อี พัง-จา (เกาหลี이방자; ฮันจา李方子; อาร์อาร์I Bangja; เอ็มอาร์Yi Pangja) หรือ มาซาโกะ ริ (ญี่ปุ่น: 李方子โรมาจิRi Masako) พระนามเดิม เจ้าหญิงมาซาโกะแห่งนาชิโมโตะ (ญี่ปุ่น: 方子女王โรมาจิMasako Joō; 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2444 — 30 เมษายน พ.ศ. 2532) เป็นพระชายาในมกุฎราชกุมารอึยมินแห่งเกาหลี[1] เดิมทั้งสองพระองค์มีสิทธิ์ในการสืบราชบัลลังก์เป็นจักรพรรดิและจักรพรรดินีแห่งเกาหลี หากแต่เกิดการล้มล้างการปกครองสนธิสัญญาผนวกดินแดนญี่ปุ่น-เกาหลี ในปี พ.ศ. 2453 ที่คาบสมุทรเกาหลีตกเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิญี่ปุ่น

อี พัง-จา
พระชายาในมกุฎราชกุมารอึยมิน
ประสูติ4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2444
ชิบูยะ จังหวัดโตเกียว จักรวรรดิญี่ปุ่น
สิ้นพระชนม์30 เมษายน พ.ศ. 2532 (87 ปี)
พระราชวังชังด็อก โซล ประเทศเกาหลีใต้
พระสวามีอี อึน (พ.ศ. 2463–2513)
พระบุตรอี จิน
อี กู
ราชวงศ์ญี่ปุ่น (ประสูติ)
โชซ็อน (เสกสมรส)
พระบิดาโมริมาซะ นาชิโมโตะ
พระมารดาอิตสึโกะ นาเบชิมะ
ศาสนาโรมันคาทอลิก (เดิมชินโต)

อี พัง-จาเป็นเชื้อพระวงศ์ญี่ปุ่นทั้งเป็นพระประยูรญาติสนิทของจักรพรรดินีโคจุง และเจ้าหญิงเซ็ตสึโกะ พระชายาในเจ้าชายยาซูฮิโตะ สืบมาแต่ฝ่ายพระบิดาและพระมารดาตามลำดับ จากการที่ทรงประกอบพระกรณียกิจด้วยการอุปถัมภ์องค์กรเพื่อคนพิการทุพพลภาพและการก่อตั้งโรงเรียนขึ้นในเกาหลีใต้ ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงเป็นหนึ่งในสตรีญี่ปุ่นที่ชาวเกาหลีให้ความเคารพอย่างกว้างขวาง

พระประวัติ

แก้

พระชนม์ชีพตอนต้น

แก้

อี พัง-จา หรือ มาซาโกะ ริ มีพระนามเดิมว่า เจ้าหญิงมาซาโกะแห่งนาชิโมโตะ ประสูติเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2444 เป็นพระธิดาพระองค์ใหญ่ในเจ้าชายโมริมาซะ นาชิโมโตะโนะมิยะ เป็นจอมพลแห่งกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น กับเจ้าหญิงอิตสึโกะ พระชายาฯ (สกุลเดิม นาเบชิมะ) ธิดาของมาร์ควิสนาโอฮิโระ นาเบชิมะ อดีตเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศอิตาลี อี พัง-จามีพระขนิษฐาร่วมอุทรหนึ่งพระองค์คือ เจ้าหญิงโนริโกะแห่งนาชิโมโตะ (พ.ศ. 2450–2535) และมีพระอนุชาที่พระมารดาทรงรับเลี้ยงไว้ ชื่อเจ้าชายโนริฮิโกะแห่งนาชิโมโตะ (พระนามเดิม เจ้าชายทากะแห่งคูนิ และต่อมาได้ยศและเปลี่ยนนามเป็น เคานต์โนริฮิโกะ ทาซูตะ) หลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง ครอบครัวของพระองค์ถูกถอดจากฐานันดรศักดิ์ทั้งหมด

