สงครามเมืองถลาง

(เปลี่ยนทางจาก สงครามพม่าตีเมืองถลาง)

สงครามเมืองถลาง เป็นสงครามความขัดแย้งระหว่างพม่าภายใต้การนำของพระเจ้าปดุงแห่งราชวงศ์โกนบอง กับสยามภายใต้การนำของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยแห่งราชวงศ์จักรี ระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2351 ถึง เดือนมกราคม พ.ศ. 2354 นี่เป็นสงครามสุดท้าย[1]ที่พม่าโจมตีในดินแดนสยามตามประวัติศาสตร์ไทย โดยความขัดแย้งครั้งนี้จบลงที่สยามได้ชัยชนะ ความขัดแย้งนี้ก็ลามไปถึงรัฐไทรบุรีด้วย[3]

สงครามเมืองถลาง
ส่วนหนึ่งของ สงครามพม่า–สยาม

แผนที่แสดงเส้นทางกองทัพบก
สีเขียวหมายถึงเส้นทางของกองทัพพม่า
สีแดงหมายถึงเส้นทางกองทัพสยามและถลาง
วันที่มิถุนายน พ.ศ. 2351 – มกราคม พ.ศ. 2354[2]
สถานที่
ผล สยามชนะ[1]
คู่สงคราม
ราชวงศ์โก้นบอง (พม่า)[1] อาณาจักรรัตนโกสินทร์ (สยาม)
รัฐไทรบุรี[1]
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
พระเจ้าปดุง
อะเติงหวุ่น[1]
แยคอง
ดุเรียงสาระจอ
งะอู
สิงคะดุเรียง
Sibo Wun
Toya Bo
เจยะดุเรียงจอ[1]  (เชลย)
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
เจ้าพระยายมราช (น้อย บุณยรัตพันธุ์)
เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์)
พระยาจ่าแสนยากร (บัว)
พระยาถลาง (เทียน)  (เชลย)
สุลต่านฮะมัด ทาจุดดิน ฮาลิม ชาห์ที่ 2 (ตวนกูปะแงหรัน)[1]
ลักษมณา[3]
หน่วยที่เกี่ยวข้อง
กองทัพอาณาจักรพม่า
กองทัพเรืออาณาจักรพม่า
กองทัพบกสยาม
กองทัพเรือสยาม
กองทัพรัฐไทรบุรี
กำลัง

ตุลาคม พ.ศ. 2351
ชาย 30,000 คน
เรือรบ 60 ลำ
ปืนหมุน 200 อัน[2][1]


พฤษภาคม พ.ศ. 2352
ชาย 6,000 คน


ธันวาคม พ.ศ. 2353

ชาย 5,000 คน[2][1]

18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2351
กองกำลังเสริม: ชาย 6,000 คน
เรือรบ 0 ลำ[2][1]


พฤษภาคม พ.ศ. 2352
ไม่ทราบ


ธันวาคม พ.ศ. 2353

ชาย 10,000 คน[2]
ความสูญเสีย
ชายมากกว่า 4,110 คน
เรือรบ 20 ลำ[1]
ไม่ทราบ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แก้

 
ตราประวำจังหวัดภูเก็ตในปัจจุบัน ที่มีท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทรอยู่ในตรา

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ สยามและพม่าทำสงครามกันหลายครั้ง ครั้งที่สำคัญได้แก่สงครามเก้าทัพ สงครามท่าดินแดง และสงครามตีเมืองทวาย ในสงครามเก้าทัพเมื่อพ.ศ. 2328 นั้นพม่าจัดทัพเรือเข้าโจมตีเมืองถลางบนเกาะภูเก็ต แม้ว่าเจ้าเมืองถลางจะเพิ่งถึงแก่กรรมก่อนหน้านั้นไม่นานแต่คุณหญิงจันและคุณหญิงมุกและพระปลัดเมืองถลาง (ทองพูน) สามารถรวบรวมกำลังพลต่อสู้ต้านทานการรุกรานของพม่าได้สำเร็จ หลังจากสงครามเก้าทัพคุณหญิงจันและคุณหญิงมุกได้รับแต่งตั้งแต่ท้าวเทพกษัตรีและท้าวศรีสุนทรตามลำดับ และพระปลัดเมืองถลาง (ทองพูน) ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระยาถลางเจ้าเมืองถลาง หรือเรียกว่า "พระยาถลางเจียดทอง"[4] จากนั้นประมาณ พ.ศ. 2332 บุตรชายของท้าวเทพกษัตรี (คุณหญิงจัน) คือพระยาทุกขราษฎร์ (เทียน) ฟ้องร้อง[4][5]พระยาถลางเจียดทองต่อทางกรุงเทพฯ ทำให้พระยาถลางเจียดทองถูกเรียกตัวไปสอบสวนและถึงแก่กรรมที่กรุงเทพฯ พระยาทุกขราษฎร์ (เทียน) จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระยาถลางคนต่อมา

หลังจากสงครามเก้าทัพและสงครามตีเมืองทวาย สยามและพม่าอยู่ในสภาวะคุมเชิงกันอยู่[6] ในพ.ศ. 2351 ฝ่ายพม่าพระเจ้าปดุงทรงส่งทูตมายังกรุงเทพฯ[7] พระเจ้าปดุงทรงตระหนักว่ากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จสวรรคตไปในพ.ศ. 2346 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯทรงพระชนมายุมากแล้ว ฝ่ายไทยเห็นจะขาดแม่ทัพผู้มีความสามารถในการต้านทานการรุกรานของพม่า[6] พระเจ้าปดุงจึงมีพระราชโองการให้"อะเติงหวุ่น" (Atwinwun) เกณฑ์กำลังพลที่เมืองเมาะตะมะเพื่อจัดทัพเข้ารุกรานสยาม แต่อะเติงหวุ่นทำงานไม่รัดกุมทำให้ไพร่พลที่เกณฑ์มาสามารถหลบหนีไปได้ทีละเล็กน้อยจำนวนมาก[6] เมื่อไม่สามารถรวบรวมกำลังพลได้เพียงพอ ตะแคงมองมู[8]เจ้าเมืองเมาะตะมะจึงกราบทูลพระเจ้าปดุงว่าฝ่ายพม่าไม่พร้อมสำหรับการรุกรานสยามในครั้งนี้ อีกทั้งพม่าได้เจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงเทพฯแล้ว หากยกทัพไปตีไม่สำเร็จจะเสียพระเกียรติ พระเจ้าปดุงจึงมีพระราชโองการให้ยุติการรุกรานสยามในครั้งนี้ไป

อะเติงหวุ่นยังต้องการที่จะยกทัพเข้ารุกรานสยาม จึงกราบทูลพระเจ้าปดุงว่า ขณะนี้ได้จัดเตรียมทัพไว้แล้ว หากไม่ไปโจมตีกรุงเทพฯขอให้ไปโจมตีหัวเมืองชายทะเลภาคใต้ของไทย เพื่อไม่ให้การจัดเตรียมทัพในครั้งนี้สูญเปล่า[6] และอะเติงหวุ่นยังกล่าวหาตะแคงมองมูเจ้าเมืองเมาะตะมะว่าขัดขวางการทำงานของตน[8] พระเจ้าปดุงจึงมีพระราชโองการให้ปลดตะแคงมองมูจากตำแหน่ง และให้อะเติงหวุ่นยกทัพลงมาตั้งที่เมืองทวายในเดือนกรกฎาคมพ.ศ. 2352 เพื่อเตรียมทัพเข้ารุกรานภาคใต้ของไทย เมื่ออยู่ที่เมืองทวายนั้นอะเติงหวุ่นประพฤติตนเป็นเจ้านาย[8]ให้ใช้ราชาศัพท์แก่ตนเอง อีกทั้งยังฉุดคร่าหญิงชาวทวายมาเป็นภรรยา เจ้าเมืองย่างกุ้งทราบเรื่องจึงนำความขึ้นทูลพระเจ้าปดุงว่าอะเติงหวุ่นเป็นกบฏ พระเจ้าปดุงจึงมีพระราชโองการให้จับภรรยาและครอบครัวของอะเติงหวุ่นไว้ อะเติงหวุ่นทูลแก้ว่ามิได้เป็นกบฏ พระเจ้าปดุงจึงมีพระราชโองการให้อะเติงหวุ่นยกทัพไปตีหัวเมืองชายทะเลภาคใต้ของไทยให้สำเร็จมิฉะนั้นจะลงพระราชอาญาประหารชีวิต

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯเสด็จสวรรคตในเดือนกันยายน พ.ศ. 2352[6] สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลฯ เสด็จขึ้นครองราชสมบัติต่อเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

การจัดเตรียมทัพฝ่ายพม่า แก้

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2352 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จผ่านพิภพได้ประมาณสองเดือน อะเติงหวุ่นแม่ทัพพม่าที่เมืองทวายจัดทัพเข้ารุกรานภาคใต้ของไทยจำนวนทั้งสิ้น 7,000 คน[6] ดังนี้[8];

  • งะอู (Nga U) เจ้าเมืองทวาย ยกทัพจำนวน 3,000 คน เป็นปีกขวา
  • สิงคะดุเรียง เจ้าเมืองมะริด ยกทัพจำนวน 1,000 คน เป็นปีกซ้าย

รวมทั้งสิ้นจำนวน 4,000 คน ยกทัพลงมาโจมตีเมืองตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง และเมืองถลาง

  • ดุเรียงสาระจอ นำทัพจำนวน 3,000 คน ยกเข้าโจมตีทางเมืองระนอง เมืองกระบุรี และเข้าโจมตีเมืองชุมพร

การจัดเตรียมทัพฝ่ายไทย แก้

ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเมื่อทรงทราบข่าวทัพพม่าแล้วจึงมีพระราชโองการให้จัดเตรียมทัพจำนวนทั้งสิ้น 20,000 คน[6] เข้าต้านทานการรุกรานของพม่าดังนี้;

การรบ แก้

งะอูเจ้าเมืองทวายและสิงคะดุเรียงเจ้าเมืองมะริดยกทัพเข้าโจมตีเมืองตะกั่วป่า เจยะดุเรียงจอ (Zeya Thuriya Kyaw)[8] ยกทัพเข้าตีเมืองตะกั่วป่าและบ้านนาเตย (ตำบลนาเตย อำเภอท้ายเหมือง) ได้สำเร็จในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2352 ชาวตะกั่วป่าไม่สู้รบ จากนั้นทัพพม่าจึงยกไปที่ปากพระ งะอูจึงมีคำสั่งให้แบ่งทัพออกเป็นสองสายเข้าโจมตีเมืองถลาง ให้สิงคะดุเรียงเจ้าเมืองมะริดยกทัพ 3,000 คน และเจยะดุเรียงจอยกทัพ 3,000 คน เข้าโจมตีเมืองถลาง

การรบที่ถลาง แก้

ในเวลานั้นบนเกาะภูเก็ตมีเมืองสองแห่งได้แก่ เมืองถลางตั้งอยู่ที่บ้านดอนในส่วนกลางของเกาะ (ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง) เรียกว่า "เมืองถลางบ้านดอน" และ"เมืองภูเก็ตบ้านท่าเรือ" (ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง) ซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นใหม่ทางฝั่งตะวันออกของเกาะ พระยาถลาง (เทียน) เมื่อทัพพม่ายกมาจึงแจ้งรายงานมายังกรุงเทพฯ แล้วเกณฑ์กำลังคนป้องกันเมืองถลางบ้านดอน ทัพพม่ายกจากปากพระเข้าโจมตีเมืองถลาง เจยะดุเรียงจอยกพลขึ้นบกที่บ้านสาคู พบกับกองกำลังฝ่ายถลางต่อสู้กันฝ่ายถลางถอย จากนั้นเจยะดุเรียงจอจึงยกไปตั้งที่บ้านตะเคียน ทั้งเจยะดุเรียงจอและสิงคะดุเรียงยกทัพเข้าล้อมเมืองถลางในเดือนพฤศจิกายน[8] พ.ศ. 2352 นำไปสู่การล้อมเมืองถลาง ฝ่ายพม่าล้อมเมืองสามด้าน เหลือเปิดทางทิศใต้ไว้ เจยะดุเรียงจอยกทัพเข้าตีเมืองถลางแต่ไม่สำเร็จ ฝ่ายพม่าถูกปืนใหญ่เมืองถลางล้มตายมาก งะอูเจ้าเมืองทวายผู้เป็นแม่ทัพจึงมีคำสั่งให้จับกุมตัวเจยะดุเรียงจอในข้อหากระทำการล้มเหลว เจยะดุเรียงจอแก้ตัวว่าจะขอตีเมืองถลางให้ได้

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2352 งะอูเจ้าเมืองทวายผู้เป็นแม่ทัพล้มป่วยเสียชีวิต[8] เจยะดุเรียงจอและสิงคะดุเรียงเจ้าเมืองมะริดจึงถอยทัพออกจากเมืองถลางกลับไปอยู่ที่ปากจั่น ฝ่ายอะเติงหวุ่นที่เมืองทวายทราบข่าวความล้มเหลวของทัพพม่าจึงแต่งตั้งงะซ่าน (Nga Chan) มาเป็นแม่ทัพคนใหม่ รวมทั้งมีคำสั่งให้ประหารชีวิตเจยะดุเรียงจอและสิงคะดุเรียงเจ้าเมืองมะริดเสีย เจยะดุเรียงจอขอไว้ชีวิตให้แก่ตนเองอาสามาตีเมืองถลางให้ได้ เจยะดุเรียงจอจึงได้รับการปรับโทษให้ยกทัพเข้าตีเมืองถลาง

ฝ่ายชาวเมืองถลางพระยาถลาง (เทียน) เห็นว่าพม่าถอยกลับไปเข้าใจว่าฝ่ายพม่าเลิกทัพแล้วจึงลดการป้องกันเมือง ชาวเมืองถลางพากันออกมาจากค่ายเมืองทำมาหากินปกติ งะซ่านแม่ทัพพม่าจึงยกทัพเข้าล้อมเมืองถลางอีกครั้ง พระยาถลาง (เทียน) เรียกเกณฑ์คนเข้ามาในเมืองไม่ทันทำให้มีกำลังพลในการป้องกันเมืองน้อยลงกว่าเดิม นอกจากนี้ฝ่ายพม่ายังยกทัพไปขึ้นที่ท่ายามูเข้าล้อมเมืองภูเก็ตอีกด้วย

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯเมื่อทรบทราบข่าวพม่าโจมตีเมืองถลางแล้ว จึงมีพระราชโองการให้จัดทัพเพิ่มเติมดังนี้;

เจ้าพระยายมราช (น้อย) พระยาทศโยธา และพระยาราชประสิทธิ์ ยกทัพออกจากปากน้ำเจ้าพระยาเมื่อวันแรม 11 ค่ำ เดือนสิบสอง (พฤศจิกายน พ.ศ. 2352) เจ้าพระยายมราชยกทัพเดินทางไปยังเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อเจ้าพระยายมราชพบกับเจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) ที่เมืองนครศรีธรรมราชแล้ว จึงยกทัพไปตั้งที่ตรัง สุลต่านตวนกูปะแงหรัน (Tunku Pengeran) แห่งไทรบุรีได้ส่งทัพเรือมลายูนำโดยลักษมณา (Laksamana)[9] มาสมทบกับฝ่ายสยามที่เมืองตรัง[6]

เจ้าพระยายมราชประสบปัญหาขาดแคลนเรือ[6]ไม่สามารถหาเรือนำทัพยกข้ามไปช่วยเมืองถลางได้ต้องต่อเรือใหม่ เมื่อทัพเมืองไชยาของพระยาทศโยธาและพระยาราชประสิทธิ์ยกมาถึงกราภูงา (อำเภอเมือง จังหวัดพังงา) ก็ไม่สามารถหาเรือข้ามไปเกาะภูเก็ตได้เช่นกัน เจ้าพระยายมราชเกรงว่าจะช่วยเมืองถลางไม่ทันการณ์จึงให้หาเรือราษฎรจำนวนหนึ่งให้พระยาท้ายน้ำยกทัพบางส่วนไปช่วยเมืองถลางก่อน พระยาท้ายน้ำยกทัพเรือไปพบกับทัพพม่าที่แหลมยามูซึ่งล้อมเมืองภูเก็ตอยู่ นำไปสู่การรบที่แหลมยามู รบกันในทะเล พระยาท้ายน้ำสามารถเอาชนะพม่าที่แหลมยามูขับออกไปจากเมืองภูเก็ตได้ แต่เกิดอุบัติเหตุสะเก็ดไฟถูกถังดินประสิวระเบิดเรือแตกสลายทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งพระยาท้ายน้ำ[6] เมื่อพระยาท้ายน้ำเสียชีวิตแล้วหลวงสุนทรและหลวงกำแหงผู้รอดชีวิตจึงนำศพพระยาท้ายน้ำและนำทัพที่เหลือกลับขึ้นฝั่งที่คลองปากลาว (กระบี่)

ฝ่ายงะซ่านแม่ทัพพม่าเมื่อทราบว่าฝ่ายไทยส่งทัพมาช่วยเหลือเมืองถลางจำนวนมาก แต่ยังไม่สามารถข้ามทะเลมาได้ จึงเร่งรัดให้โจมตีเข้ายึดเมืองถลางให้ได้ หลังจากที่ฝ่ายพม่าล้อมเมืองครั้งหลังเป็นเวลา 27 วัน แยคองฝ่ายพม่าจึงสามารถเข้ายึดเมืองถลางได้ในที่สุดในวันขึ้น 9 ค่ำ เดือนยี่ (มกราคม พ.ศ. 2353) ทำลายเมืองถลางบ้านดอนลงอย่างสิ้นเชิง ชาวเมืองถลางจำนวนมากหลบหนีพม่าขึ้นมาที่ฝั่งกราภูงา (เมืองพังงา) ฝ่ายพม่าจับพระยาถลาง (เทียน) เจ้าเมืองถลางเป็นเชลยกลับไปพม่า อะเติงหวุ่นได้รับการปูนบำเหน็จขึ้นเป็น"มหาสีหสุระ" งะซ่านแม่ทัพพม่าให้ชาวเมืองมะริดชื่อว่างะพยู (Nga Pyu) ซึ่งเป็นพี่ของภรรยาของลักษมณาเมืองไทรบุรี[8] ถือหนังสือไปยังสุลต่านตวนกูปะแงหรันเมืองไทรบุรีว่า ขณะนี้พม่ายึดเมืองถลางได้แล้ว ฝ่ายไทรบุรีสามารถเก็บส่วยรังนกได้ตามเดิมโดยมีข้อแม้ว่าไทรบุรีต้องแต่งบุหงามาศต้นไม้เงินต้นไม้ทองไปถวายแด่พระเจ้าปดุง สุลต่านตวนกูปะแงหรันตอบว่าเนื่องจากฝ่ายสยามมีกองกำลังรักษาการณ์อยู่ที่ไทรบุรี จะแปรพักตร์ไปเข้ากับพม่าไม่สะดวก ขอให้พม่าจัดทัพมาตีเมืองไทรบุรีก่อน[8]

ในเวลานั้นเองทางพระยาทศโยธาสามารถยกทัพเรือจากกราภูงามายังเมืองถลางได้ และทางฝ่ายเมืองตรังเจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) ส่งบุตรชายบุญธรรมของตนคือพระบริรักษ์ภูเบศร์ (น้อย) ยกทัพเรือจากตรังและลักษมณานำทัพเรือมลายูไทรบุรีข้ามมาเมืองถลาง ฝ่ายพม่าขณะกำลังกวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สินเมืองถลาง ได้ยินเสียงคลื่นลมทะเล[6]เข้าใจว่าทัพฝ่ายไทยได้ยกมาถึงแล้ว งะซ่านแม่ทัพพม่าจึงรีบกวาดต้อนผู้คนทรัพย์สินกลับไปยังพม่า ฝ่ายพระยาทศโยธาและพระบริรักษ์ภูเบศร์มาถึงเมืองถลางพบว่าทัพพม่าได้ถอยกลับไปแล้ว แต่ยังสามารถจับเชลยชาวพม่าบางส่วนที่กลับไม่ทัน

เมื่อฝ่ายพม่าถอยไปจากเมืองถลางเป็นครั้งที่สองแล้ว อะเติงหวุ่นจึงมีคำสั่งให้ประหารชีวิตงะซ่านแม่ทัพพม่า ประหารเจยะดุเรียงจอ รวมถึงแม่ทัพนายกองจำนวนมาก ฝ่ายพระเจ้าปดุงทรงทราบว่าอะเติงหวุ่นมีคำสั่งให้ประหารชีวิตแม่ทัพนายกองจำนวนมาก จึงมีพระราชโองการให้ตอยาโปขุนนางพม่าถือพระราชโองการลงมายังอะเติงหวุ่นที่เมืองทวาย ให้ไว้โทษปล่อยแม่ทัพนายกองทั้งหลายออกจากคุก[8] เจยะดุเรียงจอจึงได้รับการเว้นโทษ

การรบที่ชุมพร แก้

ดุเรียงสาระจอยกทัพจำนวน 3,000 คน ยกทัพเข้าโจมตีเมืองระนอง เมืองกระบุรี และเข้ายึดเมืองชุมพรได้สำเร็จ ฝ่ายกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ฯเสด็จยกทัพออกจากกรุงเทพฯในเดือนธันวาคมพ.ศ. 2352 ไปยังเมืองเพชรบุรี มีพระราชบัณฑูรให้พระยาจ่าแสนยากร (บัว) ยกทัพจากเพชรบุรีเข้าโจมตีทัพของดุเรียงสาระจอที่ชุมพร นำไปสู่การรบที่ชุมพร พระยาจ่าแสนยากร (บัว) สามารถเอาชนะดุเรียงสาระจอที่ชุมพรแตกพ่ายไปได้ ทัพของพระยาจ่าแสนยากรยกติดตามดุเรียงสาระจอไปจนถึงเมืองตะกั่วป่า ได้ทราบว่าฝ่ายพม่าได้ยึดทำลายเมืองถลางและถอยกลับไปแล้ว ผู้คนชาวเมืองถลางหลบหนีมาอยู่ที่กราภูงาบนฝั่ง จึงมีพระราชบัณฑูรให้พระยาจ่าแสนยากรประจำอยู่ที่ชุมพร คอยรวบรวมราษฎรที่หลบหนีกระจัดกระจายมาตั้งเมืองถลางอยู่ชั่วคราวอยู่ที่กราภูงา เพื่อที่จะกลับไปฟื้นฟูเมืองถลางขึ้นใหม่อีกครั้ง แล้วกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ฯจึงเสด็จกลับพระนครฯทางชลมารค

เมื่อพ่ายแพ้ให้แก่ฝ่ายไทยแล้วดุเรียงสาระจอจึงยกทัพไปสมทบกับทัพของงะซ่านที่เมืองถลาง ต่อมาเมื่อฝ่ายไทยสามารถยึดเมืองถลางคืนได้ทัพพม่าถอยไป ดุเรียงสาระจอจึงถูกอะเติงหวุ่นลงโทษประหารชีวิต

บทสรุป แก้

ฝ่ายพม่าแม้ว่าสามารถยึดเมืองถลางได้ได้แต่สุดท้ายฝ่ายไทยสามารถยึดเมืองถลางคืนฝ่ายพม่าถอยไป เป็นเหตุให้อะเติงหวุ่นลงโทษประหารชีวิตแม่ทัพนายกองไปจำนวนมาก อะเติงหวุ่นอยู่เมืองทวายกดขี่ชาวเมืองได้รับความเดือนร้อนมาก จนมีชาวเมืองทวายพยายามลอบสังหารอะเติงหวุ่นแต่ไม่สำเร็จ[8]

เมื่อฝ่ายพม่าสามารถเข้ายึดเมืองถลางได้ เมืองถลางบ้านดอนถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง พระยาถลาง (เทียน) เจ้าเมืองถลางถูกจับตัวเป็นเชลยกลับไปยังพม่า ทำให้เกาะภูเก็ตได้รับความเสียหายมากสูญเสียประชากรและทรัพย์สิน ชาวเมืองถลางจำนวนมากหลบหนีขึ้นฝั่งไปรวมกันที่กราภูงา เมืองถลางย้ายไปอยู่ที่กราภูงาชั่วคราวพระยาถลางคนต่อมาปกครองเมืองถลางที่กราภูงา นำไปสู่การจัดตั้งเมืองพังงาขึ้นในที่สุด เกาะภูเก็ตทั้งเมืองถลางเดิมและเมืองภูเก็ตถูกโอนไปอยู่ภายใต้การปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช เมืองถลางเดิมยังคงเป็นเมืองร้างไปเป็นระยะเวลาสิบห้าปี จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีการฟื้นฟูเมืองถลางขึ้นที่เกาะภูเก็ตอีกครั้งในพ.ศ. 2367[10]

สงครามพม่าตีเมืองถลางในพ.ศ. 2352-53 นี้ เป็นการรุกรานของพม่าที่เกิดขึ้นจริงครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ไทย หลังจากนั้นเมื่อพม่าสูญเสียอำนาจและอิทธพลในพม่าตอนล่างให้แก่อังกฤษในสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่หนึ่ง (First Anglo Burmese War) ในพ.ศ. 2369 พม่าจึงไม่สามารถใช้ชายฝั่งตะนาวศรีเป็นฐานเข้ารุกรานสยามได้อีก

อ้างอิง แก้

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 Skinner, Cyril. The Interrogation of Zeya Suriya Kyaw: A Burmese Account of the Junk Ceylon (phuket) Campaigns of 1809-1810.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 G.E. Gerini. "Historical Retrospect of Junkceylon Island" (PDF). Journal of the Siam Society. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 20 August 2015.
  3. 3.0 3.1 Skinner, C. (1985). Syair Sultan Maulana: The Battle for Junk Ceylon. Foris Publications.
  4. 4.0 4.1 พระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหง ( ทองพูน ณ ถลาง )
  5. ประชุมพงศาวดารภาคที่ 2: พงศาวดารเมืองถลาง.
  6. 6.00 6.01 6.02 6.03 6.04 6.05 6.06 6.07 6.08 6.09 6.10 ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา.. พระราชพงษาวดาร กรุงรัตนโกสินทร รัชกาลที่ ๒. ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ปีมโรงอัฐศก พ.ศ. ๒๔๕๙; พิมพ์ที่โรงพิมพ์ไทย ณสพานยศเส
  7. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. พงษาวดารเรื่องเรารบพม่า ครั้งกรุงธน ฯ แลกรุงเทพ ฯ.
  8. 8.00 8.01 8.02 8.03 8.04 8.05 8.06 8.07 8.08 8.09 8.10 จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๒: คำให้การอ้ายงะสาดนะอองพม่า เรื่องในเมืองพม่าและมาตีมลายู จ.ศ. ๑๑๗๒. กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๔๘๒.
  9. Maziar Mozaffari Falarti. Malay Kingship in Kedah: Religion, Trade, and Society. Rowman & Littlefield, 2013.
  10. ศึกถลาง..วีรสตรีหนีจากคุกมากู้เมือง! แบบอย่างการทำหน้าที่ของคนไทย!![ลิงก์เสีย]