คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหนึ่งในสี่คณะที่กำเนิดมาพร้อมกับการสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อปี พ.ศ. 2486 ในฐานะ คณะสหกรณ์ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นคณะเศรษฐศาสตร์ในปี พ.ศ. 2535 ปัจจุบัน คณะเศรษฐศาสตร์ประกอบด้วย 3 ภาควิชา ได้แก่ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร และภาควิชาสหกรณ์ เปิดสอนหลักสูตรทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก จำนวน 13 หลักสูตร โดยเป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษและหลักสูตรนานาชาติ 4 หลักสูตร

คณะเศรษฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Faculty of Economics,
Kasetsart University
สถาปนาวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2486
(81 ปี 77 วัน)
คณบดีผศ.ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มสมบุญชัย
ที่อยู่
วารสารวารสารเศรษฐศาสตร์ประยุกต์
(Applied Economics Journal)
เพลงแสดเหนือนภา
สี███ สีส้ม [1]
มาสคอต
ต้นสนคู่
เว็บไซต์www.eco.ku.ac.th

ประวัติ แก้

 
พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย

ในปี พ.ศ. 2481 ได้มีการจัดตั้งวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้นมาภายใต้สังกัดของกระทรวงเกษตราธิการ โดยจัดให้มีการศึกษาตามหลักสูตรอนุปริญญาเกษตรศาสตรบัณฑิต เมื่อจบการศึกษาจากวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้วผู้ที่สนใจจะเข้ารับราชการในกรมสหกรณ์ จะต้องเข้ารับการอบรมเพิ่มเติมในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกรมสหกรณ์เป็นผู้จัดการอบรมดังกล่าว ณ กรมสหกรณ์ การจัดอบรมนี้ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของคณะสหกรณ์ในเวลาต่อมา

ต่อมาเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 ได้มีพระราชบัญญัติยกฐานะของวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย “คณะสหกรณ์” เป็นหนึ่งในสี่คณะแรกของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย คณะเกษตร คณะประมง คณะวนศาสตร์ และคณะสหกรณ์ มีการศึกษาขั้นอนุปริญญา เพื่อให้นิสิตที่สำเร็จการศึกษาจากคณะสหกรณ์ออกไปรับราชการในกรมสหกรณ์ โดยมี คุณพระพิจารณ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมสหกรณ์เป็นคณบดีคนแรก[2] และอาจารย์ทนุ ศาตราภัย เป็นเลขานุการคณะฯ ในสมัยเริ่มต้นนั้นคณะสหกรณ์ได้จัดการเรียนการสอนอยู่ในบริเวณอาคารส่วนหนึ่งของกรมสหกรณ์ ซึ่งตั้งอยู่ข้างวังพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ท่าเตียน กรุงเทพมหานคร การศึกษาของคณะสหกรณ์ในสมัยนั้น มีแผนกวิชาอยู่ 4 แผนก ด้วยกันคือ แผนกวิชาเศรษฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ แผนกวิชาสหกรณ์ แผนกวิชาบัญชี และแผนกวิชานิติศาสตร์[3]

ในปี พ.ศ. 2495 ศาสตราจารย์ พันธุม ดิษยมณฑล ย้ายมาจากกรมสหกรณ์มาดำรงตำแหน่งเลขานุการคณะฯ และเลื่อนเป็นรองคณบดีในเวลาต่อมา ได้เสนอใช้หลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี และ 5 ปี โดยได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย และยังคงใช้สถานที่บริเวณกรมสหกรณ์เป็นที่ศึกษาไปพลางก่อน พร้อมทั้งได้เสนอให้เปลี่ยนชื่อเป็นคณะเศรษฐศาสตร์สหกรณ์เพื่อให้การศึกษากว้างขวางมากขึ้น และเพื่อให้นิสิตมีตลาดที่จะออกไปทำงานได้มากยิ่งขึ้น แต่จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและเป็นประธาน ก.พ. ในขณะนั้นประสงค์จะเน้นความสำคัญของสหกรณ์จึงใช้ชื่อว่า “คณะสหกรณ์และเศรษฐศาสตร์” ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2495 ซึ่งประกอบด้วย 8 แผนกวิชา คือ แผนกวิชาสหกรณ์ แผนกวิชาเศรษฐศาสตร์ แผนกวิชาเศรษฐศาสตร์กสิกรรม แผนกวิชาบัญชี แผนกวิชาภาษาต่างประเทศ แผนกวิชาสังคมวิทยา แผนกวิชาเบ็ดเตล็ด[4] จนกระทั่งเดือนพฤษภาคมปี พ.ศ. 2499 จึงได้ย้ายสถานที่ศึกษามาอยู่รวมกันกับคณะอื่น ๆ ที่บางเขน กรุงเทพมหานคร รวมทั้งได้เปลี่ยนชื่อเป็น “คณะเศรษฐศาสตร์สหกรณ์” โดยมี คุณพระพิจารณ์พาณิชย์ ดำรงตำแหน่งคณบดีจนถึงปี พ.ศ. 2501 และยังคงดำรงตำแหน่งคณบดีกิตติมศักดิ์ของคณะฯ จนถึงปี พ.ศ. 2506 ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ พันธุม ดิษยมณฑล ได้เข้าดำรงตำแหน่งคณบดีสืบต่อจากคุณพระพิจารณ์พาณิชย์จนถึงปี พ.ศ. 2518[5] ในช่วงที่ยังใช้ชื่อคณะเศรษฐศาสตร์สหกรณ์นั้น ได้มีการปรับปรุงแผนกวิชาต่าง ๆ เสียใหม่เป็น 6 แผนกวิชา ประกอบด้วย แผนกวิชาสหกรณ์ แผนกวิชาเศรษฐศาสตร์ แผนกวิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร แผนกวิชาบัญชีและการธุรกิจ แผนกวิชานิติศาสตร์และสังคมศาสตร์ แผนกวิชาสถิติ

ในปี พ.ศ. 2506 คณะเศรษฐศาสตร์สหกรณ์ ได้รับงบประมาณจำนวน 3 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างตึกเรียนหลังแรกที่บางเขน เป็นตึก 3 ชั้น และได้ขออนุญาตใช้พระนามของ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เป็นชื่อ และได้มีพิธีเปิด “ตึกพิทยาลงกรณ” อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 โดย ฯพณฯ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี และนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานในพิธี

ต่อมาในปี พ.ศ. 2509 ได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งหนึ่งเป็น “คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ” เพื่อขยายงานการศึกษาให้เหมาะสมกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และให้นิสิตมีโอกาสได้ศึกษาในสาขาวิชาต่าง ๆ ได้มากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อตลาดแรงงานในสาขาวิชาชีพที่ขยายตัวตามความเจริญของบ้านเมือง โดยเพิ่มสาขาวิชาอีกหลายแขนงพร้อมทั้งได้มีการจัดแบ่งส่วนราชการใหม่ในปี พ.ศ. 2511 โดยคณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ ประกอบด้วย 6 ภาควิชาคือ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ ภาควิชาสหกรณ์ ภาควิชาบริหารธุรกิจ ภาควิชาบัญชี ภาควิชาการตลาด จนกระทั่งเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2532 ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรได้เปลี่ยนชื่อเป็นภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2535 เนื่องจากคณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ มีจำนวนนิสิตและคณาจารย์เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นที่สองรองจากคณะเกษตร พร้อมกันนั้นความต้องการบุคลากรในสาขาวิชาที่เปิดสอนอยู่ในคณะฯ ได้ขยายตัวทวีขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงมีการแบ่งส่วนราชการออกเป็น 2 คณะ คือ “คณะเศรษฐศาสตร์” และคณะบริหารธุรกิจ ดังเช่นในปัจจุบัน

หน่วยงาน แก้

ภาควิชา สำนัก สถาบัน และศูนย์ ภายในคณะเศรษฐศาสตร์

หลักสูตร แก้

ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท ระดับปริญญาเอก

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.)

  • สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การประกอบการ (หลักสูตรนานาชาติ)

หลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต (ศ.บ.)

  • สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ (ภาคปกติ ภาคพิเศษ และภาคภาษาอังกฤษ)
  • สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์และธุรกิจเกษตร (ภาคปกติและภาคพิเศษ) เปิดสอน พ.ศ. 2564
  • สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์สหกรณ์ (ภาคปกติและภาคพิเศษ) เปิดสอน พ.ศ. 2564

หลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต (ศ.ม.)

  • สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์
  • สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ (ภาคปกติและภาคพิเศษ)

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ศศ.ม.)

  • สาขาเศรษฐศาสตร์สหกรณ์ (ภาคปกติและภาคพิเศษ)

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม)

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด)

  • สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์
  • สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร (หลักสูตรนานาชาติ)

ทำเนียบคณบดี แก้

  • นับตั้งแต่ก่อตั้งคณะสหกรณ์จนมาเป็นคณะเศรษฐศาสตร์ มีผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี ดังนี้[6]
ทำเนียบคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รายนามคณบดี ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง

1. พระพิจารณ์พาณิชย์ พ.ศ. 2486 - พ.ศ. 2502
2. ศาสตราจารย์ พันธุม ดิษยมณฑล พ.ศ. 2502 - พ.ศ. 2518
3. ศาสตราจารย์ ดร.โสภิณ ทองปาน พ.ศ. 2518 - พ.ศ. 2525
4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จำเนียร บุญมา พ.ศ. 2525 - พ.ศ. 2531
5. ศาสตราจารย์ ดร.ประเจิด สินทรัพย์ พ.ศ. 2531 - พ.ศ. 2532
6. รองศาสตราจารย์ ศรีอรุณ เรศานนท์ พ.ศ. 2532 - พ.ศ. 2535
7. ศาสตราจารย์ ดร.ทองโรจน์ อ่อนจันทร์ พ.ศ. 2535 - พ.ศ. 2538
8. รองศาสตราจารย์ ดร.เรืองเดช ศรีวรรธนะ พ.ศ. 2538 - พ.ศ. 2540
9. อาจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ คนจริง พ.ศ. 2540 - พ.ศ. 2542
10. รองศาสตราจารย์ ดร.สุปรียา ควรเดชะคุปต์ พ.ศ. 2543 - พ.ศ. 2547
11. อาจารย์ ดร.จีรศักดิ์ พงษ์พิษณุพิจิตร์ พ.ศ. 2547 - พ.ศ. 2551
12. รองศาสตราจารย์ ดร.สาโรช อังสุมาลิน พ.ศ. 2551 - พ.ศ. 2555
13. อาจารย์ ดร.จารึก สิงหปรีชา พ.ศ. 2555
14. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นุชนาถ มั่งคั่ง พ.ศ. 2556 - พ.ศ. 2560
15. รองศาสตราจารย์ ดร.วิจิตต์ศรี สงวนวงศ์ พ.ศ. 2560 - พ.ศ. 2564
16. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มสมบุญชัย พ.ศ. 2564 - ปัจจุบัน

หมายเหตุ คำนำหน้านามของผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี เป็นคำนำหน้านามตามตำแหน่งทางวิชาการในขณะนั้น

ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง แก้

ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ แก้

ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ เป็นหน่วยงานหนึ่งในคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มีหน้าที่ในด้านการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ ให้บริการวิชาการที่มีคุณภาพ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและสังคมของประเทศ โดยมีการให้บริการหลักในด้านต่างๆ ดังนี้

  • การให้บริการในด้านการวิจัยเกี่ยวกับการเกษตร อุตสาหกรรม การค้าระหว่างประเทศ การอนุรักษ์ การพัฒนาและการประเมินมูลค่าทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การวางแผน การติดตามและการประเมินผล รวมทั้งการวิจัยด้านนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ
  • การจัดประชุม สัมมนาและฝึกอบรมแก่บุคลากรขององค์กรต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถในการใช้หลักการวิชาการ สนับสนุนการปฏิบัติงานในทุกระดับ
  • การเผยแพร่ข้อมูลทางเศรษฐกิจและความรู้ทางเศรษฐศาสตร์สู่สาธารณชน

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. ประกาศมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง ชื่อปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ และเข็มวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๙ ประกาศเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ๑๓ มิ.ย. ๒๕๕๙ เล่ม ๑๓๓ ตอนพิเศษ ๑๓๔ ง หน้า ๖ สืบค้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566
  2. ปิติ กันตังกุล, ชัยวัฒน์ คนจริง, โสภิณ ทองปาน, อาบ นคะจัด และ มานิตย์ กิจไพฑูรย์. (2540). หนังสือที่ระลึกเนื่องในโอกาสเปิดป้ายตึกพิจารณ์พาณิชย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์.
  3. คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประวัติ เก็บถาวร 2018-11-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2018-07-28
  4. คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประวัติคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียกดูวันที่ 2020-05-16
  5. พันธุม ดิษยมณฑล. (2551). ชีวิตของผม พันธุม ดิษยมณฑล. ความหลังของเรา. (น. 327 หน้า). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
  6. "คณบดีอดีตถึงปัจจุบัน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-28. สืบค้นเมื่อ 2017-10-14.
  7. "สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีพระราชทานพระราชวโรกาสให้ คณะบุคคลเฝ้าทูลละอองพระบาท - นายปฐวี พวงจิตร ผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกเกษตรศาสตร์ ประจำปี 2562". สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์. 8 September 2019. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-04-18. สืบค้นเมื่อ 2 Aug 2022.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้