คณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย
คณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย เป็นคณะสงฆ์นิกายมหายานของชาวไทยเชื้อสายจีน ถือกำเนิดมาจากชาวจีนที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารบนผืนแผ่นดินไทย ได้นำเอาวัฒนธรรม ศาสนา และความเชื่อดั้งเดิมของตนเข้ามาประพฤติปฏิบัติ แรกเริ่มที่ยังไม่มีพระภิกษุ ชาวจีนได้สร้างศาลเจ้าจีนขึ้นก่อนเพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวและเป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีกรรม ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระภิกษุจีนแถบมณฑลกวางตุ้งจาริกเข้ามาปฏิบัติศาสนกิจมากขึ้น นำไปสู่การจัดระเบียบการบริหารการปกครอง คณะสงฆ์จีนได้ถือกำเนิดขึ้นบนแผ่นดินไทยและมีความเจริญสืบเนื่องมาจวบจนปัจจุบัน
ในปัจจุบันการปกครองคณะสงฆ์จีนนิกายเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2520)[1] และกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2536)[2] ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505
ประวัติ
แก้นับจากราชวงศ์ฮั่นเป็นต้นมา ชาวไทยและชาวจีนได้มีการติดต่อสัมพันธ์ทางการค้า จนถึงพุทธศตวรรษที่ 18 อาณาจักรสุโขทัยได้ก่อตั้งขึ้น ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศก็เพิ่มพูนขึ้น ชาวจีนจากมณฑลกวางตุ้งและมณฑลฮกเกี้ยน ได้ทะยอยมาทำมาหากินในไทย แม้จนกษัตริย์แห่งสุโขทัยได้ไปนำเทคนิคการทำกระเบื้องเคลือบ (สังคโลก) มาสู่ประเทศไทย ถึงสมัยอาณาจักรอยุธยา ชาวจีนในไทยมีมากขึ้น จนเกิดเป็นย่านชาวจีนขึ้น และมีชาวจีนเข้ารับราชการในราชสำนักไทย จนอยุธยาเสียแก่ข้าศึก พระยากำแพงเพชร (ตากสิน) ผู้มีบิดาเป็นชาวจีนได้นำทหารไทย-จีน ฝ่าวงล้อมข้าศึกและกอบกู้เอกราชไทยได้สำเร็จ โดยตั้งราชธานีที่อาณาจักรธนบุรี
ในระหว่างสมัยทั้งสามที่ผ่านมาชาวจีนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ลัทธิขงจื๊อ ห้าทหารเสือ ซีหวังหมู่ เซน และลัทธิเต๋าปะปนกัน คงมีเพียงศาลเจ้าจีนยังไม่มีการสร้างวัดขึ้น ชาวจีนคงอาศัยทำบุญในวัดไทยนั่นเอง
เมื่อ พ.ศ. 2316 ที่ปรากฏในพงศาวดารของญวนในประเทศไทยว่า ได้เกิดกบฏขึ้นที่เมืองเว้อันเป็นราชธานีของประเทศญวนหรือประเทศเวียดนาม พวกกบฏรุกเข้ามาชิงเมืองเว้ ได้ทำลายบ้านเมืองและฆ่าฟันพลเมืองรวมทั้งเชื้อพระวงศ์เสียเป็นอันมาก พวกราชวงศ์และพลเมืองของญวนต่างพากันหลบหนีภัยไปคนละทาง และกลุ่มพวกญวนขององเชียงซุน ได้เข้ามาพึ่งพระบารมีของพระเจ้ากรุงธนบุรี ในปีวอก พ.ศ. 2319 พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงได้โปรดรับไว้ พระสงฆ์มหายานแบบญวน สมัยองเชียงซุนได้เข้ามาสร้างวัดแบบมหายานขึ้น ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งวัดของคณะสงฆ์อนัมนิกายแห่งประเทศไทยได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก 2 วัด คือ
- วัดมงคลสมาคม (โห่ยคั้นตื่อ) ตั้งอยู่หลังวังบูรพาภิรมย์ ต่อมารัฐบาลต้องการที่ตรงนั้นสร้างถนน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้ทำผาติกรรมตามแบบพระสงฆ์ไทย แล้วพระราชทานที่ดินริมถนนแปลงนาม เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ให้สร้างวัดมงคลสมาคมขึ้นใหม่ ส่วนวัดเดิมให้ยุบแล้วสร้างถนนไป
- วัดทิพยวารีวิหาร (กามโล่ตื่อ) ตั้งอยู่บ้านหม้อ กรุงเทพมหานคร หลังจากนั้นมาวัดแห่งนี้ได้ร่างมาหลายปี และในปัจจุบันมีพระสงฆ์จีนนิกายปกครองดูแล
ชาวจีนและชาวญวน ในครั้งนี้ได้ร่วมกันสร้างวัดให้พระสงฆ์อนัมนิกายมาพรรษาขึ้นหลายแห่ง จนมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สถาปนาเมื่อปี 2325 ในรัชกาลที่ 1 ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเดิมเป็นที่อยู่อาศัยของพระยาราชาเศรษฐี และพวกจีน โดยโปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายพวกจีนไปอยู่ที่บริเวณวัดสัมพันธวงศาราม วรวิหาร (ปัจจุบันที่เรียกว่าสำเพ็ง)
สมัยรัชกาลที่ 3 ทั้งสองประเทศมีการติดต่อกันทางด้านศิลปกรรมเพิ่มขึ้นเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดสร้างพระอาราม และยังโปรดศิลปะพระราชนิยมแบบจีน
จวบจนสมัยรัชกาลที่ 5 พระอาจารย์สกเห็ง พระเถระนิกายฌานหรือนิกายเซ็น สาขาหลินฉี (วิปัสสนา) ชาวจีน จาริกมาจากประเทศจีน ราวก่อนปี พ.ศ. 2414 และพำนักจำพรรษาที่วิหารพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ร้าง ชื่อ "ย่งฮกอำ" มีป้ายชื่อลงปีรัชกาลเฉียนหลง ปีอิกเบ้า (ค.ศ. 1795) ตรงกับ พ.ศ. 2338 กล่าวกันว่าสร้างโดยชาวจีนในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนสร้างวัดกุศลสมาคร ฝ่ายอนัมนิกาย (วัดญวน) ได้มีพระอนัมมาอาศัยพักอยู่ชั่วคราว เมื่อสร้างวัดเสร็จจึงย้ายไปอยู่วัดญวน
สาธุชนชาวจีนได้เห็นจริยาวัตรท่านน่าเลื่อมใสศรัทธาจึงช่วยท่านปฏิสังขรณ์วิหารพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น "ย่งฮกยี่" มีป้ายชื่อลงปี พ.ศ. 2430 (รัชกาลกวงสู ปีที่ 13 ค.ศ. 1887) แล้วกราบบังคมทูลขอพระราชทานนามวัดจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์พระราชทานนามวัดว่า “วัดบำเพ็ญจีนพรต ” (ปัจจุบันยังมีป้ายพระราชทานนามวัดประดิษฐานอยู่ด้านหน้าอุโบสถ) และโปรดพระราชทานสมณศักดิ์ พระอาจารย์สกเห็งเป็นพระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร เจ้าคณะใหญ่จีนนิกายรูปแรก
นอกจากนี้ยังมีพระภิกษุไฮซัน ชาวมณฑลหูหนาน จาริกมาพำนัก ในอารามร้าง ต.บ้านหม้อ ต่อมาได้บูรณะเป็น วัดทิพยวารีวิหาร (กำโล่วยี่)
กาลต่อมาเมื่อพระสงฆ์ฝ่ายจีนมีมากขึ้น พระอาจารย์สกเห็งเห็นควรขยายอารามให้พอเหมาะแก่จำนวนพระสงฆ์ จึงได้สร้างวัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) ขึ้น ปรากฏเป็นอารามฝ่ายจีนนิกายที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในครั้งนั้น รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการบริหาร ปกครอง คณะสงฆ์จีนนิกาย
