อำเภอนาเชือก
นาเชือก เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดมหาสารคาม มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 และมีประชากรมากเป็นอันดับ 8 ของจังหวัด
อำเภอนาเชือก | |
---|---|
![]() | |
คำขวัญ: ปลาบู่เนื้อหวาน ถิ่นฐานปูทูลกระหม่อม งามพร้อมผ้าไหม น้ำใสห้วยค้อ | |
พิกัดภูมิศาสตร์: 15°48′0″N 103°1′54″E / 15.80000°N 103.03167°E | |
อักษรไทย | อำเภอนาเชือก |
อักษรโรมัน | Amphoe Na Chueak |
จังหวัด | มหาสารคาม |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 528.198 ตร.กม. (203.938 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2562) | |
• ทั้งหมด | 61,073 คน |
• ความหนาแน่น | 115.62 คน/ตร.กม. (299.5 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 44170 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 4407 |
ที่ตั้ง ที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภอนาเชือก ถนนบรบือ-พยัคฆภูมิพิสัย ตำบลนาเชือก อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม 44170 |
![]() |
ประวัติแก้ไข
เนื่องจากท้องที่ตำบลนาเชือก อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย ท้องที่ตำบลเขวาไร่ อำเภอบรบือ มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่นและอยู่ห่างไกลจากที่ว่าการอำเภอแต่ละแห่ง ประชาชนได้รับความลำบากในการเดินทางไปติดต่อราชการ ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ ต่อมาเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2482 ประชาชนในท้องที่ตำบลนาเชือก โดยการนำของ นายประกิจ ปะวะโก สมาชิกสภาจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่บ้านโคกกลม ตำบลนาเชือก ได้ยื่นคำร้องต่อนายอำเภอพยัคฆภูมิพิสัยและนำเรื่องนี้เสนอต่อที่ประชุมสภาจังหวัดมหาสารคาม เพื่อขอให้ทางราชการจัดตั้งกิ่งอำเภอขึ้นในท้องที่ตำบลนาเชือก สภาจังหวัดรับหลักการและจังหวัดได้สั่งให้นายอำเภอพยัคฆภูมิพิสัยและนายอำเภอบรบือ จัดการสำรวจสถิติต่าง ๆ เสนอกระทรวงมหาดไทย เพื่อประกอบในการจัดตั้งกิ่งอำเภอขึ้น เนื่องจากเหตุผลบางประการเรื่องนี้จึงได้สะดุดหยุดลง แต่ประชาชนก็ยังมีความต้องการและเรียกร้องให้มีการจัดตั้งกิ่งอำเภอตามความต้องการเรื่อยมา
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2496 จังหวัดได้สั่งให้นายอำเภอบรบือและนายอำเภอพยัคฆภูมิพิสัยร่วมกันทำการสำรวจพื้นที่ที่ควรจัดตั้งที่ว่าการกิ่งอำเภอขึ้นในท้องที่ตำบลนาเชือก ได้ทำการสำรวจพื้นที่หลายแห่ง ในที่สุดตกลงเลือกเอาพื้นที่โคก (เป็นสถานที่ตั้งที่ว่าการอำเภอนาเชือกในปัจจุบัน) อยู่ระหว่างบ้านนาเชือกกับบ้านกุดรัง เป็นสถานที่ตั้งที่ว่าการกิ่งอำเภอ เพราะเป็นทำเลที่เหมาะสมเกี่ยวกับการวางและขยายผังเมืองตลอดทั้งเหตุผลในทางเศรษฐกิจในอนาคตด้วย
เมื่อปี พ.ศ. 2500 กระทรวงมหาดไทยได้จัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างที่ว่าการกิ่งอำเภอนาเชือก แต่การดำเนินการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จถูกผู้รับเหมาบอกเลิกสัญญา ต่อมาในปี พ.ศ. 2501 กระทรวงมหาดไทยได้จัดสรรงบประมาณให้ดำเนินการก่อสร้างที่ว่าการกิ่งอำเภอนาเชือกจนแล้วเสร็จ โดยทางจังหวัดได้มอบหมายให้ นายเวศ สุริโย นายอำเภอพยัคฆภูมิพิสัยเป็นผู้ควบคุมดูแลการก่อสร้าง เพราะสถานที่ตั้งที่ว่าการกิ่งอำเภออยู่ในเขตท้องที่อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย ซึ่งการปรับพื้นที่ ถางป่า ขุดตอ ได้รับความร่วมมือจากประชาชนโดยไม่คิดค่าตอบแทนแต่อย่างใด[1]
