โชกุน

(เปลี่ยนทางจาก Shōgun)

โชกุน (ญี่ปุ่น: 将軍โรมาจิshōgun) เป็นผู้ใช้อำนาจเผด็จการทหารแห่งญี่ปุ่นระหว่าง ค.ศ. 1185–1868 ส่วนใหญ่ในช่วงดังกล่าว โชกุนเป็นประมุขของประเทศในทางพฤตินัย แต่โดยนิตินัยแล้วเขาได้รับการแต่งตั้งจากจักรพรรดิญี่ปุ่นอีกที[1]

มินาโมโตะ โนะ โยริโตโมะ โชกุนคนแรก จากตระกูลมินาโมโตะ อยู่ในอำนาจระหว่าง ค.ศ. 1192–99

คำว่า "โชกุน" นั้นแปลว่า "จอมทัพ" ตัดมาจาก "เซอิไทโชกุน" (征夷大将軍) ที่แปลว่า "จอมทัพใหญ่ปราบเถื่อน"[2] เดิมเป็นตำแหน่งผู้นำทัพปราบกลุ่มเอมิชิที่ขัดขืนอำนาจส่วนกลางเมื่อต้นยุคเฮอัง (คริสต์ศตวรรษที่ 7–10)[3] ส่วนคณะเจ้าหน้าที่ของโชกุนนั้นเรียกรวมกันว่า "รัฐบาลโชกุน" (shogunate) หรือ "บากูฟุ" (幕府) ที่แปลว่า "สำนักพลับพลา" เดิมเป็นคำเรียกที่บัญชาการของขุนศึก[4]

โชกุนครองอำนาจที่แทบเบ็ดเสร็จเหนือดินแดนญี่ปุ่นโดยใช้วิธีทางทหาร ยกเว้นในยุคคามากูระ (ค.ศ. 1199–1333) เมื่อสิ้นโชกุนมินาโมโตะ โนะ โยริโตโมะ แล้ว ตระกูลโฮโจก็ควบคุมรัฐบาลโชกุนไว้ได้ทั้งหมด โดยสำเร็จราชการแทนโชกุนในฐานะชิกเก็ง (ค.ศ. 1199–1256) และโทกูโซ (ค.ศ. 1256–1333) ทำให้โชกุนตกอยู่ในสภาพเดียวกับจักรพรรดิ คือ เป็นผู้นำแบบหุ่นเชิด ช่วงเวลานี้เรียกว่า "สมัยชิกเก็ง" (執権政治)[5] จนเกิดรัฐประหารล้มล้างตระกูลโฮโจในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1300 ทำให้โชกุนกลับมาบริหารอำนาจในพระนามาภิไธยอีกครั้ง[5]

โชกุนคนสุดท้าย คือ โทกูงาวะ โยชิโนบุ ผู้สละตำแหน่งให้แก่จักรพรรดิเมจิใน ค.ศ. 1867[6]

ยุคเฮอัง (ค.ศ. 794–1185)

แก้

เดิมที มีการมอบตำแหน่งเซอิไทโชกุนให้แก่ผู้นำทหารในต้นยุคเฮอังช่วงที่มีการสงครามต่อต้านกลุ่มเอมิชิซึ่งไม่ยอมรับอำนาจของราชสำนักเคียวโตะ ผู้ดำรงตำแหน่งคนแรก คือ โอโตโมะ โนะ โอโตมาโระ[3] ผู้ดำรงตำแหน่งคนที่เลื่องชื่อที่สุด คือ ซากาโนอูเอะ โนะ ทามูรามาโระ

ปลายยุคเฮอัง มีการตั้งผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวอีกเพียงคนเดียว คือ มินาโมโตะ โนะ โยชินากะ ในช่วงสงครามเก็มเป แต่อยู่ในตำแหน่งไม่นานเขาก็ถูกมินาโมโตะ โนะ โยชิตสึเนะ คู่แข่ง สังหาร

รัฐบาลคามากูระ (ค.ศ. 1192–1333)

