วิกิพีเดีย:ชื่อผู้ใช้

(เปลี่ยนทางจาก วิกิพีเดีย:USERNAME)

นโยบายนี้อธิบายว่าชื่อผู้ใช้ประเภทใดที่ยอมรับได้ในวิกิพีเดียภาษาไทย และจะทำอย่างไรกับชื่อผู้ใช้ที่ยอมรับไม่ได้หรือน่าสงสัย นอกจากนี้ ยังชี้ชัดว่าบัญชีผู้ใช้ควรมีผู้ใช้เพียงคนเดียว และในกรณีส่วนใหญ่ บุคคลหนึ่งควรใช้เพียงบัญชีเดียว

คุณเลือกชื่อผู้ใช้เมื่อสร้างบัญชีผู้ใช้ ทุกเรื่องที่เขียนโดยใช้บัญชีจะถือเป็นของชื่อผู้ใช้ที่เลือก แต่เรื่องที่เขียนขณะมิได้ล็อกอินเข้าสู่บัญชีใด ๆ ถือเป็นของที่อยู่ไอพีของผู้ใช้ คุณสามารถขอเปลี่ยนชื่อผู้ใช้ได้ และให้เรื่องที่เขียนในอดีตถือเป็นของชื่อใหม่

นโยบายนี้ใช้บังคับแก่ชื่อผู้ใช้ในวิกิพีเดียภาษาไทย อย่างไรก็ดี ในกรณีส่วนใหญ่คุณจะสามารถใช้ชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านเดียวกันนี้ล็อกอินเข้าสู่วิกิพีเดียภาษาอื่น และโครงการอื่นของมูลนิธิวิกิมีเดีย

คำแนะนำแก่ผู้ใช้ใหม่

ชื่อผู้ใช้เป็นชื่อเล่นหรือสมญาที่จะใช้ระบุบัญชีของคุณ และเรื่องที่คุณเขียนทั้งหมดในวิกิพีเดียด้วย ชื่อผู้ใช้อาจเป็นชื่อจริงของคุณก็ได้ แล้วแต่จะเลือก แต่คุณควรตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเขียนภายใต้ชื่อจริงของคุณ ชื่อผู้ใช้วิกิพีเดียไวต่ออักษรใหญ่เล็ก แต่อักษรตัวแรกจะเป็นตัวใหญ่อัตโนมัติเสมอ ชื่อผู้ใช้จะปรากฏในลายเซ็นของคุณบนโพสต์ในหน้าอภิปรายเป็นค่าเริ่มต้น สำหรับรายละเอียดลายเซ็นและวิธีการปรับแต่ง ดู วิกิพีเดีย:ลายเซ็น

พึงระลึกว่า เมื่อเลือกแล้ว ชื่อผู้ใช้ไม่อาจเปลี่ยนได้โดยง่าย หากคุณเลือก "ดร. ฟรันซ์ ชเรอแดร์" แล้วปริญญาเอกของคุณจะเห็นได้ชัดในหน้าประวัติ และทุกโพสต์ในหน้าพูดคุย นอกจากคุณจะเปลี่ยนลายเซ็นของคุณ หากคุณเลือกที่จะเป็นทางการน้อยลง ให้ทิ้งคำนำหน้าเสีย อย่างไรก็ดี คุณควรอ่านส่วนที่ว่าด้วยการใช้ชื่อจริงเป็นชื่อผู้ใช้

คุณระบุชื่อผู้ใช้เมื่อสร้างบัญชี และภายหลังใช้ชื่อนั้นร่วมกับรหัสผ่านลับเพื่อล็อกอินเข้าสู่บัญชี เมื่อคุณมีบัญชีแล้ว คุณสามารถสร้างหน้าผู้ใช้ ชื่อว่า "ผู้ใช้:XXXX" โดยที่ "XXXX" เป็นชื่อผู้ใช้ของคุณ เพื่อให้สารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับตัวคุณแก่ชาววิกิพีเดียคนอื่น คุณหรือผู้เขียนอื่นยังสามารถสร้างหน้าคุยกับผู้ใช้ ชื่อว่า "คุยกับผู้ใช้:XXXX" ซึ่งผู้อื่นสามารถใช้ติดต่อคุณได้