- วันที่ 3 มิถุนายน 2501 สร้างที่ว่าการกิ่งอำเภอนาเชือก ในท้องที่อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย (ยังไม่จัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอ)[2]
- วันที่ 15 มีนาคม 2503 เปลี่ยนแปลงเขตอำเภอบรบือ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย และอำเภอวาปีปทุม โดยโอนพื้นที่ตำบลนาเชือก และพื้นที่หมู่ 9-16 (ในขณะนั้น) ของตำบลนาภู อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย ไปขึ้นกับอำเภอบรบือ และโอนพื้นทีหมู่ 6,8,10-15,20,22 (ในขณะนั้น) ของตำบลนาดูน พื้นที่หมู่ 2,8,11-16,18 (ในขณะนั้น) ของตำบลนาข่า อำเภอวาปีปทุม ไปขึ้นกับอำเภอบรบือ[3]
- วันที่ 16 สิงหาคม 2503 แยกพื้นที่ตำบลนาเชือก และตำบลเขวาไร่ อำเภอบรบือ มาตั้งเป็น กิ่งอำเภอนาเชือก ขึ้นกับอำเภอบรบือ[4]
- วันที่ 18 กรกฎาคม 2504 ตั้งตำบลสำโรง แยกออกจากตำบลเขวาไร่ ตั้งตำบลปอพาน แยกออกจากตำบลนาเชือก ตั้งตำบลหนองโพธิ์ แยกออกจากตำบลนาเชือก และตำบลเขวาไร่[5]
- วันที่ 16 กรกฎาคม 2506 ยกฐานะจากกิ่งอำเภอนาเชือก อำเภอบรบือ เป็น อำเภอนาเชือก[6]
- วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2512 จัดตั้งสุขาภิบาลนาเชือก ในท้องที่บางส่วนของตำบลนาเชือก และตำบลเขวาไร่[7]
- วันที่ 2 กันยายน 2512 ตั้งตำบลหนองเม็ก แยกออกจากตำบลปอพาน และตำบลนาเชือก ตั้งตำบลหนองเรือ แยกออกจากตำบลเขวาไร่ และตำบลหนองโพธิ์ ตั้งตำบลหนองกุง แยกออกจากตำบลนาเชือก และตำบลหนองโพธิ์[8]
- วันที่ 11 สิงหาคม 2515 เปลี่ยนแปลงเขตอำเภอนาเชือก อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย และกิ่งอำเภอนาดูน อำเภอวาปีปทุม โดยโอนพื้นที่หมู่ 4,7,9,11 (ในขณะนั้น) ของตำบลหนองโพธิ์ อำเภอนาเชือก และพื้นที่หมู่ 2,7-8,10,12-14 (ในขณะนั้น) ของตำบลบ้านกู่ และพื้นที่ตำบลดงบังทั้งตำบล อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย ไปขึ้นกับกิ่งอำเภอนาดูน อำเภอวาปีปทุม[9]
- วันที่ 14 กันยายน 2519 ตั้งตำบลหนองแดง แยกออกจากตำบลสำโรง[10]
- วันที่ 29 กรกฎาคม 2534 ตั้งตำบลสันป่าตอง แยกออกจากตำบลหนองกุง และตำบลหนองโพธิ์[11]
- วันที่ 11 พฤศจิกายน 2539 กำหนดให้พื้นที่ป่าดูนลำพัน ตำบลนาเชือก เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน[12]
- วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ยกฐานะจากสุขาภิบาลนาเชือก เป็นเทศบาลตำบลนาเชือก
ที่ตั้งและอาณาเขตแก้ไข
อำเภอนาเชือกมีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอกุดรังและอำเภอบรบือ
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอวาปีปทุมและอำเภอนาดูน
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอยางสีสุราช และอำเภอนาโพธิ์ (จังหวัดบุรีรัมย์)
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอนาโพธิ์ (จังหวัดบุรีรัมย์) อำเภอหนองสองห้อง และอำเภอเปือยน้อย (จังหวัดขอนแก่น)
การแบ่งเขตการปกครองแก้ไข
การปกครองส่วนภูมิภาคแก้ไข
อำเภอนาเชือกแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 10 ตำบล 145 หมู่บ้าน ได้แก่
1. | นาเชือก | (Na Chueak) | 18 หมู่บ้าน | 6. | ปอพาน | (Po Phan) | 16 หมู่บ้าน | ||||||||||
