เคาน์ตี (county) หรือ เทศมณฑล เป็นหน่วยย่อยของการปกครองในหลายประเทศ มีไว้เพื่อการบริหารท้องถิ่นตลอดจนการอื่นที่จำเป็น[1] คำ เคาน์ตี มาจากภาษาฝรั่งเศสเก่า conté (กงเต) แปลว่าเขตการปกครองภายใต้เจ้าต่างกรมหรือขุนนางระดับเคานต์[2] เคาน์ตีในแต่ละประเทศมีฐานะการปกครองที่แตกต่างกันไม่เป็นแบบเดียวกันเสียทีเดียว จึงต้องพิจารณาถึงฐานะการปกครองเสียก่อนจึงเทียบให้เข้ากับระบบการปกครองของไทย

ในสหรัฐอเมริกา เคาน์ตีมักเรียกว่า เทศมณฑล มีฐานะรองลงจากรัฐ (ซึ่งมีรัฐบาลอิสระจากรัฐบาลกลาง) แต่ใหญ่กว่าหมู่บ้านหรือเมือง แต่ในสหราชอาณาจักร เคาน์ตีมีฐานะเป็นจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดประจำ รวมทั้งมีสภาจังหวัดและ/หรือสภาอำเภอ (กรมการอำเภอ) ปกครอง ในประเทศต่าง ๆ นอกจากนี้ คำ เคาน์ตี จะหมายถึงหน่วยการปกครองที่แตกต่างกันออกไป (โปรดดูรายละเอียดในบทความ)

ประวัติ

แก้

เดิมในทวีปยุโรปในอดีต "เคาน์ตี" คือเขตปกครองของ "เคานต์" (อังกฤษ: Count, ฝรั่งเศส: Comte, อิตาลี: Conde, เยอรมัน: Graf) ในอังกฤษ ไอร์แลนด์ และฝรั่งเศส หลังสมัยเคลติกผู้มีตำแหน่งเทียบกับ "เคานต์" บนแผ่นดินใหญ่เรียกว่า "เอิร์ล" เขตปกครองของเคานต์จะสังเกตได้จากการใช้คำนำหน้าชื่อว่าเป็น "County of..." เช่น "County of Cleves" ตัวอย่างของเคาน์ตีในประวัติศาสตร์ก็ ได้แก่ เคาน์ตีเคลเวอในเยอรมนี ถ้าเขตนั้นได้เลื่อนสถานะชื่อเขตก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย เช่น เมื่อเคาน์ตีเคลเวอได้รับการเลื่อนฐานะขึ้นเป็นราชรัฐชั้นดัชชี สถานะของเขตก็เปลี่ยนเป็นดัชชีเคลเวอ

ยุโรป

แก้

สหราชอาณาจักร

แก้
 
เคาน์ตี (จังหวัด) ในประเทศอังกฤษ (ส่วนย่อยของสหราชอาณาจักร)
 
อำเภอในเคาน์ตี/จังหวัดดอร์เซต
1. เวย์มัทและพอร์ตแลนด์ 2. เวสต์ดอร์เซต 3. นอร์ทดอร์เซต 4. เพอร์เบก 5. อีสต์ดอร์เซต 6. ไครสเชอร์ช 7. บอร์นมัท (เขตปกครองอิสระ) 8. พูล (เขตปกครองอิสระ)

เคาน์ตีในสหราชอาณาจักร เป็นส่วนย่อยของการปกครองที่เทียบเท่ากับจังหวัดในประเทศไทย ต่างจากเทศมณฑลที่มีฐานะเป็นส่วนย่อยของรัฐเช่นในสหรัฐอเมริกา แต่ละเคาน์ตีอาจแบ่งย่อยออกเป็นอำเภอ (district) และตำบล (civil parish) ได้ตามความเหมาะสม บางเคาน์ตีที่มีประชากรหนาแน่นอาจจะจัดให้เป็นเคาน์ตีในเขตนคร (metropolitan county) ในประเทศอังกฤษมีเคาน์ตีในเขตนครทั้งสิ้น 8 แห่ง (ไม่นับนครหลวงลอนดอน) ได้แก่ เกรตเตอร์แมนเชสเตอร์ เมอร์ซีย์ไซด์ เซาท์ยอร์กเชอร์ ไทน์แอนด์เวียร์ เวสต์มิดแลนด์ และเวสต์ยอร์กเชอร์ ทั้งหมดไม่มีสภาจังหวัดปกครอง มีเฉพาะสภาอำเภอเท่านั้น[3] สภาอำเภอเหล่านี้มีหน้าที่รับผิดชอบการปกครองท้องที่ในทุก ๆ เรื่อง โดยรับมอบอำนาจจากรัฐบาลกลาง