ซอฟต์แวร์จะไม่อนุญาตให้คุณลงทะเบียนด้วยชื่อผู้ใช้ที่มีผู้อื่นใช้แล้ว หรือชื่อที่คล้ายว่าเหมือนชื่อที่มีใช้แล้วเกินไป อย่างไรก็ดี ในกรณีหลัง คุณอาจยังขอการอนุญาตให้ใช้ชื่อนั้นได้

ชื่อผู้ใช้สามารถเป็นสายตัวอักษรใด ๆ ก็ได้ โดยมีข้อจำกัดทางเทคนิคบ้าง อย่างไรก็ดี ควรเป็นชื่อที่ผู้ใช้อื่นสะดวกและไม่ขัดต่อโครงการ ชื่อที่เป็นที่ถกเถียงอาจสร้างความประทับใจไม่ดีกับผู้ใช้อื่น และการหลีกเลี่ยงประเด็นนี้เป็นธุระของคุณเอง หน้านี้อธิบายชื่อผู้ใช้บางประเภทที่เจาะจงไม่อนุญาต ซึ่งเหตุผลหลักที่ห้ามนั้นเพราะอาจถูกมองว่าก้าวร้าว ชวนให้เข้าใจผิด หรือส่งเสริม หรือส่อว่าบัญชีนั้นมิได้เป็นของปัจเจกบุคคล

ชื่อที่ไม่เหมาะสม

ส่วนนี้แสดงรายการประเภทชื่อผู้ใช้ที่ถูกมองว่าไม่เหมาะสม เกณฑ์เดียวกันนี้ยังใช้กับลายเซ็นด้วย

รายการเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องละเอียดถี่ถ้วน ใช้สามัญสำนึกในการบังคับใช้กฎเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น คำที่อาจดูก้าวร้าวในบริบทหนึ่ง อาจมีอีกความหมายที่ไม่เลวร้ายในอีกบริบทหนึ่งก็ได้

ชื่อที่ชวนให้เข้าใจผิด

ไม่อนุญาตให้ใช้ชื่อผู้ใช้ด้านล่างนี้ เพราะอาจชวนให้เข้าใจผิดในทางที่รบกวนโครงการ:

  • ชื่อผู้ใช้ที่เจตนาปลอมเป็นบุคคลอื่น
  • ชื่อผู้ใช้ที่ล้อเลียนว่าบัญชีนั้นได้รับการอนุญาต ซึ่งแท้ที่จริงแล้วไม่ใช่ ตัวอย่างเช่น มีคำว่า "ผู้ดูแลระบบ" "ผู้ดูแลสิทธิแต่งตั้ง" หรือคำที่คล้ายกันอย่าง "แอดมิน" ฯลฯ
  • ชื่อผู้ใช้ที่อาจถูกเข้าใจผิดได้ง่ายว่าหมายถึง "บอต" (ซึ่งใช้ระบุบัญชีบอต) หรือ "สคริปต์" (ซึ่งอ้างถึงกระบวนการแก้ไขอัตโนมัติ) เว้นเสียบัญชีนั้นจะเป็นบอตหรือสคริปต์
  • ชื่อผู้ใช้ซึ่งมีวลีอย่าง "วิกิพีเดีย" "วิกิมีเดีย" หรือโครงการพี่น้อง ซึ่งแอบอ้างอย่างผิด ๆ ว่าบัญชีนั้นอาจเกี่ยวข้องกับมูลนิธิวิกิมีเดียหรือหนึ่งในโครงการอย่างเป็นทางการ
  • ชื่อผู้ใช้ซึ่งดูเหมือนหมายเลขไอพี (เพราะหมายเลขไอพีถูกคาดว่าเป็นการระบุผู้ใช้ที่มิได้ล็อกอิน) ตราเวลา หรือชื่ออื่นที่อาจสับสนได้ในรูปแบบลายเซ็นของวิกิพีเดีย

