ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล

ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (อังกฤษ: Florence Nightingale) (เครื่องราชอิสริยาภรณ์ OM, เข็มกาชาดหลวง) (12 พฤษภาคม พ.ศ. 2363 - 13 สิงหาคม พ.ศ. 2453) เป็นนักปฏิรูปสังคม นักสถิติชาวอังกฤษ และผู้ให้กำเนิดการพยาบาลสมัยใหม่ ไนติงเกลมีชื่อเสียงในขณะที่ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการและครูฝึกพยาบาลในช่วงสงครามไครเมีย ซึ่งเธอได้ดูแลทหารที่ได้รับบาดเจ็บที่คอนสแตนติโนเปิลหรืออิสตันบูลในปัจจุบัน[1] เธอลดอัตราการเสียชีวิตได้อย่างมากโดยการปรับปรุงสุขอนามัยและมาตรฐานการครองชีพ ไนติงเกลทำให้พยาบาลมีชื่อเสียงและกลายเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมวิกตอเรีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทบาทของ "สุภาพสตรีแห่งดวงประทีป" ที่ดูแลทหารที่บาดเจ็บในตอนกลางคืน[2][3]

ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล
เกิด12 พฤษภาคม พ.ศ. 2363 (ค.ศ.1820)
ฟลอเรนซ์, ประเทศอิตาลี
เสียชีวิต13 สิงหาคม พ.ศ. 2453 (90 ปี) (ค.ศ.1910)
ลอนดอน, ประเทศอังกฤษ
สัญชาติอังกฤษ
อาชีพพยาบาล
รางวัลเครื่องราชอิสริยาภรณ์ OM, เข็มกาชาดหลวง

ชีวิตช่วงต้น

แก้

ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล เกิดเมื่อ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2363 ในห้องพักชั้นสองที่หรูหราของคฤหาสน์โคลัมเบียของครอบครัวที่สนิทกัน ที่เมืองฟิเรนเซ (ฟลอเรนซ์) ประเทศอิตาลี ขณะพ่อแม่เดินทางไปพักผ่อนระหว่างมีครรภ์แก่ ชื่อของเธอจึงได้จากชื่อเมืองที่เกิด [4]

บิดาเป็นเศรษฐีชาวอังกฤษ ชื่อ เอ็ดวาร์ด วิลเลียม ไนติงเกล (1794–1875) มารดาเป็นชาวฝรั่งเศส ชื่อ ฟาร์นีย์ ไนติงเกล (สกุลเดิม สมิท) (1789–1880) อาศัยอยู่ในคฤหาสน์ที่สวนเอมบรีย์ ในลอนดอน [5]

 
สวนเอมบรีย์ บ้านของครอบครัวไนติงเกล ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียน

แรงดลใจเริ่มจากการอธิษฐาน ตามธรรมเนียมปฏิบัติของคริสเตียน (ซึ่งเธอมีประสบการณ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2380 (1837) ที่สวนเอมบรีย์ และปฏิบัติเรื่อยมาตลอดชีวิตของเธอ) ไนติงเกล ปฏิญาณตนเองที่จะทำงานพยาบาล ความรู้สึกนี้แรงกล้า และเหนี่ยวรั้งเธอให้ปฏิเสธบทบาทการเป็นภรรยาและแม่ในเวลาต่อมาด้วย ในยุคนั้น งานพยาบาล ถูกรังเกียจว่าเป็นอาชีพชั้นต่ำของสังคม มีภาพลักษณ์ทางลบ เต็มไปด้วยผู้หญิงยากไร้ที่แขวนชีวิตไว้กับการติดตามไปรักษาให้กับกองทัพ ถูกมองว่าต้องอยู่กับความสกปรกและสิ่งน่ารังเกียจ และยิ่งตอกย้ำจากภาพที่ผู้ประกอบอาชีพในยุคนั้นมักจะติดเหล้าติดบุหรี่ (ในความจริง งานพยาบาลเป็นวิชาชีพที่มีคุณค่าและต้องรักษาความสะอาด เทียบเท่ากับ งานครัว ที่ตัวเองเประเปื้อน แต่ทำให้อาหารสะอาดน่ากิน) ดังนั้น เมื่อ พ.ศ. 2388 (1845) ไนติงเกล ประกาศการตัดสินใจที่จะเป็นพยาบาล จึงทำให้ครอบครัวของเธอคัดค้านอย่างหนัก ทั้งโกรธ และทุกข์ใจ โดยเฉพาะแม่ของเธอ แต่ในที่สุดเธอก็เป็นพยาบาลตามความมุ่งมั่น