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าให้สถาปนา พระอาจารย์สกเห็ง เป็นที่ พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร เจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย ดูแลบริหารปกครองพระสงฆ์จีนนิกายในประเทศไทย ทั้งตำแหน่งปลัดซ้าย ปลัดขวา เพื่อช่วยบริหารปกครอง และมีพัดยศพร้อมสมณบริขารประกอบสมณศักดิ์ด้วย
ลำดับเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายจีนนิกาย
แก้- รูปที่ 1 พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร (續行 สกเห็ง) ปฐมบูรพาจารย์ วัดบำเพ็ญจีนพรต (ย่งฮกยี่) , วัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) , วัดจีนประชาสโมสร (เล่งฮกยี่) ฉะเชิงเทรา, มีศิษย์รูปสำคัญคือ พระอาจารย์กวยหงอ, พระอาจารย์กวยล้ง (果隆)
- รูปที่ 2 พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร (果悟 กวยหงอ) เจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส รูปที่ 2 มีศิษย์รูปสำคัญ คือ พระอาจารย์ตั๊กฮี้ (達喜)
- รูปที่ 3 พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร (盧慶 โล่วเข่ง) เจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส รูปที่ 3 ต่อมาลาออกและเดินทางกลับประเทศจีน พระอาจารย์ฮวบจง(ฟุกยิ้น 复仁) รักษาการเจ้าอาวาสแทน ยุคนี้ พระอาจารย์ ตั๊กฮี้ได้สร้างวัดเทพพุทธาราม (เซียนฮุดยี่) จ.ชลบุรี และบรรพชาศิษย์จำนวนมากรูปสำคัญได้แก่ พระอาจารย์เซี่ยงหงี พระอาจารย์เซี่ยงกี (常機) , พระอาจารย์เซี่ยงซิว (常修)
- รูปที่ 4 พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร (用濱 ย่งปิง) เจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส รูปที่ 4
- รูปที่ 5 พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร (常義 เซี่ยงหงี) ก่อนได้รับการสถาปณาเป็นเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย ท่านได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดจีนประชาสโมสร และวัดเทพพุทธาราม มาก่อนหลังจากได้รับการสถาปณาแล้วจึงย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส รูปที่ 5 ยุคนี้พระอาจารย์เซี่ยงกี ศิษย์ผู้พี่ได้จาริกไปสร้างวัด เชงจุ้ยยี่ (ถ้ำประทุน) , เชงฮงยี่ เขาพระพุทธบาท สระบุรี ,สำนักสงฆ์มี่กัง กรุงเทพฯ พระอาจารย์เซี่ยงกี บรรพชากุลบุตร สืบสายคณะสงฆ์จีนนิกาย ที่สำคัญ คือ พระอาจารย์ซุ่นเคี้ยง , พระอาจารย์อิ้วเคียม (ล่งง้วน)
- รูปที่ 6 พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (普淨 โพธิ์แจ้ง)
