วังวินด์เซอร์

(เปลี่ยนทางจาก วังวินเซอร์)

วังวินด์เซอร์ หรือที่รู้จักในชื่อ วังประทุมวัน, วังกลางทุ่ง หรือ วังใหม่ เป็นวังที่สร้างขึ้นโดยพระประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานเป็นสถานที่ประทับของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร สยามมกุฎราชกุมารองค์แรกแห่งสยามประเทศ ตั้งอยู่บริเวณทุ่งประทุมวัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการขยายขอบเขตวังออกนอกเขตพระนคร จึงเป็นเหตุให้เรียกชื่อ วังกลางทุ่ง และสืบเนื่องจากตัววังที่เหมือนกับพระราชวังวินด์เซอร์ ที่ประเทศอังกฤษ จึงเป็นเหตุให้เรียกว่า วังวินด์เซอร์

วังวินด์เซอร์
วังวินด์เซอร์ ณ ทุ่งประทุมวัน
แผนที่
ชื่ออื่นวังประทุมวัน
วังกลางทุ่ง
วังใหม่
ที่มาปราสาทวินด์เซอร์
ข้อมูลทั่วไป
สถานะถูกรื้อถอน
ประเภทวัง
สถาปัตยกรรมนีโอ-กอทิก
ที่ตั้งแขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน
เมือง กรุงเทพมหานคร
ประเทศ ไทย
เริ่มสร้างพ.ศ. 2424
รื้อถอนพ.ศ. 2479
การออกแบบและการก่อสร้าง
สถาปนิกชาวอังกฤษ

วัง ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2424 ได้การออกแบบโดยสถาปนิกชาวอังกฤษ โดยนำแบบของพระราชวังวินด์เซอร์แห่งสหราชอาณาจักรมาย่อส่วน หากทว่าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร หาได้เสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักแห่งนี้แต่อย่างใด ด้วยเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2437 เมื่อมีการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นในปี พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานพระราชวังนี้รวมทั้งพื้นที่โดยรอบเป็นสมบัติของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเคยใช้เป็นศูนย์กลางการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวิทยาเขตประทุมวันก่อนการก่อสร้างอาคารบัญชาการ

ในช่วงปี พ.ศ. 2478 นาวาโท หลวงศุภชลาศัย อธิบดีกรมพลศึกษาในขณะนั้นดำริที่จะจัดสร้างกรีฑาสถานแห่งชาติขึ้น จึงได้พิจารณาเช่าที่ดินบริเวณพระตำหนักหอวัง และได้ทำการรื้อถอนพระตำหนักหลังนี้ รวมถึงอาคารหอพักนิสิตโดยรอบ การก่อสร้างกรีฑาสถานแห่งชาติแล้วเสร็จในราวปี พ.ศ. 2481 ซึ่งได้ใช้เป็นที่ทำการสอนของโรงเรียนพลศึกษากลางและกรมพลศึกษา

ประวัติ

แก้

แนวคิดและการก่อสร้าง

แก้

พระตำหนักหอวังก่อสร้างขึ้นโดยพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศเป็นที่ประทับ เนื่องด้วยสภาพพื้นที่ของพระตำหนักที่ตั้งอยู่กลางทุ่งประทุมวัน ชาวบ้านจึงนิยมเรียกว่า "วังกลางทุ่ง" หรือ "วังใหม่" ด้านหน้าของพระตำหนักหันไปทางถนนสระปทุม (ถนนพระรามที่ 1 ในปัจจุบัน) ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอังกฤษ โดยนำแบบมาจากพระราชวังวินด์เซอร์แห่งสหราชอาณาจักรเป็นต้นแบบ ชาวต่างชาติ ณ ราชกรีฑาสโมสร จึงเรียกขานกันพระตำหนักแห่งนี้ว่า "วังวินด์เซอร์"

พระตำหนักหอวังได้รับการออกแบบเป็นอาคาร 3 ชั้น มีบันไดขึ้นลงตรงกลางอันเป็นรูปแบบของสถาปัตยกรรมกอทิก[1] ใช้วัสดุก่อสร้างเป็นหินอ่อนนำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น หัวเสาได้รับการสลักศิลปะแบบโรมัน หากแต่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร มิได้เสด็จมาประทับ ณ พระราชวังแห่งนี้ด้วยเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2437

 
พระตำหนักหอวังเมื่อครั้งใช้เป็นสถานที่ตั้งของโรงเรียนเกษตราธิการ

พระตำหนักแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แก้

เมื่อมีการสถานปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานพื้นที่ของพระตำหนักหอวังและพื้นที่โดยรอบให้แก่มหาวิทยาลัย พระตำหนักแห่งนี้จึงได้ใช้เป็นสถานที่ทำการเรียนการสอนแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในแผนกวิศวกรรมศาสตร์ เตรียมแพทยศาสตร์ โรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการ โรงเรียนปรุงยา แผนกรัฎฐประศาสนศึกษา และแผนกฝึกหัดครู[1]

พระตำหนักหอวังเคยใช้เป็นศูนย์กลางทำการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครั้นแยกเป็น 2 วิทยาเขตคือ วิทยาเขตประทุมวัน และวิทยาเขตโรงพยาบาลศิริราช ก่อนที่จะมีการสร้างตึกบัญชาการของมหาวิทยาลัย และได้มีการย้ายที่ทำการสอนของคณะรัฎฐประศาสนศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์มาเรียนที่ตึกบัญชาการ ส่วนพระตำแหนักหอวังเป็นที่ทำการเรียนการสอนของคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จึงได้มีการปรับปรุงพระตำหนักเป็นที่ปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ส่วนการปฏิบัติการวิชากายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยานั้น ทางมหาวิทยาลัยได้ปลูกโรงเรือน สร้างถังคอนกรีตสำหรับดองศพใกล้พระตำหนัก ส่วนการเรียนการสอนด้านอักษรศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นการฟังคำบรรยาย การศึกษาในห้องสมุด การเรียนการสอนกลุ่มเล็กจึงไม่มีห้องปฏิบัติการ[2]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2472 ได้มีการตั้งแผนกฝึกหัดครูของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาปนาโรงเรียนมัธยมหอวังแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2472 เพื่อให้นิสิตแผนกฝึกหัดครู ใช้ฝึกความชำนาญในการสอน และได้ใช้พระตำหนักนี้เป็นที่ทำการสอน จึงได้ใช้ชื่อโรงเรียนว่า "โรงเรียนหอวัง" และเรียกพระตำหนักหลังนี้ว่า "ตึกหอวัง"[3]

การรื้อถอน

แก้
 
ซากสิ่งก่อสร้างภายหลังการรื้อถอนวังซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ตั้งของคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในปี พ.ศ. 2478 นาวาโท หลวงศุภชลาศัย อธิบดีกรมพลศึกษาในขณะนั้น มีดำริที่จะก่อสร้างกรีฑาสถานแห่งชาติขึ้น และได้พิจารณาที่ดินทำสัญญาเช่า ณ ตำบลวังใหม่จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยรื้อถอนพระตำหนักวินด์เซอร์รวมถึงสิ่งปลูกสร้างโดยรอบออก การก่อสร้างกรีฑาสถานแห่งชาติเสร็จสิ้นและได้ย้ายสถานทำการของโรงเรียนพลศึกษากลางและกรมพลศึกษามายังสถานที่ปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ. 2481

ส่วนโรงเรียนมัธยมหอวังแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ย้ายที่ทำการใหม่ไปอยู่ ณ อาคารเรียน ริมถนนพญาไท จนกระทั่งปี พ.ศ. 2481 จึงยุบโรงเรียนลง เพื่อนำสถานที่ไปใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษามาจนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 สำนักงานหอพักนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หอวัง เก็บถาวร 2010-01-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
  2. หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วังวินด์เซอร์ เรียกข้อมูลวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
  3. "พระตำหนักวินเซอร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-27. สืบค้นเมื่อ 2006-09-02.

13°44′42″N 100°31′34″E / 13.745°N 100.526°E / 13.745; 100.526