ความขัดแย้งในกัมพูชา พ.ศ. 2354

ความขัดแย้งในกัมพูชา พ.ศ. 2354 เป็นความขัดแย้งระหว่างสมเด็จพระอุไทยราชา หรือนักองค์จันทร์ กษัตริย์กัมพูชาซึ่งฝักใฝ่ฝ่ายญวนเวียดนาม และนักองค์สงวนเจ้าชายกัมพูชาผู้ฝักใฝ่สยาม นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างสยามอาณาจักรรัตนโกสินทร์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และอาณาจักรเวียดนามราชวงศ์เหงียนในสมัยของพระเจ้ายาล็อง

ความขัดแย้งในกัมพูชา พ.ศ. 2354

แผนที่กัมพูชา ในสมัยอาณาจักรรัตนโกสินทร์ ตอนต้น
วันที่กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2354 - กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2355
สถานที่
ผล กัมพูชาเข้าสู่ภายใต้อิทธิพลของเวียดนาม
คู่สงคราม
อาณาจักรรัตนโกสินทร์ (สยาม)
อาณาจักรกัมพูชา
ราชวงศ์เหงียน (เวียดนาม)
อาณาจักรกัมพูชา
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
เจ้าพระยายมราช (น้อย บุณยรัตพันธุ์)
พระยาอภัยภูเบศร (แบน)
พระยาอินทรบดีสีหราชรองเมือง
นักองค์สงวน
พระยาเดโช (เม็ง)
พระเจ้ายาล็อง
เล วัน เสวียต (Lê Văn Duyệt)
เหงียน วัน เญิน (Nguyễn Văn Nhơn)
เหงียน วัน ถว่าย (Nguyễn Văn Thoại)
สมเด็จพระอุไทยราชา (นักองค์จันทร์)
พระยาบวรนายก (สวด)
พระยาธรรมเดโช (มัน)
พระยาโยธาสงคราม (มา)

เหตุการณ์นำ

แก้

กัมพูชาในสมัยกรุงธนบุรี

แก้
 
ทิวทัศน์เมืองนครวัด ภาพถ่ายในปี พ.ศ. 2409

อาณาจักรกัมพูชาในช่วงยุคมืดตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสยามและเวียดนาม เจ้าญวนใต้ตระกูลเหงียนแผ่ขยายอำนาจลงเวียดนามภาคใต้ ซึ่งเดิมเป็นดินแดนของอาณาจักรเขมรอุดง ความขัดแย้งชิงอำนาจทางการเมืองระหว่างเจ้านายกัมพูชาต่างฝ่ายต่างขอความช่วยเหลือจากสยามหรือญวน นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างสยามและญวนหลายครั้ง

หลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองในพ.ศ. 2310 เจ้าศรีสังข์ ซึ่งเป็นพระโอรสในเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) เสด็จไปประทับที่เมืองอุดงหรือบันทายเพชรของกัมพูชาภายใต้ความคุ้มครองของนักองค์ตนหรือพระนารายณ์ราชากษัตริย์กัมพูชา ต่อมาในพ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีพระราชสาสน์ถึงพระนารายณ์ราชานักองค์ตน ให้กัมพูชาแต่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองเครื่องบรรณาการไปถวายแก่กรุงธนบุรีดังเช่นเคยในสมัยอยุธยา พระนารายณ์ราชาทรงไม่ยอมเป็นเมืองขึ้นของสยาม “บุตรจีนหัยหงษ์ตั้งตัวขึ้นเป็นกระษัตริย์ จะให้เรานำดอกไม้เงินดอกไม้ทอง ไปถวายอย่างไรเห็นจะไม่สมควร[1]ในพ.ศ. 2314 สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้แต่งทัพเข้าโจมตีกัมพูชา เพื่อปราบพระนารายณ์ราชากษัตริย์กัมพูชาและเพื่อหาตัวเจ้าศรีสังข์ ทรงให้พระยายมราช (ทองด้วง) ยกทัพจำนวน 10,000 คน[2] ไปทางปราจีนบุรี พระตะบอง โพธิสัตว์ เข้าโจมตีเมืองอุดง ให้นักองค์โนนไปในกองทัพด้วย สมเด็จพระเจ้าตากสินพร้อมทั้งพระยาพิพิธ (ตั้งเลี้ยง 陳聯 หรือ เฉินเหลียน พินอิน: Chén Lián) เสด็จเป็นองค์จอมทัพไปทางเรือเข้าโจมตีเมืองบันทายมาศ นำไปสู่สงครามสยาม-เวียดนาม พ.ศ. 2314 พระยายมราชยึดได้เมืองพระตะบองเสียมราฐโพธิสัตว์และเมืองบริบูรณ์ และพระยาพิพิธยึดได้เมืองเปียมบันทายมาศ สมเด็จพระนารายณ์ราชานักองค์ตนพร้อมทั้งพระราชวงศ์จึงเสด็จลี้ภัยไปยังเมืองไซ่ง่อนประทับภายใต้ความคุ้มครองของเจ้าญวนใต้เหงียนฟุกถ่วน (Nguyễn Phúc Thuần 阮福淳)

เจ้าญวนใต้เหงียนฟุกถ่วน ส่งเหงียนกิ๋วด่าม[3] (Nguyễn Cửu Đàm 阮久潭) เป็นแม่ทัพยกทัพญวนจำนวน 10,000 คน[1] เข้าโจมตีเมืองอุดงคืนให้แก่นักองค์ตน พงศาวดารเขมรระบุว่าฝ่ายญวนสามารถเอาชนะฝ่ายไทยได้[1][3] สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเห็นว่าเมืองกัมพูชาและบันทายมาศรักษาไว้ได้ยาก จึงมีท้องตราให้พระยายมราชและพระยาราชาเศรษฐี (ตั้งเลี้ยง) เลิกทัพกลับธนบุรี โดยตั้งพระรามราชา (นักองค์โนน) รักษาไว้ที่เมืองกำปอด ในพ.ศ. 2314 ปีเดียวกับที่สยามยกทัพโจมตีกัมพูชานั้น ในเวียดนามเกิดกบฏเตยเซินขึ้นต่อต้านการปกครองของเจ้าญวนใต้ตระกูลเหงียน ทำให้ฝ่ายญวนเสื่อมอำนาจลง ฝ่ายพระนารายณ์ราชา (นักองค์ตน) เสด็จจากไซ่ง่อนกลับกัมพูชา นักองค์ตนทรงเจรจากับนักองค์โนนซึ่งอยู่ที่เมืองกำปอด ยกราชสมบัติให้นักองค์โนนขึ้นครองราชย์สมบัติกัมพูชาเป็นสมเด็จพระรามราชาฯกษัตริย์กัมพูชาในพ.ศ. 2318 ส่วนนักองค์ตนนั้นทรงลดยศลงเป็นพระมหาอุปโยราช และให้นักองค์ธรรมเป็นพระมหาอุปราช