ชีวิตงาน

แก้

ช่วงฝึกหัด

แก้

เธอเริ่มต้นจากงานดูแลคนยากจนและคนอนาถา เมื่อธันวาคม พ.ศ. 2387 (ค.ศ. 1844) การตายของคนยากไร้ในศูนย์อนามัยสำหรับผู้ยากไร้ในลอนดอน กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสาธารณชน เธอจึงสนับสนุนและริเริ่มปรับปรุงการดูแลรักษาทางการแพทย์ในสถานพยาบาล และได้ขอความช่วยเหลือสนับสนุนจากชาร์ลส วิลไลเออส์ (Charles Villiers) ในทันที แล้วประธานคณะกรรมการหลักปฏิบัติต่อผู้ยากไร้ ปล่อยให้เธอทำบทบาทกิจกรรมในการปฏิรูปหลักปฏิบัติต่อผู้ยากไร้ และขยายข้อกำหนดไปเกินกว่าการดูแลรักษาทางการแพทย์

ภายหลังเธอได้เลื่อนตำแหน่งตามลำดับจนเป็นที่ปรึกษา และได้ส่ง แอกเนส อลิซาเบท โจนส์ และคณะพยาบาลฝึกหัดของไนติงเกล ไปยังศูนย์อนามัยสำหรับผู้ยากไร้ ในลิเวอร์พูล

เมื่อ พ.ศ. 2389 (1846) เธอเดินทางไปที่ศูนย์พยาบาลและฝึกอาชีพไคเซอร์เวิท (ge:Kaiserswerth) ประเทศเยอรมนี (ขณะนั้นเป็นประเทศปรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่การแพทย์เจริญก้าวหน้าที่สุดในเวลานั้น) เพื่อศึกษาดูงานการบุกเบิกพัฒนาสถานพยาบาลที่ก่อตั้งโดย ศิษยาภิบาล ธีโอดอร์ ไฟลด์เนอร์ (Theodor Fliedner) [6] และดำเนินงานโดย คณะศิษยาภิบาลนิกายลูเทอรัน เธอประทับใจคุณภาพการดูแลรักษาและการฝึกหัดของคณะศิษยาภิบาลอย่างมาก

อาชีพของเธอในฐานะพยาบาล เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2394 (1851) เมื่อเธอรับการฝึกหัดในหน้าที่ศิษยาภิบาลของไคเซอร์เวิทอยู่ 4 เดือนในเยอรมนี เธอเข้ารับการฝึกหัด โดยขัดการคัดค้านของครอบครัวที่เป็นห่วงการเสี่ยงอันตรายและมุมมองจากสังคมต่อกิจกรรมนั้นและมูลนิธิของสถานพยาบาลในสังคมโรมันคาทอลิก ขณะอยู่ที่ไคเซอร์เวิท เธออ้างว่าได้รับประสบการณ์สำคัญและเข้มข้นอย่างมากในการอธิษฐาน

เมื่อ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2396 (1853) ไนติงเกล รับตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันพยาบาลสำหรับสุภาพสตรีที่เจ็บป่วย ในถนนฮาร์ลีย์เหนือ ที่ลอนดอน กระทั่ง พ.ศ. 2397 (1854) พ่อของเธอให้ค่าใช้จ่ายปีละ 500 £ (ประมาณ 50, 000 $ ในปัจจุบัน) ซึ่งทำให้เธอสามารถใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายพร้อมกับปฏิบัติหน้าที่ในอาชีพของเธอ เจมส์ โจเซฟ ซิลเวสเตอร์ (J. J. Sylvester) เป็นที่ปรึกษาของเธอ