แก้

ครั้นต้นคริสต์ศตวรรษที่ 11 ไดเมียวที่มีซามูไรเป็นองครักษ์เถลิงอำนาจทางการเมืองภายในประเทศ[7] ตระกูลไทระกับตระกูลมินาโมโตะช่วงชิงอำนาจเหนือราชสำนักที่กำลังเสื่อมถอย ตระกูลไทระควบคุมราชสำนักได้ในช่วง ค.ศ. 1160–85 แต่พ่ายแพ้แก่ตระกูลมินาโมโตะในยุทธการที่ดันโนอูระ ทำให้มินาโมโตะ โนะ โยริโตโมะ ยึดอำนาจรัฐบาลกลางเป็นผลสำเร็จ และก่อตั้งระบบเจ้าขุนมูลนายขึ้นที่เมืองคามากูระ โดยให้ซามูไรที่เป็นองครักษ์มีอำนาจบางประการในทางการเมือง ส่วนจักรพรรดิและชนชั้นนำอื่น ๆ อยู่ในอำนาจทางนิตินัยเท่านั้น ต่อมาใน ค.ศ. 1119 จักรพรรดิประทานตำแหน่งเซอิไทโชกุนให้แก่โยริโตโมะ ทำให้ระบอบการปกครองของเขาเป็นที่รู้จักในนาม "รัฐบาลโชกุน" แต่เมื่อสิ้นโยริโตโมะแล้ว ตระกูลโฮโจจากฝั่งภริยาของโยริโตโมะเข้าควบคุมตระกูลมินาโมโตะไว้ได้[8] โชกุนตระกูลโยริโตโมะที่สืบตำแหน่งต่อ ๆ มากลายเป็นเพียงหุ่นเชิดที่มีบุคคลจากตระกูลโฮโจคอยสำเร็จราชการแทน เป็นเช่นนี้เกือบ 150 ปีตั้งแต่ ค.ศ. 1192 ถึง 1333

ในช่วงเวลาดังกล่าว สองราชตระกูล คือ ราชสำนักเหนือ กับราชสำนักใต้ อ้างสิทธิในบัลลังก์กัน รัฐบาลโชกุนเข้าแทรกแซงโดยให้ราชตระกูลทั้งสองผลัดกันครองบัลลังก์ แต่จักรพรรดิโกะ-ไดโงะพยายามจะยุติการผลัดบัลลังก์ดังกล่าวโดยวางแผนล้มล้างระบอบโชกุน พระองค์อาศัยจังหวะที่จักรวรรดิมองโกลเข้ารุกรานญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1274 และ 1281 ดำเนินการฟื้นฟูเค็มมุใน ค.ศ. 1331 แต่ล้มเหลว พระองค์ถูกเนรเทศ จนราว ค.ศ. 1334–36 ขุนพลอาชิกางะ ทากาอูจิ ช่วยให้พระองค์หวนคืนสู่ราชบัลลังก์ ทำให้รัฐบาลโชกุนที่มีตระกูลโฮโจเป็นผู้นำสิ้นสุดลง[9]

ในช่วงฟื้นฟูเค็มมุนั้น แม้เป็นผลให้รัฐบาลโชกุนแห่งเมืองคามากูระสิ้นสุดลง แต่ก็เกิดรัฐบาลโชกุนใหม่ขึ้นแทน โดยเจ้าชายโมริโยชิ โอรสของจักรพรรดิโกะ-ไดโงะ ได้ตำแหน่งเซอิไทโชกุน ทว่า ก็เป็นช่วงสั้น ๆ เพราะไม่นานเจ้าชายก็ถูกจับกุมคุมขังไว้ในพระราชฐาน และถูกอาชิกางะ ทาดาโชยิ น้องชายของทากาอูจิ สังหารใน ค.ศ. 1335 นอกจากนี้ ในปีถัดมา คือ ค.ศ. 1336 ทากาอูจิยังผิดใจกับจักรพรรดิโกะ-ไดโงะ และถอดพระองค์ลงจากบัลลังก์ แต่งตั้งจักรพรรดิพระองค์ใหม่ขึ้นแทนใน ค.ศ. 1339 คือ จักรพรรดิโกะ-มูรากามิ[9]

รัฐบาลอาชิกางะ (ค.ศ. 1336–1573)

แก้

ใน ค.ศ. 1338 อาชิกางะ ทากาอูจิ ได้ตำแหน่งเซอิไทโชกุน ก่อตั้งรัฐบาลโชกุนอาชิกางะในเคียวโตะจนถึง ค.ศ. 1573 ช่วงเวลาที่ตระกูลอาชิกางะปกครองนั้นเรียกว่า ยุคมูโรมาจิ

ยุคอาซูจิ–โมโมยามะ (ค.ศ. 1573–1600)

แก้

สมัยต่อมา ตำแหน่งเซอิไทโชกุนตกเป็นของโอดะ โนบูนางะ และผู้สืบทอด คือ โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ซึ่งเป็นยุคที่โชกุนมีอำนาจมากยิ่งกว่าก่อน ฮิเดโยชิยังถือกันว่า เป็นหนึ่งในผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่น

รัฐบาลโทกูงาวะ (ค.ศ. 1600–1868)

แก้

ใน ค.ศ. 1600 ขุนพลโทกูงาวะ อิเอยาซุ ยึดอำนาจเป็นผลสำเร็จ และก่อตั้งการปกครองขึ้นที่เมืองเอโดะ (ปัจจุบันคือ โตเกียว) ต่อมาใน ค.ศ. 1603 เขาได้รับตำแหน่งเซอิไทโชกุน หลังจากสร้างหลักฐานเท็จเพื่อแสดงว่า ตนเองสืบเชื้อสายตระกูลมินาโมโตะจากยุคเฮอัง[10]

ในยุคข้างต้นนี้ อำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ในมือของโชกุนซึ่งปกครองอยู่ที่เอโดะ ส่วนจักรพรรดิประทับอยู่ในเคียวโตะ โชกุนยังควบคุมนโยบายต่างประเทศ ดูแลทหาร และกำกับระบอบอุปถัมภ์แบบเจ้าขุนมูลนาย ส่วนจักรพรรดิมีพระราชอำนาจในทางพิธีการเท่านั้น เหมือนบทบาทของจักรพรรดิญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2[11]

รัฐบาลโชกุนโทกูงาวะดำรงอยู่จน ค.ศ. 1867 เมื่อโชกุนโทกูงาวะ โยชิโนบุ ลาออกจากตำแหน่ง และถวายอำนาจคืนให้แก่จักรพรรดิเมจิ[12]

สิ่งตกทอด

แก้

หลังญี่ปุ่นยอมจำนนในสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ดักลาส แมกอาเธอร์ นายพลชาวอเมริกัน เป็นผู้ปกครองญี่ปุ่นในทางพฤตินัยระหว่างที่ญี่ปุ่นถูกฝ่ายชนะสงครามยึดครอง แมกอาเธอร์มีอิทธิพลมากในญี่ปุ่นจนเขาได้สมญาว่า "ไกจินโชกุน" (外人将軍; "โชกุนต่างชาติ")[13]

ปัจจุบัน หัวหน้ารัฐบาลญี่ปุ่น คือ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ส่วนคำว่า "โชกุน" ยังใช้ในภาษาปากอยู่ เช่น นายกรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งแล้วแต่ยังมีอิทธิหลังฉากอยู่เรียกว่า "ยามิโชกุน" (闇将軍; "โชกุนเงา") คล้ายกับจักรพรรดิสมัยก่อนที่สละราชบัลลังก์แล้วแต่ยังคงพระราชอำนาจต่อไป เรียกว่า "การว่าราชการในวัด" นักการเมืองที่ได้ฉายายามิโชกุน เช่น ทากูเอ ทานากะ และอิจิโร โอซาวะ[14]

รัฐบาลโชกุน

แก้

คำว่า "บากูฟุ" ที่แปลกันว่า "รัฐบาลโชกุน" นั้นมีความหมายตรงตัวว่า "สำนักพลับพลา" เป็นคำเรียกที่บัญชาการของแม่ทัพนายกอง เดิมใช้เรียกจวนของโชกุนซึ่งเป็นทั้งที่อยู่อาศัยและสำนักงานของโชกุน แต่ภายหลังคำนี้กลายมาหมายถึงระบอบการปกครองของโชกุนที่มีเผด็จการทหารแบบเจ้าขุนมูลนาย

