พูดคุย:การรับน้อง

การรับน้อง เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิกิการศึกษา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรวบรวมเรื่องราวทุกอย่างเกี่ยวกับการศึกษา ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในโครงการนี้ได้ด้วยการช่วยกันพัฒนาบทความ การรับน้อง หรือแวะไปที่หน้าโครงการเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม
 พอใช้  บทความนี้อยู่ที่ระดับพอใช้ ตามการจัดระดับการเขียนบทความ
การรับน้อง เป็นส่วนหนึ่งของ สถานีย่อย:สถาบันอุดมศึกษาไทย มีจุดมุ่งหมายที่จะรวบรวมเรื่องทุกอย่างเกี่ยวกับสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทย
ถ้าต้องการมีส่วนร่วมกับโครงการ สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยเข้าไปที่ โครงการวิกิสถานศึกษา และ หน้าสถานีสถาบันอุดมศึกษาไทย
 พอใช้  บทความนี้อยู่ที่ระดับพอใช้ ตามการจัดระดับการเขียนบทความ

ชื่อบทความ แก้

ตอนนี้ผมใช้ รับน้อง เป็นหัวเรื่องหลักไปก่อน โดยให้ กิจกรรมต้อนรับน้องใหม่ redirect มา แต่เปลี่ยนได้นะครับ ท่านอื่น ๆ เห็นว่าอย่างไรครับ --- Jittat 09:00, 18 มิ.ย. 2005 (UTC)

อืม ผมยังไม่ค่อยเข้าใจว่าการใช้ชื่อใดเป็นชื่อหัวข้อหลักจะมีความแตกต่างกันและมีผลกระทบอย่างไรบ้างครับ? -- จุง 11:49, 18 มิ.ย. 2005 (UTC)
ในความคิดผมนะ ในกรณีของคำอื่น ๆ ผมคิดว่าสำหรับการค้นหาคงไม่แตกต่าง เพราะว่า redirect มันก็ไปเจออยู่แล้ว แต่พอค้นหาเจอ มันจะไปพบว่าเราอาจใช้่คำอื่น ซึ่งเป็นคำที่เราเลือกมาเป็นหัวข้อ มันก็เหมือนกับว่าเป็นคำที่เราเลือกมาเป็นมาตรฐานมากกว่า (และเพราะว่าเราไม่ชอบ double redirection นะ ผมว่า ก็เลยทำให้หน้าอื่น ๆ ก็ต้องเรียกตามนี้ไปด้วย) ทีนี้ก็เลยทำให้เราต้องเลือกดี ๆ หน่อย --- Jittat 14:40, 18 มิ.ย. 2005 (UTC)
อืม เข้าใจแล้วครับ จุง 14:45, 18 มิ.ย. 2005 (UTC)

ผมว่า รับน้อง น่าจะ้เข้าใจง่ายกว่ัีาครับ แพร่หลายกว่า - bact' 12:28, 18 มิ.ย. 2005 (UTC)

ชื่อของนายโชคชัย แก้

ผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผมไม่คิดว่าการตัดชื่อมหาวิทยาลัยออกไป จะเป็นเรื่องดี และการที่มีชื่อมหาวิทยาลัยอยู่ ใช่ว่าเป็นเรื่องไม่ดีนะครับ   เราเขียนบทความด้วยความเป็นกลาง ใส่ข้อเท็จจริง   แน่นอนว่าเราไม่มีทางทราบเหตุผลที่แท้จริงว่าทำไมนายโชคชัยฆ่าตัวตายได้ แต่การกระทำของเขาก่อให้เกิดความสนใจในประเด็นดังกล่าว และช่วยทำให้เกิดการปฏิวัติรูปแบบการรับน้องใหม่ ซึ่งเป็นประโยชน์กับคนหมู่มาก   ผมคิดว่าอย่างน้อยเราจำเป็นต้องเก็บชื่อของเขาไว้ในวิกิพีเดียนะครับ --- Jittat 02:11, 21 มิ.ย. 2005 (UTC)

"แน่นอนว่าเราไม่มีทางทราบเหตุผลที่แท้จริงว่าทำไมนายโชคชัยฆ่าตัวตายได้" และแน่นอนว่าเราไม่ทราบว่าเป็นเพราะ รับน้อง หรือเปล่านะครับ --Manop 07:55, 3 ตุลาคม 2005 (UTC)

ผมว่าเราควรจะช่วยกันลงความเห็นจะดีกว่าครับว่าจะเอาชื่อนายโชคชัยไว้หรือไม่ (หรือจะเก็บเอาไว้ที่หน้าพูดคุย) โดยแต่ละฝ่ายก็เสนอว่าข้อดีและข้อเสียของการเอาชื่อไว้ เป็นอย่างไร การแก้บทความของอีกฝ่าย โดยไม่ถามความเห็น ไปมา อย่างนี้จะทำให้เกิด สงครามการแก้ (edit war) เปล่า ๆ -- จุง 09:37, 3 ตุลาคม 2005 (UTC)

ในตอนนี้ ผมขอนำข้อความที่ถูกตัดมาไว้ในหน้าพูดคุยก่อน -- Jung (ไม่ได้ login)

ข้อความที่ถูกตัดออกจากบทความ แก้

ในต้นปีการศึกษา 2548 การรับน้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ายังมีกิจกรรมที่ป่าเถื่อนและรุนแรง ประเด็นที่ทำให้เกิดการถกเถียงอย่างกว้างขวางคือการฆ่าตัวตาย ของนายโชคชัย รุ่งเรืองศรีศักดิ์ นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โดยทางครอบครัวนายโชคชัยได้ให้เหตุผลว่าเกิดจากความเครียดจากการรับน้อง ในขณะที่มหาวิทยาลัยกล่าวว่าเกิดจากสาเหตุอื่น ประเด็นดังกล่าวทำให้สกอ. สั่งยกเลิกกิจกรรมรับน้องทั้งหมดในทุก ๆ สถาบันการศึกษาในปีการศึกษานี้ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวก่อให้เกิดกระแสทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

การเปลี่ยนแปลงเชิงอรรถ "งานต้อนรับนิสสิตใหม่ครั้งแรก" แก้

หลังจากผู้เขียนได้ค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมจากเอกสารประวัติศาสตร์ต่างๆ ของศิริราช ร่วมกับคำแนะนำของศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์ สรรใจ แสงวิเชียร เห็นว่าเชิงอรรถหลายข้อมีข้อมูลไม่ครบถ้วน จึงขออนุญาตลบข้อมูลบางข้อออกไปก่อนเพื่อทำการปรับปรุงแก้ไข เมื่อแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลเรียบร้อยแล้วจะนำกลับมาเผยแพร่อีกครั้ง --ข้อความนี้ไม่ได้ลงชื่อ ซึ่งออกความเห็นโดยผู้ใช้ รัตนาดิศร (พูดคุยหน้าที่เขียน) 13:18, 8 ตุลาคม 2551 (ICT)

ย้านส่วนรับน้องศิริราช แก้

รู้สึก ไม่สัมพันธ์กับบทความ และรูปแบบการเขียนไม่เป็นสารานุกรม เลยขอย้ายมาไว้ที่นี่ก่อน --Sry85 20:44, 8 ตุลาคม 2551 (ICT)

งานต้อนรับนิสสิตใหม่ครั้งแรก แก้

ต้นฉบับโดย ศาสตราจารย์นายแพทย์ อวย เกตุสิงห์[1]

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน สารศิริราช ปีที่ ๓ ฉบับวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๔

เรียบเรียงเชิงอรรถโดย อดิศร รัตนโยธา[2]

ในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลระหว่างคณะแพทยศาสตร์กับคณะวิทยาศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[3] เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ ได้มีเหตุการณ์ที่ไม่งามเกิดขึ้น คือ แบ็คฝีเท้าเยี่ยมของคณะแพทย์ฯ ได้ถูกผู้เล่นในทีมตรงข้ามวิ่งเข้าต่อยเอาอย่างดื้อๆ เป็นการกระทำซึ่งทางสโมสรสาขาศิริราชสืบทราบว่าได้มีการตระเตรียมวางแผนการไว้ก่อนแล้วจึงได้ส่งหลักฐานฟ้องร้องไปทางสโมสรกลาง เรียกร้องอย่างแข็งขันให้จัดการลงโทษแก่ผู้กระทำผิดนั้น ได้มีการพิจารณาและไต่สวนกันหลายครั้ง นับเป็นเหตุการณ์ใหญ่ประจำปี แต่ในที่สุดบรรยเวกษ์[4] ก็ได้อะลุ่มอล่วยให้เลิกแล้วกันไป นิสสิตแพทย์ส่วนมากไม่พอใจในการตัดสินนั้น เพราะรู้สึกว่าตัวถูกเหยียดหยาม และข้อที่ทำให้เดือดแค้นยิ่งขึ้นกว่าธรรมดาก็คือ ผู้ที่ลงมือต่อยนั้นเป็นนิสสิตเตรียมแพทย์[5] ซึ่งในปีต่อไปก็จะต้องข้ามฟากมาเรียนที่ศิริราชนี่เอง ได้มีเสียงหมายมั่นจะแก้มือด้วยประการต่างๆ ซึ่งไม่ต้องสงสัยว่าจะต้องรู้ไปถึงหูพวกที่เป็นต้นเหตุนั้น แต่ครั้นใกล้เวลาที่พวกใหม่จะต้องมาเรียนที่ศิริราช คณะกรรมการสโมสรสาขาศิริราชก็ได้คิดเห็นกันว่า หากจะแก้แค้นดังที่คิดๆ กันไว้นั้นจะได้ผลร้ายมากกว่าดี เพราะจะทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่คณะ เป็นการทำลายความสามัคคี ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกแพทย์เทอดทูนยิ่งกว่าใดๆ ดังนั้นชาวศิริราชจึงได้ตกลงเลือกทางกุศล เอาความดีเข้าหักความไม่ดี และปฤกษากันตกลงที่จะทำความประหลาดใจอย่างยิ่งยวดให้แก่พวกใหม่ซึ่งกำลังกระสับกระส่ายด้วยความร้อนตัว คือ แทนที่จะเกณฑ์ให้ลงกราบขอขมาเรื่อยเข้ามาตั้งแต่ท่าโป๊ะแล้วจับตัวโยนลงน้ำ กลับจะจัดการเลี้ยงต้อนรับเป็นการแสดงการให้อภัยและเชื่อมความสามัคคีไปด้วยพร้อมกัน นั่นคือต้นเหตุดั้งเดิมของงานต้อนรับนิสสิตใหม่ ซึ่งเท่าที่ทราบดูเหมือนจะเป็นครั้งแรกในประเทศไทย[6]

ไม่ต้องสงสัยว่า การปฏิบัตินั้นได้ผลดีอย่างยิ่งยวด และดีกว่าการแก้แค้นซึ่งได้คิดกันไว้แต่เดิมอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้ การต้อนรับนั้นไม่เพียงแต่ป้องกันความร้าวฉานในหมู่ชาวศิริราชเท่านั้น แต่ได้ทำให้พวกใหม่ซึ่งกระด้างกระเดื่องอยู่แต่เดิมนั้น ต้องยอมรับนับถือในความเป็นผู้ใหญ่ สามารถระงับโกรธและให้อภัยแก่ความผิดอย่างเด็กๆ ที่ไร้สติเสียได้ เป็นความปลาบปลื้มใจของผู้จัดงานครั้งนั้นที่ได้เห็นพิธียกโทษกลายมาเป็นประเพณีประจำคณะแพทยศาสตร์ และได้ขยายวงกว้างออกไปยังหมู่อื่นๆ อีกด้วย เป็นประเพณีซึ่งควรจะรักษาไว้ โดยหลักการที่ช่วยส่งเสริมความสามัคคีและความสนิทสนมในระหว่างนิสสิตใหม่กับนิสสิตเดิม[7]

อย่างไรก็ดี ความเจริญมีมากขึ้นตามจำนวนปีที่ผ่านไป การต้องรับนิสสิตใหม่ได้แปรรูปตามไปด้วย ในที่อื่นงานนี้ได้กลายเป็นโอกาสสำหรับโอ่อ่าและประกวดประขันกันต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของเรา แต่สำหรับศิริราชงานนี้ได้เปลี่ยนรูปไปมากๆ ทั้งๆ ที่อยู่ในขั้นสงบเสงี่ยมมากกว่าที่อื่น ในฐานที่ชาวศิริราชรักษาประเพณีของหมู่คณะ จึงเห็นสมควรที่จะเล่าพิธีต้อนรับครั้ง “แบบฉบับ” อย่างสั้นๆ

สถานที่ต้องรับที่กำหนดไว้คือหอพักนิสสิตแพทย์[8] ที่เพิ่งเปิดใช้ได้ปีเศษๆ และมีห้องกลางกว้างขวางพอสำหรับนิสสิตแพทย์ทั้งคณะในสมัยนั้น ซึ่งรวมกันแล้วประมาณเก้าสิบคนเท่านั้น ทางศิริราชได้ส่งผู้แทนไปติดต่อนัดแนะพวกใหม่ให้มาพร้อมกันที่ท่าพระจันทร์[9] (ท่าตรงถนนพระจันทร์) ในวันก่อนเปิดภาคเรียน (เท่าที่จำได้ ถ้าไม่ใช่วันนี้ก็เป็นวันแรกของภาคต้น) เวลาประมาณ ๑๗ น. เมื่อถึงกำหนด ผู้แทนของศิริราชก็ลงเรือจ้างสองหรือสามลำ (สมันนั้นยังไม่มีเรือยนต์ข้ามฟาก) ถือธงเขียวมีภาพคบเพลิงข้ามฟากไปรับ ผู้แทนของชาวศิริราชทุกคนแต่งขาว[10] ใส่หมวกแก็ปเขียวสลับชมพู (เหลือมาจากงานแข่งขันกีฬา) ผู้หญิงนุ่งผ้าเขียว สวมเสื้อขาว ใส่หมวกหนีบสีเขียวสลับชมพูเหมือนกัน ผู้มาใหม่แต่งตัวทำนองเดียวกันแต่ไม่มีหมวก ส่วนใหญ่ของพวกศิริราชคอยอยู่ที่ท่าโป๊ะ พอพวกใหม่มาถึงพวกเก่าก็ช่วยจับเรือบ้าง ดึงมือขึ้นจากเรือบ้าง[11] ทำตัวเป็นพี่ชายพี่สาวเต็มที่ ทุกคนยินดีปรีดา หน้าแดงด้วยความปลาบปลื้ม พวกใหม่ก็ปลาบปลื้มที่ได้รับอภัย มิหนำยังได้รับความเอื้ออารีอย่างไม่ได้นึกฝัน พวกเก่าก็ปลาบปลื้มในความรู้สึกว่าตนได้ประกอบกรรมดีตอบแทนกรรมไม่ดี และพากพูมที่จะดูหน้าพวกใหม่ได้เต็มตาอย่างพี่มองดูน้อง เมื่อขึ้นพร้อมกันแล้วก็เข้าแถว พวกเก่าพวกใหม่เดินเคียงคู่กัน ร้องเพลงกีฬา[12] เดินตามทางขรุขระคดเคี้ยว ผ่านห้องโกโรโกโสหน้าโรงพยาบาลไปยังหอพัก ที่นั่นมีคุณหมอแดง กาญจนารัณย์[13] เป็นผู้อนุสาสก แพทย์ประจำบ้าน อาจารย์หลายท่าน และกรรมการสโมสรสาขาศิริราชคอยต้อนรับอยู่หน้าบันได พอโผล่เข้าประตูหอ เสียงร้องเพลงก็ยิ่งดังขึ้นหลายเท่า ห้องกลางที่ใช้ประชุมนั้นเต็มแล้วก็กระจายกันออกมาที่เฉลียงและที่ห้องโถงหน้าบันได พิธีต้อนรับเริ่มด้วยอนุสาสกให้โอวาท ครั้นแล้วนายกสโมสรก็ได้พูดชี้แจงเหตุผลของการจัดต้อนรับให้พวกมาใหม่ได้ทราบ และในที่สุดเลขานุการสโมสรสาขาศิริราชซึ่งเป็นทนายว่าต่างคณะฯ ในระหว่างการฟ้องร้องกัน ก็ได้กล่าวคำให้อภัยอโหสิแก่ผู้ที่ได้พลาดพลั้งไปด้วยความไร้สตินั้น ต่อจากนั้นมีการแจกหมวก แนะนำตัวและวิสาสะกันอย่างใกล้ชิด ตัวการต้นเหตุวิวาทดูเหมือนจะเป็นคนสำคัญในวันนั้นเพราะมีคนเอาใจใส่มาก โดยที่ใครๆ ก็อยากจะแสดงออกว่าได้ให้อภัยแล้ว

ส่วนสำคัญในงานนั้นคือการเลี้ยงอาหาร ทางสโมสรฯ ได้ขอความช่วยเหลือโรงครัวให้จัดอาหาร “ข้าวหม้อแกงหม้อ” ให้โดยเรี่ยรายเงินจากสมาชิกคนละห้าสิบสตางค์ นับว่าเป็นการเลี้ยงใหญ่มาก ทางโรงครัวยังได้เอื้อเฟื้อทำยำอะไรอย่างหนึ่งแถมให้อีกด้วย เครื่องดื่มสำหรับทั่วไปคือ น้ำประปา สมัยนั้นนิสสิตแพทย์ดื่มเหล้าเฉพาะผู้ที่นำหน้าทางสังคมเท่านั้น ซึ่งนับตัวได้ เครื่องดื่มเข้าแอลกอฮอลมีเฉพาะสำหรับหมอ ความสนุกสนานคือการซักถามและยั่วเย้ากันบ้าง คุยกันอย่างถูกอกถูกใจบ้าง ไม่มีการแสดง ไม่มีการบังคับดื่มเหล้า พอกินข้าวเสร็จคุยกันสักพักหนึ่งแล้วก็แยกกันกลับ เป็นอันเสร็จพิธี “ต้อนรับนิสสิตใหม่” ครั้งดั้งเดิม

ด้วยความพอใจในผลงาน ในปีต่อมาก็ได้มีการจัดขึ้นอีก คราวนี้ขยายวงออกมาที่สนามเล็กหน้าหอด้านท่าน้ำ (สนามใหญ่ยังไม่มี) มีการเลี้ยงโต๊ะ และให้ลุกขึ้นยืนแนะนำตัวเองด้วย ต่อมางานก็ได้ขยายขึ้นทุกทีๆ จนกลายเป็นงานใหญ่ออกไปจนถึงเชิญนักเรียนเก่าทุกๆ สมัยรวมทั้งรัฐมนตรีต่างๆ[14] นับว่างานได้แปรรูปจากงานภายในซึ่งจัดขึ้นสำหรับกันเอง สนุกกันในระหว่างพี่น้องที่เข้ามาอยู่ร่วมบ้านกัน เป็นงานสำหรับใครๆ ทั่วไปหมด แปรจากงานที่ประกอบขึ้นด้วยความสมัครและน้ำใสใจจริง ศรัทธา เป็นงานกะเกณฑ์ เป็นงานแสดงโอ่อวด แปรจาก “ข้าวหม้อแกงหม้อ” เป็นอาหารจีนหรือบุฟเฟต์ พิธีแนะนำตัวก็กลายเป็นพิธีดื่มเหล้าหรือแม้กรอกเหล้า ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มจากคนละห้าสิบสตางค์เป็นสิบๆ บาท งานซึ่งควรจะเป็นพิธีดูดดื่มจูงใจก็แปรเป็นงานซึ่งหลายคนส่ายหน้าไม่เห็นด้วย เพราะความไม่เหมาะสมต่างๆ

การเสนอเรื่องนี้มุ่งหมายที่จะให้รุ่นน้องๆ ได้ทราบประวัติว่า งานต้อนรับนิสสิตใหม่ของศิริราชนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร เดิมเขาทำกันอย่างไร มีจุดมุ่งหมายประการใด การขยายและส่งเสริมโดยไม่ได้ยึดจุดสำคัญอาจทำให้ไขว้เขวและความเสื่อมนิยมเกิดขึ้น ในตอนหลังๆ นี้มีการบ่นกันว่า ผู้ใหญ่ๆ ไม่ค่อยร่วมงานรับนิสสิตใหม่ บางทีความไม่เหมาะสมบางอย่างอาจขัดขวางไว้ก็ได้ สมัยนี้เงินเฟ้อ แต่นิสสิตแพทย์ไม่มีรายได้เป็นของตนเองไม่น่าจะเฟ้อตามไปด้วย น่าจะประหยัดยิ่งขึ้น เพื่อช่วยพ่อแม่ช่วยบ้านเมือง นักเรียนแพทยที่ศิริราชมีเกือบหกร้อยคน ถ้าจะเรี่ยรายคนละยี่สิบถึงสี่สิบบาท ได้เงินรวมตั้งหลายหมื่นบาท จะฉลองเสียหมดภายในวันเดียวก็น่าเสียดายมาก อาจมีคนอยากช่วยเงิน แต่น่าจะช่วยในงานอื่นที่ถาวรมากกว่างานสองสามชั่วโมงนี้ นักเรียนแพทย์ที่ยากจนมีมากคน ถ้าเอาเงินตั้งหมื่นๆ นี้ไปแจกหรือตั้งเป็นทุนอุดหนุน แทนที่จะเปลี่ยนเป็นเหล้าหรือข้าวหมดในประเดี๋ยวเดียว บางทีจะมีส่วนช่วยให้คนเห็นดีเห็นชอบกับงานนี้มากขึ้น และคงจะได้ “ผลทางใจ” สำหรับผู้มาร่วมงานมากกว่าความสนุกสนานทางกายชั่วครู่

ในที่สุดหวังว่าคงไม่มีผู้ใดเข้าใจผิดว่าบทความเรื่องนี้เป็นเรื่องค้าน ไม่อยากให้มีการจัดงานต้อนรับนิสสิตใหม่ บทความนี้สนับสนุนการมีงาน แต่อยากเห็นงานซึ่งจัดขึ้นอย่างสมเหตุสมผล ถูกกาลเทศะ อยู่ในขอบเขตต์แห่งความพอสมควร ซึ่งเหมาะสมสำหรับงานของนิสสิตผู้ศึกษาในวิชาของเหตุผล และอาจเรียกร้องความนิยมได้จากรอบด้าน ไหนๆ นิสสิตแพทย์ก็ถือรักษาประเพณีมั่นคงมานานแล้ว ควรจะรักษาให้ดีอยู่หรือดีขึ้น ไม่ควรรักษาให้เสื่อมลง

เลขาฯ สโมสรศิริราช ๒๔๗๕ --ข้อความนี้ไม่ได้ลงชื่อ ซึ่งออกความเห็นโดยผู้ใช้ Sry85 (พูดคุยหน้าที่เขียน) 13:44, 8 ตุลาคม 2551 (ICT)

ขอยกข้อความ "งานต้อนรับนิสิตใหม่ครั้งแรก" กลับคืน แก้

ในเบื้องต้น เมื่ออ่านข้อความในส่วน "งานต้อนรับนิสิตใหม่ครั้งแรก" อาจเข้าใจว่าเป็นเรื่องเฉพาะคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย (ปัจจุบัน คือ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาิวิยาลัยมหิดล) จึงดูไม่สัมพันธ์กับบทความ "การรับน้อง" อีกทั้งรูปแบบการเขียนนั้นก็เป็นเพียงบันทึก ไม่ใช่รูปแบบสารคดีอย่างที่ควรจะเป็น จึงอาจไม่เหมาะสมที่จะนำลงวิกิพีเดีย แต่หากพิจารณาให้ดีแล้วจะพบว่า บทความ "งานต้อนรับนิสิตใหม่ครั้งแรก" ของ ศ.นพ. อวย เกตุสิงห์ นับเป็นหลักฐานลายลักษณ์อักษรที่สำคัญอย่างยิ่งในการสืบค้นประวัติการรับน้องในประเทศไทย เพราะเหตุการณ์ที่ ศ.นพ. อวย ได้กล่าวไว้นั้น แสดงมูลเหตุของการจัดงานต้อนรับนิสิตซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย (หรือที่ถูกต้องคือ เป็นครั้งแรกในประเทศสยาม) บรรยายถึงรูปแบบพิธีการและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระยะต่อมา บ่งบอกถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงของประเพณีรับน้องอันดีงาม สมควรเผยแพร่ให้รับรู้และระลึกไว้เป็นอย่างดี

การรับน้องในปัจจุบัน, นอกจากศิริราชที่ซึ่งยังคงรูปแบบเดิมเอาไว้ได้ครบถ้วนแล้ว, ในสถาบันอื่นๆ กับนับว่าเปลี่ยนแปลงไปมาก แม้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งรับรูปแบบประเพณีเดิมจากศิริราช ก็ยังแตกต่างในรายละเอียดปลีกย่อยหลายประการ ยิ่งไม่ต้องกล่าวถึงบางสถาบันที่จัดการรับน้องด้วยวิธีการวิตถารต่างๆ นานา จนผิดวัตถุประสงค์เดิมของการรับน้องไป ดังนั้น การนำข้อมูลพร้อมเหตุผลการรับน้องครั้งแรกมาเผยแพร่จึงเป็นสิ่งสมควรอย่างยิ่ง เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจความหมายที่แท้ของการรับน้อง ไม่เข้าใจสิ่งดีให้ผิดไปตามสมัยนิยม และแก้ไขความไม่เข้าใจนั้นให้กลับคืนสู่หนทางที่ถูกต้องอีกครั้ง

ในการยกข้อความกลับคืนครั้งนี้ ขอแก้ไขหัวเรื่องเป็น "งานต้อนรับนิสิตใหม่ครั้งแรกในประเทศไทย" เพื่อป้องกันความเข้าใจผิด --ความเห็นที่มิได้ลงชื่อโดย 202.28.181.200 (พูดคุย | ตรวจ) 04:21, 23 ตุลาคม 2551 (ICT)

ไม่เป็นสากล และไม่ครอบคลุมทั้งประเทศไทย แก้

อ้างอิง แก้

  1. ศาสตราจารย์นายแพทย์ อวย เกตุสิงห์ แพทย์ปริญญาบัตร รุ่นที่ ๔ เป็นอาจารย์แผนกสรีรวิทยา ต่อมาเป็นหัวหน้าแผนกสรีรวิทยาซึ่งในสมัยนั้นสอนควบทั้งวิชาสรีรวิทยา ชีวเคมีและเภสัชวิทยา เมื่อแยกแผนกทั้งสามออกเป็นเอกเทศ ท่านได้รับตำแหน่งหัวหน้าแผนกเภสัชวิทยาคนแรก และเป็นคณบดีคนแรกของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ นอกจากนี้ ท่านยังเป็นรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ ตลอดจนได้ดำรงตำแหน่งสำคัญอีกหลายตำแหน่ง
  2. อดิศร รัตนโยธา นักศึกษาแพทย์ศิริราช รุ่น ๑๑๕ กรรมการฝ่ายศิลปวัฒนธรรม สโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช ปีการศึกษา ๒๕๕๑
  3. คณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในที่นี้ คือ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลในปัจจุบัน ซึ่งในอดีตได้รับการผนวกเข้าเป็นหนึ่งในสี่คณะแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงใช้คำสรรพนามเรียกแทนตัวว่า “นิสสิต” หรือ “นิสิต” ก่อนจะย้ายมาสังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดลตามลำดับ ส่วนคณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปัจจุบัน โอนย้ายมาจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในสังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
  4. บรรยเวกษ์ (บัน-ยะ-เวก) หมายถึง ผู้ดูแลทั่วไป เป็นตำแหน่งหนึ่งในมหาวิทยาลัย บรรยเวกษ์ของจุฬาลงกรณ์ในขณะนั้น คือ หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ (พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์)
  5. ก่อนที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจะโอนย้ายมาสังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล นิสิตแพทย์ศิริราชจะต้องเรียนชั้นเตรียมแพทยศาสตร์ที่คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเวลา ๒ ปี แล้วจึงข้ามฟากมาเรียนที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อมีการสถาปนามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยมหิดลในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ จึงได้ยกเลิกการรับนิสิตเตรียมแพทยศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังนั้น นับแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ นิสิตแพทย์ศิริราชจึงมีแต่ผู้ที่เรียนเตรียมแพทย์จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเท่านั้น นับเป็นการสิ้นสุดความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ จนถึง พ.ศ. ๒๕๑๒ รวมระยะเวลา ๕๒ ปี
  6. ประเพณีต้อนรับนิสิตใหม่ครั้งแรกนี้ จัดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๕
  7. เท่าที่อ้างถึงในปัจจุบันว่า ประเพณีต้อนรับนิสิตใหม่จัดขึ้นครั้งแรกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น ควรจะกล่าวเสริมด้วยว่าเริ่มต้นที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ก่อนจะเริ่มมีขึ้นในคณะอื่นขยายออกไป เพราะในขณะนั้นคณะแพทย์ศิริราชฯ ยังสังกัดอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  8. หอพักนิสสิตแพทย์ (หอชาย ๑) สร้างขึ้นบนพื้นที่พระราชทานจากสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร เปิดใช้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๑ และรื้อไปเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ เพื่อสร้างหอมหิตลาคาร สมเด็จพระราชปิตุจฉาขึ้นแทน
  9. เมื่อมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ และย้ายการเรียนการสอนจากตึกโรงเรียนกฎหมาย บนถนนราชดำเนิน เชิงสะพานผ่านพิภพลีลามายังบริเวณวังหน้า ท่าพระจันทร์ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นที่บริเวณท่าพระจันทร์เป็นอันมาก มีครอบครัวย้ายเข้าจับจองพื้นที่ก่อสร้างบ้านเรือนกันอย่างคับคั่ง จนกลายเป็นแหล่งชุมชนที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพในอีกหลายปีถัดมา จึงไม่สามารถนัดรวมนิสิตเตรียมแพทย์ที่ท่าพระจันทร์ได้ดังเดิม ปัจจุบัน จึงได้ย้ายสถานที่นัดรวมพลจากท่าพระจันทร์มายังท่ามหาราชแทน
  10. เครื่องแบบพิธีการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  11. ปัจจุบัน ผู้ดึงมือนักศึกษาแพทย์ที่ข้ามฟากมาใหม่ คือ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
  12. ประเพณีเชียร์กีฬาเกิดขึ้นครั้งแรกในรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากการแข่งขันกีฬาภายในเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๓ อาจารย์หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ได้แนะนำให้นิสิตแพทย์แต่งเขียวและนำเพลงเชียร์ Hail, Hail, The Gang’s All Here มาสอนให้ร้องในวันแข่งขัน โดยท่านเป็นผู้นำเชียร์เอง ปัจจุบัน เพลง Hail, Hail, The Gang’s All Here ถือเป็นเพลงสำคัญประจำคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
  13. ศาสตราจารย์นายแพทย์ แดง กาญจนารัณย์ แพทย์ประกาศนียบัตรรุ่นสุดท้าย ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ เป็นแพทย์ประจำบ้านแผนกตา หู คอ จมูก ท่านแรกของศิริราช และเป็นหัวหน้าแผนกจักษุ โสต นาสิก ลาริงซ์ ท่านแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘
  14. ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ซึ่งเป็นพิธีข้ามฟากของนิสิตแพทย์ศิริราช รุ่น ๗๘ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จยังโรงพยาบาลศิริราชเพื่อเข้าร่วมพิธีในครั้งนั้นด้วย ยังความปลาบปลื้มแก่นิสิตแพทย์ศิริราช รุ่น ๗๘ ตลอดจนแพทย์ศิริราชทุกรุ่นเป็นอย่างยิ่ง

การรับน้องในมหาวิทยาลัยไทย แก้

ในมหาวิทยาลัย การรับน้องจะเน้นเพื่อให้รุ่นพี่และรุ่นน้องได้ทำความรู้จักกัน ซึ่งรวมถึงกิจกรรมต่างๆ เช่น การเข้าห้องเชียร์หรือการฝึกร้องเพลงของคณะร่วมกัน การพักแรมต่างจังหวัด และหลายๆครั้งจะรวมถึงการดื่มสุราด้วยกันระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้อง นอกจากนี้ในแต่ละมหาวิทยาลัย การรับน้องจะมีแบ่งแยกแตกต่างกันไป เช่น

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แก้

รับน้องก้าวใหม่ กิจกรรมการรับน้อง 3 วัน 2 คืน ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดขึ้นในช่วงก่อนเปิดภาคการศึกษาต้น (เทอมแรกของปีการศึกษานั้นๆ) เป็นกิจกรรมรับน้องรวมทุกคณะ ทุกสำนัก ทุกสาขาของมหาวิทยาลัย จัดขึ้นเพื่อรุ่นน้องที่สนใจกิจกรรมรับน้องที่เรียกว่า "ก้าวใหม่" นี้ทุกคน โดยมีการให้น้องใหม่จับฉลาก หรือใช้การสุ่มแบบต่างๆ เพื่อที่จะคละน้องใหม่ให้เป็นกลุ่มต่างๆ เข้าสู่กลุ่มที่เรียกว่า "บ้าน" โดยในแต่ละบ้านจะมีรุ่นพี่จากแต่ละคณะมารวมกันจัดกิจกรรม ให้การดูแล และให้ความช่วยเหลือ ภายหลังจากการแยกบ้าน รุ่นพี่และรุ่นน้องจะทำความรู้จักกัน ทำกิจกรรมรวมกัน ร่วมใจกันเป็นหนึ่งเดียวโดยไม่แยกคณะ ไม่แยกที่มา กิจกรรมหลักจะเป็นการ ร้องเพลง เต้นรำ ภายในบ้าน และการแข่งขันกันระหว่างบ้าน หรือระหว่างเมือง (ถ้ามี) เมื่อจบกิจกรรมรับน้องก้าวใหมแล้ว่ รุ่นพี่จะมัดสายสิญจ์ไว้ที่ข้อมือของรุ่นน้องแต่ละคน

มหาวิทยาลัยมหิดล แก้

กิจกรรมรับน้องจะจัดขึ้นในช่วงก่อนเปิดเทอม กิจกรรมมีระยะเวลาประมาณ 2 วัน 2 คืน โดยวันแรกจะเป็นพิธีปฐมนิเทศให้กับนักศึกษาใหม่ที่อาคารเอนกประสงค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์ศาลายา ซึ่งอธิการบดีจะกล่าวต้อนรับนักศึกษา จากนั้นนักศึกษาใหม่จะถูกแบ่งกลุ่มแบบสุ่มให้ไปอยู่ตามกลุ่มรับน้องต่างๆ (ซึ่งมีประมาณเกือบ 40 กลุ่ม) กิจกรรมที่สำคัญๆ ในช่วงของการรับน้องก็เช่นเดินไปตามฐานต่างๆ ซึ่งภายในฐานก็จะมีเกมให้เล่นแตกต่างกันไป สันทนาการหมู่ การแข่งขันสันทนาการประชันกันระหว่างกลุ่ม เป็นต้น ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ไม่มีกำหนดการแน่นอนตายตัว และเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาในการจัดกิจกรรมไปทุกปี แต่กิจกรรมที่เป็นประเพณีและถูกจัดให้อยู่ในช่วงเช้าของวันที่ 2 ก็คือการเดินจากมหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์ศาลายา ไปไหว้พระและถวายสังฆทานที่พุทธมณฑล แล้วในคืนสุดท้ายก็จะมีคอนเสริ์ตโดยศิลปินชื่อดัง เช่น นภ พรชำนิ มีการเล่นงานวัด และปิดท้ายด้วยการแสดงดนตรีจากกลุ่มสลึง จากนั้นแต่ละกลุ่มก็จะพาน้องใหม่ไปยังสถานที่ที่แต่ละกลุ่มได้จับจองพื้นที่กันเอาไว้ทั่ววิทยาเขตศาลายา และนำน้องใหม่ทั้งหมดสันทนาการกันทั้งคืน จนถึงรุ่งเช้าก็เป็นอันเสร็จสิ้นกิจกรรมรับน้อง โดยทั่วไปแล้ว หลังจากผ่านกิจกรรมสันทนาการมาทั้งคืน วันรุ่งขึ้นจะมีการตักบาตรร่วมกันของพี่น้องในกลุ่ม หลังจากนั้นให้น้องไปพักผ่อน และวันถัดมาจะเป็นวันเปิดเรียนวันแรกพอดี

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แก้

รับน้องรถไฟ กิจกรรมรับน้องของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดขึ้นโดยรุ่นพี่มาต้อนรับนักศึกษาที่กำลังจะเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ โดยรวมตัวกันที่สถานีรถไฟหัวลำโพงโดยทั้งหมดจะใช้รถไฟเดินทางจากกรุงเทพสู่เชียงใหม่ ซึ่งก่อนที่รุ่นพี่จะพาน้องขึ้นรถไฟมานั้น ก็จะมีการบูมมอและบูมของแต่ละคณะให้ดังกึกก้องไปทั้วสถานีรถไปหัวลำโพง ส่วนกิจกรรมบนรถไฟนั้น รุ่นพี่และรุ่นน้องจะทำความรู้จักกัน และมีการร้องเพลง เต้นรำ รวมถึงการเล่นเกมต่างๆ กัน ไม่หลับไม่นอนกันจนถึงสถานีรถไฟเชียงใหม่ จากนั้นรุ่นพี่ก็จะพารุ่นน้องไปไหว้พระที่หน้ามอ แสดงถึงการฝากตัวไปกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำมหาวิทยาลัย

รับน้องขึ้นดอย กิจกรรมรับน้องจัดขึ้นเพื่อให้รุ่นพี่และรุ่นน้องในมหาวิทยาลัยเดิน (บางคณะจะวิ่ง เพื่อแสดงถึงพละกำลัง ได้แก่ วิศวกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ รัฐศาสตร์) ร่วมกัน ตามความเ ชื่อของคนล้านนาที่ว่า ใครที่สามารถเดินขึ้นไปถึงพระธาตุดอยสุเ ทพได้แ สดงว่าคนๆนั้นมีบุญ โดยจะเริ่มเดินจากศาลาธรรมบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขึ้นดอยสุเทพเป็นระยะทาง 14 กม. เพื่อนมัสการพระธาตุฯ โดยในระหว่างทางจะหยุดพักบริเวณศูนย์ป้องกันไฟป่าหนึ่งครั้ง และหยุดพักอีกครั้งเมื่อถึงบริเวณพระธาตุฯดอยสุเทพ

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แก้

ไม่มีประเพณีการรับน้องใหม่ที่จัดโดยมหาวิทยาลัย แต่มีประเพณี “รับเพื่อนใหม่”

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง แก้

กิจกรรมรับน้องของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจะจัดขึ้นช่วงเปิดเทอมเป็นเวลา 1 เดือนเต็มตั้งแต่เปิดเทอม โดยที่รุ่นพี่จะจัดทีมงานออกเป็น 3 ทีมเป็นอย่างน้อยได้แก่ ชมรมสันทนาการ ให้ความบันเทิงกับน้องนักศึกษาใหม่ โดยมีจุดประสงค์ว่า อย่างน้อยก็ให้น้องได้คลายเครียดคลายเหงาบ้างและไม่ว่าจะเป็นยังไงพี่ก็จะไม่ทำหน้าบึ้งตึงใส่น้อง ส่วนทีมที่สองคือ คณะกรรมการระเบียบวินัย หรือ ระเบียบ ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฏระเบียบที่ทางมหาวิทยาลัยตั้งขึ้นเพื่อนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นกฏหอพัก กฎการแต่งกาย กฎการใช้อาคารสถานที่ และมารบาทในการเข้าสังคมต่างๆที่อาจจะเกิด หรือสมควรเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย โดยที่พี่กลุ่มนี้จะทำหน้าบึ้งตึงตลอดเวลาเพื่อให้น้องเข้าใจว่า มันเป็นเรื่องสำคัญจริงๆ เช่นเดียวกับการสาธิตการใช้อุปกรณ์บนเครื่องบินเสียอย่างนั้น ส่วนทีมที่สามคือ สวัสดิการ เป็นคนคอยทำหน้าที่ดูแลรักษาน้องที่มีโรคประจำตัวเป็นต้น โดยทั้ง 3 ทีมนี้จะต้องผ่านองค์การ องค์การบริหารนักศึกษา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุรุนแรง หรือเหตุร้ายกับนักศึกษาที่เพิ่งจะใหม่เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในหลายๆ สถาบัน

รับน้องเฉพาะคณะ แก้

รับน้องเฉพาะคณะ ซึ่งแต่ละคณะ จะมีประเพณีการรับน้องที่แตกต่างกันไป เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคณะ

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จะมีพิธีศิลป์จุ่มลักษณะภาพรวมของพิธีการ คือการให้น้องใหม่ที่เข้ามาศึกษาในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ แต่งชุดในลักษณะของชุดแบบล้านนาแสดงให้เห็นถึงการเข้าเป็นส่วนหนึ่งในสังคมล้านนาแม้นักศึกษาจะมาจากต่างถิ่นก็ตาม และจะมีการตั้งขบวนแห่ จากหน้าคณะฯ เดินไปยังสถานที่ประกอบพิธี (ปกติจะประกอบพิธีที่เรือนล้านนา) ให้น้องใหม่ ได้รับศิลป์ (ครูจะให้นักศึกษาเขียนบางอย่างแล้วก็สอนจาก สิ่งที่นักศึกษาวาดออกมา) รับพร จากครูบาอาจารย์ในคณะฯ เพื่อให้นักศึกษาที่เข้ามาเรียนในคณะนี้ ตระหนัก ถึงการใช้ศาสตร์และศิลป์ เพื่อสังคม --ข้อความนี้ไม่ได้ลงชื่อ ซึ่งออกความเห็นโดยผู้ใช้ Horus (พูดคุยหน้าที่เขียน) 00:35, 30 สิงหาคม 2552 (ICT)

กลับไปที่หน้า "การรับน้อง"