ประเทศอังกฤษมีเคาน์ตีทั้งหมด 48 เคาน์ตี บางเคาน์ตีมีมาแต่โบราณแล้วในขณะที่บางเคาน์ตีเพิ่งเกิดสมัยหลัง[4][5] เช่น เคาน์ตีบริสตอล ซึ่งเกิดจากการยุบและแบ่งส่วนเคาน์ตีเอวอน เมื่อปี พ.ศ. 2539

นอกจากเคาน์ตีในเขตนครแล้ว ยังมีเคาน์ตีนอกเขตนคร (non-metropolitan country) ซึ่งมีประชากรเบาบางลงมาบ้าง ยกตัวอย่างเช่น เคาน์ตีคัมเบรีย ฮาร์ตฟอร์ดเชอร์ นอร์โฟล์ก นอร์แทมป์ตันเชอร์ (หรือนอร์ทแฮมป์ตันเชอร์) ออกซฟอร์ดเชอร์ ซัฟโฟล์ก เซอร์รีย์ วอร์ริกเชอร์ เวสต์ซัสเซกส์ และ วูสเตอร์เชอร์ ฯลฯ เคาน์ตีเหล่านี้แบ่งออกเป็นหลายอำเภอ โดยทั้งจังหวัดและอำเภอมีสภาประจำ ทำหน้าที่ในส่วนที่เติมเต็มซึ่งกันและกัน ดังจะได้แสดงไว้ในตาราง

หน้าที่ สภาจังหวัด สภาอำเภอ เขตปกครองอิสระ
จัดการศึกษา  Y  Y
อาคารสงเคราะห์ (จัดหาที่อยู่ให้ราษฎร)  Y  Y
ปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์  Y  Y
จัดทำแผนยุทธศาสตร์  Y  Y
จัดทำแผนการคมนาคมขนส่ง  Y  Y
จัดการขนส่งมวลชน  Y  Y
ดูแลทางหลวง  Y  Y
ตรวจตราและดับเพลิงไหม้  Y  Y
บริการสังคมสงเคราะห์  Y  Y
บริการห้องสมุดประชาชน  Y  Y
บริการจัดสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ (เช่น สวนสาธารณะ สวนริมหาด ฯลฯ)  Y  Y
เก็บและจัดการขยะ  Y  Y
กำจัดน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล  Y  Y
ดูแลสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อมโดยรวม  Y  Y
จัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่  Y  Y

เคาน์ตีบางแห่งมีเพียงอำเภอเดียว ได้แก่ บริสตอล เฮริฟอร์ดเชอร์ เกาะไวต์ (หรือไอล์ออฟไวต์ (Isle of Wight)) นอร์ทัมเบอร์แลนด์ และ รัตแลนด์ จึงทำให้เป็นเขตปกครองอิสระ (unitary authority) ไปโดยปริยาย นอกเหนือจากเขตปกครองอิสระที่ยกฐานะจากอำเภอ ทั้งนี้ เคาน์ตีแต่ละแห่งจะมีลอร์ดเลฟเทนันต์ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด (Lord Lieutenant) ซึ่งพระมหากษัตริย์จะได้แต่งตั้งให้มาประจำทำหน้าที่ตามพิธีการสำคัญ ในส่วนของประชาชนที่อาศัยก็จะได้เลือกสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นขึ้นแยกต่างหากจากผู้ว่าราชการจังหวัด

