กระดูกต้นแขน
ในกายวิภาคศาสตร์ กระดูกต้นแขน (อังกฤษ: humerus) เป็นกระดูกแบบยาวที่เป็นแกนของส่วนต้นแขน (arm) หรือต้นขาหน้าในสัตว์สี่เท้า กระดูกต้นแขนจะอยู่ระหว่างกระดูกสะบัก (scapula) ที่อยู่ในบริเวณไหล่ กับกระดูกของส่วนปลายแขน (forearm) คือกระดูกเรเดียส (Radius) และกระดูกอัลนา (Ulna) พื้นผิวด้านต่างๆของกระดูกต้นแขนยังเป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อจากบริเวณต่างๆที่ช่วยในการเคลื่อนไหวของแขนอีกด้วย
กระดูกตันแขน (humerus) | |
---|---|
มุมมองด้านหน้าของกระดูกต้นแขนด้านซ้าย แสดงจุดเกาะของกล้ามเนื้อต่างๆ | |
มุมมองด้านหลังของกระดูกต้นแขนด้านซ้าย แสดงจุดเกาะของกล้ามเนื้อต่างๆ | |
ตัวระบุ | |
MeSH | D006811 |
TA98 | A02.4.04.001 |
TA2 | 1180 |
FMA | 13303 |
ศัพท์ทางกายวิภาคของกระดูก |
กายวิภาคของกระดูกต้นแขน
แก้กระดูกต้นแขนเป็นกระดูกชิ้นหนึ่งในร่างกายที่มีความยาวมาก ในทางกายวิภาคจึงแบ่งส่วนของกระดูกต้นแขนออกเป็นสามส่วน ซึ่งได้แก่ ส่วนหัวกระดูก (Head of humerus หรือ Proximal part) ส่วนกลางกระดูก (Shaft) และส่วนปลายกระดูก (Distal part)
ส่วนหัวกระดูก
แก้ส่วนหัวของกระดูกต้นแขน (Head of humerus) เป็นปลายด้านที่ติดต่อกับกระดูกสะบักโดยข้อต่อกลีโนฮิวเมอรัล (Glenohumeral joint) ซึ่งปลายด้านนี้จะมีลักษณะกลมมน เพื่อรับกับเบ้าของแอ่งกลีนอยด์ (Glenoid fossa) บนมุมด้านข้างของกระดูกสะบัก ถัดลงมาจากส่วนหัวกระดูกจะมีลักษณะคอดลงเล็กน้อย ซึ่งเรียกแนวคอดนี้ว่า คอกระดูกเชิงกายวิภาคของกระดูกต้นแขน (Anatomical neck) ซึ่งเป็นขอบของข้อต่อกลีโนฮิวเมอรัล
ที่ส่วนหัวของกระดูกต้นแขนนี้ยังมีปุ่มที่ยื่นออกมาอีกสองปุ่ม ได้แก่ ปุ่มใหญ่ของกระดูกต้นแขน (Greater tubercle) และปุ่มเล็กของกระดูกต้นแขน (Lesser tubercle)
- ปุ่มใหญ่ของกระดูกต้นแขน (Greater tubercle) เป็นปุ่มที่อยู่ทางขอบด้านข้างของส่วนหัวของกระดูกต้นแขน บนปุ่มนี้จะค่อนข้างมน และมีรอยเล็กๆสามจุด ซึ่งเป็นจุดเกาะปลายของกล้ามเนื้อจากบริเวณไหล่สามมัด ได้แก่
- กล้ามเนื้อซุปปราสไปนาตัส (Supraspinatus muscle)
- กล้ามเนื้ออินฟราสไปนาตัส (Infraspinatus muscle)
- กล้ามเนื้อเทเรส ไมเนอร์ (Teres minor muscle)
- ปุ่มเล็กของกระดูกต้นแขน (Lesser tubercle) เป็นปุ่มขนาดเล็กกว่าและยื่นออกมาทางพื้นผิวด้านหน้าของกระดูกต้นแขน ปุ่มนี้จะเป็นจุดเกาะปลายของกล้ามเนื้อใต้กระดูกสะบัก (Subscapularis muscle)
ระหว่างปุ่มทั้งสองปุ่มนี้ จะมีลักษณะเป็นร่องลึกลงไป ซึ่งเรียกร่องนี้ว่า ร่องไบซิพิทัล (Bicipital groove) ซึ่งจะมีเอ็นของปลายด้านยาวของกล้ามเนื้อไบเซ็ปส์ เบรคิไอ (Long head of biceps brachii) วางพาดอยู่ ด้านล่างสุดของส่วนหัวของกระดูกนี้จะมีบริเวณคอดอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า คอกระดูกเชิงศัลยศาสตร์ (Surgical neck) ซึ่งเป็นส่วนที่แตกหักง่ายของกระดูกต้นแขน
ส่วนกลางกระดูก
แก้ส่วนกลางของกระดูกต้นแขนมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกในส่วนต้น และจะเริ่มแบนลงในส่วนล่าง เมื่อตัดส่วนกลางของกระดูกต้นแขนตามแนวขวาง จะพบว่ากระดูกต้นแขนส่วนนี้จะมีลักษณะคล้ายสามเหลี่ยม โดยจะมีขอบสามด้าน คือขอบด้านหน้า ขอบด้านข้างลำตัว และขอบด้านกลางลำตัว
- ขอบด้านหน้า (Anterior border) เริ่มตั้งแต่ด้านล่างของปุ่มใหญ่บนกระดูกต้นแขน จนไปถึงแอ่งโคโรนอยด์ (coronoid fossa) ที่อยู่ส่วนปลายของกระดูกต้นแขน ตลอดแนวขอบนี้จะเป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อต่างๆ จากบนลงล่าง ได้แก่
- กล้ามเนื้อเพคทอราลิส เมเจอร์ (Pectoralis major)
- กล้ามเนื้อเดลทอยด์ (Deltoid muscle) ที่แนวเดลทอยด์ (deltoid tuberosity)
- กล้ามเนื้อเบรเคียลิส (Brachialis muscle)
- ขอบด้านข้างลำตัว (Lateral border) เริ่มจากด้านหลังของปุ่มใหญ่บนกระดูกต้นแขน จนไปถึงปุ่มแลทเทอรัล อีพิคอนไดล์ (Lateral epicondyle) และแบ่งพื้นผิวส่วนด้านหน้าเยื้องด้านข้าง (anterolateral surface) ออกจากพื้นผิวด้านหลัง (posterior surface) ของกระดูกต้นแขน พื้นที่ส่วนใหญ่ของขอบด้านนี้จะเป็นจุดเกาะต้นของมัดแนวด้านข้างของกล้ามเนื้อไตรเซ็ปส์ เบรคิไอ (Lateral head of triceps brachii muscle) ใกล้ๆกับจุดเกาะของกล้ามเนื้อนี้จะเป็นร่องตื้นๆ ซึ่งเรียกว่า ร่องสไปรัล (spiral groove) ซึ่งมีเส้นประสาทเรเดียล (radial nerve) วางอยู่ ด้านล่างสุดของขอบด้านนี้จะนูนขึ้นเป็นสัน ซึ่งเรียกว่า แนวสันซุปปราคอนไดลาร์ด้านข้าง (lateral supracondylar ridge) ซึ่งเป็นจุดเกาะต้นของกล้ามเนื้อของส่วนปลายแขนอีกสองมัด คือ
- กล้ามเนื้อเบรคิโอเรเดียลิส (Brachioradialis muscle)
- กล้ามเนื้อเอกซ์เทนเซอร์ คาร์ไพ เรเดียลิส ลองกัส (Extensor carpi radialis longus muscle)
- ขอบด้านกลางลำตัว (Medial border) เริ่มจากปุ่มเล็กบนกระดูกต้นแขนไปจากถึงปุ่มมีเดียล อีพิคอนไดล์ (medial epicondyle) และเช่นเดียวกับขอบด้านอื่นๆ จะพบว่าขอบด้านแนวกลางลำตัวนี้จะเป็นจุดเกาะให้กับกล้ามเนื้อหลายมัด ได้แก่
- กล้ามเนื้อเทเรส เมเจอร์ (Teres major muscle) จะมีจุดเกาะปลายอยู่ใต้ปุ่มเล็กของกระดูกต้นแขนเล็กน้อย
- กล้ามเนื้อคอราโคเบรเคียลิส (Coracobrachialis muscle) มีจุดเกาะปลายอยู่ประมาณตรงส่วนกลางของขอบนี้
- กล้ามเนื้อเบรเคียลิส (Brachialis muscle) มีจุดเกาะต้นที่ริมด้านหน้าของส่วนล่างของขอบนี้ ซึ่งแผ่ออกเป็นแนวสันที่เรียกว่า แนวสันซุปปราคอนไดลาร์ด้านกลางลำตัว (medial supracondylar ridge)
- กล้ามเนื้อโปรเนเตอร์ เทเรส (Pronator teres muscle) มีจุดเกาะต้นอยู่ที่ริมด้านหลังของแนวสันซุปปราคอนไดลาร์ด้านกลางลำตัว
ส่วนปลายกระดูก
แก้ส่วนปลายของกระดูกต้นแขนจะมีลักษณะแบนออกทางด้านข้าง และที่ปลายสุดจะมีพื้นผิวสำหรับข้อต่อต่างๆในบริเวณข้อศอก (elbow joint) โดยปลายที่เป็นพื้นผิวข้อต่อนี้จะเรียกว่า คอนไดล์ (Condyle) ซึ่งจะมีสองบริเวณ คั่นด้วยแนวสันและร่องแคบๆ คอนไดล์ที่อยู่ทางด้านข้างลำตัว จะเรียกว่า แคปปิทูลัม (Capitulum of humerus) มีลักษณะกลมมน และจะรับกับส่วนหัวของกระดูกเรเดียส (head of radius) ขณะที่คอนไดล์ที่อยู่ทางด้านแนวกลางลำตัวจะมีลักษณะคล้ายรอก เรียกว่า โทรเคลียร์ (Trochlear of humerus) ซึ่งจะรับกับรอยเว้าที่ส่วนหัวของกระดูกอัลนา (head of ulna) และประกอบกันเป็นข้อต่อแบบบานพับ (hinge joint)
ที่ส่วนปลายของกระดูกยังมีแอ่งอีกสองจุด ซึ่งเป็นบริเวณที่รองรับการเคลื่อนของกระดูกปลายแขนขณะที่มีการเคลื่อนไหวของปลายแขนที่ข้อศอก ซึ่งได้แก่
- แอ่งโคโรนอยด์ (Coronoid fossa) เป็นแอ่งตื้นๆที่อยู่ทางพื้นผิวด้านหน้าของปลายกระดูกต้นแขน แอ่งนี้จะรองรับส่วนของ โคโรนอยด์ โพรเซส (Coronoid process) ของกระดูกอัลนา ขณะที่มีการงอปลายแขนขึ้น
- แอ่งโอเลครานอน (Olecranon fossa) เป็นแอ่งขนาดใหญ่ที่อยู่บนพื้นผิวด้านหลังของส่วนปลายกระดูกต้นแขน แอ่งนี้จะรองรับส่วนหัวของกระดูกอัลนาที่เรียกว่า โอเลครานอน โพรเซส (Olecranon process) ระหว่างที่มีการดึงแขนไปด้านหลัง เพื่อกันไม่ให้ส่วนปลายแขนงอไปทางด้านหลังมากเกินไป
รูปประกอบเพิ่มเติม
แก้-
กระดูกต้นแขนขวา มุมมองทางด้านหน้า
-
กระดูกต้นแขนขวา มุมมองทางด้านหลัง
-
มุมมองด้านหน้าของกระดูกต้นแขนซ้าย
-
มุมมองด้านหลังของกระดูกต้นแขนซ้าย
-
ภาพตัดของต้นแขนบริเวณส่วนกลางของกระดูกต้นแขน
-
ข้อต่อกลีโนฮิวเมอรัลของไหล่ขวา
-
กระดูกและเอ็นต่างๆ ในบริเวณข้อศอกด้านซ้าย
อ้างอิง
แก้- Gray's anatomy for students. Drake, RL., Vogl, W. and Mitchell, AWM.
- Clinically Oriented Anatomy, 4th ed. Keith L. Moore and Arthur F. Dalley.