กาเตรีนาแห่งซีเอนา

นักบุญกาเตรีนาแห่งซีเอนา (อิตาลี: Caterina da Siena) เป็นสมาชิกคณะชั้นสามของนักบุญดอมินิก เกิดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1347 ที่เมืองซีเอนา สาธารณรัฐซีเอนา และถึงแก่มรณกรรมเมื่อวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1380 ที่กรุงโรม รัฐสันตะปาปา เป็นนักปรัชญาและนักเทววิทยาศาสนาคริสต์ ได้รับการประกาศเป็นนักบุญในปี ค.ศ. 1461 และได้รับแต่งตั้งเป็น “นักปราชญ์แห่งคริสตจักร” ในปี ค.ศ. 1970

นักบุญกาเตรีนาแห่งซีเอนา
“นักบุญกาเตรีนาแห่งซีเอนา” - ราว ค.ศ. 1515 โดยโดเมนีโก ดี ปาเช เบกกาฟูมี (Domenico Beccafumi)
พรหมจารีและนักปราชญ์แห่งคริสตจักร
เกิด25 มีนาคม ค.ศ. 1347
เมืองซีเอนา สาธารณรัฐซีเอนา
เสียชีวิต29 เมษายน ค.ศ. 1380
กรุงโรม รัฐสันตะปาปา
นิกายโรมันคาทอลิก
แองกลิคัน
ลูเทอแรน
เป็นนักบุญค.ศ. 1461
โดย สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 2
วันฉลอง29 เมษายน
สัญลักษณ์เครื่องแบบคณะดอมินิกัน, ดอกลิลี, หนังสือ, กางเขน, หัวใจ, มงกุฏหนาม, สติกมาตา, แหวน, นกพิราบ, ดอกกุหลาบ, หัวกะโหลก, วัดย่อส่วน, เรือย่อส่วนที่มีตราประจำพระองค์ของสันตะปาปา
องค์อุปถัมภ์ปฏิปักษ์ต่อไฟ, ความเจ็บป่วย, ผู้ดับเพลิง, การแท้ง, พยาบาล, ผู้ที่เยาะเย้ยเพราะความเคร่งครัด, โทรทัศน์

ชีวิต แก้

นักบุญกาเตรีนาเป็นชาวซีเอนา บุตรสาวของจาโกโม ดี เบนินกาซา ช่างย้อมผ้าผู้มีฐานะดี และมารดาคือ ลาปา ปีอาเจนตี ลูกสาวของกวีท้องถิ่น กาเตรีนาเป็นลูกคนที่ 23 ในบรรดาพี่น้อง 25 คน แฝดของกาเตรีนาเสียชีวิตเมื่อแรกเกิด เธอไม่ได้รับการศึกษาอะไรเป็นทางการ เมื่ออายุได้ 7 ขวบ กาเตรีนาก็อุทิศความเป็นพรหมจารีต่อพระเยซูทั้ง ๆ ที่ครอบครัวประท้วง บิดาและมารดาต้องการให้กาเตรีนามีชีวิตอย่างธรรมดาและแต่งงานมีครอบครัวเช่นคนอื่น ๆ แต่กาเตรีนากลับอุทิศตัวต่อการอธิษฐาน และอยู่อย่างสันโดษจนกระทั่งอายุเกือบ 20 ปี เมื่ออายุได้ 16 ปี กาเตรีนาก็เข้าเป็นสมาชิกคณะชั้นสามของนักบุญดอมินิก ในสังกัดคณะดอมินิกันที่นักบุญดอมินิกก่อตั้งขึ้นนปี ค.ศ.1215

 
Libro della divina dottrina, c. 1475

นักบุญกาเตรีนาอุทิศตัวช่วยเหลือคนเจ็บไข้และคนยากจน โดยไปดูแลที่โรงพยาบาลหรือที่บ้านของคนเหล่านั้น จากนั้นนักบุญกาเตรีนารวบรวมผู้ติดตามทั้งหญิงและชายและพากันเดินทางไปทางเหนือของอิตาลีเพื่อพยายามปฏิรูปนักบวช ซึ่งเป็นขบวนการที่พยายามทำให้ผู้คนมีความเชื่อว่าสามารถที่เปลื่ยนชีวิตใหม่หรือรู้สึกสำนึกบาปได้โดยการเข้าถึงความรักของพระเจ้า นอกจากนั้นก็ยังอุทิศชีวิตให้กับการศึกษาตำราศาสนาต่าง ๆ

ประมาณปี ค.ศ. 1366 นักบุญกาเตรีนามีประสบการณ์กับตนเองที่บรรยายไว้ในจดหมายว่าพระนางมารีย์พรหมจารีและพระเยซูได้ทรงประจักษ์แก่เธอในวันอังคารก่อนวันพุธรับเถ้า และในการประจักษ์มาครั้งนี้เอง พระเยซูได้สวมแหวนให้แก่เธอและบอกให้เธอกล้าหาญ แหวนที่กาเตรีนาได้รับนี้มีเพียงเธอผู้เดียวเท่านั้นที่สามารถมองเห็นได้

