เอ็น หรือ เอ็นยึด (อังกฤษ: ligament) เป็นคำกว้างๆ หมายถึง กลุ่มหรือมัดเส้นใยเนื้อเยื่อเกี่ยวพันซึ่งเรียงตัวในทิศทางเดียว เห็นได้ชัดและไม่มีกล้ามเนื้อยึดที่ปลาย[1] ทั้งนี้เอ็นมีความหมายถึงโครงสร้างได้ 3 ชนิด[2] โดยทั่วไปเอ็นหมายถึงเนื้อเยื่อเส้นใยที่ยึดระหว่างกระดูก เรียกว่า "เอ็นข้อต่อ" (articular ligament, articular larua) [3] "เอ็นเส้นใย" (fibrous ligaments) หรือ "เอ็นแท้" (true ligaments)

เอ็น
(Ligament)
แผนภาพของข้อเข่าข้างขวา
ข้อต่อ
รายละเอียด
ตัวระบุ
ภาษาละตินligamenta
MeSHD008022
TA98A03.0.00.034
FMA70773 30319, 70773
อภิธานศัพท์กายวิภาคศาสตร์

นอกจากนี้ เอ็น อาจหมายถึง

  • เอ็นเยื่อบุช่องท้อง (peritoneal ligament) เป็นการพับทบกันของเยื่อบุช่องท้องหรือเนื้อเยื่อชนิดอื่นในช่องท้อง
  • เอ็นที่เป็นส่วนเหลือของทารกในครรภ์ (fetal remnant ligament) เป็นส่วนเหลือของโครงสร้างท่อในระยะทารกในครรภ์ที่ฝ่อลงเมื่อไม่ได้ถูกใช้งานกลายเป็นเนื้อเยื่อเส้นใย

วิชาที่ศึกษาเอ็น เรียกว่า วิทยาเอ็น (desmology) ภาษาอังกฤษมาจากรากศัพท์ภาษากรีกโบราณ δεσμός, desmos, "สาย"; และ -λογία, -logia "ความรู้")

เอ็นคล้ายคลึงกับเอ็นกล้ามเนื้อ (tendon) และพังผืด (fasciae) ตรงที่ทั้งหมดประกอบด้วยคอลลาเจน แต่เอ็นยึดระหว่างกระดูกชิ้นหนึ่งกับกระดูกอีกชิ้นหนึ่ง แต่เอ็นกล้ามเนื้อยึดระหว่างกล้ามเนื้อกับกระดูก และพังผืดเชื่อมกล้ามเนื้อมัดหนึ่งกับกล้ามเนื้ออีกมัดหนึ่ง

เอ็นข้อต่อ

แก้

โดยทั่วไป เอ็น หมายถึงแผ่นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดหนาแน่นและเป็นระเบียบ (dense regular connective tissue) เหนียวและสั้น ที่มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นเส้นใยคอลลาเจนยาวและเหนียว เอ็นทำหน้าที่ยึดเชื่อมกระดูกและกระดูกชิ้นอื่นเพื่อเกิดเป็นข้อต่อ (joint) (โครงสร้างที่ทำหน้าที่ยึดระหว่างกล้ามเนื้อและกระดูกคือ เอ็นกล้ามเนื้อ (tendon)) เอ็นบางตำแหน่งทำหน้าที่จำกัดและช่วยป้องกันการเคลื่อนไหวบางทิศทางของข้อต่อ

เอ็นแคปซูล (Capsular ligament) เป็นส่วนของแคปซูลข้อต่อ (articular capsule) ที่ล้อมรอบข้อต่อแบบซินโนเวียล (Synovial joint) ซึ่งทำหน้าที่เสริมแรง เอ็นนอกแคปซูล (Extra-capsular ligament) ทำหน้าที่เชื่อมกระดูกเข้าด้วยกันและช่วยรักษาเสถียรภาพของข้อต่อ เอ็นในแคปซูล (Intra-capsular ligaments) ทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพของข้อแต่ยังทำให้ข้อต่อมีพิสัยการเคลื่อนไหวกว้างขึ้น

