การท่าเรือแห่งประเทศไทย
การท่าเรือแห่งประเทศไทย หรือ กทท. (อังกฤษ: Port Authority of Thailand ย่อว่า PAT) เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงคมนาคม จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2494 เพื่อดำเนินการกิจการท่าเรือของประเทศไทย และในสิ้นปี 2565 การท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้แผ่นดินสะสมสูงสุด ลำดับที่ 7[1]
Port Authority of Thailand | |
ภาพรวมหน่วยงาน | |
---|---|
ก่อตั้ง | พ.ศ. 2494 (73 ปี) |
สำนักงานใหญ่ | 444 ถนนท่าเรือ แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร 10110 |
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน |
|
ต้นสังกัดหน่วยงาน | กระทรวงคมนาคม |
เว็บไซต์ | http://www.port.co.th |
ประวัติ
แก้เมื่อปี พ.ศ. 2478 ได้มีแนวคิดจะก่อสร้างท่าเรือของรัฐบาลขึ้น คือ ท่าเรือกรุงเทพ เขตคลองเตย โดยมีพระบริภัณฑ์ยุทธกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ เป็นประธานกรรมการดำเนินการขุดลอกสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณตำบลคลองเตย ต่อมาในปี พ.ศ. 2481 จึงได้มีการจัดตั้งสำนักงานท่าเรือกรุงเทพ โดยมี หลวงประเสริฐวิถีรัถ เป็นหัวหน้าสำนักงานท่าเรือกรุงเทพ ทำหน้าที่ควบคุมการก่อสร้าง และเริ่มมีการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2483 และหยุดชะงักไปในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
ในปี พ.ศ. 2490 ได้เปิดดำเนินการกิจการท่าเรือเป็นครั้งแรก และได้มีการพัฒนาการเรื่อยมา จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2494 จึงได้มีพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494[2] กำหนดให้จัดตั้งการท่าเรือแห่งประเทศไทยขึ้น เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม และโอนกิจการท่าเรือกรุงเทพ จากสำนักงานท่าเรือกรุงเทพมาดำเนินการ
การขยายท่าเรือ
แก้หลังจากเปิดดำเนินการท่าเรือกรุงเทพ และได้มีการพัฒนาเรื่อยมา ทำให้ท่าเรือกรุงเทพซึ่งมีข้อจำกัดในการเป็นท่าเรือแม่น้ำ ไม่สามารถรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ จึงได้มีการดำเนินการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังขึ้น ในปี พ.ศ. 2533 และเปิดใช้ในปีต่อมา ท่าเรือที่ใช้ขนส่งสินค้าท่าเรือหลักของประเทศไทย ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือมาบตาพุต ท่าเรือเกาะสีชัง ท่าเรือสงขลา และ ท่าเรือปากบารา[3]
กรรมการการท่าเรือ
แก้คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทยดังนี้[4]โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
- พลเรือเอก อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ อดีตประธานคณะที่ปรึกษากองทัพเรือ ประธานกรรมการ (ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2557)
- พลเรือเอก จักรชัย ภู่เจริญยศ อดีตรองผู้บัญชาการทหารเรือ กรรมการ (ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2557)
- นางสาว ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กรรมการ (ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2557)
- นาย ศรศักดิ์ แสนสมบัติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม กรรมการ (ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2557)
- ดร. จุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมเจ้าท่า กรรมการ (ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2557)
- นาย เวทิต โชควัฒนา กรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) กรรมการ (ตั้งแต่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2557)
- นาง ปรารถนา มงคลกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แม็คกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กรรมการ (ตั้งแต่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2557)
- นาย วรทัศน์ ตันติมงคลสุข ประธานคณะทำงานพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กรรมการ (ตั้งแต่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2557)
- ดร. ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการ (ตั้งแต่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558)
- นาย จำเริญ โพธิยอด รองอธิบดีกรมศุลกากร กรรมการ (ตั้งแต่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2558)
- นาย ขจรศักดิ์ พุทธานุภาพ อัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 3 สำนักงานการสอบสวน กรรมการ (ตั้งแต่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558)
ท่าเรือในความดูแล
แก้การท่าเรือแห่งประเทศไทย มีท่าเรือในสังกัด จำนวน 5 แห่ง คือ
- ท่าเรือกรุงเทพ หรือท่าเรือคลองเตย ตั้งอยู่ที่ แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร
- ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นท่าเรือหลักของประเทศแทนท่าเรือกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539[5] ในปี พ.ศ. 2551 มีปริมาณขนถ่ายสินค้าทั้งสิ้น 4,629,244.70 เมตริกตัน[6] มีปริมาณเรือเทียบท่ากว่า 8,118 ลำ
- ท่าเรือเชียงแสน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2546
- ท่าเรือเชียงของ เป็นท่าเรือริมฝั่งแม่น้ำโขง ขนาดกว้าง 24 เมตร ยาว 180 เมตร ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ตรงข้ามกับแขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2546
- ท่าเรือระนอง เป็นท่าเรือริมฝั่งตะวันออกของปากแม่น้ำกระบุรี ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง มีเนื้อที่ 315 ไร่ เปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2549
และล่าสุด รัฐบาลได้เห็นชอบให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย เข้ามาบริหารกิจการของท่าเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ ของกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด โดยให้มีผลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป เพื่อรองรับการขนส่งทางน้ำในพื้นที่ชายทะเลของภาคตะวันออก การขนส่งสินค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน และส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดตราดเองและรวมไปถึงจังหวัดที่ใกล้เคียง เป็นต้น[7]
อ้างอิง
แก้- ↑ ปตท.แชมป์ ส่งรายได้เข้ารัฐมากสุด 1.89 หมื่นล้านบาท
- ↑ พระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-03-29. สืบค้นเมื่อ 2018-11-30.
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/E/306/4.PDF
- ↑ ข้อมูลทั่วไปท่าเรือแหลมฉบัง เก็บถาวร 2010-06-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์ท่าเรือแหลมฉบัง (สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2553)
- ↑ สถิติผลการดำเนินงาน ท่าเรือแหลมฉบัง ปีงบประมาณ : 2548 - 2552 เก็บถาวร 2010-02-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์ท่าเรือแหลมฉบัง (สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2553)
- ↑ ดัน"ท่าเรือคลองใหญ่"ประตูการค้า-หนุนการท่องเที่ยว จากเว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ เผยแพร่เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 (สืบค้นเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2563)