บุญเลื่อน เครือตราชู

คุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชู (13 พฤษภาคม พ.ศ. 2459 – 7 มีนาคม พ.ศ. 2555) อดีตอธิบดีกรมสามัญศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ผู้ก่อตั้งโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ โรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์ และ โรงเรียนเทพศิรินทร์ร่มเกล้า

บุญเลื่อน เครือตราชู
ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2507 – 2518
ก่อนหน้าสนั่น สุมิตร
ถัดไปคุณหญิงสุชาดา ถิระวัฒน์
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด13 พฤษภาคม พ.ศ. 2459
เสียชีวิต7 มีนาคม พ.ศ. 2555 (95 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
คู่สมรสพลเรือโท โกเมท เครือตราชู
บุตร2 คน

ประวัติ แก้

คุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชู เกิดเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2459 เป็นธิดาของหลวงประสิทธิ์นรกรรม (เจี่ยน หงสประภาส) และนางเหรียญทอง ประสิทธิ์นรกรรม สมรสกับพลเรือโท นายแพทย์โกเมท เครือตราชู อดีตเจ้ากรมแพทย์ทหารเรือ มีบุตร 2 คน คือ ศาสตราจารย์ ดร.มาลียา เครือตราชู และรองศาสตราจารย์ นายแพทย์จุฑาเกียรติ เครือตราชู

ประวัติการศึกษา แก้

คุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชูเข้าศึกษาชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดเชิงเลน อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และย้ายไปศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต่อมาได้รับทุนจังหวัดพระนครศรีอยุธยามาศึกษาวิชาสามัญและวิชาครูที่โรงเรียนเบญจมราชาลัย จนสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และสอบได้ประโยคครูมูล (ป.) จากนั้นศึกษาต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ กรุงเทพมหานคร จนสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 และสอบได้ประโยคครูประถม (ป.ป)

คุณหญิงบุญเลื่อนได้รับทุนศึกษาต่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนสำเร็จปริญญาตรีอักษรศาสตรบัณฑิตในปี พ.ศ. 2481 และประกาศนียบัตรวิชาครูมัธยม (ป.ม.) ในปี พ.ศ. 2482 หลังเข้ารับราชการยังได้รับทุนคุรุสภาไปศึกษาต่อจนสำเร็จปริญญาโททางการศึกษา (M.A.) จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2498

ประวัติการรับราชการ แก้

เมื่อโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2481 คุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชูเป็นนิสิตแผนกฝึกหัดครูมัธยม จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยและได้ฝึกสอนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย หลังสำเร็จการศึกษา ด้วยมีคุณวุฒิสูงเกินกว่าที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาจะรับบรรจุไว้ จึงได้เข้ารับราชการครูที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2482 ตำแหน่งอาจารย์ผู้ช่วยโท สอนวิชาภาษาไทย

หลังจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2485 คุณหญิงบุญเลื่อนได้รับคำสั่งให้ไปดูแลงานทะเบียนและเป็นผู้ช่วยอาจารย์ผู้ปกครองฝ่ายสตรี โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาได้รับคำสั่งให้ไปช่วยงานที่สาขาเพชรบูรณ์ และช่วยราชการกรมวิสามัญศึกษา รับผิดชอบงานทะเบียนครูทั่วประเทศ

ในปี พ.ศ. 2490 คุณหญิงบุญเลื่อนกลับมาประจำโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่โรงเรียนอื่นๆ สามารถเปิดชั้นเตรียมอุดมศึกษาได้ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาขาดแคลนครูทั่วประเทศ ด้วยเหตุที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษามีอาจารย์ซึ่งมีความสามารถอยู่เป็นจำนวนมาก คณะรัฐมนตรีจึงได้อนุมัติให้จัดตั้งแผนกฝึกหัดครูมัธยมโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (ฝ.ค.ต.อ.) ขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2490 โดยคุณหญิงบุญเลือนได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการอำนวยการจัดการฝึกหัดครูมัธยมโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

ต่อมาในปี พ.ศ. 2498 คุณหญิงบุญเลื่อนได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และในปี พ.ศ. 2506 ได้รับแต่งตั้งให้รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จนถึงปี พ.ศ. พ.ศ. 2507 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการชั้นพิเศษโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เป็นผู้อำนวยการคนที่ 4 ของโรงเรียนและเป็นผู้อำนวยการหญิงคนแรกของโรงเรียน

ตลอดระยะเวลาที่คุณหญิงบุญเลื่อนเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้พัฒนาโรงเรียนในทุกด้าน เช่น ด้านอาคารสถานที่ มีการก่อสร้างตึกคุณหญิงหรั่ง กันตารัติ มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ของโรงเรียน ด้านการปกครอง มีคำพูดอบรมนักเรียนที่เป็นตำนานตราบทุกวันนี้คือ "นักเรียนเตรียมฯ มองข้างหลังก็รู้ว่าเป็นนักเรียนเตรียมฯ" ด้านวิชาการ มีการบริหารจัดการให้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเป็นแบบฉบับแก่โรงเรียนอื่นๆ เช่น ช่วยนิเทศการสอน ช่วยอบรมครูบรรจุใหม่ และได้ขยายเครือข่ายของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดยจัดตั้งโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) และริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ๒ (โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการในปัจจุบัน) รวมถึงริเริ่มก่อตั้งสมาคมผู้ปกครองและครูเตรียมอุดมศึกษา สมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษา และมูลนิธินักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษา

นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2514 ยังได้ร่วมกับผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาของกรมสามัญศึกษาก่อตั้งสมาคมครูใหญ่โรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) ในปัจจุบัน) โดยเป็นนายกสมาคมคนแรก และได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516[1]

ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุลได้จัดให้คุณหญิงบุญเลื่อนเป็นทายาทในหน้าที่การงานของท่าน ดังที่เขียนในคำไว้อาลัยหลวงประสิทธิ์นรกรรมว่า "การฝากบุตรีเข้าทำงานเป็นการขอร้องก็จริง แต่ขอร้องชนิดที่เกิดประโยชน์แก่ทางราชการเป็นอันมาก เท่ากับว่ายกลูกสาวของท่านให้เป็นทายาทของข้าพเจ้าในหน้าที่การงานที่สถาบันการศึกษาอันมีชื่อแห่งนั้น"

ในปี พ.ศ. 2518 คุณหญิงบุญเลื่อนได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมสามัญศึกษา ผู้ตรวจการลูกเสือกรมสามัญศึกษา และผู้ตรวจการใหญ่เนตรนารี ซึ่งได้เสนอให้คณะกรรมการลูกเสือแห่งชาติยอมรับกิจการเนตรนารีเป็นส่วนหนึ่งของลูกเสือ ภายหลังได้มีการวางหลักสูตรเนตรนารีให้เป็นวิชาเลือกเช่นเดียวกับลูกเสือและอนุกาชาด ในปีเดียวกันนี้ยังได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนสตรีผู้นำอาเซียนในการประชุมความร่วมมือของสตรีในการพัฒนาประเทศและการใช้แรงงานสตรี ณ ประเทศอินโดนีเซียและประเทศมาเลเซีย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 คุณหญิงบุญเลื่อนได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสามัญศึกษา เป็นอธิบดีหญิงคนแรกของกรมสามัญศึกษา บริหารการศึกษาของโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษา โรงเรียนศึกษาพิเศษ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ และโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่ของรัฐบาลทั่วประเทศ ประมาณ 2,000 โรง จนเกษียณอายุเมื่อปี พ.ศ. 2521 โดยระหว่างที่เป็นอธิบดีกรมสามัญศึกษา ได้มีผู้บริจาคที่ดินให้จัดตั้งโรงเรียนหลายโรง เช่น โรงเรียนเทพศิรินทร์ 2 โรงเรียนศึกษานารี 2 โรงเรียนเบญจมราชาลัย 2 โรงเรียนบึงทองหลางพิทยา เป็นต้น

งานสำคัญอื่นๆ แก้

นอกเหนือจากการรับราชการ คุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชูยังได้บำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวมอีกมากมาย อาทิ เป็นอาสากาชาด สงครามมหาเอเชียบูรพา (อินโดจีน) ได้รับพระราชทานเหรียญช่วยราชการเขตภายใน ก่อตั้งมูลนิธินักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษา ก่อตั้งมูลนิธิเฉลิมศาสน์ศึกษา ก่อตั้งมูลนิธิคุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชูไว้ที่กรมสามัญศึกษา เมื่อปี พ.ศ. 2521 ร่วมกับคุณหญิงสิวลี ชลวิจารณ์ก่อตั้งมูลนิธิกฤตานุสรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2523 เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 4 รอบ ก่อตั้งชมรมข้าราชการครูอาวุโสของกรมสามัญศึกษา เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ที่ปรึกษาสมาคมผู้ปกครองและครูเตรียมอุดมศึกษา ที่ปรึกษาสมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษา ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นต้น

วาระสุดท้ายของชีวิต แก้

คุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชู ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบเมื่อวันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2555 ณ บ้านซอยอารีย์สัมพันธ์ สิริอายุได้ 95 ปี

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. "พระบรมราชโองการ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-27. สืบค้นเมื่อ 2014-07-08.
  2. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-06-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๕ ตอนที่ ๓๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๗, ๒๗ มีนาคม ๒๕๒๑
  3. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-05-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๒ ตอนที่ ๒๖๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๕๘, ๒๖ ธันวาคม ๒๕๑๘
  4. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-06-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๕ ตอนที่ ๕๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๑, ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๒๑
  5. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา เก็บถาวร 2022-06-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๑ ตอนที่ ๑๑๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๗๑๘, ๑๗ ธันวาคม ๒๕๐๗
  6. รายนามผู้ได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี ประจำปี ๒๕๒๑ จากเว็บไชต์ thaiscouts

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  • หนังสือ 60 ปี เตรียมอุดมศึกษา 2480 - 2540
  • หนังสือที่ระลึกเนื่องในโอกาสเกษียณอายุราชการของคุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชู อธิบดีกรมสามัญศึกษา
ก่อนหน้า บุญเลื่อน เครือตราชู ถัดไป
สนั่น สุมิตร   ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
(พ.ศ. 2507 - พ.ศ. 2518)
  คุณหญิงสุชาดา ถิระวัฒน์