สงครามสี่สิบปี
สงครามสี่สิบปี (พม่า: အနှစ်လေးဆယ်စစ်; อังกฤษ: Forty Years' War) หรือ สงครามพม่า-มอญ (Mon-Burmese War) หรือ สงครามหงสาวดี-อังวะ (Ava-Pegu War) เป็นการขัดกันทางทหารระหว่างฝ่ายพม่า คือ อาณาจักรอังวะ กับฝ่ายมอญ คือ อาณาจักรหงสาวดี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1385–1424 โดยรบรากันเป็นสองช่วงแยกกัน คือ ช่วงปี ค.ศ. 1385–1391 แล้วหย่าศึกกันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1391–1404 จึงกลับมาสับประยุทธ์กันอีกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1404–1424 สมรภูมิหลักนั้นปัจจุบันอยู่ในพม่าตอนล่าง พม่าตอนบน ฉาน และยะไข่ สงครามคราวนี้สิ้นสุดลงโดยที่ต่างฝ่ายต่างไม่อาจเอาชัยเหนือกัน กรุงหงสาวดีสามารถรักษาเอกราชไว้ได้ ขณะที่กรุงอังวะจำต้องเลิกล้มความพยายามที่จะสถาปนาอาณาจักรพุกามขึ้นอีกครั้ง
สงครามสี่สิบปี | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
พม่า ค.ศ. 1450 หลังสงครามสี่สิบปี | |||||||||
| |||||||||
คู่สงคราม | |||||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||||
พระเจ้าฝรั่งมังศรีชวา พระเจ้าตราพระยา ทิละวา พระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง มังรายกะยอชวา † พระเจ้าฝรั่งมังศรี |
พระเจ้าราชาธิราช สมิงพ่อเพชร อำมาตย์ทินมณิกรอด สมิงนครอินทร์ † สมิงพระราม พญารามที่ 1 |
ช่วงแรก
แก้พระเจ้าฝรั่งมังศรีชวาแห่งกรุงอังวะ อาศัยช่วงที่กรุงหงสาวดีประสบปัญหาการสืบราชสันตติวงศ์เข้ารุกรานกรุงหงสาวดี เกิดเป็นสงครามตั้งแต่ราวปี ค.ศ. 1384–1386 พระยาน้อย เจ้าชายผู้ทรงพระเยาว์ เสวยราชย์เป็นพระเจ้ากรุงหงสาวดีพระองค์ใหม่ ทรงพระนาม "พระเจ้าราชาธิราช" ทรงได้รับความช่วยเหลือจากแม่ทัพนายกองผู้มากความสามารถหลายนาย เช่น สมิงนครอินทร์ และสมิงอายมนทะยา เป็นเหตุให้กรุงหงสาวดีสามารถตีโต้การรุกรานของกรุงอังวะได้หลายครั้ง ในปี ค.ศ. 1391 กรุงอังวะจึงขอหย่าศึก การพักรบดำเนินมาจนถึงปี ค.ศ. 1404[1]
ช่วงที่สอง
แก้สงครามช่วงที่สองเนื่องจากกรุงอังวะผจญปัญหาการสืบราชบัลลังก์เช่นกัน พระเจ้าราชาธิราชจึงใช้โอกาสนี้ยกทัพเรือจำนวนมหาศาลขึ้นสู่พม่าตอนเหนือเมื่อปี ค.ศ. 1404[2] กรุงอังวะต่อต้านไว้ได้ พระเจ้าราชาธิราชแห่งกรุงหงสาวดี กับพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง แห่งกรุงอังวะ จึงทรงพักรบกันในปี ค.ศ. 1406 แต่ไม่ถึงหนึ่งปี ในปี ค.ศ. 1406 นั้นเอง กรุงอังวะก็หันกลับมารุกรานกรุงหงสาวดีเพื่อขยายดินแดนต่อ สามารถยึดดินแดนหลายแห่งในตอนเหนือ คือ กะเล่กับโม่ญี่น รวมถึงดินแดนภาคตะวันตก คือ ยะไข่ ฝ่ายมอญเห็นว่าไม่อาจปล่อยให้พม่ามีกำลังกล้าแข็งได้อีกต่อไปจึงเข้าทำสงครามด้วย ครั้นปี ค.ศ. 1407 กองทัพมอญขับพม่าออกจากยะไข่ได้สิ้น ทั้งยังได้พันธมิตร คือ แสนหวี ซึ่งเข้าล่มหัวจมท้ายด้วยเพราะประสงค์จะหยั่งทราบความทะเยอทะยานของฝ่ายพม่า
ระหว่างปี ค.ศ. 1407–1413 กรุงอังวะจำต้องสู้หลายจุด คือ สู้แสนหวีทางเหนือ สู้หงสาวดีทางใต้ และสู้ยะไข่ทางตะวันตก กระนั้นภายในปี ค.ศ. 1413 ทัพอังวะซึ่งนำโดยมังรายกะยอชวา โอรสพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง เริ่มรุกและกลับได้เปรียบ โดยสามารถปราบปรามแสนหวีและพันธมิตรจากราชวงศ์หมิงได้ ทั้งยังสามารถเคลื่อนพลเต็มรูปแบบเข้าสู่กรุงหงสาวดีได้ในปี ค.ศ. 1414 จนมีชัยเหนือดินแดนปากแม่น้ำอิรวดีได้ในปี ค.ศ. 1415 ส่งผลให้พระเจ้าราชาธิราชต้องเสด็จลี้ภัยจากกรุงหงสาวดีไปยังเมาะตะมะ ทว่า มังรายกะยอชวาถึงแก่พระชนม์ในระหว่างรบเสียก่อนเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1417[3][4]
การสิ้นสุด
แก้เมื่อสิ้นมังรายกะยอชวาแล้ว ทั้งพม่าและมอญก็เหนื่อยหน่ายกับสงคราม การรบสองครั้งหลังจากนั้นมา คือ ช่วงปี ค.ศ. 1417–1418 และช่วงปี ค.ศ. 1423 และ ค.ศ. 1424 เป็นไปอย่างอิดเอื้อน ในช่วงปี ค.ศ. 1421–1422 ผู้นำของทั้งสองฝ่าย คือ พระเจ้าราชาธิราชและพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องก็สวรรคตทั้งสองพระองค์[5] การรบหนสุดท้ายมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1423 เมื่อ มังศรีสู โอรสของพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง เสด็จขึ้นสืบราชสมบัติต่อ ทรงพระนาม "พระเจ้าฝรั่งมังศรี" หรือ "พระเจ้าสีหตูแห่งอังวะ" แล้วกรีธาทัพล่วงมายังอาณาจักรมอญระหว่างที่ยังวุ่นวายกันเรื่องสืบราชบัลลังก์ พระนางเชงสอบู จึงยอมสมรสกับพระเจ้าฝรั่งมังศรีเพื่อหย่าศึก ทัพพม่าถอยคืนไปในต้นปี ค.ศ. 1424 เป็นอันยุติสงครามยาวนานสี่สิบปี[6]
อ้างอิง
แก้- เชิงอรรถ
- ↑ Jon Fernquest (Spring 2006). "Rajadhirat's Mask of Command: Military Leadership in Burma (c. 1348-1421)" (PDF). SBBR. 4 (1): 7–11. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-01-03. สืบค้นเมื่อ 2013-12-22.
- ↑ Major Gen. Sir Arthur Purves Phayre (1873). "The History of Pegu". Journal of Asiatic Society of Bengal. Oxford University. 42: 47–55.
- ↑ Jon Fernquest (Autumn 2006). "Crucible of War: Burma and the Ming in the Tai Frontier Zone (1382-1454)" (PDF). SOAS Bulletin of Burma Research. 4 (2): 51–54. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-02-19. สืบค้นเมื่อ 2013-12-22.
- ↑ GE Harvey (1925). "Shan Migration (Ava)". History of Burma (2000 ed.). Asian Educational Services. pp. 85–95. ISBN 81-206-1365-1, 9788120613652.
{{cite book}}
: ตรวจสอบค่า|isbn=
: ตัวอักษรไม่ถูกต้อง (help) - ↑ Jon Fernquest (Spring 2006). "Rajadhirat's Mask of Command: Military Leadership in Burma (c. 1348-1421)". SBBR. 4 (1): 14–18.
- ↑ Kala Vol. 2 2006: 58
- บรรณานุกรม
- Kala, U (1724). Maha Yazawin (ภาษาพม่า). Vol. 1–3 (2006, 4th printing ed.). Yangon: Ya-Pyei Publishing.
- Pan Hla, Nai (1968). Razadarit Ayedawbon (ภาษาพม่า) (8th printing, 2004 ed.). Yangon: Armanthit Sarpay.
- Royal Historical Commission of Burma (1832). Hmannan Yazawin (ภาษาพม่า). Vol. 1–3 (2003 ed.). Yangon: Ministry of Information, Myanmar.