีซซึ่งเป็นแบบที่เคยใช้สำหรับเรือเดินทะเล (sea flag) ได้รับการรับรองให้เป็นแบบธงชาติกรีซโดยส่วนรวมทั้งหมดเพียงแบบเดียว โดยกำหนดสัดส่วนธงไว้ที่กว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน [10] ธงดังกล่าวนี้ ใช้ทั้งบนแผ่นดินและในทะเลทั้งหมด และใช้เป็นทั้งธงนาวีของกองทัพเรือและธงเรือพลเรือน ทดแทนแบบธงอื่นไ ที่ใช้ในหน้าที่อย่างเดียวกันในยุคก่อนหน้าทั้งหมด ซึ่งการใช้ธงชาตินั้นได้ห้ามการทำเครื่องหมายสัญลักษณ์หรือข้อความใดๆ ปรากฏในธงเป็นอันขาด อย่างไรก็ตาม โทนสีของสีฟ้า/สีน้ำเงินที่ใช้ในธงไม่ได้มีการบัญญัติไว้ชัดเจน ทำให้ในทางปฏิบัติปรากฏธงชาติกรีซที่มีโทนสีหลากหลายตั้งแต่สีฟ้าอ่อนไปจนถึงสีน้ำเงินเข้ม สำหรับวันธงชาติกรีซได้กำหนดไว้ตรงกับวันที่ 27 ตุลาคม ของทุกปี
ธงชาติสำหรับใช้บนแผ่นดินแบบเดิมยังคงมีการชักไว้ ณ อาคารรัฐสภาเก่า ในกรุงเอเธนส์ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติของกรีซ และประชาชนบางส่วนยังนิยมประดับธงนี้ในลักษณะไม่เป็นทางการ
ข้อบังคับและธรรมเนียมปฏิบัติ
แก้การใช้ธงชาติกรีซถูกกำหนดไว้ด้วยกฎหมายเลขที่ 851 ของประเทศกรีซ[11] กล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายดังกล่าวได้บัญญัติไว้ว่า:
- ในกรณีที่มีการแสดงธงชาติ ณ ทำเนียบประธานาธิบดี รัฐสภาเฮลเลนนิค ที่ทำการกระทรวงกรมกองต่างๆ สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลของกรีซ โรงเรียน ค่ายทหาร และในเรือสาธารณและของเอกชน ตลอดรวมถึงในกองทัพเรือ จะต้องมีการปฏิบัติต่อธงชาติดังนี้
- ชักขึ้นประจำยอดเสาตั้งแต่เวลา 8.00 น. จนกระทั่งเวลาพระอาทิตย์ตกดิน
- จะต้องแสดงไว้บนเสาธงสีขาว ซึ่งยอดธงประดับด้วยรูปกางเขนสีขาวเหนือเม็ดบัวหัวเสาสีขาว
- จะต้องไม่แสดงธงที่ฉีกขาดหรือเสียหายเป็นอันขาด ในกรณีดังเช่นที่ว่านี้ ควรทำลายธงโดยการเผาด้วยความเคารพสำรวม
- พลเรือนสามารถแสดงธงชาติได้ในวันที่มีการกำหนดไว้เฉพาะโดยกระทรวงกิจการภายใน เช่นเดียวกับในกิจกรรมการแข่งขันกีฬาและโอกาสอื่นในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน
- เมื่อแสดงธงชาติโดยการแขวนแนวตั้ง ช่องสี่เหลี่ยมที่มุมธงบนด้านคันธงต้องอยู่ทางด้านซ้าย เมื่อมองจากตำแหน่งของผู้เห็นธงทางด้านหน้า
- ไม่ควรปฏิบัติต่อธงชาติดังนี้:
- ทำเครื่องหมาย ข้อความ หรือสัญลักษณ์ใดๆ ลงบนธงชาติ
- ใช้ธงชาติคลุมอนุสาวรีย์ ในกรณีเช่นว่านี้ ควรใช้ผืนผ้าตามสีของธงชาติแทน
- แขวนตามหน้าต่างหรือระเบียงโดยปราศจากเสาธง
- ใช้ธงเพื่อมุ่งหวังประโยชน์ทางการค้า
- ใช้เป็นสัญลักษณ์ของบริษัทหรือองค์กรใดๆ แม้จะทำในสัดส่วนที่ผิดแผกจากที่กำหนดไว้ในธงชาติก็ตาม
