โครงการทุนมหิดลวิทยาจารย์

โครงการทุนมหิดลวิทยาจารย์ (อังกฤษ: Mahidol Medical Scholars Program) เดิมชื่อโครงการผลิตอาจารย์แพทย์ อาจารย์ทันตแพทย์ และเภสัชกร (โครงการ Ph.D.-M.D./D.D.S./Pharm.D.) เป็นโครงการผลิตอาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยรับนักศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และ สัตวแพทยศาสตร์ เพื่อเข้าศึกษาระดับปริญญาเอกหลักสูตรในคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อสร้างบุคคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีความรู้ความสามารถในการวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐานการแพทย์รวมทั้งเพื่อผลิตอาจารย์ให้กับคณะ/วิทยาลัย/สถาบันในสังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล

ประวัติ แก้

การผลิตบัณฑิตในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตมีจุดประสงค์หลักเพื่อมุ่งผลิตแพทย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชวญในการรักษาผู้ป่วย ทั้งนี้ในการศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ ได้แบ่งออกเป็นสามช่วงหลัก ๆ คือ ชั้นเตรียมแพทย์ ชั้นปรีคลินิก และ ชั้นคลินิก โดยชั้นเตรียมแพทย์จะเป็นการศึกษาวิชาพื้นฐานจากคณาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และ ศิลปศาสตร์ ส่วนคณาจารย์ระดับชั้นคลินิกอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเฉพาะทางต่าง ๆ

สำหรับการศึกษาในช่วงชั้นพรีคลินิก โรงเรียนแพทย์หลาย ๆ สถาบันมีคณาจารย์ที่มีวุฒิปริญญาโทหรือปริญญาเอกในสาขานั้น ๆ มาทำการสอน ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เกิดความไม่เชื่อมโยงกันระหว่างเนื้อหาที่นักศึกษาต้องนำไปใช้ในระดับคลินิก การมีอาจารย์ที่มีคุณวุฒิทั้งแพทยศาสตรบัณฑิตและปริญญาเอกร่วมสอนด้วยในระดับปรีคลินิกจึงเป็นการเชื่อมโยงการศึกษาวิชาแพทย์ในส่วนของวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานได้ ทั้งนี้บัณฑิตแพทย์ที่สนใจจะมาเป็นอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์หรือทำงานวิจัยในด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับผู้สำเร็จการศึกษาในแต่ละปีการศึกษา ทำให้เกิดความขาดแคลนอาจารย์แพทย์และแพทย์นักวิจัย ในขณะเดียวกันคุณภาพของสถาบันแพทยศาสตร์ของไทยนอกจากความเป็นเลิศด้านการดูแลรักษาแล้ว ยังต้องมีมาตฐานการเรียนการสอนที่เป็นสากลและมีผลงานวิจัยขั้นสูง ซึ่งเกณฑ์การรับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยจะต้องมีอาจารย์ที่มีคุณวุฒิปริญญาเอกอยู่ด้วย ดังนั้น หากมิได้วางแผนเพื่อป้องกันการขาดแคลนบุคลากรในลักษณะดังกล่าว ก็จะส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนและมาตรฐานทางวิชาการในสถาบันแพทยศาสตร์ของไทยในอนาคตได้[1]

มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้เริ่มโครงการเพื่อผลิตอาจารย์แพทย์ขึ้นในปี พ.ศ. 2533 ใช้ชื่อโครงการว่า "โครงการผลิตอาจารย์แพทย์"[2] โดยมหาวิทยาลัยได้จัดทำโครงการความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยมหิดล กับ China Medical Board ในปี พ.ศ. 2532 ซึ่งมีทุนเริ่มต้น รวมทั้งสิ้น 850,000 เหรียญสหรัฐ โดยแบ่งเป็นทุนที่ได้รับเงินอุดหนุนจาก China Medical Board จำนวน 350,000 เหรียญสหรัฐ และงบประมาณสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยมหิดล 500,000 เหรียญสหรัฐ ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 เงินร่วมทุนดังกล่าวได้หมดลง มหาวิทยาลัยจึงอนุมัติให้ใช้เงินรายได้จากมหาวิทยาลัยเป็นเงินสนับสนุนในโครงการฯ จนถึงปัจจุบัน[1]

ในครั้งแรกมหาวิทยาลัยคัดเลือกนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีเด่น มีความสนใจอาชีพอาจารย์และการทำวิจัย จากนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อเข้าศึกษาในโครงการ โดยนักศึกษากลุ่มนี้จะลงทะเบียนวิชาในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตในภาคฤดูร้อน เพิ่มเติมจากการเรียนในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตปกติ เมื่อจบชั้นปีที่ 3 แล้ว นักศึกษากลุ่มนี้จะแยกออกมาศึกษาและฝึกการทำวิจัยเบื้องต้น เพื่อได้ปริญญาตรีวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากคณะวิทยาศาสตร์ จากนั้นมหาวิทยาลัยจะส่งเข้าศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาวิชาต่าง ๆ ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่นักศึกษาสนใจ เมื่อสำเร็จได้ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตแล้ว จึงกลับเข้าศึกษาในระดับชั้นคลินิกในคณะต้นสังกัดเดิมจนจบได้ปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต รวมระยะเวลาการศึกษาทั้งสิ้น 9 ถึง 12 ปี

