ซีกโลกเหนือ
ซีกโลกเหนือ (อังกฤษ: northern hemisphere) คือบริเวณของโลกที่อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรขึ้นไปจนถึงขั้วโลกเหนือ ตรงข้ามกับซีกโลกใต้ ค่าพิกัดภูมิศาสตร์ของละติจูดของตำแหน่งใดก็ตามบนซีกโลกเหนือจะเป็นบวกเสมอและใช้สัญลักษณ์แทนด้วยตัว N ฤดูหนาวของพื้นที่ในซีกโลกเหนือจะเริ่มตั้งแต่เหมายัน (ราววันที่ 21 ธันวาคม) จนถึงวสันตวิษุวัต (ราววันที่ 20 มีนาคม) ส่วนฤดูร้อนจะเริ่มตั้งแต่ครีษมายัน (ราววันที่ 21 มิถุนายน) ไปจนถึงศารทวิษุวัต (ราววันที่ 23 กันยายน)
ซีกโลกเหนือประกอบด้วยพื้นน้ำมากกว่าแผ่นดินอย่างชัดเจน แต่ก็ยังปกคลุมด้วยแผ่นดินมากกว่าซีกโลกใต้ ซีกโลกเหนือประกอบด้วยแผ่นดิน 39% และพื้นน้ำ 61%[1] ประชากรราว 90% ของโลกอาศัยอยู่ในซีกโลกเหนือ[2] แผ่นดินส่วนใหญ่เป็นทวีปยุโรป ทวีปเอเชีย ซึ่งเป็นทวีปที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทวีปอเมริกาเหนือ และส่วนใหญ่ของทวีปแอฟริกา นอกจากนี้ยังมีบางส่วนของทวีปอเมริกาใต้ กรีนแลนด์ เกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก มหาสมุทรที่มีพื้นที่อยู่ในซีกโลกเหนือได้แก่มหาสมุทรอาร์กติก มหาสมุทรแปซิฟิกและแอตแลนติกราวครึ่งหนึ่ง และมหาสมุทรอินเดียบางส่วน
จุดศูนย์กลางของซีกโลกเหนือคือขั้วโลกเหนือ ซึ่งเป็นจุดตัดทิศเหนือระหว่างขั้วโลกกับพื้นผิวของโลก ส่วนขั้วแม่เหล็กเหนือจะแปรผันไปเหนือเส้นอาร์กติกเซอร์เคิล ออโรราที่เกิดขึ้นในซีกโลกเหนือเรียกว่า aurora borealis หรือ แสงเหนือ ในภาษาไทย
เนื่องจากแรงคอริออลิสจากการหมุนของโลก บริเวณความกดอากาศต่ำที่กำเนิดในซีกโลกเหนือ เช่น เฮอร์ริเคนหรือไต้ฝุ่น จะปรากฏการหมุนของพายุในทิศทวนเข็มนาฬิกาเสมอ
ซีกเหนือของดาวเคราะห์ดวงอื่นในระบบสุริยะสามารถนิยามได้จาก บริเวณของดาวที่มีซีกฟ้าเดียวกับขั้วโลกเหนือเมื่อเทียบกับระนาบไม่แปรผันของระบบสุริยะ[3]
พื้นที่ที่ตั้งอยู่บนซีกโลกเหนือ
แก้- ทวีปยุโรปทั้งทวีป
- ทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกากลางทั้งทวีป ภูมิภาคแคริบเบียน ยกเว้นดินแดนโพ้นทะเลบางแห่ง
- พื้นที่เกือบทั้งหมดของทวีปเอเชีย ยกเว้นติมอร์ตะวันออกที่อยู่ซีกโลกใต้ อินโดนีเซียและมัลดีฟส์บางส่วนที่มีพื้นที่คาบเกี่ยวกับเส้นศูนย์สูตร
- พื้นที่ราวสองในสามของทวีปแอฟริกา ตั้งแต่บริเวณจะงอยแอฟริกาขึ้นไป
- พื้นที่ราวหนึ่งในสิบของทวีปอเมริกาใต้ ตั้งแต่บริเวณทิศเหนือของปากแม่น้ำแอมะซอนขึ้นไป
อ้างอิง
แก้- ↑ Peter Hupfer, Wilhelm Kuttler, Ernst Heyer, Frank-Michael Chmielewski: Witterung und Klima: eine Einführung in die Meteorologie und Klimatologie. Vieweg+Teubner Verlag, 2006, ISBN 3835100963, หน้า 13 (เยอรมัน)
- ↑ , Ogden, Philip E. "Density and Distribution of Population." [1] Encyclopedia of Population. Vol. 1., 2003. หน้า 221-226.
- ↑ Report of the IAU Working Group on cartographic coordinates and rotational elements: 2009 เก็บถาวร 2015-09-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 23 ตุลาคม 2010
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ซีกโลกเหนือ