เมืองสุวรรณภูมิ

เมืองสุวรรณภูมิ เป็นหัวเมืองฝั่งขวาแม่น้ำโขงภายใต้ปริมณฑลแห่งอำนาจของอาณาจักรรัตนโกสินทร์ และได้รับการยกฐานะเป็นประเทศราชในบางช่วงเวลา[2] ภายหลังถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลลาวกาวของสยาม

สุวรรณภูมราชบุริน
สุวัณภูมราชบุรียประเทศราช
พ.ศ. 2256 – พ.ศ. 2443
เมืองหลวง
  • เมืองทง
  • (พ.ศ. 2256–2315)
  • เมืองสุวรรณภูมิ
  • (พ.ศ. 2315–2443)
พื้นที่ 
• พ.ศ. 2256–2315
31,000[1] ตารางกิโลเมตร (12,000 ตารางไมล์)
• พ.ศ. 2318–2335
16,500[1] ตารางกิโลเมตร (6,400 ตารางไมล์)
• พ.ศ. 2318–2409
9,200[1] ตารางกิโลเมตร (3,600 ตารางไมล์)
การปกครอง
 • ประเภทอาญาสี่
เจ้าเมือง 
• พ.ศ. 2256–2268
เจ้าแก้วมงคล
• พ.ศ. 2335–2357
พระรัตนาวงษามหาขัติยราช (อ่อน)
ประวัติศาสตร์ 
• การอพยพของกลุ่มเจ้าแก้วมงคล
พ.ศ. 2256
• สวามิภักดิ์ต่ออาณาจักรอยุธยา
พ.ศ. 2308
• รับพระราชทานนามเมืองสุวรรณภูมิ
พ.ศ. 2315
• ยกเลิกตำแหน่งอาญาสี่
พ.ศ. 2443
ก่อนหน้า
ถัดไป
อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์
2318:
เมืองร้อยเอ็ด
2412:
เมืองมหาสารคาม
2443:
เมืองสุวรรณภูมิ
ภายใต้มณฑลลาวกาว

ประวัติศาสตร์

แก้
 
อาณาเขตของเมืองท่งศรีภูมิ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2256
 
แผนที่อาณาเขต เมืองท่งศรีภูมิ ระหว่างปี พ.ศ. 2256 - 2315 เเละเมืองสุวรรณภูมิ ระหว่างปี พ.ศ. 2315 - 2318
 
เเผนที่การปักปันอาณาเขตระหว่างเมืองสุวรรณภูมิกับเมืองร้อยเอ็ด ตั้งเเต่ปี พ.ศ. 2318

เมืองสุวรรณภูมิ เดิมเรียกว่า "เมืองท่งศรีภูมิ" หรือนิยมเรียกทั่วไปว่า "เมืองศรีภูมิ"[ต้องการอ้างอิง] ตั้งอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำเสียว เมื่อแรกก่อตั้งเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ โดยในปี พ.ศ. 2256 พระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรได้โปรดให้เจ้าแก้วมงคลนำไพร่พลมาตั้งรักษาการอยู่ที่บ้านทง[3]เพื่อเป็นเมืองหน้าด่านของอาณาจักรล้านช้างจำปาสัก เมืองท่งศรีภูมิมีแม่น้ำชีเป็นเขตแดนด้านตะวันออก (เขตนครหลวงจำปาสัก) และแม่น้ำมูลเป็นเขตแดนด้านทิศใต้ กั้นระหว่างเขตเมืองนครราชสีมา (เมืองในเขตอาณาจักรอยุธยา) ด้านทิศเหนือชนแดนเขตอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ บริเวณเมืองผาขาว เมืองพันนา สนามหมากหญ้า (เขตรอยต่อจังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภู และขอนแก่นในปัจจุบัน) ภูเม็ง (เขตอำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น) ฝายพญานาค (รอยต่ออำเภอหนองเรือ และอำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่นในปัจจุบัน)

ต่อมาในปี พ.ศ. 2308 ได้เกิดความขัดแย้งในการสืบต่ออำนาจเจ้าเมืองท่งศรีภูมิ เป็นเหตุให้เมืองท่งศรีภูมิได้เข้าอยู่ภายใต้อาณาเขตของอาณาจักรอยุธยา จนกระทั่งเสียกรุงครั้งที่สอง ในปี พ.ศ. 2310 เมืองท่งศรีภูมิได้เป็นอิสระ และรวมตัวอย่างหลวม ๆ กับชุมนุมเจ้าพิมาย ต่อมาในปี พ.ศ. 2311 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตีเมืองพิมายได้เป็นชุมนุมแรก เมืองท่งศรีภูมิจึงได้เข้าสวามิภักดิ์ต่ออาณาจักรธนบุรี[ต้องการอ้างอิง]

ในปี พ.ศ. 2315 เจ้าเซียง เจ้าเมืองท่งศรีภูมิลำดับที่ 4 ได้เสนอขอย้ายที่ตั้งศูนย์กลางเมืองท่งศรีภูมิไปด้านทิศตะวันตก บริเวณตำบลดงเท้าสาร และขอพระราชทานนามเมืองใหม่เป็น "เมืองสุวรรณภูมิ" นับแต่นั้น โดยมีฐานะเป็นเมืองประเทศราชของกรุงธนบุรี

ภายหลัง พ.ศ. 2325 หลังการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมืองสุวรรณภูมิได้อยู่ในอาณาเขตของอาณาจักรรัตนโกสินทร์ โดยมีฐานะเป็นเมืองประเทศราชในปี พ.ศ. 2335[2] โดยมีชื่อเมืองเต็มว่า "สุวรรณภูมิราชบุรินทร์" หรือเขียนเป็น "สุวรรณภูมิราชบุรี" หรือ "สุวรรณภูมิราชบุรีย์" พระยศเจ้าเมืองสุวรรณภูมิได้รับพระราชทินนามจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชว่า "รัตนวงษา" หรือ "รัตนวงศา" อันหมายถึง สายสกุลผู้สืบเชื้อสายจากเจ้าแก้วมงคล อันเป็นปฐมวงศ์เจ้าเมืองท่งศรีภูมิ โดยเป็นหนึ่งในสายพระบรมวงศานุวงศ์ของพระมหากษัตริย์อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2435 มีการปฏิรูปการปกครองในระบบมณฑลเทศาภิบาล เมืองสุวรรณภูมิคงฐานะเป็นเมืองชั้นเอก โดยมีเมืองชั้นโท ตรี และจัตวา ภายใต้การปกครองจำนวน 5 เมือง ได้แก่ เมืองสุวรรณภูมิ เมืองพยัคฆภูมิพิสัย (หรืออำเภอพยัคฆภูมิพิสัย), เมืองพนมไพรแดนมฤค (หรืออำเภอพนมไพร), เมืองเกษตรวิสัย (หรืออำเภอเกษตรวิสัย) และเมืองจุตรพักตร์พิมาน (หรืออำเภอจตุรพักตรพิมาน) ซึ่งเมืองทั้งหมดล้วนแยกออกมาจากเมืองสุวรรณภูมิ และมีเจ้าเมืองที่เป็นทายาทของเจ้าแก้วมงคลทั้งสิ้น

ปี พ.ศ. 2442 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงใหญ่ต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลลาวกาวทรงให้ยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองในระบบอาญาสี่ และแทนที่ด้วยตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง[4]

รายพระนามและรายนามเจ้าเมือง

แก้
 
เจ้าแก้วมงคล เจ้าผู้ครองเมืองท่งศรีภูมิคนแรก
 
เจ้าแก้วมงคล
 
อนุสาวรีย์ท้าวเซียง เจ้าผู้ครองเมืองท่งศรีภูมิคนที่ 4 และเป็นผู้ครองเมืองสุวรรณภูมิคนแรก
ลำดับ เจ้าเมือง เริ่มต้น (พ.ศ.) สิ้นสุด (พ.ศ.) จำนวนปี เหตุการณ์สำคัญ/อื่น ๆ
1 เจ้าแก้วมงคล 2256 2268 12

ตั้งเมืองท่งศรีภูมิ ณ บริเวณเมืองเก่า ตำบลทุ่งศรีเมือง อำเภอสุวรรณภูมิ พระราชครูโพนสะเม็ก (เจ้าราชครูหลวง) พระสังฆราชของอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์เสด็จมาทำพิธีวางเสาหลักเมือง

ในสมัยเจ้าแก้วมงคลมีเจ้ามืดคำดลเป็นอุปราชและเจ้าสุทนต์มณีเป็นราชบุตร (ตามลักษณะการปกครองอาญาสี่)
2 เจ้ามืดคำดล 2268 2306 38

เจ้ามืดคำดล เกิดในคืนเดือนมืด เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ท้าวมืด เป็นบุตรคนโตที่เกิดเเต่พระชายาท่านที่ 2 ชาวเวียงจันทน์ของเจ้าแก้วมงคล

ในสมัยเจ้ามืดคำดลมีเจ้าสุทนต์มณี (น้องชาย) เป็นอุปฮาดและท้าวเซียง (บุตรคนโต) เป็นราชบุตร หลังจากได้ครองเมืองท่ง เจ้ามืดคำดลได้ตั้งแข็งเมืองเป็นเอกราชไม่ได้ขึ้นแก่นครจำปาศักดิ์ เพราะเหตุว่านครจำปาศักดิ์พี่กับน้องเกิดวิวาทยาดชิงสมบัติแก่กันจึงหาได้ติดตามมาว่ากล่าวเอาส่วยสาอากรไม่[ต้องการอ้างอิง] ครั้นต่อมา เจ้าองค์หล่อหน่อคำ เจ้าผู้ครองนครน่าน[ใคร?] ซึ่งเป็นบุตรเจ้าแก้วมงคลเกิดเเต่ธิดาเจ้านครน่านคนเก่า ได้พาไพร่พลมาสืบหาพระบิดา ซึ่งรู้ข่าวว่าพระบิดามาเป็นเจ้าเมืองอยู่ริมสระสี่แจ่ง แฮ้งสี่ตัว แม่หญิงเอาผัว พ่อชายออกลูก ครั้นมาถึงเขตเมืองท่ง เจ้าองค์หล่อตั้งค่ายอยู่ระหว่างปากเสียวน้อย ซึ่งเรียกว่าวังหม่านจนบัดนี้นั้น เจ้าองค์หล่อจับได้เพี้ยบุตรตะพานบ้านโนนสูง กวนหมื่นหน้าบ้านเบน ซึ่งยกทัพออกมาต่อสู้กันนอกเมือง เมื่อได้ตัวแม่ทัพสองคนนี้แล้ว เจ้าองค์หล่อจึงซักไล่ไต่ถามหาสระสี่แจง แฮ้งสี่ตัว แม่หญิงเอาผัว พ่อชายออกลูก แม่ทัพทั้งสองได้แจ้งความให้เจ้าองค์หล่อหน่อคำทราบตลอดแต่ต้นจนถึงปลาย เจ้าองค์หล่อหน่อคำจึงได้ทราบว่าเป็นเมืองพระบิดาของตน แล้วปล่อยให้แม่ทัพสองคนเข้าไปบอกแก่เจ้ามืดคำดลน้องชายให้ทราบทุกประการโดยแน่นอนแล้ว เจ้ามืดรู้ว่าเป็นพี่ชายแห่งตน จึงได้แต่งให้แสนท้าวออกไปอัญเชิญเจ้าองค์หล่อหน่อคำให้เข้ามายังเมืองท่ง แล้วจัดการรับรองให้เป็นเกียรติยศอันดี แล้วเจ้ามืดพร้อมกับเจ้าองค์หล่อหน่อคำจัดการปลงศพเจ้าแก้วมงคลผู้เป็นบิดาตามประเพณีผู้ครองบ้านเมืองมาแต่ก่อน เสร็จแล้วเจ้าองค์หล่อหน่อคำก็ลาเจ้ามืดน้องชายกลับคืนนครน่านตามเดิม[5]
3 เจ้าสุทนต์มณี 2306 2308 2
เจ้าสุทนต์มณีเกิดมาพร้อมมี "พระทนต์" (ฟัน) จึงได้ชื่อว่า "สุทนต์มณี" เป็นบุตรคนที่ 2 ที่เกิดเเต่พระชายาท่านที่ 2 ชาวเวียงจันทน์ของเจ้าแก้วมงคล เจ้าสุทนต์มณีครองเมืองได้ 2 ปี ต่อมาท้าวเซียง (บุตรคนโตของเจ้ามืดคำดล) และท้าวสูน (น้องชายของท้าวเซียง) ได้ร่วมกับกรมการเมืองบางส่วนคบคิดเพื่อหาทางให้ท้าวเซียงขึ้นเป็นเจ้าเมืองท่งศรีภูมิ จึงนำทองคำไปถวายและขอสวามิภักดิ์ต่ออาณาจักรอยุธยา และเจ้าผู้ครองนครจำปาสักมิได้ให้ความช่วยเหลือเจ้าสุทนต์มณีมากพอ จึงยังผลให้เจ้าสุทนต์มณีและกรมการเมืองที่จงรักภักดีพร้อมไพร่พลเมืองส่วนใหญ่หนีออกจากเมืองท่งศรีภูมิไปตั้งรับที่บ้านดงเมืองจอก (เขตอำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ในปัจจุบัน) ท้าวเซียงได้ครองเมืองท่งศรีภูมิต่อจากเจ้าสุทนต์มณีและได้แต่งตั้งท้าวสูนเป็นอุปฮาด และแต่งตั้งท้าวเพ (บุตรท้าวเซียง) เป็นราชบุตร
4 เจ้าเซียง (ท้าวเซียง) หรือ พระรัตนวงษา (เซียง) 2308 2330 22

ท้าวเซียงได้รับการพระบรมราชโองการแต่งตั้งจากสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์แห่งอาณาจักรอยุธยาเป็นเจ้าเมืองท่งศรีภูมิ ต่อมาเกิดศึกระหว่างราชวงศ์โก้นบองกับอาณาจักรอยุธยาจนกระทั่งเสียกรุงในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 เมืองท่งศรีภูมิจึงกลายเป็นอิสระอย่างน้อย 7 เดือน จนกระทั่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกู้กรุงสำเร็จ เมืองท่งศรีภูมิจึงได้เข้าสวามิภักดิ์ต่ออาณาจักรธนบุรี[ต้องการอ้างอิง]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2315 ทางกรมการเมืองและพระยากรมท่าได้หารือกับเจ้าเมือง เห็นว่าควรย้ายที่ตั้งเมืองใหม่ เนื่องจากบริเวณที่ตั้งเดิมติดลำน้ำเสียว ชัยภูมิไม่เหมาะสมในการป้องกันเมือง ตลิ่งเซาะพัง น้ำท่วมถึง ขยายเมืองต่อไปในภายภาคหน้ามิได้ จึงได้มีใบบอกไปยังกรุงธนบุรี ขอย้ายที่ตั้งเมืองท่งศรีภูมิไปยังบริเวณดงเท้าสารซึ่งเป็นเนินสูงขนาดใหญ่และน้ำท่วมไม่ถึงใกล้บริเวณแหล่งน้ำเสียวดังเดิม และเดิมพื้นที่เคยเป็นที่ตั้งบ้านดงเมืองหางซึ่งเป็นเมืองเก่ามาแต่เดิมก่อนแล้ว ทางกรุงธนบุรีจึงมีรับสั่งและพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ย้ายที่ตั้งเมืองมาที่บริเวณดังกล่าว และสถาปนาพระยศท้าวเซียงเป็น "พระรัตนวงษา" ทั้งนี้ พระยศนั้นให้ยังถึงพระนามของเจ้าแก้วมงคล เจ้าเมืองท่งศรีภูมิพระองค์แรก และได้พระราชทานนามเมืองใหม่ว่า "เมืองสุวรรณภูมิ"

ต่อมาพระเจ้ากรุงธนบุรีได้รับสั่งให้พระยากรมท่าเจรจาให้พระรัตนวงษา (เซียง) กับเจ้าสุทนต์มณี (ยังตั้งทัพยั้งอยู่บริเวณบ้านดงเมืองจอก) ให้คืนดีกันในฐานะอาและหลาน และพระยากรมท่าได้เจรจาขอให้เจ้าสุทนต์มณีเข้าสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี เจ้าสุทนต์มณีจึงนำไพร่พลเข้าสวามิภักดิ์ และขอตั้งบ้านเมืองขึ้นใหม่บริเวณบ้านกุ่มฮ้างเป็นเมืองร้อยเอ็ด สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงได้พระราชทานแต่งตั้งพระยศเป็น "พระขัติยวงษา" ในปี พ.ศ. 2318 ครั้งนั้นเขตเมืองสุวรรณภูมิมีว่า ตั้งแต่ปากลำน้ำพาชี ตกลำน้ำมูล ขึ้นมาตามลำน้ำพาชีถึงปากห้วยดางเดียขึ้นไปทุ่งลาดไถ ไปบ้านข้อเหล็ก บ้านแก่งทรายหิน ตั้งแต่ถ้ำเต่าเหวฮวดดวงสวนอ้อย บึงกุยศาลาอีเก้งภูเมง หนองม่วงคลุ้ม กุ่มปักศาลาหักมูลเดง ประจบปากลำน้ำพาชี ตกลำน้ำมูลนี้เปนเขตรเมืองสุวรรณภูมิ[3]

ภายหลังพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้สถาปนาอาณาจักรรัตนโกสินทร์ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 พระรัตนวงษา (เซียง) จึงได้นำบรรณาการและต้นดอกไม้เงินดอกไม้ทองไปถวายและขอสวามิภักดิ์[ต้องการอ้างอิง]
5 พระรัตนวงษา (สูน) 2330 2335 5

ในปี พ.ศ. 2330 ท้าวสูนผู้เป็นน้องชายของพระรัตนวงษา (เซียง) และดำรงตำแหน่งอุปฮาดได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2335 ได้มีเหตุทิดโคตรก่อคดีได้ใช้มีดฟันพระรัตนวงษา (สูน) เสียชีวิต ท้าวอ่อนจึงได้รับโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ
6 พระรัตนาวงษามหาขัติยราช (อ่อน) 2335 2357 22

ท้าวอ่อนได้รับโปรดเกล้าจารึกพระสุพรรณบัฏเป็นที่พระรัตนาวงษามหาขัติยราชครองเมืองสุวรรณภูมิราชบุรียประเทศราช ดังที่ข้อความในเอกสารเรื่องทรงตั้งเจ้าประเทศราชกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 กล่าวไว้ว่า "...ด้วยพระบาทสมเดจพระพุทธิเจ้าอยู่หัวผู้ผ่านพิภพกรุงเทพพระมหานครศรีอยุธยา มีพระราชโองการโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ จ้าวอุปราช เปน พระรันตนาวงษามหาขัติยราชครองเมืองสุวัณภูมราชบุรียประเทศราช เศกให้ ณ วันพฤหัสบดี แรม 11 ค่ำ เดือน 10 จุลศักราช 1153 ปีกุนตรีศก เพลาเช้า 2 โมง 6 บาท..."[2]

พระรัตนวงษา (อ่อน) เป็นบุตรของพระขัติยวงษา (ทนต์) หลังได้ครองเมืองสุวรรณภูมิแล้ว ได้ขอพระราชทานแต่งตั้งท้าวโอ๊ะ (บุตรพระรัตนวงษา(เซียง)) ที่ดำรงตำแหน่งราชบุตรเดิมนั้นขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นอุปฮาด ต่อมา ในปี พ.ศ. 2357 ญาแม่แก้ว ภรรยาหลวงของท้าวอ่อนไม่พอใจที่ท้าวอ่อนมีภรรยามากจึงได้ลงไปกรุงเทพฯ เพื่อฟ้องกล่าวโทษท้าวอ่อนว่า ประพฤติการณ์ทุจริต ข่มเหงราษฎร มีภรรยามาก แลให้ได้รับความเดือดร้อนไปทั่ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีรับสั่งให้พระรัตนวงษา (อ่อน) มาเข้าเฝ้าแก้ต่างคดีที่กรุงเทพมหานคร หลังพิจารณาความแล้วได้ความจริงว่า ท้าวอ่อนเป็นผู้ประพฤติการณ์ตามที่ถูกกล่าวโทษ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปลดท้าวอ่อนออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ และให้นำตัวไปกักขังไว้ ณ บ้านหนองหอย แขวงเมืองสระบุรี แล้วพิจารณาโปรดเกล้าแต่งตั้งท้าวโอ๊ะที่ดำรงตำแหน่งอุปฮาดในขณะนั้นขึ้นเป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ
7 พระรัตนวงษา (โอ๊ะ) 2357 2372 17

ในปี พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงขึ้นไปแยกย้ายกันตรวจสำมะโนครัว และตั้งกองสักอยู่ตามหัวเมืองอีสานบางเมือง มีเมืองกาฬสินธุ์ สุวรรณภูมิ ร้อยเอ็ด เป็นต้น และให้เรียกส่วย ผลเร่วเป็นธรรมเนียมแต่นั้นมา[ต้องการอ้างอิง]

ในสมัยพระรัตนวงษา (โอ๊ะ) ไม่มีการแต่งตั้งอุปฮาดและราชบุตร

ในปี พ.ศ. 2369 เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ เมื่อกองทัพเวียงจันทน์และท้าวอุปราชสีถานของเจ้าอนุวงศ์เดินทางมาถึงเมืองร้อยเอ็ด เจ้าเมืองร้อยเอ็ดได้ยกนางหมานุย นางตุ่ย นางแก้ว ภริยาของพระขัติยวงษาคนก่อนให้อุปราชสีถาน จึงรอดพ้นจากภัย ส่วนพระรัตนวงษา (โอ๊ะ) ได้ยกม้าต่างกับผ้าแพรพร้อมนางอ่อม บุตรีของพระรัตนวงษา (อ่อน) เจ้าเมืองคนเก่าให้ อุปราชสีถาน จึงพ้นภัย (ทั้งนี้เมืองร้อยเอ็ดและเมืองสุวรรณภูมิมิได้เข้าร่วมกับกองทัพเจ้าอนุวงศ์แต่ร่วมต่อสู้กับกองทัพฝ่ายรัตนโกสินทร์)

ในสมัยพระรัตนวงษา (โอ๊ะ) มีการสร้างหล่อพระพุทธรูปสำคัญ ดังปรากฏในจารึกอักษรธรรมพระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง โดยญาครูโสมเมืองสุวรรณภูมิว่า ศุภมัสตุจุลศักราชราชาได้ พัน ๑ ร้อย ๘๓ หัวครูโสมมีศรัทธา สร้างพุทธฮูปไว้กับสาสนา ๕ พัน วสา นิพานปัจจโยโหตุ แล้วเดือน ๔ แรม ๓ ค่ำ วันทิดมื้อกาบสัน (แปล: พระครูโสม (คำว่า หัวครู มาจาก เจ้าหัว,เจ้าอยู่หัว ในอดีตใช้เรียกพระเถระชั้นผู้ใหญ่) เป็นผู้สร้างพุทธรูปนี้ขึ้น แล้วเสร็จเมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2364)

พระพุทธรูปองค์นี้มีพุทธศิลป์นิยมแบบล้านช้างตอนล่างลงมา ซึ่งถือได้ว่าเป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านช้างที่เก่าแก่และสำคัญองค์หนึ่งในเมืองสุวรรณภูมิ สันนิษฐานว่า เป็นการสร้างถวายและประดิษฐานที่วัดป่ายาง (ปัจจุบันในเขตโรงเรียนอนุบาลสุวรรณภูมิ หรือ เทศบาล 2) แล้วย้ายมาที่วัดคุ้ม (ปัจจุบันเป็นวัดร้าง) และนำมาประดิษฐานที่วัดโพธิ์ ซึ่งปัจจุบันคือ วัดสว่างโพธิ์ทอง ในเขตเมืองเก่าสุวรรณภูมิ[ต้องการอ้างอิง]
8 พระรัตนวงษา (ภู) 2372 2395 23
พระรัตนวงษา (ภู) เป็นบุตรของพระขัติยวงษา (ทนต์) เจ้าเมืองร้อยเอ็ด โดยดำรงตำแหน่งอุปฮาดเมืองร้อยเอ็ด ท้าวภูได้มีความดีความชอบในการศึกกบฏเจ้าอนุวงศ์ จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรงตำแหน่งเป็นพระรัตนวงษา (ภู) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งท้าวเกษเป็นอุปฮาดและแต่งตั้งท้าวสาร (บุตรของพระรัตนวงษา (โอ๊ะ)) เป็นท้าวสุริยวงษ์
9 พระรัตนวงษา (สาร) 2395 2397 2
พระรัตนวงษา (สาร) เป็นบุตรของพระรัตนวงษา (โอ๊ะ) ในสมัยนี้ไม่มีการแต่งตั้งอุปฮาดและราชบุตร
- ว่างตำแหน่ง 2397 2401 4
สืบเนื่องจากความขัดแย้งก่อนหน้า และการแต่งตั้งอุปฮาดและราชบุตรมิได้ทันการณ์ ยังผลให้หลังพระรัตนวงษา (สาร) เสียชีวิต จึงไม่สามารถเสนอชื่อบุคคลเพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิได้
10 พระรัตนวงษา มหาราช (เลน) 2401 2410 9

พระรัตนวงษามหาราช (เลน) เป็นบุตรของพระรัตนวงษา (อ่อน)

ในปี พ.ศ. 2402 เมืองสุวรรณภูมิคล้องได้ช้างเผือก “พระมหาศรีเสวตวิมลวรรณ”

ในปี พ.ศ. 2404 เมืองสุวรรณภูมิคล้องได้ช้างเผือก “พระเศวตสุพรรณภาพรรณ”

ในปี พ.ศ. 2409 เกิดคดีปล้นจีนหอย บริเวณบ้านด่าน (ปัจจุบันตำบลด่าน อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เป็นเหตุให้เสียพื้นที่บริเวณตำบลด่านให้แก่แขวงเมืองมหาชนะชัย เมืองอุบลราชธานี

ในปี พ.ศ. 2410 ได้มีการสร้างวัดทุ่งลัฏฐิวัน โดยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2413 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 15 เมตร ยาว 30 เมตร ได้ผูกพัทธสีมาเมื่อ พ.ศ. 2413 มีที่ดินตั้งวัด เนื้อที่ 30 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา ตามส.ค. 1 เลขที่ 884-885-887
11 พระยารัตนวงษา มหาขัติยราช (คำผาย) 2410 2420 10

พระยารัตนวงษามหาขัติยราช (คำผาย) เป็นบุตรของพระรัตนวงษา (ภู)

ในสมัยพระยารัตนวงษามหาขัติยราช (คำผาย) มีท้าวคำสิงห์เป็นอุปฮาดและท้าวคำสอนเป็นราชบุตร

ในปี พ.ศ. 2413 เมืองสุวรรณภูมิคล้องได้ช้างพลายสีประหลาด “พระเสวตสุวรรณภาพรรณ”

ด้วยความดีความชอบและการถวายช้างเผือกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยพระรัตนวงษามหาราช (เลน) พระรัตนวงษา (คำผาย) จึงได้โปรดเกล้าพระราชทานเลือนตำแหน่งจากพระรัตนวงษาเป็น "พระยารัตนวงษา"

ปัจจุบันรายนามช้างเผือกจำนวน 4 เชือกที่เมืองสุวรรณภูมิได้ทูลเกล้าถวายปรากฏในจารึกข้างพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง
12 พระยารัตนวงษา (คำสิงห์) 2420 2428 8

พระยารัตนวงษา (คำสิงห์) เป็นน้องชายของพระยารัตนวงษา (คำผาย)

ในสมัยพระยารัตนวงษา (คำสิงห์) มีท้าวคำสอนเป็นอุปฮาด

ในสมัยนี้มีการขอแยกตั้งบ้านเมืองจำนวนมาก ทั้งในเขตเมืองสุวรรณภูมิและเขตเมืองอื่น ๆ ที่มาตั้งเมืองแต่เกิดข้อพิพาทล่วงล้ำเขตเมืองสุวรรณภูมิ อาทิ เมืองวาปีประทุม, เมืองราษีไศล, เมืองมหาชนะชัย, เมืองชุมพลบุรี และเป็นเหตุให้เมืองสุวรรณภูมิสูญเสียอาณาเขตเป็นจำนวนมากจากการแพ้อรรถคดีเรื่องการตั้งเมืองดังกล่าว
13 พระรัตนวงษา (คำสอน) 2428 2439 11

พระรัตนวงษา (คำสอน) เป็นน้องชายของพระรัตนวงษา (คำสิงห์)

ในปี พ.ศ. 2432 อุปฮาด (สุวรรณ), ราชวงษ์ และกรมการเมืองพนมไพรแดนมฤค ขึ้นเมืองสุวรรณภูมิ มีความวิวาทบาดหมางกับอุปฮาดเมืองสุวรรณภูมิ มิพอใจจะขึ้นกับเมืองสุวรรณภูมิ จึงมีใบบอกไปยังพระพิเรนทรเทพ (ทองคำ) ข้าหลวงเมืองนครราชสีมา ขอขึ้นกับนครราชสีมา แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะเขตแขวงเมืองพนมไพรแดนมฤคมิได้ติดต่อกับเขตแขวงนครราชสีมา ซึ่งจะเป็นทางสะดวกแก่การบังคับบัญชา

ในปี พ.ศ. 2432 อุปฮาดและกรมการเมืองสุวรรณภูมิมีใบบอกกล่าวโทษเมืองมหาสารคาม, เมืองสุรินทร์ และเมืองศรีสะเกษว่าแย่งชิงเขตแขวงเมืองสุวรรณภูมิไปขอตั้งเป็นเมืองขึ้น คือเมืองมหาสารคามขอบ้านนาเลาเป็นเมืองวาปีประทุม, เมืองสุรินทร์ขอบ้านทัพค่ายเป็นเมืองชุมพลบุรี, เมืองศรีสระเกษขอบ้านโนนหินกองเป็นเมืองราษีไศล จึงได้มีการโปรดเกล้า ฯ ให้ข้าหลวงนครจำปาสักและเมืองอุบลราชธานีไต่สวนว่ากล่าวในเรื่องนี้ ได้ข้อสรุปว่ารื้อถอนไม่ไหวเพราะได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งเป็นเมืองขึ้นของเมืองทั้งสามมาได้หลายปีแล้ว ดังนั้นโปรดเกล้า ฯ ให้คงเป็นเมืองขึ้นของเมืองทั้งสามตามเดิม

ในปี พ.ศ. 2433 พระดำรงฤทธิไกร (บุญตา) เจ้าเมืองพนมไพรแดนมฤคซึ่งลงมา ณ กรุงเทพฯ เพื่อจะขอเป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ แต่ไม่สำเร็จ เลยป่วยพักรักษาตัวอยู่ ณ กรุงเทพฯ นั้น ครั้นอาการป่วยทุเลาแล้ว จึ่งกราบถวายบังคมลากลับบ้านเมือง ครั้นไปถึงเมืองนครราชสีมา กลับเป็นไข้หนักลงอีก ครั้นวันพฤหัสบดี แรม 11 ค่ำ เดือน 12 จึงถึงแก่กรรม

ในปี พ.ศ. 2434 มีสารตราโปรดเกล้า ฯ ให้ปันหน้าที่ข้าหลวงเป็น 4 กอง คือ หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก, หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ, เมืองลาวฝ่ายเหนือ และหัวเมืองลาวกลาง เมืองสุวรรณภูมิอยู่ในบังคับบัญชาหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ

ในปี พ.ศ. 2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรเป็นข้าหลวงใหญ่ พร้อมด้วยข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนออกไปตั้งรักษาอยู่ ณ เมืองนครจำปาศักดิ์ ให้เรียกว่าข้าหลวงหัวเมืองลาวกาว โดยให้เมืองสุวรรณภูมิอยู่ในบังคับบัญชาข้าหลวงเมืองลาวกาว

ในปี พ.ศ. 2435 มีตราลงวันที่ 28 พฤศจิกายนว่า ท้าวสิลารับการตำแหน่งพระศรีเกษตราธิไชย ผู้รักษาราชการเมืองเกษตรวิไสย เมืองขึ้นเมืองสุวรรณภูมิ มีใบบอกส่งบัญชีสำมะโนครัวมายังกรุงเทพฯ ข้ามเมืองสุวรรณภูมิเมืองใหญ่ มีความผิด ให้ข้าหลวงเมืองอุบลเรียกตัวมาว่ากล่าวภาคทัณฑ์อย่าให้ทำต่อไป

ในปี พ.ศ. 2435 โปรดเกล้าฯ ให้จมื่นศักดิ์บริบาล นายร้อยโทเล็กเป็นข้าหลวงเมืองสุวรรณภูมิ

ในปี พ.ศ. 2436 กรมไปรษนีย์โทรเลขได้จัดให้มิสเตอร์โทมัศปาเมอ มิศเตอร์แมกสมูลเลอ มิศเตอร์วิลเลียม ไปจัดตั้งไปรษนีย์ตามหัวเมืองในมณฑลลาวกาว ซึ่งรวมถึงเมืองสุวรรณภูมิ ไปต่อกับหัวเมืองในมณฑลลาวกลางมากรุงเทพ ฯ กำหนดเดินอาทิตย์ละครั้ง

ในปี พ.ศ. 2437 วันที่ 2 เมษายน ฝรั่งเศสยกกระบวนทัพล่วงเข้ามาถึงเมืองเชียงแตง บังคับขับไล่หลวงพิพิธสุนทร (อิน) แลนายร้อยโทคร้ามข้าหลวงกับทหาร 12 คน ซึ่งอยู่รักษาเมืองเชียงแตงให้ข้ามไปอยู่ ณ เมืองธาราบริวัตร ฝั่งโขงตะวันตกโดยอ้างเหตุว่า ดินแดนในฝั่งโขงตะวันออกและเกาะดอนในลำน้ำโขงเป็นเขตแขวงของญวนซึ่งอยู่ในบำรุงฝรั่งเศส

เวลานั้นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ข้าหลวงใหญ่หัวเมืองลาวกาวซึ่งประทับอยู่เมืองอุบลราชธานี เมื่อได้ทรงทราบว่าฝรั่งเศสแสดงตัวเป็นศัตรูขึ้นดังนั้นแล้ว จึ่งได้โปรดให้เกณฑ์กำลังเมืองศรีสระเกษ เมืองขุขันธ์ เมืองสุรินทร์ เมืองมหาสารคาม เมืองร้อยเอ็ด เมืองละ 800 คน และเมืองสุวรรณภูมิ เมืองยโสธร เมืองละ 500 คน และให้เกณฑ์เมืองขุขันธ์อีก 500 คน ให้พระศรีพิทักษ์ (หว่าง) ข้าหลวงเมืองขุขันธ์คุมไปตั้งรักษาอยู่ ณ เมืองมโนไพรและเมืองเซลำเภา โปรดให้หลวงเทพนรินทร์ (วัน) ซึ่งกลับจากหน้าที่เมืองตะโปนไปเป็นข้าหลวงแทนพระศรีพิทักษ์อยู่เมืองขุขันธ์

และให้นายสุจินดา ขุนอินทรประสาท (กอน) นายร้อยตรีคล้าย นายร้อยตรีโชติ คุมทหาร 100 คน และกำลัง 500 คน พร้อมด้วยศาสตราวุธ เป็นทัพหน้า รีบยกออกจากเมืองอุบลราชธานีตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน ลงไปสมทบช่วยพระประชาณเมืองสีทันดร และโปรดให้เมืองใหญ่ทุกเมืองในหัวเมืองลาวกาวเรียกคนพร้อมด้วยศาสตราวุธ มาเตรียมไว้กับบ้านเมือง เมืองละ 1,000 คน

วันที่ 20 พฤษภาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรโปรดให้อุปฮาด (อำคา) เมืองสุวรรณภูมิ 1 พระศรีเกษตราธิไชย (ศิลา) ผู้ว่าราชการเมืองเกษตรวิไสย 1 คุมคนเมืองสุวรรณภูมิ 500 แลให้พระสุนทรพิพิธ ผู้ว่าราชการเมืองโกสุม 1 หลวงจำนงวิไชย ผู้ช่วยเมืองร้อยเอ็ด 1 คุมคนมหาสารคาม แลร้อยเอ็ด 300 รวม 800 ยกออกจากเมืองอุบลไปช่วยพระประชาณค่ายดอนสาคร

วันที่ 2 มิถุนายน กรมหลวงพิชิตปรีชากรโปรดให้พระสิทธิศักดิสมุทเขตร (บุษย์) เป็นข้าหลวงบังคับเมืองมหาสารคาม เมืองร้อยเอ็ด เมืองสุวรรณภูมิ ตั้งอยู่ ณ เมืองมหาสารคาม ให้พระดุษฎีตุลกิจ (สง) ข้าหลวงเมืองสุวรรณภูมิ ไปช่วยพระสิทธิศักดิ อยู่ ณ เมืองมหาสารคาม ถอนนายร้อยตรีพรหม ข้าหลวงเมืองมหาสารคามมาอยู่เมืองสุวรรณภูมิ

วันที่ 24 ตุลาคม กรมหลวงพิชิตปรีชากรโปรดให้พระณรงค์วิชิต (เลื่อน) เป็นข้าหลวงตรวจจัดราชการเมืองกาฬสินธุ์ กมลาไศรย ภูแล่นช้าง เมืองร้อยเอ็ด เมืองสุวรรณภูมิ เมืองมหาสารคาม

วันที่ 4 พฤศจิกายน โปรดให้ขุนอาสาสงคราม (สวน) ไปเป็นข้าหลวงช่วยนายร้อยตรีพรหมอยู่ ณ เมืองสุวรรณภูมิ
14 พระรัตนวงษา (อำคา) 2439 2443 5

ในปี พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองในระบบกินเมือง[4]

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2443 เมืองสุวรรณภูมิจึงเปลี่ยนตำแหน่งเจ้าเมืองเป็นผู้ว่าราชการเมือง, อุปฮาดเป็นปลัดเมือง, ราชวงษ์เป็นมหาดไทยเมือง และราชบุตรเป็นยกกระบัตรเมือง

การปกครอง

แก้

เมืองสุวรรณภูมิได้แบ่งอาณาเขตออกให้ทายาทของเจ้าแก้วมงคลได้ปกครองหลายเมือง ดังนี้

  1. พ.ศ. 2318 เมืองร้อยเอ็ด (จังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบัน)
  2. พ.ศ. 2335 เมืองชนบท (อำเภอชนบทในปัจจุบัน)
  3. พ.ศ. 2342 เมืองพุทไธสง (อำเภอพุทไธสงในปัจจุบัน)
  4. พ.ศ. 2408 เมืองมหาสารคาม แยกออกจากเมืองร้อยเอ็ดและเมืองสุวรรณภูมิ
  5. พ.ศ. 2415 เมืองเกษตรวิสัย (อำเภอเกษตรวิสัยในปัจจุบัน)
  6. พ.ศ. 2421 เมืองพนมไพรแดนมฤค (อำเภอพนมไพรในปัจจุบัน)
  7. พ.ศ. 2422 เมืองพยัคฆภูมิพิสัย (อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ในปัจจุบัน)
  8. พ.ศ. 2425 เมืองวาปีปทุม (อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม ในปัจจุบัน) แยกออกจากเมืองร้อยเอ็ด แต่ไปตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เมืองสุวรรณภูมิ ภายหลังยังคงให้ขึ้นเมืองร้อยเอ็ด ก่อนมาขึ้นจังหวัดมหาสารคามในภายหลัง
  9. พ.ศ. 2425 เมืองจตุรพักตร์พิมาน (อำเภอจตุรพักตร์พิมาน ในปัจจุบัน)

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 เจ้าแก้วมงคล (2021-07-15). "พื้นที่อาณาเขตของเมืองศรีภูมิ(สุวรรณภูมิ)". Facebook. สืบค้นเมื่อ 2024-11-14.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. 2.0 2.1 2.2 สำนักนายกรัฐมนตรี (1971), เรื่องทรงตั้งเจ้าประเทศราชกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ [Regarding the Royal Investiture of Vassal Lords in the Kingdom of Rattanakosin During the Reign of Rama I] (PDF), พระนคร: โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, pp. 11, 25, สืบค้นเมื่อ 2024-08-27
  3. 3.0 3.1 วิภาคย์พจนกิจ, เติม (2003), ประวัติศาสตร์อีสาน (PDF) (4th ed.), กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, pp. 155–179, ISBN 974-571-854-8, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2024-06-09, สืบค้นเมื่อ 2024-11-14
  4. 4.0 4.1 สิถิรบุตร, อุราลักษณ์ (1983). "บทที่ ๓" (PDF). มณฑลอีสานและความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ [Monthon Isan and its historical significance] (วิทยานิพนธ์). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. pp. 129–131. สืบค้นเมื่อ 2024-11-10.
  5. ขัติยะวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็จ), พระยา (1929), พงศาวดารภาคอีสาน ฉะบับของพระยาขัติยวงษา (เหลา ณร้อยเอ็จ), พระนคร: โรงพิมพ์ศรีหงส์, pp. 8–9, สืบค้นเมื่อ 2024-11-14