สมเด็จพระจักรพรรดินีมิจิโกะ

สมเด็จพระจักรพรรดินีมิจิโกะ (ญี่ปุ่น: 上皇后美智子โรมาจิJōkōgō Michiko; พระราชสมภพ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2477) มีพระนามเดิมว่า มิจิโกะ โชดะ (ญี่ปุ่น: 正田 美智子โรมาจิShōda Michiko) เป็นพระอัครมเหสีในสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ

สมเด็จพระจักรพรรดินีมิจิโกะ
โจโกโง
สมเด็จพระจักรพรรดินีมิจิโกะ ใน ค.ศ. 2016
จักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่น
ดำรงพระยศ7 มกราคม พ.ศ. 2532 – 30 เมษายน พ.ศ. 2562
สถาปนา12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533
พระราชสมภพ20 ตุลาคม พ.ศ. 2477 (89 พรรษา)[1]
โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโตเกียว โตเกียว จักรวรรดิญี่ปุ่น
พระราชสวามีสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ (พ.ศ. 2502–ปัจจุบัน)
พระราชบุตร
ราชวงศ์ญี่ปุ่น (อภิเษกสมรส)
พระราชบิดาฮิเดซาบูโร โชดะ
พระราชมารดาฟูมิโกะ โซเอจิมะ
ศาสนาชินโต (เดิมโรมันคาทอลิก)

จักรพรรดินีมิจิโกะอภิเษกสมรสกับจักรพรรดิอากิฮิโตะตั้งแต่ พ.ศ. 2502 เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมาร นับเป็นสตรีสามัญชนและเป็นคริสตังคนแรกที่เข้าสู่พระราชวงศ์ญี่ปุ่นผ่านการอภิเษกสมรส ครั้นจักรพรรดิโชวะสวรรคต มกุฎราชกุมารอากิฮิโตะจึงสืบราชสมบัติเป็นจักรพรรดิ และมกุฎราชกุมารีมิจิโกะจึงดำรงพระอิสริยยศเป็นจักรพรรดินี ตามลำดับ และเมื่อจักรพรรดิอากิฮิโตะทรงสละพระราชสมบัติ เมื่อ พ.ศ. 2562 พระองค์จึงมีพระอิสริยยศเป็น โจโกโง ซึ่งในภาษาไทยที่ใกล้เคียงที่สุดคือ พระพันปีหลวง[2][3]

พระราชประวัติ แก้

พระชนม์ชีพช่วงต้นและการศึกษา แก้

 
สมเด็จพระจักรพรรดินีมิจิโกะเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์

สมเด็จพระจักรพรรดินีมิจิโกะ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2477 ณ กรุงโตเกียว เป็นบุตรสาวคนโตของฮิเดซาบูโร โชดะ (ญี่ปุ่น: 正田 英三郎โรมาจิShōda Hidesaburō) กับฟูมิโกะ โซเอจิมะ (ญี่ปุ่น: 副島 富美子โรมาจิSoejima Fumiko) บิดาเป็นประธานและประธานกิตติมศักดิ์ของบริษัทนิชชิน[4] พระองค์เติบโตในโตเกียวโดยได้รับการปลูกฝังด้านการศึกษาจากครอบครัวทั้งแบบดั้งเดิมและตะวันตก มีการเรียนภาษาอังกฤษและเปียโน ทรงเรียนรู้ในศิลปะด้านงานเขียน การทำอาหาร และโคโด (ศิลปะการใช้เครื่องหอม)[5] ทั้งนี้พระองค์มีพื้นฐานครอบครัวที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก[6] ทว่าส่วนพระองค์มิเคยรับศีลล้างบาปมาก่อนเลย พระองค์เป็นหลานสาวของนักวิชาการหลายท่าน เช่น เค็นชิโร โชดะ นักคณิตศาสตร์ที่เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยโอซากะ (ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2497—2503)[7]

