พูนสวัสดิ์ มูลศาสตรสาทร
พูนสวัสดิ์ มูลศาสตรสาทร อดีตนักการเมืองชาวสุรินทร์ที่มีชื่อเสียง, อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม และอดีตนักมวยไทยชื่อดัง
พูนสวัสดิ์ มูลศาสตรสาทร | |
---|---|
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 11 ธันวาคม พ.ศ. 2482 อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 3 สิงหาคม พ.ศ. 2566 (83 ปี) อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ประเทศไทย |
ศาสนา | พุทธ |
คู่สมรส | ฉันทนา มูลศาสตรสาทร |
นายพูนสวัสดิ์ เกิดเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2482 ที่ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวนบุตรทั้งหมด 9 คน ของขุนมูลศาสตร์สาทร (พงษ์ มูลศาสตรสาทร) กับนางผกา มูลศาสตรสาทร และเป็นน้องชายแท้ ๆ ของนายพิศาล มูลศาสตรสาทร อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการในหลายกระทรวง
จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสุรวิทยาคาร นายพูนสวัสดิ์ได้ลงเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในเขตจังหวัดสุรินทร์หลายครั้งและได้รับการเลือกตั้งทั้งหมด 7 ครั้ง คือ ในปี พ.ศ. 2526, พ.ศ. 2529, พ.ศ. 2531, พ.ศ. 2535/1, พ.ศ. 2535/2 และพ.ศ. 2539 ในสังกัดพรรคการเมือง 3 พรรค คือ พรรคประชาธรรม, พรรคกิจสังคม และพรรคความหวังใหม่
มีตำแหน่งทางการเมืองเป็นผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ. 2526, เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ. 2529, ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ. 2531, ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2535 และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม สมัย พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2539[1][2]
แต่หลังจากปี พ.ศ. 2544 แล้ว เมื่อการเมืองได้เปลี่ยนสภาพไป นายพูนสวัสดิ์ก็มิได้รับการเลือกตั้งอีก โดยลงสมัครเป็นนายกเทศมนตรีเมืองสุรินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2555 ก็ไม่ได้รับการเลือกตั้ง จึงค่อย ๆ ลดบทบาททางการเมืองลงตามลำดับ โดยหันไปศึกษาด้านพุทธศาสนาระดับปริญญาโทแทน[3]
ด้านชีวิตครอบครัว นายพูนสวัสดิ์สมรสกับนางฉันทนา มูลศาสตรสาทร (นามสกุลเดิม: แก้วทับทิม) ทั้งคู่มีบุตรสาวด้วยกันทั้งหมดเพียงคนเดียว คือ นางสาวลดาวัลย์ มูลศาสตรสาทร อดีตนักแบดมินตันทีมชาติไทย ชีวิตส่วนตัว นายพูนสวัสดิ์เป็นบุคคลที่ชื่นชอบการกีฬาทุกชนิดมาตั้งแต่เด็ก ในวัยหนุ่มเคยเป็นนักมวยไทยชื่อดัง ในชื่อ ปราบธรณี เมืองสุรินทร์ ในสังกัดค่ายเมืองสุรินทร์ ของนายสนอง รักวานิช เป็นนักมวยหมัดหนัก จนได้รับฉายาว่า "หมัดผีพราย" แม้ว่าไม่เคยได้ตำแหน่งแชมป์ใด ๆ ก็ตาม จนกระทั่งมีตำแหน่งทางการเมืองก็เป็นที่ปรึกษาองค์การหรือสมาคมทางกีฬาต่าง ๆ [4]
วาระสุดท้าย ถึงแก่อนิจกรรมด้วยภาวะติดเชื้อรุนแรงในปอด ณ ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 12.01 น. สิริอายุ 83 ปี[5] ต่อมาวันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศแปดเหลี่ยม ฉัตรเบญจาตั้งประดับ ปี่ กลองชนะ ประโคมเวลาพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และมีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมเวลากลางคืน กำหนด 3 คืน ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าไตร 5 ไตรทอดถวายพระสงฆ์บังสุกุล แล้วพระราชทานเพลิงศพ ในวันพุธที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 16.30 น. ณ เมรุวัดชลประทานรังสฤษดิ์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2540 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[6]
- พ.ศ. 2539 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[7]
อ้างอิง
แก้- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๔๙ ราย)
- ↑ ประวัติย่อ นายพูนสวัสดิ์ มูลศาสตรสาทร
- ↑ 'พูนสวัสดิ์'หันหลังการเมืองซุ่มเรียนป.โทพุทธ โดย สำราญ สมพงษ์ ทางคมชัดลึก
- ↑ "หมัดผีพราย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-11-04. สืบค้นเมื่อ 2013-05-18.
- ↑ สิ้นยอดมวย หมัดผีพราย ปราบธรณี เมืองสุรินทร์ ตำนานนักสู้ชื่อดัง
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๔ ตอนที่ ๒๗ ข หน้า ๑, ๓ ธันวาคม ๒๕๔๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2014-04-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๓ ตอนที่ ๒๒ ข หน้า ๘, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๙