แผลเก่า (ภาพยนตร์ พ.ศ. 2520)
แผลเก่า เป็นภาพยนตร์ไทยแนวรักชีวิต ที่ออกฉายเมื่อปี พ.ศ. 2520 เป็นภาพยนตร์ฟิล์ม 70 มม.สีอีสต์แมน เสียงพากย์ในฟิล์ม กำกับโดยเชิด ทรงศรี สร้างจากนวนิยายชื่อเดียวกันของ ไม้ เมืองเดิม หรือก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา นำแสดงโดยสรพงศ์ ชาตรี และนันทนา เงากระจ่าง รับบทชาวนา 2 คนในชนบทของประเทศไทย ในเรื่องราวความสัมพันธ์แสนโรแมนติกที่น่าเศร้า โปสเตอร์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ออกแบบโดยช่วง มูลพินิจ และใช้คำโฆษณาหนังว่า "เราจักสำแดงความเป็นไทยต่อโลก" ในช่วงแรกเนื่องจากเป็นภาพยนตร์แนวย้อนยุค ในขณะที่ผู้สร้างส่วนใหญ่นิยมสร้างภาพยนตร์ร่วมสมัย จึงไม่มีตัวแทนจำหน่ายหรือสายหนังรายใดสนใจเลย แต่เมื่อออกฉายปรากฏว่าเป็นที่นิยม
แผลเก่า | |
---|---|
![]() นันทนา เงากระจ่าง จากภาพยนตร์เรื่อง "แผลเก่า" | |
กำกับ | เชิด ทรงศรี |
ผู้ช่วยผู้กำกับ | ยุทธนา มุกดาสนิท |
บทภาพยนตร์ | รพีพร (สุวัฒน์ วรดิลก) ธม ธาตรี (เชิด ทรงศรี) |
สร้างจาก | แผลเก่า โดย ไม้ เมืองเดิม |
อำนวยการสร้าง | ธมจันท์ ธันยฉัตร |
นักแสดงนำ |
|
กำกับภาพ |
|
ดนตรีประกอบ | เสรี หวังในธรรม |
บริษัทผู้สร้าง | เชิดไชยภาพยนตร์ |
ผู้จัดจำหน่าย | สหมงคลฟิล์ม |
วันฉาย | 24 ธันวาคม 2520 |
ความยาว | 130 นาที |
ประเทศ | ![]() |
ภาษา | ไทย |
ทำเงิน | 13 ล้านบาท |
ข้อมูลจาก IMDb |
ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็น 1 ในภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดในบ็อกซ์ออฟฟิศในช่วงเวลาที่ออกฉาย โดยทำรายได้ 13 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นสถิติในขณะนั้น[1][2] และภาพยนตร์ได้รับรางวัลพระสุรัสวดี สาขาบทประพันธ์ยอดเยี่ยมและรางวัลเครื่องแต่งกายและแต่งหน้ายอดเยี่ยม รวมทั้งโล่เกียรติยศภาพยนตร์ที่เชิดชูเอกลักษณ์ไทยยอดเยี่ยมจากพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการแปลงเป็นดิจิทัลและบูรณะโดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) และออกฉายอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2561[1]
เนื้อเรื่อง
แก้ในปี 2479 ที่ทุ่งบางกะปิ ขณะนั้นไม่มีอะไรนอกจากนาข้าวและหมู่บ้านเกษตรกรรมเล็ก ๆ ขวัญ (สรพงศ์) และเรียม (นันทนา) เป็นบุตรชายและบุตรสาวของผู้ใหญ่เขียน (ส.อาสนจินดา) และกำนันเรือง ที่เป็นคู่อริกันพวกเขาทั้งสองปลูกข้าวในนาพร้อมกับควายของพวกเขา เรียมไม่ชอบการเกี้ยวพาราสีของขวัญ แต่ขวัญ ชายหนุ่มร่าเริงที่ชอบร้องเพลงและเป่าขลุ่ยไม้ไผ่ก็ไม่สนใจ ขวัญสาบานต่อหน้าศาลเจ้าพ่อไทรริมฝั่งแม่น้ำว่าจะรักและซื่อสัตย์ต่อเรียมตลอดไป
กำนันเรือง (สุวิน) พ่อของเรียมไม่เห็นด้วยกับความสัมพันธ์นี้ เขาอยากให้เรียมแต่งงานกับจ้อย (เศรษฐา) ลูกชายเศรษฐีในท้องถิ่น ตาเรือง เริญ (กิตติ) พี่ชายเรียม จ้อย และคนอื่น ๆ ออกตามหาขวัญและเรียม การต่อสู้ด้วยดาบช่วงสั้น ๆ เกิดขึ้น และขวัญก็ถูกดาบฟันโดยเริญ บาดแผลที่ด้านข้างศีรษะของขวัญในที่สุดก็กลายเป็นแผลเป็นที่เห็นได้ชัดเจน ซึ่งขวัญบอกว่าเป็นเครื่องหมายแสดงความรักที่เขามีต่อเรียม
