วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร
วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร ศิลปินแห่งชาติผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติในฐานะศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ สาขาย่อยการ(ภาพถ่าย) ประจำปีพุทธศักราช 2552[1] "รู้สึกว่าเป็นเกียรติ ภูมิใจ และก็ดีใจ ไม่คิดว่าทางผู้ใหญ่ยังเห็นความสำคัญของการถ่ายภาพ เป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล และเป็นเกียรติแก่วงการถ่ายภาพของเรา เพราะว่าทางสาขาถ่ายภาพเขาให้น้อยมาก เพิ่งจะเป็นคนที่ 5 ตั้งแต่ปี 2528 ถือว่าเราอายุยังน้อย ก็คิดว่าผมก็ยังมีส่วนจะช่วยผลักดันคนรุ่นใหม่ ๆ ให้สนใจถ่ายภาพได้ยิ่งขึ้น" ความรู้สึกจากใจของหนึ่งในสุดยอดช่างภาพรางวัลยอดเยี่ยมระดับโลก ทั้งรางวัลภายในประเทศและต่างประเทศ สามารถคว้ารางวัลนักถ่ายภาพอันดับ 1 ของโลก ประเภทภาพท่องเที่ยว จากสมาคมถ่ายภาพแห่งอเมริกา (P.S.A.) มาถึง 17 ปี และติดอันดับท็อปเท็นของโลกมาโดยตลอดตั้งแต่ปีค.ศ. 1987 จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 2009[2]
วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร | |
---|---|
[[File:|frameless|upright=1]] | |
เกิด | 19 สิงหาคม พ.ศ. 2497 จังหวัดพระนคร ประเทศไทย |
อาชีพ | นักเขียน ช่างภาพ |
สัญชาติ | ไทย |
ประวัติ
แก้อาจารย์ วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร เกิดเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พุทธศักราช 2497 ที่จังหวัดพระนคร จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 จากโรงเรียนวัดราชสิงขร ในราวปี พ.ศ. 2523 เห็นประกาศในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่ามีการอบรมการถ่ายภาพของวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ จึงเข้ามาสมัครเรียน ได้เรียนกับ อ.พูน เกษจำรัส (ศิลปินแห่งชาติด้านภาพถ่ายท่านแรก ปี พ.ศ. 2531) รวมถึง อ.สุมิตรา อ.อาภรณ์ และ อ.สุรพงษ์ เรียนถึง 4 คอร์ส จากนั้นจึงสมัครเข้าเป็นสมาชิกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูประถัมภ์ ในปี พ.ศ. 2525และเข้าอบรมการถ่ายภาพทั้งในและต่างประเทศ พร้อมทั้งฝึกฝนการถ่ายภาพอย่างสม่ำเสมอมากว่า 40 ปี
การศึกษา
แก้- จบการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนโกศลวิทยา กรุงเทพมหานคร ประจำปีการศึกษา พ..ศ. 2508
- จบการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 7 จากโรงเรียนโรงเรียนวัดราชสิงขร กรุงเทพมหานคร ประจำปีการศึกษา พ.ศ. 2511[3]
การทำงาน