ไม่อนุญาตให้ใช้ชื่อผู้ใช้ด้านล่างนี้ เพราะรบกวนหรือก้าวร้าว:

  • ชื่อผู้ใช้ที่มีแนวโน้มก้าวร้าวผู้เขียนคนอื่น ทำให้การแก้ไขอย่างปรองดองยากหรือเป็นไปไม่ได้ ตัวอย่างเช่น มีคำสาปแช่ง
  • ชื่อผู้ใช้ที่มีหรือส่อการโจมตีบุคคล
  • ชื่อผู้ใช้ที่ดูตั้งใจปลุกเร้าปฏิกิริยาทางอารมณ์ ("เกรียน")
  • ชื่อผู้ใช้ที่หาไม่แล้วแสดงเจตนาชัดเจนเพื่อรบกวนวิกิพีเดีย

หมายเหตุว่า ชื่อผู้ใช้ที่ไม่เหมาะสมในภาษาหนึ่ง หรือที่แสดงชื่อไม่เหมาะสมด้วยการสะกดผิดหรือการทดแทน หรือทำโดยอ้อมหรือโดยการส่อความ ยังถือว่าไม่เหมาะสมเช่นเดิม

ชื่อที่ส่งเสริม

ไม่อนุญาตให้ใช้ชื่อผู้ใช้ด้านล่างนี้ เพราะถูกพิจารณาว่าส่งเสริม:

  • ชื่อผู้ใช้ที่มีชื่อบริษัท กลุ่ม สถาบันหรือผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ดี ชื่อผู้ใช้ที่มีชื่อเช่นนี้บางครั้งก็ได้รับอนุญาต
  • ที่อยู่อีเมลและยูอาร์แอล (เช่น "Alice@example.com" และ "Example.com") ขณะที่ชื่อโดเมนธรรมดา (โดยไม่มี com, .co.th ฯลฯ) บางครั้งได้รับอนุญาต เช่น เมื่อจุดประสงค์ที่ใช้เพียงเพื่อระบุผู้ใช้ในฐานะบุคคล แต่จะไม่เหมาะสมหากใช้เพื่อส่งเสริมเว็บเพจพาณิชย์

ผู้ใช้ที่ทั้งใช้ชื่อผู้ใช้ที่ส่งเสริมและยังมีพฤติกรรมเชิงส่งเสริมที่ไม่เหมาะสมในบทความเกี่ยวกับบริษัท กลุ่ม หรือผลิตภัณฑ์ อาจถูกบล็อกได้ ในกรณีเช่นนี้ ผู้ดูแลระบบควรตรวจสอบการแก้ไขของผู้ใช้เพื่อตัดสินใจว่าจะอนุญาตให้สร้างชื่อผู้ใช้ใหม่หรือไม่ หากมีหลักฐานว่าผู้ใช้จะยังคงแก้ไขอย่างไม่เหมาะสมในชื่อใหม่ ผู้ดูแลระบบที่ทำการบล็อกควรเปิดใช้คุณลักษณะ "บล็อกอัตโนมัติ" และ "ห้ามการสร้างบัญชี" มิฉะนั้น ผู้ใช้ควรได้รับโอกาสสร้างบัญชีใหม่ ก่อนบล็อก ความเห็นไม่ตรงกันว่าชื่อผู้ใช้หนึ่ง ๆ ยอมรับได้หรือไม่ควรอภิปรายที่ แจ้งผู้ดูแลระบบ ผู้ใช้ที่ใช้ชื่อผู้ใช้เช่นนี้ แต่ไม่ได้มีปัญหาในการแก้ไขในบทความที่เกี่ยวข้อง ไม่ควรถูกบล็อก เขาควรได้รับการรักษาน้ำใจอย่างสุภาพให้เปลี่ยนชื่อผู้ใช้แทน

ชื่อผู้ใช้ที่ส่อการใช้ร่วมกัน

เพราะนโยบายวิกิพีเดียมีว่า ชื่อผู้ใช้ไม่ควรใช้ร่วมกันเกินกว่าหนึ่งปัจเจกบุคคล ไม่อนุญาตชื่อผู้ใช้ที่ส่อความเป็นไปได้ในการใช้ร่วมกัน หมายความว่า

  • ไม่อนุญาตชื่อผู้ใช้ที่เป็นชื่อบริษัทหรือกลุ่ม (ซึ่งเข้าข่ายชื่อที่ส่งเสริมข้างต้นด้วย)
  • ไม่อนุญาตชื่อผู้ใช้ที่เป็นชื่อตำแหน่งหน้าที่ในองค์การ เช่น "เลขาธิการมูลนิธิ ก" เพราะบุคคลในตำแหน่งหน้าที่นั้นเปลี่ยนแปลงตามเวลา
  • อย่างไรก็ดี ชื่อผู้ใช้จะยอมรับได้หากมีชื่อบริษัทหรือชื่อกลุ่ม แต่ตั้งใจให้หมายถึงปัจเจกบุคคลอย่างชัดเจน เช่น "ทักษิณ มูลนิธิ ก" เป็นต้น

พึงระลึกว่า ไม่อนุญาตการแก้ไขเชิงส่งเสริมไม่ว่าจะใช้ชื่ออะไร แนวปฏิบัติเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนแนะนำผู้ใช้ทุกคนให้ระมัดระวังเมื่อแก้ไขบทความเกี่ยวกับธุรกิจ องค์การ ผลิตภัณฑ์หรือเรื่องอื่นที่ตนเกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้วยอย่างใกล้ชิด หากคุณเลือกแก้ไขบทความที่เกี่ยวข้องกับบริษัทหรือกลุ่มของคุณไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง คุณต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของวิกิพีเดียว่าด้วยการแก้ไขกับผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างระมัดระวัง

ชื่อผู้ใช้ที่น่าสับสน

ชื่อผู้ใช้บางชื่อดูเหมือนมีปัญหาโดยไม่เข้าหมวดหมู่ข้างต้นอย่างชัดเจน บ่อยครั้งมักเป็นกรณีชื่อผู้ใช้ที่สับสนหรือยาวมาก ซึ่งถูกกีดกันอย่างสูง แต่ไม่ถึงกับไม่เหมาะสมจนต้องมีมาตรการ

ชื่อผู้ใช้ที่น่าสับสนมักเป็นสัญญาณเตือนแก่ปัญหาอื่น ผู้เขียนที่มีชื่อผู้ใช้หรือลายเซ็นน่าสับสนอาจถูกบล็อกเร็วกว่ากำหนดสำหรับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอื่น เช่น การรบกวนหรือการก่อกวน หากชื่อผู้ใช้ที่น่าสับสนของเขามีส่วนต่อการรบกวน

การรับมือกับชื่อผู้ใช้ที่ไม่เหมาะสม

หากคุณพบชื่อผู้ใช้ที่ไม่เหมาะสมดังที่อธิบายข้างต้น มีหลายมาตรการที่คุณอาจดำเนินการ ให้คุณใช้สามัญสำนึกในการเลือก และหลีกเลี่ยงการกัดผู้ใช้ใหม่

พิจารณาปล่อยไว้เฉย ๆ

หากชื่อนั้นไม่เป็นปัญหาอย่างชัดเจน การละเลยก็สมเหตุสมผล สันนิษฐานว่าผู้อื่นมีเจตนาดี นอกจากนี้ เป็นไปได้ว่าการดำเนินมาตรการอาจไม่คุ้ม เว้นเสียแต่ผู้ใช้นั้นมีการแก้ไขล่าสุดอย่างน้อยหนึ่งครั้ง แต่แน่นอนว่ายกเว้นกรณีร้ายแรง

คุยกับผู้ใช้

หากคุณเห็นชื่อผู้ใช้ที่เป็นปัญหา แต่ไม่ถูกสร้างขึ้นโดยมีเจตนาร้ายอย่างชัดเจน ให้ดึงความสนใจของผู้ใช้นั้นมายังนโยบายนี้อย่างสุภาพ และพยายามรักษาน้ำใจเขาให้สร้างบัญชีใหม่ในชื่อผู้ใช้อื่น