- กรณีที่ใช้ธงชาติคลุมประดับโลงศพ ช่องสี่เหลี่ยมที่มุมธงบนด้านคันธงต้องอยู่ทางด้วยขวาของศีรษะผู้เสียชีวิตเสมอ
สีธง
แก้รัฐบาลกรีซมิได้กำหนดสีฟ้าของธงที่แน่นอนไว้ว่าควรใช้สีฟ้าแบบใด ดังนั้นจึงทำให้ธงชาติกรีซที่ปรากฏมีแบบสีต่างๆ ที่หลากหลายมาก ในกฎหมายฉบับล่าสุดที่เกี่ยวกับธงของกรีกได้กล่าวไว้ว่า
Law 851/1978, Regarding the National Flag, Article 1, Clause 1
การใช้ชื่อสีว่า "cyan" (ภาษากรีก: Κυανός, Kyanos) ซึ่งในภาษากรีกอาจหมายถึงสีฟ้า ("blue") ได้เช่นกัน [12] เฉดสีที่แน่นอนของสีฟ้าในที่นี้จึงค่อนข้างกำกวม แม้ความในกฎหมายจะบอกเป็นนัยว่าให้ใช้สีฟ้าอ่อนตามแบบที่ใช้ในธงขององค์การสหประชาชาติ แต่แนวโน้มของสีธงจริงกลับเป็นไปในทางสีเข้ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระหว่างยุคเผด็จการทหาร ค.ศ. 1967 - 1974 และในช่วงเวลาไม่นานมานี้ ยกเว้นแต่ในสมัยแห่งการปกครองของพระเจ้าออตโต ซึ่งใช้ธงชาติกรีซด้วยสีฟ้าที่อ่อนมาก
แบบสีทางการ (ขาว) | แบบสีทางการ (ฟ้า) | ระบบสี | ที่มา | ปี | URL |
---|---|---|---|---|---|
ไม่ระบุ | 286 C | แพนโทน | Album des Pavillons | 2000 | [13] |
ไม่ระบุ | 100% - 60% - 0% - 5% | CMYK | Album des Pavillons | 2000 | [13] |
ไม่ระบุ | 285 | แพนโทน | 2008 Summer Olympics Flag Manual | 2008 | [14] |
NA | Reflex Blue | Pantone | 2012 Summer Olympics Flag Manual | 2012 | [15] |
วันประดับธง
แก้กฎหมาย 851/1978 ได้กำหนดวันเวลาในภาพรวมไว้สำหรับการประดับธงชาติในวาระอันสมควร การชักธงชาติในวันหยุดของทางราชการและวันหยุดสาธารณะในท้องถิ่นนั้นถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่ของชาวกรีกทุกคน ตั้งแต่เวลา 8:00 น. จนกระทั่งพระอาทิตย์ตกดิน[11] สำหรับวันหยุดราชการนั้น ข้อกำหนดดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ แต่ในกรณีวันหยุดของท้องถิ่นนั้น มีผลแต่เพียงสำหรับบริเวณที่ได้กำหนดวันดังกล่าวให้เป็นวันเฉลิมฉลองของท้องถิ่นเท่านั้น[11] อนึ่ง ธงชาติยังสามารถชักขึ้นได้ในวันที่กำหนดให้มีการไว้ทุกข์ทั่วประเทศด้วยเช่นกัน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในเป็นผู้มีอำนาจเต็มในการกำหนดวันประดับธงในกรณีที่ยังไม่มีการกำหนดวันดังกล่าวขึ้นมาก่อน ส่วนการกำหนดวันประดับธงประจำท้องถิ่นนั้น เป็นอำนาจของผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นประมุขขององค์การบริหารการปกครองส่วนภูมิภาคในท้องถิ่นนั้นๆ[11]
วันที่ | ชื่อวัน | เหตุผล |
---|---|---|
25 มีนาคม | วันที่ระลึกเหตุการณ์ 25 มีนาคม | เฉลิมฉลองครบรอบวันเริ่มสงครามประกาศอิสรภาพกรีซ[16] |