เอ็นยึดจะมีคุณสมบัติยืดหยุ่น เมื่อมีแรงตึงจะค่อยๆ ยืดออกเล็กน้อย และกลับสภาพเดิมเมื่อไม่มีแรงตึง (ต่างจากเอ็นกล้ามเนื้อซึ่งไม่มีความยืดหยุ่น) แต่หากแรงดึงมากเกินจุดหนึ่งหรือถูกทิ้งไว้จนเกินระยะเวลาหนึ่งเอ็นจะไม่สามารถกลับสภาพเดิม ด้วยเหตุนี้เมื่อเกิดข้อเคลื่อน (dislocation) แล้วต้องได้รับการรักษาโดยทันที ถ้าเอ็นถูกยืดมากเกินไป ข้อต่อก็จะอ่อนแอลงและมีแนวโน้มจะเกิดข้อเคลื่อนในอนาคต นักกรีฑา, นักยิมนาสติก, นักเต้นและผู้ฝึกฝนศิลปะการต่อสู้จึงต้องมีการออกกำลังกายแบบยืดหยุ่น (stretching exercise) เพื่อยืดเอ็นให้ข้อต่องอโค้งได้ง่าย

อาการข้อต่อเคลื่อนเกิน (hyperlaxity หรือ double-jointed) หมายถึงอาการที่ข้อต่อมีความยืดหยุ่นมากกว่าปกติ ทำให้ข้อต่อยืดและบิดได้มากขึ้น

เมื่อเกิดเอ็นฉีก (broken ligament) อาจทำให้ข้อต่อไม่เสถียร เอ็นฉีกทุกครั้งไม่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดก็ได้ เพียงแค่ให้ข้อต่ออยู่นิ่งก็ทำให้เอ็นมาต่อกันได้ แต่การผ่าตัดสามารถเย็บซ่อมเอ็นได้โดยตรง หากการรักษาดังกล่าวรักษาเอ็นฉีกไม่ได้ผลอาจต้องใช้หัตถการอื่นๆ เช่น Brunelli Procedure เพื่อรักษาเสถียรภาพของข้อ การทิ้งไว้โดยไม่รักษาเป็นเวลานานอาจทำให้กระดูกอ่อนสึกและทำให้ข้อเสื่อม (osteoarthritis) ได้

เอ็นเยื่อบุช่องท้อง

แก้

รอยทบของเยื่อบุช่องท้อง (peritoneum) บางตำแหน่งอาจเรียกว่า "เอ็น" ตัวอย่างเช่น

เอ็นที่เป็นส่วนเหลือของทารกในครรภ์

แก้

โครงสร้างที่มีลักษณะเป็นท่อในระยะทารกในครรภ์เมื่อถูกปิดลงและมีลักษณะเป็นสายหรือเส้น อาจเรียกว่า "เอ็น"

โครงสร้างในทารก ในผู้ใหญ่
ดักทัส อาร์เทอริโอซัส
ductus arteriosus
ลิกาเมนตุม อาร์เทอริโอซุม
ligamentum arteriosum
หลอดเลือดดำอัมบิลิคัลข้างซ้ายในทารก ส่วนที่อยู่นอกตับ
extra-hepatic portion of the fetal left umbilical vein
ลิกาเมนตุม เทเรส เฮปาติส (เอ็นกลมยาวของตับ)
ligamentum teres hepatis (the "round ligament of the liver")
หลอดเลือดดำอัมบิลิคัลข้างซ้ายในทารก ส่วนที่อยู่ในตับ (ดักทัส วีโนซัส)
intra-hepatic portion of the fetal left umbilical vein (the ductus venosus)
ลิกาเมนตุม วีโนซุม
ligamentum venosum
ส่วนปลายของหลอดเลือดแดงอัมบิลิคัลข้างซ้ายและขวาในทารก
distal portions of the fetal left and right umbilical arteries
มีเดียล อัมบิลิคัล ลิกาเมนต์
medial umbilical ligaments

อ้างอิง

แก้
  1. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒
  2. ligament จากเว็บไซต์ eMedicine Dictionary
  3. ligament ใน พจนานุกรมศัพท์การแพทย์ดอร์แลนด์

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้