การอนุญาโตตุลาการเวียนนาครั้งที่หนึ่ง

การอนุญาโตตุลาการเวียนนาครั้งที่หนึ่ง เป็นการระงับข้อพิพาททางดินแดนที่เกิดขึ้นระหว่างฮังการีและเชโกสโลวาเกียในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1938 โดยบรรลุผลการไกล่เกลี่ยจากนาซีเยอรมนี ซึ่งการอนุญาโตตุลาการนี้เป็นการแก้ไขพรมแดนระหว่างฮังการีและเชโกสโลวาเกียตามบรรทัดฐานของการกระจายทางชาติพันธุ์ อันมีผลสืบเนื่องมาจากการลงนามในสนธิสัญญาทรียานง ค.ศ. 1920 ที่ทำให้ฮังการีสูญเสียดินแดนในอดีตประมาณ 70 % และส่งผลให้เกิดชนกลุ่มน้อยฮังการีในเชโกสโลวาเกียเป็นจำนวนมาก ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง การอนุญาโตตุลาการนี้จึงถือเป็นโมฆะและฮังการีต้องส่งคืนดินแดนที่ได้มาจากคำตัดสินให้กับเชโกสโลวาเกียดังเดิม

การอนุญาโตตุลาการเวียนนาครั้งที่หนึ่ง
การผนวกดินแดนของฮังการีในช่วง ค.ศ. 1938-1941
โดยดินแดนที่ได้จากการอนุญาโตตุลาการจะแสดงเป็นสีฟ้า
วันลงนาม2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1938
ที่ลงนามเวียนนา
ผู้ลงนาม ไรช์เยอรมัน
 อิตาลี
เชโกสโลวาเกีย เชโกสโลวาเกีย
 ฮังการี
ผู้เข้าร่วมแต่มิได้ลงนาม:
ภาคีเชโกสโลวาเกีย เชโกสโลวาเกีย
 ฮังการี

จากการเปลี่ยนแปลงดินแดนหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทำให้รูทีเนียและดินแดนที่มีประชากรฮังการีอาศัยอยู่จำนวนมากถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของเชโกสโลวาเกีย ชนกลุ่มน้อยรูซึนรู้สึกพึงพอใจต่อการอยู่ในรัฐเชโกสโลวาเกียใหม่ แม้ว่าพวกเขาต้องการจะปฏิรูปปกครองตนเอง แต่สำหรับชาวฮังการี พวกเขาต้องการกลับไปรวมกับประเทศแม่มากกว่า แม้ว่าสถานะทางเศรษฐกิจของพวกเขาจะดีขึ้นก็ตาม ประกอบกับนโยบายต่างประเทศของฮังการีในช่วงระหว่างสงครามที่เน้นการกอบกู้ดินแดนที่สูญเสียไป

วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นจากสนธิสัญญาแวร์ซายเริ่มในช่วงปลายทศวรรษ 1930 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความตึงเครียดระหว่างเชโกสโลวาเกียและเยอรมนีในเรื่องชนกลุ่มน้อยเยอรมันในเชโกสโลวาเกีย ทำให้รัฐบาลฮังการีเห็นถึงความหวังที่จะบรรลุการเปลี่ยนแปลงพรมแดนที่รอคอยมานาน อย่างไรก็ตาม ด้วยความกังวลว่าประเทศจะพึ่งพาเยอรมนีมากเกินไป และความอ่อนแอทางทหารของฮังการีเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ประเทศจึงพยายามสร้างพันธมิตรทางเลือกกับโปแลนด์และอิตาลีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว

ความตกลงมิวนิกที่เกิดขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ. 1938 ยังคงไม่สามารถยุติข้อพิพาทระหว่างฮังการีและเชโกสโลวาเกีย แต่ด้วยการยืนยันจากมุสโสลินี จึงมีการรวมข้อปัญหาของชนกลุ่มน้อยชาวฮังการีและจัดให้ทั้งสองฝ่ายเจรจากันโดยไม่มีอำนาจแทรกแซงเป็นเวลาสามเดือน ซึ่ง การเจรจาระหว่างทั้งสองประเทศมีขึ้นในต้นเดือนตุลาคม ค.ศ. 1938 แต่ไม่บรรลุผลสำเร็จ และในท้ายที่สุดทั้งสองประเทศได้ร้องขอการอนุญาโตตุลาการจากอิตาลีและเยอรมนี โดยได้รับการอนุมัติโดยปริยายจากสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสด้วย จากคำตัดสิน ณ กรุงเวียนนา เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ส่งผลให้ดินแดนทั้งหมด 11,000 ตารางกิโลเมตร และผู้คนราวหนึ่งล้านคนที่ส่วนใหญ่เป็นชาวฮังการี ถูกส่งมอบให้แก่ฮังการี แม้ว่าจะไม่ได้ทุกเมืองที่ต้องการหรือทั้งหมดของรูทีเนียก็ตาม ดินแดนนี้ยังคงอยู่ในอำนาจของฮังการีตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่เมื่อสิ้นสุดสงคราม คำชี้ขาดของการอนุญาโตตุลาการจึงถือเป็นโมฆะ ทำให้สโลวาเกียกลับสู่เชโกสโลวาเกียอีกครั้ง และรูทีเนียรวมเข้ากับสหภาพโซเวียต

บริบท

แก้

สถานะชนกลุ่มน้อยฮังการีและรูซึนในเชโกสโลวาเกีย

แก้

เชโกสโลวาเกียเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์แห่งหนึ่งในทวีปยุโรปสมัยระหว่างสงคราม เช่นเดียวกับยูโกสลาเวีย ทำให้ในบางครั้งจึงถูกเปรียบเปรยว่าเป็นจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีขนาดเล็ก[1] จากประชากรทั้งหมด 13,600,000 คนที่ลงทะเบียนในการสำรวจสำมะโนประชากร ค.ศ. 1921 มีเพียง 50.4 % ที่เป็นชาวเช็ก และ 15 % เป็นชาวสโลวัก ในขณะที่ 23.4 % เป็นชนกลุ่มน้อยเยอรมัน 3.5 % เป็นชาวรูซึน และอีก 5.6 % เป็นชาวฮังการีและอื่น ๆ[1] ซึ่งชาวรูซึนและฮังการีส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในภูมิภาครูทีเนียและสโลวาเกีย[1] โดยสำหรับสโลวาเกียนั้นมีชาวฮังการีอาศัยอยู่เป็นจำนวน 637,000 คน และชาวรูซึน 86,000 คน (คิดเป็น 21.5 % และ 2.9 % ของจำนวนประชากรในภูมิภาค ตามลำดับ)[1] ในภูมิภาครูทีเนียมีชาวรูซึนอาศัยอยู่เป็น 373,000 คน (61.2 %) และชาวฮังการี 192,000 คน (17 %)[1] โดยทั้งสองภูมิภาค ชนกลุ่มน้อยจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ขนาดเล็ก: ชาวฮังการีกระจุกตัวอยู่บริเวณที่ราบทางตอนใต้ ในขณะที่ชาวรูซึนจะอาศัยอยู่พื้นที่ภูเขามากกว่า[1] สโลวาเกียมีความแตกต่างจากภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศ เนื่องจากการรวมสโลวาเกียเข้ากับสาธารณรัฐใหม่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนั้นเป็นเพราะเหตุผลจากทางยุทธศาสตร์ ไม่ใช่ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม[2] และสำหรับภูมิภาครูทีเนียถูกผนวกเข้ากับเชโกสโลวาเกียเนื่องด้วยคำร้องขอจากผู้อพยพชาวรูซึนในสหรัฐ[2]

สถานะทางกฎหมายของชาวฮังการีในเชโกสโลวาเกียมีความไม่ชัดเจน: ในสนธิสัญญาแซ็ง-แฌร์แม็ง-อ็อง-แลได้มอบสัญชาติแก่ชาวฮังการี แต่ในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1920 อนุญาตให้เฉพาะผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนเชโกสโลวาเกียใหม่ตั้งแต่ ค.ศ. 1910 เท่านั้น[3] ซึ่งข้อจำกัดนี้ส่งผลให้ชาวฮังการีประมาณ 56,000–106,000 คน อพยพไปยังฮังการี[3] นอกจากนี้ยังมีชาวฮังการีประมาณ 15,000–100,000 คน ที่ถูกละทิ้งให้เป็นผู้ไร้สัญชาติ[3] ในทางตรงกันข้าม ชาวรูซึนได้รับอิสรภาพทางดินแดนโดยปฏิบัติในรัฐเชโกสโลวาเกีย[4]

กฎหมายเชโกสโลวาเกียอนุญาตให้ชนกลุ่มน้อยได้รับการศึกษาในภาษาของตนเองได้ภายใต้เงื่อนไขบางประการ ซึ่งหมายความว่า 86.4 % ของนักเรียนชาวฮังการีระดับประถมศึกษาได้รับการศึกษาในภาษาแม่ของพวกเขา เช่นเดียวกับ 72 % ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา แต่ขณะเดียวกันในเชโกสโลวาเกียไม่มีการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้สำหรับชาวฮังการี[4] อย่างไรก็ตาม ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง การรับรู้ของชาวฮังการีต่อสถานการณ์การศึกษาของพวกเขาเลวร้ายลง เนื่องด้วยจำนวนโรงเรียนของชาวฮังการีถูกลดลงถึงสองในสาม มหาวิทยาลัยที่ใช้ภาษาฮังการีถูกยกเลิก และประกาศนียบัตรที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยในฮังการีไม่ได้รับการยอมรับในเชโกสโลวาเกีย[5] ชนกลุ่มน้อยฮังการีส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะสนับสนุนพรรคการเมืองที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายวัฒนธรรมของรัฐบาลเชโกสโลวาเกียและพรรคของชาวฮังการีทุกพรรคในประเทศ โดยหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงพรมแดนในอนาคต ซึ่งจะทำให้สโลวาเกียและรูทีเนียบางส่วนหรือทั้งหมดกลับคืนสู่ฮังการี[6] พรรคฝ่ายค้านได้รับคะแนนเสียงข้างน้อยประมาณครึ่งหนึ่งในการเลือกตั้งรัฐสภาติดต่อกัน[6] ชนชั้นนำฮังการีในยุคจักรวรรดิ (เจ้าของที่ดิน นักบวช ทนายความ ข้าราชการ ครู และประชากรชาวยิวส่วนหนึ่ง) แสดงท่าทีต่อต้านรัฐใหม่และมักจะเข้าควบคุมในฐานะผู้นำพรรคการเมืองของชาวฮังการีในเชโกสโลวาเกีย[6] ชาวนาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยส่วนใหญ่และได้รับการปรับเปลี่ยนสถานะทางเศรษฐกิจในรัฐใหม่ ก็ยังคงสนับสนุนการกลับคืนสู่ฮังการีต่อไป[7]

ในส่วนของชาวรูซึน แม้ว่าพวกเขาจะสนับสนุนพรรคฝ่ายค้านรัฐบาลด้วยเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้ต้องการแยกตัวออกจากเชโกสโลวาเกีย เพียงแค่พวกเขาต้องการปฏิรูปรัฐบาล เพื่อขยายอำนาจการปกครองตนเองและเพิ่มขอบเขตทางภูมิศาสตร์ของรูทีเนีย โดยการตัดทอนพื้นที่บางส่วนจากสโลวาเกียไป[7] อำนาจการปกครองตนเองนั้นเป็นไปในทางปฏิบัติสำหรับฝ่ายตุลาการในรูทีเนีย และผู้ว่าราชการประจำรูทีเนียก็ไม่ได้มีอำนาจเหนือกว่ารองผู้ว่าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลกลางปราก[8] อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้วการสนับสนุนพรรคฝ่ายค้านรัฐบาลมีมากกว่านั้นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะทางเศรษฐกิจมากกว่า[9] ถึงแม้ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลจะสามารถสร้างอิทธิพลขึ้นได้เป็นเวลาสั้น ๆ ในช่วงปลายทศวรรษ 1929 อันเป็นผลจากการปรับปรุงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ แต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทำให้ฝ่ายค้านรัฐบาลเริ่มกลับมามีอิทธิพลอีกครั้ง[10]

ความปรารถนาของฮังการี

แก้
 
การสูญเสียดินแดนของฮังการีตามสนธิสัญญาทรียานงใน ค.ศ. 1920 รัฐบาลฮังการีหลายชุดในสมัยระหว่างสงครามได้เน้นนโยบายต่างประเทศไปที่การฟื้นฟูดินแดนเหล่านี้เป็นหลัก

ฮังการีสูญเสียดินแดนเป็นจำนวนมากภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งตามสนธิสัญญาทรียานง[11] ซึ่งหนึ่งในดินแดนที่สูญเสียไปคือสโลวาเกียและรูทีเนีย ที่มอบให้เชโกสโลวาเกีย[11] โดยวัตถุประสงค์หลักของนโยบายต่างประเทศของฮังการีในช่วงระหว่างสงครามคือการฟื้นฟูดินแดนทั้งหมดหรือบางส่วนที่สูญเสียไปหลังจากความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[11]

มีการเกิดขึ้นของสองกระแสการเมืองในหมู่ผู้นำฮังการีสำหรับการบรรลุเป้าหมายของลัทธิปฏิรูปนิยม โดยกระแสหนึ่งสนับสนุนการเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีเพื่อใช้อำนาจโดยตรงในการแก้ไขสนธิสัญญาทรียานง และอีกกระแสหนึ่งสนับสนุนนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระมากขึ้น ซึ่งสนับสนุนการสร้าง "ขั้วอำนาจที่สามของยุโรป" อันมีพันธมิตรร่วมคืออิตาลี ฮังการี และโปแลนด์ เพื่อบีบบังคับให้เชโกสโลวาเกียยอมจำนนและถ่วงดุลอำนาจของเยอรมนีในเวลาเดียวกัน[12] ในช่วงต้น ค.ศ. 1938 รัฐบาลวอร์ซอและบูดาเปสต์ต้องการที่จะสร้างพรมแดนร่วมกัน[หมายเหตุ 1] เนื่องจากความเป็นไปได้ในการผนวกออสเตรียของเยอรมนี เพื่อรับประกันความเป็นเอกราชระหว่างสองประเทศ[12]

จากเหตุการณ์อันชลุสและความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างเชโกสโลวาเกียและเยอรมนี ทำให้ฮังการีพยายามใช้โอกาสนี้ในการกู้คืนดินแดนในอดีต[13] ทางสันนิบาตปฏิรูปนิยมฮังการีได้ออกมาเคลื่อนไหวเป็นครั้งแรกในรอบห้าปีเมื่อวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1938 เพื่อเรียกร้องการปฏิบัติแก่ชนกลุ่มน้อยฮังการีในเชโกสโลวาเกียเหมือนดังที่เยอรมนีได้เรียกร้องในเวลาเดียวกัน[13] และเพื่อหลีกเลี่ยงการพึ่งพาเยอรมนีมากเกินไป รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศฮังการีจึงพยายามขอความร่วมมือจากอิตาลี ยูโกสลาเวีย โรมาเนีย และโปแลนด์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย[13] ในการเจรจากับประเทศภาคีน้อย (Little Entente) มีการยินยอมที่จะลงนามในสนธิสัญญาเกี่ยวกับการเคารพชนกลุ่มน้อย ยกเลิกการใช้กำลังเพื่อแก้ไขข้อพิพาทระหว่างทั้งสองฝ่าย และยอมรับสิทธิของฮังการีในสร้างเสริมกำลังอาวุธใหม่ โดยทั้งหมดนี้เป็นไปตามความตกลงเบลต (Bled agreement) เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ซึ่งเชโกสโลวาเกียไม่ได้ลงนาม[14] อย่างไรก็ตาม ทางเบอร์ลินได้รับรู้ถึงความตกลงดังกล่าวที่รัฐบาลฮังการีปฏิเสธการใช้กำลังในขณะที่ความตึงเครียดระหว่างเบอร์ลินและปรากเริ่มสูงขึ้น โดยสิ่งนี้ถือเป็นการแสดงท่าทีถึงความเป็นอิสระของนโยบายต่างประเทศฮังการี ซึ่งนั่นทำให้เยอรมนีไม่พอใจเป็นอย่างมาก[15]

ผู้นำเยอรมนีเรียกร้องให้ผู้นำฮังการีที่ขณะนั้นมาเยือนเบอร์ลินเข้าร่วมในการกดดันเชโกสโลวาเกีย[16] ฮิตเลอร์ตั้งใจที่จะรุกรานประเทศโดยใช้การลุกฮือของชนกลุ่มน้อยเป็นเหตุผล และต้องการความร่วมมือจากรัฐบาลบูดาเปสต์สำหรับความช่วยเหลือของชนกลุ่มน้อยฮังการี[16] การร่วมมือของฮังการีมีจุดประสงค์เพื่อให้ได้รับดินแดนกลับคืนมา แม้ว่าฝ่ายเยอรมนีจะมีความไม่ชัดเจนต่อการผนวกดินแดนของฮังการีก็ตาม[16] ถึงแม้จะมีแรงกดดันมหาศาลจากเยอรมนี แต่ฮังการีก็ปฏิเสธแผนการของเยอรมนีอย่างแข็งขัน โดยฮังการีไม่ได้ปฏิเสธการร่วมมือกับเยอรมนี แต่ก็ไม่ได้รับประกันว่าพวกเขาจะร่วมมือด้วยเช่นกัน[16]

ในทางกลับกัน รัฐบาลฮังการียังคงพยายามประสานข้อเรียกร้องของตนกับโปแลนด์ต่อไป รัฐบาลวอร์ซอได้เสนอว่าทางบูดาเปสต์ควรเรียกร้องให้มีการลงประชามติในทุกดินแดนที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรฮังการีเดิม ไม่ใช่เพียงแค่พื้นที่ที่มีชาวฮังการีส่วนใหญ่เท่านั้น เพื่อที่จะสร้างพรมแดนร่วมกันระหว่างฮังการี-โปแลนด์[17] ข้อเรียกร้องของโปแลนด์-ฮังการีได้รับการสนับสนุนจากอิตาลี[17]

วิกฤตการณ์มิวนิก

แก้
 
ผู้ลงนามในความตกลงมิวนิก: เนวิล เชมเบอร์ลิน, เอดัวร์ ดาลาดีเย, อดอล์ฟ ฮิตเลอร์, และเบนิโต มุสโสลินี ซึ่งความตกลงนี้ยังคงไม่สามารถยุติความตึงเครียดของชนกลุ่มน้อยในเชโกสโลวาเกียได้ แต่ด้วยการยืนยันจากมุสโสลินี จึงมีการรวมข้อปัญหาของชนกลุ่มน้อยที่นำไปสู่การเจรจาทวิภาคีระหว่างปรากและบูดาเปสต์ ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จในท้ายที่สุด

การลงนามในความตกลงมิวนิกเมื่อวันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 1938 มีจุดประสงค์เพื่อยุติความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลปรากและชนกลุ่มน้อยเยอรมัน ซึ่งส่งผลกระทบสำคัญต่อเชโกสโลวาเกียเป็นอย่างยิ่ง[18] มุสโสลินียืนยันที่จะเข้าร่วมในความตกลงนี้ด้วย แม้ว่าบรรดามหาอำนาจจะเมินเฉยต่อความสัมพันธ์ระหว่างชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เยอรมันก็ตาม[17] ในหัวข้อท้ายของความตกลงระบุว่าปัญหาของชนกลุ่มน้อยโปแลนด์และฮังการีจะต้องได้รับการแก้ไขระหว่างสามประเทศที่ได้รับผลกระทบ[19][20] สามเดือนต่อมา มีการจัดประชุมอีกครั้งของมหาอำนาจทั้งสี่ (เยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร) ซึ่งจบลงโดยการลงนามในสนธิสัญญามิวนิก[18][21][17][22][23][24] นอกจากนี้ การรับประกันทางดินแดนแก่เชโกสโลวาเกียของประเทศผู้ลงนามจะมีผลบังคับใช้ต่อเมื่อข้อพิพาทต่าง ๆ ยุติลงเท่านั้น[17] และมหาอำนาจจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเจรจาทวิภาคีใด ๆ[20] ทางฮังการีที่สนับสนุนอย่างแข็งกร้าวสำหรับการแก้ไขพรมแดนตลอดสมัยระหว่างสงคราม ได้ใช้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้เพื่อบังคับการเจรจากับรัฐบาลเชโกสโลวาเกีย[25] ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอิตาลี[18] แต่ในทางกลับกัน ฮิตเลอร์ดูเหมือนจะเข้าข้างเชโกสโลวาเกียมากกว่า เนื่องจากต้องการทำตามจุดประสงค์ของตนและเยอรมนีก็ไม่ได้มีส่วนได้เสียสำหรับการกู้คืนดินแดนของฮังการี[19][26] ทางการเยอรมนีไม่ได้มองว่าความตกลงมิวนิกนั้นเป็นที่สิ้นสุดแล้ว และในต้นเดือนตุลาคม พวกเขากำลังพิจารณาถึงทางเลือกทางการเมืองที่เป็นไปได้สำหรับสโลวาเกียและรูทีเนีย[20]

เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามที่อาจเกิดขึ้นระหว่างฮังการีภายใต้การนำของมิกโลช โฮร์ตี (ซึ่งกังวลอย่างมากเกี่ยวกับการสูญเสียโอกาสในการกอบกู้ดินแดนที่สูญเสียไปหลังสงครามโลก เหมือนที่เกิดขึ้นในความตกลงมิวนิก) กับสาธารณรัฐเชโกสโลวักที่ 2 ของประธานาธิบดีแอมีล ฮาชา ฮิตเลอร์จึงแนะนำให้ทั้งสองฝ่ายทำข้อตกลงเกี่ยวกับพรมแดนตามเกณฑ์ชาติพันธุ์[27][25] ฮังการีได้รับการสนับสนุนจากฮิตเลอร์สำหรับการจัดการกับเชโกสโลวาเกียในวันที่ 1 ตุลาคม[28] โดยทางบูดาเปสต์เลือกที่จะเจรจาเพราะสถานการณ์ที่ย่ำแย่ของกองทัพฮังการี ซึ่งแตกต่างจากโปแลนด์ที่ได้ดินแดนที่ต้องการหลังจากขู่ว่าจะใช้กำลัง[29] รัฐบาลปรากตระหนักดีถึงความอ่อนแอทางทหารของฮังการี[30] จึงเข้าร่วมในการเจรจาอื่น ๆ เพื่อพยายามชะลอการเจรจากับบูดาเปสต์[28][26] เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ทางฮังการีเรียกร้องให้เริ่มการเจรจาในวันที่ 6 ณ เมืองชายแดนคอมาร์นอ โดยในวันที่ 5 ฮังการีเริ่มส่งกองกำลังเข้าแทรกแซงพื้นที่บางส่วนของเชโกสโลวาเกียเพื่อสร้างความปั่นป่วน[25] อย่างไรก็ตาม ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลปกครองตนเองสโลวัก รัฐบาลปรากได้ละทิ้งการเจรจากับตัวแทนของฮังการี[31] ซึ่งเป็นไปตามรายงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเช็กที่ส่งถึงฮิตเลอร์ในวันที่ 14 ตุลาคม[20] ทางด้านยูโกสลาเวียและโรมาเนีย ซึ่งเป็นพันธมิตรกับเชโกสโลวาเกีย ได้แสดงการต่อต้านการขยายดินแดนของฮังการีและคัดค้านการยกดินแดนที่ประชากรส่วนใหญ่ไม่ใช่ชาวฮังการีให้กับฮังการี[26]

ในวันที่ 6 ตุลาคม พรรคประชาชนสโลวักได้จัดการประชุมกันที่เมืองชิลินาและประกาศตนเป็น "ตัวแทนอย่างถูกต้องตามกฎหมายของชนชาติสโลวัก"[32] โดยญัตติที่ได้รับการอนุมัติในที่ประชุมเน้นยำถึงสิทธิการกำหนดการปกครองด้วยตนเองของชนชาติสโลวัก การกำหนดขอบเขตทางภูมิศาสตร์ของตน และการต่อสู้ร่วมกับประเทศที่ต่อต้านยิว-มาร์กซิสต์[33] จากวิกฤตการณ์ที่ตึงเครียดทำให้รัฐบาลปรากจำยอมที่จะปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของชาวสโลวัก และได้แต่งตั้งนักบวชคาทอลิกยอเซ็ฟ ติซอ เป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลปกครองตนเองใหม่[33] ส่งผลให้รัฐเชโกสโลวาเกียแปรสภาพเป็นสหพันธรัฐเช็ก-สโลวาเกีย[33] ในวันที่ 8 พฤศจิกายน ภูมิภาคสโลวาเกียถูกกำหนดให้เป็นเขตปกครองของพรรคการเมืองเดียวอย่างสมบูรณ์[34]

การเจรจาระหว่างเชโกสโลวาเกียและฮังการีเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 9 ตุลาคม ณ เมืองคอมาร์นอ[29][28][22] โดยมีการใช้ภาษาฮังการีเป็นสื่อกลาง เนื่องจากผู้แทนทั้งสองฝ่ายมีความเชี่ยวชาญในภาษานี้[35] ระหว่างการเจรจา ทางเชโกสโลวาเกียได้เสนอผลประโยชน์เพียงเล็กน้อยให้กับฮังการี[25][32][31] กล่าวคือฮังการีปรารถนาที่จะได้รับดินแดนรูทีเนียทั้งหมดและดินแดนสโลวาเกียที่มีประชากรฮังการีอาศัยเป็นส่วนใหญ่[36] ซึ่งจะทำให้สโลวาเกียสูญเสียเมืองหลัก ที่ราบอุดมสมบูรณ์ และทางรถไฟสายสำคัญไปจนหมดสิ้น[28][37] แต่ทางผู้แทนชาวสโลวักเสนอคืนดินแดนเพียงหนึ่งในสิบของดินแดนที่ฮังการีเรียกร้องและมอบอำนาจปกครองตนเองให้กับดินแดนที่มีชาวฮังการีส่วนใหญ่ที่เหลืออยู่[25][38] ผู้แทนฮังการีใช้การสำรวจสำมะโนประชากรใน ค.ศ. 1910 เพื่อเรียกร้องพื้นที่ 14,153 ตารางกิโลเมตร และประชากร 1,090,000 คน โดยเป็นชาวฮังการี 77.9 %[35] โดยพวกเขาได้อ้างสิทธิ์เหนือ 12 เมือง และ 812 จาก 830 หมู่บ้าน ในภูมิภาคสโลวาเกีย และอาศัยคำแนะนำจากสถาบันรัฐศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแตกต่างจากคณะผู้แทนชาวสโลวักของติซอ[32] ที่เร่งรีบรวบรวมเนื้อหาเพื่อสนับสนุนตำแหน่งของพวกเขา[35] ข้อเสนอของเชโกสโลวาเกียในการยกพื้นที่ทั้งหมด 5,786 ตารางกิโลเมตร และประชากร 400,000 คน (320,000 คน เป็นชาวฮังการี) ไม่เป็นที่พึงพอใจแก่ทางบูดาเปสต์อย่างยิ่ง[28][37] คณะผู้แทนเชโกสโลวาเกียเริ่มใช้การประนีประนอมมากขึ้น เพื่อซื้อเวลาสำหรับการร้องขอแรงสนับสนุนจากเยอรมนี แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ[35] การเจรจาที่ตึงเครียดนี้ดำเนินไปได้ทั้งหมดสี่วันจึงยุติลง[36][39][29][40][38][37] และทางบูดาเปสต์เริ่มระดมกำลังทหารบางส่วน[18][39][38] หนึ่งสัปดาห์ต่อมา ผู้แทนชาวสโลวักได้ให้ข้อเสนอใหม่แก่ฮังการี ซึ่งเป็นข้อเสนอที่จัดทำขึ้นโดยยึดหลักเกณฑ์ชาติพันธุ์แบบคร่าว ๆ ทำให้ฮังการีจะได้รับเมืองบางส่วนไป แต่เมืองใหญ่อื่น ๆ ในภูมิภาคยังคงอยู่ในเชโกสโลวาเกีย อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลฮังการีได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว[40][41]

รัฐบาลฮังการีไร้ซึ่งความหวังที่จะได้รับผลประโยชน์จากดินแดนสโลวาเกียอันเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์เชโกสโลวาเกีย และหันไปสนใจรูทีเนียแทน[29] เพื่อที่จะได้มีพรมแดนร่วมกันกับโปแลนด์[36] สถานการณ์ในบูดาเปสต์ตึงเครียดอย่างมากในช่วงปลายเดือนตุลาคม[40] ภายหลังความล้มเหลวของการเจรจา รัฐบาลบูดาเปสต์ได้ละทิ้งความพยายามในการกู้คืนสโลวาเกียทั้งหมด (เนื่องจากไม่ได้รับการรับรองจากเยอรมนีและอิตาลี)[42] และจำกัดความต้องการของตนอยู่เพียงแค่การได้รับรูทีเนียและพื้นที่ที่มีชาวฮังการีเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น[29] ซึ่งเพื่อให้บรรลุตามจุดประสงค์ข้างต้น รัฐบาลฮังการีของเบ-ลอ อิมเรดี จึงให้ความร่วมมือในการสร้างความปั่นป่วนผ่านการสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนและการแทรกซึมอำนาจในรูทีเนีย[18][39][29][22][36][43] ปฏิบัติการดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 10 ตุลาคม ซึ่งในขณะนั้นการเจรจาที่คอมาร์นอยังคงดำเนินอยู่[29] โดยได้รับการสนับสนุนจากโปแลนด์และอิตาลี[29] แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากเชโกสโลวาเกียสามารถปิดกั้นพรมแดนและหยุดยั้งการรุกล้ำได้[21][44] รัฐบาลบูดาเปสต์พยายามรวบรวมกำลังสนับสนุนทางการทูตกับรัฐบาลโรมและเบอร์ลินสำหรับข้อพิพาททางการปราก[39][45][46][44] ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางการทูตจากโปแลนด์เช่นกัน แม้ว่าจะไม่ได้แรงสนับสนุนทางทหารด้วยก็ตาม[44]

เมื่อเผชิญกับความล้มเหลวของแผนการก่อจราจลในรูทีเนีย ทางฮังการีจึงเล็งเห็นถึงความเป็นไปได้ในการอาศัยการประชุมของมหาอำนาจทั้งสี่ที่มิวนิกเพื่อแก้ไขสถานการณ์[37] แต่ได้รับการต่อต้านจากฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และเยอรมนี[39][47][48][45][46] การเจรจาทวิภาคีก็ถูกระงับลง[49][50] ดังนั้นทางการบูดาเปสต์จึงตัดสินใจร้องขอการอนุญาโตตุลาการจากอิตาลี เยอรมนี และโปแลนด์[48][51] คำร้องขอถูกส่งไปยังอังกฤษเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม[47] ซึ่งอิตาลีตอบรับคำร้องขอด้วยความยินดี แต่เยอรมนีปฏิเสธอย่างแข็งขัน เนื่องจากมองว่าสิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงการละทิ้งการอ้างสิทธิ์ของฮังการีในการขอรับรูทีเนีย[48] ในวันต่อมา เชโกสโลวาเกียก็แสดงความเต็มใจที่จะยอมรับการอนุญาโตตุลาการจากอิตาลีและเยอรมนีด้วย[39][47][18][51] หลังการปฏิเสธครั้งแรก ทางเบอร์ลินจึงตกลงที่จะไกล่เกลี่ยให้ในวันที่ 28 ตุลาคม[47][45][52] อย่างไรก็ตามโปแลนด์ถูกขัดขวางในการเข้าร่วมอนุญาโตตุลาการครั้งนี้ อันเป็นผลมาจากการเรียกร้องสิทธิ์เหนือดันท์ซิชและฉนวนโปแลนด์ ซึ่งรัฐบาลวอร์ซอปฏิเสธ[53][54]

การอนุญาโตตุลาการ

แก้
 
ผู้ลงนามในการอนุญาโตตุลาการ จากซ้ายไปขวา: ฟรานตีแช็ค ชวาลคอฟสกี (เชโกสโลวาเกีย) กาลีซโซ ชิอาโน (อิตาลี) โยอาคิม ฟ็อน ริบเบินทร็อพ (เยอรมนี) และกาลมาน กานยอ (ฮังการี)

หนึ่งวันหลังจากการร้องขอของฝ่ายต่าง ๆ ชิอาโนและริบเบินทร็อพได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ร่างปรับเปลี่ยนพรมแดนใหม่ โดยชิอาโนสนับสนุนความปรารถนาของฮังการีอย่างเต็มกำลัง ในขณะที่ริบเบินทร็อพพยายามลดการแบ่งแยกดินแดนในสโลวาเกียและรูทีเนีย[47] สำหรับมหาอำนาจตะวันตกก็ไม่ได้ขัดขวางการไกล่เกลี่ยนี้แต่อย่างใด[27][49][55][56] อิตาลีและเยอรมนีตกลงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม เพื่อดำเนินการอนุญาโตตุลาการ โดยมีเงื่อนไขว่าฮังการีและเชโกสโลวาเกียจะต้องยอมรับคำชี้ขาดของตนว่าเป็นที่สิ้นสุด[53] ฮังการีไม่ได้เรียกร้องการผนวกรูทีเนีย แต่แจ้งกับอิตาลีให้ทราบถึงความตั้งใจที่จะดำเนินการแทรกแซงภูมิภาคนี้ต่อไป[53]

 
ดินแดนที่เชโกสโลวาเกียต้องมอบให้แก่ฮังการีตามคำชี้ขาดของการอนุญาโตตุลาการเวียนนาครั้งที่หนึ่งในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1938

การเจรจาเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1938[57][47][58][39][49][50][59][56]พระราชวังเบลเวเดียร์[45][60] ในกรุงเวียนนา ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเยอรมนีริบเบินทร็อพและชิอาโนจากอิตาลี[53][61] ได้ร่วมกันกำหนดพรมแดนใหม่ที่ปรับให้เข้ากับเกณฑ์ทางชาติพันธุ์มากขึ้นกว่าแนวเดิมที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาทรียานง[62][58][53] ชิอาโนสามารถปรับเพิ่มดินแดนให้กับฮังการีได้เล็กน้อย[27][60] ตามคำชี้ขาดของการอนุญาโตตุลาการนี้กำหนดไว้ว่าเชโกสโลวาเกียจะต้องส่งมอบดินแดนให้แก่ฮังการีในระหว่างวันที่ 3 ถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน[53]

เชโกสโลวาเกียสูญเสียดินแดนทั้งสิ้น 11,927 ตารางกิโลเมตร[18][39][50] และประชากรจำนวน 1,081,247 คน[58][หมายเหตุ 2][หมายเหตุ 3] ซึ่งเป็นประชากรฮังการีประมาณ 57 %[หมายเหตุ 4] (84 % ตามการประมาณการของฮังการี)[50] รองลงมาเป็นชาวสโลวักและรูซึน และส่วนที่เหลือเป็นชนกลุ่มน้อยเช็ก เยอรมัน และยิว[64] อีกทั้งประเทศยังสูญเสียเมืองสำคัญอย่างมูกาแชวอ[64] กอชิตเซ[65] (มีประชากรประมาณ 70,000 คน) และอุฌฮอรอด (27,000 คน)[18][39][45][56][63] ชนกลุ่มน้อยฮังการีส่วนใหญ่ในเชโกสโลวาเกียอพยพกลับไปยังฮังการี[18][63] โดยมีชาวฮังการีเพียง 66,000 คนเท่านั้นที่ยังคงอยู่ในพรมแดนเชโกสโลวาเกียใหม่[18][หมายเหตุ 5] ฮังการีได้รับดินแดนเพิ่มขึ้น 13 % จากเขตแดนเดิม และยังได้รับประชากรเพิ่มขึ้นอีก 11.7 %[39][63]

อย่างไรก็ตาม การอนุญาโตตุลาการครั้งนี้สร้างความผิดหวังแก่ฮังการีเป็นอย่างมากสำหรับความปรารถนาที่จะได้รับบราติสลาวาและนีตรา[64] หรือการกู้คืนดินแดนรูทีเนีย[66][47][39][62] ในเวลาต่อมาภูมิภาครูทีเนียได้รับอำนาจปกครองตนเอง ซึ่งในช่วงแรกรัฐบาลของภูมิภาคนี้อยู่ภายใต้การปกครองโดยบุคคลที่สนับสนุนการรวมดินแดนกับฮังการี แต่ไม่นานนักก็ถูกแทนที่โดยแนวร่วมท้องถิ่นชาวยูเครน[67] การเปลี่ยนแปลงพรมแดนทำให้รูทีเนียสูญเสียสองเมืองสำคัญของภูมิภาคอย่างอุฌฮอรอดกับมูกาแชวอ และทำให้สัดส่วนชาวรูซึนในภูมิภาคนี้เพิ่มมากขึ้น (คิดเป็น 76 % ของประชากร)[67] ผู้ปกครองรูทีเนียยังคงเต็มใจที่จะให้ภูมิภาคเป็นส่วนหนึ่งของเชโกสโลวาเกียต่อไป ซึ่งในขณะนี้ได้เปลี่ยนสถานะเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐ[67]

ปฏิกิริยาในฮังการี

แก้
 
การเคลื่อนกำลังของกองทัพฮังการีในลูเชเญส (Lučenec) ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับจากการอนุญาโตตุลาการ

ภายในประเทศมีการจัดเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่[63] หลังจากทราบถึงผลลัพธ์ของการอนุญาโตตุลาการ เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ฮังการีได้รับดินแดนกลับคืนมานับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งสิ้นสุดลง[64] ทางผู้สำเร็จราชการมิกโลช โฮร์ตี พร้อมด้วยคณะรัฐสภาได้เดินทางไปเยือนกอซซอ (ในภาษาสโลวักเรียก "กอชิตเซ") ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่ได้รับคืนมา[63] เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จในการฟื้นฟูดินแดน[64] การกู้คืนดินแดนในครั้งนี้ยังสร้างแรงกระตุ้นให้ลัทธิปฏิรูปนิยมฮังการีอีกด้วย[64] อย่างไรก็ตาม ประเทศต้องเผชิญกับอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากอำนาจเบื้องหลังของฝ่ายอักษะในการอนุญาโตตุลาการ โดยมีการพยายามแก้ไขข้อตกลงที่ทำขึ้นและบีบให้รัฐบาลฮังการียอมรับผลการตัดสินว่าเป็นที่สิ้นสุด[53][68]

กลยุทธ์ของฮังการีที่ใช้กับรูทีเนียคล้ายคลึงกับวิธีการที่ฮิตเลอร์ใช้กับเชโกสโลวาเกีย: กล่าวคือยุยงให้เกิดความไม่มั่นคง ตีตราภูมิภาคนี้ว่าไร้อำนาจในฐานะปกครองตนเองหรือเป็นอิสระ และสุดท้ายก็ส่งกองทหารไปเพื่อ "ฟื้นฟูความสงบเรียบร้อย"[53] แต่การกระทำต่าง ๆ เหล่านี้ล้มเหลว เพราะขาดการสนับสนุนจากประเทศอื่น ๆ รวมถึงเยอรมนีคัดค้านด้วย[69]

ผลที่ตามมา

แก้

แม้ว่าคำตัดสินของการอนุญาโตตุลาการจะไม่ได้ส่งคืนรูทีเนียให้แก่ฮังการี[66][70] แต่ต่อมาไม่นานฮิตเลอร์ก็อนุญาตให้กองทัพฮังการียึดครองดินแดนได้[71] ซึ่งก่อนหน้านี้ แผนการยึดครองที่วางขึ้นระหว่างฮังการี โปแลนด์ และอิตาลีถูกล้มเลิกไปเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนโดยฝ่ายค้านเยอรมนีที่มุ่งมั่น[72][73][74] กองทหารรักษาการณ์รูทีเนียท้องถิ่นพยายามปกป้องอิสรภาพของตน โดยได้พยายามประกาศเอกราชอย่างเร่งรีบเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1939 แต่ก็พ่ายแพ้ต่อกองทหารฮังการีในอีกสามวันต่อมา[71] อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าในการอนุญาตของเยอรมนีทำให้แผนการพรมแดนร่วมของโปแลนด์และฮังการีเป็นที่น่าผิดหวัง การรุกรานที่เป็นไปได้ของเยอรมนี ทำให้รัฐบาลวอร์ซอกังวลเกี่ยวกับกิจกรรมของกลุ่มชาตินิยมยูเครนในภูมิภาคนี้ ซึ่งเกรงว่าจะแพร่กระจายไปยังดินแดนของตนด้วย[73]

ดินแดนสโลวาเกียตามลุ่มน้ำดานูบที่มอบให้แก่ฮังการียังคงอยู่ภายใต้การครอบครองของรัฐบาลบูดาเปสต์ระหว่าง ค.ศ. 1938 จนถึง ค.ศ. 1945[57] จากการคืนดินแดนครั้งนี้นำไปสู่การสร้างสายสัมพันธ์อันดีระหว่างฮังการีกับเยอรมนีและอิตาลี รวมถึงการมอบผลประโยชน์บางอย่างที่เอื้อประโยชน์เยอรมนีในเดือนต่อ ๆ มา เช่น การออกกฎหมายต่อต้านยิว การถอนตัวออกจากสันนิบาตชาติของฮังการี การให้สิทธิพิเศษแก่ชนกลุ่มน้อยชาวเยอรมัน หรือการลงนามในกติกาสัญญาต่อต้านโคมินเทิร์น[75]

การเปลี่ยนแปลงเขตแดนตามการอนุญาโตตุลาการถือเป็นโมฆะภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง[76] พรมแดนระหว่างเชโกสโลวาเกียและฮังการีกลับไปใช้ตามเค้าโครงเดิมของสนธิสัญญาทรียานง ยกเว้นการแก้ไขเล็กน้อยที่เป็นประโยชน์ต่อเชโกสโลวาเกียภายใต้สนธิสัญญาสันติภาพกับฮังการีเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1947[57] เชโกสโลวาเกียแสดงความปรารถนาที่จะขับไล่ชนกลุ่มน้อยฮังการีออกจากดินแดนของตน แต่ในสนธิสัญญาปารีส ค.ศ. 1947 ได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว[77] อย่างไรก็ตาม มีการเนรเทศชาวฮังการีที่อพยพเข้ามาอยู่ในช่วงสงครามจำนวนมาก (เป็นจำนวนราว 33,200 คน และอีก 6 หมื่นคนออกจากประเทศด้วยความสมัครใจ)[77] ในระหว่าง ค.ศ. 1947 ถึง ค.ศ. 1948 มีการแลกเปลี่ยนชาวฮังการี 73,000 คนกับชาวสโลวักจำนวนมาก เนื่องจากข้อตกลงระหว่างรัฐบาลเชโกสโลวาเกียและฮังการี[77] ชนกลุ่มน้อยฮังการีอีกสองแสนคนถูกกวาดต้อนไปตั้งถิ่นฐานในซูเดเทินลันท์[78] ประชากรชนกลุ่มน้อยประมาณสี่แสนคนยังคงอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ[77] ซึ่งในจำนวนครึ่งหนึ่งได้ประกาศตนเองว่าเคยเป็นชาวสโลวัก เมื่อเผชิญกับนโยบายการเปลี่ยนเป็นสโลวัก โดยประชากรส่วนที่เหลือถูกกีดกันการเป็นพลเมือง[79] และวัฒนธรรมของพวกเขา[78] สถานการณ์ของชนกลุ่มน้อยเริ่มดีขึ้นมาบ้าง เนื่องจากการยึดอำนาจของคอมมิวนิสต์เชโกสโลวาเกียใน ค.ศ. 1948 และได้ใช้นโยบายนี้เรื่อยมาจนกระทั่งยกเลิกใน ค.ศ. 1956[80]

ดูเพิ่ม

แก้

หมายเหตุ

แก้
  1. เป็นแนวคิดที่เคยเกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่ถูกปัดตกไป[12]
  2. Magocsi และ Mamatey ระบุจำนวนประชากรที่น้อยกว่าคือ 972,000 คน[39][18] ส่วน Procházka ให้จำนวนที่แตกต่างกันคือ 11,833 ตารางกิโลเมตร และ 972,092 คน[63]
  3. Sakmyster ให้จำนวนประชากรที่สูญเสียเป็น 1,041,494 คน[64] ซึ่ง Abloncy ก็ระบุจำนวนที่คล้ายกันคือ 1,060,000 คน[50]
  4. Mamatey ให้ค่าที่ต่ำกว่าคือ 53.9 %[39] ส่วน Procházka ระบุอัตราร้อยละเป็น 64.2 %[63]
  5. Procházka ให้จำนวนที่สูงกว่าเป็น 167,737 คน[63]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 Magocsi 1990, p. 427.
  2. 2.0 2.1 Magocsi 1990, p. 428.
  3. 3.0 3.1 3.2 Magocsi 1990, p. 429.
  4. 4.0 4.1 Magocsi 1990, p. 430.
  5. Magocsi 1990, p. 431.
  6. 6.0 6.1 6.2 Magocsi 1990, p. 432.
  7. 7.0 7.1 Magocsi 1990, p. 433.
  8. Magocsi 1990, p. 435.
  9. Magocsi 1990, p. 436.
  10. Magocsi 1990, p. 437.
  11. 11.0 11.1 11.2 Winchester 1973, p. 741.
  12. 12.0 12.1 12.2 Winchester 1973, p. 742.
  13. 13.0 13.1 13.2 Winchester 1973, p. 745.
  14. Winchester 1973, p. 746.
  15. Winchester 1973, p. 747.
  16. 16.0 16.1 16.2 16.3 Winchester 1973, p. 748.
  17. 17.0 17.1 17.2 17.3 17.4 Winchester 1973, p. 749.
  18. 18.00 18.01 18.02 18.03 18.04 18.05 18.06 18.07 18.08 18.09 18.10 Magocsi 1990, p. 439.
  19. 19.0 19.1 Dreisziger 1968, p. 94.
  20. 20.0 20.1 20.2 20.3 Boucek 1975, p. 47.
  21. 21.0 21.1 Dreisziger 1968, p. 96.
  22. 22.0 22.1 22.2 Ablonczy 2006, p. 168.
  23. Wheeler-Bennett 1963, p. 297.
  24. Juhász 1979, p. 142.
  25. 25.0 25.1 25.2 25.3 25.4 Juhász 1979, p. 143.
  26. 26.0 26.1 26.2 Procházka 1981, p. 33.
  27. 27.0 27.1 27.2 Sakmyster 1980, p. 214.
  28. 28.0 28.1 28.2 28.3 28.4 Mamatey & Luza 1973, p. 257.
  29. 29.0 29.1 29.2 29.3 29.4 29.5 29.6 29.7 Winchester 1973, p. 751.
  30. Winchester 1973, p. 750.
  31. 31.0 31.1 Procházka 1981, p. 34.
  32. 32.0 32.1 32.2 Ádám 1999, p. 106.
  33. 33.0 33.1 33.2 Boucek 1975, p. 50.
  34. Boucek 1975, p. 53.
  35. 35.0 35.1 35.2 35.3 Ablonczy 2006, p. 169.
  36. 36.0 36.1 36.2 36.3 Dreisziger 1968, p. 95.
  37. 37.0 37.1 37.2 37.3 Procházka 1981, p. 35.
  38. 38.0 38.1 38.2 Ádám 1999, p. 107.
  39. 39.00 39.01 39.02 39.03 39.04 39.05 39.06 39.07 39.08 39.09 39.10 39.11 39.12 Mamatey & Luza 1973, p. 258.
  40. 40.0 40.1 40.2 Ablonczy 2006, p. 170.
  41. Ádám 1999, p. 110.
  42. Procházka 1981, pp. 33–34.
  43. Procházka 1981, pp. 35–36.
  44. 44.0 44.1 44.2 Procházka 1981, p. 36.
  45. 45.0 45.1 45.2 45.3 45.4 Juhász 1979, p. 144.
  46. 46.0 46.1 Ádám 1999, p. 109.
  47. 47.0 47.1 47.2 47.3 47.4 47.5 47.6 Dreisziger 1968, p. 97.
  48. 48.0 48.1 48.2 Winchester 1973, p. 752.
  49. 49.0 49.1 49.2 Boucek 1975, p. 48.
  50. 50.0 50.1 50.2 50.3 50.4 Ablonczy 2006, p. 172.
  51. 51.0 51.1 Procházka 1981, p. 39.
  52. Procházka 1981, p. 38.
  53. 53.0 53.1 53.2 53.3 53.4 53.5 53.6 53.7 Winchester 1973, p. 753.
  54. Procházka 1981, pp. 36, 39.
  55. Wheeler-Bennett 1963, pp. 306, 315.
  56. 56.0 56.1 56.2 Ádám 1999, p. 111.
  57. 57.0 57.1 57.2 R. 1947, p. 124.
  58. 58.0 58.1 58.2 Fenyö 1972, p. 11.
  59. Wheeler-Bennett 1963, p. 305.
  60. 60.0 60.1 Procházka 1981, p. 40.
  61. Wheeler-Bennett 1963, p. 315.
  62. 62.0 62.1 Ádám 1999, p. 112.
  63. 63.0 63.1 63.2 63.3 63.4 63.5 63.6 63.7 Procházka 1981, p. 41.
  64. 64.0 64.1 64.2 64.3 64.4 64.5 64.6 Sakmyster 1980, p. 215.
  65. Fenyö 1972, p. 1.
  66. 66.0 66.1 Juhász 1979, p. 145.
  67. 67.0 67.1 67.2 Magocsi 1990, p. 440.
  68. Juhász 1979, p. 147.
  69. Winchester 1973, p. 754.
  70. Procházka 1981, p. 42.
  71. 71.0 71.1 Magocsi 1990, p. 441.
  72. Dreisziger 1968, p. 98.
  73. 73.0 73.1 Mamatey & Luza 1973, p. 259.
  74. Mamatey & Luza 1973, p. 217.
  75. Winchester 1973, p. 755.
  76. Magocsi 1990, p. 442.
  77. 77.0 77.1 77.2 77.3 Magocsi 1990, p. 443.
  78. 78.0 78.1 Magocsi 1990, p. 444.
  79. R. 1947, p. 125.
  80. Magocsi 1990, p. 445.

บรรณานุกรม

แก้

อ่านเพิ่ม

แก้
  • Komjathy, Anthony. "The First Vienna Award (November 2, 1938)." Austrian History Yearbook 15 (1979): 130-156.
  • Ward, James Mace. "The 1938 First Vienna Award and the Holocaust in Slovakia." Holocaust and Genocide Studies 29.1 (2015): 76-108.