28 ตุลาคม | "Ochi Day" (วันแห่งการปฏิเสธ) | เฉลิมฉลองครบรอบการปฏิเสธการยื่นคำขาดของอิตาลีระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1940[16] |
17 พฤศจิกายน | วันโพลีเทคนิค | เฉลิมฉลองครบรอบปีของการลุกฮือของกลุ่มนักเรียนโพลีเทคนิคในกรุงเอเธนส์ เพื่อต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร (วันหยุดโรงเรียน)[17] |
ทั้งนี้ แม้วันที่ 17 พฤศจิกายน จะไม่ใช่วันที่ทางราชการประกาศให้เป็นวันหยุดราชการก็ตาม แต่ในคำสั่งประธานาธิบดีที่ 201/1998 ได้ระบุไว้ว่า พึงแสดงความเคารพต่อธงชาติเนื่องในวันดังกล่าวด้วย[17]
ธงทหาร
แก้ธงชัยประจำกอง
แก้ธงชัยของทหารบก, ทหารอากาศ และ ตำรวจ มีลักษณะเดียวกันคือ เป็นธงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสพื้นสีฟ้า พาดทับด้วยกางเขนแบบกรีกสีขาว ที่ใจกลางรูปกางเขนมีรูปของนักบุญจอร์จสำหรับธงชัยของทหารบก ส่วนธงชัยของทหารอากาศจะใช้รูปของอัครเทวดามิคาเอล[3] และ ธงชัยของตำรวจจะใช้รูปของนักบุญไอริน[3]
-
ธงศึกของกองทหารบก
ธงดังกล่าวนี้เป็นธงสำหรับใช้โดยกองทหารราบ ทหารยานเกราะ และหน่วยรบพิเศษ มีกำลังรบในระดับกองพัน และ ระดับกรม, โรงเรียนนายร้อยเอเวลปีดอน (Evelpidon Military Academy) และ กองทหารรักษาการณ์ของประธานาธิบดี ในยามเข้าสู้รบหรือในการสวนสนาม[18] อย่างไรก็ตาม การนำธงชัยเข้ารบในสมรภูมิด้วยนั้นไม่เป็นที่นิยมตามวิธีการรบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
-
ธงกองทัพอากาศ ค.ศ. 1935 - 1973
-
ธงกองทัพอากาศ และ ธงอากาศยานพลเรือนกรีซ, ค.ศ. 1973 - 1978
ธงเรือประจำชาติ และ ธงในราชการทหารเรือ
แก้ธงแสดงสัญชาติของกรีซที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ใช้ธงชาติกรีซเป็นธงเรือประจำชาติ
รูปลักษณ์ของธงกางเขนขาวบนพื้นสีฟ้าปรากฏการใช้อยู่ในธงฉานของกองทัพเรือกรีซ และในเป็นแบบพื้นฐานสำหรับธงหมายยศต่างๆ ของกองทัพเรือกรีซ ธงเหล่านี้ปรากฏความบรรยายอยู่ในหมวด 21 มาตรา 2101-2130 ของข้องบังคับทหารเรือของกรีซ ธงฉานของกรีซนั้น นอกจากจะใช้บนเรือรบของกองทัพเรือแล้ว ยังใช้สำหรับเรือยามฝั่งของประเทศกรีซด้วยอีกหน่วยหนึ่ง
หน่วยทหารในกองทัพเรือกรีก และ หน่วยย่อยของกองเรือยามฝั่งในการเดินสวนนามจะใช้ธงชาติ (ธงนาวี) เป็นเครื่องหมายแทนการใช้ธงชัยประจำหน่วย[19]
-
ธงฉาน
-
ธงประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งกรีซสำหรับกองทัพเรือ
-
ธงนายพลเรือเอก
-
ธงกองเรือยามฝั่ง (ค.ศ. 1964–80)
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 Volker Preuß. "Griechenland" (ภาษาเยอรมัน). สืบค้นเมื่อ 2007-05-17.
