พจนานุกรมพุทธศาสนาจีน-สันสกฤต-อังกฤษ-ไทย

พจนานุกรมพุทธศาสนาจีน-สันสกฤต-อังกฤษ-ไทย เป็นพจนานุกรมศัพท์ทางพระพุทธศาสนามหายานเล่มแรกของไทย ที่รวบรวมคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนาจากพระไตรปิฎกจีน รวมถึงอรรถกถา และปกรณ์คัมภีร์ต่างๆ ภายในเล่มบรรจุคำศัพท์ทั้งภาษาจีน สันสกฤต บาลี มีคำแปลความหมายเป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทย เนื้อหาครอบคลุมทั้งพระพุทธศาสนามหายาน เถรวาท และลัทธิปรัชญาทั้งในอินเดีย จีน ญี่ปุ่น ตลอดจนขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมทางศาสนาของเอเชียตะวันออก จัดพิมพ์เผยแพร่โดยคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2519

ประวัติ แก้

แต่เดิมการศึกษาพระพุทธศาสนามหายานในประเทศไทยยังไม่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย ตำราสำหรับศึกษาค้นคว้ามีอยู่จำกัด ทำให้ผู้สนใจศึกษาเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในภาคภาษาจีนเป็นไปได้โดยลำบาก เนื่องจากพระธรรมคัมภีร์ในฉบับจีนนั้นมีอรรถะอันลึกซึ้งคัมภีรภาพยิ่งนัก ทั้งสำนวนการแปลก็เป็นภาษาเก่า มีสำนวนที่ยาก บางแห่งใช้คำน้อยแต่กินความมาก บุคคลทั่วไปที่แม้จะรู้ภาษาจีนก็ยังอาจทำความเข้าใจได้ไม่กระจ่าง จำเป็นต้องอาศัยคำอธิบายจากพจนานุกรมเฉพาะทางเพื่อค้นคว้าอ้างอิง สำหรับในประเทศจีนได้มีการทำพจนานุกรมอธิบายความศัพท์ทางพระพุทธศาสนามาแต่ครั้งโบราณแล้ว แม้นักปราชญ์ชาวตะวันตกก็ได้พยายามค้นคว้าและจัดทำขึ้น ดังที่ในอดีต อ.เสถียร โพธินันทะ ก็ได้อาศัย Dictionary of Chinese Buddhist Term ซึ่งรวบรวมโดย William Edward Soothill และ Lewis Hodous กับ A Sanskrit Chinese Dictionary ของ Ernest J. Eitel เป็นคู่มือในการเทียบศัพท์สันสกฤต-จีนเพื่อประกอบในการค้นคว้าและการแปล ซึ่งพจนานุกรมทั้งสองเล่มนี้ได้รับการยอมรับและใช้อ้างอิงในหมู่นักวิชาการด้านจีนศึกษาและพุทธศาสนามหายานตลอดมา ในระยะแรกพระภิกษุสามเณรฝ่ายจีนนิกายในประเทศไทย เมื่อจะศึกษาพระสูตรพระคัมภีร์ในพระไตรปิฎกจีน ก็ได้อาศัยพจนานุกรมพระพุทธศาสนาฉบับของนายแพทย์ เต็ง ฮก เป้า เป็นหลัก แต่เนื่องจากพจนานุกรมเล่มดังกล่าวมีคำอธิบายเป็นภาษาจีน จึงไม่สะดวกต่อการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ในประเทศไทย พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (โพธิ์แจ้งมหาเถระ) อดีตเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย ได้เล็งเห็นความสำคัญที่จะมีตำราหลักเป็นคู่มือในการค้นคว้าทำความเข้าใจคัมภีร์พระพุทธศาสนาในภาคภาษาจีน สำหรับคนไทยได้ใช้ศึกษา จึงตั้งคณะกรรมการดำเนินการจัดทำพจนานุกรมพระพุทธศาสนา จีน-สันสกฤต-อังกฤษ-ไทย ขึ้นชุดหนึ่ง โดยมีหลวงจีนใบฎีกาเย็นหงวน (ปัจจุบันคืออาจารย์กิตติ ตันทนะเทวินทร์) เป็นประธานดำเนินการ โดยในชั้นแรกได้ อ. สุชิน ทองหยวก ปธ.6 MA. Sanskrit (BHU) นักวิชาการภาษาสันสกฤตและพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นผู้จัดทำและรับผิดชอบภาษาอังกฤษ รวมถึงภาษาบาลีสันสกฤต ต่อมาจึงได้เชิญ อ.ทรงวิทย์ แก้วศรี ปธ.7 สำนักวัดเบญจมบพิตร M. Lib.Sc.(BHU) จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นผู้รับผิดชอบต่อจนแล้วเสร็จ และโดยที่เป็นเล่มแรกจึงต้องอาศัยการค้นคว้าข้อมูลค่อนข้างมาก รวมแล้วใช้เวลาดำเนินงานไม่น้อยกว่า 7 ปีจึงเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2519

พจนานุกรมพระพุทธศาสนามหายานฉบับเฉลิมพระเกียรติ แก้

หลังจากได้พิมพ์พจนานุกรมพระพุทธศาสนาเล่มแรกสำเร็จในปี พ.ศ. 2519 คณะสงฆ์จีนนิกายได้เล็งเห็นว่า พจนานุกรมเล่มเดิมนั้นได้อำนวยประโยชน์สมดังเจตนารมณ์และมีความแพร่หลายไปในระดับนานาชาติ จำเนียรกาลล่วงมาจนกระทั่ง พ.ศ. 2539 คณะผู้จัดทำเห็นสมควรที่จะตรวจสอบชำระปรับปรุงใหม่ให้มีความทันสมัยและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงได้เกิดโครงการพจนานุกรมพระพุทธศาสนามหายานฉบับเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีขึ้น ด้วยการอุปถัมภ์ของ พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (เย็นเต็ก) เจ้าคณะใหญ่จีนนิกายรูปปัจจุบัน วัดโพธิ์แมนคุณาราม กรุงเทพ ฯ โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านศาสนา ปรัชญา ภาษาศาสตร์ และนักวิชาการของคณะสงฆ์จีนนิกาย ช่วยกันยกร่างพจนานุกรมขึ้นใหม่ในลักษณะของกึ่งสารานุกรมซึ่งรวบรวมทั้งคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนาจากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา ปกรณ์พิเศษของนิกายต่าง ๆ ของทั้งเถรวาทและมหายาน โดยรวบรวมข้อมูลได้มากมายจากหลักฐานทั้งในฝ่ายบาลี สันสกฤต จีน ญี่ปุ่น ทิเบต เนื้อหาภายในบรรจุข้อมูลหลากหลาย อาทิ หลักธรรมนิกายต่างๆ ทั้งในยุคโบราณและปัจจุบัน เนื้อหาสาระจากคัมภีร์สำคัญ รวมถึงหลักปรัชญาอินเดียทั้งในและนอกพุทธศาสนา ชีวประวัติบุคคลสำคัญทางศาสนา สถานที่สำคัญในพระพุทธศาสนา หลักพิธีกรรมความเชื่อทางศาสนา โดยมีรูปภาพประกอบมากมาย ตลอดจนให้รายชื่อคำเทียบศัพท์ต่างๆ มากกว่า 25,000 คำ ตลอดจนการเทียบคำศัพท์จากภาษาจีนเป็นสันสกฤต เรียงตามลำดับขีดอักษรจีนและแปลเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ คาดว่าจะสำเร็จสมบูรณ์เป็นหนังสือชุดราว 7 เล่ม ปัจจุบันอยู่ในระหว่างดำเนินการจัดทำ และจะเสร็จสมบูรณ์ในราว พ.ศ. 2551