แมงคีมยีราฟ
แมงคีมยีราฟ | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Arthropoda |
ชั้น: | Insecta |
อันดับ: | Coleoptera |
วงศ์: | Lucanidae |
วงศ์ย่อย: | Lucaninae |
สกุล: | Prosopocoilus |
สปีชีส์: | P. giraffa |
ชื่อทวินาม | |
Prosopocoilus giraffa Olivier, 1789 | |
ชนิดย่อย | |
| |
ชื่อพ้อง | |
|
แมงคีมยีราฟ, ด้วงคีมยีราฟ หรือ ด้วงคีมหยักสองต่อ (อังกฤษ: giraffe stag beetle) เป็นแมลงปีกแข็งชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Prosopocoilus giraffa จัดอยู่ในวงศ์แมงคีม (Lucanidae)
แมงคีมยีราฟจัดเป็นแมงคีมชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีจุดเด่น คือ เขี้ยวหรือขากรรไกรล่างที่ใช้เป็นอาวุธของตัวผู้ที่เรียวยาวและแลดูแข็งแรงมาก โดยอาจยาวได้ถึง 2.5-4.0 เซนติเมตร ในขณะที่ลำตัวมีความยาวทั้งหมดประมาณ 10.5 เซนติเมตรในตัวผู้ และ 7.5 เซนติเมตรในตัวเมีย ลำตัวเป็นสีน้ำตาลดำเป็นเงามัน บริเวณตรงกลางส่วนอกของขาคู่กลาง และขาคู่หลังมีหนามข้างละ 1 อัน แต่ที่ขาคู่หลังจะมีขนาดเล็กกว่า
ที่ฐานของขากรรไกรล่างมีปุ่มขนาดใหญ่ปรากฏอยู่ข้างละ 1 อัน และมีลักษณะเด่นที่สำคัญ คือ ส่วนหัวบริเวณขอบตรงกลางด้านบนจะมีปุ่มยื่นตรงไปด้านหน้า 1 คู่ ในขณะที่ตัวเมียจะมีขนาดเล็กกว่ามาก โดยที่ขากรรไกรในตัวผู้จะมีลักษณะแตกต่างออกไปตามช่วงวัยและขนาดลำตัว ซึ่งยิ่งเจริญเติบโตมากและมีขนาดใหญ่ขึ้นเท่าใด คีมหรือขากรรไกรนั้นก็จะยาวใหญ่และมีส่วนโค้งและมีปุ่มเหมือนเขี้ยวมากขึ้นด้วย [1]
แมงคีมยีราฟพบกระจายพันธุ์ในป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้งของหลายประเทศในทวีปเอเชียจนถึงอินโดนีเซีย ในประเทศไทยพบได้ในป่าทางภาคเหนือและภาคตะวันออก (มีทั้งหมด 9 ชนิดย่อย-ดูในตาราง)[2]
เป็นแมลงที่หากินในเวลากลางคืน โดยกินยางไม้ตามเปลือกไม้ของต้นไม้ใหญ่ในป่า ตัวผู้มีพฤติกรรมใช้ขากรรไกรที่ยาวใหญ่นั้นต่อสู้เพื่อป้องกันตัว และสู้กับตัวผู้ตัวอื่น ๆ เพื่อแย่งตัวเมียเพื่อผสมพันธุ์ หรือแม้แต่สู้กับด้วงในวงศ์ Dynastinae ที่ใช้เขาเพื่อการต่อสู้ได้ด้วยเช่นกัน[3]
ในระยะที่เป็นตัวหนอน อายุการเป็นตัวหนอนของแมงคีมยีราฟจะแตกต่างออกไปตามเพศ ตัวผู้จะมีอายุราว 9 เดือน ขณะที่ตัวเมียมีอายุสั้นกว่าคือ 4-7 เดือน และตัวหนอนสามารถส่งเสียงขู่ผู้รุกรานได้ด้วย ด้วยการยกขาคู่หลังตั้งขึ้นให้ด้านข้างซึ่งเป็นแผ่นแข็งเสียดสีกับขาคู่กลางไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้เกิดการสั่นจนมีเสียงพอรับรู้ได้ [4]
สำหรับสถานะในประเทศไทย เป็นแมลงที่หาได้ยากใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากการถูกจับไปเป็นสัตว์เลี้ยงและสตัฟฟ์เพื่อการสะสม และการทำลายป่าที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัย ทำให้แมงคีมยีราฟถูกจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และเคยมีภาพปรากฏลงในสลากกินแบ่งรัฐบาลและแสตมป์ด้วย[5][6]แต่ขณะนี้ได้มีความพยายามจากภาคเอกชนในการเพาะขยายพันธุ์ในที่เลี้ยงแล้ว[7] ซึ่งแมงคีมยีราฟจะวางไข่ไว้ในไม้ผุเท่านั้น โดยจะไม่วางไข่ไว้ในดินเหมือนด้วงในวงศ์ Dynastinae เพราะตัวหนอนกินอาหารต่างกัน โดยจะกินไม้ผุและเห็ดราที่ติดมากับไม้นั้นด้วย[8]
อ้างอิง
แก้- ↑ ด้วงคีมยีราฟ
- ↑ Family Scarabaeidae - The Breeding/Rearing of Prosopocoilus giraffa (อังกฤษ)
- ↑ [ลิงก์เสีย] “ด้วงคีมยีราฟ” นักเลงกล้ามใหญ่ตัวจริงมาแล้ว จากโอเคเนชั่น
- ↑ พิสุทธิ์ เอกอำนวย, คู่มือคนรักแมลง 2 การเลี้ยงด้วง (มีนาคม พ.ศ. 2552) หน้า 108 ISBN 987-974-660-832-9
- ↑ แสตมป์ ชุด แมลง ปีพ.ศ. 2544 ด้วงกว่างดาว ,ด้วงดินขอบทองแดง,ด้วงคีมยีราฟ,ด้วงดินปีกแผ่น
- ↑ ล็อตเตอรี 1 มิถุนายน 2554 ภาพแมลงขาข้อ ด้วงคีมยีราฟ (1 June 2011)
- ↑ "ผลการเพาะด้วงคีมยีราฟ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2011-09-28.
- ↑ พิสุทธิ์ เอกอำนวย, คู่มือคนรักแมลง 2 การเลี้ยงด้วง (มีนาคม พ.ศ. 2552) หน้า 86 ISBN 987-974-660-832-9
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- [https://web.archive.org/web/20081014115114/http://www.moohin.com/thailand%2Dtravel%2Dtrips/2548%2D09/c08/ เก็บถาวร 2008-10-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โลกละมุน ด้วงคีมยีราฟ ฟันเฟืองที่กำลังจะหายไป บทความจากอ.ส.ท.]