เพ็ญพรรณ สิทธิไตรย์
เพ็ญพรรณ สิทธิไตรย์ (28 มกราคม พ.ศ. 2469 - 3 สิงหาคม พ.ศ. 2558) เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์ - แกะสลักเครื่องสด) ประจำปี พ.ศ. 2552 เป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นการทำอาหารแบบวิจิตร และการแกะสลักเครื่องสดเป็นรูปต่าง ๆ จนมีชื่อเสียงมายาวนานกว่า 50 ปี
เพ็ญพรรณ สิทธิไตรย์ | |
---|---|
เกิด | 28 มกราคม พ.ศ. 2469 จังหวัดสกลนคร ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 3 สิงหาคม พ.ศ. 2558 (89 ปี) |
สัญชาติ | ไทย |
มีชื่อเสียงจาก | ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ศิลปะการแกะสลักเครื่องสด-ของอ่อน) ปี พ.ศ 2552 |
คู่สมรส | นายแถมชัย สิทธิไตรย์ (ถึงแก่กรรม) |
บุตร | 6 คน |
บิดามารดา | นายบุญมา วชิโรดม นางน้ำ วชิโรดม |
ประวัติ
แก้นางเพ็ญพรรณ สิทธิไตรย์ เกิดเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2469 ที่ ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เป็นบุตรคนสุดท้องของนายบุญมา และนางน้ำ วชิโรดม สำหรับชีวิตครอบครัว เพ็ญพรรณ สมรสกับนายแถมชัย สิทธิไตรย์ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา มีบุตร - ธิดา 6 คน ได้แก่
- นายภัทรศักดิ์ สิทธิไตรย์
- ศาสตราจารย์ดร.มณีรัตน์ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา สมรส กับม.ร.ว.พันธ์เทพสวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ มีบุตร 2 คนคือ นายพลภัทร สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยาและม.ล.วรวงศ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรสิทธิ์ สิทธิไตรย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ[1]
- นางพรรณรัตน์ ไชยสนิท สมรสกับ นายโกศล ไชยสนิท มีธิดา 1 คน คือ นางสาวเยาวลักษณ์ ไชยสนิท
- นางจุฑารัตน์ ซีมอนด์ สมรสกับ นายโคลด ซีมอนด์ มีบุตร 1 คนคือ นายอักเซล ซีมอนด์
- รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ พิชิต สิทธิไตรย์ สมรสกับ นางพัชรี สิทธิไตรย์
เพ็ญพรรณสำเร็จการศึกษาระดับวิชาชีพชั้นสูง จากโรงเรียนการช่างสตรี พระนครใต้ กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2489 และได้รับปริญญาครุศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ โปรแกรมวิชาคหกรรมศาสตร์ทั่วไป สายมัธยมศึกษา สาขาวิชาการศึกษา วิทยาลัยครูจันทรเกษม สหวิทยาลัยรัตนโกสินทร์ (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม) กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2533
เพ็ญพรรณ รับราชการเป็นครู นับตั้งแต่ พ.ศ. 2493 เป็นต้นมา โดยเริ่มต้นบรรจุที่โรงเรียนการช่างสตรี จังหวัดสกลนคร ต่อมาใน พ.ศ. 2498 ได้ย้ายมาสอนที่โรงเรียนการช่างสตรี จังหวัดตรัง และ โรงเรียนการช่างสตรี จังหวัดสมุทรสงคราม ต่อมาใน พ.ศ. 2502 ได้ย้ายไปสอนที่โรงเรียนการช่างสตรี จังหวัดกาญจนบุรี พ.ศ. 2505 ได้ย้ายไปสอนที่โรงเรียนการช่างสตรี จังหวัดนครปฐม พ.ศ. 2510 ย้ายไปสอนที่โรงเรียนการช่างสตรี จังหวัดสุโขทัย และใน พ.ศ. 2529 ได้ย้ายมาสอนที่โรงเรียนการช่างสตรี โชติเวช หรือในปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร วิทยาเขตโชติเวช เป็นที่สุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการ ใน พ.ศ. 2529
สำหรับวิชาที่นางเพ็ญพรรณสอนนั้น เป็นวิชาศิลปะประดิษฐ์ ควบคู่ไปกับจริยศึกษา หน้าที่พลเมือง ศีลธรรม และสังคมศึกษา
ผลงานการประดิษฐ์ที่สำคัญ
แก้นางเพ็ญพรรณ สิทธิไตรย์ ถือว่าเป็นผู้มีผลงานแกะสลักเครื่องสด ผลงานที่สำคัญอันได้แก่
- การซ่อมแซมเพดานเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ โดยปักลายผ้าตกแต่งเรือ และเรือในขบวนทั้งหมดในพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี
- รับสนองพระบรมราชโองการประดิษฐ์ผักและแกะสลักผลไม้ในงานเลี้ยงรับรองราช อาคันตุกะจากต่างประเทศ และงานเลี้ยงสโมสรสันนิบาตในวันฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ที่พระบรมมหาราชวัง
- แกะสลักประดิษฐ์มะพร้าวอ่อน 250 ผลเป็นผอบไทยวิจิตร และภาชนะใส่อาหารแกะสลักจากผักผลไม้ แสดงถึงมรดกศิลปะวัฒนธรรมไทย เพื่อส่งไปงานเลี้ยงพระราชทานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในคราวที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ เผยแพร่งานศิลปวัฒนธรรมของไทย
- รับพระราชทานประกาศเกียรติคุณ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๓๙ ในฐานะเป็นวิทยากร ที่ได้สนองโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
