ขยะอิเล็กทรอนิกส์

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีเวสต์ (อังกฤษ: e-waste) เป็นของเสียที่ประกอบด้วย เครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เสียหรือไม่มีคนต้องการแล้ว ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นประเด็นวิตกกังวล เนื่องจากชิ้นส่วนหลายชิ้นในอุปกรณ์เหล่านั้น ถือว่าเป็นพิษ และไม่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ หลายประเทศโดยเฉพาะแถบยุโรปตะวันตกถึงกับออกกฎหมายออกมารองรับกรณีดังกล่าวนี้ โดยให้บริษัทผู้ผลิตที่จะวางตลาดในผลิตภัณฑ์ด้านคอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ต้องจัดเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปกำจัดก่อนถึงจะวางใหม่ได้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญที่ถูกนำออกมาใช้เพื่อแก้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นขยะพิษ ขณะเดียวกันด้วยพฤติกรรมการบริโภคที่มีลักษณะใช้แล้วทิ้งที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลกระทบไม่เพียงแค่ในขอบข่ายของขยะอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น บรรจุภัณฑ์อื่น ๆ ก็ถูกทิ้งลงถังขยะมากมายจนล้นเกิน หลาย ๆ ประเทศต้องสูญเสียงบประมาณเพื่อทำการจัดเก็บและทำลายขยะแต่ละปีเป็นมูลค่ามหาศาล ซึ่งพฤติกรรมการใช้แล้วทิ้งที่เกิดขึ้นทั่วโลกนี้ หากยังไม่สามารถพัฒนาวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ง่าย หรือประเภทใช้แล้วสามารถนำมารีไซเคิลใหม่ได้ อาจก่อให้เกิดปัญหาขยะล้นโลกได้

มอนิเตอร์ที่ถูกทิ้ง

บทนิยาม แก้

ขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้น มีมากมาย เช่น ขยะจากคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์เครื่องเสียง เครื่องเล่นเพื่อความบันเทิงต่าง ๆ โทรศัพท์มือถือ หรือโทรศัพท์ในบ้านก็เหมือนกัน พูดง่าย ๆ ว่า อุปกรณ์เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย เมื่อไม่ใช้ หมดสภาพ จะทิ้งแล้ว ก็กลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ ไม่มีราคาค่างวดอะไร

สำหรับนิยามชัด ๆ ของคำว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้นไม่มีกำหนดชัดเจน โดยมากจะเป็นผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์จำพวกประมวลผลข้อมูล โทรคมนาคม หรือเพื่อความบันเทิง ดังกล่าวมาข้างต้น ไม่ว่าจะใช้ส่วนตัวหรือใช้เพื่อธุรกิจ ในสำนักงานก็ตามที ถ้าชำรุด ผุพัง ซ่อมไม่ได้ ไม่ต้องการแล้ว ก็เป็นอันว่าอยู่ในจำพวกนี้

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ขยะเหล่านี้มีปัญหาในเรื่องของมลพิษ โดยเฉพาะสารเคมีที่มีอยู่ในชิ้นส่วนต่าง ๆ ซึ่งไม่สามารถกำจัดได้ง่าย ๆ ไม่ว่าจะเป็นโลหะหนัก สารพิษ ไอพิษ หรือสิ่งตกค้างอื่น ๆ เช่น กัมมันตรังสี ประจุไฟฟ้า ฯลฯ

เมื่อปี ค.ศ. 1991 ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้เริ่มจัดทำระบบรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ขึ้น โดยรวบรวมเครื่องใช้จำพวกตู้แช่ตู้เย็นเป็นอย่างแรก เวลาผ่านไปหลายปี ก็เริ่มมีอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ เข้ามาอยู่ในกลุ่มนี้มากขึ้นจนครอบคลุมทุกประเภท กฎหมายหลังปี 1998 และนับตั้งแต่มกราคม 2005 มีความเป็นไปได้ที่จะนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดคืนไปสู่จุดขาย และจุดรวบรวมอื่น ๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ได้มีการก่อตั้งองค์กรหลักสองรับผิดชอบผู้ผลิต (Producer Responsibility Organisations : PRO) สององค์กร คือ SWICO ซึ่งส่วนใหญ่มีภารกิจจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ และ SENS ส่วนใหญ่รับผิดชอบการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ปริมาณรวมของขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำไปรีไซเคิลจะเกิน 10 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

สำหรับในสหภาพยุโรปได้ใช้ระบบที่คล้ายกันกับที่กล่าวไว้ใน Waste Electrical and Electronic Equipment Directive (WEEE 2002/96/EC) โดยที่ระเบียบ WEEE ได้กำหนดไว้ในกฎหมายและมีผลแล้วในเวลานี้ ผู้ผลิตจะต้องรับผิดชอบทางการเงินสำหรับอุปกรณ์ตามระเบียบ WEEE ตั้งแต่ 13 สิงหาคม 2005 และเมื่อถึงสิ้นปีที่ผ่านมา (สำหรับสมาชิกใหม่ของอียู ให้เวลาอีกหนึ่งถึงสองปี) ทุกประเทศจะต้องรีไซเคิลขนะอิเล็กทรอนิกส์อย่างน้อย 4 กิโลกรัมต่อหัว หรือต่อประชากร 1 คน นั่นเอง

บทนิยามตาม WEEE directive[1]

ปัญหา แก้

ขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้นเป็นแหล่งวัสดุดิบชั้นรองที่มีค่า หากมีการดูแล จัดการอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม หากไม่ดูแลจัดการอย่างเหมาะสมแล้ว ก็นับเป็นแหล่งพิษที่ร้ายแรงได้ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็วในปัจจุบัน ทำให้มีต้นทุนเบื้องต้นที่ต่ำ และยังมีการหมดอายุตามที่กำหนด ทำให้เกิดปัญหารวดเร็วมากขึ้นทั่วโลก ปัจจุบันมีวิธีการแก้ปัญหาเชิงเทคนิคหลายประการ แต่จะต้องมีการวางกรอบในเชิงกฎหมาย มีระบบจัดเก็บ ระบบขนส่ง และบริการอื่น ๆ ที่ต้องใช้ก่อนจะนำไปสู่การดำเนินการทางเทคนิค ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในอเมริกาที่นำไปถมที่ดินนั้น มีสัดส่วนราว 2 เปอร์เซ็นต์ แต่ในจำนวนนี้ เป็นขยะพิษถึง 70 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

ด้วยสภาพการทำงานและมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีในบางประเทศของเอเชียและแอฟริกา ทำมีการส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์มาทิ้งหรือกำจัดในประเทศเหล่านั้น ซึ่งโดยมากจะเป็นไปโดยผิดกฎหมาย ในประเทศไทยเราก็มีข่าวการส่งขยะเข้ามาทางเรืออยู่เสมอ ๆ กรณีเช่นนี้น่าจะมีการร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่บางคนในหน่วยงานบางแห่งของรัฐด้วย ในกัมพูชาก็มีข่าวถูกนำขยะมาทิ้งเช่นกัน

สำหรับในเดลลีและบังกาลอร์ของอินเดีย และในเมืองกุ้ยหยู มณฑลซานโถว ของจีน มีพื้นที่จัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม การเผา ถอดชิ้นส่วน และทำลายโดยไม่มีการควบคุม ย่อมก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมและต่อสุขภาพผู้คนทั่วไป ได้แก่ผลกระทบต่อสุขภาพ และความปลอดภัยในการประกอบอาชีพ ที่มีผลต่อผู้เกี่ยวข้องโดยตรง อันเนื่องมาจากวิธีการกำจัดขยะเหล่านั้น สำหรับการค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีระเบียบควบคุมโดยอนุสัญญาบาเซิล

ขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีผลเสียเกี่ยวข้องกับเรื่องของสารพิษบางอย่าง โดยเฉพาะหากจัดการไม่ดี พิษเหล่านี้มักจะเป็นโลหะหนัก ชนิดที่มีมากได้แก่ ตะกั่ว ปรอท และแคดเมียม นอกจากนี้ยังมีสารหนู กำมะถัน และสารเคมีอีกเป็นจำนวนมาก แม้กระทั่งจอมอนิเตอร์สำหรับคอมพิวเตอร์โดยทั่วไป ก็มีตะกั่วอยู่ถึง 6 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก ส่วนมากจะอยู่ในแก้วของจอภาพ CRT กล่าวโดยสรุปว่า มีธาตุต่าง ๆ ในขยะอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น 38 ชนิดด้วยกัน ความไม่อยู่ยั่งยืนของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นับเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ต้องมีการรีไซเคิลหรืออาจนำกลับมาใช้ใหม่ (หากจัดการได้เหมาะสม) สำหรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย

ระบบจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้นบรรลุถึงจุดสมบูรณ์เมื่อไม่กี่ปีมานี้ หลังจากได้เพิ่มกฎระเบียบ และเงื่อนไขในการใช้งานเชิงพาณิชย์ ส่วนบุคคล และสาธารณะ และเป็นที่สนใจอย่างกว้างขวาง ส่วนหนึ่งของการปฏิวัตินี้เกี่ยวข้องกับความหลากหลายอย่างมหาศาลของขยะอิเล็กทรอนิกส์จากกระบวนการรีไซเคิลแบบย่อยขนาดที่มีความเข้มข้นขึ้น (นั่นคือ การรีไซเคิลแบบเดิม) เมื่ออุปกรณ์ถูกปรับไปเป็นรูปแบบวัตถุดิบ การแปลงนี้ทำได้ด้วยการนำมาใช้ใหม่ (reuse) และปรับใหม่ (refurbish) ข้อดีในแง่สังคมและสภาพแวดล้อมจากการนำมาใช้ใหม่ มีหลายสถานด้วยกัน นั่นคือ ลดความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ และความต้องการที่เทียบเท่ากันสำหรับวัตถุดิบใหม่โดยสิ้นเชิง (โดยที่สภาพภายนอกที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม จะไม่มีผลต่างด้านต้นทุนของวัตถุดิบนั้น) และน้ำบริสุทธิ์ปริมาณมาก รวมทั้งกระแสไฟฟ้าสำหรับการผลิตที่เกี่ยวข้อง การขายแพกเกจต่อหน่วย การมีเทคโนโลยีเพื่อเปิดโอกาสให้สังคมมีความสนใจต่อความรับผิดชอบผลิตภัณฑ์มากขึ้น และลดการนำไปใช้เพื่อถมที่ดินน้อยลง

ความท้าทายยังคงมีอยู่ เมื่อวัสดุนั้นไม่สามารถนำไปใช้ใหม่ได้ การรีไซเคิลแบบเดิม หรือการกำจัดแบบเดิมโดยการนำไปถมในที่ดินจึงเกิดขึ้นตามมา มาตรฐานสำหรับทั้งสองแนวทางนั้นถูกมองจากมุมมองเชิงกฎหมายที่แตกต่างกันมาก ไม่ว่าในประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศที่พัฒนาแล้ว ความซับซ้อนของรายการต่าง ๆ ที่จะจัดการทำลาย ต้นทุนระบบรีไซเคิลที่มีผลต่อสภาพแวดล้อม และความต้องการสำหรับการทำงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวมรวบอุปกรณ์ และกระบวนการขั้นตอนอย่างเป็นระบบ คือทรัพยากรที่มีความขาดแคลนมาก แต่ปัจจุบันนี้ มีความเปลี่ยนแปลงไปมาก พลาสติกจำนวนมากที่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นั้น จะสารติดไฟช้าอยู่ โดยมากจะเป็นฮาโลเจน ที่เติมเข้ากับพลาสติกเรซิน ทำให้พลาสติกเหล่านี้รีไซเคิลยาก

แนวโน้ม แก้

เมื่อทศวรรษ 1990 มีบางประเทศในยุโรปได้ออกกฎหมายห้ามนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปถมในที่ดิน และก่อให้เกิดอุตสาหกรรมจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นในยุโรป ครั้นเมื่อต้นปี 2003 สหภาพยุโรป หรืออียู ก็ได้เสนอระเบียบ WEEE และ RoHS สำหรับการใช้ควบคุมในปี 2005 และ 2006 บางรัฐในสหรัฐอเมริกาได้ปรับปรุงนโยบายห้ามใช้จอ CRT ไปถมที่ดิน การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์บางอย่างดำเนินการในสหรัฐอเมริกา กระบวนการนี้อาจเป็นการรื้อถอดชิ้นส่วนเป็นโลหะ พลาสติก และแผ่นวงจร หรือชำแหละเป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ น้อย ๆ นับตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมารัฐแคลิฟอร์เนียได้เริ่มใช้ค่าธรรมเนียมการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์กับโทรทัศน์และมอนิเตอร์ใหม่ทุกรุ่นที่จำหน่ายไป เพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนการรีไซเคิลด้วย สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมนั้นขึ้นอยู่กับขนาดของจอมอนิเตอร์นั่นเอง อัตราดังกล่าวยังมีการปรับปรุงเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2005 เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนการรีไซเคิลที่แท้จริง

โรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยทั่วไปที่พบในประเทศอุตสาหกรรมบางประเทศนั้นอาศัยการถอดชิ้นส่วนอุปกรณ์ออกมาก่อน ซึ่งมีกำลังทำงานเพิ่มขึ้นสำหรับขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก โดยใช้ต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ วัสดุที่ถูกป้อนเข้าเครื่องกำจัดขยะ ซึ่งจะผ่านไปตามสายพาน จะถูกส่งไปยังเครื่องคัดแยกเชิงกล และมีเครื่องคัดกรองอีกหลายชั้น เครื่องจักรรีไซเคิลทั้งหมดจะถูกปิดคลุมและใช้ระบบกักฝุ่น ปัจจุบันนี้ สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รวมทั้งไต้หวัน ต่างก็กำหนดให้ผู้ขายและผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีส่วนรับผิดชอบในการรีไซเคิลขยะจากผลิตภัณฑ์ของตนถึงร้อยละ 75% ของจำนวนทั้งหมดที่ผลิตหรือขาย

หลายประเทศในเอเชีย ก็เริ่มตื่นตัวในเรื่องการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์กันแล้ว บางประเทศได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวอย่างชัดเจน ขณะที่บางประเทศก็อยู่ระหว่างการศึกษา เพื่อหาแนวทางแก้ไขอันเป็นมาตรการที่เหมาะสมที่สุด ทั้งในส่วนของการประหยัดและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด หรือเสนอร่างให้แก่สภานิติบัญญัติ ส่วนในสหรัฐอเมริกา สภาคองเกรสอยู่ระหว่างการพิจารณากฎหมายขยะอิเล็กทรอนิกส์ ในจำนวนนี้ มีกฎหมายรีไซเคิลคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (National Computer Recycling Act) ที่เสนอโดย วุฒิสมาชิกไมค์ ทอมป์สัน (Mike Thompson) (D-CA) รวมอยู่ด้วย ขณะที่หลายรัฐของเมริกาก็ได้เสนอและผ่านร่างกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์แล้วเช่นกัน ทั้งนี้ แคลิฟอร์เนียนับเป็นรัฐแรกที่เสนอกฎหมายดังกล่าว ตามมาด้วยรัฐแมรีแลนด์ รัฐเมน รัฐวอชิงตัน และรัฐมินเนสโซตา

เดิมนั้น การใช้ผลผลิตจากอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างไม่มีแบบแผน ผลิตภัณฑ์ที่เลิกใช้จะถูกทิ้งรวมกับขยะอื่น ๆ ซึ่งมีข่าวให้ได้ยินอยู่เนือง ๆ ทั้งขยะพิษ ขยะกัมมันตรังสี และขยะที่อันตรายที่ระเบิดได้ ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วทั้งสิ้น สำหรับขยะพิษจากสารเคมี หรือโลหะหนักอันตรายนั้นจะต้องกำจัดด้วยวิธีพิเศษ เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการรณรงค์กำจัดแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ แต่เมื่อนานวันเข้า ก็หลง ๆ ลืม ๆ กันไป ส่วนการกำจัดขยะอื่น เช่น หลอดไฟฟลูออเรสเซนส์ ก็เคยมีการรณรงค์ก่อนหน้านี้ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ หรือการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ทำให้การแยกขยะทำได้ยาก หรือแทบไม่ได้ทำ

แนวทางการแก้ปัญหานั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะผู้ผลิตและและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำหน้าอยู่แล้ว ย่อมรู้มาตรการและขั้นตอนการกำจัดขยะเหล่านี้เป็นอย่างดี แต่เมื่อรัฐบาลบางประเทศไม่มีมาตรการป้องกัน หรือระเบียบที่รัดกุม ผู้ผลิตก็อาจละเลย เพราะการมีขั้นตอนเพิ่มสำหรับการกำจัดขยะ ย่อมเป็นการเพิ่มต้นทุนไม่มากก็น้อย