ในพ.ศ. 2320 พระมหาอุปราช (นักองค์ธรรม) ถูกปลงพระชนม์ และพระมหาอุปโยราช (นักองค์ตน) ล้มป่วยถึงแก่พิราลัย พระรามราชา (นักองค์โนน) จึงเป็นกษัตริย์กัมพูชาครองอำนาจอยู่แต่พระองค์เดียว ในพ.ศ. 2322 เจ้าฟ้าทะละหะ (มู) และพระยาเดโช (แทน) ขุนนางกัมพูชาสองพี่น้องซึ่งเข้าใจว่าพระรามราชานักองค์โนนทรงเป็นต้นเหตุให้นักองค์ตนและนักองค์ธรรมถึงแก่พิราลัย เจ้าฟ้าทะละหะ (มู) และพระยาเดโช (แทน) เข้าฝักใฝ่ญวนในขณะนั้นเหงียนฟุกอั๊ญหรือองเชียงสือ ตั้งอยู่ที่เมืองไซ่ง่อนเพื่อต่อสู้กับเตยเซิน องเชืองสือส่งทัพญวนเข้ามาสนับสนุนเจ้าฟ้าทะละหะ (มู) ฝ่ายเจ้าฟ้าทะละหะ (มู) จับองค์นักองค์โนนกษัตริย์กัมพูชาใส่กรงแล้วปลงพระชนม์เสียที่บึงขยอง[1] เจ้าฟ้าทะละหะ (มู) ยกเอานักองค์เองโอรสของนักองค์ตนซึ่งมีพระชนมายุเพียงสี่ชันษา ขึ้นเป็นกษัตริย์กัมพูชาต่อมาโดยที่เจ้าฟ้าทะละหะ (มู) ตั้งตนเป็นผู้สำเร็จราชการ

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงทราบว่ากัมพูชาเกิดจลาจลพระรามราชาถูกปลงพระชนม์ จึงทรงเคืองพระยายมราช (แบน) ว่าเป็นพี้เลี้ยงของนักองค์โนนกลับปล่อยให้นักองค์โนนถูกสังหาร สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงให้จับกุมตัวพระยายมราช (แบน) มากุมขังที่ธนบุรี เจ้าพระยาจักรีได้ช่วยเหลือให้พระยายมราช (แบน) พ้นโทษ พระยายมราช (แบน) จึงได้เป็นข้าหลวงเดิมนับแต่นั้น ในพ.ศ. 2324 สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีพระราชโองการให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ยกทัพเข้าตีกัมพูชาเพื่อตั้งให้เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ขึ้นเป็นกษัตริย์กัมพูชา แต่เกิดเหตุการณ์กบฏพระยาสรรค์ขึ้นเสียก่อน สงครามครั้งนั้นจึงยุติลง

กัมพูชาในสมัยรัชกาลที่ 1

แก้
 
ทิวทัศน์เมืองนครวัด ภาพถ่ายในปี พ.ศ. 2423

สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ในปีเดียวกันนั้นพ.ศ. 2325 องเชียงสือพ่ายแพ้ให้แก่เตยเซินเสียเมืองไซ่ง่อน หลบหนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารที่กรุงเทพฯ ฝ่ายเมืองกัมพูชานักองค์เองกษัตริย์กัมพูชาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของเจ้าฟ้าทะละหะ (มู) ผู้สำเร็จราชการ พระยายมราช (แบน) และพระยากลาโหม (ปก) ร่วมมือกันสังหารเจ้าฟ้าทะละหะ (มู) ได้สำเร็จ แต่พระยาเดโช (แทน) ผู้เป็นน้องหลบหนีไปได้ พระยายมราช (แบน) ตั้งตนขึ้นเป็นเจ้าฟ้าทะละหะผู้สำเร็จราชการกัมพูชา แต่เจ้าพระพุฒ (ตวนเสด)[1] ขุนนางแขกจามสามารถยกทัพเข้ายึดเมืองอุดงได้ ทำให้เจ้าฟ้าทะละหะ (แบน) และพระยากลาโหม (ปก) จำต้องนำนักองค์เอง พร้อมทั้งพระเชษฐภคินีอีกสององค์คือนักองค์อี และนักองค์เภา นำเสด็จเดินทางลี้ภัยไปยังกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงชุบเลี้ยงนักองค์เองกษัตริย์กัมพูชาเป็นพระโอรสบุญธรรม โปรดฯให้นักองค์เองและบรรดาขุนนางกัมพูชาพำนักที่คอกกระบือ ต่อมาย้ายไปที่วังเจ้าเขมรที่คลองขุดใหม่ใต้วัดสระเกษ ส่วนนักองค์อีและนักองค์เภานั้นเป็นบาทบริจาริกาในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท

เจ้าพระพุฒ (ตวนเสด) ยกเมืองอุดงให้แก่พระยาเดโช (แทน) ต่อมาตวนเสดถูกสังหาร พระยาเดโช (แทน) ตั้งตนเป็นเจ้าฟ้าทะละหะภายใต้การสนับสนุนของเวียดนามราชวงศ์เตยเซิน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงแต่งตั้งเจ้าฟ้าทะละหะ (แบน) เป็นเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์[4] หรือในพงศาวดารเขมรเรียกว่า”เจ้าพระยาอภัยธิเบศร์”[1] เป็นผู้สำเร็จราชการกัมพูชาฝ่ายสยามไปรักษาเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และโพธิสัตว์ ในปีพ.ศ. 2332 เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ส่งทัพไปยึดเมืองอุดงได้สำเร็จ จับตัวเจ้าฟ้าทะละหะ (แทน) ส่งมาที่กรุงเทพ[1] และองเชียงสือเข้ายึดเมืองไซ่ง่อนตั้งตนเป็นเจ้าอนัมก๊กได้สำเร็จ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯมีพระราชดำริว่า นักองค์เองกษัตริย์กัมพูชายังเยาว์วัย หากอภิเษกให้นักองค์เองออกไปเป็นกษัตริย์กัมพูชาอาจเป็นอันตรายจากการแก่งแย่งอำนาจในกัมพูชา จึงทรงให้นักองค์เองประทับอยู่ในกรุงเทพก่อนและให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์เป็นผู้สำเร็จราชการกัมพูชารักษาการณ์

เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนในกัมพูชาด้วยการสนับสนุนของสยาม เป็นเวลาสิบสองปี จนกระทั่งในพ.ศ. 2337 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯพระราชทานอภิเษกนักองค์เองขึ้นเป็นกษัตริย์กัมพูชา พระนามว่า สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีฯ และทรงแต่งตั้งพระยากลาโหม (ปก) พี่เลี้ยงของนักองค์เองเป็นเจ้าฟ้าทะละหะ นอกจากนี้ ยังมีพระดำริว่าเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์มิได้เป็นพวกเดียวกันกับนักองค์เอง หากรับราชการอยู่ด้วยกันอาจไม่สนิทกัน[4] จึงโปรดฯให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ปกครองเมืองพระตะบองและเสียมราฐ ขึ้นตรงต่อสยาม เมืองพระตะบองและเสียมราฐจึงผนวกเข้าสู่การปกครองโดยตรงของสยามกลายเป็น “เขมรใน”

พระนารายณ์รามาธิบดี (นักองค์เอง) กษัตริย์กัมพูชาอยู่ในราชสมบัติได้สองปีถึงแก่พิราลัยในพ.ศ. 2339 พระนารายณ์รามาธิบดีมีพระโอรสได้แก่นักองค์จันทร์ นักองค์สงวน นักองค์อิ่ม และนักองค์ด้วง เจ้าฟ้าทะละหะ (ปก) รักษาการกัมพูชาอยู่จนถึงพ.ศ. 2345 เจ้าฟ้าทะละหะ (ปก) จึงนำพระโอรสทั้งสี่ของพระนารายณ์รามาธิบดีมาเข้าเฝ้าฯ อยู่ที่กรุงเทพจนถึงพ.ศ. 2349 เจ้าฟ้าทะละหะ (ปก) ล้มป่วยถึงแก่อสัญกรรมที่กรุงเทพฯ[1] พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงอภิเษกนักองค์จันทร์ขึ้นเป็นสมเด็จพระอุไทยราชาฯกษัตริย์กัมพูชาในพ.ศ. 2349 ในครั้งนั้นพระเจ้าเวียดนามยาล็ององเชียงสือได้ส่งตราทองมาถวายให้การรับรองแก่นักองจันทร์ด้วย[1] พระอุไทยราชานักองค์จันทร์ขอพระราชทานนักองค์อีและนักองค์เภาพระปิตุจฉาซึ่งเป็นพระสนมในกรมพระราชวังบวรฯให้กลับคืนสู่กัมพูชา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯไม่โปรดฯพระราชทานตามคำขอเนื่องจากนักองค์อีและนักองค์เภาได้มีพระธิดาแล้ว[4] พระอุไทยราชานักองค์จันทร์กราบบังคมทูลลากลับกัมพูชาไปในพ.ศ. 2349 เข้าเฝ้าเวลาออกพระบัญชรนักองค์จันทร์เข้าไปเข้าเฝ้าเองไม่มีผู้นำเบิกตัวตามธรรมเนียม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯพิโรธตรัสบริภาษนักองค์จันทร์ต่อหน้าข้าราชการทั้งปวง[4] นักองค์จันทร์ได้รับความอัปยศอย่างมาก พระยาเดโช (เม็ง) เจ้าเมืองกำปงสวายเป็นกบฏต่อนักองค์จันทร์ในพ.ศ. 2351[1] หลบหนีมายังกรุงเทพ นักองค์จันทร์ขอให้ทางกรุงเทพส่งตัวพระยาเดโช (เม็ง) กลับกัมพูชา แต่ทางกรุงเทพไม่ส่งให้

กบฏของพระยาจักรี (แบน) และพระยากลาโหม (เมือง)

แก้

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯเสด็จสวรรคตเมื่อพ.ศ. 2352 เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ถึงแก่อสัญกรรมในปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงแต่งตั้งพระยาวิบูลราช (แบน) ขึ้นเป็นพระยาอภัยภูเบศร์เจ้าเมืองพระตะบองคนต่อมา[5] พระอุไทยราชานักองค์จันทร์ไม่ได้เดินทางไปเข้าร่วมพระราชพิธีที่กรุงเทพฯ ส่งพระอนุชาคือนักองค์สงวนและนักองค์อิ่ม พร้อมทั้งพระยาจักรี (แบน) และพระยากลาโหม (เมือง) นำเครื่องบรรณาการเข้าช่วยงานพระราชพิธีที่กรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระราชดำริว่า ในอดีตตำแหน่งย์เจ้ากัมพูชามีพระมหาอุปโยราชและพระมหาอุปราช สมควรที่จะแต่งตั้งให้ตำแหน่งครบถ้วยตามธรรมเนียมเดิม[6] จึงมีพระราชโองการแต่งตั้งให้นักองค์สงวนเป็นพระมหาอุปโยราช และนักองค์อิ่มเป็นพระมหาอุปราช พระมหาอุปโยราช (นักองค์สงวน) พระมหาอุปราช (นักองค์อิ่ม) พระยาจักรี (แบน) พระยากลาโหม (เมือง) กราบทูลลากลับกัมพูชาในปีพ.ศ. 2352 ฝ่ายพระยาเดโช (เม็ง) เมื่อไกล่เกลี่ยเจรจากันแล้ว จึงมีพระราชโองการให้พระยาเดโช (เม็ง) กลับไปกัมพูชาเช่นกัน พระยาเดโช (เม็ง) กลับไปอยู่ที่เมืองกำปงสวาย

ในปีพ.ศ. 2352 นั้น เกิดสงครามพม่าตีเมืองถลาง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงมีศุภอักษรให้พระมหาอุปโยราชนักองค์สงวนถือออกไปให้แก่สมเด็จพระอุไทยราชานักองค์จันทร์ ให้เกณฑ์ทัพกัมพูชาเข้ามาช่วยป้องกันพระนคร แต่ทว่านักองค์จันทร์กษัตริย์กัมพูชานิ่งเฉยไม่เกณฑ์ทัพมาตามพระราชโองการ ฝ่ายพระยาจักรี (แบน) พระยากลาโหม (เมือง) และพระยาสังคโลก (เวด)[5] เจ้าเมืองโพธิสัตว์ ขุนนางกัมพูชาซึ่งฝักใฝ่สยาม เกรงว่าจะมีความผิด จึงจัดการเกณฑ์ไพร่พลเพื่อยกเข้ามาช่วยกรุงเทพ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากสมเด็จพระอุไทยราชา สมเด็จพระอุไทยราชานักองค์จันทร์จึงทรงให้จับกุมตัวพระยาจักรี (แบน) และพระยากลาโหม (เมือง) มาประหารชีวิตไปเสียในเดือนกันยายน พ.ศ. 2353 ส่วนพระยาสังคโลก (เวด) นั้นหลบหนีมายังกรุงเทพฯ ฝ่ายพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ทำค่ายเมืองพระตะบองไว้เตรียมป้องกัน

สมเด็จพระอุไทยราชานักองค์จันทร์กษัตริย์กัมพูชา มีพระอักษรไปแจ้งแก่ฝ่ายญวนเจ้าเมืองไซ่ง่อนชื่อเหงียนวันเญิน (Nguyễn Văn Nhơn, 阮文仁) ว่า พระยาจักรี (แบน) และพระยากลาโหม (เมือง) เป็นกบฏ ขอบารมีพระเจ้ายาล็ององเชียงสือเป็นที่พึ่ง[6] ในเวลาเดียวกันนักองค์จันทร์มีศุภอักษรตอบเข้ามาที่กรุงเทพว่า ได้จัดเตรียมทัพไว้ยกเข้ามาช่วยพระนครแล้ว แต่เกิดกบฏของพระยาจักรี (แบน) พระยากลาโหม (เมือง) ขึ้นเสียก่อน จึงไม่ได้ยกทัพมาตามศุภอักษร ฝ่ายเวียดนามเหงียนวันเญิน ยกทัพญวนจำนวน 1,000 คน[1] จากไซ่ง่อนมาตั้งที่เกาะจีนเมืองละแวก ส่วนพระอุไทยราชานักองค์จันทร์ให้จัดทัพเข้ารักษาบริเวณเขตแดนกับสยามและเมืองพระตะบองทุกทิศทาง[6] เหงียนวันเญินส่งหนังสือถึงพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ที่เมืองพระตะบอง พระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) มีใบบอกเข้ามาที่กรุงเทพฯ กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์[1]จึงมีพระบัณฑูรให้พระยาพิชัยรณฤทธิ์ พระยาอินทราบดีสีหราชรองเมือง หลวงสุเรนทรนุชิต และปลัดเมืองนครราชสีมา คุมกองทัพไปตั้งมั่นที่เมืองพระตะบอง ถือหนังสือเจรจาความไปมอบให้แก่เหงียนวันเญิน แต่ยังไม่ทันได้ส่งหนังสือ ฝ่ายเหงียนวันเญินซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองละแวกเห็นว่าฝ่ายสยามไม่ได้ยกทัพลงมา เหงียนวันเญินจึงยกทัพกลับไซ่ง่อนไปก่อนในเดือนมกราคมพ.ศ. 2354 พระยาพิชัยรณฤทธิ์และพระยารองเมืองฯจึงตั้งทัพอยู่ที่พระตะบอง

ฝ่ายกรุงเทพตัดสินว่า ถึงแม้ว่าพระยาจักรี (แบน) พระยากลาโหม (เมือง) และพระยาสังคโลก (เวด) นั้น กระทำการไปเพื่อช่วยเหลือกรุงเทพฯก็จริง แต่ก็ละเมิดพระราชอำนาจของพระเจ้ากัมพูชา[6] จึงมีความผิด อีกทั้งยังไม่ปรากฏชัดเจนว่าพระอุไทยราชานักองค์จันทร์กษัตริย์กัมพูชานั้นเป็นกบฏต่อกรุงเทพ จึงให้จับกุมตัวพระยาสังคโลก (เวด) ที่กรุงเทพไว้ พระอุไทยราชาส่งพระยาวงศาอรรคราช (ติ)[1] ยกทัพไปตีพระยาเดโช (เม็ง) ที่กำพงสวาย พระยาเดโช (เม็ง) จึงอพยพหลบหนีมายังกรุงเทพอีกครั้ง

ความขัดแย้งในกัมพูชา พ.ศ. 2354 - 2355

แก้

กบฏของนักองค์สงวนที่เมืองโพธิสัตว์

แก้
 
เหงียนวันถว่าย (Nguyễn Văn Thoại) หรือ ถว่ายหง็อกเห่า (Thoại Ngọc hầu) ดำรงตำแหน่งเป็น "เบาฮอ" หรือข้าหลวงของญวนประจำกัมพูชา มีศาลสำหรับบูชาถว่ายหง็อกเห่าที่เขานุ้ยซัม (núi Sam) ใกล้กับเมืองห่าเตียน

เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2354 พระมหาอุปโยราชนักองค์สงวน เสด็จออกผนวชไปประทับอยู่กับพระมหาสังฆราชา (พระธรรมวิปัสสนา)[1] พระภิกษุที่ได้รับความนับถือจากพระราชวงศ์กัมพูชา ที่เขาพระราชทรัพย์ ในเดือนธันวาคม พระองค์แก้วเจ้าชายเขมรสิ้นพระชนม์ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2355 พระมหาอุปโยราชนักองค์สงวนลาผนวชออกแล้ว เสด็จออกจากเมืองอุดงบันทายเพชร ในเวลากลางคืน เพื่อไปจัดแต่งงานศพพระองค์แก้ว ขุนนางเขมรรวมทั้งสิ้นเจ็ดคนมารับแห่งนักองค์สงวนไปประทับที่เมืองโพธิสัตว์ พระอุไทยราชานิมนต์ส่งพระมหาสังฆราชออกไปเชิญนักองค์สงวนกลับมาเองอุดง[1] นักองค์สงวนไม่กลับมา พระอุไทยราชาส่งขุนนางกลุ่มหนึ่งไปเชื้อเชิญให้นักองค์สงวนกลับมา นักองค์สงวนกลับยึดตัวขุนนางเหล่านั้นไว้หมด พระอุไทยราชาจึงส่งพระยาบวรนายก (สวด) ไปขอความช่วยเหลือจาก"องลิวกิน"เหงียนวันเญินเจ้าเมืองไซ่ง่อน เหงียนวันเญินจึงให้"องเจิงเคญเทือง"เหงียนวันถว่าย (Nguyễn Văn Thoại, 阮文瑞) นำทัพเรือ 500 คน[1] พร้อมทั้งเรือแง่โอเรือแง่ทราย มาตั้งอยู่ที่เกาะจีนเมืองละแวกอีกครั้ง

กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์มีพระบัณฑูรให้พระยายมราช (ควร) ขุนนางเขมรออกมาช่วยงานศพพระองค์แก้ว พระยายมราช (ควร) มาพบกับนักองค์สงวนที่เมืองโพธิสัตว์ นักองค์สงวนฝากข้อความแก่พระยายมราช (ควร) กราบทูลขอพระราชทานเมืองตะขร้อ (Krakor) เมืองขลุง และเมืองตรอง[1] ให้แก่นักองค์สงวนแยกมาปกครองเอง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระราชดำริว่า นักองค์จันทร์และนักองค์สงวนวิวาทกันจนเป็นเหตุให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้น จะมีศุภอักษรออกไปให้สมานสามัคคีกันดังเดิมคงไม่เพียงพอ[6] ต้องมีกองทัพไปควบคุมสถานการณ์ด้วย จึงมีพระราชโองการให้เจ้าพระยายมราช (น้อย บุณยรัตพันธุ์) ยกทัพออกไปสมทบกับพระยาพิไชยรณฤทธิ์และพระยารองเมืองฯที่เมืองพระตะบองในเดือนมีนาคม