ต่อมาโครงการได้รับนักศึกษาจากคณะอื่น ๆ ที่มีการเรียนการสอนหลักสูตรปริญญาตรี 6 ปี เช่นนักศึกษาแพทย์จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร อดีตสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหิดล เข้าศึกษาในโครงการ ในปีการศึกษา 2551 ได้รับนักศึกษาจากคณะทันตแพทยศาสตร์เข้าร่วมโครงการฯ[3] จึงมีการเปลี่ยนชื่อเป็น "โครงการผลิตอาจารย์แพทย์และอาจารย์ทันตแพทย์" และในปีการศึกษา 2558 ได้รับนักศึกษาจากคณะเภสัชศาสตร์เข้าร่วมโครงการ จึงมีการใช้ชื่อโครงการว่า "โครงการผลิตอาจารย์แพทย์ อาจารย์ทันตแพทย์ และ อาจารย์เภสัชกร"[4] ซึ่งต่อมาทางกรรมการนโยบายโครงการมีแนวคิดที่จะรับนักศึกษาจากคณะสัตวแพทยศาสตร์เข้าศึกษาในโครงการ จึงมีการเปลี่ยนชื่อโครงการเป็น "โครงการทุนมหิดลวิทยาจารย์" ดังปัจจุบัน

การศึกษา แก้

ปัจจุบันโครงการฯ มีการรับนักศึกษาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เข้าศึกษาในโครงการฯ โดยรับนักศึกษาขณะศึกษาในชั้นปีที่ 3 โดยรับนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีและสนใจทำวิจัย เมื่อนักศึกษาเข้าสู่โครงการแล้วจะเทียบโอนหลักสูตร และทำการศึกษาวิจัยเบื้องต้นเพื่อสำเร็จการศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต จากนั้นเข้าศึกษาในระดับปริญญาเอกหลักสูตรนานาชาติของส่วนงานต่าง ๆ ในสังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล โดยนักศึกษาสังกัดมหาวิทยาลัยมหิดลจะได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการ แบ่งเป็นค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าครองชีพบางส่วน ค่าวิจัย และค่าศึกษาวิจัยในต่างประเทศ[5] เมื่อสำเร็จได้ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตแล้ว จึงกลับเข้าศึกษาในระดับชั้นคลินิกในคณะต้นสังกัดเดิมจนจบได้ปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต หรือ เภสัชศาสตรบัณฑิต แล้วแต่กรณี[6]

นอกจากการรับนักศึกษาปีที่ 3 เข้าศึกษาในโครงการฯ แล้ว มหาวิทยาลัยยังได้เริ่มรับนักศึกษาเข้าศึกษาในโครงการฯ จากนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีผลงานทางวิชาการดีเด่นและทักษะภาษาอังกฤษตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด ผ่านระบบการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (TCAS) ตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 โดยเมื่อสำเร็จการศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลโดยคณะต้นสังกัดอาจพิจารณารับเข้าบรรจุเป็นอาจารย์ประจำคณะต้นสังกัด หรือ ส่วนงานอื่นในมหาวิทยาลัยมหิดล[7]

ปัจจุบันโครงการฯ มีสำเร็จการศึกษาแล้วโดยเป็นอาจารย์ประจำคณะต่าง ๆ ทั้งในมหาวิทยาลัยมหิดล และ สถาบันการศึกษาอื่น ๆ มีผู้ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา[8] ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ในปี 2556[9] นอกจากนี้ยังมีบัณฑิตจากโครงการบางส่วนเข้ารับการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางและบรรจุเป็นอาจารย์แพทย์ระดับคลินิกที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขาและความสามารถทางการวิจัย สามารถเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์พื้นฐานกับการรักษาได้เป็นอย่างดี

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 ที่มาโครงการทุนมหิดลวิทยาจารย์
  2. ชนิตรา ธุวจิตต์. ประสบการณ์ชีวิตแพทย์นักวิจัย เก็บถาวร 2021-04-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. "รายชื่อนักศึกษาทันตแพทย์ในโครงการทุนมหิดลวิทยาจารย์" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-04-15. สืบค้นเมื่อ 2020-01-16.
  4. จดหมายมหาวิทยาลัย เรื่องเปลี่ยนชื่อโครงการผลิตอาจารย์แพทย์และอาจารย์ทันตแพทย์ ลงวันที่ 11 กันยายน 2558
  5. ประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง หลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินโครงการทุนมหิดลวิทยาจารย์ พ.ศ. 2561
  6. เปรียบเทียบระยะเวลาการศึกษา
  7. รายละเอียดการรับนักศึกษาโครงการมหิดลวิทยาจารย์ในระบบ TCAS รอบ 2
  8. "โครงการคัดเลือกผู้แทนเข้าร่วมการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-17. สืบค้นเมื่อ 2020-01-16.
  9. หอเกียรติยศนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล

แหล่งข้อมูลอื่น แก้