ที่บ้าน เรียมถูกล่ามโซ่ไว้ในห้องเก็บของตามคำสั่งของตาเรือง ตาเรืองจึงตัดสินใจส่งเรียมไปที่กรุงเทพฯ ซึ่งเธอถูกขายไปเป็นคนใช้ให้กับคุณนายทองคำ (สุพรรณ) เจ้าหนี้ผู้ถือโฉนดที่ดินของเรือง เมื่อคุณนายทองคำเห็นหน้าเรียมก็รู้สึกประทับใจกับความคล้ายคลึงของเรียมกับโฉมยงลูกสาวที่เสียชีวิตไปแล้ว แทนที่จะทำงานเป็นคนรับใช้ เรียมกลับกลายเป็นลูกสาวบุญธรรมของคุณนายทองคำ ซึ่งมอบเสื้อผ้าสไตล์ตะวันตกให้กับเรียมและแนะนำให้เธอรู้จักกับสังคมชั้นสูงในกรุงเทพฯ รวมถึงสมชาย (ชลิต) ลูกชายของเศรษฐีผู้มั่งคั่ง
ขวัญเริ่มหมดหวัง ผู้ใหญ่เขียนผู้เป็นพ่อจึงชวนขวัญบวชเพื่อชะล้างโชคร้าย ขวัญไปดื่มน้ำแล้วเห็นเลือดอยู่ในหม้อน้ำ จากนั้นเขาก็ทรุดตัวลงและขอโทษพ่อของเขาที่เนรคุณ และสัญญาว่าจะบวชในวันรุ่งขึ้น "ถ้ายังมีชีวิตอยู่"
หลังจากได้ยินว่า เริ่ม (ศรินทิพย์) แม่ของเธอใกล้จะตาย เรียมก็กลับมาบ้านโดยเรือของสมชาย เรียมมาเห็นแม่ตายและจัดงานศพขึ้น ขวัญมาไว้อาลัยเป็นครั้งสุดท้าย และเรียมตกลงที่จะพบเขาในวันรุ่งขึ้นตอนเที่ยงที่ศาลเจ้าพ่อไทร
วันรุ่งขึ้น ขวัญจุดไฟเผาเรือของสมชายเพื่อป้องกันไม่ให้เรียมจากไปโดยไม่ได้พบเขา ขวัญถูกสมชาย กำนันเรือง และเริญตามล่า สมชายพบขวัญและใช้ปืนพกยิงเข้าที่หน้าอก ขวัญที่บาดเจ็บสาหัสว่ายน้ำไปยังศาลเจ้าพ่อไทรก่อนที่จะฝากให้เจ้าพ่อไทรช่วยดูแลคุ้มครองพ่อและแทงตัวเองตาย เรียมจึงกระโดดลงน้ำและว่ายตามไปคว้ามีดจากมือขวัญแทงตัวเองตายพร้อมกับรักแท้ของเธอที่หน้าศาลเจ้าพ่อไทร
นักแสดง
แก้- สรพงศ์ ชาตรี รับบท ไอ้ขวัญ
- นันทนา เงากระจ่าง รับบท เรียม
- ส. อาสนจินดา รับบท ผู้ใหญ่เขียน (พ่อขวัญ)
- สุพรรณ บูรณพิมพ์ รับบท คุณนายทองคำ
- ศรินทิพย์ ศิริวรรณ รับบท แม่เริ่ม (แม่เรียม)
- เศรษฐา ศิระฉายา รับบท จ้อย
- กิตติ ดัสกร รับบท เริญ
- สุวิน สว่างรัตน์ รับบท กำนันเรือง (พ่อเรียม)
- ชลิต เฟื่องอารมย์ รับบท สมชาย
เพลงประกอบ
แก้- รายชื่อเพลง
ลำดับ | ชื่อเพลง | เนื้อเพลง | ขับร้องโดย | ยาว |
---|---|---|---|---|
1. | "ขวัญเรียม" | พรานบูรพ์ (จวงจันทร์ จันทร์คณา) | ผ่องศรี วรนุช | |
2. | "สั่งเรียม" | พรานบูรพ์ (จวงจันทร์ จันทร์คณา) | ไพรวัลย์ ลูกเพชร, ผ่องศรี วรนุช | |
3. | "เคียงเรียม" | พรานบูรพ์ (จวงจันทร์ จันทร์คณา) | ไพรวัลย์ ลูกเพชร | |
4. | "แสนแสบ" | ชาลี อินทรวิจิตร | ไพรวัลย์ ลูกเพชร | |
5. | "ลำนำแผลเก่า" | ธม ธาตรี (เชิด ทรงศรี) | ไพรวัลย์ ลูกเพชร | |
6. | "เพลงเหย่อง" | ร้องหมู่ | ||
7. | "ลำนำแผลเก่า" | ธม ธาตรี (เชิด ทรงศรี) | ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา | |
8. | "เคียงเรียม" | พรานบูรพ์ (จวงจันทร์ จันทร์คณา) | ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา | |
9. | "วอลท์ซปลื้มจิต" | พรานบูรพ์ (จวงจันทร์ จันทร์คณา) | ประทุม ประทีปะเสน | |
10. | "กุหลาบเขียว" | สวลี ผกาพันธุ์ |
รางวัลและเกียรติคุณ
