เรือประจัญบานชั้นยามาโตะ
เรือประจัญบานชั้นยามาโตะ (ญี่ปุ่น: 大和型戦艦; โรมาจิ: Yamato-gata senkan) เป็นเรือประจัญบานของกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่น (IJN) ดำเนินการจัดสร้างขึ้นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยระวางขับน้ำเต็มที่ถึง 72,000 ตัน ทำให้ยะมะโตะเป็นชั้นเรือประจัญบานที่ใหญ่ที่สุดและติดอาวุธหนักที่สุดเท่าที่เคยสร้างมา เรือชั้นนี้ติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 460 มม. (18.1 นิ้ว) 9 กระบอกซึ่งเป็นปืนขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มีการติดตั้งให้กับเรือรบ กระสุนปืนของแต่ละกระบอกหนัก 1,360 กก. มีพิสัยการยิงไกลกว่า 42 กม. เรือประจัญบานของชั้นนี้สร้างแล้วเสร็จตามแผน 2 ลำ (ยามาโตะ และ มูซาชิ) ส่วนลำที่ 3 (ชินะโนะ) ถูกดัดแปลงเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินระหว่างการก่อสร้าง
ยามาโตะ ค.ศ. 1941
| |
ชั้นเรือโดยสรุป | |
---|---|
สร้างที่: | อู่ทหารเรือคูเระ อู่ทหารเรือโยโกซูกะ อู่เรือนางาซากิมิตซูบิชิ |
ผู้ใช้งาน: | กองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่น |
ชั้นก่อนหน้า: | ชั้นนะงะโตะ (สร้างจริง) ชั้นหมายเลข 13 (แผนที่จะสร้าง) |
ราคา: | 250,000,897 เยน[1] |
สร้างเมื่อ: | 1937–1942 |
ปฎิบัติหน้าที่: | 1941–1945 |
แผนที่จะสร้าง: | 5 |
สร้างเสร็จ: | 3 (เรือประจัญบาน 2 ลำ, แปลงเป็นเรือบรรทุกเครื่องบิน 1 ลำ) |
ยกเลิก: | 2 |
สูญเสีย: | 3 |
ลักษณะเฉพาะ ตามแบบสุดท้าย (A-140F6) | |
ประเภท: | เรือประจัญบาน |
ขนาด (ระวางขับน้ำ): |
68,200 ตัน[A 1] (ทดสอบ) 69,988 ตัน (มาตรฐาน) [2] 72,000 ตัน (เต็มที่) [2] |
ความยาว: |
256 ม. (แนวน้ำ) [3] 263 ม. (ตลอดลำ) [3] |
ความกว้าง: | 38.9 ม.[3] |
กินน้ำลึก: | 10.4 ม. |
ระบบพลังงาน: |
หม้อน้ำแบบคัมปง 12 หม้อ ขับกังหันไอน้ำ 4 กังหัน 150,000 แรงม้า (110 MW) [3] |
ระบบขับเคลื่อน: |
ใบจักร 4 พวง พวงละ 3 กลีบ เส้นผ่านศูนย์กลาง 6 เมตร |
ความเร็ว: | 27 นอต (50 กม./ชม.) [3] |
พิสัยเชื้อเพลิง: | 7,200 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 16 นอต[3] |
อัตราเต็มที่: | 2,767 นาย[4] |
ยุทโธปกรณ์: |
9 x 46.0-เซนติเมตร (18.1 นิ้ว) (3×3) [2] 6 × 15.5 ซm (6.1 in) (2×3) [2] 12 × 12.7 ซm (5 in) (6×2) [2] 24 × 25 มม. (0.98 นิ้ว) AA (8×3) 26 × 13 มม. (0.51 นิ้ว) AA (2×2) [5] |
เกราะ: |
• หน้าป้อมปืนหลัก 650 มม. (26 นิ้ว) [5] • เกราะข้าง 410 มม. (16 นิ้ว) (มูซาชิ-400 มม. (16 นิ้ว)) [5] เอียง 20 องศา • ดาดฟ้าเรือ (75%) 200 มม. (8 นิ้ว) • ดาดฟ้าเรือ (25%) 230 มม. (9 นิ้ว) [5] |
อากาศยาน: |
7 (ยะมะโตะ, มูซาชิ) 47 (ชินะโนะ) |
อุปกรณ์สนับสนุนการบิน: | เครื่องดีด 2 เครื่อง (ยะมะโตะ, มูซาชิ) |
จากภัยคุกคามจากเรือดำน้ำและเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐอเมริกา ทำให้ทั้งยะมะโตะและมูซาชิใช้เวลาส่วนใหญ่ในฐานทัพเรือที่ประเทศบรูไน, ทรูก (Truk), และ คุเระ (Kure) โดยจัดวางกำลังหลายโอกาสเพื่อรับมือกับการตีโฉบฉวย (raid) ฐานทัพญี่ปุ่นของสหรัฐ ก่อนเข้าร่วมในยุทธนาวีอ่าวเลย์เต โดยอยู่ในกองกำลังกลางใต้บังคับบัญชาของพลเรือเอกคุริตะ (Kurita) มูซาชิอับปางลงระหว่างการรบกับเครื่องบินจากเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐ ชินะโนะจมลงใน 10 วันหลังจากการขึ้นระวางในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1944 โดยเรือดำน้ำ ยูเอสเอส อาร์เชอร์-ฟิช (USS Archer-Fish) ส่วนยะมะโตะอับปางจมลงในเดือนเมษายน ค.ศ. 1945 ระหว่างปฏิบัติการเท็งโง
วันก่อนที่ฝ่ายสัมพันธมิตรเข้ายึดครองญี่ปุ่น นายทหารหน่วยรบพิเศษของกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นได้ทำลายบันทึก ภาพวาด และรูปถ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรือประจัญบานชั้นยะมะโตะไปเกือบทั้งหมด เหลือแต่เพียงบันทึกลักษณะและเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ไม่สมบูรณ์ครบถ้วน การทำลายเอกสารมีผลอย่างมาก จนถึง ค.ศ. 1948 ภาพถ่ายของยะมะโตะและมูซาชิมีเพียงที่ถ่ายโดยเครื่องบินของกองทัพเรือสหรัฐที่มีส่วนในการโจมตีเรือรบทั้งสองเท่านั้น แม้จะมีรูปถ่ายและข้อมูลจากเอกสารที่เหลือรอดมาจากการทำลายถูกเปิดเผยมาบ้างเมื่อเวลาผ่านไป แต่การสูญเสียบันทึกส่วนสำคัญทำให้การศึกษาเรือประจัญบานชั้นยะมะโตะเป็นไปค่อนข้างยากยิ่ง[6][7] เพราะจากการขาดเอกสารข้อมูลนี่เอง ทำให้ข้อมูลส่วนใหญ่เกี่ยวกับยะมะโตะนั้น มาจากการสัมภาษณ์นายทหารญี่ปุ่นหลังญี่ปุ่นยอมจำนน[8]
ประวัติ
แก้การออกแบบเรือประจัญบานชั้นยะมะโตะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นจากการเคลื่อนไหวที่ต้องการขยายดินแดน (expansionist) ภายในรัฐบาลญี่ปุ่น อำนาจอุตสหกรรมของญี่ปุ่น และความต้องการกองทัพเรืออันทรงพลังเพียงพอจะคุกคามประเทศที่มีแนวโน้มเป็นคู่แข่งได้[9]
หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งสงบลง กองทัพเรือหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และจักรวรรดิญี่ปุ่น ได้มีโครงการที่จะก่อสร้างและขยายกองทัพอย่างต่อเนื่องในระหว่างสงครามโลกครั้งนั้น ด้วยค่าใช้จ่ายมหาศาลที่เป็นผลจากโครงการดังกล่าว กดดันให้บรรดาผู้นำรัฐบาลเริ่มประชุมลดอาวุธ วันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1921 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา ชาร์ลส์ อีแวนส์ ฮิวส์ (Charles Evans Hughes) ได้เชิญคณะผู้แทนจากประเทศมหาอำนาจทางทะเล ซึ่งประกอบด้วย ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร มายังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อประชุมหารือถึงความเป็นไปได้ในการยุติการแข่งขันนาวิกานุภาพ ซึ่งรวมถึงการลดขนาดและอาวุธของกองทัพเรือ ผลการประชุมรัฐนาวีวอชิงตันในเวลาต่อมาได้ข้อสรุปเป็นสนธิสัญญารัฐนาวีวอชิงตัน (Washington Naval Treaty) ในบรรดาข้อกำหนดจำนวนมากนั้น มีการจำกัดมาตรฐานระวางขับน้ำของเรือรบที่จะสร้างขึ้นใหม่ในอนาคตเป็น 35,000 ตัน และขนาดลำกล้องปืนใหญ่ไม่เกิน 16 นิ้ว (406 มม.) ทั้ง 5 ประเทศตกลงที่จะไม่สร้างเรือหลวงเพิ่มเป็นเวลา 10 ปีและไม่แทนที่เรืออื่นที่สร้างก่อนสนธิสัญญาจนกว่าเรือมีอายุอย่างน้อย 20 ปี[10][11]
ในคริสต์ทศวรรษที่ 1930 รัฐบาลญี่ปุ่นได้เริ่มเปลี่ยนไปสู่ความเป็นชาตินิยมอย่างเข้มข้น[12] การเคลื่อนไหวนี้เรียกร้องให้มีการขยายตัวของจักรวรรดิญี่ปุ่นออกไปสู่มหาสมุทรแปซิฟิกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การที่จะผดุงจักรวรรดิที่กว้างใหญ่ที่มีระยะถึง 4,800 กม. จากประเทศจีนถึงหมู่เกาะมิดเวย์ จำต้องมีกองเรือขนาดใหญ่จึงจะควบคุมดินแดนญี่ปุ่นได้[13] แม้ว่าเรือประจัญบานทั้งหมดของญี่ปุ่นที่สร้างก่อนชั้นยะมะโตะจะสร้างเสร็จสิ้นก่อนปี ค.ศ. 1921 โดยตามข้อตกลงในสนธิสัญญานาวีวอชิงตันที่ห้ามปรับปรุงเรือที่สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่ทั้งหมดก็ถูกบรณะหรือปรับปรุงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองในช่วงในคริสต์ทศวรรษที่ 1930[14] ในการปรับปรุงนี้ยังรวมไปถึงความเร็วและอำนาจการยิงที่ญี่ปุ่นมีจุดประสงค์เพื่อใช้ในการพิชิตและปกป้องในความทะเยอทะยานที่จะเป็นจักรวรรดิ[15] เมื่อญี่ปุ่นถอนตัวออกจากสันนิบาตชาติในปี ค.ศ. 1934 จากกรณีมุกเดน และประกาศยกเลิกสนธิสัญญาทั้งหมดที่ญี่ปุ่นเคยทำไว้[16] ทำให้การออกแบบเรือประจัญบานไม่ถูกจำกัดตามสนธิสัญญาและสามารถสร้างเรือรบที่มีขนาดใหญ่กว่าประเทศมหาอำนาจทางทะเลอื่นๆ[17]
ญี่ปุ่นซึ่งต้องการรักษาอาณานิคมที่ผลิตทรัพยากรไว้ทำให้นำไปสู่ความเป็นไปได้ของการเผชิญหน้ากับสหรัฐอเมริกา[18] สหรัฐอเมริกาได้กลายเป็นคู่แข่งที่มีศักยภาพอันดับแรกของญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามสหรัฐอเมริกาก็มีอำนาจทางอุตสาหกรรมมากกว่าญี่ปุ่นซึ่งคิด 32.2% ของการผลิตภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกเมื่อเทียบกับญี่ปุ่นคือ 3.5% ของการผลิตทั่วโลก[19] นอกจากนี้ สมาชิกคนสำคัญหลายคนของรัฐสภาคองเกรสแห่งสหรัฐอเมริกายังสัญญาว่า "จะเอาชนะญี่ปุ่นในการแข่งขันด้านนาวีด้วยอัตราส่วนสามต่อหนึ่ง"[20] ดังนั้น อำนาจทางอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นจึงไม่มีหวังที่จะแข่งขันชิงชัยกับสหรัฐอเมริกาได้[9] ด้วยเหตุนี้ เงื่อนไขการออกแบบเรือประจัญบานลำใหม่จึงต้องเหนือกว่าแบบลำต่อลำเมื่อเทียบกับเรือของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาในเรือแบบเดียวกัน[21] เรือประจัญบานที่ออกแบบแต่ละลำต้องมีความสามารถในการต่อสู้กับเรือหลวงฝ่ายศัตรูได้พร้อมกันทีละหลายลำ และต้องไม่มีค่าใช้จ่ายมากเท่ากับสหรัฐอเมริกาในการสร้างเรือประจัญบาน[9] ผู้บัญชากองทัพบกและกองทัพเรือของญี่ปุ่นจำนวนมากหวังว่าเรือเหล่านี้จะขู่ขวัญสหรัฐอเมริกาในเข้าระงับการรุกรานในมหาสมุทรแปซิฟิกของญี่ปุ่น[22]
การออกแบบ
แก้การวางแผนสร้างชั้นเรือประจัญบานใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นหลังจากญี่ปุ่นได้ออกจากสันนิบาตชาติและประกาศยกเลิกสนธิสัญญานาวิกวอชิงตันและสัญญารัฐนาวีกรุงลอนดอน จากปี ค.ศ. 1934 ถึง 1936 แบบเรือขั้นต้น 24 แบบก็เสร็จสิ้น แบบขั้นต้นนี้แตกต่างกันอย่างมากในเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ การขับเคลื่อน ระยะทำการ และเกราะ หมู่ปืนหลักมีขนาดอยู่ระหว่าง 460 มม. (18.1 นิ้ว) และ 410 มม. (16 นิ้ว) ขณะที่อาวุธรองประกอบด้วยปืนที่ขนาดต่างกันไม่ว่าเป็น 155 มม. (6.1 นิ้ว) 127 มม. (5.0 นิ้ว) และ 25 มม. (0.98 นิ้ว) การขับเคลื่อนส่วนมากออกแบบให้เป็นเครื่องยนต์ลูกผสมระหว่างเครื่องยนต์ดีเซลและกังหันไอน้ำ มีหนึ่งแบบใช้เครื่องยนต์ดีเซลเพียงอย่างเดียวและที่เหลือใช้กังหันไอน้ำเพียงอย่างเดียว ระยะทำการที่ความเร็ว 18 นอต (33 กม./ชม.) ต่ำที่สุดคือ 6,000 ไมล์ทะเลในแบบ A-140-J2 ถึงสูงสุด 9,200 ไมล์ทะเลในแบบ A-140A และ A-140-B2 เกราะต่างกันไประหว่างสามารถป้องกันปืนใหญ่ 410 มม.ถึง 460 มม.[23]