การรบที่กำปงชนัง

แก้

ในเดือนเมษายน องเชืองเกิญเทือง เหงียนวันถว่าย ให้องจันกว้าง[1]ไปเมืองพระตะบอง พระมหาอุปโยราช (นักองค์สงวน) จับตัวองจันกว้างไว้เสีย และนักองค์สงวนยังส่งกองกำลังไปโจมตีเมืองพนมเปญอีกด้วย สมเด็จพระอุไทยราชานักองค์จันทร์ เสด็จออกจากเมืองอุดงไปประทับที่ค่ายโพโตกเพื่อเตรียมการรับมือทัพสยาม มีพระราชโองการให้พระยาสังคโลก พระยาเอกราช (แทน) พระยาเพชรเดโชเจ้าเมืองลาดปะเอีย มาตั้งทัพที่เมืองริวิฉนาก[6] ให้พระยาโยธาสงคราม (มา) อยู่ตั้งรักษาที่เมืองกำปงชนัง โดยมีพระยาธรรมเดโช (มัน) เป็นแม่ทัพใหญ่ทางเรือ[1] และให้พระยายมราช (คง) คอยลาดตระเวณ

เจ้าพระยายมราช (น้อย) เกรงว่า หากยกทัพสยามจากพระตะบองลงไปจะทำให้นักองค์จันทร์ตื่นตระหนกตกใจ จึงให้พระยารองเมืองฯถือหนังสือลงไปถวายพระอุไทยราชานักองค์จันทร์ที่เมืองอุดงแจ้งความให้ทราบก่อน แต่นักองค์จันทร์กลับนิ่งเฉยไม่ตอบ เจ้าพระยายมราชส่งพระภักดีนุชิตถือหนังสือลงไปอีกครั้งหนึ่ง แต่พระภักดีนุชิตถูกพระยายมราช (คง) และพระยาเพชรเดโชยึดสาสน์และคุมตัวไว้ที่เมืองริวิฉนาก เจ้าพระยายมราช (น้อย) เห็นว่า พระอุไทยราชานักองค์จันทร์กษัตริย์กัมพูชาดูหมิ่นสยามสิ้นยำเกรง[6] จึงยกทัพลงไปจากเมืองพระตะบอง

ในเดือนเมษายน เจ้าพระยายมราช (น้อย) พระยารองเมืองฯ พระยายมราช (ควร) พระยาจักรี (เชด) และพระวิเศษสุนทร (รศ) ยกทัพจำนวน 3,000[1] คน ออกจากเมืองพระตะบองมาถึงเมืองโพธิสัตว์ แล้วแห่นักองค์สงวนออกมาจากเมืองโพธิสัตว์ ยกทัพเข้าตีเมืองกำพงชะนัง นำไปสู่การรบที่กำปงชนัง ในขณะที่พระยาสุรสงครามเป็นแม่ทัพเรือยกทัพจำนวน 2,000[1] คน มาทางเรือ พระยาธรรมเดโช (มัน) พระยาโยธาสงคราม (มา) และพระยาบวรนายก (สวด) ป้องกันเมืองกำพงชะนัง ฝ่ายกัมพูชายิงปืนเข้าใส่กองเรือเสบียงฝ่ายสยามของพระยาสุรสงคราม แต่พระยาสุรสงครามไม่ตอบโต้[6] ฝ่ายไทยปล่อยองจันกว้างออกมา แจ้งแก่ฝ่ายเขมรว่า ครั้งนี้กองทัพไทยมาจำนวนมาก บรรดาขุนนางกัมพูชาที่กำพงชนังจึงให้พระมนตรีสงครามลงเรือพายไปกราบทูลพระอุไทยราชานักองค์จันทร์ที่โพโตก ว่าครั้งนี้สยามยกมาเป็นจำนวนมากเห็นเกินจะรับไหว[6] พระอุไทยราชานักองค์จันทร์จึงเสด็จพร้อมทั้งพระราชวงศ์และบรรดาขุนนางลงเรือพระที่นั่งไปพนมเปญ

นักองค์จันทร์ลี้ภัยไปไซ่ง่อน

แก้

"องเจิงเคญเทือง"เหงียนวันถว่ายเตรียมเรือมารับนักองค์จันทร์และพระราชวงศ์กัมพูชาที่เมืองพนมเปญ[1] นักองค์อิ่มและนักองค์ด้วงปรึกษากันว่าหากเสด็จหนีตามนักองค์จันทร์ไปเวียดนามก็จะเป็นกบฏไปด้วย[6] นักองค์อิ่มและนักองค์ด้วงจึงเสด็จหนีจากเมืองพนมเปญไปหาฝ่ายไทย ฝ่ายญวนและฝ่ายนักองค์จันทร์ส่งกำลังออกติดตามนักองค์อิ่มและนักองค์ด้วงแต่ไม่ทัน เหงียนวันเญินเจ้าเมืองไซ่ง่อนส่งขุนนางมากราบทูลเชิญนักองค์จันทร์ไปประทับที่ไซ่ง่อนหรือเมืองบันแง[1] พระยาสุรสงครามนำกองเรือเดินทางถึงค่ายโพโตกเมืองอุดง ทราบว่าพระอุไทยราชานักองค์จันทร์หลบหนีไปพนมเปญแล้ว นำกองเรือไปตามนักองค์จันทร์แต่ไม่ทัน พบเพียงแต่ราษฎรชาวเขมรสับสนวุ่นวายอยู่ จึงป่าวประกาศให้กลับมาอยู่บ้านเรือนตามเดิม เจ้าพระยายมราชเมื่อมาถึงเมืองอุดงบันทายเพชรทราบว่านักองค์จันทร์เสด็จหลบหนีไปถึงเมืองไซ่ง่อนแล้ว จึงมีหนังสือถึงเจ้าเมืองไซ่ง่อนและนักองค์จันทร์ ชี้แจงว่าฝ่ายสยามยกทัพลงมาครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อทำสงครามแต่เพื่อไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างนักองค์จันทร์และนักองค์สงวน แต่นักองค์จันทร์และเจ้าเมืองไซ่ง่อนนิ่งเสียไม่ตอบ[6] นักองค์อิ่มและนักองค์ด้วงเสด็จหนีจากนักองค์จันทร์มาถึงเมืองอุดงประทับอยู่กับนักองค์สงวน

