ดอยสุเทพ
ดอยสุเทพ เป็นภูเขาสำคัญตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของตัวเมืองเชียงใหม่ อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย และยังเป็นที่ตั้งของวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ภายในวัดมีพระธาตุดอยสุเทพเป็นพระเจดีย์สีทอง ด้านในพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า[1] ดอยสุเทพเป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาถนนธงชัยด้านใต้สุด มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,676 เมตร
ดอยสุเทพ | |
---|---|
จุดสูงสุด | |
ความสูง เหนือระดับน้ำทะเล | 1,676 เมตร (5,499 ฟุต) |
พิกัด | 18°48′46″N 98°53′37″E / 18.81278°N 98.89361°E |
ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ | |
ที่ตั้ง | จังหวัดเชียงใหม่ (ประเทศไทย) |
เทือกเขา | เทือกเขาฉาน |
ข้อมูลทางธรณีวิทยา | |
ประเภทภูเขา | แกรนิต |
ดอยสุเทพมีชื่ออื่นในตำนานเช่น อุจฉุคิรี[2] ดอยอ้อยช้าง หรือ ดอยกาละ[3] ชื่อในปัจจุบันมีที่มาจากฤๅษีวาสุเทพซึ่งเคยบำเพ็ญตบะอยู่ที่เขาลูกนี้เมื่อพันกว่าปีมาแล้ว แต่เดิมก่อนที่ป่าดอยสุเทพจะถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นป่าหวงห้ามเมื่อ พ.ศ. 2492[4] ต่อมาได้รับการประกาศให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติเมื่อพ.ศ. 2507 [5] และได้มีมติคณะรัฐมนตรีประกาศให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติพิเศษเมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2510 กองบำรุง กรมป่าไม้ ได้จัดตั้งสถานีวนกรรมภาคเหนือขึ้นในพื้นที่บริเวณดอยสุเทพ[6]
ทางด้านประวัติศาสตร์ดอยสุเทพเคยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวลัวะ กลุ่มคนพื้นเมืองเดิมที่เคยปกครองพื้นที่ในบริเวณนี้มาก่อนการสร้างเมืองเชียงใหม่ บริเวณเชิงดอยสุเทพมีกลุ่มวัดป่าที่มีมาตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เป็นกลุ่มวัดฝ่ายอรัญวาสีของล้านนา จนกลายเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนานิกายป่าแดงในช่วงศตวรรษที่ 21[7]
อ้างอิง
แก้- ↑ "สัมผัสเสน่ห์ธรรมชาติ "อช. ดอยสุเทพ-ปุย" พร้อมไหว้ "พระธาตุดอยสุเทพ" สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่". ผู้จัดการออนไลน์.
- ↑ พระรัตนปัญญาเถระ. ชินกาลมาลีปกรณ์
- ↑ สุรพล ดำริห์กุล. "โบราณสถานสันกู่ ดอยปุย: พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระฤาษีวาสุเทพ ?". วารสารวิจิตรศิลป์.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 66 ตอนที่ 28 ลงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2492
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 81 ตอนที่ 124 ลงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2507
- ↑ "พรรณไม้และสัตว์ป่า..ดอยสุเทพ-ดอยปุย และบึงบอระเพ็ด ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน".
- ↑ ชิษณุพงศ์ รุจิโรจน์วรางกูร. "กลุ่มวัดป่าเชิงดอยสุเทพ : งานศิลปกรรมและบทบาททางสังคมของเมืองเชียงใหม่ในสมัยราชวงศ์มังราย" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.