บรรพชาในสำนัก พระอาจารย์ อิ้วเคียม ณ วัดเชงจุ้ยยี่ ท่านเป็นผู้พัฒนาคณะสงฆ์จีนนิกาย สู่ยุคใหม่เป็นปฐมบูรพาจารย์ วัดโพธิ์เย็น กาญจนบุรี, วัดโพธิ์แมนคุณาราม, กรุงเทพฯ, วัดโพธิ์ทัตตาราม ชลบุรีและ สำนักสงฆ์หลับฟ้ากรุงเทพฯ, รวมทั้งวางรากฐาน อุปสมบทกรรม บูรณปฏิสังขรณ์ พระอารามจีนนิกาย จำนวนมาก ท่านได้วางรากฐาน ความมั่นคงของคณะสงฆ์จีนนิกายจนเป็นปึกแผ่น
บรรพชาอุปสมบทในสำนักพระอาจารย์โพธิ์แจ้งมหาเถระ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสงฆ์จีนนิกาย เจ้าอาวาสวัดโพธิ์แมนคุณารามและบุกเบิกสร้างวัดหมื่นพุทธเมตตาคุณาราม เพื่อวางรากฐานการศึกษาศาสนาแก่คณะสงฆ์ในภาคเหนือของไทย
บูรพาจารย์ผู้สืบทอดมหายานในประเทศไทย
แก้นอกจากเจ้าคณะใหญ่ที่ได้กล่าวมาแล้วยังมีคณาจารย์รูปอื่น ๆ ที่มีการบันทึกประวัติ และผลงานไว้ดังนี้
- พระอาจารย์กวยหลง เป็นผู้ช่วยพระอาจารย์สกเห็ง เจ้าคณะใหญ่ ลำดับที่ 1 มีความรู้แตกฉานทางด้านมหายาน ได้ช่วยเหลือในการสร้างวัดจีนประชาสโมสร (เล่งฮกยี่) ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และได้เป็นเจ้าอาวาสวัดนี้
- พระอาจารย์ตั๊กฮี้ บรรพชา ณ สำนักวัดมังกรกมลาวาส โดยมีพระอาจารย์จีนวังสมาธิวัตร (กวยหงอ) เป็นพระอุปัชฌาย์ และศึกษาธรรม ณ วัดมังกรกมาลาวาส ต่อมาได้ธุดงค์วัตร มาที่ ฉะเทริงเทรา และได้เป็นกำลังสำคัญในการก่อสร้างวัดจีนประชาสโมสร ต่อมาได้รับแต่ตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดจีนประชาสโมสรรูปต่อมา ได้เคยแสดงธรรมแก่ประชาชนชาวจีน ณ สำนักสงฆ์เต๊กฮ่วยตึ้ง จังหวัดเพชรบุรี เป็นประจำ ก่อนมาเป็นเจ้าอาวาสวัดจีนประชาสโมสร ได้ทำการบรรพชาอุปสมบทศิษย์ จำนวน 30 กว่ารูป ซึ่งต่อมาได้เป็นพระอาจารย์จีนที่มีชื่อหลายรูปด้วยกัน ต่อมาท่านได้จาริกแสดงธรรมมาถึงจังหวัดชลบุรี และได้สร้างวัดเทพพุทธาราม ขึ้น ชาวจีนเรียกว่า วัดเซียนฮุดยี่ เนื่องจากท่านเคยถือคติลัทธิเต๋ามาก่อน เพื่อมาบวชในพุทธศาสนาแล้วจึงให้ชื่อวัดดังกล่าวเพื่อเป็นอนุสรณ์
พระอาจารย์ตั๊กฮี้ ก่อนท่านดับขันธ์ท่านได้เข้าฌานสมาบัติดับขันธ์ปัจจุบันสรีระธาตุท่าน ประดิษฐาน ณ วิหารบูรพาจารย์วัดเทพพุทธาราม
- พระอาจารย์เซี่ยงหงี ได้บรรพชาเป็นสามเณรในฝ่ายเถรวาท ที่วัดต้นไทร จังหวัดฉะเชิงเทรา ต่อมาได้บรรพชาเป็นสามเณรในนิกายจีน เป็นศิษย์พระอาจารย์ตั๊กฮี และต่อมาได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในสำนักพระอาจารย์กวยหงอ แล้วเดินทางไปบูชาปูชนียสถานในประเทศจีน เมื่ออายุได้ 35 ปี ได้เดินทางมาประเทศไทยอีก และได้เป็นเจ้าอาวาสวัดจีนประชาสโมสร ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร เจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส และได้เป็นพระอุปัชฌาย์จีนนิกาย เมื่อปี พ.ศ. 2492
พระอาจารย์เซี่ยงหงี ก่อนดับขันธ์ท่านได้เข้าฌานสมาบัติดับขันธ์ ปัจจุบันสรีระธาตุท่านประดิษฐาน ณ วิหารบูรพาจารย์ วัดจีนประชาสโมสร
- พระอาจารย์เซี่ยงซิว เป็นชาวมณฑลกวางตุ้ง ได้เป็นกำลังช่วยพระอาจารย์ตั๊กฮี ในการสร้างถาวรวัตถุ อันเป็นประโยชน์ต่อสังคม มีสะพานและถนน เป็นต้น เป็นผู้ที่ศึกษาและปฏิบัติด้านกัมมัฏฐาน และได้ออกจาริกเทศนาสั่งสอนประชาชนด้วยความเมตตากรุณา
- พระอาจารย์เซี่ยงกี่ เป็นชาวมณฑลกวางตุ้ง ได้ออกบวชในสำนักพระอาจารย์ตั๊กฮีที่วัดจีนประชาสโมสร ได้ออกธุดงควัตรไปที่เขาพระพุทธบาท สระบุรี เข้าไปปฏิบัติโยคะธรรมที่ถ้ำประทุน และได้นำประชาชน สร้างวัดเซ็งจุ้ยยี่ขึ้น มีศิษย์หลายรูปที่มีชื่อเสียง เช่น พระอาจารย์โพธิแจ้ง เป็นต้น
- พระอาจารย์ฮ่งเล้ง (宏能) เดิมชื่อฮ่งเล้ง แซ่เตีย เป็นชาวจังหวัด เยี่ยวเพ้ง มณฑลมณฑลกวางตุ้ง เมื่อเดินทางมาประเทศไทยได้บวชที่วัดเช็งจุ้ยยี่ สมาทานธุดงควัตรตลอดเวลากว่า 10 ปี แล้วกลับไปสักการะปูชนียสถานที่มาตุภูมิกับพระมาหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (โพธิ์แจ้งมหาเถระ) ในระหว่างการเดินทางได้แวะสักการะพระเจดีย์ เซี้ยงฮู้ (เซี่ยงฮู้ถะ) ตั้งอยู่บนยอดเขา กูซัว ที่ตำบล ฮับซัว อำเภอ เตี้ยเอี้ย มณฑล กวางตุ้ง ขณะที่ท่านได้สักการระพระเจดีย์อยู่นั้นท่านทัศนาเห็นปวงทิพย์ชนแห่ลอยลงมาต้อนรับท่าน ตัวท่านเองในขณะนั้นได้เข้าสมาธิเกิดปิติตัวลอยขึ้นไปอยู่บนเจดีย์นั้น ท่ามกลางสายตาของประชาชนเป็นจำนวนมาก ท่านได้ทำการสวดมนต์ต์ต์ต์สรรเสริญคุณพระพุทธคุณแห่งพระศาสดาศากยะมุนีพุทธเจ้า และสักการะและทักษิณาวัตรพระธาตุบนเจดีย์แล้ว ก็กระเหาะลงมาจากยอดพระเจดีย์ลงมาเบื้องล่าง ร่างของท่านเมื่อเหยียบถึงพื้นดินบริเวณพื้นดินที่ท่านได้เหยียบลงไปนั้นกลายเป็นวงกลมมีเม็ดทรายสีทองขึ้นมาและท่านยืนแน่นิ่งไม่เอนเอียง หันหน้าไปทางทิศตะวันตกถึงแก่กาลดับขันธ์ลง สรีระของท่านตั้งมั่นอยู่เช่นนั้น 7 วัน 7 คืน ประชาชนจึงถวายนามท่านว่าพระลิบผู่สัก ซึ่งหมายถึงพระโพธิสัตว์ผู้สำเร็จธรรมในท่ายืน ปัจจุบันสรีระธาตุของท่านไม่เน่าเปื่อย และยังคงประดิษฐานอยู่ ณ เจดีย์เซี้ยงฮู้ มลฑลกวางตุ้ง
- พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (โพธิแจ้งมหาเถระ) เจ้าอาวาสวัดโพธิ์แมนคุณาราม เจ้าคณะใหญ่จีนนิกายรูปที่ 6 เป็นพระราชาคณะสัญญาบัตร (เทียบชั้นธรรมพิเศษ) ฝ่ายวิปัสสนา พระอาจารย์โพธิ์แจ้งเป็นชาวมณฑลกวางตุ้ง เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2444 ได้เดินทางมาประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2470 เพื่อศึกษาหลักธรรม และสักการะปูชนียสถานต่าง ๆ และได้ขอบรรพชา ณ สำนักสงฆ์ถ้ำประทุน เมื่อปี พ.ศ. 2471 มีฉายาว่า โพธิแจ้ง ได้ออกบำเพ็ญเพียรศึกษาพระธรรมวินัยอยู่ 6 พรรษา จนแตกฉานในพระไตรปิฎก เป็นที่เคารพนับถือของบรรดาพุทธบริษัทมาก ต่อมาในปี พ.ศ. 2477 ได้เดินทางไปประเทศจีน เพื่อเข้ารับการอุปสมบท แล้วอยู่ศึกษาธรรมเพิ่มเติมอีก 2 ปี จึงได้เดินทางกลับประเทศไทย ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2484 ได้เดินทางไปประเทศจีนอีกครั้งหนึ่ง และได้จาริกไปถึงแคว้นคามธิเบตตะวันออก เพื่อศึกษาลัทธิมนตรยาน ณ อารามรินโวเช่ และท่านได้ศึกษาพระคัมภีร์จนแตกฉาน และได้รับเกียตริสูงสุดในการถ่ายทอดตำแหน่งเป็นสังฆนายก องค์ที่ 18 แห่งนิกายมนตรายาน จนถึงปี พ.ศ. 2490 ได้เดินทางกลับมาประเทศไทย และในปีต่อมาได้เดินทางไปประเทศจีนเป็นครั้งที่สาม ได้รับแต่งตั้งเป็น พระปรมัตตาจารย์ จากประมุขเจ้านิกายวินัยของประเทศจีน ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งสังฆนายกนิกายวินัย องค์ที่ 19 เมื่อปี พ.ศ. 2493 จึงได้เดินทางกลับประเทศไทย และต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเป็น หลวงจีนธรรมรสจีนศาสน์ ตำแหน่งปลัดซ้าย เจ้าคณะใหญ่คณะสงฆ์จีนนิกาย
พระมาหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตรฯ ก่อนถึงกาลดับขันธ์ท่านรู้ด้วยฌานสมาบัติ และได้เข้าฌานสมาบัตินั่งสมาธิดับขันธ์ ปัจจุบันสรีระธาตุท่านประดิษฐาน ณ วิหารบูรพาจารย์ วัดโพธิ์แมนคุณาราม
ความเจริญของคณะสงฆ์จีนนิกาย
แก้การดำเนินงานและการปกครองของคณะสงฆ์จีนนิกาย ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้เจริญดีขึ้น หลายประการด้วยกัน อาทิ
- ภายหลังจากท่านเจ้าคุณโพธิ์แจ้งได้รับตำแหน่งสังฆนายกนิกายวินัย แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน แล้วท่านได้ธุดงค์กลับประเทศไทย ท่านได้นำพระคัมภีร์ต่าง ๆ กลับมาเมืองไทย และมีการเริ่มแปลพระคัมภีร์ต่าง ๆ เป็นภาษาไทย และมีการแปลพระวินัย สิกขาบทของฝ่ายมหายาน ขึ้น เพื่อให้ภิกษุในสำนักฝ่ายมหายาน ซึ่งมีวัดโพธิ์เย็นเป็นศูนย์กลางการศึกษา ของนิกายวินัย และนิกายมนตรายาน ได้เรียนรู้และเข้าใจหลักพระวินัย และยึดถืออย่างเคร่งครัด
- เกิดมีระเบียบการบรรพชาอุปสมบทในฝ่ายสงฆ์จีนนิกายขึ้น เนื่องจากแต่เดิมพระสงฆ์ จีนล้วนอุปสมบทมาจากประเทศจีนทั้งสิ้น เพราะที่ประเทศไทยไม่มีสีมามณฑลอันชอบด้วยวินัยนิยมตามคติของฝ่ายจีน ดังนั้นจึงมีแต่การบรรพชาสามเณรในไทยได้เท่านั้น ครั้นเมื่อสร้างวัดโพธิ์เย็น (จีนนิกาย)ขึ้น ที่ตลาดลูกแก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี พระอาจารย์โพธิแจ้งผู้สร้างก็ได้ประกอบพิธี สังฆกรรมผูกพัทธสีมา ตามวินัยนิยม จึงเป็นวัดจีนวัดแรกในประเทศไทย ที่ให้การอุปสมบทแก่กุลบุตรได้ ครั้งนั้น พระสาสนโสภณ เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม สั่งการแทนสมเด็จพระสังฆนายก ได้กำหนดระเบียบพระอุปัชฌาย์ และระเบียบการบรรพชาอุปสมบทฝ่ายสงฆ์จีนนิกาย กล่าวคือ ผู้ที่จะบรรพชาเป็นสามเณรก็ดี จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุก็ดี ต้องมาขอบรรพชาอุปสมบทต่อ พระอุปัชฌาย์จีน ที่สมเด็จพระสังฆราชแต่งตั้งขึ้นเท่านั้น และพระอาจารย์โพธิแจ้ง ก็ได้รับบัญชาแต่งตั้งเป็น พระอุปัชฌาย์จีนรูปแรก ให้การบรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตร ที่สวัดโพธิเย็นเป็นแห่งแรก ปรากฏว่ามีกุลบุตรชาวจีน เข้ามาขอบรรพชาอุปสมบท ในปีหนึ่งเป็นจำนวนมาก การบรรพชาอุปสมบท ในคณะสงฆ์จีนนิกาย ก็เป็นไปเช่นเดียวกับการบรรพชาอุปสมบทของพระสงฆ์ไทย กล่าวคือการบวชและการลาสิกขาเป็นไปตามความสมัครใจ ไม่ได้มีการบังคับว่า เมื่อบวชแล้วจะต้องอยู่ในสมณเพศตลอดไป
