ประวัติศาสตร์เชียงตุง

ดินแดนเชียงตุงเป็นดินแดนที่มีความสำคัญมานานในอดีตเช่นเดียวกับเชียงใหม่และเชียงรุ่ง (สิบสองปันนา)ตามหลักฐานในประวัติศาสตร์ แต่เดิมเชียงรุ่งเป็นเมืองลูกหลวงของเชียงใหม่ จนกลายเป็นเมืองประเทศราชของพม่าในสมัยพระเจ้าบุเรงนอง หลังจากนั้น เชียงใหม่ได้แยกตัวเป็นอิสระจากพม่า มาเป็นเมืองประเทศราชของสยาม ส่วนเชียงตุงยังคงเป็นเมืองประเทศราชของพม่า ทำให้เกิดความขัดแย้งเป็นสงครามเชียงใหม่-เชียงตุงถึง 3 ครั้ง ในที่สุด เชียงตุงเป็นอาณานิคมของอังกฤษเช่นเดียวกับพม่า ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของไทยในชื่อสหรัฐไทยเดิมในเวลาสั้นๆช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อพม่าได้รับเอกราช จึงเป็นส่วนหนึ่งของรัฐฉาน ประเทศพม่า

ตำนานการสร้างเมือง แก้

ประวัติในช่วงเริ่มแรกของเชียงตุงนั้นไม่ชัดเจน มีแต่ตำนานการสร้างเมืองว่า เมืองนี้เดิมชื่อเมืองประจันตคามหรือจัณฑคามไม่มีเจ้าเมืองปกครอง ฝูงกาได้คาบกรงไม้พาชายเลี้ยงวัวคนหนึ่งมาเป็นเจ้าเมือง ต่อมาชายคนนั้นลืมสัญญาที่ให้ไว้แก่กา กาจึงพาเขาไปทิ้งไว้ที่เกาะกลางทะเล ส่วนเมืองจัณฑคามถูกฝนตกหนักจนน้ำท่วมกลายเป็นหนองน้ำ มีฤๅษีนามว่า ตุงคฤๅษี เป็นบุตรพญาว้อง (จีน) แสดงอิทธิฤทธิ์ทำให้น้ำไหลออกจากเมือง เหลือเพียงหนองน้ำกลางเมืองขนาดใหญ่ เรียกว่า หนองตุง อันเป็นที่มาของชื่อ เชียงตุง และได้อพยพชาวจีนจากยูนนานมาอยู่ ต่อมาทนกับโรคภัยไข้เจ็บไม่ไหวจึงอพยพกลับไปหมด ทิ้งน้ำเต้าไว้กอหนึ่ง น้ำเต้านั้นแตกออกกลายเป็นคนซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวลัวะ ซึ่งได้อาศัยในบริเวณนั้นต่อมา

เมืองลูกหลวงของเชียงใหม่ แก้

 
พระราชานุสาวรีย์ พ่อขุนมังราย ผู้รวมเชียงตุงเข้ามาเป็นเมืองลูกหลวงของเชียงใหม่

พงศาวดารของเมืองได้กล่าวไว้ว่า เมื่อจุลศักราช 791 (พ.ศ. 1772) พญามังรายได้เสด็จประพาสป่าและทรงไล่กวางทองมาจนถึงเมืองเชียงตุง พระองค์ทรงเล็งเห็นภูมิประเทศของเมืองเชียงตุง ก็พอพระทัยมาก จึงวินิจฉัยสั่งให้ข้าราชบริพารสลักรูปพรานจูงหมาพาไถ้แบกธนูไว้บนยอดดอยที่เห็นเมือง หลังจากนั้น พระองค์ก็เสด็จกลับมาเมืองเชียงรายแล้วทรงส่งกองทัพ มีแม่ทัพนามว่าขุนคง และ ขุนลัง ให้มาชิงเมืองเชียงตุง จากชาวลัวะแต่ก็ไม่สำเร็จ พระองค์จึงส่ง มังคุม และ มังเคียน ซึ่งเป็นชาวลัวะที่อาศัยอยู่กับพระองค์มารบอีกครั้ง ปรากฏว่าก็ได้ชัยชนะ พญามังรายจึงมอบให้ มังคุม และ มังเคียน ปกครองเมืองเชียงตุง ภายหลังเมื่อมังคุม มังเคียนสิ้นชีวิต พญามังรายจึงส่ง เจ้าน้ำท่วม ผู้เป็นพระนัดดาไปปกครองเมืองเชียงตุงเมื่อ พ.ศ. 1786 เชียงตุงจึงเป็นเมือง "ลูกช้างหางเมือง" หรือ "เมืองลูกหลวง" ขึ้นกับอาณาจักรล้านนา

ตามหลักฐานทั้งหลาย ได้ระบุไว้ว่ามีเจ้าฟ้าปกครองอยู่ 33 พระองค์ พระองค์สุดท้ายคือ "เจ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง" จากหนังสือ "ตำนานมังราย เชียงใหม่ เชียงตุง" ซึ่งจารึกอยู่ในหนังสือใบลานของวัดอุโมงค์ อ.เมือง จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อความของเอกสารดังกล่าวได้แบ่งออกเป็น 2 ตอนใหญ่ ๆ

  • ตอนแรกจากหน้าลานที่ 1 - 22 กล่าวถึงพญามังรายมหาราช จนกระทั่งถึงพระยาผายู ซึ่งอยู่เสวยราชย์ในเมืองนพบุรีศรี

พิงไชย เชียงใหม่ (นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่) มีอายุยืนได้ 70 ปี ก็จุติตายไป พระยาผายูตายปีเปิกเล็ด ศักราชได้ 899

  • ตอนที่ 2 เริ่มตั้งแต่หน้าลานที่ 22 - 46 เริ่มตั้งแต่พระยาลัวะจักรราชจนถึงตอนที่เจ้าหม่อมมหาวัง (เจ้าเมืองเชียงรุ้ง) สิ้นพระชนม์ เป็นการเท้าเป็นการย้อนราชนิกูลของพญามังราย ไปจนถึงเมืองในอาณาจักรล้านนา และ อาณาจักรรอบๆ

สิ่งที่น่าสนใจตอนหนึ่งในหนังสือเรื่องนี้ คือการกล่าวถึงเมืองเชียงตุงในอดีต ซึ่งระบุว่า มังคุ่มครองเมืองได้ 17 ปี ก็สิ้นชีพ และ มังเคียนครองเมืองได้ 7 ปี ก็เสียชีวิต หลังจากนั้น เมืองเชียงตุงจึงเป็นเมืองร้าง เป็นเวลา 10 ปี พญามังรายจึงส่ง พระยานาถะมู ไปครองเชียงตุงในปีจุลศักราช 833 (พ.ศ. 1814) หลังจากนั้นพระยานาถะมูจึงโปรดให้สร้างเวียงเชียงเหล็กในปีต่อมา

ในปีต่อๆมา ชาวลัวะได้ลุกลามเมือง และ ทดน้ำไปสู่เมือง เพื่อจะให้เมืองน้ำท่วม พระยานาถะมูเจ้าเมืองในขณะนั้นจึงสิ้นพระชนม์ ครองเมืองได้ 14 ปี พระยาน้ำท่วมกินเมืองแทนพ่อในปีจุลศักราช 845 ในปีจุลศักราช 891 พระยาผายู (พ.ศ. 1889-1898) กษัตริย์แห่งเมืองเชียงใหม่ ได้ส่งพระโอรสไปครองเมืองเชียงตุง คือ พระยาเจ็ดพันตู โหรของพระองค์ได้ทำนายไว้ว่า "เมืองเชียงตุงเป็นเมืองนามจันทร์ น้ำไหลจากทางทิศใต้ไปทิศเหนือ ผู้หญิงกินเมืองดี ถ้าผู้ชายกินเมืองให้เลี้ยงเจนเมือง 500 นา และสร้างเจดีย์เป็นชื่อเมืองจึงจะดี" ในการเสด็จไปครองเมืองเชียงตุงในครานั้น พระยาเจ็ดพันตูจึงทรงได้นำเอาช้างม้า คนพลติดตามไปเป็นจำนวนมาก รวมทั้งพระไตรปิฎกและพระสงฆ์ 4 รูป คือ พระมหาธัมมไตร จากวัดพระแก้วเชียงราย พระธัมมลังกา วัดหัวข่วง พระทสปัญโญ วัดพระกลาง พระมหาหงสาวดี วัดจอมทอง เมืองเชียงใหม่

การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเมืองเชียงตุงและเชียงใหม่สมัยราชวงศ์มังราย จึงสามารถแบ่งได้ง่ายว่าดังนี้ ในสมัยแรกเป็นแบบเครือญาติ และ ขุนนาง ในตอนกลาง ขุนนางปกครอง และ ยุคสุดท้ายราชวงศ์ก็ได้กลับมาปกครองอีกครั้ง

ในสมัยพญากือนาถึงสมัยพญาแก้ว (พ.ศ. 1898-2068) ซึ่งเป็นช่วงที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมากในอาณาจักรล้านนา เป็นช่วงที่ตั้งกรุงศรีอยุธยาใหม่ๆ ความสัมพันธ์นั้นแน่นแฟ้นมากๆ การเผยแผ่พระพุทธศาสนาจากเชียงใหม่สู่เชียงตุง ไปถึงเชียงรุ่ง จึงเป็นไปได้โดยง่าย แบ่งได้เป็น 2 ตอนใหญ่ๆ คือ ในสมัยพญากือนาพระสงฆ์นิกายรามัญวงศ์ (พม่า ผสม มอญ) จากวัดสวนดอก และ ในสมัยพระเจ้าติโลกราช นิกายสิงหล (สุโขทัย อยุธยา) จากวัดป่าแดง ได้ออกเดินทางไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาให้ขชาวเมืองได้รู้ ไม่ใช่แต่ศาสนาอย่างเดียว วัฒนธรรม ตัวอักษร และ ภาษา ก็ออกไปเผยแพร่ด้วย ดังนั้นตัวเมืองของล้านนา และ ตัวเขียนของไทเขินจึงใกล้เคียงกันมาก

ความสัมพันธ์ระหว่างเชียงตุงกับเชียงใหม่เป็นในลักษณะเครือญาติ อย่างไรก็ตาม หลังจากสมัยของท้าวผายู ความสัมพันธ์ระหว่างเชียงใหม่กับเชียงตุงระงับไป ปรากฏหลักฐานว่ามาขึ้นกับเชียงใหม่อีกครั้งในสมัยพระเจ้าติโลกราช ซึ่งเจ้าเมืองเชียงตุงในขณะนั้นคือพญาศรีสัทธรรมราชาจุฬามณี ความสัมพันธ์ระหว่างเชียงใหม่กับเชียงตุงสิ้นสุดลงเมื่อเชียงตุงยอมเป็นประเทศราชของพม่า

ประเทศราชของพม่า แก้

 
กรมหลวงวงศาธิราชสนิท แม่ทัพฝ่ายกรุงเทพฯในการยกทัพไปรบเชียงตุงครั้งรัชกาลที่ 4
 
เจ้าฟ้าอินแถลง เจ้าครองนครเชียงตุงองค์สุดท้าย

พ.ศ. 2107 พญาแก้วรัตนภูมินทร์ยอมอ่อนน้อมต่อพม่าในสมัยพระเจ้าบุเรงนอง และเป็นกำลังสำคัญให้พม่าในการปราบปรามรัฐไทยอื่นๆ เชียงตุงเป็นประเทศราชของพม่าอย่างสงบ 200 ปี จนกระทั่งสมัยพญากาวิละกอบกู้เชียงใหม่จากการยึดครองของพม่าหันมาเป็นประเทศราชของสยาม พญากาวิละได้ยกทัพไปตีเมืองต่างๆตามแม่น้ำสาละวินรวมถึงเมืองเชียงตุงให้เข้ามาตั้งรกรากในเชียงใหม่ และเกลี้ยกล่อมให้เชียงตุงมาขึ้นกับเชียงใหม่ดังเดิม จนถึงสมัยของเจ้ามหาขนานจึงกลับไปเป็นประเทศราชของพม่าอีกเมื่อ พ.ศ. 2356

เมื่อเชียงตุงไปเป็นประเทศราชของพม่าอีกครั้งนั้น เชียงใหม่ยังเป็นประเทศราชของสยาม ความขัดแย้งระหว่างพม่ากับสยาม ทำให้สยามไม่ไว้ใจเชียงตุงให้เชียงใหม่คอยสอดส่องดูแลอย่างใกล้ชิด สุดท้ายจึงกลายเป็นสงครามเชียงใหม่-เชียงตุง 3 ครั้งคือ

  • ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2393 เจ้ามหาขนานเป็นเจ้าเมืองเชียงตุง เจ้าพุทธวงษ์เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ สมัยรัชกาลที่ 3 เกิดจากเจ้านายเชียงรุ่งหนีลงมาหลวงพระบาง ขอความช่วยเหลือจากกรุงเทพฯ รัชกาลที่ 3 จึงถือโอกาสขยายอำนาจไปเชียงรุ่ง โดยต้องตีเชียงตุงให้ได้ก่อน กรุงเทพฯให้เชียงใหม่เป็นทัพใหญ่ แต่ตีเมืองเชียงตุงไม่ได้ การที่คิดจะไปยึดเชียงรุ่งจึงเลิกไป
  • ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2395 สมัยรัชการที่ 4 เป็นช่วงที่อังกฤษขยายอำนาจเข้ามาในพม่า พระองค์จึงให้ยกทัพไปตีเชียงตุงโดยยกทัพไปจากกรุงเทพฯ ให้เชียงใหม่กับเชียงแสนเป็นทัพหนุน แต่เมื่อทัพจากกรุงเทพฯไปถึงเชียงแสน ทางเชียงใหม่ขอระงับทัพ แจ้งว่าส่งเสบียงไม่ทัน กรุงเทพฯจึงเกณฑ์เสบียงจากหลวงพระบาง แล้วจึงยกทัพเข้ายึดเชียงตุง แต่ไม่สำเร็จ
  • ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2397 เกิดขึ้นเมื่อกรมหลวงวงศาธิราชสนิท ซึ่งนำทัพมารบเมื่อ พ.ศ. 2395 พักกองทัพอยู่ที่น่าน ส่งหนังสือมาขอกองทัพและอาวุธเพิ่มเติม เมื่อได้แล้วจึงยกเข้าตีอีกครั้ง ผลปรากฏว่าทัพสยามตีเชียงตุงไม่สำเร็จ เพราะหัวเมืองล้านนาไม่เต็มใจสนับสนุน

ในที่สุดเมื่ออังกฤษยึดพม่าได้ทั้งประเทศ เชียงตุงจึงเป็นอาณานิคมของอังกฤษไปด้วยเมื่อ พ.ศ. 2433 อยู่แต่ยังมีเจ้าฟ้าปกครอง เชียงตุงในสมัยนี้ ทำให้เกิดเจ้าฟ้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเชียงตุง พระนามว่า เจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง หรือ เจ้าอินแถลง ซึ่ง อยู่ร่วมสมัยกับ รัชกาลที่ 5 ของไทย พระองค์ปกป้องเมืองเชียงตุงไม่ให้กลายเป็นเมืองอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ แต่หลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์ เชียงตุงก็ตกไปอยู่ภายใต้อำนาจของอังกฤษ

สหรัฐไทยเดิม แก้

จนกระทั่งในสมัยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากไทยลงนามเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น รัฐบาลจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ได้จัดตั้งกองทัพพายัพ และส่งกำลังทหารที่มีพลตรีผิน ชุณหะวัณเป็นแม่ทัพเข้ายึดครองเมืองเชียงตุงได้เมื่อ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 ไทยได้ยึดเมืองเชียงตุง และ เมืองพานจากอังกฤษ มาจัดตั้งเป็นส่วนหนึ่งของไทยในชื่อสหรัฐไทยเดิม รัฐบาลไทยได้ทูลเชิญเจ้าเมืองเหล็กพรหมลือโอรสของเจ้าก้อนแก้วอินแถลงมาเป็นเจ้าฟ้าสิริสุวรรณราชยศพรหมลือครองเมืองเชียงตุง โดยมีพลตรี ผิน ชุณหะวัณเป็นข้าหลวงใหญ่ นอกจากนั้น กองทัพไทยยังเข้าไปโจมตีและปกครอง เมืองตองยี ครึ่งใต้ของเมืองมัณฑะเลย์ และหวังจะครอบครองสิบสองปันนาอีกด้วย เมื่อสงครามสิ้นสุด ญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม ไทยจึงคืนดินแดนสหรัฐไทยเดิมให้แก่อังกฤษ เจ้าฟ้าพรหมลือและครอบครัวอพยพมาอยู่ที่เชียงใหม่

ส่วนหนึ่งของสหภาพพม่า แก้

 
หอหลวงที่เมืองเชียงตุง ของเจ้าก้อนแก้วอินแถลง ถูกพม่าทุบทิ้งเมื่อ พ.ศ. 2534

เมื่อพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2491 เชียงตุงจึงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐฉาน ประเทศพม่า แต่ยังมีเจ้าฟ้าปกครอง จน พ.ศ. 2505 นายพลเนวินปฏิวัติปกครองประเทศด้วยระบบสังคมนิยม ระบบเจ้าฟ้าของเชียงตุงจึงถูกยกเลิกไป หอคำของเชียงตุงถูกพม่าทำลายเมื่อ พ.ศ. 2534 หลังสิ้นสุดการปกครองระบบเจ้าฟ้า ผู้มีอำนาจสูงสุดในเชียงตุงเป็นตำแหน่งทางทหารเรียก ไตมู (แม่ทัพภาค) เมืองที่ขึ้นกับเมืองเชียงตุงจะมีทหารในตำแหน่ง พัวหะมู (รองแม่ทัพภาค) ปกครอง

อ้างอิง แก้