บางอำเภอหรือตำบลในเคาน์ตีที่มีประชากรหนาแน่น มักถูกยกฐานะขึ้นเป็นเขตปกครองอิสระเช่นเดียวกับเคาน์ตีที่มีอำเภอเดียว โดยจะมีสถานะเป็นเทศบาลเมือง (town) หรือนคร (city) ซึ่งหากเมืองใดต้องการยกสถานะเป็นนคร จะต้องทำเรื่องทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์ผ่านทางกระทรวงมหาดไทย (Home Office) หลักเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาได้แก่ จำนวนประชากร ความสำคัญของเมือง และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น[6] ในอังกฤษเขตปกครองอิสระมักมีอำนาจแยกไปจากเคาน์ตี แต่ยังคงสังกัดอยู่ในเคาน์ตีนั้น เช่น อำเภอไบรตันแอนด์โฮฟ มีสถานะเป็นนครและเขตปกครองพิเศษในเคาน์ตีอีสต์ซัสเซกส์ (ยกฐานะเมื่อ พ.ศ. 2543) แต่ในสกอตแลนด์เขตปกครองพิเศษมักแยกเขตการบริหารออกจากเคาน์ตีต่างหาก (ยกเว้นงานทะเบียนที่ยังขึ้นตรงกับเคาน์ตี) เช่นเอดินบะระ ซึ่งเป็นนครอิสระแต่อยู่ในท้องที่ทะเบียนของเคาน์ตีมิดโลเดียน (Midlothian)

ทั้งนี้ การตระเวนตรวจตราความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองจะกระทำโดยตำรวจ ซึ่งจะสังกัดอยู่กับจังหวัดตำรวจ (constabulary) แยกออกไปต่างหากจากจากเคาน์ตี จังหวัดตำรวจหนึ่งอาจดูแลจังหวัดเดียวหรือหลายจังหวัดก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดตำรวจแฮมป์เชอร์ (Hampshire Constabulary) มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยและป้องปรามอาชญากรรมในเขตเคาน์ตีแฮมป์เชอร์ (Hampshire) และเคาน์ตีเกาะไวต์ (Isle of Wight) จังหวัดตำรวจซัสเซกส์ (Sussex Police) ดูแลทั้งเคาน์ตีเวสต์ซัสเซกส์และอีสต์ซัสเซกส์ จังหวัดตำรวจเอวอนแอนด์ซัมเมอร์เซต (Avon and Somerset Constabulary) ดูแลเคาน์ตีซัมเมอร์เซต เคาน์ตีบริสตอล และบางส่วนทางตอนใต้ของเคาน์ตีกลอสเตอร์เชอร์ (Glocestershire) ส่วนจังหวัดตำรวจเดอแรม (Durham Constabulary) ดูแลเฉพาะเคาน์ตีเดอแรมเท่านั้น

ในทางปฏิบัติและในสื่อหลายแขนงไม่เว้นแม้แต่ตำราเรียน เคาน์ตีในสหราชอาณาจักรนิยมเรียกว่า แคว้น'[7][8] และบางทีก็เรียก เขต[9][10] มากกว่าจะใช้ เทศมณฑล

อเมริกา

แก้

แคนาดา

แก้

แคนาดาแบ่งส่วนย่อยของการปกครองออกเป็นรัฐ (province) แต่ละรัฐจะมีอำนาจอิสระในพื้นที่ของตน เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา ส่วนย่อยของรัฐนั้นจะแตกต่างกันออกไปไม่เหมือนกัน ในบรรดาสิบรัฐของแคนาดา มีห้ารัฐที่ใช้เคาน์ตี หรือ "เทศมณฑล" เรียกส่วนย่อยของตน ในจำนวนนี้ได้แก่รัฐนิวบรันสวิก รัฐโนวาสโกเชีย รัฐออนแทริโอ รัฐควิเบก รัฐเกาะเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด หรือปรินซ์เอ็ดเวิร์ดไอแลนด์

นอกจากห้ารัฐที่มีส่วนย่อยเป็น "เคาน์ตี" แล้ว บางรัฐก็ใช้คำว่าดิสทริก (district) หรือ "อำเภอ" แทน เช่น รัฐแอลเบอร์ตา ซึ่งประกาศให้จัดส่วนย่อยเป็นอำเภอเมื่อ พ.ศ. 2537[11]

