วัดโพธิ์แมนคุณาราม

วัดในกรุงเทพมหานคร

วัดโพธิ์แมนคุณาราม (จีน: 普門報恩寺) เป็นวัดฝ่ายมหายาน สังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย สืบทอดหลักธรรมคำสอนมาจากนิกายเซน สาขาหลินฉี (วิปัสสนา) และเป็นศูนย์กลางหลักธรรมคำสอนของนิกายวินัย และนิกายมนตรยานของศาสนาพุทธแบบทิเบต และเป็นศูนย์กลางการปกครองคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย และศูนย์กลางการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนของศาสนาพุทธนิกายมหายานและวัชรยานอีกทั้งเป็นแหล่งข้อมูลพุทธศาสนาฝ่ายมหายานของประเทศไทย

วัดโพธิ์แมนคุณาราม เมื่อปี 2564

วัดโพธิ์แมนคุณาราม (โพวมึ้งป่ออึงยี่) ตั้งอยู่ที่เลขที่ 323 ซอยสาธุประดิษฐ์ 19 (วัดโพธิ์แมน) ถนนสาธุประดิษฐ์ แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร 10120

ประวัติ

แก้

เริ่มก่อสร้างสถาปนาวัดเมื่อปี พ.ศ. 2502 โดยมีพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (โพธิ์แจ้ง) เจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย รูปที่ 6 เป็นผู้นำสร้าง พร้อมด้วยคณะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ พ่อค้า ประชาชนตลอดจนพุทธบริษัทชาวไทยและจีน ได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2503 มีเนื้อที่เนื้อที่ 12 ไร่เศษ ใช้ทุนทรัพย์ในการก่อสร้างประมาณ 30 ล้านบาท

ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2513 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธียกยอดฉัตรเจดีย์อุโบสถ และ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญอักษรพระปรมาภิไธย “ภปร“ ประดิษฐานหน้าบันอุโบสถ ปีพ.ศ. 2514 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามพระประธานอุโบสถว่า “พระพุทธวัชรโพธิคุณ“ และในปีเดียวกันนี้ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี) ทรงพระเมตตาประกาศให้เป็นวัดพัฒนาดีเด่นพร้อมประกาศนียบัตรจากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ แด่ท่านเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย (โพธิ์แจ้งมหาเถระ) ที่ได้สร้างและพัฒนาวัดจนเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง

สถาปัตยกรรม

แก้
 
พระพุทธรูปองค์ประธานของวัดโพธิ์แมน

วัดโพธิ์แมนสร้างตามหลักฮวงจุ้ย ลักษณะรถม้ากำลังลากราชรถ ซึ่งประตูทางเข้าวัดมีซุ้มประตู 5 ประตูเปรียบเหมือนม้าห้าตัว กำลังลากราชรถ คือ พระอุโบสถ อันมีพระศรีศากยมุนีพุทธเจ้าเป็นประธาน ตัวพระอุโบสถเป็นลักษณะผสมผสานระหว่าง พุทธศิลป ไทย จีน และธิเบต พระอุโบสถเป็นรูปทรงจีน พื้นหินขัดลายจีน สถาปัตยกรรมของวัดโพธิ์แมนเป็นฝีมือออกแบบโดยเจ้าคุณโพธิ์แจ้งมหาเถระ อดีตเจ้าคณะใหญ่สงฆ์นิกายจีน สำหรับถาวรวัตถุที่สำคัญ ๆ ของวัดมีอุโบสถ 3 ชั้น ยอดเป็นฉัตรเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ภายในประดิษฐาน “พระพุทธวัชรโพธิคุณ” ปิดทองเหลืองอร่าม พร้อมด้วยหมู่พระพุทธรูป 1,000 องค์ ซึ่งประดิษฐานอยู่บนเพดานทั้ง 3 ชั้นของอุโบสถ ฝาผนัง 2 ข้าง เป็นจิตรกรรมกระเบื้องโมเสครูปพระอรหันต์ 500 องค์

อีกด้านหนึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการออกบิณฑบาต โปรดสัตว์ในกรุงสาวัตถีประเทศอินเดียสมัยพุทธกาล ฐานและขั้นเป็นหินอ่อนอิตาลี เสาเป็นลวดลายตัวมังกร สลักปิดทอง หน้าพระอุโบสถ ประดิษฐานพระปรมาภิไธยย่อ “ภปร” รอบอุโบสถล้อมด้วยลูกกรงแก้ว มีเสมาหินอ่อนและแกะสลักด้วยรูปท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ และเครื่องหมายรูปวัชระธิเบต ด้านหน้าอุโบสถเป็นมหาวิหารท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ทิศ ภายในประดิษฐานพระศรีอารยเมตตรัยโพธิสัตว์ และท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ ด้านหน้ามหาวิหารจารึกอักขระภาษาจีนธิเบต แกะสลักด้วยไม้สักปิดทอง

 
สังขารของโพธิ์แจ้งมหาเถระในวิหารบูรพาจารย์

ด้านหลังอุโบสถเป็นวิหารบูรพาจารย์ ประดิษฐานสรีระร่างท่านเจ้าคณะใหญ่โพธิ์แจ้ง มหาเถระซึ่งนั่งสมาธิดับขันธ์ นอกจากนี้ ยังมีวิหารพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ (พระกวนอิมโพธิสัตว์) ปางสหัสกร ปางสหัสเนตร (พันมือ พันตา) ซึ่งเป็นวัตถุโบราณ แกะสลักด้วยไม้จันทน์หอมจากเมืองจีน สมัยราชวงศ์ถัง (อายุประมาณ 1,300 ปี) วิหารปรมจารย์ วิหารบรรพชน หอศึกษาปริยธรรม ประภาศวิทยาคาร ห้องสมุด หออาคันตุกะ หอวัตถุธรรม สำนักงานคณะกรรมการสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยหมู่กุฏิสงฆ์ เรียงรายอยู่อย่างเป็นระเบียบ ทางเดินส่วนใหญ่เป็นหินขัด ด้านนอกมีเจดีย์ทรงญี่ปุ่น 3 ชั้น ศาลาพระพรหม ประตูมังกร 9 ขด องค์พระปัทมคุรุสมภพวัชรจารย์ธิเบต เจดีย์ 7 ชั้นทรงจีน ศาลาเยาวราช วัชรเจดีย์ทรงธิเบตในอดีตเป็นสถานที่บรรจุสรีระของท่านเจ้าคุณโพธิ์แจ้งมหาเถระ

ด้านขวาของพระอุโบสถเป็นอาคารสำนักงานเจ้าคณะใหญ่จีนนิกายแห่งประเทศไทย ภายในจัดแสดง วัตถุโบราณล้ำค่ามากมาย เช่น พระพุทธรูป และพระโพธิสัตว์ และหยกแกะสลักเป็นพระโพธิสัตว์ห้าร้อยพระองค์ ตราประจำตำแหน่งพระสังฆนายกนิกายมนตรายาน คธาธุดงค์ พัดยศงาช้าง เป็นต้น

ถัดมาเป็นห้องเก็บพัดยศ อัฐบริขารฝ่ายมหายาน และ ห้องเก็บพระคัมภีร์ มนตรา ฝ่ายมหายาน ประตูด้านหน้าหอเก็บทาด้วยสีดำลงรักเขียนด้วยทองคำเป็นรูปภาพต่าง ๆ สวยงามมาก

หอพระไตรปิฏกฉบับมหายาน ซึ่งเป็นหอพระไตรปิฏกสำคัญที่สุดของโลก คือ เป็นสถานที่ประดิษฐานพระไตรปิฎกภาษาบาลี พระไตรปิฎกภาษาจีน และพระไตรปิฎกภาษาทิเบต ซึ่งสิ่งล้ำค่าที่สุดในนี้คือพระไตรปิฏกฉบับจักรพรรดิเหลียงอู่ ซึ่งในโลกนี้มีแค่ 3 ที่เท่านั้นที่มีการเก็บรักษาอยู่จนถึงปัจจุบัน

และสิ่งล้ำค่าอีกอย่างหนึ่งคือพระคัมภีร์ของวัชรยาน (ทิเบต) นิกายมนตรายาน ในโลกนี้มีที่นี่ที่เดียวที่สมบูรณ์ที่สุด ซึ่งท่านเจ้าคุณโพธิ์แจ้งได้อัญเชิญมาจากทิเบต ตามคำสั่งของท่านอาจารย์นอร่ารินโปเช่ ก่อนที่ทิเบตจะแตก 3 ปี

ลำดับเจ้าอาวาส

แก้
ลำดับที่ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1 พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (โพธิ์แจ้ง) เจ้าคณะใหญ่จีนนิกายรูปที่ 6 พ.ศ. 2513 พ.ศ. 2529
2 พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (เย็นเต็ก) เจ้าคณะใหญ่จีนนิกายรูปที่ 7 พ.ศ. 2530 พ.ศ. 2566
- พระมหาคณาจารย์จีนธรรมวชิราจารย์ (เย็นอี่) รองเจ้าอาวาสวัดโพธิ์แมนคุณาราม (รักษาการเจ้าอาวาส) พ.ศ. 2566 ปัจจุบัน

การเดินทาง

แก้

การเดินทางใช้ทางด่วนขั้นที่ 1 ลงที่ถนนสาธุประดิษฐ์ แล้วกลับรถทางขวาวกกลับผ่านเซ็นทรัลพระราม 3 ถึงถนนนราธิวาสราชนครินทร์เลี้ยวซ้ายเข้าซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 24 ถ้ามาจากฝั่งสาธุประดิษฐ์ เข้าซอยสาธุประดิษฐ์ 19 (ซอยวัดโพธิแมน)

รถเมล์ เดินทางสะดวกที่สุด เข้าประตู ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ซอย 24

  • สาย ปอ 142 จากบางนา-ช่องนนทรี (ลงแยกนราธิวาสฯ เข้าประตูวัดซอย นรารธิวาส ซอย 24)
  • สาย ปอ 519 มีนบุรี - สาธุประดิษฐ์ รถปรับอากาศ (ยูโรทู)
  • สาย 102 ปากน้ำ - สาธุประดิษฐ์ รถปรับอากาศ (ครีม-น้ำเงิน)
  • สาย 62 ปอ62 สาธุประดิษฐ์ - อนุสาวรีย์ชัยฯ รถธรรมดา (ครีม-แดง) รถปรับอากาศ (ครีม-น้ำเงิน)
  • สาย 77 ปอ 77 เซลทรัลพระราม3 - หมอชิตใหม่ รถธรรมดา (ครีม-แดง) รถปรับอากาศ (ครีม-น้ำเงิน)
  • สาย 180 อู่สาธุประดิษฐ์ - ม.รามคำแหง 2 รถธรรมดา (ครีม-แดง)
  • สาย 67 วัดเสมียนนารี - เซ็นทรัลพระราม 3 รถธรรมดา (ครีม-แดง)รถปรับอากาศ (ครีม-น้ำเงิน)

อ้างอิง

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้