อำเภอบ้านโพธิ์
บ้านโพธิ์ เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดฉะเชิงเทรา
อำเภอบ้านโพธิ์ | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Amphoe Ban Pho |
![]() | |
คำขวัญ: แดนแห่งคูคลอง สองฝั่งบางปะกง ดงกุ้ง ปลา ไก่ ไข่ ขนมไทยเผยแพร่ แห่หลวงพ่อโสธรทางน้ำ | |
![]() แผนที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เน้นอำเภอบ้านโพธิ์ | |
พิกัด: 13°35′59″N 101°4′43″E / 13.59972°N 101.07861°E | |
ประเทศ | ![]() |
จังหวัด | ฉะเชิงเทรา |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 217.593 ตร.กม. (84.013 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2564) | |
• ทั้งหมด | 53,281 คน |
• ความหนาแน่น | 244.87 คน/ตร.กม. (634.2 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 24140 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 2405 |
ที่ตั้งที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภอบ้านโพธิ์ หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา 24140 |
![]() |
ที่ตั้งและอาณาเขตแก้ไข
อำเภอบ้านโพธิ์มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอและจังหวัดใกล้เคียงดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอบางคล้าและอำเภอแปลงยาว
- ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอพนัสนิคม อำเภอพานทอง (จังหวัดชลบุรี) และอำเภอบางปะกง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอบางปะกง และอำเภอบางบ่อ (จังหวัดสมุทรปราการ)
ประวัติแก้ไข
การตั้งชุมชนของคนในสมัยโบราณมักเลือกทำเลอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เมื่ออพยพมาตั้งบ้านเรือนหลายครัวเรือนมากขึ้นก็เกิดเป็นหมู่บ้าน แล้วจึงสร้างวัด หรือศาสนสถานเอาไว้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ถ้าหากจะคะเนว่าชุมชนใดมีอายุเท่าใด หลักฐานที่พอจะเป็นที่เชื่อถือได้ก็คือ วัด หมู่บ้านสนามจันทร์เกิดขึ้นเมื่อใดนั้นไม่มีหลักฐานบ่งบอกได้เลย แต่ถ้าดูจากการสร้างวัดสนามจันทร์ซึ่งตั้งเมื่อ พ.ศ. 2400 บ้านสนามจันทร์มีอายุถึง 150 ปี
ในปี พ.ศ. 2446 ตำบลบ้านโพธิ์ในปัจจุบันมีชื่อว่า ตำบลสนามจันทร์ ดังรายงานการตรวจราชการมณฑลปราจีนของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมรุพงศ์สิริพัฒน์ กราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เรื่องการยุบอำเภอหัวไทรไปรวมกับอำเภอบางคล้า และจัดตั้งอำเภอบ้านโพธิ์ ความว่า
"ถ้าดูตามลำน้ำที่ว่าการอำเภอหัวไทรกับอำเภอบางคล้าห่างกันทางราว 1 ชั่วโมง เห็นด้วยเกล้าฯ ว่าควรจะยกเลิกอำเภอหัวไทรเสีย คงย้ายไปตั้งตำบลสนามจันทร์ ที่จะเรียกนามอำเภอสนามจันทร์ ใต้เมืองฉะเชิงเทรา"
และอีกข้อความหนึ่งในความว่า อำเภอเมืองฉะเชิงเทรามีหมู่บ้านมาก ควรแบ่งท้องที่ตั้งเป็นอำเภอขึ้นอีกหนึ่งอำเภอ ที่ว่าการอำเภอถ้าไปตั้งในคลองประเวศบุรีรมย์ก็ไม่อยู่กึ่งกลางท้องที่ จึงเลือกที่ใต้วัดสนามจันทร์เป็นที่ตั้งอำเภอ ความกราบบังคมทูลดังนี้ "ราษฎรที่อยู่ทางลำน้ำไปมาลำบากเห็นด้วยเกล้าฯ ว่าควรตั้งที่ลำน้ำเมืองฉะเชิงเทรา เหนือปากคลองสนามจันทร์ เพราะเป็นท้องที่มีบ้านเรือนราษฎรตั้งอยู่โดยรอบ แลเป็นทำเลโจรผู้ร้ายปล้นสะดมชุกชุม ส่วนนามอำเภอเรียกว่าอำเภอสนามจันทร์ เกล้าฯ ได้เลือกที่ใต้วัดสนามจันทร์ เป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอ แลจะยกโรงตำรวจภูธรที่อำเภอหัวไทรมาตั้งอยู่ที่อำเภอสนามจันทร์ด้วย"
สรุปได้ว่าพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมรุพงศ์สิริพัฒน์ สมุหเทศาภิบาล มณฑลปราจีน เป็นผู้จัดตั้งอำเภอบ้านโพธิ์ โดยแยกออกมาจากอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2447 ใช้ชื่อว่า อำเภอสนามจันทร์ ตามชื่อหมู่บ้านและตำบลที่ตั้งอำเภอ ที่ว่าการอำเภอสนามจันทร์หลังแรกเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว หลังคามุงด้วยจาก นายอำเภอคนแรกคือขุนประจำจันทเขตต์
เหตุที่ชื่อบ้านสนามจันทร์ มีประวัติเล่ากันว่า สมัยที่ท้องที่ยังเป็นป่าอยู่ มีเสือชุกชุม มีพระยา 3 ท่าน ออกมาตั้งจั่นดักเสือที่หนองน้ำ ราษฎรเรียกว่า "หนองสามพระยา" และเรียกหมู่บ้านว่า "สนามจั่น" เรียกขานกันนานเข้าจึงเพี้ยนเป็นบ้านสนามจันทร์ ส่วนหนองสามพระยาได้ตื้นเขินเป็นพื้นนา ปัจจุบันคือบริเวณที่ตั้งโรงพยาบาลบ้านโพธิ์
ระหว่าง พ.ศ. 2447–2449 มีการปรับแก้ไขเขตของหมู่บ้านและตำบลตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) มาตรา 22 มีแนวทางการกำหนดเขตตำบลดังนี้
"หลายหมู่บ้านรวมกันราว 10 หมู่บ้าน ให้จัดเป็นตำบล 1 ให้ผู้ว่าราชการเมืองปักหมายเขตรตำบลนั้นให้ทราบได้โดยชัดเจนว่าเพียงใด ถ้าที่หมายเขตรไม่มีลำห้วย หนอง คลอง บึง บาง หรือ สิ่งใด เป็นสำคัญได้ ก็ให้ผู้ว่าราชการเมืองจัดให้มีหลักปักหมายเขตรอันจะถาวรอยู่ไปได้ยืนนาน"
หมายความว่า การกำหนดเขตตำบลให้ใช้ลำห้วย หนอง คลอง บึง บาง เป็นแนวเขต ตำบลสนามจันทร์เมื่อก่อนนี้เข้าใจว่ามีพื้นที่อยู่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำ จึงถูกแบ่งเขตออกจากกัน โดยมีแม่น้ำบางปะกงเป็นเส้นแบ่งเขต พื้นที่ทางฝั่งขวายังคงใช้ชื่อตำบลสนามจันทร์เหมือนเดิม ทั้งนี้อาจเป็นเพราะมีเนื้อที่มากกว่า ส่วนทางฝั่งซ้ายซึ่งเป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอตั้งชื่อใหม่ว่า "ตำบลบ้านโพธิ์" มีหลักฐานคือโฉนดที่ดินที่ออกให้ราษฎรเมื่อ ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2449) เปลี่ยนชื่อเป็นตำบลบ้านโพธิ์แล้ว เหตุที่ตั้งชื่อว่าบ้านโพธิ์ เนื่องจากถิ่นนี้มีต้นโพธิ์ขึ้นอยู่ทั่วไป เมื่อก่อนวัดสนามจันทร์ก็มีต้นโพธิ์ใหญ่หลายต้น ชาวบ้านมีความเคารพเพราะเป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ จึงเอาผ้าเหลืองห่มต้นโพธิ์ ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกองเสือป่าขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2454 และทรงสถาปนาพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เป็นค่ายหลวงสำหรับประชุมและซ้อมรบแบบเสือป่าเพื่อเป็นกำลังร่วมป้องกันประเทศ และเสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมอยู่เนือง ๆ ทางราชการได้พิจารณาเห็นว่าชื่ออำเภอไปพ้องกับชื่อพระราชวังสนามจันทร์ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอเขาดิน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องเปลี่ยนชื่ออำเภอ ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2457 สมัยขุนเหี้ยมใจหาญ (พงษ์ บุรุษชาติ) เป็นนายอำเภอ
เขาดินอยู่ต่อแดนกับอำเภอบางปะกง เป็นเนินหินแกรนิต สูงประมาณ 15 เมตร เป็นที่ตั้งของวัดเขาดิน ภายในวัดมีมณฑปร้างเก่าแก่มาก เข้าใจว่าเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท เหตุที่เอาเขาดินมาตั้งเป็นชื่ออำเภอแทนสนามจันทร์ คงเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จประพาสวัดเขาดิน เมื่อปี พ.ศ. 2402 ซึ่งถือเป็นความปีติและเป็นสิริมงคล จึงเอาชื่อเขาดินมาเป็นชื่ออำเภอ
ต่อมาปรากฏว่าเขาดินไปอยู่ในเขตอำเภอบางปะกง จึงเปลี่ยนชื่ออำเภออีกครั้งหนึ่งจากเขาดินมาเป็น อำเภอบ้านโพธิ์ ตามชื่อของตำบลที่ตั้งอำเภอเมื่อปี พ.ศ. 2460 (ตามรายงานกิจการจังหวัดประจำปี 2401-2502) สมัยขุนเจนประจำกิจ (ชื้น) เป็นนายอำเภอ
อาคารที่ว่าการอำเภอหลังแรกหลังคามุงจาก หลังต่อมาปลูกสร้างเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น หลังคามุงกระเบื้อง หันหน้าสู่แม่น้ำบางปะกง ปัจจุบันใช้เป็นสำนักงานเทศบาลตำบลบ้านโพธิ์ หลังที่ 3 ขยับเข้ามาสร้างริมถนนเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น แบบสมัยใหม่ ปัจจุบันได้รื้อหลังเก่า และก่อสร้างหลังใหม่ในที่เดิม ซึ่งจะทำการเปิดที่ว่าการหลังใหม่ ในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2547 พร้อมทั้งเฉลิมฉลองในวาระที่อำเภอมีอายุครบ 100 ปีด้วย
ตั้งแต่ตั้งอำเภอมา มีนายอำเภอปกครองรวม 41 คน โจรผู้ร้ายที่ว่าชุมชุมก็หมดไป ชาวอำเภอบ้านโพธิ์มีความเป็นอยู่สงบสุข เรียบง่าย แม้ในปัจจุบันการทำมาหากินเปลี่ยนไปจากเดิม สภาพสังคมเปลี่ยนไป แต่มีสิ่งที่ไม่เปลี่ยน คือ ความสำนึกรักบ้านเกิดและความกตัญญูต่อแผ่นดิน ซึ่งจะทำให้บ้านโพธิ์มีความยั่งยืนตลอดไป
- 2446 แยกพื้นที่ตำบลคลองบ้านโพธิ์ ตำบลบางกรูด ตำบลหนองจอก ตำบลลาดขวาง ตำบลสนามจันทร์ ตำบลวังอู่ ตำบลท่าพลับ ตำบลสิบเอ็ดศอก ตำบลคลองขุด ตำบลบางซ่อน ตำบลเกาะไร่ ตำบลหนองบัว ตำบลดอนทราย ตำบลหนองตีนนก ตำบลคลองประเวศ ตำบลแสนภูดาษ ตำบลแหลมประดู่ และตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ตั้งขึ้นเป็น อำเภอสนามจันทร์[1]
- 2449 รวมตำบลคลองสวนและตำบลเทพราช และเรียกชื่อว่าตำบลเทพราช[2]
- 2450 แยกพื้นที่ตำบลหนองจอกของอำเภอสนามจันทร์ จังหวัดฉะเชิงเทรา กับบ้านคลองขุนเนินของอำเภอบางเหี้ย จังหวัดสมุทรปราการ และตำบลท่าหงอนไก่ ตำบลบางปะกง ของอำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ไปตั้งเป็น อำเภอบางปะกง[3] และกำหนดให้ขึ้นการปกครองกับจังหวัดฉะเชิงเทรา
- 2457 เปลี่ยนแปลงชื่ออำเภอสนามจันทร์เป็น อำเภอเขาดิน[4]
- 2460 เปลี่ยนแปลงชื่ออำเภอเขาดินเป็น อำเภอบ้านโพธิ์[5]
- วันที่ 15 สิงหาคม 2490 ตั้งตำบลหนองตีนนกแยกออกจากตำบลบ้านโพธิ์ ตั้งตำบลลาดขวางแยกออกจากตำบลแสนภูดาษ ตั้งตำบลคลองบ้านโพธิ์แยกออกจากตำบลบางซ่อน ตั้งตำบลท่าพลับแยกออกจากตำบลหนองบัว ตั้งตำบลเกาะไร่แยกออกจากตำบลเทพราช ตั้งตำบลคลองขุดแยกออกจากตำบลแหลมประดู่ ตำบลสิบเอ็ดศอก และตำบลดอนทราย ตั้งตำบลคลองประเวศแยกออกจากตำบลบางกรูด[6]
- 2499 จัดตั้งสุขาภิบาลเทพราชในท้องที่บางส่วนของตำบลเทพราช[7]
- 2499 จัดตั้งสุขาภิบาลบ้านโพธิ์ในท้องที่บางส่วนของตำบลบ้านโพธิ์[8]
- 2512 เปลี่ยนแปลงเขตสุขาภิบาลเทพราช[9] เพื่อความเหมาะสมในการบริหารกิจการและการทะนุบำรุงท้องถิ่น ครอบคลุมพื้นที่หมู่ 1, 4–6 ตำบลเทพราช และหมู่ 1–2, 4 ตำบลเกาะไร่
- วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ยกฐานะจากสุขาภิบาลเทพราชและสุขาภิบาลบ้านโพธิ์เป็นเทศบาลตำบลเทพราชและเทศบาลตำบลบ้านโพธิ์ตามลำดับ[10]
- วันที่ 1 กรกฎาคม 2547 ยุบองค์การบริหารส่วนตำบลบางซ่อนเข้ากับองค์การบริหารส่วนตำบลคลองบ้านโพธิ์[11]
- 2547 ยุบองค์การบริหารส่วนตำบลท่าพลับเข้ากับองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัว[12] และยุบองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโพธิ์ รวมกับเทศบาลตำบลบ้านโพธิ์[13]
- 2552 จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลลาดขวางเป็นเทศบาลตำบลลาดขวาง[14]
- 2554 จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลแสนภูดาษเป็นเทศบาลตำบลแสนภูดาษ[15]
การแบ่งเขตการปกครองแก้ไข
การปกครองส่วนภูมิภาคแก้ไข
อำเภอบ้านโพธิ์แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 17 ตำบล 73 หมู่บ้าน ได้แก่
1. | บ้านโพธิ์ | (Ban Pho) | 4 หมู่บ้าน | 10. | หนองบัว | (Nong Bua) | 4 หมู่บ้าน | ||||||||
2. | เกาะไร่ | (Ko Rai) | 5 หมู่บ้าน | 11. | บางซ่อน | (Bang Son) | 3 หมู่บ้าน | ||||||||
3. | คลองขุด | (Khlong Khut) | 4 หมู่บ้าน | 12. | บางกรูด | (Bang Krut) | 3 หมู่บ้าน | ||||||||
4. | คลองบ้านโพธิ์ | (Khlong Ban Pho) | 4 หมู่บ้าน | 13. | แหลมประดู่ | (Laem Pradu) | 6 หมู่บ้าน | ||||||||
5. | คลองประเวศ | (Khlong Prawet) | 3 หมู่บ้าน | 14. | ลาดขวาง | (Lat Khwang) | 4 หมู่บ้าน | ||||||||
6. | ดอนทราย | (Don Sai) | 4 หมู่บ้าน | 15. | สนามจันทร์ | (Sanam Chan) | 6 หมู่บ้าน | ||||||||
7. | เทพราช | (Theppharat) | 6 หมู่บ้าน | 16. | แสนภูดาษ | (Saen Phu Dat) | 3 หมู่บ้าน | ||||||||
8. | ท่าพลับ | (Tha Phlap) | 4 หมู่บ้าน | 17. | สิบเอ็ดศอก | (Sip Et Sok) | 5 หมู่บ้าน | ||||||||
9. | หนองตีนนก | (Nong Tin Nok) | 5 หมู่บ้าน |
การปกครองส่วนท้องถิ่นแก้ไข
ท้องที่อำเภอบ้านโพธิ์ประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 16 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลตำบลเทพราช ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลเกาะไร่และบางส่วนของตำบลเทพราช
- เทศบาลตำบลบ้านโพธิ์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านโพธิ์ทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลลาดขวาง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลลาดขวางทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลแสนภูดาษ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแสนภูดาษทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะไร่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเกาะไร่ (นอกเขตเทศบาลตำบลเทพราช)
- องค์การบริหารส่วนตำบลคลองขุด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลคลองขุดทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลคลองบ้านโพธิ์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลคลองบ้านโพธิ์และตำบลบางซ่อนทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลคลองประเวศ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลคลองประเวศทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลดอนทราย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลดอนทรายทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลเทพราช ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเทพราช (นอกเขตเทศบาลตำบลเทพราช)
- องค์การบริหารส่วนตำบลหนองตีนนก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองตีนนกทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่าพลับและตำบลหนองบัวทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลบางกรูด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางกรูดทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลแหลมประดู่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแหลมประดู่ทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลสนามจันทร์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสนามจันทร์ทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลสิบเอ็ดศอก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสิบเอ็ดศอกทั้งตำบล
อ้างอิงแก้ไข
- ↑ "แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งอำเภอสนามจันทร์ เมืองฉะเชิงเทราขึ้นอีกอำเภอหนึ่ง และยกเลิกอำเภอหัวไทร เมืองฉะเชิงเทรา" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 20 (49): 833. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-05-24. สืบค้นเมื่อ 2023-01-15. วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2446
- ↑ "พระบรมราชโองการ ประกาศ แก้ไขอัตราชั้นที่นาและเปลี่ยนชื่อตำบลในมณฑลปราจีนบุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 23 (49): 1234–1236. วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2449
- ↑ "แจ้งความกระทรวงมหาดไทย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 24 (31): 745–746. วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย ประกาศเปลี่ยนชื่ออำเภอ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 31 (0 ง): 928–931. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-05-10. สืบค้นเมื่อ 2023-01-15. วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2457