- ↑ "Η καθιέρωση της ελληνικής σημαίας. (เว็บไซต์กองทัพสาธารณรัฐเฮลเลนิก)". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-04-02. สืบค้นเมื่อ 2007-04-02.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 "ธงชาติกรีซ (เว็บไซต์สำนักงานประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเฮลเลนิก)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-10-15. สืบค้นเมื่อ 2008-10-22.
- ↑ Ottfried Neubecker, Heraldry - Sources, Symbols and Meaning, pp.106, Tiger Books International (Twickenham), 1997.
- ↑ History of Greek Flags
- ↑ 6.00 6.01 6.02 6.03 6.04 6.05 6.06 6.07 6.08 6.09 6.10 6.11 Alexander-Michael Hadjilyra: Η καθιέρωση της ελληνικής σημαίας ("The adoption of the Greek flag"), Hellenic Army General Staff, 2003.
- ↑ http://www.rbvex.it/cretasamo.html
- ↑ "Greek Independence Day". www.britannica.com. สืบค้นเมื่อ 2009-09-09.
The Greek revolt was precipitated on March 25, 1821, when Bishop Germanos of Patras raised the flag of revolution over the Monastery of Agia Lavra in the Peloponnese. The cry “Freedom or Death” became the motto of the revolution. The Greeks experienced early successes on the battlefield, including the capture of Athens in June 1822, but infighting ensued.
- ↑ Frazee, Charles A. (1969). The Orthodox Church and independent Greece, 1821-1852. CUP Archive. pp. 18–20. ISBN 0521072476.
On 25 March, Germanos gave the revolution its great symbol when he raised a banner with the cross on it at the monastery of Ayia Lavra.
- ↑ Law 851/21-12-1978 On the national Flag, War Flags and the Distinguishing Flag of the President of the Republic, Gazette issue A-233/1978.
- ↑ 11.0 11.1 11.2 11.3 "Law 851 (in Greek)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-01-20. สืบค้นเมื่อ 2011-06-06.
- ↑ สี "cyan" นี้ไม่ทราบว่าตรงกับสีอะไรในภาษาไทย จึงขอคงคำเดิมจากต้นฉบับในวิกิพีเดียภาษาอังกฤษ
- ↑ 13.0 13.1 Album des pavillons nationaux et des marques distinctives. Brest, France: S.H.O.M.; 2000. p. 238.
- ↑ Flag Manual. Beijing, China: Beijing Organizing Committee for the Games of the XXIX Olympiad – Protocol Division; 2008. p. B15.
- ↑ Flags and Anthems Manual. London, United Kingdom: London Organising Committee of the Olympic Games and Paralympic Games Limited; 2012. p. 47.
- ↑ 16.0 16.1 Procedural time limits - Greece
- ↑ 17.0 17.1 "Presidential Decree 201/1998" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2011-03-09.
- ↑ O. Zotiadis (January 2001). "Decorations of War Flags (กรีก: Τιμητικές διακρίσεις πολεμικών σημαιών)". Military Review. Hellenic Army General Staff.
- ↑ Presidential Decree 348 /17-4-1980, On the war flags of the Armed Forces and the Gendarmerie Corps, Gazette issue A-98/1980.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- ธงชาติกรีซ ที่ Flags of the World (อังกฤษ)
- ประวัติธงชาติกรีซ
- Presidency of the Hellenic Republic: State Symbols, The Flag เก็บถาวร 2008-10-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Article on the Greek Flag from the website of the Hellenic Army (in Greek) เก็บถาวร 2007-04-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Greek flags during the Ottoman era (in Greek) เก็บถาวร 2007-03-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน