พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นพระราชพิธีที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ระหว่างวันที่ 8 - 12 เมษายน พ.ศ. 2555 ซึ่งพระราชพิธีจะมีขึ้น ณ พระเมรุ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยมีพระราชพิธีสำคัญ ได้แก่ พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุ ในวันที่ 8 เมษายน พระราชพิธีเชิญพระโกศออกพระเมรุ และพระราชทานเพลิงพระศพ ในวันที่ 9 เมษายน พระราชพิธีเก็บพระอัฐิ ในวันที่ 10 เมษายน พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระอัฐิ ในวันที่ 11 เมษายน และพระราชพิธีเชิญพระอัฐิประดิษฐาน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และพระราชพิธีบรรจุพระสรีรางคาร ในวันที่ 12 เมษายน

พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
พระมหาพิชัยราชรถอัญเชิญพระโกศ สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ สู่ท้องสนามหลวงวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2555
วันที่8–12 เมษายน พ.ศ. 2555
สถานที่พระเมรุ ท้องสนามหลวง
ที่ตั้งกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

การเตรียมงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ แก้

คณะรัฐมนตรีโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีขณะนั้นได้จัดประชุมวาระพิเศษเพื่อพิจารณา เรื่อง การจัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554 มีมติให้จัดงานพระราชพิธีโดยสมพระเกียรติสูงสุดตามโบราณราชประเพณี ของเจ้าฟ้าพระราชธิดาในพระมหากษัตริย์ โดยเทียบเคียงกับงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยในเบื้องต้นได้ดำเนินการ ดังนี้

  • เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาการจัดการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย คือ นางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร พันเอกสถาพร กระแสร์แสน รองผู้อำนวยการกองบริการกำลังพล กรมกำลังพลกองทัพบก
  • มีคำสั่งนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการจัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
  • มอบหมายให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมีหนังสือถึงสำนักราชเลขานุการ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตดำเนินการจัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ฉลองพระเดชพระคุณ ให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามโบราณราชประเพณีและสมแก่พระอิสริยยศทุกประการทั้งงานพระราชพิธี รัฐพิธี และงานศาสนพิธี
  • มอบหมายให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นหน่วยงานรับผิดชอบจัดลำดับส่วนราชการทุกกระทรวงไปฟังพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมพระศพ วันละ 60 คน เป็นเวลา 100 วัน

ทั้งนี้คณะกรรมการอำนวยการจัดการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ปฏิบัติงานไปพลางก่อน เนื่องจากจะมีการเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่

ต่อมาเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี มีผลให้คำสั้งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 130/2554 เมื่อวันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 สิ้นสุดลง เพื่อให้การดำเนินการจัดการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีเป็นไปโดยเรียบร้อยสมพระเกียรติ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(6) แห่งพระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2539 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ประกอบด้วย พระบรมวงศานุวงศ์(หม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคล) ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา ประธานวุฒิสภา และองคมนตรี(นายพลากร สุวรรณรัฐ) เป็นคณะที่ปรึกษา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นกรรมการและเลขานุการ มีหัวหน้าหน่วยงานและผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ

สำนักราชเลขาธิการ พระบรมมหาราชวัง เปิดเผยหนังสือลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554 เรื่องการก่อสร้างพระเมรุและกำหนดวันพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ความว่า

ด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงขอรับพระราชทานพระราชดำริที่จะเริ่มการก่อสร้างพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในวันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม 2554 และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกำหนดวันพระราชทานเพลิงพระศพ ในวันจันทร์ที่ 9 เมษายน 2555 ซึ่งอยู่ในช่วงหลังวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ และก่อนวันสงกรานต์ เพื่อสำนักพระราชวัง สำนักราชเลขาธิการ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการต่อไป

บัดนี้ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงเห็นชอบ ตามพระราชดำริ กับพระราชทานพระบรมราชานุญาตตามที่ขอ จึงเรียนมาเพื่อทราบ

สำนักราชเลขาธิการ พระบรมมหาราชวัง

14 กันยายน พ.ศ. 2554

การประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฯ แก้

 
พระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

สำหรับพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี มีกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 8-12 เมษายน พ.ศ. 2555 ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง ประกอบด้วย พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุ ในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระราชพิธีอัญเชิญพระศพออกพระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ พระราชพิธีเก็บพระอัฐิ ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระอัฐิ พระราชพิธีอัญเชิญพระอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และพระราชพิธีบรรจุพระสรีรางคาร ณ เสาวภาประดิษฐาน สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม หลังจากงานพระราชทานเพลิงพระศพแล้ว จะเปิดให้ประชาชนเข้าชมพระเมรุจนถึงวันที่ 17 เมษายน 2555 แต่จะไม่มีการจัดนิทรรศการภายในบริเวณพระเมรุ เหมือนงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยจะมีการจัดนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจที่พระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม

อนึ่ง พระเมรุในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แบบพระเมรุในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โดยสำนักพระราชวังได้แจ้งหมายกำหนดการพระราชทานเพลิงพระศพในวันจันทร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2555 ทั้งนี้ในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรมจะมีการแถลงข่าวถึงรายละเอียดการจัดสร้างพระเมรุทั้งหมด และแผนงานการก่อสร้างพระเมรุในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554 เวลา 13.30 น. ที่กระทรวงวัฒนธรรม หลังจากนั้นตนจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมหารือการจัดสร้างพระเมรุอีกครั้ง ส่วนการบูรณะราชรถราชยานนั้น ในเร็ว ๆ นี้จะมีพิธีบวงสรวงบริเวณโรงราชรถ และจะให้กรมสรรพาวุธทหารบก และสำนักช่างสิบหมู่ เข้ามาดำเนินการบูรณะราชรถราชยานทันที อย่างไรก็ตามการทำงานในครั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรมจะดำเนินการให้สมพระเกียรติที่สุด และจะดำเนินการก่อสร้างพระเมรุได้ทันตามหมายกำหนดการพระราชทานเพลิงพระศพอย่างแน่นอน โดยจะใช้ระยะเวลา 4 เดือน พระเมรุออกแบบโดย พลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น สถาปนิกผู้ออกแบบพระเมรุมาศของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพระเมรุของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ส่วนการก่อสร้างพระเมรุในเบื้องต้นได้ใช้สถานที่ที่โรงละครเล็ก ภายในโรงละครแห่งชาติ ทำเป็นโรงขยายแบบ และมีการจัดสร้างองค์ประกอบของพระเมรุควบคู่ไปด้วย โดยได้เริ่มดำเนินการจัดทำโครงสร้างส่วนต่างๆ ไว้ล่วงหน้า เพื่อนำส่วนประกอบสำคัญๆ เข้าไปประกอบกับแบบน็อกดาวน์ที่สนามหลวงในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เพื่อให้องค์พระเมรุมีความพระเมรุสวยงามและสมพระเกียรติ โดยเหตุที่ต้องดำเนินการในรูปแบบนี้ เนื่องจากปี พ.ศ. 2554 เป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ จึงไม่สมควรที่จะให้มีพระเมรุอยู่กลางท้องสนามหลวงก่อนวันพระราชพิธีสำคัญ ในเบื้องต้นมีการขยายแบบ ใช้สถานที่ที่โรงละครเล็ก ภายในโรงละครแห่งชาติ และมีการจัดสร้างองค์ประกอบของพระเมรุควบคู่ไปด้วย และภายหลังจากวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2554 จะมีพิธีบวงสรวง จากนั้นกรมศิลปากรจะนำองค์ประกอบของพระเมรุทั้งหมดไปประกอบติดตั้งที่บริเวณท้องสนามหลวง ในเวลาต่อมากระทรวงวัฒนธรรมได้รับแจ้งจากพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ (ชวิน รังสิพราหมณกุล) หัวหน้าพราหมณ์เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ถึงการกำหนดฤกษ์การประกอบพิธีทางสงฆ์และพราหมณ์ในการบวงสรวงยกเสาพระเมรุขึ้นตั้งตามแบบแผนประเพณี โดยได้กำหนดวันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2555 ลัคนาสถิตราศีเมษ เวลา 11.59 น. ทุติยตรียางค์ ปัญจมนวางค์ เป็นมหัทธโนฤกษ์ พระอาทิตย์อยู่ศูนย์กลางขอบฟ้า เรียกว่า สนธยา เป็นฤกษ์ยกเสาเอกพระเมรุ โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาเป็นประธานในพิธี และหลังจากเสร็จพิธียกเสาพระเมรุแล้ว ทางวิศวกร สถาปัตยกรรมจะได้ดำเนินการก่อสร้างตามรูปแบบพระเมรุทรงยอดปราสาท ที่ พล.อ.ต.อาวุธ เป็นผู้ออกแบบ

กระบวนการต่าง ๆ ขณะนี้ ทั้งเรื่องเสาเข็ม และองค์ประกอบของพระเมรุได้ดำเนินการจัดเตรียมพร้อมที่จะประกอบได้ทันที ที่ผ่านมาการก่อสร้างพระเมรุจะไปทำที่ท้องสนามหลวงทั้งหมด แต่ครั้งนี้มีความแตกต่าง จะทำข้างนอกก่อนแล้วนำเข้าไปประกอบทีหลัง ถือเป็นครั้งแรกที่มีการทำในรูปแบบนี้ ส่วนการจัดหาผ้าทองย่นเพื่อใช้ในการประดับลวดลายพระเมรุนั้น จะใช้เหมือนกับงานสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ นำมาจากประเทศจีน ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับเป็นธุระจัดหาผ้าทองย่นในครั้งนี้ ส่วนเครื่องประกอบพระเมรุอื่น ๆ อาทิ เทวดา สัตว์หิมพานต์ ยังคงใช้ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ บางส่วนอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง อาจลดขนาดให้เล็กลง อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบพระเมรุจะต้องมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง ว่าจะต้องมีส่วนใดเพิ่มเติมบ้าง

แบบร่างพระเมรุ แก้

 
พระเมรุ สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดา เปิดให้ประชาชนเข้าชมหลังพระราชพิธีพระราชทานเพลิง

รูปแบบสถาปัตยกรรมพระเมรุของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชวินิจฉัยให้ยึดรูปแบบพระเมรุของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ แต่ต้องปรับเปลี่ยนบางส่วนให้สมพระเกียรติยศมากขึ้น เพราะ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มีพระอิสริยยศต่ำกว่า

พลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากรและศิลปินแห่งชาติ สาขาสถาปัตยกรรมไทย เป็นผู้ออกแบบ ขนาดความสูงและความกว้างของพระเมรุมีความใกล้เคียงกับพระเมรุมีลักษณะคล้ายกับพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ แต่จะมีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย

ลักษณะเป็นอาคารทรงเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง มีมุขยื่นทั้งสี่ด้าน สร้างบนฐานชาลาใหญ่ มุขด้านทิศตะวันตกเป็นทางเสด็จพระราชดำเนิน มุขด้านเหนือมีสะพานเกรินไว้เชิญพระโกศทรงพระศพประดิษฐานเหนือพระจิตกาธาน มุขด้านตะวันออกเป็นที่วางเตาเผาพระศพ บริเวณฐานชาลาทุกด้าน มีบันไดขึ้นลง แวดล้อมด้วยรั้วราชวัติ ฉัตร โคม และเทวดาประกอบพระเมรุ หน้าบันแต่ละมุขประดับด้วยอักษรพระนาม พร. ใต้พระชฎามหากฐิน รัชกาลที่ 6 และประดับลวดลายด้วยหัวของโคนันทเสน

เครื่องยอดพระเมรุประกอบด้วยชั้นเชิงกลอน 5 ชั้นกึ่งกลางของเชิงกลอนแต่ละชั้นมีซุ้มบันแถลงซ้อน 2 ชั้น มุขหลังคามีนาคปัก ส่วนบนเป็นองค์ระฆังรับบัลลังก์ เหนือบัลลังก์เป็นชุดบัวคลุ่ม 5 ชั้น ปลียอดแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ปลียอดส่วนต้นและส่วนปลายคั่นด้วยลูกอก้ว ถัดขึ้นไปเป็นที่ประดิษฐานสัปตปฎลเศวตฉัตร เครื่องยอดลักษณะนี้ ผู้ออกแบบเรียกว่า "เครื่องยอดทรงมณฑปแปลง" โดยแปลงให้ไม่มีชั้นเหมใต้บัวกลุ่ม พระเมรุองค์นี้จึงเป็นการออกแบบใหม่ ต่างจากคราวก่อนๆ ที่ใช้เทียบเคียงกับแบบพระเมรุที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงออกแบบไว้แล้ว การตกแต่งพระเมรุใช้การซ้อนไม้แทนการใช้ไม้จริงและเสริมบางส่วนด้วยไฟเบอร์กลาส ประดับด้วยผ้าทองย่นสาบกระดาษสี

การตกแต่งพระเมรุครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชวินิจฉัยให้ตกแต่งพระเมรุเป็นอย่าง พระเมรุทอง เพื่อถวายพระเกียรติยศสูงสุดในพระอิสริยยศเจ้าฟ้าพระราชธิดาในพระมหากษัตริย์ และทรงเป็นอุภโตสุชาต มีพระชาติกำเนิดอันบริสุทธิ์ประดุจทองนพคุณ และในพระสถานะที่ทรงมีพระสกุลยศสูงที่สุดในบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวง โดยการออกแบบตกแต่งนายช่างศิลปกรรม และนักวิชาการช่างศิลป์ ได้คัดลวดลายแบบฝีมือช่างโบราณ เช่น ลายพรรณพฤกษา ดอกไม้รูปแบบต่าง ๆ และลวดลายดอกไม้และสัต์ที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทรงโปรด โดยประยุกต์เข้ากับลวดลายใบไม้ ดอกไม้ เถา จึงออกมาเป็นลวดลายประดับพระเมรุสื่อถึงพระอัธยาศัยโปรดธรรมชาติ

โครงสร้างสีของพระเมรุ ผู้ออกแบบได้เน้นการไล่ระดับสีเฉดสีแสดและสีชมพู โดยสีชมพู เป็นสีวันอังคารซึ่งเป็นวันประสูติและยังสื่อถึงการเป็นเจ้าฟ้าแรกประสูติพระองค์เดียวในจุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์ ส่วนสีแสดหรือสีส้มเป็นสีที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ โปรด เมื่อผสมกับสีทองแล้วจะออกมาเป็นลายไทยที่สวยงาม พื้นพระเมรุใช้กระดาษแดงมีลายทอง หรือปิดกระดาษทองย่นที่มีลายสีแดง[1]

การฝึกซ้อมริ้วกระบวน แก้

วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2555 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ในการนี้ ทรงถวายราชสักการะพระศพ ก่อนจะทรงร่วมพิธีซ้อมใหญ่ในการเดินริ้วขบวนงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดขึ้นเพื่อแสดงความจงรักภักดี และแสดงความอาลัย โดยในวันนี้เป็นการซ้อมใหญ่ครั้งสุดท้ายเสมือนจริง เริ่มตั้งแต่เชิญพระโกศพระศพลงจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท โดยมหาดเล็กออกทางประตูทิศตะวันตก เพื่อประดิษฐานบนพระยานมาศสามลำคาน ก่อนจะเชิญออกจากพระบรมมหาราชวัง ทางประตูศรีสุนทร ซึ่งระหว่างนั้นปืนใหญ่ยิงถวายพระเกียรติยศนาทีละ 1 นัด แล้วออกไปทางประตูเทวาภิรมย์ เพื่อตั้งริ้วขบวนที่ 1 ไปตามเส้นทางถนนมหาราช ถนนท้ายวัง และถนนสนามไชย เพื่อเชิญพระโกศพระศพประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถ ที่ด้านหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินตามพร้อมด้วยขบวนทหารกองเกียรติยศ เครื่องราชอิสริยยศ และราชนิกูล ข้าราชบริพาร เคลื่อนตามจังหวะสัญญาณกลอง แล้วเข้าร่วมกับริ้วขบวนที่ 2 เชิญพระโกศพระศพประดิษฐานบนบุษบกพระมหาพิชัยราชรถ ออกจากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามไปตามถนนสนามไชย ถนนราชดำเนินใน ถนนเส้นกลางสนามหลวง เข้าสู่ราชวัติพระเมรุด้วยการเดินเปลี่ยนสูงแบบสืบเท้าประกอบเพลงพญาโศก จากนั้นเข้าสู่ริ้วขบวนที่ 3 เชิญพระโกศพระศพโดยพระยานมาศสามลำคานเวียนพระเมรุโดยอุตราวัฏ หรือเวียนซ้าย สามรอบ ก่อนจะเชิญพระโกศพระศพขึ้นประดิษฐานบนพระเมรุ

ในตอนบ่ายเป็นการซ้อมริ้วขบวนที่ 4 ภายหลังพระราชทานเพลิงพระศพแล้ว เชิญพระโกศพระอัฐิโดยพระที่นั่งราเชนทรยาน และพระสรีรางคาร โดยพระวอสีวิกากาญจน์ จากพระเมรุ ท้องสนามหลวง เข้าสู่พระบรมมหาราชวัง และริ้วขบวนที่ 5 เชิญพระโกศพระอัฐิโดยพระที่นั่งราเชนทรยาน จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมาน บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ส่วนริ้วขบวนที่ 6 เชิญพระสรีรางคารจากพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยรถยนต์พระที่นั่งไปบรรจุ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ซึ่งระหว่างการซ้อมพระราชพิธี มีประชาชน และนักท่องเที่ยว เฝ้าชมริ้วขบวนกันเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้พระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพฯ จะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน ในการพระราชกุศลออกพระเมรุ ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท วันที่ 9 เมษายน เชิญพระศพ ออกพระเมรุ และพระราชทานเพลิงพระศพ, วันที่ 10 เมษายน เก็บพระอัฐิ, วันที่ 11 เมษายน บำเพ็ญพระราชกุศลพระอัฐิ, และวันที่ 12 เมษายน เชิญพระโกศพระอัฐิขึ้นประดิษฐาน และบรรจุพระสรีรางคาร ณ เสาวภาประดิษฐาน สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม


หมายกำหนดการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ แก้

หมายกำหนดการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี มีดังนี้ [2]

  • วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2555
    • เวลา 17.30 น. บำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
  • วันจันทร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2555
    • เวลา 7.00 น. เชิญพระโกศทองใหญ่ทรงพระศพออกพระเมรุ ท้องสนามหลวง โดยริ้วกระบวนที่ 1 ริ้วกระบวนที่ 2 และริ้วกระบวนที่ 3
    • เวลา 16.30 น. พระราชทานเพลิงพระศพ
    • เวลา 22.00 น. พระราชทานเพลิงพระศพจริง (ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เตาไฟฟ้าในการสุมเพลิง)
      • แต่งกายชุดปกติขาว ไว้ทุกข์
  • วันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2555
    • เวลา 8.00 น. เก็บพระอัฐิ เชิญพระอัฐิสู่พระบรมมหาราชวัง โดยริ้วกระบวนที่ 4
  • วันพุธที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2555
    • เวลา 16.30 น. บำเพ็ญพระราชกุศลพระอัฐิ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
  • วันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2555
    • เวลา 10.30 น. เลี้ยงพระ เชิญพระอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โดยริ้วกระบวนที่ 5
    • เวลา 16.30 น. บรรจุพระสรีรางคาร ณ อนุสรณ์สถานเสาวภาประดิษฐาน สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยริ้วกระบวนที่ 6 (ขบวนรถยนต์)

อนึ่ง รัฐบาลได้กำหนดให้วันจันทร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2555 ซึ่งเป็นวันพระราชทานเพลิงพระศพ เป็นวันหยุดราชการกรณีพิเศษ โดยในระหว่างวันที่ 8-10 เมษายน 2555 กำหนดให้สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ และสถานศึกษาทุกแห่งลดธงครึ่งเสา ขอความร่วมมือประชาชนไว้ทุกข์โดยทั่วกัน ขอความร่วมมือสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ควบคุมดูแลรายการที่ออกอากาศให้เหมาะสม และขอความร่วมมือสถานบริการต่าง ๆ ให้งดหรือลดการแสดงเพื่อความบันเทิง เป็นระยะเวลา 3 วัน

ในวันที่ 12-13 ธันวาคม พ.ศ. 2555

  • วันพุธที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2555
    • เวลา 16.00 น. บรรจุพระสรีรางคาร ณ ผนังเบื้องพระปฤศฎางค์พระร่วงโรจนฤทธิ์ พระวิหารทิศเหนือ องค์พระปฐมเจดีย์ โดยริ้วกระบวนพระอิสริยยศพิเศษ และยกสัปตปฎลเศวตฉัตรกางกั้นพระพุทธรูปปางประสูติ
      • แต่งกายชุดปกติขาว
  • วันพุธที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555
    • เวลา 10.00 น. ลอยพระสรีรางคาร ณ ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
      • แต่งกายชุดปกติขาว

พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ แก้

การพระราชทานเพลิงพระบุพโพ แก้

วันพุธที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2555 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ หม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคล เสด็จแทนพระองค์ไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เสด็จถึง ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระศพ ทรงกราบ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร ทรงกราบ ตำรวจหลวงขึ้นเปลื้องพระโกศทองใหญ่ที่ทรงพระศพออก เจ้าพนักงานสนมพลเรือนเชิญพระลองลงจากพระแท่นสุวรรณเบญจดล เข้าบริเวณพระฉากที่กั้นไว้บริเวณมุขด้านทิศใต้ เชิญพระลองตั้งไว้บนพระแท่นไม้ปิดทอง เจ้าพนักงานภูษามาลายกพระลองขึ้นจากฐานเล็กน้อย แล้วเอากระดาษฟางเข้าชำระบริเวณใต้พระลอง ระหว่างนี้เจ้าพนักงานเชิญถ้ำพระบุพโพออกเชิญลงหีบปิดทอง และจัดสัปตปฎลเศวตฉัตรกางกั้นแทนเบญจปฎลเศวตฉัตร เมื่อชำระพระลองสะอาดแล้วจึงนำกระดาษที่ชำระใส่ลงในหีบพระบุพโพ เจ้าพนักงานเชิญพระลองกลับขึ้นประดิษฐานบนพระแท่นสุวรรณเบญจดล ประกอบพระโกศทองใหญ่ เจ้าพนักงานสนมพลเรือนเชิญหีบพระบุพโพลงจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ออกทางประตูกำแพงแก้ว ขึ้นประดิษฐานบนรถวอพระวิมาน ไปยังพระเมรุ วัดเทพศิรินทราวาส ในโอกาสนี้หม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคล ประทับรถยนต์ที่นั่งตามขบวนอัญเชิญพระบุพโพ โดยมีประชาชนรอถวายสักการะพระบุพโพตลอดสองข้างทาง เมื่อขบวนถึงพระเมรุ วัดเทพศิรินทราวาส แตรวงบรรเลงเพลงมหาชัย เจ้าพนักงานเชิญหีบพระบุพโพขึ้นประดิษฐานในเตาเผาพระบุพโพ ภายในพระเมรุ พลเรือเอก หม่อมเจ้าปุสาณ สวัสดิวัฒน์ ทรงทอดผ้าสดับปกรณ์พระบุพโพ พระสงฆ์สดับปกรณ์เสร็จแล้ว ทรงจุดธูปเทียนช่อดอกไม้จันทน์ พระราชทานเพลิงพระบุพโพแทนพระองค์ และทรงวางช่อดอกไม้ของส่วนองค์ถวายพระเพลิงพระบุพโพ จากนั้นพระบรมวงศานุวงศ์ พระประยูรญาติ ข้าราชการ ข้าราชบริพารในพระองค์ ขึ้นวางช่อดอกไม้จันทน์ถวายพระเพลิงพระบุพโพ

พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุ แก้

วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน พุทธศักราช 2555 เวลา 17.27 น. พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุ พระราชทานพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง โอกาสนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ โดยเสด็จด้วย ในการนี้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะพระศพ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชา พระพุทธรูปประจำพระชนมวารของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ถวายพัดรองที่ระลึกงานออกพระเมรุ แด่สมเด็จพระราชาคณะ คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะที่ถวายพระธรรมเทศนา และพระสงฆ์สวดศราทธพรต 30 รูป พระสงฆ์ที่จะสดับปกรณ์ 86 รูปเท่าพระชันษาสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณวดี

บรรพชิตจีนและญวน 20 รูป ถวายไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์และทอดผ้าไตร ถวายพระเทศน์ พระสวดศราทธพรต พระสงฆ์เท่าพระชันษา บรรชิตจีนและญวน สดัปกรณ์ ถวายอนุโมนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา ทรงจุดธูปเทียนที่พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ[3]

พระราชพิธีเชิญพระโกศออกพระเมรุ แก้

วันจันทร์ที่ 9 เมษายน พุทธศักราช 2555 เวลา 07.07 น. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พร้อมด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ(ยศในขณะนั้น), พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โดยเป็นพระราชพิธีในช่วงเช้า ซึ่งเป็นการอัญเชิญพระโกศพระศพออกพระเมรุ จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ไปยังพระเมรุ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

ริ้วกระบวนที่ ๑ แก้

ริ้วขบวนที่ 1 เชิญพระยานมาศสามลำคานออกจากพระบรมมหาราชวัง เคลื่อนออกไปตามถนนมหาราช เลี้ยวซ้ายเข้าถนนท้ายวัง ถนนสนามไชย โดยมีพระพรหมมุณี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร นั่งบนเสลี่ยงกลีบบัวอ่านพระอภิธรรมนำขบวน ตามด้วยเจ้าพนักงานประโคมดนตรี พระยานมาศสามลำคานประดิษฐานพระโกศ ขนาบด้วยเครื่องอภิรุมชุมสาย และเครื่องสูงทองแผ่ลวด ขบวนเสด็จของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ขนาบด้วยผู้เชิญเครื่องสูง เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เครื่องราชูปโภค และ ฉลองพระองค์ ซึ่งจะร่วมในขบวนเสด็จฯ ตลอดถึงริ้วขบวนที่ 3 ตามด้วยขบวนพระประยูรญาติ นอกจากนี้ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ลูกเสือ เนตรนารี นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

เมื่อพระยานมาศสามลำคานเคลื่อนถึงบริเวณหน้าหน่วยบัญชาการกำลังสำรอง ที่พระมหาพิชัยราชรถจอดรออยู่ ขบวนพระยานมาศจะเวียนซ้าย ริ้วขบวนที่ 1 จะเข้ารวมกับริ้วขบวนที่รออยู่แล้ว โดยต้นขบวนอยู่ที่กระทรวงกลาโหม ส่วนท้ายขบวนอยู่ที่โรงเรียนราชินี พระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินไปพักคอย ณ พลับพลายกหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เจ้าพนักงานเชิญพระโกศเทียบท้ายเกรินบันไดนาค และเชิญสัปตปฎลเศวตฉัตรคันดาลอีกองค์หนึ่งติดตั้งที่ท้ายเกรินเพื่อกางกั้นพระโกศ พระพรหมมุณีลงจากพระเสลี่ยงกลีบบัวขึ้นราชรถน้อย จากนั้นพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จลงจากพลับพลายก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงทอดผ้าไตร ณ ท้ายเกริน พระสงฆ์ 20 รูป สดับปกรณ์ แล้วเจ้าพนักงานภูษามาลาเข้าประจำท้ายเกริน และด้านหน้าและหลังพระมณฑปพระมหาพิชัยราชรถ เจ้าพนักงานเชิญพระโกศขึ้นสู่พระมหาพิชัยราชรถ แตรวงบรรเลงเพลงมหาชัยเมื่อพระโกศเข้าประดิษฐานที่พระมหาพิชัยราชรถแล้ว เจ้าพนักงานเลื่อนเกรินออกจากพระมหาพิชัยราชรถ สารถีพระมหาพิชัยราชรถ เข้าประจำที่หน้าพระมณฑป พลฉุดชักราชรถถวายบังคมพระโกศ เจ้าพนักงานคุมขบวนรัวกรับพวงให้สัญญาณครั้งที่หนึ่ง ริ้วขบวนกลับหลังหัน พลฉุดชักนำห่วงคล้องที่บ่า สัญญาณกรับครั้งที่สองพร้อมแตรเป่า เตรียมเคลื่อนริ้วขบวน สัญญาณกรับครั้งที่สามพร้อมแตรเป่า เคลื่อนริ้วขบวนที่ 2

ริ้วกระบวนที่ ๒ แก้

 
ริ้วขบวนที่ ๒ เชิญพระมหาพิชัยราชรถทรงพระศพสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เคลื่อนจากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ไปยังมณฑลพระราชพิธีท้องสนามหลวง

ริ้วขบวนที่ 2 เชิญพระมหาพิชัยราชรถทรงพระโกศ เคลื่อนไปตามถนนสนามไชย ถนนราชดำเนินใน ผ่านพลับพลายกหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท ซึ่งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ เฝ้าฯ ถวายบังคมพระโกศ จากนั้นริ้วขบวนจะผ่านกระทรวงกลาโหม เข้าสู่ถนนกลางท้องสนามหลวง และเคลื่อนเข้ามณฑลพระราชพิธี โดยมีนักเรียนเตรียมทหาร 180 นาย ยืนเป็นแถวเกียรติยศรายทาง ริ้วขบวนประกอบด้วย ม้านำ 2 ม้า วงโยธวาธิตกองดุริยางค์ทหารบกบรรเลงเพลงพญาโศกลอยลม ตามด้วยกองพันทหาร จัดจากกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายเรือ และโรงเรียนนายเรืออากาศ ตามลำดับ ตามด้วยราชรถพระนำ มีพลฉุดชักรวม 74 นาย นักเรียนเตรียมทหาร 280 นาย เป็นชาวพนักงานกลองชนะ พระมหาพิชัยราชรถ ขนาบด้วยเครื่องอภิรุมชุมสาย และเครื่องสูงทองแผ่ลวด มีพลฉุดชักจากกรมสรรพาวุธทหารบก 221 นาย ตามด้วยขบวนเสด็จฯ ขบวนข้าราชการ ทหาร ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ พระประยูรญาติ สมาชิกในราชสกุลในราชวงศ์จักรี ข้าราชบริพารในพระองค์ฯ เจ้าหน้าที่มูลนิธิในพระองค์ฯ ตามด้วยขบวนนิสิต นักศึกษา นักเรียนจากสถาบันการศึกษา 8 สถาบัน เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ตามด้วยกองพันทหารอีก 5 กองพัน จัดจากกองพันทหารม้าที่ 1 กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 กองพันทหารช่างที่ 1 กองพันทหารราบที่ 9 รักษาพระองค์ กองพันทหารนาวิกโยธินที่ 1 และ กองพันที่ 1 กรมทหารอากาศโยธิน รักษาพระองค์ ปิดริ้วขบวน

เมื่อพระมหาพิชัยราชรถเคลื่อนมายังกลางท้องสนามหลวงแล้ว เจ้าพนักงานเคลื่อนเกรินเทียบ พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินยังพลับพลายก ณ มณฑลพระราชพิธี เพื่อทอดพระเนตรการเชิญพระโกศลงจากพระมหาพิชัยราชรถสับเปลี่ยนมายังพระยานมาศสามลำคาน เมื่อพระโกศประดิษฐานบนพระยานมาศแล้ว เจ้าพนักงานภูษามาลา และพลฉุดชักพระมหาพิชัยราชรถ ถวายบังคมพระโกศ พลแบกหามเคลื่อนพระยานมาศสู่มณฑลพระราชพิธี แล้วเจ้าพนักงานคุมริ้วขบวนให้สัญญาณกรับ เพื่อเคลื่อนริ้วขบวนที่ 3 แตรวงบรรเลงเพลงมหาชัย

ริ้วกระบวนที่ ๓ แก้

ริ้วขบวนที่ 3 เคลื่อนเวียนโดยอุตราวัฎ (เวียนซ้าย) รอบพระเมรุ 3 รอบ ริ้วขบวนนำโดยเสลี่ยงกลีบบัวเชิญพระสวดพระอภิธรรม พระยานมาศสามลำคาน ตามด้วยขบวนเสด็จฯ พระประยูรญาติ ข้าราชบริพารในพระองค์ฯ และสมาชิกราชสกุล ระหว่างเคลื่อนริ้วขบวน ทหารปืนใหญ่ยิงสลุดถวายนาทีละ 1 นัด เมื่อเคลื่อนขบวนครบสามรอบแล้ว พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินยังพระที่นั่งทรงธรรม พลแบกหามเคลื่อนพระยานมาศเทียบสะพานเกรินทางทิศใต้ของพระเมรุ เจ้าพนักงานเคลื่อนพระโกศมายังท้ายเกริน แล้วเลื่อนเกรินเชิญพระโกศสู่พระจิตกาธานภายในพระเมรุ จากนั้นเจ้าพนักงานภายในพระเมรุปิดพระวิสูตร (ม่าน) และพระฉาก เปลื้องพระโกศทองใหญ่เพื่อถวายการประกอบพระโกศจันทน์ จากนั้น พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ขึ้นสู่พระเมรุ ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระศพ แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ

พระราชทานเพลิงพระศพ แก้

พระราชพิธีทางการ แก้

วันจันทร์ที่ 9 เมษายน พุทธศักราช 2555 เวลา ๑๖.๓๐ น. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากโรงพยาบาลศิริราช ไปยังราชวัติพระเมรุ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ครั้นรถยนต์พระที่นั่งเทียบที่หลังพระที่นั่งทรงธรรม ทหารกองเกียรติยศ ถวายความเคารพ แตรวงบรรเลง เพลงสรรเสริญพระบารมี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินโดยลิฟท์พระที่นั่งขึ้นสู่พระที่นั่งทรงธรรม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ รศ.นพ.ประดิษฐ์ ปัญจวีณิน เป็นผู้ถวายการรถเข็นพระที่นั่ง ตำรวจหลวงและทหารราชองครักษ์ เชิญธงชัยราชกระบี่ยุทธ และธงชัยพระครุฑพ่าห์นำหน้า

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประทับพระราชอาสน์ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม จากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย สำหรับพระศพทรงธรรมที่พระเมรุ ทรงศีล สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศฯ ถวายศีล และถวายพระธรรมเทศนากัณฑ์อนัตตา แล้ว พระสงฆ์ 50 รูปสวดศราทธพรตจบ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์ และทรงทอดผ้าไตรถวายพระราชาคณะที่ถวายพระธรรมเทศนาและพระสงฆ์ 50 รูปสวดศราทธพรตสดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา จากนั้นพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินขึ้นพระเมรุโดยลิฟท์พระที่นั่ง พร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร, สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระบรมวงศานุวงศ์

เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงพระเมรุแล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงวางเครื่องราชสักการะพระศพ กองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ แตรเดี่ยวเป่าสัญญาณนอน จากนั้นทั้งสองพระองค์ทรงจุดดอกไม้จันทน์พระราชทานเพลิงและถวายบังคม ชาวพนักงานประโคมสังข์ แตรฝรั่ง ปี่พาทย์ กลองชนะ กองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงมหาชัย กองร้อยปืนใหญ่ยิงสลุตถวาย 21 นัด (ความเร็ว 4 วินาทีต่อนัด) กองทหารเกียรติยศยิงปืนเล็กถวาย 9 ชุด (ความเร็ว 10 วินาทีต่อชุด) จากนั้น พระบรมวงศานุวงศ์ ถวายดอกไม้จันทน์และถวายบังคมทางทิศใต้ของพระจิตกาธาน ระหว่างนั้นพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินกลับไปประทับที่มุขหน้าพระที่นั่งทรงธรรม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินจากพระเมรุโดยลิฟท์พระที่นั่งไปประทับ ณ มุขหน้าพระที่นั่งทรงธรรม จากนั้น พระสงฆ์ พระราชาคณะ บรรพชิต สมาชิกราชสกุล ประธานองคมนตรี องคมนตรี นายกรัฐมนตรี อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา ประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ทูตานุทูต ผู้แทนผู้นำจากต่างประเทศ รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ปลัดกระทรวง ผู้บัญชาการทหาร ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ข้าราชการ ตัวแทนหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานเอกชน ถวายดอกไม้จันทน์ เสร็จแล้วพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินกลับ

พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพจริง แก้

วันจันทร์ที่ 9 เมษายน พุทธศักราช 2555 เวลา 21.55 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พร้อมด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ(ยศในขณะนั้น), สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร โดยรถยนต์พระที่นั่งจากวังศุโขทัย ไปยังพระที่นั่งทรงธรรม ภายในราชวัติพระเมรุ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ จากนั้น ทรงทอดผ้าไตร ถวายพระสงฆ์ 30 รูป สดับปกรณ์

เวลา 22.13 น.พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากโรงพยาบาลศิริราช ยังมณฑลพระราชพิธีฯ เมื่อรถพระที่นั่งเทียบที่หน้าพระที่นั่งทรงธรรม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่เตาพระราชทานเพลิงทางทิศตะวันออกของพระจิตกาธาน เจ้าพนักงานพระราชพิธีทูลเกล้าฯ ถวายมะพร้าว แล้วทรงสรงน้ำมะพร้าวแก้วที่พระโกศพระศพ เจ้าพนักงานเชิญพระโกศพระศพเข้าสู่เตา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงจุดธูปเทียนดอกไม้จันทน์พระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาทชั้นผู้ใหญ่ ขึ้นถวายพระเพลิงพระศพ จากนั้นพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประทับบนพระเมรุสักครู่หนึ่ง แล้วเสด็จลงจากพระเมรุ ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จฯ กลับ

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เมื่อพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์เสด็จฯ ลงจากพระเมรุ เจ้าพนักงานเริ่มปฏิบัติการถวายพระเพลิงพระศพ ระหว่างนั้นนักแสดงจากกรมศิลปากร ทูลเกล้าฯ ถวายการแสดงโขนหน้าพระเมรุ เรื่องรามเกียรติ์ ชุด นางลอย เมื่อการแสดงจบซึ่งเจ้าพนักงานปฏิบัติการถวายพระเพลิงพระศพเสร็จแล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จขึ้นพระเมรุ ทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์ 10 รูป สดับปกรณ์ที่เตาพระราชทานเพลิง เสร็จแล้ว เสด็จพระราชดำเนินกลับโดยรถยนต์พระที่นั่ง ออกจากพระที่นั่งทรงธรรม

พระราชพิธีเก็บพระอัฐิ แก้

วันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 08.00 น. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์มายังพระที่นั่งทรงธรรม ท้องสนามหลวง ในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชพิธีเก็บพระอัฐิ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

การเก็บพระอัฐิและพระสรีรางคาร แก้

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จขึ้นพระเมรุ ทรงจุดธูปเทียนถวายราชสักการะพระอัฐิ ทรงสรงพระอัฐิด้วยน้ำพระสุคนธ์ทั่วแล้ว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสำหรับพระอัฐิบูชาพระสงฆ์ ทรงทอดผ้าไตรสามหาบ พระสงฆ์ 6 รูปขึ้นสดับปกรณ์พระอัฐิ พระสงฆ์สดับปกรณ์ครบ 6 รูปแล้ว ทรงเก็บพระอัฐิ จุ่มน้ำพระสุคนธ์ในขันทองคำลงยา ทรงวางในพระโกศทองคำลงยาและพระโกศพระอัฐิที่จะประดิษฐาน ณ วังรื่นฤดี ทรงโปรดให้เจ้าพนักงานเชิญพระโกศพระอัฐิลงจากพระเมรุ ส่วนพระสรีรางคารแบ่งเป็นสองส่วน แล้วโปรดให้พักไว้บนพระเมรุ เจ้าพนักงานเชิญพระโกศพระอัฐิเข้าประดิษฐานในบุษบกแว่นฟ้า ภายในพระที่นั่งทรงธรรม ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะและเครื่องทองน้อยบูชาพระอัฐิ ทรงประเคนโตกสำรับภัตตาหารสามหาบแด่พระสงฆ์ 6 รูป เมื่อพระสงฆ์สามหาบฉันเสร็จแล้ว ทรงทอดผ้าสดับปกรณ์พระอัฐิ เสด็จฯ ไปถวายบัตรรับเครื่องสังเค็ดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพรวม ๓๖ พระอาราม

ริ้วกระบวนที่ ๔ แก้

 
ริ้วขบวนที่ ๔ อัญเชิญพระอัฐิและพระราชสรีรางคารของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เคลื่อนจากมณฑลพิธีท้องสนามหลวง เข้าสู่พระบรมมหาราชวัง

ต่อจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ตามขบวนเชิญพระอัฐิเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เพื่อทรงรอรับพระอัฐิ ยาตราขบวนพระอิสริยยศเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง พระวอสีวิกากาญจน์เชิญพระสรีรางคารแยกเข้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พักไว้ที่พระศรีรัตนเจดีย์ และขบวนพระที่นั่งราเชนทรยานเทียบที่เกยพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท ริ้วขบวนที่ 4 เชิญพระอัฐิและพระสรีรางคารประดิษฐาน ณ พระบรมมหาราชวัง โดยเคลื่อนจากมณฑลพระราชพิธี ถนนกลางท้องสนามหลวง ถนนราชดำเนินใน ถนนหน้าพระลาน เข้าสู่พระบรมมหาราชวังทางประตูวิเศษไชยศรี ริ้วขบวนเริ่มด้วยตำรวจม้า 2 นาย ธงสามชาย ประตูหน้า คู่แห่ทหารบก ทหารเรือ และ ทหารอากาศ รวม 276 นาย เครื่องประโคม ประกอบด้วยกลองชนะลายทอง ทอง และเงิน จ่าปี่ จ่ากลอง แตรฝรั่ง สังข์ เจ้าพนักงานประโคมกลองชนะจัดจากนักเรียนเตรียมทหาร 200 นาย พระที่นั่งราเชนทรยาน และพระวอสีวิกากาญจน์ ขนาบด้วยเครื่องอภิรุมชุมสายและเครื่องสูงทองแผ่ลวด ขบวนเสด็จของพระบรมวงศ์ ขบวนเชิญเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เครื่องราชูปโภค และเครื่องประกอบพระอิสริยยศ และขบวนของสมาชิกในราชสกุล

เมื่อริ้วขบวนถึงพระบรมมหาราชวังจะแยกเป็นสองสาย คือ สายพระราเชนทรยาน เคลื่อนผ่านประตูพิมานไชยศรี พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เข้าสู่เกยพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท และสายพระวอสีวิกาญจน์ เคลื่อนผ่านประตูกำแพงแก้ว วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อนำพระผอบพระสรีรางคารประดิษฐาน ณ พระศรีรัตนเจดีย์ เมื่อขบวนสายพระราเชนทรยานถึงเกยพระที่นั่ง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินขึ้นพระที่นั่งสมทบกับพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออกทรงรอรับพระอัฐิที่พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท ต่อจากนั้น ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะและเครื่องทองน้อยบูชาพระอัฐิ แล้วจึงเสด็จฯ กลับ

เชิญพระโกศพระอัฐิไปประดิษฐาน ณ วังรื่นฤดี แก้

เมื่อขบวนพระอิสริยยศ ริ้วที่ 4 เชิญพระโกศพระอัฐิไปประดิษฐานในพระบรมมหาราชวังแล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชานุญาตให้เชิญพระโกศพระอัฐิไปประดิษฐาน ณ พระวิมานวังรื่นฤดี โดยขบวนรถยนต์ นางสุรัสวดี กุวานนท์ แม็กซี่ พระภาคิไนยในพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 เป็นผู้อัญเชิญพระโกศพระอัฐิจากพระแท่นแว่นฟ้าบุษบกในพระที่นั่งทรงธรรมไปยังวังรื่นฤดี คณะครูและนักเรียน วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนราชินี โรงเรียนปรินส์รอแยลส์วิทยาลัย และโรงเรียนในพระอุปถัมภ์ ตั้งแถวส่งพระอัฐิที่ถนนกลางท้องสนามหลวง

ขบวนเชิญพระโกศพระอัฐิสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ไปประดิษฐาน ณ พระวิมานวังรื่นฤดี ประกอบด้วย รถจักรยานยนต์นำขบวน จากกองสันดิบาล ตำรวจนครบาล รถยนต์พระที่นั่งเชิญพระโกศพระอัฐิ เป็นรถยนต์คาร์ดิลแลคสีขาว ซึ่งเป็นรถยนต์พระที่นั่งส่วนพระองค์ขององค์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ปักธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายใน และรถยนต์ข้าราชบริพารจากกองราชพาหนะ สำนักพระราชวัง ขบวนเคลื่นออกจากท้องสนามหลวงไปตามถนนราชดำเนินเลี้ยวเข้าสู่ถนนนครสวรรค์ขึ้นทางพิเศษเฉลิมมหานคร ไปลงถนนสุขุมวิท เลี้ยวเข้าถนนสุขุมวิท 38 ถึงยังวังรื่นฤดี มีข้าหลวงฝ่ายในของวังรื่นฤดีเฝ้ารับพระอัฐิ จากนั้นนางสุรัสวดี กุวานนท์ แม็คซี่ เชิญพระโกศพระอัฐิไปยังท้องพระโรงวังรื่นฤดี เชิญขึ้นบนพระตำหนัก เข้าสู่ห้องนมัสการประดิษฐานบนพระวิมาน นางสุรัสวดี กุวานนท์ แม็คซี่ จุดธูปเทียนบูชาพระพุทธรูป และจุดธูปเทียนบูชาพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอัฐิพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และพระอัฐิสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นอันเสร็จพิธี

พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระอัฐิ แก้

วันพุธที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 16.30 น. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ พร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ(ยศในขณะนั้น) พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เสด็จถึง ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมอัฐิสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบรมอัฐิสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระอัฐิพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และพระบรมอัฐิสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมราชบุพการีที่เชิญออกประดิษฐานบนแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร และทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการพระอัฐิสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ณ พระแท่นสุวรรณเบญจดล จากนั้นพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ไปถวายพัดรองที่ระลึกงานทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระอัฐิ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี แด่สมเด็จพระราชาคณะ จากนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร สมเด็จพระบรมราชบุพการี และพระพุทธรูปประจำพระชนมวารสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ที่พระแท่นมณฑลมุก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมารทรงจุดธูปเทียนทรงจุดธูปเทียนสำหรับพระบรมอัฐิพระบรมราชบุพการีทรงธรรม และสำหรับสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีทรงธรรม พระสงฆ์ถวายพระธรรมเทศนาจบแล้ว ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์ ทรงทอดผ้าไตรสดับปกรณ์พระอัฐิสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระสงฆ์ 86 รูป สดับปกรณ์พระอัฐิ จากนั้นทรงทอดผ้าไตรสดับปกรณ์พระบรมอัฐิและพระอัฐิพระบรมราชบุพการี ทรงหลั่งทักษิโณทก ทรงกราบที่หน้าพระพุทธรูปประจำพระชนมวารพระบรมอัฐิ และพระอัฐิ ที่พระแท่นมณฑลมุก เสด็จฯ ไปทรงกราบพระบรมอัฐิและพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการี ที่หน้าพระแท่นนพปฎลเศวตฉัตร แล้วเสด็จฯ ไปทรงกราบพระอัฐิสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินกลับ

พระราชพิธีเชิญพระโกศพระอัฐิ แก้

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีเชิญพระโกศพระอัฐิสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ประดิษฐานที่พระวิมาน บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

วันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 10.30 น. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ มายังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงจุดธูปเทียนถวายราชสักการะพระอัฐิ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร พระสงฆ์ 30 รูปที่สวดพระพุทธมนต์ แต่วันก่อน สวดถวายพรพระ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงประเคนภัตตาหาร พระสงฆ์รับพระราชทานฉันแล้ว พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม ทรงศีล พระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนา ถวายอนุโมทนา พระสงฆ์ 4 รูป รับอนุโมทนา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์ และทรงทอดผ้าไตรถวายพระเทศน์และพระสงฆ์ที่สวดรับอนุโมทนา 5 รูป สดับปกรณ์ ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา พระสงฆ์ 86 รูป เท่าพระชันษาสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ขึ้นนั่งยังอาสนสงฆ์สวดมาติกา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์สดับปกรณ์เป็นเที่ยว ๆ จนครบ 86 รูป เจ้าพนักงานเทียบพระที่นั่งราเชนทรยาน ที่พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท ตั้งขบวนพระอิสริยยศ เชิญพระโกศพระอัฐิสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

ริ้วกระบวนที่ ๕ แก้

ริ้วขบวนที่ 5 เชิญพระอัฐิโดยพระที่นั่งราเชนทรยาน ไปยังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ประกอบด้วยเจ้าพนักงานเครื่องประโคม จัดจากนักเรียนเตรียมทหาร พระที่นั่งราเชนทรยานทรงพระอัฐิ ขนาบด้วยเครื่องสูงหักทองขวางทั้งด้านหน้าและด้านหลังพระยาน ขบวนเชิญเครื่องประกอบพระอิสริยยศราชูปโภค เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ขบวนเสด็จพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระบรมวงศานุวงศ์ และสมาชิกราชสกุล เมื่อริ้วขบวนยาตราถึงหน้าอัฒจันทร์มุขหน้าด้านตะวันออก พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เจ้าพนักงานเชิญพระอัฐิจากพระที่นั่งราเชนทรยานขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมาน (ยอดพระมหาปราสาทองค์กลาง) ชั้น 3 พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ เสด็จฯ ตาม เชิญพระโกศพระอัฐิขึ้นประดิษฐานที่พระวิมาน บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เมื่อประดิษฐานพระโกศพระอัฐิเรียบร้อยแล้ว พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมอัฐิและพระอัฐิ เสด็จไปยังหอพระทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการพระพุทธรูป เสด็จพระราชดำเนินกลับ

พระราชพิธีบรรจุพระสรีรางคาร แก้

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปทรงบรรจุพระสรีรางคาร สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ณ เสาวภาประดิษฐาน สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

ริ้วกระบวนที่ ๖ แก้

เวลา 16.30 น. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ โดยรถยนต์พระที่นั่งตาม กองทหารม้าตามเชิญพระสรีรางคาร สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี จากรถยนต์พระที่นั่งเข้าประตูวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ถนนราชบพิธ ไปยังพระอุโบสถ

พระราชพิธีเชิญพระสรีรางคารบรรจุ ณ สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม แก้

จากนั้นจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการพระพุทธอังคีรส ประธานพระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระราชสรีรางคารสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 และพระสรีรางคารสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์ 30 รูปสดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก เจ้าพนักงานภูษามาลาเชิญพระผอบพระสรีรางคาร สมเด็จพระเจ้าภคีนีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ไปยังเสาวภาประดิษฐาน สุสานหลวง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเลื่อนกล่องบรรจุพระสรีรางคารเข้าประดิษฐานภายในถ้ำศิลา ณ เสาวภาประดิษฐาน สุสานหลวง ทรงวางพวงมาลาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงจุดธูปเทียนเครี่องทองน้อยถวายสักการะพระอัฐิ เสด็จพระราชดำเนินกลับ

พิธีบรรจุพระสรีรางคารที่ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ แก้

วันพุธที่ 12 ธันวาคม 2555 เวลา 16.13 น. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เสด็จแทนพระองค์ ไปยังวัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ในการทรงบรรจุพระสรีรางคาร สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ที่ใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ ซึ่งหลังจากพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2555 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งพระสรีรางคารออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเชิญไปบรรจุที่เสาวภาประดิษฐาน ณ สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และอีกส่วนหนึ่งโปรดให้เชิญไปบรรจุที่ใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร ณ พระวิหารทิศเหนือ องค์พระปฐมเจดีย์ เคียงข้างพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระสรีรางคารพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เมื่อเสด็จถึงทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการพระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร ทรงกราบ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระสรีรางคารพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระสรีรางคารสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เสด็จไปประเคนพัดรองที่ระลึกแด่พระสงฆ์ ทรงศีล ทรงทอดผ้าสดับปกรณ์พระสรีรางคาร ทรงหลั่งทักษิโณทก เจ้าพนักงานเชิญกล่องบรรจุพระสรีรางคารไปยังหน้าที่บรรจุ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทรงเลื่อนพระสรีรางคารเข้าสู่ถ้ำศิลา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยทรงคม

จากนั้น ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิม และจับสายสูตรยกสัปตปฎลเศวตฉัตร หรือฉัตรขาว 7 ชั้นองค์ที่แขวนสุมพระอัฐิ ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง ถวายพระพุทธรูปปางประสูติ เพื่ออุทิศถวายเป็นพระกุศล ตามราชประเพณีที่จะเชิญฉัตรแขวนสุมพระอัฐิในงานพระเมรุ ไปถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธรูปสำคัญในพระอารามที่พระองค์ผู้สิ้นพระชนม์ทรงเคยอุปการะ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชศรัทธายิ่งต่อพระปฐมเจดีย์ ทรงสร้างพระร่วงโรจนฤทธิ์ และมีพระราชพินัยกรรมระบุให้เชิญพระบรมราชสรีรางคารไปบรรจุไว้ที่ใต้ฐานพระพุทธรูป อีกทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังสนามจันทร์ และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงซ้อมรบเสือป่าเป็นประจำทุกปี สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี จึงทรงพระศรัทธาทรงบำเพ็ญพระกุศล ณ วัดพระปฐมเจดีย์ และทรงเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์ รวมถึงทรงอุปถัมภ์บำรุงวัด และสถาบันการศึกษาของจังหวัดไว้เป็นจำนวนมาก ในการนี้ ท่านผู้บังคับการ ผู้บริหาร ผู้กำกับคณะ ครู และนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เข้าเฝ้าฯ รับเสด็จด้วย

อนึ่ง ในเวลา 13.00 นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ เจ้าพนักงานเชิญพระสรีรางคารที่พักไว้ภายในพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ขึ้นรถยนต์พระที่นั่ง ปักธงประจำพระอิสริยยศ เคลื่อนออกจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มายังวัดพระปฐมเจดีย์ แล้วเชิญพระสรีรางคารทั้งสองส่วนขึ้นพระราชกง แห่เป็นกระบวนพระอิสริยยศ มายังวิหารพระร่วง และเมื่อเสร็จการบรรจุพระสรีรางคาร เจ้าพนักงานได้เชิญพระสรีรางคารส่วนสุดท้ายซึ่งจะไปลอยยังทะเลอ่าวไทย ขึ้นพระราชกง แห่เป็นกระบวนพระอิสริยยศ กลับวังรื่นฤดี

ลอยพระสรีรางคาร แก้

วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม พุทธศักราช 2555 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลโท หม่อมเจ้าเฉลิมศึก ยุคล เสด็จแทนพระองค์ทรงลอยพระสรีรางคารพลเรือเอกหญิง สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ณ ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ไปลอยยังกลางทะเลอ่าวไทย บริเวณ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยเรือรบหลวงปัตตานี

เวลา 9 นาฬิกา 30 นาที พลโท หม่อมเจ้าเฉลิมศึก ยุคล เสด็จขึ้นเรือหลวงปัตตานี ทรงจุดธูปเทียนสักการะแม่ย่านางเรือ และกล่าวคำบูชาบูชาแม่ย่านางเรือรบหลวงปัตตานีเพื่อเชิญพระสรีรางคารขึ้นเรือ มีความดังนี้

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส (3 จบ)

นมตฺถุ นาวานิวาสินิยา เทวตาย อิมินา สกฺกาเรน นาวานิวาสินิง เทวตํ ปูเชมิ

ข้าพเจ้าขอนอบน้อมบูชาแม่ย่านางเรือ ผู้คุ้มครองรักษาเรือหลวงปัตตานี ด้วยเครื่องสักการะนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ข้าพเจ้า พร้อมคณะข้าราชบริพาร เชิญพระสรีรางคารสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ลงเรือลำนี้ไปลอยในทะเล

ขอแม่ย่านางเรือ ปฏิบัติสนองพระราชประสงค์ ให้เชิญพระสรีรางคารลงเรือได้ และโปรดคุ้มครองรักษาข้าพเจ้าและคณะข้าราชบริพาร ให้ประกอบพิธีลอยพระสรีรางคาร โดยสะดวกและสวัสดิภาพเทอญ

จบแล้วพลโท หม่อมเจ้าเฉลิมศึก ยุคล รอรับพระสรีรางคารบริเวณท้ายเรือ เวลา 9 นาฬิกา 37 นาที ขบวนเชิญพระสรีรางคารมาถึงท่าเทียบเรือ พลเรือเอกสุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เฝ้ารับพระสรีรางคาร เวลา 9 นาฬิกา 40 นาที นายประชุม เอี่ยมสะอาด เจ้าพนักงานภูษามาลา เชิญพระสรีรางคารขึ้นไปยังเรือหลวงปัตตานี ทหารเรือเป่าแตรถวายความเคารพ 1 ครั้ง เจ้าหน้าที่ได้เชิญธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายในและธงประจำพระยศพลเรือเอกหญิงขึ้นยอดเสาเรือ ขึ้นสู่ยอดเสากระโดงเรือ เมื่อเชิญพระสรีรางคารประดิษฐานบนโต๊ะหมู่บูชาท้ายเรือเรียบร้อยแล้ว พลเรือโท พิจารณ์ ธีรเนตร ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ทูลขอประทานอนุญาตออกเรือ เวลา 9 นาฬิกา 50 นาที เรือหลวงปัตตานีเคลื่อนออกสู่ทะเลอ่าวไทย เมื่อเรือหลวงปัตตานีผ่านเรือหลวงใดๆ ในอาณาบริเวณ ทหารในเรือหลวงลำนั้น ๆ ออกมาตั้งแถวถวายความเคารพพระสรีรางคาร และเป่าแตรเดี่ยวสัญญาณเคารพ 2 จบ ทุกลำ ตลอดจนเรือประมงของชาวบ้านเปิดหวูดถวายความเคารพพระสรีรางคาร ตลอดเส้นทางทะเล

เวลา 9 นาฬิกา 45 นาที เรือหลวงปัตตานีแล่นถึงที่หมาย และจอดลอยลำอยู่ พลโทหม่อมเจ้าเฉลิมศึก ยุคล ทรงจุดธูปเทียนที่กระทงเจ็ดสี และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยบูชาพระสรีรางคาร ทรงคม แล้วทรงกล่าวคำบูชาประกาศแก่เจ้าแม่นทีและท้าวสีทันดร ความว่า

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส (3 จบ)

นมตฺถุ อิมสฺสํ มหานทิยา อธิวตฺถานํ สุรกฺขนฺตานํ สพฺพเทวานํ อิมินา สกฺกาเรน สพฺพเทเว ปูเชม

ข้าพเจ้าทั้งหลายขอนอบน้อมบูชาเจ้าแม่นที ท้าวสีทันดร และเทพยดาทั้งหลายผู้สถิตคุ้มครองอยู่ในทะเลนี้ด้วยเครื่องสักการะนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ข้าพเจ้า พร้อมคณะข้าราชบริพาร มาปฏิบัติพระราชประสงค์ ด้วยทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศพระราชทานสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โดยลำดับ นับแต่สิ้นพระชนม์ จนพระราชทานเพลิงพระศพ บัดนี้จะได้เชิญพระสรีรางคารมาลอยทะเล เพื่อเจ้าแม่นที ท้าวสีทันดร เจ้าแห่งทะเลและปวงเทพยดาได้ถวายอารักขา

ขอเจ้าแม่นที ท้าวสีทันดร แม่ย่านางเรือ และเทพยดาทั้งหลาย จงถวายอนุโมทนาพระราชกุศล และปฏิบัติสนองพระราชประสงค์ อภิบาลดวงพระวิญาณสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ ให้ทรงพระสำราญเกษมสุขในทิพยสถาน เป็นนิจนิรันดรเทอญ

แล้วเจ้าพนักงานผูกสาแหรกและเชิญกระทงเครื่องขมา และพระผอบพระสรีรางคาร เพื่อเตรียมลอยลงสู่ทะเลอ่าวไทย เวลา 10 นาฬิกา 52 นาที พลโท หม่อมเจ้าเฉลิมศึก ยุคล ทรงโปรยเหรียญ 10 บาท ที่ระลึกงานฉลองพระชนมายุ 7 รอบ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี จำนวน 7 เหรียญ ลงในทะเล ทรงจับสายสูตรหย่อนกระทงเครื่องขมา ทรงจับสายสูตรเชิญพระผอบพระสรีรางคารลงสู่ทะเล ขณะนั้นทหารเรือเป่าสัญญาณนอน จบแล้ว พลโท หม่อมเจ้าเฉลิมศึก ยุคล ทรงทิ้งพวงมาลัยและโปรยกลีบดอกกุหลาบ ดอกมะลิ ลงทะเล ข้าราชบริพารทิ้งพวงดอกไม้ พวงมาลัย โปรยดอกไม้สักการะพระสรีรางคาร ทหารเรือเปิดเพลงคงคาพาครวญ โดยเป็นพระสุรเสียงสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีทรงขับร้อง ออกลำโพงขยายเสียง ผู้บังคับการเรือหลวงปัตตานีสั่งเวียนเรือรอบที่ลอยพระสรีรางคาร 3 รอบ จากนั้นเรือหลวงปัตตานีเดินทางกลับท่าเทียบเรือแหลมเทียนในเวลา 12 นาฬิกา 10 นาที เป็นอันเสร็จพิธี

รายพระนามและรายนามผู้เชิญเครื่องพระอิสริยยศในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ แก้

รายพระนามและรายนามผู้เชิญเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เครื่องราชูปโภค เครื่องประกอบพระอิสริยยศ และฉลองพระองค์ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ เรียงพระนามและนามตามลำดับเครื่องราชอิสสริยยศในกระบวน (วงเล็บหลังพระนามและนามคือรายชื่อเครื่องประกอบพระอิสริยยศที่ทรงเชิญและเชิญ)

ของที่ระลึกเนื่องในพระราชพิธีพระศพ แก้

เข็มที่ระลึกสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี แก้

สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดทำเข็มที่ระลึก สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เนื่องในโอกาสพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เพื่อให้ประชาชนร่วมกับรัฐบาลน้อมเกล้าฯ แสดงความจงรักภักดี และนำรายได้ทูลเกล้าฯ ถวายสมทบมูลนิธิเพชรรัตน - สุวัทนา ซึ่งมี อักษรพระนาม พ.ร. ภายใต้พระชฎามหากฐินรัชกาลที่ 6 และอุณาโลมเลียนลักษณะเลข 6 ทำด้วยโลหะชุบทอง หมายถึง สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชธิดาในรัชกาลที่ 6 มีพระขัตติยชาติอันประเสริฐดั่งทองนพคุณ

อักษร พ. และ ร. ลงยาสีชมพู หมายถึงวันอังคารอันเป็นวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และเป็นพระกุลทายาทแห่งจุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์ เป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เสด็จพระราชสมภพในวันอังคารดุจเดียวกัน

อักษรพระนามประดิษฐานบน พื้นเข็มลงยาสีขาว หมายถึงความบริสุทธิ์แห่งพระจริยวัตร เงาเมฆเบื้องหน้า หมายความว่าพระองค์ได้สิ้นพระชนม์เสด็จกลับคืนสู่ทิพยโลกแล้ว ฉากท้องฟ้าเบื้องหลังลงยาสีฟ้า หมายถึงภพเบื้องสูงอันสมควรแก่พระกุศลที่ทรงบำเพ็ญมาตลอดพระชนมชีพ รัศมีสายฟ้าบนท้องฟ้าเบื้องหลัง เป็นรัศมีของพระบรมราชสัญลักษณ์วชิราวุธในรัชกาลที่ 6 หมายความถึงการสืบสานพระราชกรณียกิจ และน้ำพระทัยอันเปี่ยมด้วยพระกตัญญุตาธรรมที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงมีต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาจนตลอดพระชนมชีพ จักเรืองรองเป็นเครื่องเชิดชูพระเกียรติคุณให้สว่างไสวเจิดจรัสตราบกาลนาน

ด้านหลังมีข้อความ 24 พ.ย.2468 ซึ่งเป็นวันประสูติ และ 27 ก.ค.2554 ซึ่งเป็นวันสิ้นพระชนม์ เบื้องล่างมีดวงตราประจำสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

เพลงที่ระลึก เนื่องในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ แก้

บทเพลงชุด “เพชรรัตนาลัย” แก้

กรมศิลปากรจัดทำ 3 บทเพลงถวายอาลัยสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นเพลงชุด “เพชรรัตนาลัย” โดยนำคำประพันธ์มาบรรจุลงในทำนองเพลงไทยเดิม ประกอบด้วย เพลงเพชร-ใบไม้ร่วง-พสุธากันแสง บันทึกลงแผ่นซีดี

  • "เพลงเพชร" ผู้เขียนบทร้อง คือนายวัฒนะ บุญจับ นักอักษรศาสตร์ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ผู้ขับร้องคือนางดวงดาว เถาว์หิรัญ นักร้องคีตศิลป์ของกรมศิลปากร
  • เพลง "ใบไม้ร่วง" บทร้องโดยเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ทำนองโดยธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ขับร้องโดยปาน-ธนพร แวกประยูร ศิลปินนักร้อง
  • เพลง "พสุธากันแสง" บทร้องโดยชาลี อินทรวิจิตร ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง ขับร้องโดย กุ้ง- สุทธิราช วงศ์เทวัญ ศิลปินนักร้องลูกทุ่ง

วันที่ 29 มีนาคม มีการแถลงข่าวภาพรวมภารกิจงานของกรมศิลปากร ในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ อย่างเป็นทางการ และจะมีการมอบซีดีให้สื่อมวลชนและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อทำหน้าที่เผยแพร่สู่สาธารณชนทางสื่อต่างๆ คือ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เสียงตามสายในแหล่งชุมชน ตลอดจนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการฯ และเนื้อเพลงฯ ทางสื่อสิ่งพิมพ์ ก่อนช่วงพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ ขณะเดียวกันทางกระทรวงวัฒนธรรมได้นำบทเพลง ลงเว็บไซต์ของกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อให้ประชาชนสามารถดาวน์โหลดได้ เนื่องจากซีดีที่จัดทำไว้มีจำนวนจำกัด ทั้งนี้ เพื่อเป็นสื่อกลางให้พสกนิกรชาวไทย ได้ร่วมกับรัฐบาล ในการถวายพระเกียรติ และสำนึกในพระกรุณาธิคุณ ตลอดจนถวายความอาลัยแด่ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

เหรียญที่ระลึกในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ แก้

 
แบบเหรียญที่ระลึก ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ

สำนักงานทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ได้จัดทำเหรียญที่ระลึก เนื่องในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โดยมี 3 แบบ คือ[4]

  • เหรียญทองคำธรรมดา เส้นผ่านศูนย์กลาง 26 มิลลิเมตร น้ำหนัก 15 กรัม จำหน่ายเหรียญละ 30,000 บาท
  • เหรียญเงินรมดำพ่นทรายพิเศษ เส้นผ่านศูนย์กลาง 30 มิลลิเมตร น้ำหนัก 15 กรัม จำหน่ายเหรียญละ 1,500 บาท
  • เหรียญทองแดงรมดำพ่นทราย เส้นผ่านศูนย์กลาง 30 มิลลิเมตร น้ำหนัก 13 กรัม จำหน่ายเหรียญละ 100 บาท

ลักษณะของเหรียญที่ระลึก แก้

เหรียญที่ระลึกในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ มีลักษณะดังนี้

  • ด้านหน้า พระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โดยเป็นพระฉายาลักษณ์ที่ประชาชนคุ้นเคย ด้วยพระพักตร์ที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตา ทรงฉลองพระองค์เต็มยศ ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย มีข้อความว่า "สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี"
  • ด้านหลัง มีภาพพระเมรุที่ใช้ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ ด้านหลังภาพพระเมรุมีรูปแสงพระอาทิตย์แผ่รัศมีผ่านปุยเมฆ สื่อความหมายว่า แสงสุดท้ายและเป็นการน้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย มีข้อความว่า "อนุสรณ์พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ 9 เมษายน 2555" และ "24 พฤศจิกายน 2468 - 27 กรกฎาคม 2554"

การเปิดจำหน่าย แก้

เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ ได้มีการเปิดจำหน่ายพร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2555 ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และในวันที่ 8-10 เมษายน พ.ศ. 2555 จะได้เปิดจำหน่ายแก่ประชาชนที่เข้าร่วมพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ บริเวณแม่พระธรณีบีบมวยผม ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร[5] นอกจากนี้ สำหรับประชาชนที่เข้าชมพระเมรุ ได้มีการจัดจำหน่ายเหรียญที่ระลึก บริเวณกองอำนวยการ (ศาลาลูกขุน) โดยจะจัดจำหน่ายจนกว่าจะปิดการเข้าชมพระเมรุ[6]

นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ แก้

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชดำริให้ไปจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นการถาวรขึ้นที่พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม แทนการจัดนิทรรศการชั่วคราวที่พระเมรุอย่างในอดีต ซึ่งจำเป็นต้องรื้อถอนไป ถ้านำงบประมาณส่วนนี้ไปจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติเป็นการถาวรภายในพระราชวังสนามจันทร์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีกับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีทรงร่วมกันบูรณะก็จะเป็นประโยชน์ยั่งยืนกว่า ทั้งนี้จะได้เป็นการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทั้งสามพระองค์ด้วย โดยจัดแสดงภายในพระที่นั่งพิมานปฐม พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี และพระที่นั่งวัชรีรมยา โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน กล่าวคือ

  • ส่วนที่ 1 นิทรรศการถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ประกอบด้วย
    • ห้องปฐมบทแห่งยุทธศาสตร์
    • ห้องพระมหาธีรราชเจ้า'
    • ห้องเรี่องราวในพระราชหฤทัย
    • ห้องรัชสมัยแห่งการพัฒนา
    • ห้องประกาศพระบารมี
    • ห้องวิถีเรือน-วิถีรัฐ
    • ห้องขัตติยนารีจากฟ้า
    • ห้องเสด็จมาสู่ใจไทย
    • ห้องสายใยแห่งการทรงงาน
    • ห้องจริยการแห่งจอมปราชญ์
    • ห้องปฐมราชศรัทธา
  • ส่วนที่ 2 จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน โดยในปฐมฤกษ์ได้จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ แบ่งเป็นส่วนต่างๆ ดังนี้
    • ส่วนที่ 1 นำเสนอพระประวัติ พระจริยวัตร พระกรณียกิจ พระอัจฉริยภาพ ตั้งแต่ประสูติถึงสิ้นพระชนม์ ชุด ดวงแก้วที่จากไป คือดวงใจพสกนิกร ประกอบด้วย
      • ปฐมบทขัตติยนารี
      • มหาธีรราชธิดา
      • เวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง
      • เจ้าฟ้าหญิงแห่งกรุงสยาม
      • งามพระจริยา
      • วันเวลาในพระชนม์
      • ผลแห่งพระกรณียกิจ
      • ชีวิตชีวาแห่งศาสตร์ศิลป์
      • เพื่อแผ่นดินและปวงประชา
      • ดวงแก้วกลับฟ้าสุราลัย
    • ส่วนที่ 2 นำเสนอภาพถ่ายและเนื้อหาเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องพระเมรุ ราชประเพณีในงานพระศพ พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร เครื่องราชูปโภค เครื่องราชอิสริยาภรณ์
    • ส่วนที่ 3 นำเสนอพระฉายาลักษณ์และข้อความน้อมส่งเสด็จฯ เนื้อหา แบบร่าง และภาพถ่ายเกี่ยวกับการออกพระเมรุ การก่อสร้างพระเมรุ เครื่องยอดพระเมรุ ลักษณะเฉพาะของพระเมรุ พระโกศจันทน์ พระโกศพระอัฐิ เทวดาตือแว่นแก้ว ฉากบังเพลิง รูปสัตว์ป่าหิมพานต์
    • ส่วนที่ 4 เนื้อหาภาพถ่ายในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ริ้วขบวนพระอิสริยยศ การพระราชพิธีเกี่ยวกับพระอัฐิและพระสรีรางคาร เครื่องประกอบพระราชพิธี เช่น พัดสังเค็ด เครื่องสังเค็ด ของที่ระลึก

อ้างอิง แก้

  1. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร. จดหมายเหตุงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศฯพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี. กรุงเทพฯ : บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด, พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2557. 1000 หน้า หน้า. ISBN 978-616-283-098-3
  2. สำนักพระราชวัง, หมายกำหนดการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ๘ - ๑๒ เมษายน ๒๕๕๕[ลิงก์เสีย]
  3. "พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุ วานนี้". Thai PBS.
  4. เปิดจำหน่ายเหรียญที่ระลึกอนุสรณ์พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ เก็บถาวร 2012-12-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เว็บไซต์ประชาสัมพันธ์พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ.
  5. ธนารักษ์เผยแนวคิดออกแบบเหรียญที่ระลึก อนุสรณ์พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ[ลิงก์เสีย], เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์.
  6. ประชาชนแห่ชมพระเมรุ ซื้อเหรียญที่ระลึกพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ[ลิงก์เสีย], เว็บไซต์ mcot.net.

บรรณานุกรม แก้