หลังจากการพิจารณาทบทวนก็ได้เลือก 2 แบบจาก 24 แบบคือแบบ A-140-F3 และ A-140-F4 ความแตกต่างที่สำคัญคือระยะทำการ (4,900 ไมล์ทะเลกับ 7,200 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 16 นอต) แบบทั้งถูกนำมาศึกษาในข้อมูลข้นต้นครั้งสุดท้ายซึ่งแล้วเสร็จในวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1936 มีการปรับปรุงแบบขั้นสุดท้ายในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1937[24] โดยพลเรือตรี ฟุกุดะ เคนจิ (Fukuda Keiji) [25] มีระยะทำการ 7,200 ไมล์ทะเลจากการตัดสินใจครั้งสุดท้าย และยกเลิกเครื่องยนต์ลูกผสมดีเซลกับกังหันไอน้ำไปใช้แค่เพียงกังหันไอน้ำ การยกเลิกเครื่องยนต์ดีเซลจากแบบแปลนของเรือนั้นเนื่องมาจากปัญหากับเครื่องยนต์บนเรือพี่เลี้ยงเรือดำน้ำชั้น ไทเงอิ (Taigei) [24] ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ที่คล้ายกันกับเครื่องยนต์ที่จะติดตั้งบนเรือประจัญบานชั้นใหม่ เครื่องยนต์นั้นต้องการ "การซ่อมแซมอย่างมากและการบำรุงรักษาบ่อยครั้ง"[26] เพื่อให้เครื่องยนต์สามารถทำงานได้สาเหตุเกิดจาก "ข้อบกพร่องในการออกแบบขั้นพื้นฐาน"[26] นอกจากนี้หากเครื่องยนต์เกิดเสียไม่สามารถซ่อมแซมได้ เกราะป้องกันหนา 200 มม.ที่ใช้ปกป้องพื้นที่บริเวณนี้จะกลายเป็นตัวขัดขวางในการที่จะเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่แทนที่เครื่องเก่า[27]
แบบสุดท้ายมีมาตรฐานระวางขับน้ำ 64,000 ตัน มีระวางขับน้ำเต็มที่ 69,988 ตัน[28] ทำให้เป็นแบบชั้นเรือประจัญบานที่ใหญ่ที่สุดและเป็นเรือประจัญบานที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการสร้างมา ปืนใหญ่หลักในแบบเป็นปืนขนาด 460 มม. 9 กระบอก แบ่งเป็น 3 ป้อม ป้อมละ 3 กระบอกซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าเรือพิฆาตในยุคคริสต์ทศวรรษที่ 1930[25] แบบได้รับการอนุมัติอย่างรวดเร็วจากผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่น[29] มีเสียงคัดค้านจำนวนมากจากนักบินของกองทัพเรือซึ่งต้องการให้สร้างเรือบรรทุกอากาศยานมากกว่าที่จะสร้างเรือประจัญบาน[30][A 2] ในท้ายที่สุด เรือประจัญบานชั้นยะมะโตะมีแผนการจะสร้างทั้งสิ้น 5 ลำ[9]
เรือในชั้น
แก้ถึงแม้ว่าจะมีการวางแผนสร้างเรือประจัญบานชั้นยะมะโตะไว้ทั้งสิ้น 5 ลำใน ค.ศ. 1937 แต่ก็สร้างเสร็จสมบูรณ์เพียง 3 ลำโดยเป็นเรือประจัญบาน 2 ลำและเรือบรรทุกอากาศยาน 1 ลำ การสร้างเรือทั้งสามเป็นความลับสุดยอดเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ข่าวกรองของอเมริการู้ถึงการดำรงอยู่และข้อมูลลักษณะของเรือ[9] ในข้อเท็จจริงแล้ว สำนักข่าวกรองทหารเรือของสหรัฐอเมริการู้แต่เพียงชื่อของ ยะมะโตะ และ มูซาชิ ในตอนปลายของปี ค.ศ. 1942 ในช่วงแรกนี้สมมติฐานของสำนักข่าวกรองในลักษณะรายละเอียดของเรือค่อนข้างไกลจากความจริงมาก พวกเขาคาดเดาความยาวของเรือได้ถูกต้อง คาดคะเนความกว้างไว้ 110 ฟุต (กว้างจริง 127 ฟุต) และระวางขับน้ำ 40,000–57,000 ตัน (ความเป็นจริง 69,000 ตัน) นอกจากนี้ยังคาดว่าป้อมปืนหลักของเรือประจัญบานชั้นยะมะโตะทั้ง 9 กระบอกมีขนาด 16 นิ้วซึ่งกว่าจะรู้ถึงความจริงก็ถึงปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1945 สี่เดือนหลังจากยะมะโตะอับปาง[31][32] ทั้ง Jane's Fighting Ships และสื่อตะวันตกได้รายงานถึงลักษณะเรือผิดพลาด ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1944 Jane's Fighting Ships ได้ลงรายการระวางขับน้ำของยะมะโตะและมูซาชิเป็น 45,000 ตัน[33] ทั้ง นิวยอร์กไทมส์ และ Associated Press ก็เหมือนกันรายงานว่าเรือทั้งสองมีระวางขับน้ำ 45,000 ตัน ความเร็ว 30 นอต[34] แม้หลังเหตุการณ์การอับปางของยะมะโตะในเดือนเมษายน ค.ศ. 1945 เดอะไทมส์ ของกรุงลอนดอนยังคงให้ข้อมูลว่ามีระวางขับน้ำ 45,000 ตัน[35] อย่างไรก็ตาม การดำรงอยู่ของเรือและสมมุติฐานของข้อมูลเรือมีอิทธิพลต่อวิศวกรของกองทัพเรืออเมริกาเป็นอย่างมากในการออกแบบเรือประจัญบานชั้นมอนทานาทั้ง 5 ลำซึ่งสร้างขึ้นเพื่อต่อต้านอำนาจการยิงของเรือประจัญบานชั้นยะมะโตะ[36]
ยามาโตะ
แก้ยามาโตะได้รับการสั่งต่อเรือในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1937 วางกระดูกงูเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1937 ปล่อยลงน้ำเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1940 และขึ้นระวางในวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1941[25] เรือได้ทำการฝึกซ้อมจนกระทั่ง 27 มีนาคม ค.ศ. 1942 เมื่อพลเรือเอก อิโซรกคุ ยามาโมโต้ เห็นสมควรว่าเรือสามารถเข้าปฏิบัติการได้แล้ว[25] โดยเข้าอยู่ในสังกัดหมวดเรือประจัญบานที่ 1 ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1942 ระหว่างยุทธนาวีมิดเวย์ยะมะโตะได้ทำหน้าที่เป็นเรือธงของกองเรือผสมแห่งกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นแต่กลับไม่ได้เข้าร่วมต่อสู้กับกองกำลังข้าศึกเลยในระหว่างสงคราม[37] สองปีต่อมา เรือยะมะโตะและเรือมูซาชิซึ่งเป็นเรือในชั้นเดียวกันได้ใช้เวลาส่วนมากจอดอยู่ที่ฐานทัพเรือทรูกและคุเระเป็นระยะๆ มูซาชิได้กลายเป็นเรือธงของกองเรือผสมแทนที่ยะมะโตะ[25] ในระหว่างช่วงเวลานี้ ยะมะโตะซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมวดเรือประจัญบานที่ 1 ได้มีโอกาสหลายครั้งในการเข้าร่วมต่อต้านการโจมตีฐานทัพของญี่ปุ่นบนเกาะจากเรือบรรทุกอากาศยานสหรัฐฯ ในวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1943 เรือได้รับความเสียหายอย่างมากจากตอร์ปิโดด้วยฝีมือของเรือดำน้ำ ยูเอสเอส สเคท (USS Skate) ทำให้ต้องหันหัวกลับไปยังคุเระเพื่อซ่อมแซมและพัฒนาโครงสร้างให้ดีขึ้น[25]
ในปี ค.ศ. 1944 หลังได้รับการติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยานจำนวนมากและปรับปรุงหมู่ปืนรอง ยะมะโตะได้เข้าร่วมกองเรือที่ 2 ในยุทธนาวีทะเลฟิลิปปิน ทำหน้าที่คุ้มครองหมวดเรือบรรทุกอากาศยานของญี่ปุ่น[38] ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1944 ที่ยุทธการอ่าวเลย์เต เรือได้ใช้ปืนใหญ่ประจำเรือกับศัตรูเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว เรือสามารถช่วยจมเรือบรรทุกเครื่องบินคุ้มกัน ยูเอสเอส แกมเบียร์ เบย์ (USS Gambier Bay) และเรือพิฆาต ยูเอสเอส จอนห์ส์ตัน (USS Johnston) ก่อนที่กองกำลังภาคกลางจะถอนตัวจากการรบ[39] ความเสียหายเล็กน้อยที่คุเระในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1945 ทำให้เรือได้รับการปรับปรุงอาวุธต่อสู้อากาศยานใหม่[25] ยะมะโตะจมลงในวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1945 โดยเครื่องบินจากเรือบรรทุกอากาศยานอเมริการะหว่างปฏิบัติการเท็งโง ถูกตอร์ปิโดทั้งหมด 10 ลูก ลูกระเบิด 7 ลูกก่อนที่จะจมลง ลูกเรือ 2,498 นายจาก 2,700 นายสูญหาย รวมถึงพลเรือโท เซอีชิ อิโต (Seiichi Itō) [32] การอับปางของยะมะโตะถูกมองว่าเป็นชัยชนะที่สำคัญของชาวอเมริกัน และ ฮานสัน ดับเบิลยู. บาล์ดวิน (Hanson W. Baldwin) บรรณาธิการทางทหารของ นิวยอร์กไทมส์ เขียนไว้ว่า"การจมของยะมะโตะ เรือประจัญบานลำใหม่ของญี่ปุ่น ... เป็นข้อพิสูจน์ที่น่าประทับใจถึงความอ่อนแอของญี่ปุ่นทั้งในอากาศและในทะเล"[40]
มูซาชิ
แก้มูซาชิได้รับการสั่งต่อเรือในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1937 วางกระดูกงูเมื่อวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 1938 ปล่อยลงน้ำเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1940 และขึ้นระวางในวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 1942 ระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม ค.ศ. 1942 เรือได้ทำการซ้อมรบผิวน้ำและต่อต้านอากาศยานที่ฮะชิระจิมะ (Hashirajima) ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1943 มูซาชิได้ขึ้นเป็นเรือธงของกองเรือผสมแทนที่ยะมะโตะซึ่งเป็นเรือในชั้นเดียวกัน มูซาชิได้เคลื่อนย้ายไปมาตามฐานทัพเรือทรูก โยะโกะซุกะ บรูไน และคุเระ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1944 ในวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 1944 เรือประสบความเสียหายใกล้กับหัวเรือจากตอร์ปิโดที่ยิงจากเรือดำน้ำสหรัฐฯ ยูเอสเอส ทันนี (USS Tunny) หลังจากเข้าซ่อมแซมและปรับปรุงตลอดทั้งเดือนเมษายน ค.ศ. 1944 มูซาชิได้เข้าร่วมหมวดเรือประจัญบานที่ 1 ในโอะกินะวะ[41]
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1944 มูซาชิเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกองเรือที่ 2 มีหน้าที่คุ้มกันเรือบรรทุกอากาศยานของญี่ปุ่นในระหว่างยุทธนาวีทะเลฟิลิปปิน[41] ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1944 เรือได้ออกจากบรูไนไปกับกองกำลังภาคกลางของพลเรือเอก ทะเกะโอะ (Takeo Kurita) เข้าสู่ยุทธการอ่าวเลย์เต[42] มูซาชิอับปางเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ในระหว่างยุทธนาวีทะเลซิบูยัน จากระเบิด 17 ลูกและตอร์ปิโด 19 ลูก ลูกเรือตายและสูญหาย 1,023 นายจาก 2,399 นาย[43]
ชินะโนะ
แก้ชินะโนะแต่เดิมคือเรือรบหมายเลข 110 วางกระดูกงูเป็นลำที่ 3 ในชั้นเรือประจัญบานยะมะโตะ มีการปรับปรุงแบบเล็กน้อย ความหนาของเกราะลดลงเล็กน้อยจากแบบดั้งเดิมซึ่งประกอบไปด้วย เกราะข้างลำเรือ ดาดฟ้า และป้อมปืน การลดน้ำหนักของเรือนี้ทำให้สามารถปรับปรุงส่วนอื่นๆได้เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นส่วนป้องกันของส่วนควบคุมการยิงและตำแหน่งเฝ้าระวัง นอกจากนี้ปืนใหญ่รองได้เปลี่ยนเป็นปืนชนิด 98 ขนาดลำกล้อง 10 ซม./65 (10 cm/65 caliber Type 98) แทนปืนขนาด 12.7 ซม.ที่ใช้บนเรือประจัญบานชั้นยะมะโตะที่สร้างขึ้น 2 ลำแรก แม้ว่าจะมีขนาดเล็กกว่า แต่ก็มีศักยภาพสูงกว่าปืน 127 มม.ในแง่ความเร็วปากลำกล้อง ระยะยิงสูงสุด เพดานยิงต่อต้านอากาศยาน และอัตราการยิงเป็นอย่างมาก[44]
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1942 หลังจากญี่ปุ่นพ่ายแพ้ที่มิดเวย์ การสร้างชินะโนะถูกระงับและได้มีการสร้างตัวเรือใหม่เป็นเรือบรรทุกอากาศยานทีละเล็กทีละน้อย[45] เรือได้รับการออกแบบให้เป็นเรือสนับสนุนขนาด 64,800 ตันที่มีความสามารถในการขนส่ง ซ่อมแซม และเติมเชื้อเพลิงให้แก่กองบินของเรือบรรทุกอากาศยานลำอื่น[46][47] แม้ว่าแต่เดิมจะมีกำหนดการให้เรือขึ้นระวางในตอนต้นปี ค.ศ. 1945[48] แต่การก่อสร้างได้ถูกเร่งให้เร็วขึ้นหลังยุทธการทะเลฟิลิปปิน[49] ด้วยเหตุนี้ชินะโนะจึงได้ปล่อยลงน้ำเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1944 และขึ้นระวางในวันที่ 19 พฤศจิกายนซึ่งเป็นเวลาเพียงเดือนกว่าหลังจากมีการปล่อยลงน้ำ ชินะโนะออกเดินทางจากโยะโกะซุกะเพื่อไปคุเระ 9 วันต่อมา ในตอนเช้าของวันที่ 29 พฤศจิกายน ชินะโนะโดนโจมตีด้วยตอร์ปิโด 4 ลูกจากเรือดำน้ำ ยูเอสเอส อาร์เชอร์-ฟิช[45] แม้จะดูเหมือนว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจะจัดการได้ แต่การควบคุมน้ำที่ท่วมในเรือกลับย่ำแย่เป็นเหตุให้เรือเอียงไปทางกราบขวา เพียงเวลาสั้นๆก่อนเที่ยงวัน เรือก็พลิกคว่ำและอับปางลง นำเอาลูกเรือ 1,435 นายจาก 2,400 นายจมไปกับเรือด้วย[45] จนถึงทุกวันนี้ ชินะโนะเป็นเรือรบขนาดใหญ่ที่สุดที่โดนโจมตีและจมลงโดยเรือดำน้ำ[50][51]