- เริ่มมีกรรมการคณะสงฆ์จีนนิกาย นับตั้งแต่มีวัดจีนขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ภิกษุจีนบางรูปได้ทำการสร้างสำนักสงฆ์อยู่กระจัดกระจายทั่วไปในกรุงเทพ ฯ ท่านเจ้าคณะใหญ่จึงได้ กราบทูลสมเด็จพระสังฆนายก เพื่อพิจารณาแต่งตั้งกรรมการสงฆ์จีนนิกาย เมื่อปี พ.ศ. 2497 สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตติโสภณเถระ) แห่งวัดเบญจมบพิตร ผู้เป็นสังฆนายก จึงได้มีพระบัญชาแต่งตั้งพระเถระฝ่ายจีนนิกาย ขึ้นเป็นคณะกรรมการสงฆ์จีนนิกาย เพื่ออำนวยการปกครองดูแลวัด และสำนักสงฆ์จีนต่าง ๆ ให้เป็นไปตามระเบียบ ซึ่งในคณะกรรมการ ฯ ครั้นนั้นมีพระอาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (โพธิแจ้ง) เป็นประธาน
- ได้มีการฟื้นฟูพิธีถวายผ้ากฐินทานขึ้น ซึ่งความจริงสังฆกรรมทุกอย่างในฝ่ายมหายานนั้น ก็มีตรงกับสังฆกรรมฝ่ายเถรวาท แต่อาศัยความเหมาะสมกับกาลเทศะ และประเพณีบ้านเมือง ทางฝ่ายมหายานจึงคัดเอาแต่ที่อนุโลมกันได้มาปฏิบัติ ครั้นเมื่อพระสงฆ์จีนเข้ามาตั้งนิกายขึ้นในประเทศไทย พระคณาจารย์จีนจึงฟื้นฟูสังฆกรรมบางอย่างที่ละเว้นไปนานขึ้นมาปฏิบัติใหม่ ในสมัยเจ้าคณะใหญ่ลำดับที่ 1 และที่ 2 วัดมังกรกมลาวาส ก็เคยมีพิธีทอดกฐินเช่นดียวกับวัดไทย แต่เมื่อสิ้นสมัยของท่านทั้งสองแล้ว พิธีนี้ก็ได้หยุดชะงักไปช้านานประมาณ 40 ปี จนมาถึงเจ้าคณะใหญ่ลำดับที่ 6 (โพธิแจ้ง) จึงได้มีการฟื้นฟูสังฆกรรมนี้ขึ้นมาใหม่ ในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่ง หลวงจีนธรรมรสจีนศาสน์ ที่วัดโพธิเย็นเป็นวัดแรก และเมื่อท่านได้รับตำแหน่งเป็น เจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส ก็ได้มีพุทธบริษัทไทย - จีน ร่วมกันจัดกฐินสามัคคีขึ้น นับเป็นงานประจำปีที่สำคัญงานหนึ่ง ของคณะสงฆ์จีนนิกาย ในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 เป็นต้นมา
วัดและสำนักสงฆ์ในสังกัด
แก้ปัจจุบันคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย มีวัดในสังกัดทั้งหมด 16 วัด และมีสำนักสงฆ์ 3 แห่ง ดังนี้[3]
ชื่อไทย | ชื่อจีน | ที่อยู่ | |
---|---|---|---|
1. | วัดโพธิ์แมนคุณาราม | 普門報恩寺 โผวมึ้งปออึ่งยี่ |
กรุงเทพมหานคร |
2. | วัดมังกรกมลาวาส | 龍蓮寺 เล่งเน่ยยี่ |
กรุงเทพมหานคร |
3. | วัดหมื่นพุทธเมตตาคุณาราม | 萬佛慈恩寺 บ่วงฮุกฉื่ออึ่งยี่ |
จังหวัดเชียงราย |
4. | วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ คณะสงฆ์จีนนิกายรังสรรค์ | 普頌皇恩寺 โพ้วซึงอ๊วงอึ๋นยี่ |
จังหวัดนนทบุรี |
5. | วัดโพธิ์เย็น | 普仁寺 โผวเย่งยี่ |
จังหวัดกาญจนบุรี |
6. | วัดฉื่อฉาง | 慈善寺 ฉื่อฉางยี่ |
จังหวัดสงขลา |
7. | วัดโพธิทัตตาราม | 普德寺 โผวเต็กยี่ |
จังหวัดชลบุรี |
8. | วัดเทพพุทธาราม | 仙佛寺 เซียนฮุกยี่ |
จังหวัดชลบุรี |
9. | วัดทิพยวารีวิหาร | 甘露寺 กัมโล่วยี่ |
กรุงเทพมหานคร |
10. | วัดบำเพ็ญจีนพรต | 永福寺 ย่งฮกยี่ |
กรุงเทพมหานคร |
11. | วัดเมตตาธรรมโพธิญาณ | 慈悲山菩提寺 ฉื่อปีซานผู่ทียี่ |
จังหวัดกาญจนบุรี |
12. | วัดจีนประชาสโมสร | 龍福寺 เล่งฮกยี่ |
จังหวัดฉะเชิงเทรา |
13. | วัดมังกรบุปผาราม | 龍華寺 เล่งฮั่วยี่ |
จังหวัดจันทบุรี |
14. | วัดคิชกูฎวิหาร | 靈鷲精舍 เล่งจิ๋วเจ็งเสี่ย |
กรุงเทพมหานคร |
15. | วัดพุทธคุณ[4] | 佛恩寺 ฮุกอึ่งยี่ |
จังหวัดนครราชสีมา[5] |
16. | วัดจีนปอเอง | 報恩寺
ปออึ่งยี่ |
จังหวัดราชบุรี |
- สำนักสงฆ์วัด
ชื่อ | ชื่อจีน | ที่อยู่ | |
---|---|---|---|
1. | สุธรรม | 玄宗精舍 | กรุงเทพมหานคร |
2. | กวงเม้งเจงเสี่ย | 光明精舍 | กรุงเทพมหานคร |
3. | กั๊กฮึ้งเนี่ยมฮุกลิ้ม | 覺園念佛林 | กรุงเทพมหานคร |
อ้างอิง
แก้- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, กฎกระทรวงฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2520), ตอนที่ 59, เล่ม 94, วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2520
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, กฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2536), ตอนที่ 166, เล่ม 110, วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2536
- ↑ "วัดจีน". สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์พระบาทสมเด็พระเจ้าอยู่หัว เล่มที่ 35. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2558.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ https://bri.mcu.ac.th/app/skapp/?p=568
- ↑ https://www.sangkhatikan.com/wat_view.php?ID=%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%20%E0%B8%88.%20(%E0%B8%99%E0%B8%A1.)
- คณะสงฆ์จีนนิกาย.พระพุทธศาสนามหายาน.กรุงเทพ ฯ : ธนาคารกรุงเทพพิมพ์เป็นธรรมบรรณาการ,2531.
- ธีรยุทธ สุนทรา.พุทธศาสนามหายานในประเทศไทย จีนนิกายและอนัมนิกาย.กรุงเทพ ฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,2540.
- วัดมังกรกมลาวาส.ประวัติคณะสงฆ์จีนนิกาย.กรุงเทพ ฯ :โรงพิมพ์รุ่งนคร,2512.
- วัดมังกรกมลาวาส.มหามังคลานุสรณ์.กรุงเทพ ฯ : มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย,2536.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- วัดมังกรกมลาวาส เก็บถาวร 2007-03-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ศูนย์กลางข้อมูลพุทธศาสนามหายาน เก็บถาวร 2006-07-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- พุทธศาสนาวัชรยานแห่งทิเบต
- ศูนย์ข้อมูลพระสูตรมหายาน วัดเทพพุทธาราม (เซียนฮุดยี่) เก็บถาวร 2008-12-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน