กล้ามเนื้อไบเซ็ปส์ เบรคิไอ
ในกายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์ กล้ามเนื้อไบเซ็ปส์ เบรกิไอ (อังกฤษ: Biceps brachii muscle) เป็นกล้ามเนื้อที่สำคัญมัดหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่ด้านหน้าของต้นแขน (Anterior compartment of arm) กล้ามเนื้อมัดนี้มีหน้าที่หลายประการ แต่ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการงอแขนและการหมุนของปลายแขนโดยมีข้อศอกเป็นจุดหมุน กล้ามเนื้อไบเซ็ปส์ เบรกิไอ ยังเป็นกล้ามเนื้อที่ผู้คนส่วนใหญ่รู้จักกันดี เนื่องจากเป็นกล้ามเนื้อที่เห็นได้ชัดจากภายนอก และสามารถบริหารกล้ามเนื้อนี้ให้มีรูปร่างที่ต้องการได้ง่ายโดยการยกน้ำหนัก
กล้ามเนื้อไบเซ็ปส์ เบรกิไอ (Biceps brachii) | |
---|---|
กล้ามเนื้อไบเซ็ปส์ เบรกิไอ | |
กล้ามเนื้อไบเซ็ปส์ เบรกิไอ (ทางขวา) | |
รายละเอียด | |
จุดยึด | ด้านสั้น: โคราคอยด์ โพรเซสของกระดูกสะบัก ด้านยาว: ปุ่มเหนือแอ่งกลีนอยด์ |
จุดเกาะ | ปุ่มนูนเรเดียส |
หลอดเลือดแดง | หลอดเลือดแดงแขน |
ประสาท | เส้นประสาทมัสคิวโลคิวทาเนียส (C5–C7) |
การกระทำ | งอข้อศอก และพลิกหงายปลายแขน |
ตัวต้าน | กล้ามเนื้อไตรเซ็บ เบรกิไอ |
ตัวระบุ | |
ภาษาละติน | musculus biceps brachii |
TA98 | A04.6.02.013 |
TA2 | 2464 |
ศัพท์ทางกายวิภาคของกล้ามเนื้อ |
กายวิภาคศาสตร์
แก้จุดเกาะ
แก้กล้ามเนื้อไบเซ็ปส์ เบรกิไอ เป็นกล้ามเนื้อที่มีจุดเกาะต้น (origin) แยกเป็นสองจุดที่บริเวณไหล่ จึงเป็นที่มาของชื่อกล้ามเนื้อ biceps ในภาษาลาติน ซึ่งแปลว่า สองหัว โดยจุดเกาะต้นทั้งสองได้แก่
- ปลายจุดเกาะต้นด้านสั้น (short head) จะยึดเกาะที่คอราคอยด์ โพรเซส (Coracoid process) ของกระดูกสะบัก
- ปลายจุดเกาะต้นด้านยาว (long head) จะมีลักษณะเป็นเอ็นขนาดใหญ่ที่ผ่านโครงสร้างของปลอกหุ้มข้อต่อที่บริเวณหัวกระดูกต้นแขน และไปเกาะกับกระดูกสะบักที่ปุ่มเหนือแอ่งกลีนอยด์ (supraglenoid tubercle)
จุดเกาะปลายของกล้ามเนื้อมัดนี้จะมีจุดเดียว คือที่ปุ่มนูนเรเดียส (Radial tuberosity) นอกจากนี้ยังมีบางส่วนขยายออกไปเป็นเอ็นแผ่ที่เกาะกับพังผืดของบริเวณส่วนต้นของปลายแขน ซึ่งเรียกว่า เอ็นแผ่ไบซิพิตัล (Bicipital aponeurosis)
หลอดเลือดแดง
แก้กล้ามเนื้อไบเซ็ปส์ เบรกิไอ จะได้รับเลือดจำนวนมากจากหลอดเลือดแดงแขน (Brachial artery) ซึ่งเป็นหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ต่อลงมาจากหลอดเลือดแดงรักแร้ (Axillary artery) และยังเป็นหลอดเลือดแดงที่นิยมใช้ในการตรวจวัดความดันโลหิตอีกด้วย
เส้นประสาท
แก้เส้นประสาทที่มาสั่งการกล้ามเนื้อไบเซ็ปส์ เบรกิไอ คือเส้นประสาทมัสคิวโลคิวทาเนียส (Musculocutaneous nerve) ซึ่งเริ่มต้นจากการเชื่อมรวมกันของเส้นประสาทไขสันหลังบริเวณคอ คู่ที่ 5,6 และ 7 จากนั้นจึงรวมเป็นแขนงด้านข้าง (lateral cord) ในร่างแหประสาทแขน (Brachial plexus) ก่อนจะแทงทะลุเข้าสู่กล้ามเนื้อคอราโคเบรเคียลิส (Coracobrachialis muscle) ก่อนจะให้แขนงเข้าสู่กล้ามเนื้อไบเซ็ปส์ เบรกิไอ
หน้าที่การทำงาน
แก้กล้ามเนื้อไบเซ็ปส์ เบรกิไอ เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของแขนที่ข้อต่อสามจุด ซึ่งได้แก่
- ข้อต่อกลีโนฮิวเมอรัล (Glenohumeral joint) ที่บริเวณไหล่ ซึ่งจะทำหน้าที่งอต้นแขนขึ้น
- ข้อศอก (Elbow joint) ทำหน้าที่งอปลายแขนขึ้น เช่นในกรณีของการยกน้ำหนักเพื่อการบริหารกล้ามเนื้อมัดนี้
- ข้อต่อเรดิโออัลนาส่วนต้น (Proximal radioulnar joint) ทำหน้าที่ในการพลิกหงายของปลายแขนและมือ โดยทำงานร่วมกับกล้ามเนื้อสุพิเนเตอร์ (Supinator muscle)
รูปประกอบเพิ่มเติม
แก้-
ภาพวาดแสดงโครงสร้างของข้อต่อไหล่ และแสดงจุดเกาะต้นของกล้ามเนื้อไบเซ็ปส์ เบรกิไอ
-
ภาคตัดขวางของต้นแขนที่บริเวณส่วนกลางของกระดูกต้นแขน
-
หลอดเลือดแดงแขน
-
ร่างแหประสาทแขน ของรักแร้ขวา
-
เส้นประสาทของแขนด้านซ้าย
อ้างอิง
แก้- Gray's anatomy for students. Drake, RL., Vogl, W. and Mitchell, AWM.
- Clinically Oriented Anatomy, 4th ed. Keith L. Moore and Arthur F. Dalley.