แก้"เมื่อตอนเด็ก ๆ เริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 15 ปี เป็นพนักงานขายเสื้อผ้าวิ่งตามต่างจังหวัด เดินทางทั่วประเทศโดยในช่วงระหว่างที่เดินทางไปแต่ละจังหวัดของประเทศไทย ได้เห็นทั้งภูมิทัศน์ บรรยากาศต่าง ๆ ในระหว่างที่เราไป มันสวยงาม เลยคิดว่า อยากจะฝึกถ่ายภาพและเก็บรูปต่าง ๆ มาเป็นเจ้าของ ก็เลยเริ่มฝึกถ่ายภาพมาตั้งแต่เด็ก" คือคำบอกเล่าจุดเริ่มต้นของการทำงานเมื่อจบการศึกษาโดย อาจารย์ วรนันทน์ เริ่มทำงานเป็นพนักงานขายส่งสินค้า และปัจจุบันเป็นผู้จัดการบริษัท โฟโต้ฮอบบี้ จำกัด อาจารย์ วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร เป็นศิลปินที่สร้างสรรค์ภาพถ่ายได้โดดเด่น และมีเอกลักษณ์เฉพาะตน เน้นการถ่ายภาพที่ให้แสงธรรมชาติตามที่พบ และสามารถนำเสนอด้วยศิลปะการถ่ายภาพในแง่มุมต่าง ๆ ที่มีความงดงาม ขณะเดียวกันก็จะทำคำอธิบายรายละเอียดการถ่ายภาพและสถานที่ เพื่อเป็นแนวทางแก่ผู้ที่สนใจและต้องการเรียนรู้วิธีการถ่ายภาพ ที่สำคัญภาพถ่ายเหล่านี้ยังได้ถ่ายทอดความงดงามของสถานที่จนทำให้ผู้พบเห็นอยากไปเยือน จึงถือได้ว่ามีส่วนช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง
รางวัลอันทรงเกียรติ
แก้ในปี พ.ศ. 2552 ปีแห่งการได้รับการเชิดชูเกียรติในฐานะ "ศิลปินแห่งชาติ" นั้นมีผู้เข้าร่วมรับรางวัลทั้งหมด 9 ท่าน ดังนี้ ศิลปินที่ได้รับเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติใน 3 สาขา ได้แก่ ทัศนศิลป์ วรรณศิลป์ และ สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี พ.ศ. 2552
- 1. ศาสตราจารย์ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ ปี 2552 สาขาทัศนศิลป์ ด้านจิตรกรรม
- 2. นายองอาจ สาตรพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติ ปี 2552 สาขาทัศนศิลป์ ด้านสถาปัตยกรรมร่วมสมัย
- 3. นางเพ็ญพรรณ สิทธิไตรย์ ศิลปินแห่งชาติ ปี 2552 สาขาทัศนศิลป์ ด้านประณีตศิลป์- แกะสลักเครื่องสด
- 4. นายวรนันท์ ชัชวาลทิพากร ศิลปินแห่งชาติ ปี 2552 สาขาทัศนศิลป์ด้านภาพถ่าย
- 5. นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ศิลปินแห่งชาติ ปี 2552 สาขาวรรณศิลป์ ด้านเรื่องสั้น สารคดี นวนิยาย กวีนิพนธ์
- 6. นายจตุพร รัตนวราหะ ศิลปินแห่งชาติ ปี 2552 สาขาศิลปะการแสดง ด้านนาฏศิลป-โขน
- 7. นายอุทัย แก้วละเอียด ศิลปินแห่งชาติ ปี 2552 สาขาศิลปะการแสดง ด้านดนตรีไทย
- 8. นางมัณฑนา โมรากุล ศิลปินแห่งชาติ ปี 2552 สาขาศิลปะการแสดง ด้านดนตรีไทยสากล-คำร้อง
- 9. นายประยงค์ ชื่นเย็น ศิลปินแห่งชาติ ปี 2552 สาขาศิลปะการแสดง ด้านดนตรีไทยลูกทุ่ง-ผู้เรียบเรียงเสียงประสาน
โดยศิลปินแห่งชาติทั้ง 9 ท่านได้ผ่านหลักเกณฑ์การคัดเลือกศิลปินแห่งชาติอัน ประกอบด้วย 3 หลักเกณฑ์ใหญ่ ดังนี้
- 1. เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญและมีผลงานดีเด่น
- 2. เป็นที่ยอมรับของวงการศิลปะแขนงนั้น
- 3. เป็นผู้มีคุณธรรม มีผลงานที่ยังเป็นประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ ได้รับรางวัลหรือเกียรติคุณระดับท้องถิ่น ระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ
ซึ่งในปี พุทธศักราช 2552 มีผู้ผ่านการคัดเลือกจำนวนมาก และคณะกรรมการได้มีกระบวนการพิจารณาอย่างละเอียดมากที่สุดโดยศิลปินแห่งชาติปี 2552 ได้เข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 24 ก.พ. พ.ศ. 2553 เนื่องในวันศิลปินแห่งชาติ ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
ถ่ายทอดองค์ความรู้ควรคู่เกียรติ
แก้อาจารย์พิเศษและวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับการถ่ายภาพให้กับสมาคมถ่ายภาพ สถาบันการศึกษาและผู้สนใจการถ่ายภาพ ซึ่งส่งผลให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน สนใจการถ่ายภาพมากยิ่งขึ้น และหนึ่งในคำแนะนำสำหรับผู้สนใจถ่ายภาพให้ประสบความสำเร็จ คือ "ช่างภาพที่จะประสบความสำเร็จมีข้อง่าย ๆ คือ จะต้องมีใจรักและสนใจก่อนในข้อแรก ข้อที่สองคือ ค่อย ๆ ศึกษาหาความรู้ ไม่ว่าจากในหนังสือ ในอินเทอร์เน็ตซึ่งเราสามารถเข้าไปท่องในเว็บต่าง ๆ ซึ่งมีความรู้การถ่ายภาพมากมาย แล้วก็ไปเรียนครอส์สั้นต่าง ๆ หรือเข้าไปอบรมตามที่เขามีสอนอย่างที่ว่าเราอยากรู้เรื่องอะไร พอได้ศึกษามีความรู้แล้วก็หากล้องอุปกรณ์ที่ใช้งานได้ดี ไม่จำเป็นต้องแพงมาก และศึกษาแต่ละจุดว่ามันใช้งานอย่างไร หลังจากนั้นข้อสำคัญคือต้องมีโอกาสและเวลา คือถ้าคุณมีความรู้ มีใจรัก แต่ถ้าคุณไม่มีเวลา มีโอกาสออกถ่ายรูปเลย โอกาสที่คุณจะได้รูปยาก พอคุณมีโอกาสและเวลาออกถ่ายรูป สิ่งสำคัญคือรูปที่เราถ่ายมาอย่าเก็บไว้ดูคนเดียว จะต้องให้ผู้ที่รู้ช่วยชี้แนะและวิจารณ์ว่ารูปนี้มีข้อดีข้อเสียอย่างไร หลังจากชี้แนะแล้ววิจารณ์แล้ว เราก็ต้องสร้างสรรค์งานของเราและนำเสนอ ประกวดภาพบ้าง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มันก็คือจะทำให้ช่างภาพสนุกและเป็นการมีโอกาสที่จะเป็นช่างภาพดีขึ้น เพราะว่ามันจะต้องทำงานแข่งกับตัวเอง ต้องฝึกฝนตัวเองไปเรื่อย ๆ"[4]
ผลงานและรางวัลของศิลปินแห่งชาติ
แก้อาจารย์วรนันทน์มีผลงานซึ่งได้รับรางวัลจากสมาคมถ่ายภาพทั่วโลกประมาณ ๑,๐๐๐ รางวัล อาทิเช่น
- รางวัลชนะเลิศยอดเยี่ยม (Best of Show) การประกวดภาพถ่ายสไลด์สีนานาชาติทั่วโลก
- เหรียญทองจากสมาคมถ่ายภาพแห่งสหรัฐอเมริกา จำนวน ๘๖ ครั้ง นับว่าเป็นศิลปินต้นแบบที่สามารถถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ให้แก่ผู้ศึกษาวิชาการถ่ายภาพศิลปะได้อย่างดียิ่ง จนทำให้นักศึกษาและประชาชนที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้จากท่านได้รับรางวัลทั้งในประเทศและต่างประเทศหลายคน
มีผลงานภาพ อาทิ ภาพถ่ายวันพ่อแห่งชาติ, ภาพยามเช้าริมฝั่งโขงนครพนม, ภาพสัญจรเหนือวารี, ภาพสุดฝีเท้า, ภาพสวดพระปาติโมกข์, ภาพน้ำใสไหลเย็น, ภาพทำความสะอาด, ภาพยิ้มพิมพ์ใจ ฯลฯ
อาจารย์ วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร จึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่ควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย) หนึ่งในศิลปินของชาติผู้ซึ่งมีความรู้ ความสามารถ และมีคุณค่าต่อประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง.
อ้างอิง
แก้- ↑ "ประวัติ วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-06. สืบค้นเมื่อ 2018-09-01.
- ↑ ความรู้สึกจากใจของหนึ่งในสุดยอดช่างภาพรางวัลยอดเยี่ยมระดับโลก
- ↑ "การศึกษา วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-06. สืบค้นเมื่อ 2018-09-01.
- ↑ ถ่ายทอดองค์ความรู้ควรคู่เกียรติ