เทียม โชควัฒนา
ดร.เทียม โชควัฒนา ผู้ก่อตั้งและวางรากฐานกิจการในเครือสหพัฒน์ ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องอุปโภคและบริโภคที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ภายใต้ชื่อการค้า บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) (อังกฤษ: SAHA PATHANAPIBUL PUBLIC COMPANY LIMITED ชื่อย่อ:SPC) [1]
เทียม โชควัฒนา | |
---|---|
เกิด | 24 มิถุนายน พ.ศ. 2459 |
เสียชีวิต | 29 มิถุนายน พ.ศ. 2534 (75 ปี) |
สัญชาติ | ไทย |
ชื่ออื่น | เฮงเทียม แซ่ลี้ |
อาชีพ | ผู้ก่อตั้งบริษัท บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) |
ประวัติ
แก้เกิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2459 ปีมังกร (นับตามปฏิทินจีน) ชื่อเดิมคือ เฮงเทียม แซ่ลี้ เป็นบุตรคนที่ 3 จากจำนวนทั้งสิ้น 8 คน ของนายฮกเปี้ยว แซ่ลี้ และ นางสอน แซ่ลี้ บิดาเป็นชาว จีนโพ้นทะเลมาจากตำบลเตี๋ยชู้เลี้ยว อำเภอโผวเล้ง มณฑลแต้จิ๋ว ส่วนมารดานั้นเป็นลูกจีนซึ่งเกิดในเมืองไทย สมรสเมื่อตอนอายุ 17 ปี กับ นางสายพิณ โชควัฒนา มีบุตร-ธิดา ด้วยกันทั้งสิ้น 8 คน เป็นชาย 6 คน หญิง 2 คน คือ คุณบุญเอก คุณบุญปกรณ์ คุณบุณยสิทธิ คุณศิริยล คุณศิรินา คุณณรงค์ คุณบุญชัย คุณบุญเกียรติ โชควัฒนา
เริ่มการศึกษา ครั้งแรกที่โรงเรียนเผยอิง ถนนทรงวาด จนกระทั่งอายุ 15 ปี ก่อนตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนมาเป็นคนงานในร้านขายของชำของที่บ้าน และเมื่อเริ่มมีโอกาสก็ได้ไปเรียนภาคค่ำซึ่งคล้ายกับโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่
ประวัติการค้า
แก้ปี พ.ศ. 2474 ขณะนั้นอายุได้ประมาณ 15 ปี โดยเริ่มงานครั้งแรกด้วยการเป็นพนักงานในร้าน"เปียวฮะ"ของบิดาและอาๆ ซึ่งเป็นร้านค้าที่ทำการจำหน่ายสินค้าประเภท นม น้ำตาล แป้งหมี่ น้ำมัน ฯลฯ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นสินค้าที่ไทยต้องสั่งนำเข้ามาจากต่างประเทศ และไปเรียนภาคค่ำซึ่งคล้ายกับโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่ การค้าในยุคแรกของร้านค้าส่งเปียวฮะต้องติดต่อสั่งซื้อสินค้า จากบริษัทต่างชาติ อาทิเช่น บอร์เนียว มิตซุย แองโกล-ไทย ฯลฯ หรือไม่ก็ต้อง ติดต่อกันระหว่างร้านค้าแถวตลาดทรงวาดที่หนึ่งที่สั่งสินค้าเข้ามาจำหน่าย จาก สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเก๊าแล้วนำสินค้าเหล่านั้นมาเปิดบัญชีให้กับลูกค้ารายย่อยอีกต่อหนึ่ง
ในปี พ.ศ. 2484 บิดาได้แยกกิจการจากพวกอาๆ ออกมาตั้งร้าน “เฮียบฮะ” ในช่วงนี้คุณเทียมได้รับหน้าที่เป็นพนักงานติดต่อซื้อขาย และมีโอกาสได้รับทราบบัญชีและงบดุลของร้าน ในปี พ.ศ. 2485 หลังจากตั้งร้านเฮียบฮะ มาได้ 6 เดือน ก็ได้เสนอให้พี่น้องเปลี่ยนแนวทางในการทำธุรกิจ จากการขายแต่ขอหนักๆอย่างเช่น น้ำตาลที่ให้กำไรน้อย น้ำตาล 1 กระสอบ หนัก 100 กิโลกรัม ขายได้แค่ 20 สตางค์ มาเป็นการขายเสื้อกล้าม สามารถใช้มือหิ้วได้ข้างละ 10 โหล ซึ่งได้กำไร 1.50 บาท แต่บิดาไม่เห็นด้วย จากนั้นจึงตัดสินใจออกมาตั้งบริษัทของตัวเอง ที่ใช้ชื่อจีนว่า เฮียบ เซ่ง เซียง ด้วยเงินทุน 10,000 บาท ซึ่งเริ่มต้นโดยการสั่งซื้อสินค้าจากฮ่องกงมาขาย
ในปี พ.ศ. 2489 ได้เดินทางออกไปติดต่อนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาขายเอง ได้มีการโฆษณาสินค้า ต่อมาในปี พ.ศ. 2495 เฮียบ เซ่ง เซียง ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท โดยนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคนานาชนิด มาจำหน่ายในต้นทศวรรษ 2500 บริษัทฯได้เริ่มติดต่อกับบริษัทไลอ้อน ประเทศญี่ปุ่นโดยสั่งสินค้าแชมพู ยาสีฟัน และผงซักฟอกมาขาย และได้เปิดบริษัทใหม่สำหรับขายเครื่องสำอางแม็คแฟคเตอร์ ธุรกิจเครื่องสำอางในรูปแบบเคาเตอร์มีพนักงานขายหญิง หรือที่เรียกว่า “B.A.” ย่อมาจาก “Beauty Advisor” ประจำ ณ เคาเตอร์ เป็นผู้แนะนำการใช้สินค้าเครื่องสำอางในการแต่งหน้า ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าค่อนข้างใหม่สำหรับคนไทยในยุคนั้น
เริ่มต้นสั่งเครื่องจักรเข้ามาบรรจุแชมพู ต่อมาเริ่มตั้งโรงงานผลิตสินค้าต่างๆ เช่น ถุงเท้า รองเท้า ผงซักฟอก เครื่องสำอาง ปี พ.ศ. 2515 ได้จัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง “บริษัท สหพัฒนา อินเวสเมนท์” เพื่อดูแลและวางแผนการลงทุนของเครือสหพัฒนฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับโรงงาน ได้จัดซื้อพื้นที่ในภาคตะวันออกใกล้ทะเล สร้างเป็นสวนอุตสาหกรรมซึ่งซึ่งปัจจุบันเจริญเติบโตเป็นที่รู้จักของบรรดานักอุตสาหกรรมเป็นอย่างดีว่า เป็นทั้งแหล่งอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคนานาชนิด
เกียรติคุณที่ได้รับ
แก้- พ.ศ. 2528 ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตบางแสน
- พ.ศ. 2531 รางวัลเกียรติคุณนักการตลาดไทย
- พ.ศ. 2532 รางวัลนักอุตสาหกรรมไทยดีเด่น
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้เทียม โชควัฒนา ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของประเทศไทยและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของประเทศต่าง ๆ ดังนี้
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย
แก้- พ.ศ. 2525 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)[2]
- พ.ศ. 2524 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)[3]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
แก้- ญี่ปุ่น:
- พ.ศ. 2528 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์มงคลรัตน์ ชั้นที่ 3
อ้างอิง
แก้- ↑ สรุปข้อ สนเทศบริษัทจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-06-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๙ ตอนที่ ๑๘๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๙๑๖, ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๘ ตอนที่ ๒๐๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๙๖๔, ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๔
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- ฐานข้อมูลเก็บถาวร 2012-09-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ฐานข้อมูลเก็บถาวร 2012-09-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ฐานข้อมูล เก็บถาวร 2014-07-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ฐานข้อมูล เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน