สุมาลี จาติกวณิช
ท่านผู้หญิงสุมาลี จาติกวณิช (สกุลเดิม ยุกตะเสวี: 6 มิถุนายน พ.ศ. 2474 – 4 เมษายน พ.ศ. 2565) เป็นประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิราชประชาสมาสัยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นรองประธานกรรมการมูลนิธิสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และเป็นอดีตประธานสภาสตรีแห่งชาติ
ท่านผู้หญิง สุมาลี จาติกวณิช | |
---|---|
สุมาลี ใน พ.ศ. 2557 | |
เกิด | สุมาลี ยุกตะเสวี 6 มิถุนายน พ.ศ. 2474 |
เสียชีวิต | 4 เมษายน พ.ศ. 2565 (90 ปี) |
คู่สมรส | กษาน จาติกวณิช |
บุตร | กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา |
บิดามารดา | หลวงยุกตเสวีวิวัฒน์ (สิระ ยุกตะเสวี) คุณหญิงถนอมศรี ยุกตเสวีวิวัฒน์ |
ประวัติ
แก้ท่านผู้หญิงสุมาลี จาติกวณิช เกิดเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2474 เป็นบุตรสาวของหลวงยุกตเสวีวิวัฒน์ (สิระ ยุกตะเสวี) กับคุณหญิงถนอมศรี ยุกตเสวีวิวัฒน์ สมรสกับศาสตราจารย์ นายแพทย์กษาน จาติกวณิช อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล มีธิดาเพียงคนเดียว คือ คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
การเสียชีวิต
แก้ท่านผู้หญิงสุมาลี ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2565[1]วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2565 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร
การศึกษา
แก้ท่านผู้หญิงสุมาลีสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจากโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย และสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในแผนกวิทยาศาสตร์เมื่อปี พ.ศ. 2489 ด้วยความสนใจภาษาอังกฤษเป็นอย่างมาก ทำให้เป็นผู้ที่แตกฉานทั้งการฟัง พูด อ่าน และเขียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เยาว์วัย
การทำงาน
แก้ท่านผู้หญิงสุมาลีดำรงตำแหน่งที่สำคัญในองค์กรภาครัฐและเอกชน ทั้งภายในและต่างประเทศมากมายเช่น ประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชาสมาศัยในพระบรมราชูปถัมภ์ ประธานคณะกรรมการมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ กรรมการบริหารมูลนิธิสายใจไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และอื่น ๆ ท่านผู้หญิงสุมาลีเป็นผู้ที่มีคุณูปการอย่างยิ่งต่อมหาวิทยาลัยมหิดลในการสนับสนุน ให้คำแนะนำและให้ความช่วยเหลือกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งต่าง ๆ เช่น กรรมการบริหารศิริราชมูลนิธิ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภา มหาวิทยาลัยมหิดล รองประธานกรรมการมูลนิธิสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ท่านผู้หญิงสุมาลีได้รับเลือกเป็นเอกฉันท์จากสมาชิกสมาคมสตรีภาคพื้นแปซิฟิกและเอเชียอาคเนย์รวม 19 ประเทศ ให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานสมาคมระหว่างประเทศถึงสองสมัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530-2537 ด้วยชื่อเสียง ทำให้ท่านผู้หญิงสุมาลีเป็นที่ยอมรับนับถือไปทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อองค์การสหประชาชาติประกาศการประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่องสตรี ครั้งที่ 4 ณ กรุงปักกิ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2538 คณะกรรมการจัดเตรียมการประชุมจึงได้เชิญท่านผู้หญิงสุมาลีมาเป็นผู้ประสานงานภาคเอกชนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งสามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างดีเยี่ยม จนกระทั่งได้รับการยกย่องในที่ประชุม ในการเป็นแบบอย่างของการประสานงานที่มีประสิทธิภาพอย่างดียิ่ง นอกจากนี้ยังได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนประเทศไทยประจำคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก หรือ แอสแคป (ESCAP)
เกียรติคุณ
แก้การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ เปี่ยมด้วยคุณธรรม ความรู้และความสามารถ อันยังประโยชน์อย่างยิ่งต่อสังคมส่วนรวมและประเทศชาติมาโดยตลอดของท่านผู้หญิงสุมาลี จาติกวณิชนั้นทำให้ได้รับรางวัลเกียรติยศมากมาย เช่น ในปี พ.ศ. 2504 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จตุตถจุลจอมเกล้าฝ่ายใน จึงมีคำนำหน้าชื่อเป็น “คุณหญิง” ตั้งแต่อายุ 30 ปี และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นลำดับมา กระทั่งปี พ.ศ. 2533 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษฝ่ายใน จึงได้คำนำหน้าชื่อเป็น “ท่านผู้หญิง” นับแต่นั้นมา รวมทั้งได้รับรางวัลนักสังคมสงเคราะห์ดีเด่น สาขาบริหารงานสังคม จากมูลนิธิศาสตราจารย์ปกรณ์ อังศุสิงห์ และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ รางวัลโล่ทองคำประกาศเกียรติคุณมนุษยสัมพันธ์ยอดเยี่ยมจากมนุษยสัมพันธ์สมาคมแห่งประเทศไทย และอื่น ๆ ถึงกระนั้นก็ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ของครอบครัวได้อย่างสมบูรณ์จนได้รับประกาศเกียรติคุณ “แม่ดีเด่นกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2550”
ปริญญากิตติมศักดิ์
แก้- ปริญญาสังคมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ พ.ศ. 2550
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2528 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)[2]
- พ.ศ. 2525 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)[3]
- พ.ศ. 2543 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 1 ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ (ป.ภ.)[4]
- พ.ศ. 2533 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายใน)[5]
อ้างอิง
แก้- http://www.mahidol.ac.th/graduates/2007/s_sub2_5-sumalee.htm เก็บถาวร 2009-11-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1300986361&grpid=03&catid=03
- ↑ ผู้จัดการออนไลน์: สังคมไทยสูญเสียบุคคลสำคัญ "ท่านผู้หญิงสุมาลี จาติกวณิช" ในวัย 90 ปี
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-05-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๑๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๒, ๒๗ มกราคม ๒๕๒๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-06-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๙ ตอนที่ ๑๘๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๕๔, ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ เก็บถาวร 2022-10-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๗ ตอนที่ ๒๖ ข หน้า ๒, ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-06-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๗ ตอนที่ ๗๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๕, ๔ พฤษภาคม ๒๕๓๓