ช่วงสงครามไครเมีย

แก้

ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล เป็นที่รู้จักจากผลงานการอุทิศตนระหว่าง สงครามไครเมีย ซึ่งเธอสนใจเมื่อได้ข่าว ซึ่งรายงานปฏิบัติการที่น่าหดหู่และขยะแขยงในการรักษาพยาบาลบาดแผล เริ่มรั่วไหลกลับสหราชอาณาจักร

เมื่อ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2397 (1854) ไนติงเกลพร้อมกับคณะนางพยาบาลอาสาสมัครหญิง 38 คนที่ได้รับการฝึกจากเธอ รวมถึงป้าของเธอ ไม สมิท (Mai Smith) ได้ไปยังแนวรบ ไครเมีย ประเทศตุรกี ที่ซึ่งฐานทัพหลักของ สหราชอาณาจักร ตั้งฐานอยู่ ห่างออกไป 545 กิโลเมตร ข้ามทะเลดำ จากบาลัคลาวา โดยการอนุญาตของ ซิดนีย์ เฮอร์เบิร์ท

ต้นพฤศจิกายน พ.ศ. 2397 (1854) เธอมาถึง ค่ายทหารเซลิมิเยอ (Selimiye Barracks) ในสคูตารี (Scutari) (ปัจจุบันคือ อิสตันบูล) เธอและคณะพยาบาลพบกับเหล่าทหารที่บาดเจ็บ ซึ่งได้รับการรักษาให้ดีจากคณะแพทย์ที่มีงานล้นมือ และเผชิญหน้ากับการขาดความสนใจจากทางการ ขาดแคลนยา ทำให้ได้รับยาไม่ต่อเนื่อง ขาดการดูแลความสะอาดสุขอนามัย การติดเชื้อ มากมายกลายเป็นเรื่องธรรมดา ทำให้ทหารจำนวนมากตาย ซ้ำยังขาดอุปกรณ์อาหารสำหรับคนไข้

เธอและผู้ร่วมอุดมการณ์เริ่มทำความสะอาดหน่วยพยาบาลและอุปกรณ์ทั้งหมดอย่างถี่ถ้วน และจัดระบบการรักษาดูแลคนไข้เสียใหม่ อย่างไรก็ตาม ช่วงที่เธออยู่ที่สคูตารี อัตราความตายก็ยังไม่หยุด แต่เพิ่งเริ่ม จำนวนผู้ตายอาจสูงที่สุดในบรรดาหน่วยพยาบาลอื่นในเขต ระหว่างฤดูหนาวแรกของเธอ มีทหาร 4077 คนตายที่สคูตารี ผู้ที่ตายจาก ไข้รากสาดใหญ่, ไข้รากสาดน้อย, อหิวาตกโรค และโรคบิด มีเป็น 10 เท่าของที่ตายจากบาดแผลในการรบ ไม่ใช่เกิดจากการจัดระเบียบใหม่ แต่เกิดจากสภาพแวดล้อมในหน่วยพยาบาลค่ายทหารชั่วคราว เป็นอันตรายเกินไปสำหรับคนไข้ เพราะจำนวนผู้บาดเจ็บแออัดเกินไป อีกทั้ง ข้อบกพร่องของท่อระบายน้ำ และขาดการระบายอากาศ รัฐบาลสหราชอาณาจักรเพิ่งส่งคณะกรรมการด้านสุขอนามัยมาถึงสคูตารีเมื่อ มีนาคม พ.ศ. 2398 (1855) ซึ่งก็เกือบ 6 เดือนหลังจากเธอมาถึง มีการปรับปรุงท่อระบายน้ำและระบบระบายอากาศ แล้วอัตราความตายก็ลดลงอย่างรวดเร็ว เธอยังดำเนินการด้านสุขอนามัยต่อไป โดยเชื่อว่า อัตราความตายสัมพันธ์กับโภชนาการที่ขาดแคลน และการหักโหมงานของทหาร อีกด้วย

แต่ยังไม่ใช่ในขณะนั้น กระทั่งหลังจากเธอกลับสหราชอาณาจักร และเริ่มรวบรวมหลักฐาน ซึ่งก่อนหน้าคณะกรรมการด้านสุขภาพของกองทัพเสียอีก โดยเธอเชื่อว่า ทหารส่วนมากที่หน่วยพยาบาลถูกฆ่าโดยสภาพการอยู่อาศัยที่ไม่เหมาะสม ประสบการณ์นี้ให้อิทธิพลทางความคิดในอาชีพของเธอในเวลาต่อมา เมื่อเธอส่งเสริมแนวคิดสภาพที่อาศัยที่ถูกสุขอนามัยเป็นเรื่องสำคัญ ผลก็คือ เธอลดอัตราการตายในช่วงสงบสำเร็จ และเปลี่ยนทัศนะการออกแบบด้านสุขอนามัยในสถานพยาบาลทั้งหลาย

กลับบ้าน

แก้

เมื่อ 7 สิงหาคม พ.ศ. (1857) ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล กลับสหราชอาณาจักรในฐานะวีรสตรี และได้เข้าเฝ้า พระนางเจ้าวิคตอเรีย แห่งสหราชอาณาจักร [7] อย่างไรก็ตาม เธอถูกรุมเร้าด้วยพิษไข้มาโดยตลอด เป็นไปได้มากว่าเกี่ยวกับอาการเรื้อรังของ บรุคเซลโลซิส (Brucellosis) หรือ "ไข้ไครเมีย" (chronic fatigue syndrome) ซึ่งเธอติดมาตั้งแต่ช่วงสงครามไครเมีย และอาจเป็นไปได้ว่าเกิดร่วมกับ กลุ่มอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง เธอจำต้องกันแม่และพี่สาวจากห้องของเธอ และนานๆ จึงจะออกจากห้องสักครั้ง เธอย้ายจากบ้านของครอบครัวในมิดเดิล เตลย์ดอน บัคกิงแฮมเชียร์ ไปอยู่ที่โรงแรมเบอร์ลิงตัน ในพิคคาดิลลี [8]

ช่วงท้าย

แก้

เธอพัฒนาแผนภาพ "โพลาแอเรีย ไดอะแกรม" ที่แสดงข้อมูลการเสียชีวิตที่มาจากสภาพหรือการปฏิบัติที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งเป็นการบุกเบิกด้าน สถิติศาสตร์ ทางการสาธารณสุข

ความสัมพันธ์กับคนรักและเพื่อน

แก้

ก่อนเข้าสู่วงการพยาบาล เธอเริ่มรู้จักและคบหากับ นักการเมือง และกวี ลอร์ดริชาร์ด มองค์ตัน ไมลเนส บารอน ฮอจห์ตันที่หนึ่ง (Richard Monckton Milnes) แต่เธอปฏิเสธการขอแต่งงานจากเขา เพราะเกรงว่าชีวิตแต่งงานจะขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพยาบาล แต่ตัวเธอเองก็ได้รับความกระทบกระเทือนใจ

ขณะปฏิบัติงานในโรม เธอฟื้นตัวจากการอาการป่วยทางจิต เมื่อ พ.ศ. 2390 (1847) โดยได้ นักการเมือง ลอร์ดซิดนีย์ เฮอร์เบิร์ต บารอนเฮอร์เบิร์ตที่หนึ่งแห่งลี (Sidney Herbert) เป็นเพื่อนคุย เขาและเธอถูกคอซึ่งกันและกัน และได้เป็นเพื่อนสนิทตลอดมา (เฮอร์เบิร์ตแต่งงานแล้ว)

