อำเภอพานทอง

อำเภอในจังหวัดชลบุรี ประเทศไทย

พานทอง เป็นอำเภอในจังหวัดชลบุรี ได้รับการจัดตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2440 ปัจจุบันเป็นพื้นที่ที่มีการเพิ่มของประชากรสูงอันดับต้นของจังหวัด เนื่องจากรองรับประชากร มีการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมและชุมชนเมืองที่รองรับความเจริญเติบโตของจังหวัดชลบุรี

อำเภอพานทอง
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Phan Thong
สถานีรถไฟพานทอง ในเส้นทางรถไฟสายตะวันออก
คำขวัญ: 
เมืองอิฐแกร่ง แหล่งเกษตร เขตอุตสาหกรรม
คุณธรรมหมอพระ ศิลปะช่างทอง
แผนที่จังหวัดชลบุรี เน้นอำเภอพานทอง
แผนที่จังหวัดชลบุรี เน้นอำเภอพานทอง
พิกัด: 13°28′14″N 101°5′49″E / 13.47056°N 101.09694°E / 13.47056; 101.09694
ประเทศ ไทย
จังหวัดชลบุรี
พื้นที่
 • ทั้งหมด173.0 ตร.กม. (66.8 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2566)
 • ทั้งหมด80,613 คน
 • ความหนาแน่น465.97 คน/ตร.กม. (1,206.9 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 20000 (ไปรษณีย์ชลบุรี - ตำบลบ้านเก่า เฉพาะภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร<บ้านเลขที่ 700/XXX>),
20160 (ไปรษณีย์พานทอง - เฉพาะตำบลพานทอง ตำบลหนองตำลึง ตำบลมาบโป่ง ตำบลหนองกะขะ ตำบลบางนาง ตำบลหนองหงษ์ ตำบลเกาะลอย ตำบลบางหัก ตำบลหน้าประดู่ ตำบลโคกขี้หนอน และตำบลบ้านเก่า เฉพาะภายนอกนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร<บ้านเลขที่ 700/XXX>)
รหัสภูมิศาสตร์2005
ที่ตั้งที่ว่าการหมู่ที่ 4 ถนนพานทอง-หัวไผ่ ตำบลพานทอง อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี 20160
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย
สถานีรถไฟพานทอง

ที่ตั้งและอาณาเขต

แก้

อำเภอพานทองมีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้

ประวัติ

แก้

ชุมชนพานทองเมื่อยุคกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า พระเจ้าตากสินมหาราชได้นำทหารในบังคับบัญชาตีฝ่าวงล้อมทหารพม่าหลบหนีออกจากกรุงศรีอยุธยา และกวาดต้อนครัวเรือนรายทางมาตั้งเมือง และค่ายทหารชั่วคราวขึ้นที่ตำบลโป่งตามุข เรียกว่า "เมืองโป่งตามุข" เป็นเมืองควบคุมหัวเมืองชายทะเล มีเจ้าเมือง ศาล และเรือนจำ สำหรับใช้เป็นที่ปกครองชำระคดีความ โดยมีตัวเมืองตั้งอยู่บริเวณวัดโป่งตามุข ตำบลหนองหงษ์

ในสมัยนั้นมีพรานป่าคนหนึ่งชื่อ ทอง เป็นชาวอยุธยา ได้อพยพครอบครัวและญาติพี่น้องหนีพม่ามาตั้งภูมิลำเนาทำมาหากินเลี้ยงชีพในทางล่าสัตว์อยู่ที่หมู่บ้านริมคลองซึ่งแยกจากคลองบางปะกง (ปัจจุบันเรียกคลองพานทอง) ที่ระหว่างตำบลบ้านเก่ากับตำบลบางนางในปัจจุบัน และพร้อมกันนั้น นายพรานทองได้ทำหน้าที่เป็นจารชนสืบข่าวของข้าศึกถวายพระเจ้าตากสิน และได้รวบรวมกำลังเข้าร่วมกับพระเจ้าตากสินกอบกู้อิสรภาพขับไล่พม่า จนกรุงศรีอยุธยาเป็นเอกราชตามเดิม เมื่อเสร็จศึกสงครามแล้ว นายพรานทองจึงได้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่ง ณ ริมคลองสายเดียวกัน ให้ชื่อว่า "วัดพรานทอง" นัยว่าเพื่อเป็นการล้างบาปที่ตนเองมีอาชีพในทางล่าสัตว์ และได้อพยพครอบครัวมาประกอบอาชีพเป็นหลักฐานอยู่ในบริเวณใกล้วัดพรานทองนี้ชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า "หมู่บ้านพรานทอง" และเรียกคลองซึ่งแยกจากคลองบางปะกงว่า "คลองพรานทอง" ด้วย แต่ปัจจุบันสะกดเป็น วัดพานทอง, บ้านพานทอง และคลองพานทอง ดังในปัจจุบัน

เมื่อประชากรได้เพิ่มจำนวนหนาแน่นมากขึ้น สภาพพื้นที่ของอำเภอสมัยนั้น เป็นที่ราบลุ่มคล้ายท้องกะทะ เหมาะแก่การทำไร่นา มีคลองธรรมชาติจากอำเภอพนัสนิคม ผ่านหมู่บ้านท่าตะกูด บ้านพานทอง บ้านเก่า ถึงที่แม่น้ำบางปะกง ผลผลิตทางการเกษตรจากอำเภอพนัสนิคม จะถูกขนส่งมาทางเรือในฤดูน้ำหลาก มารวมจุดพักขนถ่ายซื้อขายที่หมู่บ้านท่าตะกูด ส่วนหน้าแล้งประชาชนจะส่งผลผลิตทางการเกษตรมาทางล้อเลื่อน ซึ่งมีลักษณะคล้ายเกวียนขนาดเล็ก ใช้วัว ควาย ลากจูง ซึ่งชาวบ้านเรียกล้อเลื่อนว่า "ตะกูด" และเรียกหมู่บ้านที่เป็นชุมชนทางการค้านี้ว่า "ท่าตะกูด" บ้านท่าตะกูดนี้มีพื้นที่ใกล้เคียงกับบ้านพานทอง

เมื่อมีประชากรเพิ่มมากขึ้นก็เริ่มมีโจรผู้ร้ายรบกวน ทำให้ประชาชนเดือดร้อน และมีความจำเป็นที่ประชาชนจะต้องติดต่อราชการมากขึ้น ทางราชการจึงตั้งที่ว่าการอำเภอขึ้น โดยอาศัยบ้านนางเชย สุอังคะ ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านพานทอง เป็นที่ว่าการอำเภอชั่วคราว ต่อมาได้ย้ายไปอาศัยโรงบ่อนที่บ้านท่าตะกูดเป็นที่ว่าการอำเภอชั่วคราว และต่อมาได้ย้ายกลับมาตั้งทำการอยู่ที่เดิมอีก โดยทางราชการได้ปลูกสร้างเป็นโรงไม้ขึ้น ใช้เป็นที่ว่าการอำเภอชั่วคราวและเรียกชื่อว่า "อำเภอท่าตะกูด" ขึ้นกับจังหวัดชลบุรี มณฑลปราจิณบุรี จนถึงปี พ.ศ. 2451 จึงได้ปลูกสร้างที่ว่าการอำเภอถาวรหลังใหม่ขึ้น ณ ที่เดิม และพร้อมกันนี้ได้เปลี่ยนชื่ออำเภอใหม่เป็น "อำเภอพานทอง" ในปี พ.ศ. 2460 สำหรับที่ว่าการอำเภอหลังปัจจุบันนี้ได้ย้ายมาตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2481

การแบ่งเขตการปกครอง

แก้

การปกครองส่วนภูมิภาค

แก้

อำเภอพานทองแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 11 ตำบล 52 หมู่บ้าน

1. พานทอง (Phan Thong) 10 หมู่บ้าน 7. บ้านเก่า (Ban Kao) 7 หมู่บ้าน
2. หนองตำลึง (Nong Tamlueng) 9 หมู่บ้าน 8. หน้าประดู่ (Na Pradu) 5 หมู่บ้าน
3. มาบโป่ง (Map Pong) 10 หมู่บ้าน 9. บางนาง (Bang Nang) 9 หมู่บ้าน
4. หนองกะขะ (Nong Kakha) 5 หมู่บ้าน 10. เกาะลอย (Ko Loi) 6 หมู่บ้าน
5. หนองหงษ์ (Nong Hong) 6 หมู่บ้าน 11. บางหัก (Bang Hak) 4 หมู่บ้าน
6. โคกขี้หนอน (Khok Khi Non) 5 หมู่บ้าน

การปกครองส่วนท้องถิ่น

แก้

ท้องที่อำเภอพานทองประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 10 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลตำบลพานทอง ครอบคลุมพื้นที่เฉพาะหมู่ที่ 4, 6 และบางส่วนของหมู่ที่ 2–3, 7–8, 10 ตำบลพานทอง
  • เทศบาลตำบลหนองตำลึง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองตำลึงทั้งตำบล รวมทั้งพื้นที่เฉพาะหมู่ที่ 6–7 ของตำบลมาบโป่ง และเฉพาะหมู่ที่ 1–2, 4 ของตำบลหนองกะขะ
  • องค์การบริหารส่วนตำบลพานทองหนองกะขะ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลพานทอง (นอกเขตเทศบาลตำบลพานทอง) และตำบลหนองกะขะ (นอกเขตเทศบาลตำบลหนองตำลึง)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลมาบโป่ง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลมาบโป่ง (นอกเขตเทศบาลตำบลหนองตำลึง)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลหนองหงษ์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองหงษ์ทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลโคกขี้หนอน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโคกขี้หนอนทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเก่า ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านเก่าทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลหน้าประดู่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหน้าประดู่ทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบางนาง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางนางทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะลอยบางหัก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเกาะลอยและตำบลบางหักทั้งตำบล

อ้างอิง

แก้