เหงียนวันเญินเจ้าเมืองไซ่ง่อน สร้างตำหนักที่ประทับที่เมืองไซ่ง่อนถวายให้พระอุไทยราชานักองค์จันทร์ และยังถวายเงินอีแปะพันพวงข้าวสารพันถัง พระอุไทยราชาให้พระยาบวรนายก (สวด) พระยาพหลเทพ (ขวัญ) และเจ้าพระพุฒ (ตวนผอ) ไปเข้าเฝ้าพระเจ้าเวียดนามยาล็องที่เมืองเว้ เดือนสิงหาคมพระเจ้าเวียดนามพระราชทานเงินทอง ผ้าแพร อิแปะ 5,000 ตะโนด[1]

ฝ่ายเจ้าพระยายมราช (น้อย) รอคอยหนังสือตอบอยู่ที่เมืองอุดงบันทายเพชรตลอดฤดูแล้ง ทั้งเจ้าเมืองไซ่ง่อนและนักองค์จันทร์ไม่มีการตอบรับ จึงคิดว่าหากเข้าถึงฤดูน้ำหลาก ฝ่ายญวนจะสามารถยกทัพเรือขึ้นมาช่วยนักองค์จันทร์กลับคืนมาได้สะดวก ที่ชัยภูมิของทัพสยามนั้นเสียเปรียบ เสบียงอาหารก็หมดสิ้นลงทุกวัน เจ้าพระยายมราชจึงปรึกษากันกับนักองค์สงวน นักองค์อิ่ม และนักองค์ด้วง ว่าความผิดของนักองค์จันทร์นั้นเป็นโทษกบฏโดยตรง เจ้าชายทั้งสามแจ้งว่ายินยอมทำตามคำสั่งของเจ้าพระยายมราชทุกประการ เจ้าพระยายมราชจึงมีคำสั่งให้เผาทำลายเมืองอุดงบันทายเพชร เมืองพนมเปญ และเมืองกำพงหลวงด้วยกันทั้งสามเมือง[1] เพื่อไม่ให้เป็นที่มั่นของศัตรู เมืองอุดงซึ่งเป็นราชธานีของอาณาจักรเขมรอุดงมาเป็นระยะเวลาประมาณสองร้อยปีจึงถูกเผาทำลายลงในครั้งนี้ จากนั้นจึงอพยพกวาดต้อนชาวเขมรเข้าไปยังเมืองพระตะบอง ให้พระยารองเมืองฯ และพระยายมราช (ควร) รอฟังข่าวนักองค์จันทร์อยู่ที่เมืองบันทายเพชร เจ้าพระยายมราชนำเจ้าชายเขมรทั้งสาม คือนักองค์สงวน นักองค์อิ่ม และนักองค์ด้วงไปยังกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯโปรดฯพระราชทานที่อยู่เดิมของนักองค์เองที่วังเจ้าเขมรให้เป็นที่ประทับ

บทสรุปและเหตุการณ์สืบเนื่อง

แก้

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2355 ทางกรุงเทพทราบว่า เฮี้ยวคังไท้เห่า (孝康太后, Hiếu Khang Thái hậu) หรือดึกไทเฮาพระชนนีของพระเจ้าเวียดนามยาล็องสิ้นพระชนม์ จึงแต่งคณะทูตไปสักการะคำนับพระศพของดึกไทเฮา มีพระยาราชเสนาเป็นราชทูต เมื่อเจ้าพระยายมราช (น้อย) นำเจ้าชายเขมรทั้งสามกลับมาแจ้งข้อราชการ จึงมีพระราชโองการให้อัญเชิญพระราชสาสน์ออกไปอีก[6]ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2355 ให้พระยาราชเสนาถวายแก่พระเจ้ายาล็อง ชี้แจงเหตุการณ์ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงนักองค์จันทร์ จนได้รับแต่งตั้งเป็นกษัตริย์กัมพูชา แต่กลับบิดพลิ้วไม่มาร่วมพระราชพิธี ประพฤติแข็งข้อต่อกรุงเทพหลายประการ และยังหลบหนีไปเมืองไซ่ง่อนเสียอีก ฝ่ายพระเจ้ายาล็องมีราชสาสน์ตอบกลับมาว่า กองทัพสยามยกทัพลงไปเบียดเบียนชาวเขมรได้รับความเดือดร้อน แม้แต่วังของนักองค์จันทร์ก็เผาทำลายลงเสีย นักองค์สงวนเป็นต้นเหตุของความวุ่นวาย "เป็นข้าก็ไม่ตรงต่อเจ้า เป็นน้องไม่อดออมต่อพี่"[6] โทษของนักองค์สงวนมากกว่าผู้อื่น แต่หากนักองค์สงวนยอมขอโทษก็จะหายโทษ "เนื้อกับกระดูกจะได้ร่วมกัน" ฝ่ายกรุงเทพจึงมีความเข้าใจว่าฝ่ายญวนนั้นให้การสนับสนุนแก่นักองค์จันทร์นการต่อต้านสยาม แต่หากจะยกทัพไปทำการสงครามกับเวียดนามตอนนี้ไม่เหมาะสม เพราะมีฤดูน้ำหลากฝ่ายเวียดนามได้เปรียบทางเรือ อีกทั้งเกรงว่าจะเกิดศึกสองด้านกับพม่าและเวียดนาม ควรรักษาทางไมตรีกับญวนไว้ก่อน

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2356 จึงโปรดฯให้พระยามหาอำมาตย์เป็นราชทูต พระยาราชโยธาเป็นอุปทูต ไปยังเมืองเวียดนามอัญเชิญพระราชสาสน์ไปถวายพระเจ้ายาล็อง พระเจ้ายาล็องตรัสแก่ทูตว่า จะให้นักองค์จันทร์กลับจากไซ่ง่อนไปคืนครองเมืองกัมพูชาตามเดิม ความผิดของนักองค์จันทร์ในครั้งนี้ขอพระราชทานงดเว้นสักครั้งหนึ่ง ในเดือนเมษายน พระเจ้ายาล็องมีพระราชโองการให้"องต๋ากุน"เลวันเสวียต (Lê Văn Duyệt, 黎文悅) และ"องเหียบกิน"โงเญินติ่ญ (Ngô Nhân Tịnh, 吳仁靜) นำกองกำลังญวนจำนวนทั้งสิ้น 13,000 คน แห่นำพระอุไทยราชานักองค์จันทร์กลับคืนปกครองกัมพูชาตามเดิม เลวันเสวียตนำแห่นักองค์จันทร์ออกจากเมืองไซ่ง่อนมากลับคืนเมืองพนมเปญในเดือนพฤษภาคม โดยมีพระยามหาอำมาตย์และพระยาราชโยธาขุนนางราชทูตสยามร่วมเดินทางส่งนักองค์จันทร์เป็นสักขีพยานในครั้งนี้ด้วย พระยายมราช (ควร) และพระวิเศษสุนทร (รศ) ขุนนางกัมพูชาฝ่ายไทยที่รอคอยอยู่ที่เมืองอุดงเข้าเฝ้าพระอุไทยราชา หลังจากส่งนักองค์จันทร์กลับเมืองกัมพูชาเสร็จสิ้นแล้ว ขุนนางฝ่ายไทยได้แก่ พระยามหาอำมาตย์ พระยาราชโยธา พระยายมราช (ควร) และพระวิเศษสุนทร (รศ) จึงเดินทางกลับเมืองพระตะบอง