ในส่วนของผู้ใช้ หากมีสถานที่รองรับขยะที่ชัดเจน ก็ควรให้ความสำคัญกับปัญหาเหล่านี้ให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การมีตัวอย่างที่เลวร้าย เป็นกรณีศึกษาและเป็นภาพเตือนใจที่ดี ทำให้สังคมตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้มากขึ้น

หากร้านค้า หรือจุดจำหน่ายสินค้า มีภาชนะสำหรับรับทิ้งขยะจากผลิตภัณฑ์ของตน ก็สามารถช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้มาก และหากขยายขั้นตอนโดยเพิ่มความร่วมมือในหมู่ผู้ผลิตหลาย ๆ ราย ผู้ใช้สามารถทิ้งขยะหลายชนิดในจุดเดียว เพิ่มความสะดวก และน่าจะได้รับความร่วมมือมากขึ้นด้วย

ธาตุที่มีอยู่ในขยะอิเล็กทรอนิกส์ แก้

ธาตุที่มีมาก แก้

ตะกั่ว ดีบุก ทองแดง ซิลิกอน คาร์บอน เหล็ก อะลูมิเนียม

ธาตุที่มีปริมาณน้อย แก้

แคดเมียม ปรอท

ธาตุที่มีอยู่บ้างเล็กน้อย แก้

เจอร์เมเนียม แกลเลียม แบเรียม นิกเกิล แทนทาลัม อินเดียม วานาเดียม เทอร์เบียม เบริลเลียม ทองคำ ยูโรเพียม ไทเทเนียม รูทีเนียม โคบอลต์ แพลเลเดียม แมงกานีส เงิน พลวง บิสมัท ซีลีเนียม ไนโอเบียม อิตเทรียม โรเดียม แพลตทินัม สารหนู ลิเทียม โบรอน อะเมริเซียม

ตัวอย่างอุปกรณ์ที่มีธาตุเหล่านี้ แก้

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แทบทั้งหมดจะมีตะกั่วและดีบุก (จากการบัดกรี) และทองแดง (จากสาย และลายวงจรพิมพ์) แม้ว่าการบัดกรีแบบไม่ใช้ตะกั่วตะแพร่หลายรวดเร็วในปัจจุบันก็ตาม

  • ตะกั่ว : ลวดบัดกรี จอมอนิเตอร์ CRT (ตะกั่วในแก้ว) แบตเตอรี่ตะกั่ว-กรด
  • ดีบุก : ลวดบัดกรี
  • ทองแดง : สายทองแดง ลายทองแดงบนแผ่นวงจรพิมพ์
  • อะลูมิเนียม : สินค้าอิเล็กทรอนิกส์เกือบทั้งหมดจะใช้กำลังไฟฟ้ามากกว่าสองสามวัตต์ จึงต้องใช้แผ่นครีบระบายความร้อน (heatsink)
  • เหล็ก : โครงเหล็กกล้า, ตัวถัง ชิ้นส่วนภายนอก
  • ซิลิกอน : แก้ว ทรานซิสเตอร์ ไอซี แผ่นวงจรพิมพ์
  • นิกเกิล แคดเมียม : แบตเตอรี่นิกเกิล-แคดเมียมแบบชาร์จได้
  • ลิเทียม : แบตเตอรีลิเทียม-ไอออน
  • สังกะสี : ชุบส่วนเหล็กกล้า
  • ทองคำ : ชุบขั้วต่อ, เดิมใช้ในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์
  • อะเมริเซียม : เตือนควัน (แหล่งกัมมันตรังสี)
  • เจอร์เมเนียม : ในทศวรรษ 1950 – 1960 มีการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ทรานซิสเตอร์มาก
  • ปรอท : หลอดฟลูออเรสเซนต์ (มีการใช้งานที่หลากหลาย) สวิตช์เอียง (tilt switches), เกมพินบอลล์, ที่กดกริ่งประตูแบบเชิงกล
  • กำมะถัน : แบตเตอรี่ตะกั่ว-กรด
  • คาร์บอน : เหล็กกล้า พลาสติก รีซิสเตอร์ ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แทบทุกชิ้น

อ้างอิง แก้

  1. Directive 2002/96/EC of the European Parliament and of the Council, Official Journal of the European Union: หน้า 33. เข้าถึงเมื่อ 31 ธันวาคม 2556 จาก Access to European Union law: http://eur-lex.europa.eu/LexUriServ/LexUriServ.do?uri=CONSLEG:1975L0442:20031120:EN:PDF

แหล่งข้อมูลอื่น แก้