นักบุญดอมินิก
นักบุญดอมินิกแห่งโอสมา (อังกฤษ: Saint Dominic of Osma; ค.ศ. 1170 – 6 สิงหาคม ค.ศ. 1221) นักบุญดอมินิกแห่งโอสมา หรือ นักบุญดอมินิกแห่งกุซมัน เป็นบาทหลวงโรมันคาทอลิกชาวสเปน ผู้ก่อตั้งคณะดอมินิกัน เชื่อว่าเป็นบุคคลแรกที่นำสายประคำมาใช้ในการสวดภาวนาของชาวคาทอลิก และเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์นักดาราศาสตร์
นักบุญดอมินิก | |
---|---|
บาทหลวง | |
เกิด | ค.ศ. 1170 เมืองกาเลรูเอกา ในประเทศสเปนในปัจจุบัน |
เสียชีวิต | 6 สิงหาคม ค.ศ. 1221 เมืองโบโลญญา ประเทศอิตาลี |
นิกาย | โรมันคาทอลิก แองกลิคัน ลูเทอแรน |
เป็นนักบุญ | ค.ศ. 1234 โดย สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 9 |
สักการสถานหลัก | มหาวิหารนักบุญดอมินิก |
วันฉลอง | 8 สิงหาคม |
สัญลักษณ์ | สุนัข |
องค์อุปถัมภ์ | สาธารณรัฐโดมินิกัน, นักดาราศาสตร์ |
ประวัติ
แก้นักบุญดอมินิก ในตำนานอ้างว่าท่านเป็นบุตรของเฟลิกซ์ กุซมัน กับบุญราศีฆัวนาแห่งอาซา ถือกำเนิดที่เมืองกาเลรูเอกา ประเทศสเปน มีพี่ชายสองคนชื่ออันโตนิโอและมาเนส[1]
เมื่อโตขึ้นได้เข้าศึกษาเทววิทยาที่มหาวิทยาลัยปาเลนเซีย และรับศีลอนุกรมเป็นบาทหลวงสังกัด คณะนักบุญออกัสติน หรือที่รู้จักในนามคณะออกัสติเนียน และได้เป็นอธิการโบสถ์ในที่สุด[2]
เมื่ออายุ 35 ปี สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 3 ได้มอบหมายให้ท่านไปเผยแผ่ศาสนาให้กับชาวเมืองอาลบีซึ่งเป็นพวกนอกศาสนาทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ท่านทำงานอย่างอุตสาหะจนชนะใจคนกลุ่มนี้ และทำให้ชาวอาลบีหันมาเข้ารีตจำนวนมาก ในช่วงนี้ท่านได้ก่อตั้งคณะดอมินิกันซึ่งเป็นคณะนักบวชที่เน้นงานวิชาการศาสนา ความยากจนถ่อมตน และไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพื่อช่วยการเผยแพร่ศาสนา[2]
การถึงแก่กรรม
แก้ท่านได้ถึงแก่กรรมลงเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1221 ที่เมืองโบโลญญาระหว่างการเดินทางกลับจากสมัชชา ก่อนถึงแก่กรรมท่านได้กล่าวสั่งเสียแก่ศิษย์ว่า “จงมีความรัก เมตตา จงรักษาความสุภาพเอาไว้ จงสะสมทรัพย์สมบัติแห่งความยากจนอันศักดิ์สิทธิ์” [3]
ท่านได้รับการประกาศเป็นนักบุญโดยสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 9 มีวันฉลองตรงกับวันที่ 8 สิงหาคมของทุกปี
สายประคำ
แก้ตำนานกล่าวว่า ระหว่างที่นักบุญดอมินิกทำงานเผยแผ่ศาสนาให้กับชาวอาลบีนั้น ท่านได้รับความลำบากเป็นอย่างมากจากการต่อต้านของคนบางกลุ่ม ท่านจึงไปเก็บตัวภาวนาอ้อนวอนพระเจ้าให้คนกลุ่มนี้กลับใจ ตำนานอ้างว่าพระนางมารีย์พรหมจารีและทูตสวรรค์อีกสามองค์ได้มาปรากฏตัว และแม่พระได้ประทานสายประคำแก่ท่าน กำชับว่าการเผยแพร่การสวดสายประคำนี้จะทำให้คนบาปและคนหลงผิดทั้งหลายกลับใจ เมื่อท่านปฏิบัติตามปรากฏว่าการเผยแพร่ธรรมของท่านประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี[4] จึงเป็นที่มาของแม่พระแห่งลูกประคำ และทำให้การสวดสายประคำเป็นที่แพร่หลายในกลุ่มชาวคาทอลิกมาจนปัจจุบัน
อ้างอิง
แก้- ↑ "ประวัตินักบุญดอมินิก". คณะดอมินิกัน. เรียกข้อมูลวันที่ 10 ส.ค. 2553.
- ↑ 2.0 2.1 วีรศักดิ์ วนาโรจน์สุวิช, ประวัตินักบุญตลอดปี, กรุงเทพ : สมณองค์กรสนับสนุนงานแพร่ธรรมในประเทศไทย, 2550, หน้า 307–8
- ↑ ประวัตินักบุญตลอดปี, นักบุญดอมินิก ผู้ตั้งคณะโดมีนิกัน" เก็บถาวร 2008-12-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.เรียกข้อมูลวันที่ 10 ก.ค. 2553.
- ↑ การสวดสายประคำ" เก็บถาวร 2009-09-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.เรียกข้อมูลวันที่ 11 ส.ค. 2553.
ก่อนหน้า | นักบุญดอมินิก | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
ไม่มี | มหาธิการคณะดอมินิกัน (ค.ศ. 1216 - ค.ศ. 1221) |
บุญราศีจอร์แดนแห่งแซกโซนี |