แก้- พ.ศ. 2520 - ได้รับรางวัลพระสุรัสวดี สาขาบทประพันธ์ยอดเยี่ยมและรางวัลเครื่องแต่งกายและแต่งหน้ายอดเยี่ยมจากการประกวดในประเทศ รวมทั้งโล่เกียรติยศภาพยนตร์ที่เชิดชูเอกลักษณ์ไทยยอดเยี่ยมจากพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
- พ.ศ. 2524 - ได้รับรางวัลกรังด์ปรีซ์จากการประกวดภาพยนตร์ในงาน Festival des 3 Continents เมืองน็องต์ ประเทศฝรั่งเศส
- พ.ศ. 2541 - ได้รับเลือกจากหอภาพยนตร์และโทรทัศน์แห่งชาติของประเทศอังกฤษ (National Film and Television Archive) ร่วมกับนิตยสาร Sight and Sound ของสถาบันภาพยนตร์อังกฤษ (British Film Institute) และผู้กำกับภาพยนตร์และนักวิจารณ์ภาพยนตร์จากทั่วโลก ให้เป็น 1 ใน 360 ภาพยนตร์คลาสสิคของโลก โดยมีการประกาศผลเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2544
- พ.ศ. 2548 - หอภาพยนตร์แห่งชาติ จัดตั้งโครงการ 100 ภาพยนตร์ไทยที่คนไทยควรดู ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 100 ภาพยนตร์ไทยที่คนไทยควรดู โดยจัดฉายวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 พร้อมกับภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ในโครงการ [3]
- พ.ศ. 2550 - มูลนิธิหนังไทยร่วมกับหอภาพยนตร์แห่งชาติ นำผลงานภาพยนตร์ของเชิด ทรงศรี จำนวน 5 เรื่อง รวมทั้งแผลเก่า มาจัดฉายอีกครั้งในระหว่างวันที่ 21 – 30 กันยายน พ.ศ. 2550 เพื่อนำรายได้ไปจัดสร้างประติมากรรมขนาดเท่าตัวจริงของเชิด ทรงศรี เพื่อจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย หอภาพยนตร์แห่งชาติ ศาลายา[4]
- พ.ศ. 2554 - ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับคัดเลือกให้เป็นภาพยนตร์ไทย 1 ในจำนวน 25 เรื่องที่ได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ โดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) [5][6]
- พ.ศ. 2561 - หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้นำภาพยนตร์เรื่องนี้กลับมาฉายอีกครั้งในโครงการ "ทึ่ง....หนังโลก" ฉายในวันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน 2561 เวลา 20.00 น. ที่โรงภาพยนตร์สกาล่า ฉายด้วยระบบดิจิตอล DCP โดยหอภาพยนตร์ฯทำการบูรณะร่วมกับแลปฟิล์มที่ประเทศอิตาลี โดยต้นฉบับหนังดังกล่าว มาจากฟิล์มเนกาทีฟของคุณเชิดทรงศรี ซึ่งเคยมอบให้กับหอภาพยนตร์ตั้งแต่ปี 2531 [1]
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 Rithdee, Kong (19 September 2018). "The pastoral romance returns". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 19 September 2018.
- ↑ Director profile เก็บถาวร 2006-06-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, MovieSeer, retrieved 2007-01-12.
- ↑ "100 ภาพยนตร์ไทยที่คนไทยควรดู ฉายตลอดปี". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-06. สืบค้นเมื่อ 2016-03-06.
- ↑ "สัปดาห์ภาพยนตร์ เชิด ทรงศรี "ผู้สำแดงความเป็นไทยต่อโลก"". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2016-03-04.
- ↑ วธ.ตีทะเบียนหนังไทยชื่อดัง 25 เรื่อง เป็นมรดกชาติปี 54 ข่าวไทยรัฐออนไลน์.
- ↑ มรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 1