เรือรบหมายเลข 111 และ 797
แก้เรือรบหมายเลข 111 เป็นเรือไม่มีชื่อ วางแผนสร้างเป็นลำที่ 4 ในเรือประจัญบานชั้นยะมะโตะและเป็นเรือลำที่ 2 ใช้แบบตามชินะโนะที่ได้รับการปรับปรุง เรือได้วางกระดูกงูหลังจากปล่อยยะมะโตะลงน้ำในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1940 และก่อสร้างไปจนกระทั่งเดือนธันวาคม ค.ศ. 1941 เมื่อญี่ปุ่นเริ่มมีคำถามถึงโครงการสร้างเรือหลวงที่มีความทะเยอทะยานนี้กับการมาถึงของสงคราม ทรัพยากรที่จำเป็นในการสร้างเรือจะกลายเป็นสิ่งที่ได้มายาก เป็นผลให้เรือลำที่ 4 ซึ่งสร้างเสร็จเพียง 30% ถูกแยกชิ้นส่วนในปี ค.ศ. 1942 วัสดุที่ได้นำไปปรับปรุงเรือประจัญบาน อิเซะ และ เฮียวกะ ไปเป็นเรือลูกผสมระหว่างเรือประจัญบานและเรือบรรทุกอากาศยาน[52][53]
เรือลำที่ 5 เรือรบหมายเลข 797 มีแผนที่จะสร้างตามแบบของชินะโนะแต่ไม่ได้สร้าง ไม่เคยแม้แต่จะได้วางกระดูกงู นอกจากนี้ในแบบเรือ 797 ได้มีการปรับเปลี่ยนเอาปืนกราบเรือขนาด 155 มม.ออกและเพิ่มปืนขนาด 100 มม.ลงไปแทน ประมาณกันว่ามีปืนขนาดนี้ประมาณ 24 กระบอก ยะมะโตะที่ปรับปรุงท้ายสุดในปี ค.ศ. 1944 มีบางส่วนที่ปรับปรุงคล้ายกับแบบของเรือนี้[54]
ลักษณะ
แก้อาวุธยุทธภัณฑ์
แก้แม้ว่าอาวุธยุทธภัณฑ์ของเรือประจัญบานชั้นยะมะโตะในแบบอย่างเป็นทางการแต่เดิมจะเป็นปืนขนาด 40 ซม./ลำกล้อง 45 (15.9 นิ้ว) แบบ 94[55] แต่ความเป็นจริงแล้วกลับเป็นปืนขนาด 46 ซม./ลำกล้อง 45 (18.1 นิ้ว) ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดที่สามารถติดตั้งในเรือรบได้[9] รวมทั้งสิ้นสามป้อม แต่ละป้อมหนัก 2,774 ตัน[56] ปืนแต่ละกระบอกยาว 21.13 ม. (69.3 ฟุต) หนัก 147.3 เมตริกตัน (145.0 ตัน)[57] กระสุนที่ใช้เป็นกระสุนเจาะเกราะระเบิดแรงสูงยิงได้ไกลถึง 42.0 กิโลเมตร (26.1 ไมล์) ที่อัตรายิง 1½ ถึง 2 นัดต่อนาที[9][55] ปืนหลักยังสามารถยิงกระสุนต่อต้านอากาศยาน 3 ชิกิ สึโจะดัง ("Shiki tsûjôdan, Common Type 3 (กระสุนร่วมแบบ 3)") หนัก 1,360 kg (3,000 ปอนด์) ได้[A 3] สายชนวนถูกตั้งเวลาให้ระเบิดเมื่อยิงออกไปได้ไกลเพียงพอ (ทั่วไปจะตั้งไว้ที่ระยะห่าง 1,000 เมตร (1,100 หลา)) เมื่อระเบิด กระสุนจะแตกออกจะกลายเป็นชิ้นเหล็กจำนวนมาก และปล่อยหลอดที่บรรจุระเบิดเพลิงจำนวน 900 ชิ้น เป็นรูปทรงกรวยหันไปทางอากาศยานที่บินเข้ามา หลอดจะลุกไหม้เป็นเวลา 5 วินาทีที่อุณหภูมิ 3,000 °C (5,430 °F) ก่อนจะกระจายเป็นเปลวเพลิงไปรอบๆ ไกล 5 เมตร (16 ฟุต) แม้จะมีสัดส่วนถึง 40% ของกระสุนหลักบนเรือในปี ค.ศ. 1944[55] 3 ชิกิ สึโจะดัง กลับไม่ค่อยได้ใช้เพื่อต่อต้านอากาศยานฝ่ายศัตรูนัก เพราะจะเกิดความเสียหายที่ลำกล้องปืนหลักเมื่อยิงด้วยกระสุนชนิดนี้[58] มีการระเบิดก่อนเวลาของกระสุนชนิดนี้และทำให้ปืนหลักกระบอกหนึ่งของเรือมูซาชิไม่สามารถใช้งานได้ระหว่างยุทธนาวีทะเลซิบูยัน[55] กระสุนจะสร้างม่านเพลิงเพื่อให้อากาศยานที่เข้าโจมตีไม่สามารถบินผ่านได้ อย่างไรก็ตาม นักบินฝ่ายสหรัฐเห็นว่ามันเป็นดอกไม้ไฟมากกว่าอาวุธต่อต้านอากาศยาน[55]
ในแบบทางวิศวกรรมเดิม ป้อมปืนรองของเรือประจัญบานชั้นยะมะโตะประกอบด้วยปืน 6.1 นิ้ว (15 ซม.) 12 กระบอก ติดตั้งในป้อมปืน 4 ป้อม ป้อมละ 3 กระบอก (หัวเรือ 1 กระบอก ท้ายเรือ 1 กระบอก และกลางลำเรือ 2 กระบอก)[56] และปืนขนาด 5 นิ้ว (13 ซม.) 12 กระบอก ติดตั้งในป้อมปืน 6 ป้อม ป้อมละ 2 กระบอก (กลางลำเรือฝั่งละ 3 กระบอก)[56] นอกจากนี้เรือประจัญบานชั้นยะมะโตะยังติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน 1 นิ้ว (2.5 ซม.) 24 กระบอกกลางลำเรือ[56] ในปี ค.ศ. 1944 เรือยะมะโตะได้รับการปรับปรุงปืนต่อสู้อากาศยานเพิ่มเติมเป็นพิเศษ โดยเปลี่ยนปืนรองเป็นปืน 6.1 นิ้ว (15 ซม.) 6 กระบอก[59] ปืน 5 นิ้ว (13 ซม.) 24 กระบอก[59] และปืนต่อสู้อากาศยาน 1 นิ้ว (2.5 ซม.) 162 กระบอก[59] เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับปฏิบัติการในอ่าวเลย์เต[60]
อาวุธยุทธภัณฑ์ของเรือชินะโนะต่างไปจากเรือในชั้นเนื่องจากเรือได้รับการดัดแปลง ในฐานะที่เป็นเรือบรรทุกอากาศยานที่ถูกออกแบบมาเพื่อรับบทบาทในการสนับสนุน จึงมีการติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยานมากเป็นพิเศษ ปืนบนเรือประกอบด้วย ปืน 5 นิ้ว (13 ซม.) 16 กระบอก[61] ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 1 นิ้ว (2.5 ซม.) 125 กระบอก[61] และจรวดต่อสู้อากาศยาน 336 ลูกในฐานยิงจรวดลำกล้อง 5 นิ้ว (13 ซม.) 28 ลำกล้อง 12 ฐาน[62] ปืนเหล่านี้ไม่เคยได้ใช้ต่อสู้กับเรือหรืออากาศยานฝ่ายศัตรูเลย[62]
เกราะ
แก้จากการออกแบบเพื่อให้สามารถต่อสู้กับเรือประจัญบานฝ่ายข้าศึกได้พร้อมกันทีละหลายลำ[4] ยะมะโตะจึงได้รับการติดตั้งเกราะโลหะหนาดังที่อธิบายโดยนักประวัติศาสตร์นาวี มาร์ค สทิลล์ (Mark Stille) ว่า "เป็นระดับการป้องกันที่ไม่มีใครเทียบเท่าในการต่อสู้กันซึ่งหน้า"[63] เกราะหลักข้างลำเรือหนา 410 มม.[9] และยังมีผนังกันหนา 355 มม.ถัดมาจากเกราะข้างลำเรือ[9] นอกจากนี้ รูปร่างของตัวเรือด้านบนมีความก้าวหน้าในการออกแบบเป็นอย่างมาก ลักษณะที่โค้งไปด้านข้างของเกราะนั้นเป็นการป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและให้โครงสร้างที่แข็งแกร่งในขณะที่ได้น้ำหนักที่เหมาะสม เกราะของป้อมปืนหลักนั้นหนากว่าเกราะข้างลำเรือ ด้วยความหนาถึง 650 มม.[9] แผนเกราะกราบเรือและป้อมปืนหลักทำจากเหล็กทำแข็งแบบวิกเกอส์ (Vickers) ซึ่งเป็นเกราะโลหะผิวหน้าแข็ง[64] เกราะดาดฟ้าหนา 75 มม.ทำมาจากโลหะผสมนิกเกิล-โครเมียม-โมลิบดีนัม จากการทดสอบวิธีกระสุนที่สถานที่ทดลองในคะเมงะบุกิ (Kamegabuki) พิสูจน์ว่าดาดฟ้าที่เป็นโลหะผสมนั้นเหนือกว่าแผ่นโลหะวิกเกอส์เนื้อเดียว 10–15%[64] และยังเพิ่มด้วยการออกแบบส่วนผสมระหว่างโครเมียมและนิกเกิลในโลหะผสม ปริมาณนิกเกิลที่สูงนั้นสามารถทำให้แผ่นโลหะสามารถม้วนงอโดยไม่เกิดการแตกหักขึ้น[64]
มีการนำการเชื่อมโลหะแบบการเชื่อมอาร์คซึ่งเป็นการเชื่อมโลหะแบบใหม่ในสมัยนั้นมาใช้กับเรือในชั้น เพื่อเพิ่มความแข็งแรงทนทานให้กับเกราะชั้นนอก[65] ด้วยเทคนิคนี้ เกราะข้างส่วนล่างจึงได้รับการเพิ่มเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเรือซึ่งเป็นผลจากการศึกษาวิถีกระสุนของเรือประจัญบานชั้นโทะซะ (Tosa) และกระสุนชนิดใหม่แบบ 91 ของญี่ปุ่นที่สามารถเคลื่อนตัวไปในน้ำได้ไกล[66] และยังใช้เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับตัวเรือทั้งหมด[65] เมื่อรวมแล้ว เรือชั้นยะมะโตะประกอบไปด้วยห้องผนึกน้ำ 1,147 ห้อง[65] ซึ่ง 1,065 ห้องอยู่ใต้เกราะดาดฟ้าเรือ[65]
อย่างไรก็ตาม เกราะของเรือชั้นยะมะโตะยังคงมีจุดอ่อนที่ร้ายแรงหลายจุด ซึ่งเป็นเหตุให้เรือในชั้นอับปางลงในปี ค.ศ. 1944–45[67] โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จุดรอยต่อระหว่างกราบเรือล่างและกราบเรือบน ที่กลายมาเป็นจุดอ่อนใต้เส้นแนวน้ำที่อ่อนไหวต่อการโจมตีด้วยตอร์ปิโดจากเครื่องบิน[58] นอกจากนี้เรือยังมีจุดอ่อนทางโครงสร้างบริเวณหัวเรือ ซึ่งมีเกราะบางกว่าปกติ[58] ตัวเรือ ชินะโนะ มีโครงสร้างอ่อนแอที่สุด มีการติดตั้งเกราะน้อยและไม่มีห้องผนึกน้ำเมื่อเวลาเรืออับปาง[61]
การขับเคลื่อน
แก้เรือประจัญบานชั้นยะมะโตะติดตั้งหม้อน้ำแบบคัมปง 12 หม้อซึ่งจะไปขับกังหันไอน้ำ 4 กังหัน[2] แต่ละกังหันจะติดตั้งใบจักรที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 เมตร แหล่งกำลังนี้ทำให้เรือประจัญบานชั้นยะมะโตะมีความเร็วสูงสุด 27 นอต (50 กม./ชม.)[9] ซึ่งแสดงเป็นกำลังได้ 147,948 แรงม้า (110,325 kW)[9] ความสามารถทางความเร็วของเรือประจัญบานชั้นยะมะโตะทำให้การร่วมขบวนกับเรือบรรทุกอากาศยานเร็วนั้นมีขีดจำกัด นอกจากนี้อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงของเรือประจัญบานทั้งสองอยู่ในระดับสูงมาก[60] นี่คือเหตุผลหลักที่ไม่ได้ใช้เรือนี้ในรบระหว่างช่วงการทัพหมู่เกาะโซโลมอนหรือการรบในระหว่างช่วง "island hopping (กบกระโดด)" ในช่วงปี ค.ศ. 1943 ถึงตอนต้นของปี ค.ศ. 1944[60] ระบบขับเคลื่อนของชินะโนะมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นเล็กน้อย โดยมีความเร็วสูงสุด 28 นอต (52 กม./ชม.)[62]
เรือประจัญบานชั้น "ซูปเปอร์ยามาโตะ"
แก้มีการออกแบบเรือประจัญบานใหม่สองลำให้มีขนาดใหญ่กว่าเรือประจัญบานชั้นยะมะโตะเพื่อใช้ในแผนกองเรือ 1942 แบบเรือประจัญบานใหม่ดังกล่าวเรียกว่า เอ-150 เป็นแบบที่ใช้สร้างเรือรบหมายเลข 178 และเรือรบหมายเลข 179 แบบ เอ-150 ได้เริ่มออกแบบทันทีหลังแบบของเรือประจัญบานชั้นยะมะโตะเสร็จสิ้นราวๆ ปี ค.ศ. 1938–39 สิ่งพื้นฐานในแบบทางวิศวกรรมได้รับการออกแบบเสร็จสิ้นในปี ค.ศ. 1941 แต่รูปแบบสงครามได้กลายเป็นการสู้รบบนเส้นขอบฟ้าแทน ทำให้การสร้างเรือประจัญบานหยุดชะงักลงเพื่อสร้างเรือรบที่เป็นที่ต้องการก่อน เช่น เรือบรรทุกอากาศยาน และเรือลาดตระเวน แต่การสูญเสียเรือบรรทุกอากาศยาน 4 ลำในยุทธนาวีมิดเวย์ (จาก 10 ลำของกองทัพเรือญี่ปุ่นในขณะนั้น) ทำให้การสร้างเรือหยุดลงอย่างถาวร ในหนังสือเล่มที่ 3 ของหนังสือชุด Battleships (เรือประจัญบาน) Axis and Neutral Battleships in World War II (เรือประจัญบานอักษะและฝ่ายเป็นกลางในสงครามโลกครั้งที่ 2) ผู้แต่ง วิลเลียม เอช. การ์ซคี (William H. Garzke) และ โรเบิร์ต โอ. ดับบลิน (Robert O. Dulin) ยืนยันว่าเรือนี้เป็น "เรือประจัญบานที่ทรงอำนาจมากที่สุดในประวัติศาสตร์" เพราะหมู่ปืนหลักมีขนาดใหญ่โตถึง 510 มม. (20 นิ้ว) และมีอาวุธต่อต้านอากาศยานจำนวนมาก[68][69]
คล้ายกันกับกรณีเรือประจัญบานชั้นยะมะโตะ เอกสารส่วนมากและแบบทางวิศวกรรมทั้งหมดถูกทำลายเพื่อป้องกันการถูกยึดเมื่อสิ้นสุดสงคราม แต่ก็ยังมีข้อมูลหลงเหลือให้ทราบได้ว่าแบบสุดท้ายของเรือมีอำนาจการยิงเหนือกว่า และมีปืนกระบอกใหญ่กว่าเรือชั้นยะมะโตะ ด้วยหมู่ปืนหลักขนาด 500 มม. (20 นิ้ว) 6 กระบอก ในป้อมปืนแผด 3 ป้อม และปืนต่อต้านอากาศยานขนาด 100 มม. (3.9 นิ้ว) จำนวนมาก เรือกินน้ำลึกเท่ากับเรือยะมะโตะขณะที่มีเกราะข้างหนาถึง 460 มม. (18 นิ้ว)[68][69]
อิทธิพลต่อศิลปวัฒนธรรม