เฮอร์เบิร์ตเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้เธอได้ปฏิบัติงานตามเจตนารมณ์ในพื้นที่พยาบาลของแนวรบในสงครามไครเมีย เพราะเขาเป็นเสนาธิการ ในช่วงนั้น และเธอเองก็เป็นที่ปรึกษาสำคัญแก่เขาในอาชีพทางการเมืองด้วยเช่นกัน

เมื่อ พ.ศ. 2394 (1851) ไมลเนสขอแต่งงานอีกครั้งโดยเข้าทางพ่อแม่ เธอปฏิเสธ ซึ่งค้านความปรารถนาของแม่เธอ

นอกจากนี้ ไนติงเกลมีความคุ้นเคยเหนียวแน่นกับ เบนจาเมน โจเวตต์ (Benjamin Jowett) โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่เธอกำลังพิจารณา แบ่งสรรเงินในมรดกของเธอ เพื่อก่อตั้งคณะกรรมการสถิติประยุกต์ ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด [9]

เสียงไนติงเกล

แก้

ชีวิตบั้นปลาย

แก้
 
หลุมศพของฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ในสุสานโบสถ์เซนต์มาร์กาเรต

13 สิงหาคม พ.ศ. 2453 (1910) ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ถึงแก่อสัญกรรมในห้องของเธอ ขณะอายุ 90 ปี ที่บ้านเลขที่ 10 เซาท์สตรีท ในปาร์คเลน ย่านที่อยู่ของผู้ดี

พิธีฝังศพถูกจัดใน อารามเวสต์มินสเตอร์ โดยมีเฉพาะคนใกล้ชิด แต่ไม่มีญาติของเธอมาร่วมงาน ศพถูกฝังใน สุสานโบสถ์เซนต์มาร์กาเรตที่เวลโลว์ตะวันตก แฮมเชียร์ [10] [11]

 
ภาพวาด ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ในขณะวัยรุ่น

อ้างอิง และเชิงอรรถ

แก้
  1. Strachey, Lytton (1918). Eminent Victorians. London: Chatto and Windus. p. 123.
  2. Swenson, Kristine (2005). Medical Women and Victorian Fiction. University of Missouri Press. p. 15. ISBN 978-0-8262-6431-2.
  3. Ralby, Aaron (2013). "The Crimean War 1853–1856". Atlas of Military History. Parragon. pp. 281. ISBN 978-1-4723-0963-1.
  4. พี่สาวของฟลอเรนซ์คือ พาร์เทนโนเป ก็ได้ชื่อจากสถานที่เกิดเช่นกัน ซึ่งเป็นชื่อของสถานที่ในเมืองเนเปิล
  5. วิลเลียม เดิมชื่อ วิลเลียม เอ็ดวาร์ด ชอร์ แต่แม่ของเขา (ยายของฟลอเรนซ์) แมรี (สกุลเดิม เอวาน) เป็นหลานคนหนึ่งของ ปีเตอร์ ไนติงเกล (น้าทวดของฟลอเรนซ์) ภายใต้เงื่อนไขการรับมรดก ที่ดิน ลี เฮิรสต์ ในเดอร์บีเชียร์ พ่อแม่ของฟลอเรนซ์จึงรับช่วงสกุลและตราประจำตระกูลของ ไนติงเกล ส่วนพ่อของฟาร์นีย์ (ตาของฟลอเรนซ์) คือ วิลเลียม สมิท นักลัทธินิยมล้มล้าง
  6. ไคเซอร์เวิท เป็นศูนย์กิจการสำหรับผู้ยากไร้ ซึ่งรวมสถานพยาบาล สถานอนุบาลเด็กเล็ก และศูนย์ฝึกอาชีพในที่เดียวกัน ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2376 (1833)
  7. BBC
  8. อาการไข้ของฟลอเรนซ์ ไนติงเกล . BMJ 1995;311:1697-1700
  9. Bibby, John. (1986) Notes towards a history of teaching statistics
  10. http://www.countryjoe.com/nightingale/wellow.htm
  11. http://www.nytimes.com/learning/general/onthisday/bday/0512.html

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้