แมงคีม
แมงคีม หรือ ด้วงเขี้ยวกาง หรือ ด้วงคีม เป็นแมลงปีกแข็งในวงศ์ Lucanidae ซึ่งยังแบ่งออกได้เป็นวงศ์ย่อยอีก 4 วงศ์[1] (ดูในตาราง) พบประมาณ 1,200 ชนิด
แมงคีม ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: Middle Jurassic–Recent | |
---|---|
แมงคีมละมั่งเหลือง (Hexarthrius parryi) ตัวผู้ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
โดเมน: | ยูแคริโอต Eukaryota |
อาณาจักร: | สัตว์ Animalia |
ไฟลัม: | สัตว์ขาปล้อง Arthropoda |
ชั้น: | แมลง Insecta |
อันดับ: | อันดับด้วง Coleoptera |
อันดับย่อย: | Polyphaga Polyphaga |
อันดับฐาน: | Scarabaeiformia Scarabaeiformia |
วงศ์ใหญ่: | Scarabaeoidea Scarabaeoidea |
วงศ์: | Lucanidae Lucanidae Latreille, 1804 |
วงศ์ย่อย | |
แมงคีมมีลักษณะเด่นคือ ในตัวผู้จะมีขากรรไกรล่างที่มีขนาดใหญ่และกางเข้าออกได้เหมือนคีมหรือกรรไกรอันเป็นที่มาของชื่อเรียก ซึ่งใช้สำหรับเป็นอาวุธในการต่อสู้กันและแย่งตัวเมียเช่นเดียวกับแมลงปีกแข็งในวงศ์ Dynastinae ขณะที่ตัวเมียจะมีขนาดและขากรรไกรเล็กกว่า มีสีลำตัวที่อ่อนกว่า แมงคีมมีขนาดโดยเฉลี่ยประมาณ 12 เซนติเมตร ขณะที่บางชนิดที่ขนาดเล็กมีความยาวเพียง 5 เซนติเมตรเท่านั้น
มีลำตัวโดยรวมค่อนข้างแบน มีหนวดแบบหักเหมือนข้อศอก โดยมีปล้องแรกยาวและปล้องต่อ ๆ ไปเป็นปล้องสั้น ๆ เรียงตัวกันในทิศทางเดียวกันแต่เป็นคนละทิศกับหนวดปล้องแรก ปล้องใกล้ส่วนปลายมีหลายปล้องที่ขยายใหญ่ขึ้นเป็นปมอาจจะประกอบไปด้วยปล้องเล็ก ๆ 3-4 ปล้อง หรือ 5-6 ปล้อง ซึ่งจำนวนปล้องที่ปลายหนวดนี้มีส่วนสำคัญในการอนุกรมวิธานด้วย
แมงคีมวางไข่และตัวหนอนเจริญเติบโตในซากไม้ผุเช่นเดียวกับแมลงปีกแข็งในวงศ์ Dynastinae แต่จะไม่วางไข่ในดิน เพราะระยะเป็นตัวหนอนจะกินอาหารจำพวกไม้ผุหรือเห็ดราที่ติดมากับไม้เหล่านั้น แตกต่างกันไปตามชนิดหรือสกุล โดยใช้เวลาฟักเป็นตัวเต็มวัยนานเป็นแรมปีเหมือนกัน[2]
แมงคีมพบได้ทั่วโลก ปกติเป็นแมลงที่ไม่ก้าวร้าวต่อมนุษย์ ในประเทศไทยสามารถพบได้หลายชนิด อาทิ แมงคีมยีราฟ (Prosopocoilus giraffa) ซึ่งเป็นชนิดที่มีขนาดใหญ่ มีที่มีขนาดพอ ๆ กับนิ้วมือมนุษย์ พบได้ในป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้งในภาคเหนือและภาคตะวันออก เป็นชนิดที่หายากใกล้สูญพันธุ์มากแล้ว และมีรายชื่อเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ด้วย[3]
แมงคีมนิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงใช้สำหรับต่อสู้กันเช่นเดียวกับแมลงปีกแข็งในวงศ์ Dynastinae ซึ่งอาจจะใช้ต่อสู้ด้วยกันก็ได้ และเป็นที่นิยมสะสมของนักสะสมแมลง[4]
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ Smith, A.B.T. (2006). A review of the family-group names for the superfamily Scarabaeoidea (Coleoptera) with corrections to nomenclature and a current classification. The Coleopterists Bulletin 60:144–204.
- ↑ พิสุทธิ์ เอกอำนวย, คู่มือคนรักแมลง 2 การเลี้ยงด้วง (มีนาคม พ.ศ. 2552) หน้า 52 ISBN 987-974-660-832-9
- ↑ [ลิงก์เสีย] “ด้วงคีมยีราฟ” นักเลงกล้ามใหญ่ตัวจริงมาแล้ว จากโอเคเนชั่น
- ↑ Smith, A.B.T. (2006) A review of the family-group names for the superfamily Scarabaeoidea (Coleoptera) with corrections to nomenclature and a current classification. The Coleopterists Bulletin 60:144–204.