ระบอบโชกุนนั้นเริ่มขึ้นด้วยรัฐบาลโชกุนคามากูระที่มีมินาโมโตะ โนะ โยริโตโมะ เป็นโชกุน โดยมีจักรพรรดิเป็นเจ้าแผ่นดิน ระบอบนี้เป็นแบบเจ้าขุนมูลนายในบางลักษณะ เช่น ขุนนางผู้น้อยขึ้นต่อขุนนางผู้ใหญ่ ซามูไรได้รับการตอบแทนที่ซื่อสัตย์ภักดีต่อขุนนาง การตอบแทนมีทั้งผลิตผลพืชไร่และแรงงานจากชนชั้นกสิกร แต่ต่างจากอัศวินในระบบเจ้าขุนมูลนายในยุโรปตรงที่ซามูไรไม่ได้ถือครองที่ดินด้วยตนเอง[15] ระบบเช่นนี้ดำรงอยู่ได้ด้วยสายสัมพันธ์แห่งความภักดีระหว่างไดเมียว ซามูไร และผู้ใต้บัญชา

รัฐบาลโชกุนแต่ละชุดนั้นมีความเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง อำนาจในสมัยหนึ่งอาจแตกต่างจากในอีกสมัยได้ และมักคลุมเครือ ความเป็นไปของระบอบโชกุนนั้นเชิญชวนให้นักวิชาการเข้าศึกษาอยู่เสมอ นอกจากนี้ รัฐบาลโชกุนแต่ละชุดยังเผชิญการขัดขืนและโต้แย้งอำนาจ ทั้งจากจักรพรรดิเองและจากชนชั้นนำกลุ่มอื่น ๆ ในระบอบราชาธิปไตย รัฐบาลโชกุนจึงเป็นเครื่องสะท้อนของความจำเป็นที่ต้องคิดหาวิธีใหม่ ๆ มาคานอำนาจส่วนกลางและท้องถิ่นอยู่เสมอ[16]

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. "Shogun". Encyclopædia Britannica. สืบค้นเมื่อ November 19, 2014.
  2. The Modern Reader's Japanese-English Character Dictionary, ISBN 0-8048-0408-7
  3. 3.0 3.1 "征夷大将軍―もう一つの国家主権" (ภาษาญี่ปุ่น). Books Kinokuniya. สืบค้นเมื่อ March 7, 2011.
  4. Beasley, William G. (1955). Select Documents on Japanese Foreign Policy, 1853–1868, p. 321.
  5. 5.0 5.1 「執権 (一)」(『国史大辞典 6』 (吉川弘文館, 1985) ISBN 978-4-642-00506-7
  6. Totman, Conrad (1966). "Political Succession in The Tokugawa Bakufu: Abe Masahiro's Rise to Power, 1843–1845". Harvard Journal of Asiatic Studies. 26: 102–124. doi:10.2307/2718461. JSTOR 2718461.
  7. "Shogun". The World Book Encyclopedia. Vol. 17. World Book. 1992. pp. 432–433. ISBN 0-7166-0092-7.
  8. "shogun | Japanese title". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2017-08-21.
  9. 9.0 9.1 Sansom, George (1961). A History of Japan, 1134–1615. United States: Stanford University Press.
  10. Titsingh, I. (1834). Annales des empereurs du Japon, p. 409.
  11. Wakabayashi, Bob Tadashi (Winter 1991). "In Name Only: Imperial Sovereignty in Early Modern Japan". Journal of Japanese Studies. 17 (1): 25–57. doi:10.2307/132906. JSTOR 132906.
  12. "Japan". The World Book Encyclopedia. World Book. 1992. pp. 34–59. ISBN 0-7166-0092-7.
  13. Valley, David J. (April 15, 2000). Gaijin Shogun : Gen. Douglas MacArthur Stepfather of Postwar Japan. Title: Sektor Company. ISBN 978-0967817521. สืบค้นเมื่อ 2 June 2017.
  14. Ichiro Ozawa: the shadow shogun. In: The Economist, September 10, 2009.
  15. Bentley, Jerry. Traditions and Encounters. pp. 301–302. ISBN 978-0-07-325230-8.
  16. Mass, J. et al., eds. (1985). The Bakufu in Japanese History, p. 189.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้