สมเด็จพระอุไทยราชานักองค์จันทร์ทรงปูนบำเหน็จขุนนางที่ได้ช่วยเหลือพระองค์มา พระยาบวรนายก (สวด) ได้เลื่อนเป็นพระยาจักรี เจ้าพระพุฒ (ตวนผอ) ขุนนางแขกจามได้เลื่อนเป็นพระยายมราช เมื่อนักองค์จันทร์เสด็จกลับมาถึงเมืองพนมเปญ พบว่าเมืองอุดงบันทายเพชรและเมืองพนมเปญถูกฝ่ายสยามเผาทำลายลงจนสิ้นแล้ว องต๋ากุนเลวันเสวียตให้สร้างป้อมเมืองใหม่ให้แก่นักองค์จันทร์ นักองค์จันทร์แจ้งว่าเมืองอุดงนั้นเป็นที่สูงไม่ต้องการประทับอยู่ที่เมืองอุดง[6] แต่ประสงค์จะประทับที่พนมเปญเนื่องจากเป็นที่ลุ่มต่ำหากสยามบุกรุกรานมาทัพเรือเวียดนามจะสามารถเข้าช่วยเหลือได้สะดวก เลวันเสวียตจึงสร้างป้อมเมืองใหม่ขึ้นที่พนมเปญชื่อว่าเมือง”บันทายแก้ว”ให้แก่นักองค์จันทร์ และสร้างป้อมเมืองละว้าเอม (Lvea Aem) ไว้สำหรับทหารญวนไว้ประจำการ รวมทั้งสร้างศาลไว้ที่แหลมจะโรยจังวา (Chroy Changvar) ตรงข้ามเมืองพนมเปญ เพื่อบูชาเหงียนหิวกั๋ญ (Nguyễn Hữu Cảnh, 阮有鏡)[7] แม่ทัพญวนซึ่งได้เคยพิชิตกัมพูชาเมื่อพ.ศ. 2243 เมื่อประมาณหนึ่งร้อยปีก่อนหน้า (พงศาวดารไทยและกัมพูชาระบุว่าเพื่อบูชาพระเจ้ายาล็อง) พระอุไทยราชาและบรรดาขุนนางกัมพูชา แต่งกายอย่างญวน สวมเสื้อญวนและโพกศีรษะญวน[1] ขึ้นสักการบูชาพระเจ้ายาล็องที่ศาลจะโรยจังวานั้นทุกวันขึ้นหนึ่งค่ำและขึ้นสิบห้าค่ำเดือนละสองครั้ง[6] เลวันเสวียตให้องเชืองเกิญเทือง เหงียนวันถว่าย เป็น"เบาฮอ"[1] (bảo hộ) หรือองโปโห[6] เป็นข้าหลวงของญวนในกัมพูชา เลวันเสวียตให้เบาฮอเหงียนวันถว่ายนำกำลังญวน 1,500 คน อยู่รักษานักองค์จันทร์ที่เมืองพนมเปญ ส่วนองต๋ากุนเดินทางกลับเมืองเว้

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2357 พระเจ้าเวียดนามยาล็องมีพระราชโองการให้"องเหียบกิน" นำเสื้อหมวกกางเกงและเครื่องยศญวนพระราชทานมามอบให้แก่นักองค์จันทร์ที่พนมเปญบันทายแก้ว นักองค์จันทร์ให้เรือประโคมพิณพาทย์ไปรับองเหียบกินมาที่จะโรยจังวา พระอุไทยราชาทรงเครื่องยศญวนแล้วขึ้นถวายบังคมรับพระบารมีพระเจ้าเวียดนามที่ศาลจะโรยจังวา บรรดาขุนนางกัมพูชาล้วนแต่งตัวโพกศีรษะญวนทั้งสิ้น[1]

แม้ว่าในทางพิธีการราชสำนักกัมพูชาจะยังคงส่งเครื่องบรรณาการมาถวายที่กรุงเทพฯทุกปีดังเดิมแต่ก็ส่งเครื่องบรรณาการไปถวายที่เมืองเว้ทุกสามปีเช่นกัน ในทางปฏิบัติหลังจากเหตุการณ์ความวุ่นวายในกัมพูชาพ.ศ. 2354 แล้ว กัมพูชาจึงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของเวียดนาม

เขมรตีเมืองพระตะบอง พ.ศ. 2358

แก้
 
ภาพของเจืองเติ๊นบิ๋ว (Trương Tấn Bửu) รองข้าหลวงของญวนประจำกัมพูชา จากหนังสือของครอว์เฟิร์ด

ในพ.ศ. 2358 พระอุไทยราชานักองค์จันทร์ให้พระยายมราช (ตวนผอ) และพระยาธรรมเดโช (มัน) ยกทัพไปปราบพระยาเดโช (เม็ง) ที่เมืองกำปงสวาย พระยาเดโช (เม็ง) หลบหนีไปอยู่เมืองโขง พระอุไทยราชาทรงให้ตวนหมัดพี่ชายของตวนผอเป็นพระยาเดโชเจ้าเมืองกำปงสวายคนใหม่[1]

พระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) เจ้าเมืองพระตะบอง ถึงแก่กรรมเมื่อเดือนตุลาคมพ.ศ. 2358 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯทรงแต่งตั้งพระยาวิเศษสุนทร (รศ) ซึ่งเป็นบุตรชายของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน)[5] ขึ้นเป็นพระยาอภัยภูเบศร์เจ้าเมืองพระตะบองคนใหม่