รายงานการละเมิดชัดเจน

หากคุณคิดว่าชื่อผู้ใช้สมควรถูกบล็อกทันที และเป็นกรณีที่ชัดเจน ให้รายงานต่อผู้ดูแลระบบ

รายงานปัญหาอื่น

หากผู้ใช้ที่มีชื่อผู้ใช้เลวกำลังละเมิดนโยบายอื่น เช่น เรื่องสแปมหรือการก่อกวน ให้ติดตามผลของนโยบายเหล่านั้นมากกว่ารายงานชื่อผู้ใช้ หากผู้ใช้กำลังแก้ไขในทางที่มีอคติหรือส่งเสริมต่อเรื่องที่เขาเหมือนจะมีความเชื่อมโยงด้วย ให้รายงานต่อผู้ดูแลระบบ

พึงระลึกว่า การบล็อกผู้ใช้ใหม่มิใช่สิ่งที่เราอยากทำ หากแต่เราทำเมื่อถึงคราวจำเป็นที่ต้องป้องกันภัยจากวิกิพีเดีย โดยทั่วไป ผู้ใช้ที่ชื่อผู้ใช้ละเมิดนโยบายชื่อผู้ใช้ทางเทคนิคหรือคาบเส้นควรได้รับโอกาสให้อภิปรายชื่อผู้ใช้และเขาจะลงทะเบียนในชื่อผู้ใช้ใหม่อย่างไร อย่างไรก็ดี ผู้ใช้ที่ไม่เต็มใจลงทะเบียนชื่อผู้ใช้ใหม่ หรือมิฉะนั้น แสดงประวัติการเขียนที่ดีต่อวิกิพีเดียควรได้รับอนุญาตให้แก้ไขต่อไปในเชิงบวกและประเด็นควรตกไป อย่างไรก็ดี การยกเว้นนี้มิได้ใช้แก่ผู้เขียนที่มีชื่อผู้ใช้ก้าวร้าว การแก้ไขที่รบกวนหรือก่อกวน หรือการแก้ไที่แสดงประวัติอคติหรือผลประโยชน์ทับซ้อนที่เป็นปัญหา

ชื่อผู้ใช้อื่นบางประเภท

ชื่อจริง

การใช้ชื่อจริงทำให้เรื่องที่เขียนสามารถสืบหาปัจเจกบุคคลได้ง่ายขึ้น ซึ่งทำให้ผู้เขียนเสี่ยงสูงต่อประเด็นอย่างการก่อกวน (harassment) ทั้งในและนอกวิกิพีเดีย คุณควรพิจารณาประโยชน์และโทษของการเขียนจำนวนมากภายใต้ชื่อจริงของคุณก่อนทำเช่นนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณมีแผนแก้ไขหรืออภิปรายเรื่องที่มีแนวโน้มเป็นที่ถกเถียงกันในบทความวิกิพีเดียหรือโครงการที่เกี่ยวข้องหรือหน้าพูดคุยใด ๆ ขณะที่การเปลี่ยนชื่อบัญชีเป็นไปได้ ประวัติชื่อก่อนจะยังคงอยู่

อย่าแก้ไขภายใต้ชื่อจริงซึ่งมีแนวโน้มส่อว่าคุณคือ (หรือเกี่ยวข้องกับ) บุคคลเจาะจงและพิสูจน์รูปพรรณได้ เว้นแต่เป็นชื่อจริงของคุณ หากคุณกำลังใช้ชื่อที่เหมือนบุคคลอื่นเพราะเป็นชื่อจริงของคุณ คุณควรทำให้ชัดเจนว่า คุณมิใช่ (หรือไม่เกี่ยวข้องกับ) บุคคลผู้เป็นที่รู้จักที่ใช้ชื่อนั้น (เช่น อภิสิทธิ์)

หากชื่อที่ใช้ส่อว่าผู้ใช้นั้นเป็น (หรือเกี่ยวข้องกับ) บุคคลที่เจาะจงและพิสูจน์รูปพรรณได้ บางครั้งบัญชีนั้นอาจถูกบล็อกเป็นการป้องกันการปลอมตัวเป็นผู้อื่นที่อาจสร้างความเสียหายไว้ก่อน จนกว่ามีการให้หลักฐานแสดงตัวตน

หากคุณถูกบล็อกจากการใช้ชื่อจริงของตัวเอง โปรดอย่ารู้สึกไม่ดี เราเพียงพยายามป้องกันมิให้มีใครมาปลอมตัวเป็นคุณ หรือปลอมตัวเป็นคนอื่นที่คุณมีชื่อเหมือนกัน เรายินดีต้อนรับให้คุณใช้ชื่อจริง แต่ในบางกรณี คุณจะต้องพิสูจน์ว่าคุณใช่คนที่คุณบอกว่าคุณเป็น

ชื่อผู้ใช้ที่คล้ายกัน

ชื่อผู้ใช้ที่คล้ายกันมากกับชื่อที่มีอยู่แล้วไม่สามารถลงทะเบียนได้ตามปกติ ชื่อผู้ใช้ที่คล้ายกับบัญชีที่ไม่ถูกใช้แล้วหรือไม่มีความเคลื่อนไหวไม่น่าเป็นปัญหา ซึ่งสามารถใช้ พิเศษ:Listusers เพื่อตรวจสอบชื่อผู้ใช้เช่นนั้นได้ โปรแกรมที่ตรวจสอบความคล้ายนั้นค่อนข้างไวเล็กน้อย หากชื่อผู้ใช้แตกต่างกันพอที่จะมิให้ผู้อื่นสับสนระหว่างผู้ใช้สองคน คำขอนั้นควรได้รับการอนุมัติ บุคคลไม่ควรเลือกชื่อผู้ใช้ที่ส่อความสัมพันธ์กับผู้เขียนที่มีอยู่แล้ว นอกจากบัญชีนั้นแท้จริงแล้วเป็นเจ้าของหรือความสัมพันธ์นั้นผู้เขียนอื่นรับรู้เอง

หากชื่อผู้ใช้ของคุณคล้ายกับชื่อผู้เขียนอื่นหรือบทความ คุณอาจต้องการแก้ความกำกวมบางรูปแบบ

ชื่อผู้ใช้ที่มักสะกดผิด

หากชื่อผู้ใช้ของคุณมักสะกดผิด อาจช่วยผู้อื่นโดยเพิ่มหน้าเปลี่ยนทางไปยังหน้าผู้ใช้และหน้าคุยกับผู้ใช้แท้จริงของคุณ คุณอาจพิจารณาลงทะเบียนชื่อผู้ใช้ที่สะกดผิดเป็นบัญชีดอพเพลแกงเกอร์เพื่อป้องกันมิให้ถูกผู้อื่นลงทะเบียนในชื่อนั้น อย่างไรก็ดี ซอฟต์แวร์ยังป้องกันการลงทะเบียนบางชื่อที่พบว่าคล้ายกับชื่อที่มีอยู่แล้วเกินไป

บัญชีร่วม

บัญชีผู้ใดทั้งหมดควรเป็นตัวแทนของปัจเจกบุคคล มิใช่กลุ่ม และปัจเจกบุคคลควรมีเพียงบัญชีผู้ใดเดียว ไม่อนุญาตการแบ่งปันบัญชี หรือรหัสผ่านแก่บัญชี กับผู้อื่น และหลักฐานการกระทำดังกล่าวอาจส่งผลให้บัญชีถูกบล็อก สำหรับบัญชีที่ใช้เป็นตัวแทนของกลุ่มหรือองค์การ ดูส่วน ชื่อที่ส่งเสริม และ ชื่อผู้ใช้ที่ส่อการใช้ร่วมกัน ข้างต้น

ข้อยกเว้นกฎนี้ได้แก่ บัญชีที่ไม่แก้ไขที่ได้รับอนุมัติเพื่อการเข้าถึงอีเมล บัญชีที่อนุมัติโดยมูลนิธิวิกิมีเดีย และบัญชีบอตที่มีผู้เขียนมากกว่าหนึ่งคนควบคุม โดยที่การจัดการดังนี้ต้องทำอย่างชัดเจนและมีการเห็นพ้องต้องกัน

การใช้หลายบัญชี

ไม่แนะนำให้ผู้เขียนใช้หลายบัญชีนอกจากมีเหตุผลที่ดี ตัวอย่างเช่น ผู้ใช้อาจต้องการสร้างบัญชีทางเลือกสำหรับใช้กับคอมพิวเตอร์สาธารณะเป็นการป้องกันให้บัญชีหลักของเขาปลอดภัยไว้ก่อน ผู้เขียนที่ดำเนินขบวนการแก้ไขอัตโนมัติทุกรูปแบบควรดำเนินการภายใต้บัญชีบอตต่างหาก แนะนำว่า หลายบัญชีควรระบุตัวตนในหน้าคุยกับผู้ใช้นั้น

ไม่อนุญาตให้ใช้หลายบัญชีนอกเหนือจากนโยบายที่มีการตกลงกัน ที่รู้จักกันในนาม หุ่นเชิด ตัวอย่างเช่น หลายบัญชีไม่อาจถูกใช้เพื่อออกความเห็นข้อเสนอหรือคำขอ ออกเสียงเลือกตั้ง หรือเข้าร่วมในสงครามแก้ไข นโยบายใช้บังคับต่อปัจเจกบุคคล มิใช่บัญชี ผู้ใช้ที่ถูกบล็อกหรือระงับต้องไม่ใช้หุ่นเชิดเพื่อเลี่ยงการบล็อก การทำเช่นนั้นจะเป็นการขยายการบล็อกหรือระงับไปอีก

การเปลี่ยนชื่อผู้ใช้

ผู้ดูแลสิทธิ์แต่งตั้งสามารถเปลี่ยนชื่อผู้ใช้ได้ คำขอควรส่งไปที่ วิกิพีเดีย:เปลี่ยนชื่อผู้ใช้ บัญชีผู้ใช้ที่มีการแก้ไขน้อยหรือไม่มีเลยอาจไม่ถูกเปลี่ยนชื่อ เพราะเพียงการสร้างบัญชีใหม่เร็วกว่าและง่ายกว่า

เมื่อชื่อผู้ใช้ถูกเปลี่ยนแล้ว เรื่องที่เขียนที่มีอยู่จะแสดงรายการภายใต้ชื่อใหม่ในประวัติหน้า ความแตกต่างระหว่างรุ่น ปูมและเรื่องที่เขียน ลายเซ็นในหน้าอภิปรายจะยังใช้ชื่อเดิมอยู่ ขณะที่ลายเซ็นนี้สามารถเปลี่ยนได้ด้วยมือ แต่ไม่แนะนำ นอกจากผู้เขียนต้องการนำสารสนเทศเกี่ยวกับชื่อเดิมของเขาออกให้มากที่สุดด้วยเหตุผลความเป็นส่วนตัว ในสถานการณ์เหล่านี้ ชื่อเก่าจะยังเข้าถึงได้ในหน้าอภิปรายรุ่นเก่า การเปลี่ยนชื่อผู้ใช้แสดงรายการในปูมการเปลี่ยนชื่อผู้ใช้

การลบและรวมบัญชี

การลบบัญชีผู้ใช้ไม่สามารถทำได้ เพราะเรื่องที่เขียนทั้งหมดต้องกำหนดตัวระบุบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นชื่อผู้ใช้หรือที่อยู่ไอพี ผู้เขียนที่แสวงความเป็นส่วนตัวตามสิทธิในการหายไปของเขา สามารถเปลี่ยนชื่อบัญชีของเขา และให้ลบหน้าผู้ใช้ และ (ในบางกรณี) หน้าคุยกับผู้ใช้

การรวมบัญชีผู้ใช้ในวิกิพีเดียภาษาไทยไม่สามารถทำได้ เพราะคุณลักษณะรวมบัญชีมีเดียวิกิยังไม่เปิดใช้