ตำบลบ้านระกาศ
บ้านระกาศ เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ มีเนื้อที่ประมาณ 25 ตารางกิโลเมตรหรือ 15,625 ไร่ ภาษาท้องถิ่นคือภาษาไทยภาคกลาง ประชากรส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา จำนวนหมู่บ้าน 10 หมู่บ้าน
ตำบลบ้านระกาศ | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Tambon Ban Rakat |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | สมุทรปราการ |
อำเภอ | บางบ่อ |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 25 ตร.กม. (10 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2563) | |
• ทั้งหมด | 6,814 คน |
• ความหนาแน่น | 272.56 คน/ตร.กม. (705.9 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 10560 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 110202 |
ชื่อตำบล
แก้ชื่อ "บ้านระกาศ" นั้นมาจากการเขียนด้วยตัวสะกดแบบดั้งเดิมก่อนมีการปรับปรุงการเขียนภาษาไทยว่า "บ้านระกาด" ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นการเรียกเพี้ยนมาจากชื่อ บ้านตะกาด โดยพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้
- ตะกาด ๑ (น.) ที่ดินซึ่งอยู่หลังหาดชายทะเลขึ้นไป แต่มีน้ำเค็มซึมขึ้นไปถึงได้
- ตะกาด ๒ (น.) ชื่อกุ้งขนาดเล็กหลายชนิดในวงศ์ Penaeidae เช่น ชนิด Metapenaeus affinis พบในบริเวณน้ำกร่อยและชายฝั่งทะเล, ชันกาด [ชัน-นะ-กาด] ตะเข็บ หรือ หัวมัน ก็เรียก
เมื่อรวมกันแล้วชื่อ บ้านระกาด หรือ บ้านตะกาด นั้น น่าจะหมายถึงพื้นที่ที่น้ำเค็มซึมขึ้นไปถึงและมีกุ้งตะกาดอยู่มาก จึงเรียกว่า "บ้านตะกาด" ซึ่งภายหลังเพี้ยนเป็น บ้านระกาด และกลายเป็น บ้านระกาศ เมื่อมีการปรับปรุงการเขียนภาษาไทยในที่สุด
ประวัติศาสตร์
แก้ตำบลบ้านระกาศเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอบางบ่อในจังหวัดสมุทรปราการ เป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีลำคลองธรรมชาติไหลผ่าน มีประวัติความเป็นมาที่เก่าแก่ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำนาข้าว เลี้ยงสัตว์น้ำ ทอเสื่อกก เป็นต้น
สันนิษฐานว่า เมื่อสมัยพระเจ้าทรงธรรม โปรดเกล้าฯ ให้มีการขุดคลองสำโรงเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกง จากสำโรง (ปัจจุบันเป็นตำบลอยู่ในอำเภอพระประแดงและอำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ) ถึงท่าสะอ้าน (ปัจจุบันเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา) ต่อมามีผู้คนเริ่มอพยพมาอาศัยตามลำคลอง โดยมาตั้งกลุ่มเครือญาติ (สกุล) ตามลำคลองเล็ก ๆ ตลอดแนวลำคลองสำโรงและบริเวณใกล้เคียง
เมื่อสมัยเสียกรุงศรีอยุธยาให้พม่าครั้งที่ 2 มีการอพยพจากอยุธยามาตั้งรกรากที่บ้านระกาศ โดยพื้นที่นี้ก็เรียกว่า "บ้านระกาด" อยู่ก่อนแล้ว ต่อมามีคนอพยพจากหลายถิ่นมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านระกาศ เช่น ชาวบางน้ำผึ้งพระประแดง มาอยู่ที่เกาะล่าง ใช้นามสกุล "น้ำผึ้ง" ชาวบางหญ้าแพรก มาอยู่บริเวณหมู่ที่ 6 ชาวปากลัด มาอยู่ที่บางนางเพ็ง ชาวลาวพานทอง มาอยู่ที่เกาะอินโดจีน (เปรียบเทียบกับอินโดจีนของฝรั่งเศสที่ทำงานเป็นเวลาพักเป็นเวลา) ชาวตำบลพิมพา อำเภอบางปะกง (จังหวัดฉะเชิงเทรา) ชาวจีนและชาวรามัญ (มอญ) มาอยู่เลียบคลองสำโรง บริเวณหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 3
วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง
แก้จากข้อมูลในคำประพันธ์ นิราศเมืองแกลง ของสุนทรภู่ ที่ได้บันทึกการเดินทางผ่านบ้านระกาศ ช่วงต้นสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประมาณปี พ.ศ. 2349 ชี้ให้เห็นว่าบ้านระกาศมีมาก่อนหน้านั้นแล้วดังนี้
"ถึงหย่อมย่านบ้านระกาดต้องลงถ่อ | ค่อยลอยรอเรียงลำตามน้ำไหล | ||
จนล่วงเข้าหัวป่าพนาลัย | ล้วนเงาไม้มืดคล้ำในลำคลอง | ||
ระวังตัวกลัวตอคะเคียนขวาง | เป็นเยี่ยงอย่างผู้เฒ่าเล่าสนอง | ||
ว่าผีสางสิงนางตะเคียนคะนอง | ใครถูกต้องแตกตายลงหลายลำ | ||
พอบอกกันยังมิทันจะขาดปาก | เห็นเรือจากแจวตรงหลงถลำ | ||
กระทบผางตอนางตะเคียนตำ | ก็โคลงคว่ำล่มลงในคงคา | ||
พวกเรือพี่สี่คนขนสยอง | ก็เลยล่องหลีกทางไปข้างขวา | ||
พ้นระวางนางรุกขฉายา | ต่างระอาเห็นฤทธิ์ประสิทธิ์จริง | ||
ขอนางไม้ไพรพฤกษ์เทพารักษ์ | ขอฝากภัคินีน้อยแม่น้องหญิง | ||
ใครสามารถชาติชายจะหมายชิง | ให้ตายกลิ้งลงเหมือนตอที่ตำเรือฯ" |
เรื่องเล่าอื่น ๆ
แก้อีกนัยหนึ่งจากบันทึกไว้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า หลวงพ่อปาน วัดมงคลโคธาวาส (ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ) มักจะธุดงค์จากวัดน้อยมาทางไร่พริก ผ่านบ้านระกาศเป็นประจำทุกปี โดยมีพระผู้ติดตามประมาณ 300 รูป
มีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งหลวงพ่อปานเดินทางธุดงค์มาพักที่บ้านระกาศริมหนองพลูใหญ่ (บริเวณหมู่ที่ 7–9) ประชาชนได้ข่าวก็นำอาหารมาถวายเป็นการทำบุญ ด้วยเหตุว่าถ้วยชามที่นำมาถวายนั้นมีมาก ประชาชนจึงเถียงกันไม่รู้จบว่าเป็นของใคร หลวงพ่อท่านจึงติงว่า อย่าถกเถียงกัน แต่ประชาชนไม่ยอมเลิกเถียงกัน หลังจากนั้นท่านจึงเพียงแต่ผ่านเท่านั้นไม่พักที่แห่งนี้อีก เปลี่ยนไปพักที่หลังทุ่งบางวัว เมืองฉะเชิงเทรา และอาศัยชาวบ้านแถบนั้นแทน
มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า หลวงพ่อเป็นผู้กล่าวคำว่าร้ายกาจ เรียกว่า บ้านร้ายกาจ ก่อนจะเพี้ยนเป็น บ้านระกาศ แต่ความจริงท่านเพียงแต่ติงเรื่องการถกเถียงกันเท่านั้น
ที่ตั้งและอาณาเขต
แก้ตำบลบ้านระกาศตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอ มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงเรียงตามเข็มนาฬิกา ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลบางบ่อ ตำบลเปร็ง ตำบลคลองสวน และตำบลบางพลีน้อย (อำเภอบางบ่อ)
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลบางพลีน้อย (อำเภอบางบ่อ)
- ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลบางพลีน้อย (อำเภอบางบ่อ) ตำบลหอมศีล (อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา) ตำบลคลองด่าน และตำบลบางบ่อ (อำเภอบางบ่อ)
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลบางบ่อ (อำเภอบางบ่อ)
การแบ่งเขตการปกครอง
แก้ตำบลบ้านระกาศแบ่งเขตการปกครองย่อยเป็น 10 หมู่บ้าน ได้แก่
1. | หมู่ที่ 1 | บ้านปีกกา | 6. | หมู่ที่ 6 | บ้านคลองระกาศหรือบ้านระกาศ | ||
2. | หมู่ที่ 2 | บ้านบางนางเพ็ง | 7. | หมู่ที่ 7 | บ้านคลองระกาศ บ้านคลองบ้านระกาศ หรือบ้านเกาะบน | ||
3. | หมู่ที่ 3 | บ้านระกาศหรือบ้านบางนางเพ็ง | 8. | หมู่ที่ 8 | บ้านคลองบางกงหรือบ้านเล้าหมู | ||
4. | หมู่ที่ 4 | บ้านคลองใหญ่หรือบ้านวัดระกาศ | 9. | หมู่ที่ 9 | บ้านคลองปิ่นแก้ว | ||
5. | หมู่ที่ 5 | บ้านคลองระกาศ บ้านระกาศ หรือบ้านเกาะล่าง | 10. | หมู่ที่ 10 | บ้านคลองไทรโยค |
การคมนาคม
แก้ทางบก
แก้ถนนสายหลัก ได้แก่
- ถนนเทพรัตน (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34) และทางด่วนบูรพาวิถีด้านบน
- ถนนกรุงเทพฯ-ชลบุรี (ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7)
- ถนนสีล้ง-บางพลีน้อย (ทางหลวงชนบท สป.1005)
- ถนนเนื่องจำนงค์ (ซอยวัดบ้านระกาศ)
- ถนน รพช. สายบ้านคลองบางกระยาง (ซอยสวนลิ้นจี่)
- ถนน รพช. สายทางเข้าตลาดบางพลีน้อย
ทางน้ำ
แก้ลำคลองสำคัญ ได้แก่
คลองพระยาศรีพิพัฒน์ | คลองปีกกา | คลองหัวแม่ชี้ | คลองอ้อม | คลองโคร่งคร่าง | คลองชวดตาลึก | ||||||
คลองแขวงเชย | คลองหม้อข้าวหม้อแกง | คลองไข่นก | คลองหลุมโพรง | คลองเล้าหมู | คลองชวดตาแอบ | ||||||
คลองชวดกวาด | คลองปิ่นแก้ว | คลองเล้าหมูล่าง | คลองบ้านระกาศ | คลองบางนางเพ็ง | คลองสำโรง | ||||||
คลองไทรโยค | คลองปลัดสาย | คลองบางกง | คลองบางคอแหลม | คลองบางกระยาง | คลองชวดตาน้อย | ||||||
คลองขวาง | คลองชวดตาช้าง | คลองตาโฮ่ | คลองลัดยายเต่า | คลองศาลา | คลองบางคา | ||||||
คลองชวดใหญ่ | คลองลัดตะกาด | คลองสายทอง | คลองควาย | คลองชวดตายศ | คลองลัดวัด |
สถานที่สำคัญ
แก้- วัดบ้านระกาศ
- สันนิษฐานว่าก่อตั้งประมาณ พ.ศ. 2320 ถือเป็นวัดเก่าวัดหนึ่ง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวัดคือ
- พระประธานในโบสถ์เก่า (หลวงพ่อใหญ่)
- รูปเหมือนพระครูสมุทรธรรมคุณ (พระอธิการบุญมี ธมฺมิโก)
- หลวงพ่อพระพุทธโสธรจำลอง
- สันนิษฐานว่าก่อตั้งประมาณ พ.ศ. 2320 ถือเป็นวัดเก่าวัดหนึ่ง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวัดคือ
- วัดบางนางเพ็ง
- เดิมชื่อว่าวัดดอน ก่อนจะเปลี่ยนเป็น "วัดบางอีเพ็ง" และภายหลังจึงเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดบางนางเพ็ง" ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2473 เป็นวัดของชาวรามัญ (มอญ) เนื่องด้วยชาวบ้านที่อยู่บริเวณวัดนี้ย้ายถิ่นฐานมาจากที่อื่น เช่น ลาดกระบัง, บางพลีใหญ่, ตำบลกิ่งแก้ว, จังหวัดปทุมธานี ซึ่งส่วนมากเป็นชาวรามัญ
- โรงเรียนชุมชนบ้านระกาศ
- ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2472 เป็นโรงเรียนประชาบาลประเภทนายอำเภอจัดตั้ง ดำรงอยู่ด้วยเงินศึกษาพลี อาศัยศาลาการเปรียญวัดบ้านระกาศเป็นสถานที่เรียนชั่วคราว ก่อนจะก่อสร้างอาคารเรียนเอกเทศขึ้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2480
- โรงเรียนวัดบางนางเพ็ง
- ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2479 เดิมชื่อโรงเรียนประชาบาลตำบลบ้านระกาศ 2
- โรงเรียนคลองบ้านระกาศ
- ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2483 เดิมชื่อว่าโรงเรียนประชาบาลคลองบ้านระกาศ 3 สร้างขึ้นโดยรับบริจาคที่ดินจากนายฉิว แป้นเหมือน ต่อมา นายวาด วัฒนานนท์ ได้บริจาคที่ดินเพิ่มเติม
- โรงเรียนตลาดบางพลีน้อย
- ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 เดิมตั้งอยู่บนที่ดินของขุนเปรมพลีเขต ก่อนจะย้ายมาตั้ง ณ ที่ตั้งปัจจุบันเมื่อ พ.ศ. 2498 บนที่ดินของนางสงวน ยืนยง
- สถานีอนามัย หมู่ที่ 3
- สถานีอนามัย หมู่ที่ 8 (การเดินทางจะต้องอาศัยเรือเท่านั้น เนื่องจากไม่มีถนนเข้าถึง)
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- ข้อมูลตำบล เก็บถาวร 2016-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน