ข้อศอก (อังกฤษ: elbow joint) เป็นข้อต่อที่เกิดจากการติดต่อกันระหว่างกระดูกสามชิ้น คือ กระดูกต้นแขน (humerus) กระดูกอัลนา (ulna) และกระดูกเรเดียส (radius) และเป็นข้อต่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเคลื่อนไหวของปลายแขน (forearm) โดยเฉพาะการงอ-เหยียด และการพลิกปลายแขน ข้อศอกยังเป็นข้อต่อที่มีเอ็นรอบข้อต่อและกล้ามเนื้อต่างๆมาช่วยในการค้ำจุนระหว่างการเคลื่อนไหว รวมทั้งมีแขนงของหลอดเลือดและเส้นประสาทในบริเวณใกล้เคียงมาเลี้ยงอีกด้วย

ข้อศอก
(elbow joint)
ข้อศอก
มุมมองด้านหน้าของข้อศอกด้านซ้าย แสดงกระดูกและเอ็นรอบข้อต่อ
รายละเอียด
ตัวระบุ
ภาษาละตินarticulatio cubiti
MeSHD004550
TA98A01.1.00.023
TA2145
FMA24901
อภิธานศัพท์กายวิภาคศาสตร์

โครงสร้างของข้อศอก แก้

 
มุมมองด้านหน้าของแคปซูลข้อต่อของข้อศอก

ส่วนประกอบของข้อศอกและแคปซูลข้อต่อ แก้

ข้อศอกไม่ได้ประกอบขึ้นจากข้อต่อเดี่ยวๆ หากแต่ประกอบขึ้นจากข้อต่อถึงสามจุด ซึ่งมีโครงสร้างของแคปซูลข้อต่อร่วมกัน และมีการเคลื่อนไหวที่สัมพันธ์กัน ได้แก่

ข้อต่อ ส่วนของกระดูกที่ติดต่อกัน คุณสมบัติของข้อต่อ
ข้อต่อฮิวเมอโรอัลนา (Humeroulnar joint) รอยเว้าโทรเคลียร์ (trochlear notch) บนกระดูกอัลนา กับโทรเคลียร์ (Trochlear) ของกระดูกต้นแขน เป็นข้อต่อแบบบานพับ และเกี่ยวข้องกับการงอ-เหยียดปลายแขน
ข้อต่อฮิวเมอโรเรเดียล (Humeroradial joint) ส่วนหัวของกระดูกเรเดียส และแคปปิทูลัม (Capitulum) ของกระดูกต้นแขน เป็นข้อต่อแบบระนาบ และช่วยในการพลิกปลายแขน
ข้อต่อเรดิโออัลนาด้านต้นแขน (Proximal radioulnar joint) ส่วนหัวของกระดูกเรเดียส และรอยเว้าอัลนา (ulnar notch) ของกระดูกอัลนา เป็นข้อต่อแบบเดือยที่เกี่ยวข้องกับการพลิกแขน

แคปซูลข้อต่อของข้อศอกจะคลุมขึ้นมาถึงส่วนปลายของกระดูกต้นแขน โดยเฉพาะที่แอ่งทั้งสามของปลายล่างสุดของกระดูกต้นแขน คือแอ่งโอเลครานอน (Olecranon fossa) แอ่งเรเดียล (Radial fossa) และแอ่งโคโรนอยด์ (Coronoid fossa) จะพบว่ามีชั้นของเนื้อเยื่อไขมันอยู่ภายในแคปซูลข้อต่อด้วย ซึ่งไขมันเหล่านี้จะช่วยไม่ให้ปลายของกระดูกของข้อศอกมีการสัมผัสกันโดยตรงระหว่างที่มีการเคลื่อนไหว

เอ็นรอบข้อต่อ แก้

รอบแคปซูลข้อต่อของข้อศอกจะมีเอ็นรอบข้อต่อมาช่วยในการรักษาความเสถียรของข้อต่อ โดยเฉพาะทางด้านข้างของข้อต่อ โดยเอ็นที่สำคัญได้แก่

  • เอ็นอัลนาคอลแลทเทอรัล (Ulnar collateral ligament) เป็นเอ็นหนารูปสามเหลี่ยมที่พาดอยู่ระหว่างส่วนปลายของกระดูกต้นแขนกับส่วนหัวของกระดูกอัลนา และแบ่งออกได้เป็นสองส่วน คือเอ็นส่วนหน้า (anterior ligament) จะยึดระหว่างปุ่มมีเดียล อีพิคอนไดล์ (medial epicondyle) ของกระดูกต้นแขน ไปยังโคโรนอยด์ โพรเซส (coronoid process) ของกระดูกอัลนา ขณะที่เอ็นส่วนหลัง (posterior ligament) จะยึดระหว่างปุ่มมีเดียล อีพิคอนไดล์ (medial epicondyle) ของกระดูกต้นแขน ไปยังโอเลครานอน โพรเซส (olecranon process) ของกระดูกอัลนา
  • เอ็นเรเดียลคอลแลทเทอรัล (Radial collateral ligament) เป็นเอ็นเล็กๆที่ยึดระหว่างปุ่มแลทเทอรัล อีพิคอนไดล์ (lateral epicondyle) ของกระดูกต้นแขน ไปเชื่อมรวมกันเอ็นแอนนูลาร์ (annular ligament) รอบส่วนหัวของกระดูกเรเดียส
  • เอ็นแอนนูลาร์ (Annular ligament) เป็นเอ็นแข็งแรงที่มัดรอบส่วนหัวของกระดูกเรเดียสให้ติดต่อกับรอยเว้าเรเดียล (radial notch) ของกระดูกอัลนา

กล้ามเนื้อรอบข้อต่อ แก้

กล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับบริเวณรอบข้อศอก ได้แก่

หลอดเลือดและเส้นประสาท แก้

หลอดเลือดแดงที่มาเลี้ยงข้อศอก ได้แก่

แขนงของหลอดเลือดแดงเหล่านี้จะเชื่อมรวมกันเป็นโครงข่ายหลอดเลือด (anastomosis) รอบบริเวณข้อศอก

เส้นประสาทของบริเวณข้อศอก ได้แก่แขนงที่มาจากเส้นประสาทอัลนา (ulnar nerve) รวมทั้งแขนงย่อยของเส้นประสาทมีเดียน (median nerve) และเส้นประสาทมัสคิวโลคิวทาเนียส (musculocutaneous nerve)

การเคลื่อนไหว แก้

ข้อศอกทำให้ปลายแขนสามารถเคลื่อนไหวได้ในสองแบบ คือการงอ-เหยียดปลายแขน (flexion-extension) โดยอาศัยข้อต่อฮิวเมอโรอัลนา และการเคลื่อนไหวแบบพลิกหงาย-คว่ำของปลายแขน (pronation-supination) โดยอาศัยข้อต่อฮิวเมอโรเรเดียส และข้อต่อเรดิโออัลนาส่วนต้นแขน นอกจากนี้ยังต้องอาศัยข้อต่อที่บริเวณข้อมือร่วมด้วย นอกจากนี้ ข้อศอกยังมีเกี่ยวข้องกับการถ่ายแรงจากมือไปยังไหล่ โดยส่วนใหญ่แรงจะผ่านจากกระดูกอัลนาไปยังกระดูกต้นแขน

การบาดเจ็บของข้อศอก แก้

การบาดเจ็บของข้อศอกนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่พบได้ทั่วไปคืออาการข้อศอกหลุด (pulled elbow) ซึ่งเป็นอาการบาดเจ็บของข้อศอกที่พบได้มากในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยมักจะเกิดจากการดึงแขนของเด็กอย่างรุนแรง เนื่องจากบริเวณส่วนหัวของกระดูกเรเดียสกับเอ็นแอนนูลาที่อยู่รอบยังไม่เจริญเต็มที่ ทำให้ส่วนหัวของกระดูกเรเดียสมีโอกาสเลื่อนหลุดออกจากข้อศอก อาการนี้จะเจ็บปวดมาก แต่สามารถรักษาได้ง่ายโดยการพลิกแขนและการกดที่บริเวณข้อศอกโดยแพทย์ ซึ่งจะช่วยให้ส่วนหัวของกระดูกเรเดียสกลับเข้าที่ และอาการเจ็บปวดจะค่อยทุเลาไปเอง

รูปประกอบเพิ่มเติม แก้

อ้างอิง แก้

  • Gray's anatomy for students. Drake, RL., Vogl, W. and Mitchell, AWM.
  • Clinically Oriented Anatomy, 5th ed. Keith L. Moore and Arthur F. Dalley.