พื้นฐานครอบครัวของพระองค์ พระบิดาเป็นพระโอรสในเจ้าชายอาซาฮิโกะ คูนิโนะมิยะ เจ้าหญิงมาซาโกะจึงเป็นพระญาติและมิตรสหายกับเจ้าหญิงนางาโกะแห่งคูนิ (ต่อมาได้เป็นจักรพรรดินีในจักรพรรดิโชวะ) ส่วนบรรพชนฝ่ายพระมารดาคือสกุลนาเบชิมะ สืบสกุลจากนาโอฮิโตะ นาเบชิมะ ไดเมียวคนสุดท้ายแห่งแคว้นซางะ เจ้าหญิงพังจามีพระญาติชั้นหนึ่งในสายนี้ที่มีความสนิทสนมเป็นสหายร่วมกัน ชื่อ เซ็ตสึโกะ มัตสึไดระ ที่ต่อมาได้เป็นพระชายาในเจ้าชายยาซูฮิโตะ ชิจิบุโนะมิยะ และโยชิโกะ มัตสึไดระ ที่ต่อมาเป็นพระชายาในเจ้าชายก็อนแห่งเกาหลี

อภิเษกสมรส

แก้
 
เจ้าหญิงพังจาและพระภัสดา เมื่อปี พ.ศ. 2467

เมื่อพระองค์ล่วงเข้าสู่วัยสาวสะพรั่ง พระองค์ได้ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในสตรีที่มีความเหมาะสมกับการเป็นพระชายาของยุพราชเจ้าแห่งญี่ปุ่น ซึ่งก็รวมไปถึงเจ้าหญิงนางาโกะแห่งคูนิ พระสหาย และโทกิโกะ อิชิโจที่มีความเหมาะสมในเรื่องของวัยวุฒิและสถานะทางสังคม แต่ด้วยเหตุที่ว่าพื้นฐานครอบครัวของพระองค์นั้นมีบุตรน้อยทั้งยังเป็นสตรีเสียหมดเจ้าหญิงอาจจะให้กำเนิดพระราชโอรสยาก เจ้าหญิงมาซาโกะจึงเป็นตัวเลือกที่ถูกตัดออกเป็นคนแรก

แต่อย่างไรก็ตามเจ้าหญิงมาซาโกะก็ได้เสกสมรสกับมกุฎราชกุมารอึยมินแห่งเกาหลีแทน โดยมกุฎราชกุมารแห่งเกาหลีพระองค์นี้ถูกนำมาเข้ารับการศึกษาที่ญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2459 ครั้นเจ้าหญิงมาซาโกะทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกะกุชูอิงในปี พ.ศ. 2463 ก็ได้มีการจัดพระราชพิธีอภิเษกสมรสเมื่อวันที่ 28 เมษายนปีเดียวกันนั้น ณ พระราชวังลี กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และได้รับการสถาปนาเป็น "มกุฎราชกุมารีแห่งเกาหลี" ส่วนพระนาม "มาซาโกะ" ของพระองค์ออกเสียงอย่างเกาหลีว่า "พังจา" และสะกดด้วยอักษรจีนเช่นกัน

เจ้าหญิงมาซาโกะ หรือเจ้าหญิงพังจา ได้ให้ประสูติกาลพระโอรสพระองค์แรกคือเจ้าชายจิน เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2464 แต่พระโอรสพระองค์น้อยนี้ก็มีพระชนม์ให้ชื่นชมโสมนัสได้ไม่นานก็ถูกลอบปลงพระชนม์เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2465 ขณะที่มกุฎราชกุมารและเจ้าหญิงพังจาประทับอยู่ในเกาหลี สร้างความเศร้าเสียพระทัยแก่ทั้งสองพระองค์อย่างยิ่ง

วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2469 จักรพรรดิซุนจง พระเชษฐาของมกุฎราชกุมารเสด็จสวรรคต พระองค์จึงมีพระอิสริยยศเป็น "พระราชินี" ส่วนพระสวามีเป็น "พระราชา" ก็เพราะสนธิสัญญาผนวกดินแดนญี่ปุ่น-เกาหลีที่ลดตำแหน่งผู้นำเกาหลีจากจักรพรรดิเป็นเพียงราชา แต่เจ้าชายอึยมินไม่เคยผ่านพิธีราชาภิเษก ทั้งสองจึงมีอิสริยยศเพียงมกุฎราชกุมาร และมกุฎราชกุมารีตามเดิม ระหว่างนี้เจ้าหญิงพังจาได้ให้ประสูติกาลพระโอรสองค์ที่สอง คือ เจ้าชายกู เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2474

ชีวิตของมกุฎราชกุมารีองค์สุดท้ายแห่งเกาหลี

แก้
 
เจ้าหญิงพังจาและพระภัสดา ขณะเยี่ยมชมนิทรรศการศิลปะแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2476

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง กลุ่มเชื้อพระวงศ์ รวมทั้งตำแหน่งขุนนางต่าง ๆ ถูกล้มเลิกโดยการยึดครองของสหรัฐอเมริกา การปกครองของเกาหลีจึงเปลี่ยนแปลงไป โดยเกาหลีเหนือมีการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ส่วนเกาหลีใต้ที่พระองค์ประทับอยู่ ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบสาธารณรัฐ ในสมัยของรัฐบาลอี ซึง-มัน มกุฎราชกุมารอึยมินได้เสด็จออกจากเกาหลีไปใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในญี่ปุ่นแทน จนในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2506 ครอบครัวของอดีตมกุฎราชกุมารได้เสด็จกลับเกาหลีตามคำกราบทูลเชิญของพัก ช็อง-ฮี ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ โดยประทับที่พระราชวังชังด็อก ในโซล[2] แต่หลังจากนิวัติกลับมาได้ไม่ถึงทศวรรษ มกุฎราชกุมารอึยมินได้หมดสติและสิ้นพระชนม์ลงในโรงพยาบาลเซอุลซ็องโม (Seoul Sungmo Hospital) เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 ด้วยพระอาการเส้นพระโลหิตอุดตัน

หลังจากนั้นเป็นต้นมา เจ้าหญิงพังจาได้อุทิศพระองค์ให้กับการศึกษาเกี่ยวกับสภาพจิตใจและบุคคลทุพพลภาพ ทรงดำรงตำแหน่งเป็นประธานและคณะกรรมการต่าง ๆ รวมทั้ง "คณะกรรมการที่ระลึกถึงมกุฎราชกุมารอึยมิน" (Commemorative Committee of Crown Prince Euimin) และโรงพยาบาลมย็องฮวี-ว็อน สำหรับคนหูหนวก, เป็นใบ้ หรือผู้ป่วยทารก นอกจากนี้ยังทรงก่อตั้งโรงเรียนจาฮเย และโรงเรียนมย็องฮเย สำหรับคนพิการให้ปรับตัวเข้าสู่สังคมได้อย่างปกติสุข ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงได้รับการเคารพจากชาวเกาหลีว่าเป็น "แม่พระของผู้ทุพพลภาพแห่งเกาหลี" แม้จะมีการต่อต้านญี่ปุ่นก็ตาม แต่เจ้าหญิงพังจาก็เป็นชาวญี่ปุ่นที่ชาวเกาหลีเคารพรักอย่างกว้างขวาง[3][4]

ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงพังจาในปี พ.ศ. 2532 ราชสกุลนาชิโมโตะได้เข้ามาแสดงความเคารพเจ้าหญิงพังจาที่โซลในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2544 ราชสกุลนาชิโมโตะมีการจัดตั้งกองทุนการกุศลให้การช่วยเหลือชาวเกาหลีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการตรวจร่างกาย เฉกเช่นเมื่อสมัยที่เจ้าหญิงพังจาได้กระทำขณะเจ้าหญิงยังมีพระชนม์อยู่[5]

ส่วนพระองค์ได้เข้ารีตศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก และมีพระนามทางศาสนาว่า "มารีอา"[6]

สิ้นพระชนม์

แก้

เจ้าหญิงสิ้นพระชนม์ด้วยโรคมะเร็ง เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2532 ณ ตำหนักนักซ็อน พระราชวังชังด็อก โซล สิริรวมพระชนมายุได้ 87 พรรษา งานปลงพระศพที่จัดขึ้นเป็นกึ่งพระราชพิธี โดยมีเจ้าชายทากาฮิโตะ มิกาซะโนะมิยะ และเจ้าหญิงยูริโกะ พระชายาฯ พระประยูรญาติจากญี่ปุ่นเข้าร่วมงานพิธีดังกล่าว พระศพของพระองค์ได้ถูกฝังเคียงข้างพระศพพระสวามีคือมกุฎราชกุมารอึยมินที่สุสานหลวงราชวงศ์โชซอนใกล้โซล

มีหนังสืออัตชีวประวัติของพระองค์ คือหนังสือ The World is One: Princess Yi Pangja's Autobiography โดยเนื้อหาในหนังสือจะมีรายละเอียดปลีกย่อยของพระองค์รวมอยู่ด้วย

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย

แก้

พระประวัติของพระองค์ได้รับการถ่ายทอดเป็นละครของเกาหลีใต้เรื่อง "อี พัง-จา สตรีผู้อับโชค" (비운의 이방자 여사; Unfortunate Mrs. Lee Bang Ja) ออกอากาศทางช่องเอสบีเอส (SBS) เมื่อปี พ.ศ. 2550 นำแสดงโดยคิม ฮี-เอ บทโทรทัศน์โดยจุง ฮา-ยุน ตามท้องเรื่องได้เล่าถึงเรื่องราวของพระองค์ที่เสกสมรสกับอี อึน ที่ญี่ปุ่น หลังทั้งสองย้ายกลับมายังเกาหลีเมื่อปี พ.ศ. 2505 อี พัง-จาได้ช่วยงานเพื่อสังคมโดยเฉพาะเด็กพิการจนสิ้นพระชนม์[7]

พระอิสริยยศ

แก้
  • 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2444 — 28 เมษายน พ.ศ. 2463 : เจ้าหญิงมาซาโกะแห่งนาชิโมโตะ
  • 28 เมษายน พ.ศ. 2463 — 2469 : เจ้าหญิงพังจา พระชายาในมกุฎราชกุมารอึยมิน
  • พ.ศ. 2469 — 2517 : สมเด็จพระราชินีอี
  • พ.ศ. 2517 — 30 เมษายน พ.ศ. 2532 : อี พัง-จา

พระบุตร

แก้
พระนาม ประสูติ สิ้นพระชนม์ เสกสมรส พระนัดดา
อี จิน 18 สิงหาคม พ.ศ. 2464 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2465
อี กู 29 ธันวาคม พ.ศ. 2474 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 25 ตุลาคม พ.ศ. 2502 จูเลีย มุลล็อก

พงศาวลี

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. (เกาหลี)김희애 조선 마지막 황태자비 이방자 역 캐스팅[ลิงก์เสีย]
  2. Naver dictionary http://100.naver.com/100.nhn?docid=126171[ลิงก์เสีย]
  3. Interview with principal of Jahye school in South Korea (우리 모두는 남이 아닌 한 이웃)
  4. ได้รับการยืนยันจากนักศึกษาของพระองค์ โดยเจ้าหญิงพังจาได้ให้ความห่วงใยแก่บุคลากร สัตว์ หรือแม้แต่เครื่องจักร อ้างจาก "이방자 여사는 장애인을 이끌어준 등불" (Princess Lee, the Lighthouse for the physically challenged) , Yonhap News
  5. (เกาหลี) 영친왕비 이방자 여사 종친 방한
  6. (เกาหลี) "장애인 복지시설의 요람 40돌". 평화신문. 2007년 10월 21일. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  7. "Unfortunate Mrs. Lee Bang Ja". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-09-23. สืบค้นเมื่อ 2009-11-14.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
  •   วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ อี พัง-จา
ก่อนหน้า อี พัง-จา ถัดไป
จักรพรรดินีซุนจ็อง   อ้างสิทธิจักรพรรดินีเกาหลี
(24 เมษายน พ.ศ. 2469 — 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2513)
  จูเลีย มุลล็อก