สหรัฐ

แก้
 
การแบ่งเคาน์ตี (และส่วนย่อยที่เทียบเท่ากัน) ในสหรัฐอเมริกา

เคาน์ตีเป็นหน่วยย่อยการปกครองของสหรัฐอเมริกาซึ่งมีขนาดเล็กกว่ารัฐ (อันเป็นอิสระจากรัฐบาลกลาง) แต่ละรัฐมีจำนวนเคาน์ตีที่แตกต่างกัน เช่นรัฐเท็กซัส มีเคาน์ตี 254 แห่ง ส่วนรัฐเดลาแวร์ มีเพียง 3 แห่ง[12] ทั้งนี้รัฐลุยเซียนา เรียกชื่อเคาน์ตีว่าแพริช (parish) ส่วนรัฐอะแลสกา เรียกเคาน์ตีว่าบะระหรือโบโรฮ์ (borough) เคาน์ตีมีหน้าที่การบริหารรัฐกิจตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลแห่งรัฐนั้น ๆ[13] เคาน์ตีแต่ละแห่งจะมีเมืองหลวง (county/borough/parish seat) เป็นที่ตั้งของศาลากลาง นอกเหนือจากนั้น เคาน์ตียังแบ่งย่อยออกเป็นทาวน์ชิป (township) หรือเมือง (town) ทำหน้าที่กำกับดูแลทุกข์สุขของประชาชน

เมืองบางเมืองในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในรัฐเวอร์จิเนีย รัฐแมรีแลนด์ รัฐมิสซูรี และรัฐเนวาดา อาจเป็นนครอิสระ (independent city) ซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากับเคาน์ตี[14]

รัฐนิวยอร์กมีเคาน์ตีทั้งสิ้น 62 แห่ง ในจำนวนนี้ 57 แห่ง เป็นเคาน์ตีที่ขึ้นตรงต่อรัฐ ที่เหลืออีกห้าแห่ง ได้แก่ แมนฮัตตัน เดอะบรอนซ์ ควีนส์ บรุกลิน และสเตเทนไอแลนด์ (Staten Island) เป็นส่วนย่อยของนครนิวยอร์ก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับรัฐนิวยอร์กอีกชั้นหนึ่ง

ณ พ.ศ. 2556 สหรัฐอเมริกามีเคาน์ตีทั้งสิ้น 3,007 แห่ง และส่วนย่อยที่เทียบเท่าเคาน์ตี 137 แห่ง รวมทั้งสิ้น 3,144 แห่ง[15]

เอเชีย–แปซิฟิก

แก้

จีน

แก้

คำว่า county เป็นคำภาษาอังกฤษที่ใช้แปลตัวอักษร หรือ (xiàn) อำเภอเป็นเขตการปกครองท้องถิ่นระดับที่สามในจีนแผ่นดินใหญ่ที่ปกครองโดยสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยอยู่ภายใต้จังหวัด และมณฑล

สาธารณรัฐประชาชนจีนมีหน่วยการปกครองย่อยที่ซับซ้อนมาก ทำนองเดียวกับมณฑลเทศาภิบาลซึ่งเคยใช้ในไทย การปกครองแบ่งย่อยออกเป็นมณฑล (อังกฤษ: province; จีน:省; พินอิน:Shěng; คำอ่าน: เสิ่ง) บางมณฑลอาจให้มีอำนาจปกครองตนเอง เรียกว่า เขตปกครองตนเอง (อังกฤษ: autonomous region ;จีน: 自治区; พินอิน:Zìzhìqū; คำอ่าน: จื้อจื้อชวี) นครขนาดใหญ่เช่นเป่ยจิง ฉงชิ่ง ซั่งไห่ และเทียนจิน ก็ถูกจัดให้มีฐานะเท่ามณฑลเช่นกัน เรียกว่า เทศบาลนคร (อังกฤษ: municipality; จีน:直辖市; พินอิน:Zhíxiáshì; คำอ่าน: จื๋อเสียซื่อ)

โดยทั่วไป ส่วนการปกครองย่อยจากมณฑลของจีน เรียกว่าจังหวัด (อังกฤษ: prefecture; จีน:地区; พินอิน:Dìqū; คำอ่าน: ตี้ชวี) ซึ่งบางจังหวัดก็มีสถานะเป็นเมือง ส่วนย่อยของจังหวัดลงไปเรียกว่า อำเภอ (อังกฤษ: county; จีน:县; พินอิน:Xiàn; คำอ่าน: เสี้ยน) ตำบล (อังกฤษ: township; จีน:镇; พินอิน:Zhèn; คำอ่าน: เจิ้น) และหมู่บ้าน (อังกฤษ: village; จีน:村; พินอิน:Cūn; คำอ่าน: ชุน) ตามลำดับ

ทั้งนี้ การปกครองในแต่ละชั้นจะมีการจัดลำดับความสำคัญของหน่วยการปกครองตามขนาดอีกด้วย เช่นในระดับตำบล ถ้าเป็นชุมชนเมืองจะใช้ 街道 (Jiēdào, เจียเต้า) ถ้าเป็นตำบลชนบทขนาดใหญ่ ก็เรียกว่า 镇 (Zhèn, เจิ้น) ถ้าเป็นตำบลห่างไกลทุรกันดาร จะเรียก 乡 (Xiāng, เซียง) การปกครองแต่ละระดับไม่จำเป็นต้องขึ้นต่อกันและกัน อาจเป็นอิสระในตัวเองก็ได้โดยเฉพาะอำเภอในเขตมองโกเลียใน

ไต้หวัน

แก้

เทศมณฑล แปลมาจาก County ซึ่งเป็นคำแปลเป็นภาษาอังกฤษจากตัวอักษรจีน (เวด-ไจลส์: hsien4 เซี่ยน) หมายถึง เขตทางการเมืองระดับแรกในปัจจุบันของไต้หวันและหมู่เกาะโดยรอบ อย่างไรก็ตาม นครปกครองโดยตรงและนครภายใต้มณฑลก็มีอำนาจในระดับเดียวกับเทศมณฑล เขตการปกครองที่อยู่เหนือเทศมณฑล คือ มณฑล (แต่ถูกยกเลิกเนื่องจากเหตุผลทางเศรษฐกิจและการเมือง) ปัจจุบันไต้หวันมี 13 เทศมณฑล

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. The Chambers Dictionary, L. Brookes (ed.), 2005, Chambers Harrap Publishers Ltd, Edinburgh
  2. The Oxford Dictionary of English Etymology, C. W. Onions (Ed.), 1966, Oxford University Press
  3. Jones, Kavanagh, Moran & Norton (2004). Politics UK (5th ed.). Pearson.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  4. Hampton, W. (1991). Local Government and Urban Politics.
  5. Redcliffe-Maud & Wood, B. (1974). English Local Government Reformed.
  6. "Functions of local authorities. Memorandum from Health Ministry", The Times, 17 June 1927.
  7. สปริงนิวส์, "ดูกันเต็มๆ บึ้ม! 5หอระบายความร้อน หายไปในพริบตา"[ลิงก์เสีย], 16 กรกฎาคม 2555, (สืบค้นเมื่อ 3 เมษายน 2557).
  8. กระปุกดอตคอม, Google ฉลองครบรอบ 200 ปี ชาร์ลส์ ดิกคินส์, สืบค้นเมื่อ 3 เมษายน 2557.
  9. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, การปฏิวัติอุตสาหกรรมของอังกฤษช่วง ค.ศ.1780-1840 เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, (สืบค้นเมื่อ 3 เมษายน 2557)
  10. "ดอย ดอกฝิ่น", ขนมพายพางานวิวาห์ล่ม, ไทยรัฐออนไลน์, 3 เมษายน 2557.
  11. Province of Alberta. "Transitional Provisions, Consequential Amendments, Repeal and Commencement (Municipal Government Act)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-01-23. สืบค้นเมื่อ 2010-11-17.
  12. "How Many Counties are in Your State?". Click and Learn. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-02-16. สืบค้นเมื่อ 2007-04-24.
  13. "An Overview of County Government". National Association of Counties. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-04-17. สืบค้นเมื่อ April 25, 2013.
  14. "Counties and Equivalent Entities of the United States, Its Possessions, and Associated Areas; Change Notice No. 7". 2001. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-29. สืบค้นเมื่อ 2006-05-27.
  15. "County Totals Datasets: Population, Population Change and Estimated Components of Population Change: April 1, 2010 to July 1, 2012". 2012 Population Estimates. United States Census Bureau, Population Division. March 2013. สืบค้นเมื่อ April 30, 2013.