หลังจากที่ได้ดูแลคนยากจนและคนเจ็บไข้ ในปี ค.ศ. 1370 ก็ได้รับนิมิตหลายครั้งเรื่อง “นรก” และ “แดนชำระ” และ “สวรรค์” หลังจากนั้นที่ได้เห็นภาพก็ได้รับคำสั่งให้เลิกการอยู่อย่างสันโดษเพื่อจะไปทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม เพราะความที่ไม่มีการศึกษากาเตรีนาจึงต้องบอกจดหมายให้ผู้เขียนเขียนถึงผู้มีอำนาจเพื่อเรียกร้องสันติภาพให้แก่รัฐ- และราชอาณาจักรต่าง ๆ ในอิตาลี และเพื่อขอร้องให้สำนักพระสันตะปาปาย้ายราชสำนักจากอาวีญงในประเทศฝรั่งเศสกลับมาอยู่ที่โรมเช่นเดิม กาเตรีนาเขียนจดหมายติดต่อกับสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 11 อยู่เป็นเวลานานเพื่อขอให้พระองค์ปฏิรูปนักบวชและการบริหารของรัฐต่าง ๆ ที่ขึ้นอยู่กับพระสันตะปาปา

ในเดีอนมิถุนายน ปี ค.ศ. 1376 กาเตรีนาเดินทางไปอาวีญองด้วยตนเองในฐานะทูตของฟลอเรนซ์เพื่อไปแสวงหาสันติภาพระหว่างรัฐที่ขึ้นอยู่กับพระสันตะปาปาแต่ก็ไม่สำเร็จ นอกจากนั้นกาเตรีนาก็พยายามชักจูงให้พระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 11 ผู้พำนักและปกครองคริสตจักรอยู่ที่อาวีญงในประเทศฝรั่งเศส ให้ย้ายราชสำนักพระสันตะปาปากลับไปกรุงโรมซึ่งกาเตรีนาเห็นว่าเป็นสถานที่เหมาะสมที่จะเป็นศูนย์ของคริสตจักรที่แท้จริง (Hollister 343) กาเตรีนาสร้างความประทับใจให้แก่พระสันตะปาปาเป็นอันมากจนกระทั่งทรงย้ายราชสำนักกลับมากรุงโรมเมื่อเดีอนมกราคม ปี ค.ศ. 1377 ระหว่างศาสนเภทตะวันตก (Western Schism) เมื่อ ปี ค.ศ. 1378 สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 6 ก็ทรงเรียกตัวกาเตรีนากลับมารับใช้มารับใช้ที่โรมเพื่อให้ช่วยชักจูงให้เจ้านายและพระคาร์ดินัลทั้งหลาย ว่าพระองค์เป็นพระสันตะปาปาผู้ชอบธรรม กาเตรีนาอยู่ที่โรมจนกระทั่งถึงแก่มรณกรรมเมื่อวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1380

จดหมายของกาเตรีนาที่ยังมีเหลืออยู่ด้วยกันทั้งหมด 300 ฉบับ ถือกันว่าเป็นงานวรรณกรรมที่มีค่าที่สุดชิ้นหนึ่งของแคว้นทัสกานี ในจดหมายที่เขียนถึงพระสันตะปาปา กาเตรีนามักจะเรียกพระสันตะปาปาอย่างน่ารักว่า “ปาปา” หรือ “พ่อ” ( “Babbo” ในภาษาอิตาลี) งานชิ้นเอกของกาเตรีนาคืองานชื่อ “เสวนาเรื่องพระญาณสอดส่อง” (Dialogue of Divine Providence)

กาเตรีนาเสียชีวิตด้วย เส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงสมองอุดตัน (stroke) เมื่อวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1380 ที่กรุงโรมเมื่อมีอายุได้เพียง 33 ปีซึ่งเป็นอายุที่เท่ากับพระเยซูเมื่อสิ้นพระชนม์ ประชาชนเมืองเซียนนาต้องการร่างของกาเตรีนากลับมายังซีเอนา มีเรื่องเล่ากันถึงสาเหตุที่เพียงแต่หัวของกาเตรีนาได้กลับมาอยู่ที่เมืองเซียนนา โดยว่ากันว่าเมื่อชาวเมืองเซียนนารู้ว่าไม่สามารถนำร่างของกาเตรีนาผ่านทหารยามที่โรมออกมาได้ ก็ตัดสินใจลักลอบเอาแต่หัวใส่ถุงกลับมา แต่อย่างไรก็ตามทหารก็ยังหยุดตรวจ ผู้ที่ลักลอบก็รีบสวดมนต์ให้กาเตรีนาช่วย เมื่อทหารเปิดถุงที่ใส่หัวกาเตรีนาแทนที่จะเห็นหัวคนกลับเห็นถุงที่เต็มไปด้วยกลีบดอกไม้แทนที่ แต่เมื่อกลับไปถึงซีเอนาเมื่อเปิดถุงก็กลับกลายเป็นหัวกาเตรีนาเช่นเดิม จากตำนานดังกล่าวรูปเขียนของกาเตรีนาจึงเป็นผู้หญิงถือดอกกุหลาบ

การประกาศเป็นนักบุญ แก้

ภคินีกาเตรีนาได้รับการประกาศเป็นนักบุญโดยสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 2 เมื่อปี ค.ศ. 1461 และวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1970 สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ได้แต่งตั้งท่านและนักบุญเตเรซาแห่งอาบีลา เป็นนักปราชญ์แห่งคริสตจักรพร้อมกัน นับเป็นสตรีคู่แรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ และในปี ค.ศ. 1999 สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ประกาศให้นักบุญกาเตรีนาเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ทวีปยุโรปอีกคนหนึ่ง

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้