พระองค์เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนประถมฟูตาบะ (ญี่ปุ่น: 雙葉学園) ย่านโคจิมาชิ เขตชิโยดะ กรุงโตเกียว ต่อมาได้ลาออกขณะทรงศึกษาระดับเกรดสี่เนื่องจากระเบิดของอเมริกันช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากนั้นได้ทรงเข้ารับการศึกษาต่อที่เมืองคาตาเซะ (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของเมืองฟูจิซาวะ) จังหวัดคานางาวะ, เมืองทาเตบายาชิ จังหวัดกุมมะซึ่งเป็นนิวาสถานเดิมของสกุลโชดะ และเมืองคารูอิซาวะ จังหวัดนะงะโนะอันเป็นที่ตั้งของบ้านพักตากอากาศของครอบครัว หลังสถานการณ์สงบลง ครอบครัวของพระองค์ได้กลับมายังโตเกียวเมื่อปี พ.ศ. 2489 ทรงรับการศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนเดิม แล้วทรงเข้าเรียนที่วิทยาลัยหญิงพระหฤทัยแผนกประถมและมัธยมศึกษา (ญี่ปุ่น: 聖心女子学院初等科・中等科・高等科) ตามลำดับ จนสำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2496 พระองค์มีพระราชดำรัสตรัสเล่าเหตุการณ์ดังกล่าว ความว่า "...เมื่อเข้าสู่ช่วงหลังสงครามโลก แม้ข้าพเจ้าจะเป็นเพียงเด็กประถม แต่ก็สัมผัสได้ถึงห้วงเวลาแห่งความทุกข์ยาก ข้าพเจ้าต้องย้ายโรงเรียนถึง 5 ครั้ง ภายในเวลาเกือบ 3 ปี และทุกครั้งที่เข้าโรงเรียนใหม่ จะรู้สึกอึดอัดกับการปรับตัวให้เข้ากับการเรียนการสอนใหม่..."[4]

 
คฤหาสน์โชดะ เมื่อปี พ.ศ. 2501

ขณะที่ทรงศึกษาอยู่ในระดับวิทยาลัยนั้น ครอบครัวจะเรียกพระองค์อย่างลำลองว่า "มิจิ" (ญี่ปุ่น: ミチ) หรือ "มิจจิ" (ญี่ปุ่น: ミッチ)[5] และยังมีอีกชื่อหนึ่งว่า "เทมเพิลจัง" (Temple-chan) เนื่องจากมีพระเกศาเป็นลอนและมีสีออกแดงต่างจากสตรีญี่ปุ่นทั่วไป ทั้งยังมีลักษณะเหมือนเชอร์ลีย์ เทมเพิล (Shirley Temple) นักแสดงเด็กชาวอเมริกัน

พระองค์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวรรณคดีอังกฤษ คณะวรรณคดี มหาวิทยาลัยพระหฤทัยโตเกียว (ญี่ปุ่น: 聖心女子大学) เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง นอกจากนี้ยังทรงศึกษาต่อในหลักสูตรระยะสั้นในสาขาเดิมที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและออกซฟอร์ด[8]

ช่วงปี พ.ศ. 2493 มีชายหนุ่มมากหน้าหลายตาแวะเวียนเข้ามา จนทำให้ครอบครัวโชดะวิตกกังวลเกี่ยวกับการมีคู่ครองของบุตรสาว[9] หนึ่งในชายที่เข้ามาคบหาพระองค์คือยูกิโอะ มิชิมะ (ญี่ปุ่น: 三島 由紀夫) นักเขียนชาวญี่ปุ่น ซึ่งปรากฏในหนังสือ "ชีวิตและการมรณกรรมของยุกิโอะ มิชิมะ" (The Life and Death of Yukio Mishima) อันเป็นงานเขียนของเฮนรี สกอต สโตกส์ (Henry Scott Stokes) ที่ระบุว่าทั้งสองได้รับการแนะนำ และสนับสนุนจากครอบครัวให้สมรส ด้วยมองว่าทั้งคู่มีความเหมาะสมกัน[10][11]

พระราชพิธีหมั้นและอภิเษกสมรส แก้

 
ภาพงานอภิเษกสมรส ทรงฉายร่วมกันจักรพรรดิโชวะ และจักรพรรดินีโคจุง เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2502

มิจิโกะ โชดะพบกับมกุฎราชกุมารอากิฮิโตะครั้งแรกในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2500 ที่สนามเทนนิสในเมืองคารูอิซาวะ ซึ่งคณะกรรมการพระราชวัง (Imperial Household Council) ได้อนุมัติพระราชพิธีหมั้นของมกุฎราชกุมารกับนางสาวโชดะในวันที่ 24 พฤศจิกายนปีถัดมา ช่วงเวลาเดียวกันนั้น สื่อมวลชนต่างให้ความสนใจและเรียกว่า "รักหวานในสนามเทนนิส" (romance of the tennis court) บ้างก็ว่าเป็น "เทพนิยาย" ที่เกิดขึ้นจริง[9] พระราชพิธีหมั้นถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2502

แม้พระคู่หมั้นจะเป็นสตรีที่มาจากครอบครัวที่มั่งคั่งแต่ก็มีพื้นเพเป็นสามัญชนเท่านั้น ในช่วงปีดังกล่าวนั้นสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปที่คุ้นเคยกับพระราชวงศ์ญี่ปุ่นเข้าใจว่า พระราชวงศ์จะต้องคัดเลือกสุภาพสตรีที่มีเชื้อสายเจ้าหรือเป็นลูกหลานขุนนางมาให้พระยุพราชเสกสมรสโดยเฉพาะ นอกจากนี้ประชาชนบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการหมั้นนี้เพราะพระคู่หมั้นมาจากครอบครัวคริสตัง[6] แม้เธอจะไม่เคยรับศีลล้างบาปแต่ก็ร่ำเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาคริสต์ และมีทีท่าที่จะเผยแผ่ความเชื่อของบิดามารดา รวมทั้งมีข่าวลือหนาหูว่าสมเด็จพระจักรพรรดินีนางาโกะก็ทรงต่อต้านพระราชพิธีหมั้นเช่นกัน จนในปี พ.ศ. 2543 หลังการสวรรคตของสมเด็จพระจักรพรรดินีนางาโกะ สำนักข่าวรอยเตอร์สได้รายงานว่า จักรพรรดินีนางาโกะทรงต่อต้านการอภิเษกสมรสอย่างแข็งขัน โดยทรงกดดันพระสุณิสาว่าไม่คู่ควรกับพระราชโอรสของพระองค์ ส่งผลให้พระสุณิสาประชวรด้วยภาวะซึมเศร้า[12] นอกจากนี้ยังมีการหมายเอาชีวิตจนทำให้ครอบครัวโชดะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่คอยอารักขาความปลอดภัย[9]

อย่างไรก็ตามความรักของทั้งสองพระองค์นั้นได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะชนชั้นการเมืองที่จะแสดงให้เห็นถึงพลังของคนหนุ่มสาว มิจิโกะจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัยและประชาธิปไตยในญี่ปุ่น ที่สือมวลชนเรียกว่า "มิจจิบูม" (Mitchi boom)[4] ที่สุดพระราชพิธีอภิเษกสมรสก็ถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2502 ซึ่งจัดอย่างลัทธิชินโตตามพระราชประเพณี มีประชาชนโตเกียวกว่า 500,000 คน ร่วมถวายพระพรแสดงความยินดีบริเวณเส้นทางเสด็จยาว 8.8 กิโลเมตร รวมทั้งยังมีการถ่ายทอดสดงานอภิเษกสมรส (ถือเป็นครั้งแรกของญี่ปุ่นที่มีการถ่ายทอดสดงานอภิเษกสมรสของจักรพรรดิในอนาคต) อันมีผู้ชมกว่า 15 ล้านคน[13] ซึ่งมีหลายครอบครัวลงทุนซื้อโทรทัศน์มาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ[14]

มกุฎราชกุมารี แก้

 
มกุฎราชกุมารีมิจิโกะ กับแนนซี เรแกน เมื่อคราเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ พ.ศ. 2530

หลังการอภิเษกสมรส มกุฎราชกุมารและมกุฎราชกุมารีได้มาประทับอยู่ในพระราชวังโทงู (ญี่ปุ่น: 東宮御所โรมาจิTōgū-gosho) ตามพระราชประเพณี และออกจากวังดังกล่าวไปประทับพระราชวังอิมพีเรียลเมื่อพระราชสวามีขึ้นครองราชสมบัติเป็น สมเด็จพระจักรพรรดิ เมื่อปี พ.ศ. 2532

