ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม
ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ชื่อเล่น บูลย์,อากู๋ (เกิด 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2492) เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง (ร่วมกับเรวัต พุทธินันทน์) และประธานกรรมการของ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) อีกทั้งยังเป็นประธานกรรมการ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค, เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ และมูลนิธิดำรงชัยธรรมด้วย
ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม | |
---|---|
เกิด | 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 จังหวัดพระนคร ประเทศไทย |
สัญชาติ | ![]() |
ชื่ออื่น | อากู๋ แกรมมี่ |
การศึกษา | นิเทศศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาเอก Miami Christian College, United States (มหาวิทยาลัยคริสเตียนไมอามี) สหรัฐฯ |
อาชีพ |
|
ปีปฏิบัติงาน | พ.ศ. 2526–ปัจจุบัน |
นายจ้าง | ฟาร์อีสต์แอดเวอร์ไทซิง (พ.ศ. 2515-2520) พรีเมียร์มาร์เก็ตติง (พ.ศ. 2520-2526) |
องค์การ | มูลนิธิดำรงชัยธรรม |
มีชื่อเสียงจาก | ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) |
คู่สมรส | เม ดำรงชัยธรรม |
บุตร | 4 คน |
ประวัติ แก้ไข
ไพบูลย์เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 ในครอบครัวชาวจีนโพ้นทะเล ซึ่งเปิดกิจการร้านขายของชำเล็ก ๆ ในย่านเยาวราช โดยศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย แล้วเรียนต่อระดับอุดมศึกษา ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเข้าศึกษาเป็นรุ่นที่ 4 ซึ่งแม้จะเป็นนักกิจกรรมคนหนึ่งของรุ่น แต่เขาก็จบการศึกษาด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับ 1[1] ต่อมาจบการศึกษาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต หรือปริญญาเอก จาก Miami Christian College มหาวิทยาลัยไมอามีคริสเตียน สหรัฐอเมริกา[ต้องการอ้างอิง]
จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2515 ไพบูลย์เริ่มการทำงานที่ บริษัท ฟาร์อีสต์แอดเวอร์ไทซิง จำกัด ในเครือสหพัฒนพิบูล จึงมีโอกาสเรียนรู้งานกับเทียม โชควัฒนา อย่างใกล้ชิด จนกระทั่งปี พ.ศ. 2520 เขากับเพื่อนร่วมงานส่วนหนึ่งก็ลาออกมาทำงานที่ บริษัท พรีเมียร์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ในเครือโอสถสภา เป็นเวลา 7 ปี ซึ่งผลงานที่สำคัญคือ การประชาสัมพันธ์เชิงการตลาดแก่ผลิตภัณฑ์น้ำส้มสายชูกลั่น ขององค์การผลิตอาหารสำเร็จรูป (อสร.) และผลิตภัณฑ์ปลาสวรรค์ ตราทาโร่ ระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว ไพบูลย์ก็ทำงานพิเศษหลายอย่างเช่น การผลิตหนังสือที่โรงพิมพ์พิฆเนศ ร่วมกับขรรค์ชัย บุนปาน และสุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นบรรณาธิการหนังสือให้แก่บุรินทร์ วงศ์สงวน, ก่อตั้งบริษัท โฟร์เอจ จำกัด ร่วมกับเพื่อนฝูง เพื่อทำงานวิจัย สร้างสรรค์โฆษณา และสถาปัตยกรรม
ไพบูลย์สมรสกับ เม ดำรงชัยธรรม นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ชาวไต้หวัน มีบุตร 2 คน คือ ฟ้าใหม่ (ปัจจุบันเป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บจก. จีเอ็มเอ็ม มิวสิค)[2] และระฟ้า (ปัจจุบันเป็นประธานเจ้าหน้าที่การตลาดกลุ่มของบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน))[3] และธิดา 2 คนคือ อิงฟ้า และฟ้าฉาย (ปัจจุบันทั้งสองกำลังศึกษาอยู่) อนึ่ง ไพบูลย์เป็นผู้ยื่นขอจดทะเบียนก่อตั้งมูลนิธิดำรงชัยธรรม ขึ้น เพื่อให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็กไทยที่ขาดโอกาส จนได้เป็นบัณฑิตและมหาบัณฑิต รวมทั้งส่งนักศึกษาซึ่งมีผลการเรียนดีมากส่วนหนึ่งไปศึกษาต่อยังต่างประเทศด้วย
ไพบูลย์มีชื่อเรียกซึ่งเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า อากู๋ ซึ่งมีที่มาจากเลขานุการส่วนตัว วิภาพร สมคิด ธิดาของศิวลี พี่สาวของไพบูลย์ เธอจึงเป็นหลานสาวของไพบูลย์ และเรียกไพบูลย์ว่าอากู๋ อันหมายถึงน้าชาย (น้องชายของแม่) ในภาษาจีนสำเนียงแต้จิ๋ว ต่อมา เบิร์ด - ธงไชย แมคอินไตย์ ศิลปินที่มีชื่อเสียงของแกรมมี่ ซึ่งยุคแรก ๆ ทำงานใกล้ชิดกับไพบูลย์ จึงได้ยินชื่อเรียกดังกล่าวอยู่เสมอ เมื่อเบิร์ดขึ้นแสดงคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ครั้งหนึ่งแล้วพบว่าไพบูลย์มานั่งชมอยู่หน้าเวที เบิร์ดจึงกล่าวทักทายขึ้นว่า "สวัสดีพี่บูลย์ สวัสดีอากู๋" หลังจากนั้น เบิร์ดยังเอ่ยถึงชื่อเรียกนี้อีกสองสามครั้ง จึงกลายเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปในที่สุด
จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ แก้ไข
เมื่อปี พ.ศ. 2526 ไพบูลย์นำเงินที่สะสมไว้ราว 400,000-500,000 บาท มาเป็นทุนจดทะเบียนก่อตั้ง บริษัท แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน เพื่อผลิตงานดนตรีแล้วบันทึกเพื่อจำหน่าย (ค่ายเพลง) โดยร่วมกับเรวัต พุทธินันทน์ นักดนตรีซึ่งมีชื่อเสียงในยุคนั้น ซึ่งผลงานลิขสิทธิ์ชิ้นแรกของแกรมมี่ คือการผลิตเพลงชุดมหาดุริยางค์ไทย ที่ประพันธ์โดยหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) จากนั้นในปี พ.ศ. 2538 แกรมมี่ได้ระดมทุนสาธารณะและจดทะเบียนซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และในปี พ.ศ. 2544 เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)
ไพบูลย์เป็นประธานกรรมการคนปัจจุบัน และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำนวนรวม 392,834,599 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 47.91% แต่ปัจจุบันไพบูลย์และบุตร-ธิดาทั้ง 4 คน ได้ปรับโครงสร้าง โดยโอนหุ้นทั้งหมดที่ทั้ง 5 คนถืออยู่ในจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ รวม 50.25% ไปให้บริษัท ฟ้า ดำรงชัยธรรม จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นแทน[2] โดยไพบูลย์ยังคงมีเสียงส่วนใหญ่ด้วยสัดส่วนการถือหุ้นใน บจ.ฟ้า ดำรงชัยธรรม จำนวน 99% ส่วนอีก 1% ไพบูลย์ให้บุตรธิดาทั้ง 4 คนถือเท่ากันที่คนละ 0.25% เนื่องจากไพบูลย์มีอายุมากขึ้นแล้ว และต้องการจัดสรรทรัพย์สินส่วนตนให้เป็นกองกลางของครอบครัว รวมถึงตั้งธรรมนูญครอบครัวเพื่อแบ่งหน้าที่การบริหารในจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ อย่างชัดเจน[4]
อ้างอิง แก้ไข
- ↑ ประวัติการศึกษา
- ↑ 2.0 2.1 "การแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูง" (PDF). จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่. 2019-05-15. สืบค้นเมื่อ 2022-07-20.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "'ระฟ้า ดำรงชัยธรรม' หัวหอกปั้นแพลตฟอร์มออนไลน์ 'เดอะวัน เอ็นเตอร์ไพรส์' ส่งแอป oneD เจาะตลาด OTT". แบรนด์บุฟเฟต์. 2022-04-05. สืบค้นเมื่อ 2022-07-20.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "'อากู๋ ไพบูลย์' แจงโยนบิ๊กล็อต 52% หวังปรับโครงสร้างถือหุ้นมอบเป็นมรดกให้ลูก พร้อมตั้งธรรมนูญครอบครัว แบ่งหน้าที่บริหารงานชัด". เดอะสแตนดาร์ด. 2021-10-18. สืบค้นเมื่อ 2022-08-14.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์)