2. | สำโรง | (Samrong) | 15 หมู่บ้าน | 7. | หนองเม็ก | (Nong Mek) | 20 หมู่บ้าน | ||||||||||
3. | หนองแดง | (Nong Daeng) | 10 หมู่บ้าน | 8. | หนองเรือ | (Nong Ruea) | 13 หมู่บ้าน | ||||||||||
4. | เขวาไร่ | (Khwao Rai) | 19 หมู่บ้าน | 9. | หนองกุง | (Nong Kung) | 11 หมู่บ้าน | ||||||||||
5. | หนองโพธิ์ | (Nong Pho) | 11 หมู่บ้าน | 10. | สันป่าตอง | (San Pa Tong) | 12 หมู่บ้าน |
การปกครองส่วนท้องถิ่นแก้ไข
ท้องที่อำเภอนาเชือกประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 11 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลตำบลนาเชือก ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลนาเชือกและตำบลเขวาไร่
- องค์การบริหารส่วนตำบลนาเชือก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาเชือก (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลนาเชือก)
- องค์การบริหารส่วนตำบลสำโรง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสำโรงทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลหนองแดง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองแดงทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลเขวาไร่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเขวาไร่ (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลนาเชือก)
- องค์การบริหารส่วนตำบลหนองโพธิ์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองโพธิ์ทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลปอพาน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลปอพานทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลหนองเม็ก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองเม็กทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลหนองเรือ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองเรือกทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลหนองกุง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองกุงทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลสันป่าตอง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสันป่าตองทั้งตำบล
ประเพณีและวัฒนธรรมแก้ไข
วัฒนธรรมแก้ไข
ประชาชนส่วนใหญ่ในอำเภอนาเชือกดำเนินชีวิตตามแบบดั้งเดิม และรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น มีหัตถกรรมพื้นบ้าน เครื่องจักสาน การทอผ้าฝ้ายและผ้าไหมที่มีสีสันเฉพาะตัว
ศิลปกรรมที่สำคัญแก้ไข
- โบสถ์วัดเหล่าค้อ ตั้งอยู่ที่บ้านเหล่าค้อ ตำบลปอพาน โบสถ์วัดเหล่าค้อเป็นศิลปกรรมแบบพม่า สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2526 มีลวดลายที่เป็นปริศนาธรรม
- โบสถ์วัดหนองเลา ตั้งอยู่ที่วัดหนองเลา ตำบลหนองเม็ก สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2435 เป็นศิลปกรรมที่เก่าแก่ ที่มีลักษณะพิเศษ คือ มีประตูด้านเดียวและประตูอยู่ทางด้านทิศตะวันตก ไม่มีหน้าต่าง
ประเพณีแก้ไข
ชุมชนชาวอีสานในอำเภอนาเชือกมีชีวิตความเป็นอยู่และขนบธรรมเนียมประเพณีตามแบบของชาวอีสานโดยทั่วไป ยึดถือปฏิบัติตามธรรมเนียมในฮีตสิบสองคองสิบสี่มาแต่โบราณ ประเพณีวัฒนธรรมที่เห็นเด่นชัด ได้แก่ บุญคูณลาน บุญข้าวจี่ บุญมหาชาติ บุญสงกรานต์ บุญบั้งไฟ บุญเข้าพรรษา ออกพรรษา บุญกฐิน ประเพณีลอยกระทง เป็นต้น[13]