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนชื่ออำเภอ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 34 (0 ก): 40–68. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-07. สืบค้นเมื่อ 2023-01-15. วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2460
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งตำบลในจังหวัดต่าง ๆ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 64 (33 ง): 1930–1974. วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2490
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลเทพราช อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 73 (60 ง): (ฉบับพิเศษ) 20-21. วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2499
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลบ้านโพธิ์ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 74 (4 ง): (ฉบับพิเศษ) 7-8. วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2500
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตสุขาภิบาลเทพราช อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 86 (35 ง): 1520–1522. วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2512
- ↑ "พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. ๒๕๔๒" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 116 (9 ก): 1–4. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-04-09. สืบค้นเมื่อ 2023-01-15 – โดยทาง ให้บรรดาสุขาภิบาลตามกฎหมายว่าด้วยสุขาภิบาลที่มีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีฐานะเป็นเทศบาลตำบลตามกฎหมายว่าด้วยเทศบาลในพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ. วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง รวมองค์การบริหารส่วนตำบลกับองค์การบริหารส่วนตำบล" (PDF): 1–2.
{{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
(help)วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 - ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยุบรวมองค์การบริหารส่วนตำบลกับองค์การบริหารส่วนตำบล" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 121 (ตอนพิเศษ 102 ง): 17–20. วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2547
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยุบรวมองค์การบริหารส่วนตำบลกับเทศบาลตำบล" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 121 (ตอนพิเศษ 102 ง): 21–24. วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2547
- ↑ "จัดตั้งเทศบาลจากองค์การบริหารส่วนตำบล ลาดขวาง เป็น เทศบาลตำบลลาดขวาง". กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น: 1. ลงวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2552 มีผลบังคับใช้ในเดียวกัน
- ↑ "จัดตั้งเทศบาลจาก องค์การบริหารส่วนตำบลแสนภูดาษ เป็น เทศบาลตำบลแสนภูดาษ". กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น: 1. ลงวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2554 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 กันยายน ปีเดียวกัน
แหล่งข้อมูลอื่นแก้ไข
- อำเภอบ้านโพธิ์ จากเว็บจังหวัดฉะเชิงเทรา
- เว็บไซต์องค์การบริหารส่วนตำบลบางกรูด เก็บถาวร 2014-12-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
บทความเกี่ยวกับเขตการปกครองของประเทศไทยนี้ยังเป็นโครง คุณสามารถช่วยวิกิพีเดียได้โดยการเพิ่มเติมข้อมูล ดูเพิ่มที่ สถานีย่อย:ประเทศไทย |