โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
หัวข้อของบทความนี้อาจไม่ผ่านแนวปฏิบัติความโดดเด่นทั่วไป (สิงหาคม 2020) |
โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์ (อังกฤษ: Princess Chulabhorn Science High School Buriram) เดิมชื่อ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์ (โรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค) (Princess Chulabhorn's College Buriram) เป็นโรงเรียนสหศึกษา รับนักเรียนประเภทประจำ สังกัดกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (ในขณะนั้น) ปัจจุบันสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาบุรีรัมย์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมายุครบ 3 รอบ วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 ปัจจุบันมี ดร.ศักดิ์อนันต์ อนันตสุข เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน
โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์ Princess Chulabhorn Science High School Buriram | |
---|---|
ที่ตั้ง | |
ข้อมูล | |
ชื่ออื่น | จภ.บร.,PCCBR,PCSHSBR |
ประเภท | โรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนวัตถุประสงค์พิเศษ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ |
คำขวัญ | รักษ์ศักดิ์ศรี มีคุณธรรม นำวิชาการ สืบสานงานพระราชดำริ |
สถาปนา | 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2536(31 ปี 156 วัน) |
ผู้ก่อตั้ง | สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี |
หน่วยงานกำกับ | กระทรวงศึกษาธิการ |
ผู้อำนวยการ | ดร.ศักดิ์อนันต์ อนันตสุข |
ระดับปีที่จัดการศึกษา | มัธยมศึกษาปีที่ 1-6 สายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ |
วิทยาเขต | บุรีรัมย์ |
สี | สีน้ำเงิน-สีแสด |
เพลง | มาร์ชจุฬาภรณราชวิทยาลัย |
ต้นไม้ | แคแสด |
เว็บไซต์ | www |
ประวัติ
แก้โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์ เป็น 1 ใน 4 โรงเรียนที่กรมสามัญศึกษา (ในขณะนั้น) จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นโรงเรียนวัตถุประสงค์พิเศษด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมายุครบ 3 รอบ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 ลำดับต่อมาทางกรมสามัญศึกษาจึงได้จัดตั้งโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยเพิ่มเติมอีก 8 โรงเรียน เพื่อเป็นการสนับสนุนให้มีการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
โรงเรียนดำเนินการรับนักเรียนครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2537 เปิดรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ชั้นละ 1 ห้องเรียน เปิดเรียนวันแรกเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2537 ซึ่งในขณะนั้นอาคารเรียน และอาคารประกอบต่างๆ อยู่ระหว่าง ดำเนินการก่อสร้างจึงใช้สถานที่เรียนชั่วคราวที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ และย้ายมาเรียนที่สถานที่ปัจจุบันเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2538
โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์ ได้รับบริจาคที่ดิน จำนวน 42 ไร่ 19 ตารางวา ตามโฉนดเลขที่ 24212, 31105, 31106, 31107 จากอดีต ฯพณฯ พรเทพ เตชะไพบูลย์ เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดตั้งโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์ ประจำเขต การศึกษา 11 โดยมี นายอุทัย นิวัตินุวงศ์ รักษาการผู้ดูแลเป็นคนแรก โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์ รับนักเรียนประเภทประจำทั้งหมด โดยรับนักเรียนในพื้นที่บริการ 6 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ มหาสารคาม สุรินทร์ ชัยภูมิ นครราชสีมา ศรีสะเกษ[1]
สัญลักษณ์โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์
แก้นามโรงเรียน
แก้นามโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์ในแรกจัดตั้งนั้นมีนามว่า โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จังหวัดบุรีรัมย์ ต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามโรงเรียนเป็นภาษาไทยใหม่จากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ว่า โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์ และเป็นภาษาอังกฤษว่า Princess Chulabhorn's College Buriram ซึ่งนับเป็นพระกรุณาธิคุณอันล้นพ้นหาประมาณมิได้ต่อโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์และบรรดาเหล่าโรงเรียนในกลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย
ต่อมาเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2552 ได้รับยกฐานะเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค จึงได้ใช้นามว่า โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์ (โรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค) และในวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 ได้รับพระอนุญาตเปลี่ยนนามโรงเรียนเป็น โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์ และเป็นภาษาอังกฤษว่า Princess Chulabhorn Science High School Buriram
ตราประจำโรงเรียน
แก้ ตราประจำโรงเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โดย ประกอบด้วย อักษร จ และ ภ อยู่ภายใต้ชฎา โดย จภ. มาจากพระนามของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารีด้านล่างเป็นแพรแถบมีข้อความว่า โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์
ในตราโรงเรียนเดิมนั้น ระบุว่าจุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์ ภายหลัง เมื่อมีการเปลึ่ยนชื่อโรงเรียน จึงได้มีการเปลี่ยนตราโรงเรียนตามประกาศข้างต้น
ต้นไม้และดอกไม้ประจำโรงเรียน
แก้แคแสด Spathodea campanulata P.Beauv. เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 15-20 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมค่อนข้างทึบ เปลือกลำต้นสีน้ำตาลเข้ม แตกเป็นร่องตามยาว ใบเป็น ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ยาวประมาณ 30-45 ซม. ใบย่อยมี 4-9 คู่ รูปรีถึงรูปไข่ ขอบใบเป็นริ้วเล็กน้อย ปลายใบแหลมและมักจะงุ้มลง มีขนเล็กน้อย มีขนาดยาว 5-12 ซม. กว้าง 2-5 ซม. ดอกเป็น ช่อตั้ง ออกที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยมีจำนวนมาก โคนกลีบดอกติดกัน ปลายแผ่เป็นรูปแตร ปลายแยกเป็น 4-5 กลีบ กลีบดอกยับย่น สีส้มแสดถึงสีแดงแสด ดอกทยอยบาน ร่วงง่าย ออกดอกราวเดือน ตุลาคม - กุมภาพันธ์ ผลแบน คล้ายฝัก ปลายแหลม ผลแก่สีน้ำตาลดำ ผลแก่จะแตกเป็นด้านเดียวเมล็ดเล็กแบนมีปีก ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด จะเริ่มให้ดอกเมื่อมีอายุประมาณ 4 - 8 ปี
สีประจำโรงเรียน
แก้- สีน้ำเงิน หมายถึง สถาบันพระมหากษัตริย์ ความแข็งแรง มั่นคง และความเคร่งครัดในระเบียบวินัย
- สีแสด หมายถึง เป็นสีประจำวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี วันพฤหัสบดีที่ ๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๐
คติพจน์ประจำโรงเรียน
แก้ปญฺญา ยตฺถํ วิปสฺสติ คนย่อมเห็นเนื้อความด้วยปัญญา
คำขวัญประจำโรงเรียน
แก้รักษ์ศักดิ์ศรี มีคุณธรรม นำวิชาการ สืบสานงานพระราชดำริ
พระพุทธรูปประจำโรงเรียน
แก้พระพุทธพิทยจุฬาภรณประทาน เป็นพระพุทธรูปปางลีลา ยกฉัตรเพิ่มโดยชมรมพุทธศาสน์
เพลงประจำโรงเรียน
แก้เพลงประจำโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์ คือ เพลงมาร์ชจุฬาภรณราชวิทยาลัย ซึ่งประพันธ์คำร้องโดยนายวิชาญ เชาวลิต และประพันธ์ทำนองโดยนายกิตติ ศรีเปารยะ โดยเพลงนี้นั้นได้รับการนำมาใช้ในพิธีสำคัญของโรงเรียนเช่น พิธีวันสถาปนาโรงเรียน พิธีรับหมวกของนักเรียนใหม่ประจำปี พิธีปัจฉิมนิเทศ "แคแสดผลัดช่อ" เป็นต้น
หอพักนักเรียน
แก้โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์ นั้นเป็นโรงเรียนประจำ นักเรียนต้องอาศัยอยู่ในหอพัก โดยมีรายชื่อที่คล้องจองไพเราะ ความหมายเข้ากับสถานที่ จะเห็นได้ว่า นอกจากโรงเรียนจะมีความโดดเด่นทางด้านวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์แล้ว ยังมีความรู้ความเข้าใจในภาษาไทยอย่างดีอีกด้วย โดยเรียงตามลำดับการสร้างดังนี้
- หอพักแก้วกัญญา : เดิมนั้นเป็นที่พักของนักเรียนชายและหญิง แต่จะแบ่งกันอยู่คนละฝั่งของอาคาร เป็นหอพักหลังแรกที่สร้างในโรงเรียนนี้ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น ปัจจุบันเป็นหอพักหญิงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 2
- หอพักอุษาวดี : เป็นหอพักหญิง สร้างพร้อมกันกับทั้ง 4 หอพัก คือ อุษาวดี ศรีกานดา ศิลป์นาคร และพรเทวัญ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 4 ชั้น แต่เดิมอยู่บริเวณฝั่งทางทิศใต้ของโรงเรียน แต่เนื่องจากมีคนร้ายลักลอบขึ้นหอพัก ทางโรงเรียนจึงให้ย้ายมาทางทิศเหนือ ซึ่งปัจจุบันย้ายกลับที่เดิมแล้ว เพราะมีการสร้างกำแพงอย่างมิดชิดและปลอดภัย
- หอพักศรีกานดา : เป็นหอพักหญิง อยู่บริเวณทิศตะวันออกของหอพักอุษาวดี ลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 4 ชั้น
- หอพักศิลป์นาคร : เป็นหอพักชาย อยู่บริเวณทิศตะวันตกของหอพักพรเทวัญ ลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 4 ชั้น
- หอพักพรเทวัญ : เป็นหอพักชาย อยู่บริเวณทิศตะวันออกของหอพักศิลป์นาคร ลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 4 ชั้น
- หอพักขวัญนารา : หอพักนักเรียนหญิงและหอพักใหม่ล่าสุด สไตล์โมเดิร์น คอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น
ทำเนียบผู้บริหาร
แก้ลำดับที่ | รายนามผู้บริหาร | ตำแหน่ง | ช่วงเวลา |
---|---|---|---|
1 | นายอุทัย นิวัฒนุวงศ์ | ผู้บริหารโรงเรียน | พ.ศ. 2537 |
2 | นายชำนาญ บุญวงศ์ | ครูใหญ่ | พ.ศ. 2537-2539 |
3 | นายกิตติศักดิ์ วิทยเดช | ครูใหญ่-อาจารย์ใหญ่-ผู้อำนวยการ | พ.ศ. 2539-2545 |
4 | นางสาวสุพัตรา เชื่อมชัยตระกูล | ผู้อำนวยการ | พ.ศ. 2545-2546 |
5 | นายฉัตรชัย ทีรฆวณิช | ผู้อำนวยการ | พ.ศ. 2546 - 30 กันยายน 2552 |
6 | นายอดุลย์ ก้อนคำใหญ่ | ผู้อำนวยการ | 1 ตุลาคม 2552 - 30 กันยายน 2556 |
7 | นายประชุม พันธุ์พงศ์ | ผู้อำนวยการ | 1 ตุลาคม 2556 - 30 กันยายน 2558 |
8 | นายศักดิ์ รุ่งแสง | ผู้อำนวยการ | 1 ตุลาคม 2558 - 4 มกราคม 2565 |
9 | นางสาวสมพิศ ผาดไธสง | รองผู้อำนวยการฯ รักษาการในตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียน | 5 มกราคม 2565 – 13 มิถุนายน 2565 |
10 | ดร.ศักดิ์อนันต์ อนันตสุข | ผู้อำนวยการ | 14 มิถุนายน 2565 - ปัจจุบัน |
ปัจจุบัน ดร.ศักดิ์อนันต์ อนันตสุข ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ และนางสาวสมพิศ ผาดไธสง ,นายฉัตรชัย วิชัยผิน ,นายอภิมุข อภัยศรี และ ว่าที่ร้อยโทปริญญา กางรัมย์ ดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการ
ระบบการเรียนการสอน
แก้ปัจจุบันโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์ จัดการเรียนการสอนแบบโรงเรียนสหศึกษา รับนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง 6 โดยรับนักเรียนประเภทอยู่ประจำ ซึ่งในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จะแบ่งเป็นระดับชั้นละ 4 ห้องเรียน มีนักเรียน 24 คนต่อห้อง ส่วนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จะแบ่งเป็นระดับชั้นละ 6 ห้องเรียน มีนักเรียน 24 คนต่อห้องเช่นกัน ซึ่งนักเรียนทุกคนเป็นผู้ได้รับทุนการศึกษาห้องเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นจำนวน 84,000 บาทต่อปี เป็นทุนผูกมัด 3 ปี
พิธีและประเพณีสำคัญของโรงเรียน
แก้- ประเพณีสักการะพระพุทธรูปปฏิมาสันตยาภิรมย์สตึกอุดมราษฎร์นิมิตมุนินทร์ (พระพุทธรูปใหญ่) และศาลเจ้าพ่อวังกรูด โดยจะจัดในช่วงการปฐมนิเทศนักเรียนใหม่ทุกปี ซึ่งพระพุทธรูปใหญ่และศาลเจ้าพ่อวังกรูดนั้นนับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของอำเภอสตึก ดังนั้นจึงเป็นประเพณีในการสักการะเพื่อฝากตัวเป็นชาวสตึกนั่นเอง
- พิธีทำบุญวันคล้ายวันสถาปนาโรงเรียน เป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อบำเพ็ญกุศลถวายเป็นพระกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ผู้เป็นองค์ปฐมแห่งการก่อตั้งโรงเรียน และเป็นการแสดงกตเวทิตารำลึกต่อบุรพาจารย์และผู้ประสิทธิ์ประศาสน์ร่วมจัดตั้งและพัฒนาโรงเรียนให้เจริญรุ่งเรืองมาจนถึงทุกวันนี้ โดยจะเป็นพิธีทำบุญในภาคเช้าของวันที่ ๔ กรกฎาคมของทุกปี
- พิธีถวายพระพรสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อถวายพระพรสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันประสูติ และนักเรียนใหม่และนักเรียนปัจจุบันทุกคนจะได้เข้าร่วมกระทำการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อเบื้องพระฉายาลักษณ์ ในวันที่ ๔ กรกฎาคมของทุกปี
- พิธีมอบหมวก เป็นพิธีที่ทางโรงเรียนจะมอบหมวกพิธีการแก่นักเรียนใหม่ เป็นการแสดงว่านักเรียนใหม่ได้เป็นนักเรียนโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์เต็มตัวแล้ว ซึ่งจะจัดพิธีนี้หลังจากพิธีถวายพระพรสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในวันที่ ๔ กรกฎาคมของทุกปี
- แคแสดคืนช่อ จภ.บร.คืนถิ่น นับว่าเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมประเพณีที่สำคัญเพราะเป็นกิจกรรมที่มีจุดประสงค์ให้นักเรียนเก่าและนักเรียนปัจจุบันได้พบปะกันตามสายรหัส ซึ่งในกิจกรรมนี้จะจัดขึ้นหลังจากพิธีถวายพระพรสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในวันที่ ๔ กรกฎาคมของทุกปี
กิจกรรมของโรงเรียน
แก้- กิจกรรมการปฐมนิเทศนักเรียนใหม่ มัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 4
- กิจกรรมค่ายส่งเสริมและพัฒนาอัจริยภาพด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
- พิธีวันคล้ายวันสถาปนาโรงเรียน และพิธีถวายพระพรสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในวันที่ 4 กรฎาคมของทุกปี
- พิธีพระราชเข็มตราสัญลักษณ์ประจำโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย
- กิจกรรมแคแสดคืนช่อ จภ.บร.คืนถิ่น เป็นกิจกรรมจับสายรหัสและให้นักเรียนเก่าได้พบปะสังสรรค์กัน
- การแข่งขันกีฬาภายในแคแสดเกมส์ (Kaesad Games) โดยมีการแบ่งคณะสีออกเป็น 4 คณะสี ได้แก่
- กิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา
- กิจกรรมวันสำคัญเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
- กิจกรรมอื่น ๆ ที่ชุมชนจัด หรือขอการสนับสนุนจากโรงเรียน
อ้างอิง
แก้- ↑ ประวัติโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์ http://pccbr.ac.th/pccbr/profile.php เก็บถาวร 2016-12-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์