ไท่ช่างหฺวัง (จีน: 太上皇; พินอิน: Tàishàng Huáng;) เป็นพระราชอิสริยยศของจักรพรรดิจีนที่สละราชสมบัติ

จักรพรรดิเฉียนหลง ไท่ช่างหฺวังพระองค์สุดท้าย

ประวัติศาสตร์

แก้

พระเจ้าอู่หลิง (武灵) แห่งแคว้นจ้าว (赵) เป็นหนึ่งในบรรดากษัตริย์จีนพระองค์แรก ๆ ที่สละราชย์ พระองค์ได้รับสมัญญาว่า พระชนก (主父)

ส่วนสมัญญาไท่ช่างหฺวังนั้น ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ฉินได้สถาปนาให้แด่พระเจ้าจฺวังเซียง (莊襄) พระราชบิดาที่สวรรคตแล้ว เป็นพระองค์แรก[1]

ต่อมาในราชวงศ์ฮั่น จักรพรรดิฮั่นไท่จู่ (漢太祖) สถาปนาพระราชอิสริยยศไท่ช่างหฺวังให้แก่หลิว ไท่กง (劉太公) พระราชบิดาที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ เพื่อแสดงพระกตัญญูภาพ และเพื่อกำหนดศักดิ์สูงต่ำระหว่างบิดากับบุตร[2]

ครั้น ค.ศ. 301 ในราชวงศ์จิ้น เกิดกบฏแปดอ๋อง (八王之亂) แล้วซือหม่า หลุน (司馬倫) ได้เถลิงราชย์โดยบีบให้จักรพรรดิฮุ่ย (惠) ออกจากบัลลังก์ไปใช้สมัญญาไท่ช่างหฺวัง[2]

ต่อมาใน ค.ศ. 471 จักรพรรดิเว่ยเซี่ยนเหวิน (獻文) แห่งแคว้นเว่ย์เหนือ (北魏) สละราชสมบัติให้แก่ทั่วป๋า หง (拓拔宏) ผู้เป็นพระราชโอรส แล้วพระองค์ได้รับสมัญญาไท่ช่างหฺวัง แต่ยังทรงกำกับราชกิจของพระโอรสต่อไปกระทั่งสวรรคตใน ค.ศ. 476

ใน ค.ศ. 577 เกา เหฺว่ย์ (高緯) แห่งราชวงศ์ฉีเหนือ (北齊) สละราชย์ให้พระโอรส คือ เกา เหิง (高恆) แล้วทรงได้รับสมัญญาไท่ช่างหฺวัง

ใน ค.ศ. 617 จักรพรรดิเกาจู่แห่งราชวงศ์ถังสถาปนาพระราชอิสริยยศนี้ให้แด่จักรพรรดิหยาง (煬) แห่งราชวงศ์สุย[2]

ใน ค.ศ. 626 เกิดเหตุการณ์ประตูเสฺวียนอู่ (玄武門之變) ซึ่งเจ้าชายหลี่ ชื่อหมิน (李世民) ประหารพระประยูรญาติตายสิ้นเพื่อขจัดคู่แข่งราชสมบัติ เป็นเหตุให้พระบิดา คือ จักรพรรดิเกาจู่แห่งราชวงศ์ถัง ยอมสละราชสมบัติให้ แล้วจักรพรรดิเกาจู่ได้สมัญญาไท่ช่างหฺวังกระทั่งสวรรคตใน ค.ศ. 635[2][3]

ต่อมาใน ค.ศ. 712 เจ้าหญิงไท่ผิง (太平) ยุยงให้จักรพรรดิถังรุ่ยจง (睿宗) แห่งราชวงศ์ถังสละราชย์ให้พระโอรสองค์ที่สาม ต่อมาคือ จักรพรรดิถังเสฺวียนจง (玄宗) แล้วจักรพรรดิรุ่ยจงได้สมัญญาไท่ช่างหฺวังกระทั่งสวรรคตในสี่ปีถัดมา

ใน ค.ศ. 756 เกิดกบฏอันชื่อ (安史之亂) จักรพรรดิเสฺวียนจงถูกกบฏขับออกจากพระนคร จึงสละราชสมบัติให้พระราชโอรสซึ่งต่อมาคือ จักรพรรดิซู่จง (肅宗) แล้วจักรพรรดิเสฺวียนจงได้สมัญญาไท่ช่างหฺวัง นับเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่ง เพราะพระองค์ได้เสวยราชสมบัติเนื่องจากไท่ช่างหฺวังสละราชย์ให้ แล้วพระองค์ก็ต้องพ้นจากราชสมบัติในฐานะไท่ช่างหฺวังเช่นกัน[4]

พระเจ้าแผ่นดินจีนพระองค์สุดท้ายที่ได้รับสมัญญาไท่ช่างหฺวัง คือ จักรพรรดิเฉียนหลง (乾隆) แห่งราชวงศ์ชิง ผู้สละราชบัลลังก์ให้แก่พระราชโอรส คือ จักรพรรดิเจียชิ่ง (嘉慶) ใน ค.ศ. 1796 เพราะไม่ต้องการครองราชย์นานกว่าพระอัยกา คือ จักรพรรดิคังซี (康熙) แต่แม้จะออกจากราชสมบัติไปแล้ว ไท่ช่างหฺวังเฉียนหลงก็ทรงควบคุมราชการงานเมืองต่อไปกระทั่งเสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1799

ในราชวงศ์ชิงนี้ยังมีกรณีที่พระบิดามีพระชนม์อยู่ แต่ไม่ได้เป็นไท่ช่างหฺวัง คือ ฉุนชินหวังอี้เซฺวียน (醇親王奕譞) พระราชบิดาของจักรพรรดิกวังซฺวี่ (光緒) จักรพรรดิหุ่นเชิดของซูสีไทเฮา (慈禧太后) กับฉุนชินหวังไจ้เฟิง (醇親王載灃) พระราชบิดาของผู่อี๋ (溥儀) หรือจักรพรรดิเซฺวียนถ่ง (宣统)

สมัยใหม่

แก้

ประเทศจีนสมัยใหม่หลัง ค.ศ. 1949 สืบมา มีการใช้สมัญญานี้อย่างเสียดสี เช่น เติ้ง เสี่ยวผิง (邓小平) ถูกเรียกว่าไท่ช่างหฺวัง เพราะมีอำนาจล้นฟ้า โดยเป็นอำนาจอย่างไม่เป็นทางการ เพราะเขามิได้ดำรงตำแหน่งใด ๆ ที่พึงใช้อำนาจเช่นนั้นได้เลย กับทั้งเขายังมีอิทธิพลมหาศาลต่อผู้นำรุ่นหลังด้วย[5]

คำนี้ยังใช้เรียกเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ในพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่ยังคอยสอดส่องยุ่งเกี่ยวการทำงานของผู้สืบตำแหน่งต่อจากตน เช่น เฉิน ยฺหวิน (陳雲) และเจียง เจ๋อหมิน (江澤民)[6][7]

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. Eisenberg, Andrew (2008). Kingship in Early Medieval China. Leiden: Brill. pp. 24–25. ISBN 9789004163812.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Eisenberg, Andrew (2008). Kingship in Early Medieval China. Leiden: Brill. p. 25. ISBN 9789004163812.
  3. Wenchsler, Howard J. (1979). "The founding of the T'ang dynasty: Kao-tsu (reign 618–26)". The Cambridge history of China, Volume 3: Sui and T'ang China, 589–906, Part 1. Cambridge: Cambridge University Press. p. 186. ISBN 0-521-21446-7.
  4. Eisenberg, Andrew (2008). Kingship in Early Medieval China. Leiden: Brill. p. 26. ISBN 9789004163812.
  5. "叶剑英与邓小平的恩怨". Duowei History. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-23. สืบค้นเมื่อ 2016-07-16.
  6. "另一"太上皇"陈云赞军队六四镇压". Canyu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 2016-07-16.
  7. "太上皇纷纷亮相,足见中共内斗惨烈 (林保华)". Radio Free Asia. October 11, 2012.