สถานที่สำคัญแก้ไข
โรงเรียนในเขตเทศบาลแก้ไข
- โรงเรียนนาเชือกพิทยาสรรค์
- เทศบาลนาเชือก
สถานที่สำคัญทางธรรมชาติแก้ไข
- อ่างเก็บน้ำห้วยค้อ
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดูนลำพัน
สถานที่อื่น ๆแก้ไข
- โรงพยาบาลนาเชือก (ขนาด 38 เตียง)
- ตลาดสดเทศบาลตำบลนาเชือก
การคมนาคมแก้ไข
การขนส่งภายในและระหว่างจังหวัด มีรถโดยสารประจำทางเส้นทาง กรุงเทพฯ-นาเชือก และมหาสารคาม-พยัคฆภูมิพิสัย ส่วนภายในอำเภอ มีรถสามล้อและมอเตอร์ไซค์รับจ้างให้บริการ
บุคคลที่มีชื่อเสียงแก้ไข
- เดือนเพ็ญ อำนวยพร นักร้อง หมอลำ
อ้างอิงแก้ไข
- ↑ [1]ประวัติความเป็นมา - อำเภอนาเชือก
- ↑ [2]กระทู้ถามที่ ว. ๒/๒๕๐๑ ของนายเกียรติ นาคะพงษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดมหาสารคาม เรื่อง การประกาศตั้งและสร้างที่ทำการกิ่งอำเภอเชียงยืนและกิ่งอำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม
- ↑ [3]พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตอำเภอบรบือ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย และอำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม พ.ศ. ๒๕๐๓
- ↑ [4]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกฐานะตำบลขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ
- ↑ [5]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่กิ่งอำเภอนาเชือก อำเภอบรบือ และอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม
- ↑ [6]พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอบ่อพลอย อำเภอไทรโยค อำเภอหนองปรือ อำเภอหนองสองห้อง อำเภอประทาย อำเภอห้วยแถลง อำเภอละหานทราย อำเภอกุยบุรี อำเภอตาพระยา อำเภอหนองไผ่ อำเภอนาเชือก อำเภอวัดเพลง อำเภอพนัสนิคม อำเภอภูกระดึง อำเภอปรางค์กู่ อำเภอท่าช้าง อำเภอบ้านด่านลานหอย อำเภอบ้านดง อำเภอสว่างอารมณ์ และอำเภอกุดชุม พ.ศ. ๒๕๐๖
- ↑ [7]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลนาเชือก อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม
- ↑ [8]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอนาเชือก อำเภอบรบือ และอำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม
- ↑ [9]ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๙๘ [มีสถานะเทียบเท่าพระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนแปลงเขตอำเภอนาเชือก อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย และกิ่งอำเภอนาดูน อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม]
- ↑ [10]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอนาเชือกและกิ่งอำเภอนาดูน อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม
- ↑ [11]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองมหาสารคาม และอำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม
- ↑ [12]กฎกระทรวง ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๓๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ [กำหนดให้พื้นที่บริเวณป่าดูนลำพัน อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม]
- ↑ "อำเภอนาเชือก". สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดมหาสารคาม. ม.ป.ป. สืบค้นเมื่อ 7 พฤษภ่าคม 2557. Check date values in:
|accessdate=, |year=
(help)