สมเด็จพระอุไทยราชาทรงปรึกษากับองเบาฮอ เหงียนวันถว่าย ข้าหลวงญวน ว่าเมืองพระตะบองตกไปขึ้นแก่สยาม เมืองพระตะบองนั้นสยามให้เป็นที่เตรียมเสบียงและไพร่พลในการยกทัพเข้าโจมตีกัมพูชาทุกครั้ง สมควรที่จะกำจัดอิทธิพลของสยามไปให้พ้นจากพระตะบอง[6] เหงียนวันถว่ายเห็นด้วย ให้พระอุไทยราชานักองค์จันทร์หาเหตุยกทัพเข้าไปในแขวงเมืองพระตะบองเพื่อเก็บน้ำนมศิลาและมูลค้างคาวตามธรรมเนียม ถ้าฝ่ายสยามไม่สู้ก็ให้ยึดเมืองพระตะบองเลย ถ้าฝ่ายสยามสู้ก็ให้เก็บน้ำนมศิลามูลค้างคาวมาอย่างเดียว แต่การนี้ฝ่ายญวนจะไม่ข้องเกี่ยวให้ฝ่ายกัมพูชาจัดการเอง ในเวลานั้นเองพระยาเดโช (ตวนหมัด) เข้ามาทูลว่ามีทัพสยามยกมาจากนครราชสีมา[1] นักองค์จันทร์จึงมีพระราชโองการให้สมเด็จเจ้าพระยา (ติ) เป็นแม่ทัพ พระยาสังคโลก (นอง) เป็นทัพหน้า ให้พระยาโยธาสงคราม (มัน) พระยาเอกราช (แทน) ตั้งทัพอยู่ที่เมืองโพธิสัตว์ ให้กองกำลังกัมพูชาอีกกองหนึ่งไปตั้งรักษาไว้ที่เกาะกำยาน สมเด็จเจ้าพระยา (ติ) ยกทัพไปตั้งอยู่ที่บ้านโอระแวง[6]

ฝ่ายพระยาอภัยภูเบศร์ และพระยารามกำแหง เมื่อทราบว่าฝ่ายกัมพูชายกทัพมาเมืองพระตะบอง จึงยกทัพออกไปห้ามแต่สมเด็จเจ้าพระยา (ติ) ไม่ฟัง แจ้งว่ามาเก็บน้ำนมศิลาและมูลค้างคาวตามธรรมเนียม แล้วฝ่ายกัมพูชาก็ยกทัพเข้ามาตั้งที่หนองจอก สมเด็จเจ้าพระยาตั้งทัพที่บ้านอันลงกูบ พระยาเอกราช (แทน) ตั้งค่ายที่เขาบานน ฝ่ายกัมพูชายกทัพเข้ามาทางบ้านสลึงปิดทางเมืองโตนดอีกทางหนึ่ง พระยาอภัยภูเบศร์ส่งพระยาวงษาธิราชออกไปสู้รบกับพระยาเอกราช (แทน) ที่เขาบานน พระยาเอกราช (แทน) พ่ายแพ้ พระยาสังคโลก (นอง) ถูกจับกุมไปกรุงเทพ[5] สมเด็จเจ้าพระยาจึงถอยทัพกัมพูชากลับไป ฝ่ายสยามกวาดต้อนชาวกัมพูชาจากเกาะกำยานไปไว้ที่พระตะบอง นักองค์จันทร์จึงให้พระยายมราช (ตวนผอ) ไปตั้งรับที่เปียมพระสทึง

พระยาอภัยภูเบศร์และพระยารามกำแหงมีใบบอกเข้ามากราบทูลเหตุการณ์เมืองพระตะบองแก่กรุงเทพ ทางกรุงเทพให้พระยารองเมืองฯและพระพรหมบริรักษ์ออกมาสืบความได้ความจริง จึงมีพระราชโองการให้เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์[6] นำทัพเกณฑ์กรุงเทพและนครราชสีมาไปตั้งรอรับที่เมืองพระตะบอง และมีศุภอักษรไปถึงพระเจ้ายาล็องถึงเหตุที่ข้าหลวงญวนร่วมกับขุนนางกัมพูชามารบกวนเมืองพระตะบอง

ฝ่ายเวียดนามพระเจ้ายาล็องมีพระราชโองการให้ขุนนางญวนจากไซ่ง่อนเดินทางมาสอบสวนพระยาเอกราชในเดือนกรกฎาคม[1] ได้ความแล้วพระเจ้าเวียดนามจึงมีพระราชโองการให้จับกุมตัวสมเด็จเจ้าพระยา (ติ) ฝ่ายพระอุไทยราชานักองค์จันทร์จึงมีพระราชโองการให้พระยายมราช (ตวนผอ) พระยาจักรี (สวด) และพระยาราชเดชะ (หลง) ยกทัพไปจับกุมตัวสมเด็จเจ้าพระยาแล้วส่งให้แก่ญวนที่ไซ่ง่อน พระเจ้าเวียดนามจึงทรงมีศุภอักษรเข้ามาที่กรุงเทพว่า ได้สอบสวนสมเด็จเจ้าพระยาแล้ว พบว่าฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาได้ยกทัพเข้าไปในเขตเมืองพระตะบองจริง แต่ยกไปเพียงเพื่อเก็บน้ำนมศิลามูลค้างคาวตามธรรมเนียมเท่านั้น แต่ฝ่ายเมืองพระตะบองไม่ยินยอมจึงเกิดการสู้รบขึ้น ฝ่ายเมืองพระตะบองยกทัพติดตามไปถึงบ้านพระกำเบียนหรือเกาะกำยานกวาดต้อนชาวกัมพูชากว่า 1,400 คนกลับไปพระตะบอง สมเด็จเจ้าพระยามีความผิดได้มอบตัวให้แก่ทางฝ่ายกัมพูชาไปลงโทษแล้ว ขอให้ฝ่ายกรุงเทพชำระโทษกรมการเมืองพระตะบองด้วย ฝ่ายกรุงเทพนื่งเฉยไม่ตอบแต่ประการใด[6]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 1.16 1.17 1.18 1.19 1.20 1.21 1.22 1.23 1.24 1.25 1.26 1.27 1.28 1.29 1.30 หนังสือราชพงษาวดารเขมร. พิมพ์คราวที่ 2. กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์วัชรินทร์บริษัท, พ.ศ. 2445.
  2. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 65: พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
  3. 3.0 3.1 Breazeale, Kennon. From Japan to Arabia; Ayutthaya's Maritime Relations with Asia. Bangkok: the Foundation for the promotion of Social Sciences and Humanities Textbook Project, 1999.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๖.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 ประชุมพงศาวดารภาคที่ 16: พงศาวดารเมืองพระตะบอง
  6. 6.00 6.01 6.02 6.03 6.04 6.05 6.06 6.07 6.08 6.09 6.10 6.11 6.12 6.13 6.14 6.15 6.16 6.17 6.18 6.19 ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา.. พระราชพงษาวดาร กรุงรัตนโกสินทร รัชกาลที่ ๒. ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ปีมโรงอัฐศก พ.ศ. ๒๔๕๙; พิมพ์ที่โรงพิมพ์ไทย ณสพานยศเส
  7. Cao Xuân Dục. Quốc triều chính biên toát yếu (國朝正編撮要). พ.ศ. 2451. https://cvdvn.files.wordpress.com/2018/03/que1bb91ctrie1bb81uchc3a1nhbic3aantoc3a1tye1babfu.pdf