แก้จากเริ่มก่อสร้างจนถึงปัจจุบัน ยามาโตะ และ มูซาชิ ได้กลายเป็นสิ่งที่แสดงออกในเชิงวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น โดยเฉพาะยะมะโตะ เมื่อก่อสร้างเสร็จสิ้น เรือได้เป็นตัวแทนถึงความเป็นเลิศทางวิศวกรรมของกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่น นอกจากนี้ทั้งจากขนาด ความเร็ว อำนาจการยิงของเรือทั้งสองลำแสดงถึงความมุ่งมั่นของประเทศญี่ปุ่นและความพร้อมที่จะปกป้องผลประโยชน์ของตนจากมหาอำนาจตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นรูปธรรม ชิเงรุ ฟูกุโดมิ (Shigeru Fukudome) เสนาธิการประจำส่วนปฏิบัติการของกองเสนาธิการกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่น บรรยายถึงเรือทั้งสองลำว่า "เป็นดั่งสัญลักษณ์ทางอำนาจของกองทัพเรือที่จัดเตรียมไว้ให้แก่ทหารและความเชื่อมั่นอย่างที่สุดในกองทัพเรือของพวกเขา"[70]
เรื่องราวของยะมะโตะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการอับปางของเรือ ได้ปรากฏบ่อยครั้งในศิลปวัฒนธรรมที่ได้รับความนิยมของญี่ปุ่น เช่น อนิเมะเรื่อง เรือรบอวกาศยามาโตะ ภาพยนตร์ในปี ค.ศ. 2005 เรื่อง ยามาโต้ พิฆาตยุทธการ[71] และภาพยนตร์ในปี ค.ศ. 2011 เรื่อง 2199 ยามาโต้กู้จักรวาล (Space Battleship Yamato) ภาพลักษณ์ในเชิงวัฒนธรรมที่ได้รับความนิยม โดยปกติแล้วจะแสดงในรูปแบบภารกิจสุดท้ายของเรือ ในเรื่องความกล้าหาญ ความเสียสละแต่ก็ไร้ประโยชน์ เป็นสัญลักษณ์ของความพยายามของทหารเรือชาวญี่ปุ่นที่จะปกป้องบ้านเกิดของพวกเขา เหตุผลหนึ่งที่อาจทำให้เรือรบนี้มีความสำคัญในวัฒนธรรมญี่ปุ่นคือชื่อ "ยะมะโตะ" นั้น บ่อยครั้งถูกใช้ในบทกวีเพื่อใช้แทนประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นการอับปางของเรือประจัญบานเรือรบอวกาศยามาโตะสามารถอุปมาได้ถึงการสิ้นสุดของจักรวรรดิญี่ปุ่น[72][73]
ดูเพิ่ม
แก้- เรือบรรทุกเครื่องบินชั้นโชกากุ
- เรือลาดตระเวนประจัญบานชั้นคงโง
- เรือลาดตระเวนชั้นทาคาโอะ
- เรือประจัญบานชั้นนางาโตะ
- เรือประจัญบานชั้นฟูโซ
วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ เรือประจัญบานชั้นยามาโตะ
เชิงอรรถ
แก้- ↑ "ตัน" ในบทความนี้ไม่ใช่เมตริกตัน แต่เป็น Long ton ที่มีขนาดเท่ากับ 2,240 ปอนด์ (1,016 กก.)
- ↑ ย้อนกลับไปปี ค.ศ. 1933 นักบินแห่งกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่น รวมถึงพลเรือเอก อิโซรกคุ ยามาโมโต้ เสนอว่าการป้องกันจากการโจมตีของเรือบรรทุกอากาศยานสหรัฐอเมริกาที่ดีที่สุด คือกองเรือบรรทุกอากาศยานไม่ใช่กองเรือประจัญบาน อย่างไรก็ตาม เมื่อการโต้แย้งอย่างรุนแรงได้เปิดฉาก พลเรือเอกอาวุโสฝ่ายอนุรักษนิยมยังคงเชื่อในความเชื่อดั่งเดิมอย่างแน่วแน่ในเรือประจัญบานว่าเป็นเรือรบหลักในกองเรือโดยสนับสนุนการสร้างของ "เรือประจัญบานชั้นยะมะโตะ" ดูเพิ่ม: Reynolds, pp. 5–6
- ↑ กระสุนมีชื่อเล่นว่า "The Beehive" (รวงผึ้ง) ดู: DiGiulian, Tony (23 April 2007). "Japanese 40 cm/45 (18.1") Type 94, 46 cm/45 (18.1") Type 94". Navweaps.com. สืบค้นเมื่อ 23 March 2009.
อ้างอิง
แก้- ↑ Kwiatkowska, K. B.; Skwiot, M. Z. "Geneza budowy japońskich pancerników typu Yamato". Morza Statki i Okręty (ภาษาโปแลนด์). Warsaw: Magnum-X. 2006 (1): 74–81. ISSN 1426-529X. OCLC 68738127.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 Jackson, p. 74
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 Jackson, p. 74; Jentschura et al., p. 38
- ↑ 4.0 4.1 Schom, p. 270
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 Hackett, Robert; Kingsepp, Sander; Ahlberg, Lars. "Yamato-class Battleship". Combined Fleet. CombinedFleet.com. สืบค้นเมื่อ 25 October 2008.
- ↑ Muir, Micheal (1990). "Rearming in a Vacuum: United States Navy Intelligence and the Japanese Capital Ship Threat, 1936–1945" (JSTOR access required). The Journal of Military History. Society for Military History. 54 (4): 485. ISSN 1543-7795. OCLC 37032245. สืบค้นเมื่อ 7 March 2008.
{{cite journal}}
: ไม่รู้จักพารามิเตอร์|month=
ถูกละเว้น (help) - ↑ Skulski, p. 8
- ↑ "Warships of the World". The Times. November 5, 1948. p. 2D.
- ↑ 9.00 9.01 9.02 9.03 9.04 9.05 9.06 9.07 9.08 9.09 9.10 9.11 Johnston and McAuley, p. 123
- ↑ Friedman, p. 182
- ↑ Garzke and Dulin, p. 4–5
- ↑ Willmott, p. 32
- ↑ Schom, p. 42
- ↑ Willmott, p. 34; Gardiner and Gray, p. 229
- ↑ Gardiner and Gray, pp. 229–231, 234
- ↑ Garzke and Dulin, p. 44
- ↑ Willmott, p. 35
- ↑ Schom, p. 43
- ↑ Willmott, p. 22
- ↑ Thurston, Elliott (January 2, 1935). "Fear is the Real Cause of Navy Treaty End". The Washington Post. p. 7.
- ↑ Garzke and Dulin, p. 45
- ↑ Willmott, p. 45
- ↑ Garzke and Dulin, pp. 45–51
- ↑ 24.0 24.1 Garzke and Dulin, pp. 49–50
- ↑ 25.0 25.1 25.2 25.3 25.4 25.5 25.6 Hackett, Robert; Kingsepp, Sander (6 June 2006). "IJN YAMATO: Tabular Record of Movement". Combined Fleet. CombinedFleet.com. สืบค้นเมื่อ 8 January 2009.
- ↑ 26.0 26.1 Garzke and Dulin, p. 49
- ↑ Garzke and Dulin, p. 50
- ↑ Garzke and Dulin, p. 53
- ↑ Johnston and McAuley, p. 122
- ↑ Reynolds, pp. 5–6
- ↑ Friedman, p. 308
- ↑ 32.0 32.1 Johnston and McAuley, p. 128
- ↑ Tobin, Richard (October 1, 1944). "U.S. Navy Outnumbers Jap 10 to 1". The Washington Post. p. B1.
- ↑ Horneby, George (October 30, 1944). "4 Carriers Sunk". The New York Times. p. 1.
- ↑ "Japan's Biggest Warship Sunk". The Times. April 9, 1945. p. 3C.
- ↑ W. D. Puleston, The Armed Forces of the Pacific: A Comparison of the Military and Naval Power of the United States and Japan (New Haven: Yale University Press, 1941), pp. 208–211.
- ↑ Willmott, p. 93
- ↑ Willmott, p. 146
- ↑ Reynolds, p. 156
- ↑ Baldwin, Hanson (April 9, 1945). "Okinawa's Fate Sealed: Sinking of Yamato Shows Japan's Fatal Air and Sea Weakness". The New York Times. p. 12.
- ↑ 41.0 41.1 Hackett, Robert; Kingsepp, Sander (6 June 2006). "IJN MUSASHI: Tabular Record of Movement". Combined Fleet. CombinedFleet.com. สืบค้นเมื่อ 8 January 2009.
- ↑ Johnston and McAuley, p. 125
- ↑ Steinberg, p. 56
- ↑ Garzke and Dulin, pp. 74–75
- ↑ 45.0 45.1 45.2 Tully, Anthony P. (7 May 2001). "IJN Shinano: Tabular Record of Movement". Combined Fleet. CombinedFleet.com. สืบค้นเมื่อ 8 January 2009.
- ↑ Reynolds, p. 61
- ↑ Preston, p. 91
- ↑ Reynolds, p. 219
- ↑ Reynolds, p. 284
- ↑ Wheeler, p. 185
- ↑ Garzke and Dulin, p. 99
- ↑ Garzke and Dulin, p. 84
- ↑ Johnston and McAuley, p. 124
- ↑ Garzke and Dulin, p. 85
- ↑ 56.0 56.1 56.2 56.3 Jackson, p. 75
- ↑ Johnston and McAuley, p. 123; each of the three main turrets weighed more than a good-sized destroyer.
- ↑ 58.0 58.1 58.2 Steinberg, p. 54
- ↑ 59.0 59.1 59.2 Johnston and McAuley, p. 180
- ↑ 60.0 60.1 60.2 Jackson, p. 128
- ↑ 61.0 61.1 61.2 Tully, Anthony P. "Shinano". Combined Fleet. CombinedFleet.com. สืบค้นเมื่อ 13 January 2009.
- ↑ 62.0 62.1 62.2 Preston, p. 84
- ↑ Stille, p. 37
- ↑ 64.0 64.1 64.2 Garzke and Dulin, p. 65
- ↑ 65.0 65.1 65.2 65.3 Fitzsimons, Volume 24, p. 2609
- ↑ Garzke and Dulin, p. 94
- ↑ "Best Battleship: Underwater Protection". Combined Fleet. CombinedFleet.com. สืบค้นเมื่อ 25 October 2008.
- ↑ 68.0 68.1 Gardiner and Chesneau, p. 178
- ↑ 69.0 69.1 Garzake and Dulin, pp. 85–86
- ↑ Evans and Peattie, pp. 298, 378
- ↑ IMDB.com (1990–2009). "Uchû senkan Yamato". Internet Movie Database. สืบค้นเมื่อ 26 March 2009.; IMDB.com (2005). "Otoko-tachi no Yamato". Internet Movie Database. สืบค้นเมื่อ 26 March 2009.
- ↑ Yoshida and Minear, p. xvii; Evans and Peattie, p. 378
- ↑ Skulski, p. 7
บรรณานุกรม
แก้- Evans, David C.; Peattie, Mark R. (1997). Kaigun: Strategy, Tactics, and Technology in the Imperial Japanese Navy, 1887–1941. Annapolis, Maryland: Naval Institute Press. ISBN 0-87021-192-7. OCLC 36621876.
- Fitzsimons, Bernard, บ.ก. (1977). The Illustrated Encyclopedia of 20th Century Weapons and Warfare. London: Phoebus. OCLC 18501210.
- Friedman, Norman (1985). U.S. Battleships: An Illustrated Design History. Annapolis, Maryland: Naval Institute Press. ISBN 0-87021-715-1. OCLC 12214729.
- Garzke, William H.; Dulin, Robert O. (1985). Battleships: Axis and Neutral Battleships in World War II. Annapolis, Maryland: Naval Institute Press. ISBN 0-87021-101-3. OCLC 12613723.
- Gardiner, Robert; Chesneau, Robert, บ.ก. (1980). Conway's All the World's Fighting Ships, 1922–1946. Annapolis, Maryland: Naval Institute Press. ISBN 0-87021-913-8. OCLC 18121784.
- Gardiner, Robert; Gray, Randal, บ.ก. (1984). Conway's All the World's Fighting Ships, 1906–1921. Annapolis, Maryland: Naval Institute Press. ISBN 0-87021-907-3. OCLC 12119866.
- Jackson, Robert (2000). The World's Great Battleships. London: Brown Books. ISBN 1-89788-460-5. OCLC 45796134.
- Jentschura, Hansgeorg; Jung, Dieter; Mickel, Peter (1977). Warships of the Imperial Japanese Navy, 1869-1945. Annapolis, Maryland: Naval Institute Press. ISBN 0-87021-893-X. OCLC 3273325.
- Johnston, Ian; McAuley, Rob (2000). The Battleships. Osceola, Wisconsin: MBI Pub. Co. ISBN 0-7603-1018-1. OCLC 45329103.
- Preston, Anthony (1999). The World's Great Aircraft Carriers: From World War I to the Present. London: Brown Books. ISBN 1-89788-458-3. OCLC 52800756.
- Reynolds, Clark G. (1968). The Fast Carriers: The Forging of an Air Navy. New York: McGraw-Hill. OCLC 448578.
- Schom, Alan (2004). The Eagle and the Rising Sun: The Japanese-American War, 1941–1943, Pearl Harbor through Guadalcanal. New York: W. W. Norton. ISBN 0-393-04924-8. OCLC 50737498.
- Skulski, Janusz (1989). The Battleship Yamato. Annapolis, Maryland: Naval Institute Press. ISBN 0-87021-019-X. OCLC 19299680.
- Steinberg, Rafael (1980). Return to the Philippines. New York: Time-Life Books. ISBN 0-80942-516-5. OCLC 4494158.
- Stille, Cdr Mark (2008). Imperial Japanese Navy Battleship 1941-1945. Oxford: Osprey Publishing. ISBN 978-1-84603-280-6
- Wheeler, Keith (1980). War Under the Pacific. New York: Time-Life Books. ISBN 0-8094-3376-1.
- Yoshida, Mitsuru; Minear, Richard H. (1999) [1985]. Requiem for Battleship Yamato. Annapolis, Maryland: Naval Institute Press. ISBN 1-55750-544-6. OCLC 40542935.
- Yoshimura, Akira (2008). Battleship Musashi: The Making and Sinking of the World's Biggest Battleship. Tokyo: Kodansha International. ISBN 4-7700-2400-2. OCLC 43303944.