สะพานพระพุทธยอดฟ้า

สะพานในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
(เปลี่ยนทางจาก สะพานพุทธ)

สะพานพระพุทธยอดฟ้า หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์[2] เป็นสะพานถนนข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่เก่าที่สุดของประเทศไทย เชื่อมต่อการคมนาคมระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีของกรุงเทพมหานคร ที่ปลายถนนตรีเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กับปลายถนนประชาธิปก แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี ปัจจุบันสะพานแห่งนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท

สะพานพระพุทธยอดฟ้า
สะพานพระพุทธยอดฟ้า
เส้นทางถนนตรีเพชร, ถนนประชาธิปก
ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
ที่ตั้งแขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร
แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี
ชื่อทางการสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์
ตั้งชื่อตามพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ผู้ดูแลกรมทางหลวงชนบท
สถานะเปิดใช้งาน
รหัสส.003
เหนือน้ำอุโมงค์รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล
ท้ายน้ำสะพานพระปกเกล้า
ข้อมูลจำเพาะ
ประเภทชนิดเปิด - ปิดได้ (เปิดเป็นครั้งคราวเมื่อมีเรือหลวงผ่าน)
วัสดุโครงเหล็กตลอด
ความยาว229.76 เมตร
ความกว้าง10.00 เมตร
ความสูง7.30 เมตร
ทางเดิน2
จำนวนตอม่อ2
ประวัติ
ผู้สร้างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
วันเริ่มสร้าง3 ธันวาคม พ.ศ. 2472
วันเปิด6 เมษายน พ.ศ. 2475[1]
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนสะพานพระพุทธยอดฟ้า
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0005610

ประวัติ

แก้
 
สะพานพุทธขณะเปิดให้เรือผ่าน ภาพถ่ายจาก พ.ศ. 2497

สะพานพระพุทธยอดฟ้า เป็นสะพานที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เมื่อปี พ.ศ. 2472 เนื่องในโอกาสสถาปนากรุงเทพมหานครครบ 150 ปี และโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี ด้วยพระราชดำริที่จะสร้างสิ่งที่เป็นอนุสรณ์ถึงความรำลึกในพระกรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ผู้ทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร โดยมีพระราชดำริว่าควรสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมจังหวัดพระนครกับธนบุรีเข้าด้วยกัน เพื่อให้การคมนาคมติดต่อสะดวก ทั้งยังเป็นการขยายพระนครอีกด้วย จึงโปรดเกล้าฯ ให้คิดแบบพระบรมราชานุสาวรีย์ และสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นประกอบกันเป็นปฐมบรมราชานุสรณ์ที่ปลายถนนตรีเพชร ถือเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ 2 ถัดจากสะพานพระราม 6 ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 แต่เนื่องจากสะพานพระราม 6 ปัจจุบันมีสถานะเป็นสะพานรถไฟเท่านั้น สะพานพระพุทธยอดฟ้าจึงถือเป็นสะพานถนนข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่เก่าที่สุดของประเทศไทย

โครงการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์และสะพานได้เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2471 โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ (ต่อมาเป็นกรมพระยา) อุปนายกราชบัณฑิตยสภา ซึ่งทรงอำนวยการแผนกศิลปกรรมคิดแบบอย่างเป็นพระบรมรูปทรงเครื่องขัตติยาภรณ์เสด็จประทับเหนือพระราชบัลลังก์และหล่อด้วยทองสำริด ขนาดสูงตั้งแต่ฐานถึงยอด 4.60 เมตร ฐานกว้าง 2.30 เมตร ส่วนสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน (ต่อมาคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน) เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ทรงเป็นผู้อำนวยการสร้าง ซึ่งทรงรับสั่งให้กองแบบแผน กรมรถไฟหลวง เป็นผู้ออกแบบโครงสร้าง แสดงทางขึ้นลงทั้ง ๒ ข้างและตัวสะพาน พร้อมด้วยขนาดและรายการ เพื่อเปิดประมูลจากบริษัทต่างๆ โดยได้เลือกแบบของบริษัทดอรแมนลอง ประเทศอังกฤษ และสร้างเป็นสะพานเหล็กยาว 229.76 เมตร กว้าง 16.68 เมตร ท้องสะพานสูงเหนือน้ำ 7.50 เมตร และอาจยกตอนกลางขึ้นด้วยแรงไฟฟ้า เปิดช่องกว้าง 60 เมตรเพื่อให้เรือใหญ่ผ่านได้สะดวก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์สร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2472 และโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสะพานว่า สะพานพระพุทธยอดฟ้า

รัฐบาลได้ประมาณการงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ไว้เป็นจำนวน 4,000,000 บาท พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่ง รัฐบาลส่วนหนึ่ง ส่วนอีกจำนวนหนึ่งนั้นทรงพระราชดำริว่าควรบอกบุญเรี่ยไรประชาชน เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสะพานเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475[3][1]

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สะพานพระพุทธยอดฟ้าถูกระเบิดทำลายจนขาด อันเนื่องจากเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ[4] บริเวณใกล้เคียงอย่างวัดราชบุรณราชวรวิหารและโรงไฟฟ้าวัดเลียบก็ถูกทำลาย

ปัจจุบัน

แก้
 
ถนนสะพานพุทธ เป็นถนนที่อยู่ด้านล่างสะพานล้อมรอบสะพาน เป็นถนนที่เชื่อมไปยังถนนจักรวรรดิ, ถนนตรีเพชร และปากคลองตลาด จากภาพมองเห็นสภาพของปากคลองตลาดบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ในปัจจุบัน นอกจากสะพานพระพุทธยอดฟ้าจะเป็นที่ประดิษฐานปฐมบรมราชานุสรณ์แล้ว ยังมีลานสาธารณะให้คนมาใช้พักผ่อนหย่อนใจ และเป็นลานกีฬาของเด็กนักเรียนในย่านนั้นด้วย ทั้งฟุตบอลและสเกตบอร์ด ก็จะมีให้เห็นทุกวันในช่วงเย็นหลังโรงเรียนเลิก

นอกจากนี้ ในยามค่ำคืนพื้นที่ใต้สะพานพระพุทธยอดฟ้าจนถึงใต้สะพานพระปกเกล้าในปัจจุบัน ในยามค่ำประมาณ 18 นาฬิกาเป็นต้นไปจนถึงเวลา 01.00 โดยประมาณ จะเป็นตลาดนัดยามค่ำคืน ที่มีสินค้าแฟชั่นหลากหลาย​ทั้งอุปกรณ์​ตกแต่งมือถือเคส​ ฟิล์ม​ ซีดี​และสินค้ามือสอง อาทิ เสื้อ กางเกง กระเป๋า รองเท้า เครื่องประดับ อีกทั้งยังมีศิลปินอิสระ ส่วนมากเป็นนักศึกษาเพาะช่าง มารับวาดภาพและขายภาพวาดด้วย เนื่องจากสินค้ามีราคาถูก ประกอบกับรูปแบบที่กำลังเป็นที่นิยมของวัยรุ่น ทำให้ตลาดสะพานพุทธในปัจจุบันคลาคล่ำด้วยวัยรุ่นจำนวนมาก

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 "Memorial Bridge". Bureau of Maintenance and Traffic Safety, Thailand. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 May 2008. สืบค้นเมื่อ 10 December 2014.
  2. "สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์". myfirstbrain.com. สืบค้นเมื่อ 5 July 2015.
  3. Duncan Stearn (30 May – 5 June 2003). "A Slice of Thai History : The air war over Thailand, 1941-1945 ; Part Two, The Allies attack Thailand, 1942-1945". Pattaya Mail. Pattaya Mail Publishing Co. XI (21). สืบค้นเมื่อ 17 February 2012.
  4. "สะพานพระพุทธยอดฟ้าถูกระเบิดตัดขาดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2". ศิลปวัฒนธรรม.

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°44′21″N 100°29′51″E / 13.739207°N 100.497564°E / 13.739207; 100.497564

จุดข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน
เหนือน้ำ
อุโมงค์รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล
 
สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ (สะพานพระพุทธยอดฟ้า)
 
ท้ายน้ำ
สะพานพระปกเกล้า