- ประดิษฐ์ดอกมะลิจากแห้วจำนวน 500 ดอก ในพระราชพิธีอภิเษกสมรสสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เมื่อปี 2528
- นวัตกรรมการแกะสลักเครื่องสดและของอ่อนที่อาจารย์เป็นผู้ริเริ่มคิดทำมีมากมาย โดยใช้เพียงมีดแกะสลัก เช่น การแกะสลักวุ้นเป็นดอกไม้ การแกะสลักเนยแข็ง การแกะสลักสบู่เป็นช่อดอกไม้ การแกะสลักเทียนไข การพันขนมชั้นให้เป็นดอกไม้ การคว้านเมล็ดลองกอง แกะสลักขิงทั้งแง่งเป็นช่อดอกไม้ แกะสลักมะพร้าวอ่อนเป็นผอบ แกะสลักผักและผลไม้ให้สวยงามเหมือนดอกไม้จริงได้แก่ ดอกกล้วยไม้ ดอกกุหลาบ ดอกรักเร่ ดอกซากุระ ดอกจำปี ดอกลีลาวดี ดอกพิตูเนีย ดอกมะลิ ดอกข่า อีกทั้งแกะสลักผักและผลไม้เป็นภาชนะใส่อาหารที่งดงาม เป็นต้น
- ที่ปรึกษานิตยสารหญิงไทย เป็นคอลัมนิสต์หนังสือสกุลไทย หญิงไทย ขวัญเรือน และ Health&Cuisine ศิลปะการแกะสลักผักและผลไม้ ประดิษฐ์ใบตอง ทั้งยังเป็นครูสอนศิลปะแกะสลักที่โรงแรมดังหลายแห่ง มีลูกศิษย์ลูกหามากมายทั้งไทยและต่างชาติที่บินมาเรียนกันถึงที่บ้าน ทั้งยังเขียนตำรับตำราไว้มากมาย เช่น ศิลปะการแกะสลักผักและ ผลไม้ อาหารวิจิตรและแกะสลักวิจิตร ฯลฯ
- ประธานคณะกรรมการตัดสินการประกวดศิลปะการแกะสลักผักผลไม้ในวาระต่าง ๆ รวมทั้งจัดทำตำราแกะสลักวิจิตรและอาหารวิจิตรมากมายหลายเล่มทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษในช่วงกว่า 50 ปีที่ผ่านมา เช่น ศิลปะการแกะสลักผักและผลไม้เล่มที่ 1 (พ.ศ. 2528) และตำราอาหาร 4 ภาค โสภาเพ็ญพรรณราย เหนือ ใต้ กลาง อีสาน เป็นต้น ซึ่งในหนังสือและตำราการแกะสลัก อาจารย์เพ็ญพรรณด้วยความเป็นครูและเป็นห่วงศิษย์ ก็ได้เขียนอธิบายวิธีการทำอย่างละเอียดพร้อมกับวาดภาพลายเส้นรายละเอียดและขั้นตอนการแกะสลักอย่างชัดเจนด้วยปากกาหมึกดำเส้นเล็ก เพื่อให้ง่ายต่อการเรียนรู้และเข้าใจ
- ตราไปรษณียากรชุดการแกะสลักผักและผลไม้ (พ.ศ. 2550) ประกอบด้วยภาพแตงโมบุปผชาติ เนรมิตฟักทอง ส้มโอบัวขาว และมะละกอโฉมงาม
- ถ่ายทอดภูมิปัญญาไทยด้านการแกะสลักผักและผลไม้ และการทำขนมไทยทางชุดวีดิทัศน์ สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (พ.ศ. 2558)
- หนังสือ "เพ็ญพรรณ สิทธิไตรย์ ฝากไว้ในแผ่นดิน" พ.ศ. 2559 (ผลงานของอาจารย์เพ็ญพรรณและศิษย์)
เกียรติประวัติ
แก้- รางวัลครุสภา ประเภทผู้สอนดีเด่น ระดับอุดมศึกษา ปีพ.ศ. 2529
- รางวัลหนังสือดีเด่นผลงานศิลปะการแกะสลักผักผลไม้ ใบตอง ดอกไม้สด ปีพ.ศ. 2529 จากคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ
- หนังสือศิลปะการแกะสลักผักผลไม้ เล่มที่ ๓ ได้รับรางวัลหนังสือสวยงาม ในงานหนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ปี พ.ศ. 2529
- ผลงานแกะสลักผักผลไม้ ใบตอง ดอกไม้สด ในงาน Royal Thai Fair (งานสายสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น 200 ปี) โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ปีพ.ศ. 2530
- รางวัลผลงานผลิตดี “งานประดิษฐ์โคมลอยด้วยผ้าไหม” ปีพ.ศ. 2530
- ได้รับยกย่องให้เป็นหนึ่งใน “ศิลปินผู้มีผลงานดีเด่นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” ในปี พ.ศ. 2531 มีบันทึกประวัติและผลงานในหนังสือ “The Arts and Crafts of Thailand”
- รางวัลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาช่างฝีมือ (ศิลปะการแกะสลักผักผลไม้ ใบตอง ดอกไม้สด) ปี พ.ศ. 2532 จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
- ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2552
- บุคคลดีเด่นของชาติ สาขาเผยแพร่เกียรติภูมิของไทย พุทธศักราช 2554 คัดเลือกโดย สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ
- เกียรติบัตรผู้อนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสาน มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมงานช่างแกะสลักผักผลไม้ ในการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาพุทธศักราช 2557
- รางวัลกระทรวงวัฒนธรรม ด้านอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสาน มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ งานช่างแกะสลักผักและผลไม้ ปี 2557
- กระทรวงวัฒนธรรมประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ อาจารย์เพ็ญพรรณ สิทธิไตรย์ เป็น บูรพศิลปิน พุทธศักราช 2559
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี ๒๕๕๓เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๓ ข ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ หน้า ๑๔๕
- หนังสือศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2552 ของ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