มกุฎราชกุมาร และมกุฎราชกุมารี มีพระราชโอรส-ธิดาด้วยกัน 3 พระองค์ คือ

  1. สมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะ (ญี่ปุ่น: 徳仁天皇โรมาจิNaruhito Tennō; 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503) เสกสมรสกับมาซาโกะ โอวาดะ (ญี่ปุ่น: 小和田雅子โรมาจิOwada Masako) มีพระราชธิดาพระองค์เดียว
  2. เจ้าชายฟูมิฮิโตะ อากิชิโนโนมิยะ (ญี่ปุ่น: 秋篠宮文仁親王โรมาจิAkishino-no-miya Fumihito Shinnō; 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508) เสกสมรสกับคิโกะ คาวาชิมะ (ญี่ปุ่น: 川嶋紀子โรมาจิKawashima Kiko) มีพระโอรส-ธิดาสามพระองค์
  3. เจ้าหญิงซายาโกะ โนริโนมิยะ (ญี่ปุ่น: 紀宮清子内親王โรมาจิNori-no-miya Sayako Naishinnō; 18 เมษายน พ.ศ. 2512) ต่อมาทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่อเสกสมรสกับโยชิกิ คูโรดะ (ญี่ปุ่น: 黒田慶樹โรมาจิKuroda Yoshiki) ไม่มีบุตร-ธิดาด้วยกัน

ในปี พ.ศ. 2506 มีการรายงานข่าวว่ามกุฎราชกุมารีมิจิโกะทรงยุติการตั้งพระครรภ์ ขณะมีอายุครรภ์ได้สามเดือนเมื่อวันที่ 22 มีนาคม ณ กรุงโตเกียว[15] เนื้อหากล่าวว่า "โฆษกกล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวได้รับคำปรึกษาจากศาสตราจารย์ทากาชิ โคบายาชิ ที่ทำการประสูติเจ้าชายฮิโระ พระราชโอรสพระองค์แรกที่มีพระชันษา 3 ปี. โฆษกยังกล่าวต่อ ว่าเจ้าหญิงซึ่งมีพระชนมายุ 28 พรรษานี้มีพระพลานามัยที่ไม่แข็งแรงเนื่องจากการประกอบพระกรณียกิจอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนทรงพระครรภ์"[15]

 
มกุฎราชกุมารีมิจิโกะและพระราชสวามี ขณะเสด็จเยือนประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อปี พ.ศ. 2522 โดยมีสมเด็จพระราชินีนาถยูเลียนา เจ้าหญิงเบียทริกซ์ และเจ้าชายเคลาส์นำเสด็จ

มกุฎราชกุมารและมกุฎราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระองค์นอกกรอบจารีตของวังหลวงที่เดิมต้องแยกพระราชบุตรจากชนกชนนีแล้วให้ผู้อื่นเลี้ยงแทน และจ้างครูมาสอนพระราชบุตรในวัง มกุฎราชกุมารีมิจิโกะเองทรงเลือกที่จะเลี้ยงพระราชบุตรเองโดยไม่พึ่งข้าราชบริพาร ทรงอำรุงเลี้ยงพระราชโอรส-ธิดาด้วยพระเกษียรธาราทุกพระองค์[16] รวมทั้งส่งพระราชบุตรเข้าศึกษาที่โรงเรียน[14] ทั้งนี้มกุฎราชกุมารและมกุฎราชกุมารีเป็นที่เคารพของพสกนิกร ทรงเดินทางพบปะประชาชนใน 47 จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งยังให้สิทธิ์ประชาชนที่จะถ่ายรูปคู่กับพระองค์ นอกจากนี้ยังเสด็จเยื่อนต่างประเทศถึง 37 ประเทศ ช่วงปี พ.ศ. 2502-2532

พระองค์มีปัญหาทางจิตอันเกิดจากแรงกดดันของสื่อมวลชน ซึ่งสำนักข่าวรอยเตอร์มองว่า อคติของสมเด็จพระจักรพรรดินีนางาโกะส่งผลอย่างยิ่งที่ทำให้พระองค์ไม่มีพระสุรเสียงไปเจ็ดเดือนเมื่อปี พ.ศ. 2503 และอีกครั้งในฤดูใบไม้ร่วง พ.ศ. 2536[14] และเมื่อปี พ.ศ. 2550 พระองค์ได้ยกเลิกพระราชกรณียกิจออกไป เนื่องจากทรงเป็นร้อนใน มีพระโลหิตกำเดา และพระโลหิตตกในพระอันตคุณ ซึ่งแพทย์ออกมาชี้แจ้งว่าเกิดจากความเครียดส่วนพระองค์[17] ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวใกล้เคียงกับกรณีของมกุฎราชกุมารีมาซาโกะ พระสุณิสา ที่ทรงได้รับแรงกดดันในพระอิสริยยศ[18]

สมเด็จพระจักรพรรดินี แก้

 
เนื่องในวโรกาสวันพระราชสมภพสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2548

เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิโชวะเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2532 เจ้าชายอากิฮิโตะ มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น จึงขึ้นครองราชสมบัติเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ที่ 125 ส่วนเจ้าหญิงมิจิโกะ มกุฎราชกุมารี ก็เป็นสมเด็จพระจักรพรรดินีตามลำดับ โดยจัดพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 ณ พระราชวังโตเกียว

หลังพิธีบรมราชาภิเษก ทั้งสองพระองค์ก็เสด็จเยือนต่างประเทศ 19 ประเทศ และพยายามที่จะใกล้พสกนิกรในจังหวัดที่เสด็จเยือนทั้ง 47 จังหวัด พระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจเคียงคู่พระราชสวามีทั้งในและต่างประเทศ หรือแม้แต่งานต้อนรับพระราชอาคันตุกะ อย่างในปี พ.ศ. 2550 พระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างเป็นทางการทั้งหมดกว่า 300 ครั้ง[19] หลังการสวรรคตของจักรพรรดินีโคจุง เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2543 พระองค์จึงดำรงตำแหน่งเป็นองค์นายิกาของสภากาชาดญี่ปุ่นสืบต่อ[20]

ทั้งนี้พระองค์มีหน้าที่ในการดูแลฟาร์มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในพระราชวังที่ชื่อ "โมะมิจิยะมะ" (Momijiyama Imperial Cocoonery) ทรงมีส่วนร่วมในงานผ้าไหมประจำปีอันเป็นส่วนหนึ่งในพระราชพิธีที่ยึดโยงเข้ากับคติลัทธิชินโต ประเพณีและวัฒนธรรมญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. 2537 ทรงมีไหมสายพันธุ์โคะอิชิมะรุ (สายพันธุ์ที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น) ส่วนหนึ่ง พระราชทานให้กับคลังโชโซอิง (ญี่ปุ่น: 正倉院โรมาจิShōsō-in) ในพุทธศาสนาที่ชื่อวัดโทไดจิ (ญี่ปุ่น: 東大寺โรมาจิTōdai-ji) เพื่อใช้บูรณะสมบัติต่อไป[19]

พระองค์เป็นที่นิยมของชาวญี่ปุ่นด้วยมีจริยวัตรที่งดงาม ทรงใช้เวลาส่วนหนึ่งไปกับการบำเพ็ญเพียรทางศาสนาร่วมกับพระราชสวามี เช่น ทรงสักการะศาลเจ้าอิเซะและศาลเจ้าชินโตอื่น ๆ รวมทั้งการสวดภาวนาภายในสุสานหลวงเพื่ออุทิศพระราชกุศลแด่บูรพมหากษัตริย์และสมาชิกในราชวงศ์ที่ล่วงลับไปแล้ว ทั้งยังเป็นนักเปียโนหญิงที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง หลายปีที่ผ่านมาทั้งสองพระองค์จะทรงเยี่ยมชมสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ ต่อมาสำนักพระราชวังได้ออกมาประกาศว่าหลังจากปี พ.ศ. 2557 ทั้งสองพระองค์จะส่งต่อพระราชกรณียกิจแก่เจ้านายรุ่นใหม่ และกล่าวว่าเรื่องพระพลานามัยของทั้งสองพระองค์ไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินพระทัยนี้[19]

อนึ่ง ในปี พ.ศ. 2533 พระองค์ได้ถูกบรรจุไว้ในหอเกียรติยศ ในรายชื่อเครื่องแต่งกายนานาชาติที่ดีที่สุด[21][22]

พระเกียรติยศ แก้

พระอิสริยยศ แก้

ธรรมเนียมพระยศของ
จักรพรรดินีมิจิโกะ
 
ธงประจำพระอิสริยยศ
การทูลเฮกะ (陛下)
การแทนตนโบะกุ (บุรุษ) / วะตะชิ (สตรี)
  • 20 ตุลาคม พ.ศ. 2477 — 10 เมษายน พ.ศ. 2502 : มิจิโกะ โชดะ
  • 10 เมษายน พ.ศ. 2502 — 7 มกราคม พ.ศ. 2532 : เจ้าหญิงมิจิโกะ พระชายาในมกุฎราชกุมารอากิฮิโตะ
  • 7 มกราคม พ.ศ. 2532 — 30 เมษายน พ.ศ. 2562 : สมเด็จพระจักรพรรดินีมิจิโกะ
  • 1 พฤษภาคม 2562 — ปัจจุบัน : โจโกโงมิจิโกะ / สมเด็จพระจักรพรรดินีมิจิโกะ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

พระราชบุตร แก้

พระนาม ประสูติ เสกสมรส พระราชนัดดา
จักรพรรดินารูฮิโตะ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503 9 มิถุนายน พ.ศ. 2536 มาซาโกะ โอวาดะ เจ้าหญิงไอโกะ โทชิโนะมิยะ
เจ้าชายฟูมิฮิโตะ
อากิชิโนะโนะมิยะ
11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 29 มิถุนายน พ.ศ. 2533 คิโกะ คาวาชิมะ มาโกะ โคมูโระ
เจ้าหญิงคาโกะแห่งอากิชิโนะ
เจ้าชายฮิซาฮิโตะแห่งอากิชิโนะ
เจ้าหญิงซายาโกะ
โนริโนะมิยะ
18 เมษายน พ.ศ. 2512 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 โยชิกิ คูโรดะ

พงศาวลี แก้

อ้างอิง แก้

  1. Kunaicho | Their Majesties the Emperor and Empress สำนักพระราชวงศ์ญี่ปุ่น
  2. ผุสดี นาวาวิจิต (มิถุนายน พ.ศ. 2562). จาก "เฮเซ" สู่ "เรวะ" : การเปลี่ยนรัชศกของราชสำนักญี่ปุ่น (PDF). วารสารเครือข่ายญี่ปุ่นศึกษา (9:1). p. 4. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year= (help)
  3. "สถานะและพระนามของพระจักรพรรดิ หลังญี่ปุ่นผลัดแผ่นดิน". ผู้จัดการออนไลน์. 2 พฤษภาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 6 กันยายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 4.2 "80 พรรษา สมเด็จพระจักรพรรดินีมิจิโกะ ผู้ค้ำราชบัลลังก์อิมพิเรียลยุคใหม่". ไทยรัฐออนไลน์. 26 ตุลาคม 2557. สืบค้นเมื่อ 13 มีนาคม 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. 5.0 5.1 『週刊朝日』1959年4月12日号
  6. 6.0 6.1 Herbert P. Bix, Hirohito and the making of modern Japan, New York, 2001, p. 661
  7. "History". University of Osaka.
  8. "The commoners who married royalty". BBC. สืบค้นเมื่อ 11 March 2013.
  9. 9.0 9.1 9.2 "« The Girl from Outside », Time, 23 March 1959". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-09-06. สืบค้นเมื่อ 2015-03-13.
  10. Michael Sheridan (27 มีนาคม 2548). "Sunday Times Mishima Feature". Sunday Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-12. สืบค้นเมื่อ 13 มีนาคม 2558. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. Saru, « 三島入門 (An Introduction to Mishima) », Mutant Frog Travelogue, 12 February 2006
  12. "« Japan's Dowager Empress Dead At 97 », CBS, 16/06/2000". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-04-06. สืบค้นเมื่อ 2015-03-14.
  13. Kyodo News, « Imperial marriage created bond with people », The Japan Times, 09/04/2009
  14. 14.0 14.1 14.2 "จักรพรรดิญี่ปุ่นเฉลองครบรอบ 50 ปี การอภิเษกกับหญิงสามัญชนวันนี้". ASTV ผู้จัดการออนไลน์. 10 เมษายน 2552. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 16 มีนาคม 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  15. 15.0 15.1 "Japanese Princess Has An Abortion", The Miami News, 22 March 1963, page 3
  16. Imperial Household Agency, «Their Majesties the Emperor and Empress»
  17. Reuters, « Japan Empress Michiko ill », The Sydney Morning Herald, 06/03/2007
  18. « People: Alan Hollinghurst, Empress Michiko of Japan, Dave Barry », International Herald tribune, 21/10/2004
  19. 19.0 19.1 19.2 Imperial Household Agency, «Press Conference on the occasion of His Majesty's Birthday (2013)»
  20. "Présentation de la Croix-Rouge japonaise sur son site officiel". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-27. สืบค้นเมื่อ 2015-03-14.
  21. "Vanity Fair". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-10. สืบค้นเมื่อ 2015-03-14.
  22. Ultimate Style – The Best of the Best Dressed List. 2004. p. 158. ISBN 2 84323 513 8.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

ก่อนหน้า สมเด็จพระจักรพรรดินีมิจิโกะ ถัดไป
จักรพรรดินีโคจุง   จักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่น
(7 มกราคม พ.ศ. 2532 — 30 เมษายน พ.ศ. 2562)
  สมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะ|}